fbpx
เรียนไม่เก่งแล้วไง ตอนที่ 2

เรียนไม่เก่งแล้วไง ตอนที่ 1

ผมน่าจะรู้จักโลกดิจิทัลจริงๆ ครั้งแรกเมื่อประมาณ 6-7 ปีก่อน ก่อนจะออกจากราชการไม่นาน เพราะจู่ๆ ก็มีคนมาบอกว่ามีการแชร์บทความเก่าที่ผมเคยเขียนไว้นานแล้วเข้าไปในโซเชียลเน็ตเวิร์กมีการส่งต่อจำนวนมาก เป็นหลักแสน

เมื่อสอบถามว่าบทความชื่ออะไร ได้รับคำตอบว่า ‘เรียนไม่เก่งแล้วไง’

เมื่อได้รับคำตอบ  นาทีแรกคือจำชื่อบทความได้ แต่จำเนื้อหามิได้ จำไม่ได้ด้วยว่าอยู่ในหนังสือเล่มไหน แต่พอเดาได้ว่าน่าจะเป็นบทความที่เขียนให้นิตยสารไลฟ์แอนด์แฟมิลี่ของคุณสุภาวดี หาญเมธี แล้วนำไปรวมเล่มในหนังสือสักเล่มของสำนักพิมพ์รักลูก บรรณาธิการโดยคุณภาวนา อร่ามฤทธิ์ และคุณธิดา มหาเปารยะ บรมานันท์ วันนี้คุณสุภาวดีและบางส่วนของทีมงานรักลูกเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็น EF หรือ Executive Function ในนามสถาบัน RLG



ก่อนจะนั่งลงเขียนบทความวันนี้ (ซึ่งมีเหตุให้ต้องเขียน) จึงรื้อตู้หนังสือ (ไม่สามารถรื้อกองนิตยสารได้เพราะนำไปเก็บไว้ที่โกดัง จึงไม่ทราบว่าตีพิมพ์ครั้งแรกที่นิตยสารไลฟ์แอนด์แฟมิลี่ปีที่เท่าไร ฉบับที่เท่าไร) พบว่าตัวบทความมีชื่อว่า ‘ลูกเรียนไม่เก่งแล้วไงครับ’ ตีพิมพ์ครั้งที่สองในหนังสือ ‘วัยรุ่นไม่วุ่นได้ไง’ พ.ศ. 2545 พิมพ์ซ้ำ พ.ศ. 2551  และอมรินทร์พริ้นติ้งพิมพ์อีกครั้งในหนังสือ ‘เลี้ยงลูกอย่างเข้าใจวัยไหนก็ได้ดี’ พ.ศ. 2561

ตัวข้อเขียนที่เซอร์คูเลต (circulate – หมุนเวียน) ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก มีคนเล่าว่าเริ่มตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2558 นั่นเท่ากับ 7 ปี หลังจากตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2551 และอย่างน้อย 13 ปีหลังการตีพิมพ์ครั้งแรก ช่างเป็นการเดินทางอันยาวนานกว่าผู้คนจะเริ่มเรกค็อกไนซ์ (recognize – ใส่ใจ)

เริ่มเขียนเพจเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เหตุที่เริ่มมิใช่เพราะเห็นพลังของโลกดิจิทัล แต่เพราะเบื่องานประจำที่ทำ พบว่าการเขียนเพจครั้งละสั้นๆ เป็นเรื่องไม่ยาก ไม่คอนซูม (consume – บริโภค) เวลาของตัวเองแต่อย่างไรเลย ส่วนใหญ่เขียนบนมือถือตอนติดไฟแดง แป๊บเดียวก็เสร็จ  

การเขียนเพจรายวันกลายเป็นงานที่ทำได้ทุกเวลาและสถานที่หากมีสัญญาณอินเทอร์เน็ต สามารถดึงรูป หาคอนเทนต์ ค้นเอกสารอ้างอิง วางประกอบกัน แล้วโพสต์ขึ้นทันที ตอนเริ่มต้นเขียนใช้ ไอโฟน 6 แล้วใช้ไอโฟน 6 อยู่หลายปีทั้งที่มองไม่ค่อยเห็น บ่อยครั้งที่โพสต์ก่อนแก้ไขคำผิดทีหลัง เป็นงานทำเล่นๆ ที่ทำได้ทุกเวลา

ความง่ายของการทำงานทุกที่ทุกเวลาด้วยความเร็วสูงยิ่งตอกย้ำว่าอะไรที่เคยเขียนน่าจะใกล้เคียงความจริง – เรียนไม่เก่งแล้วไง

เมื่อมีเวลาและอารมณ์มากพอในอีกไม่กี่เดือนต่อมา นั่นคือหลังจากฝากฝังงานแล้วออกจากราชการ (งานราชการเป็นงานที่คอนซูมเวลาและสปิริชวลลิตี้ (spirituality – จิตวิญญาณ) ของคนคนหนึ่งสูงมาก) จึงเริ่มต้นข้อเขียน ‘เลี้ยงลูกให้ได้ดี 1-100’ ตอนที่ 1

เมื่อวานนี้เอง (14 มีนาคม 2564) มีคุณแม่ท่านหนึ่งเขียนมาในคอมเมนต์ของโพสต์หนึ่งว่า การเรียนหนังสือและการเล่นของเด็กควรจะไปด้วยกันได้ ไม่น่าจะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วลงท้ายขอบคุณที่คุณตาหมอเขียนเพจเพราะได้ใช้ข้อเขียนในเพจเป็นแนวทางเลี้ยงลูกตั้งแต่แรก ลูกของคุณแม่ไม่มีปัญหาเรื่องการรักษาสมดุลของทั้งสองอย่าง นั่นคือเรียนและเล่น

ข้อความนี้ชวนให้ผมระลึกได้ว่าควรเขียนถึงเรื่องนี้ให้ชัดเจนเพื่อให้มีการบันทึกไว้สักที กล่าวคือเรื่องเรียนเก่งมิใช่ความผิดของเด็กๆ และข้อเขียนออนไลน์อย่างสั้นมีข้อเสียคือชวนให้ผู้อ่านเข้าใจไปทางเดียวได้ง่าย

เอาประการหลังนี้ก่อน “ข้อเขียนออนไลน์อย่างสั้นมีข้อเสียคือชวนให้ผู้อ่านเข้าใจไปทางเดียวได้ง่าย” ความข้อนี้จะอย่างไรก็เป็นความรับผิดชอบ (responsibility) และความรับผิดรับชอบ (accountability) ของผู้เขียนวันยังค่ำ เพราะคุณเขียนสั้นๆ ได้ไม่เก่งพอจึงก่อให้เกิดการแปลความผิด ดังนั้นทุกครั้งที่เกิดเรื่องการแปลความผิดจึงมีหน้าที่ชี้แจง แล้วกลับไปฝึกเขียนมาใหม่

 พูดง่ายๆ ว่าการเขียนออนไลน์อย่างสั้นมีความเสี่ยง ถ้ายินดีรับความเสี่ยงก็ควรรับรู้จุดอ่อนของการเขียนวิธีนี้ด้วย

กลับมาที่ประเด็นที่คุณแม่ท่านนี้เขียนมาแลกเปลี่ยน เป็นไปได้ว่าผมเขียนเรื่องทำนองว่าอย่าเร่งเรียนในเด็กปฐมวัย คือชั้นเตรียมอนุบาลและอนุบาล อายุประมาณ 3-7 ขวบ มากจนเกินไป ดีกว่านั้นคือไม่เรียนเลยแล้วเอาแต่เล่น ดีกว่านั้นคือเล่นแบบบูรณาการตามที่ครูสมัยใหม่และโรงเรียนสมัยใหม่จะออกแบบไว้ แต่ด้วยความที่ตัวเองจะคำนึงถึงชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานที่ไม่มีเงินไปโรงเรียนทางเลือกราคาสูง (สูงไม่ได้แปลว่าแพง แพงแปลว่าราคามิได้สัดส่วนกับคุณภาพหรือความคาดหวัง) ยิ่งไปกว่านั้นคือไม่มีเวลาจะเลี้ยงลูก

ผมจึงมักเขียนสั้นๆ ว่า ‘เล่นไปเถอะ’

เพราะการเล่น  คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องใช้ทฤษฎีอะไร ขอเพียงเล่นมากๆ ระหว่าง 3-7 ขวบ สมองส่วนที่รองรับ EF หรือ executive function จะพัฒนาเองโดยไม่ต้องรู้ทฤษฎีอะไรก็ได้ นอกจากนี้ผมมักเขียนเสมออีกว่าถ้าคุณพ่อคุณแม่หมดแรงเล่น (เพราะกลับจากทำงานก็หมดแรงมาจากที่ทำงานเรียบร้อย หรือไปขุดดินมาทั้งวันจะไปมีแรงเหลือได้อย่างไรถ้าไม่ถอน – การถอนตอนเย็นของชนชั้นแรงงานเป็นเรื่องจำเป็น) นอนเล่นบนพื้นดูลูกเล่นคือใช้ได้

ผมขอน้อยมากจริงๆ เพราะรู้ว่าความจำเป็นแต่ละคนไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงเปิดทางถอยให้แก่คนทุกคนเสมอว่าเราทำได้แน่เรื่องการเลี้ยงลูกให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ นั่นคือเล่นเมื่ออายุ 3-7 ปีให้มาก และเรียนให้น้อย

ชื่อคอลัมน์ที่เขียนให้ The101.World เป็นประจำนี้ก็ตามนั้นจริงๆ ‘ถอนรากถอนโคนการศึกษาไทย’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาปฐมวัยหรืออนุบาลที่ผิดทิศผิดทาง มีเอกสารอ้างอิง มีตัวอย่างในต่างประเทศ มีตัวอย่างโรงเรียนทางเลือกในประเทศ (ซึ่งนักเรียนของพวกเขาจบปริญญาตรีและโทกันมากมายแล้ว) ว่าการเรียนรู้แบบบูรณาการด้วยการเล่นตอนอนุบาลมีข้อดีมาก และไม่มีข้อเสียอะไรเลย

พูดง่ายๆ ว่าเด็กอ่านเขียนเรียนเลขได้หมดทุกคนในภายหลัง แต่จะอย่างไรการศึกษาไทยโดยกระทรวงศึกษาธิการก็จะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอย่างเด็ดขาด

เด็กคนหนึ่งเกิดมาเรียนเก่งมิใช่ความผิดของเด็ก และมิใช่ความผิดของคุณพ่อคุณแม่ที่มีเด็กเรียนเก่ง เราภูมิใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่จะดียิ่งขึ้นไปอีกหากรับฟัง 10 ประเด็นต่อไปนี้

1.นิยามของคำว่า ‘เรียนเก่ง’ วันนี้น่าจะไม่ดีพอและอาจจะผิดทิศผิดทาง คุณพ่อคุณแม่บ้านเราจำนวนหนึ่งแปลเรียนเก่งว่าได้เกรดดี แล้วได้เข้าคณะดีๆ ของมหาวิทยาลัยดีๆ จะเห็นว่าเราควรมีปัญหาเรื่องควรแปลคำว่า ‘ดี’ อย่างไร  ยกตัวอย่างคณะ xxx ของมหาวิทยาลัย yyy ดีกว่าคณะ aaa ของมหาวิทยาลัย bbb เป็นต้น นิยามเรียนเก่งจึงมีปัญหาตั้งแต่ต้น

รวมทั้งชุดข้อเขียน เลี้ยงลูกให้ได้ดี 1-100 ด้วย

(ยังมีต่อ)

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save