พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย ภาพ
Shin Egkantrong ภาพประกอบ
จากปัญหาฝุ่นละอองและหมอกควันที่รุนแรงต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีความพยายามของหลายภาคส่วนที่ช่วยกันระดมสมอง เพื่อเสนอทางออกและแนวทางแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ได้จัดเวทีสัมมนา TRF-Policy Press Forum ในหัวข้อ “สถานภาพเทคโนโลยีและแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย” โดยเชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมุ่งเน้นไปที่การอภิปรายในสองประเด็นหลัก คือสถานภาพของเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละอองในปัจจุบัน และแนวทางการแก้ปัญหาในระยะยาว
สำหรับวิทยากรหลักในเวทีนี้ ประกอบด้วย ผศ.ดร.สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล ภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศ.กิตติคุณ ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล กรรมการบริหารและอุปนายกด้านวิเทศสัมพันธ์ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น, ผศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และ รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
101 มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์ในวงสัมมนาดังกล่าว โดยต่อไปนี้คือประเด็นและข้อเสนอแนะสำคัญๆ ตั้งแต่มุมของการพัฒนาและปรับใช้เทคโนโลยี การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงการปรับโครงสร้างอำนาจรัฐให้เอื้อต่อการแก้ปัญหา
ภาพรวมเทคโนโลยีในการป้องกัน-บรรเทาฝุ่นละออง
ในช่วงต้นของการสัมมนา ดร.วิวัฒน์ ในฐานะผู้ที่ศึกษาวิจัยปัญหาด้านมลภาวะมาอย่างยาวนาน กล่าวถึงภาพรวมของเทคโนโลยีที่ใช้ในการลดฝุ่นละอองว่า การทำงานวิจัยด้านฝุ่นในช่วงแรกนั้น ปัญหามลภาวะอากาศยังไม่เป็นที่สนใจมากนัก และมุ่งไปที่ PM 10 เป็นหลัก แต่ในปัจจุบันฝุ่นละอองมีขนาดเล็กลง โดยเฉพาะฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและสุขภาพของประชาชนอย่างเด่นชัด ภาคส่วนต่างๆ จึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการจัดการฝุ่นประเภทนี้มากขึ้น
ด้าน ดร.สรรเพชญ ในฐานะนักวิจัยด้านวิศวกรรม กล่าวถึงแนวทางการตรวจสอบแหล่งที่มาของฝุ่นละอองว่า จากประสบการณ์การทำงานและการลงพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งประสบปัญหาหมอกควันอย่างหนักในปี 2559 ได้จุดประกายให้ตนและทีมงาน พัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจวัดปริมาณหมอกควันให้กับคนในพื้นที่ มีเป้าหมายเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าในจังหวัดน่าน โดยเครื่องมือนี้จะส่งข้อมูลทุก 5 นาทีเข้าสู่ระบบคลาวด์ ทำให้สามารถประเมินสถานการณ์ได้ตลอดเวลา
ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่ม่านฝุ่นปกคลุมเมืองใหญ่ ทั้งในกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัดทางภาคเหนือตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนคงใช้แอปพลิเคชันเพื่อตรวจสอบปริมาณฝุ่นในพื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่ และเมื่อใดที่ปรากฏค่า AQI (Air Quality Index) ในระดับสีแดงขึ้นไป อันบ่งบอกถึงมวลอากาศที่เริ่มเป็นพิษต่อร่างกาย แน่นอนว่าย่อมสร้างความตื่นตระหนกแก่เราๆ ท่านๆ ไม่มากก็น้อย

ต่อประเด็นนี้ ดร.สรรเพชญชี้ว่า การวัดค่ามลพิษจากแอปฯ ดังกล่าว แม้จะเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ต้องคำนึงไว้ด้วยก็คือ เครืองมือตรวจวัดเหล่านี้อาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้แสดงผลผิดเพี้ยนได้เช่นกัน หากจุดที่เครื่องตรวจวัดติดตั้งอยู่นั้นมี ‘ฝุ่นและควัน’ เกิดขึ้นอย่างผิดวิสัย โดยเขายกตัวอย่างสถานการณ์จริงที่เคยประสบว่า เมื่อครั้งที่ไปทดสอบระบบที่จังหวัดน่าน เขาพบว่ามีอยู่จุดหนึ่งที่ขึ้นสัญญาณสีแดงในเวลาสองทุ่มของทุกๆ วัน ขณะที่พื้นที่โดยรอบนั้นมีค่าเป็นปกติ เมื่อลงไปตรวจสอบในพื้นที่จริง จึงพบว่าสาเหตุเกิดจากการที่ชาวบ้านก่อไฟเพื่อขับไล่ความหนาว ซึ่งจุดที่ก่อไฟนั้นอยู่ใกล้กับจุดที่ติดตั้งเครื่องมือพอดี
ด้วยปัจจัยที่ว่ามา ดร.สรรเพชญจึงแนะนำให้ประชาชนใช้เครื่องมือนี้อย่างรู้เท่าทัน และหมั่นเปรียบเทียบค่ามลพิษในแต่ละช่วงเวลาว่ามีความเสถียรหรือไม่ โดยเน้นย้ำว่าเป็นเรื่องดีที่ประชาชนให้ความตระหนัก แต่ข้อสำคัญคือไม่ควรตระหนกจนเกินไป และหากเป็นไปได้ ควรเปรียบเทียบข้อมูลในแต่ละช่วงเวลา และจากหลายๆ แหล่งควบคู่กัน” โดยสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดได้ในเว็บไซต์ cusense.net
นอกจากนี้ ในงานนี้ยังมีการนิทรรศการที่นำเสนอผลงานวิจัยเพื่อตรวจวัดและแก้ปัญหาฝุ่นละออง และสาธิตอุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 และ AQI ขนาดพกพา โดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ จากศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สวทช. ด้วย โดยผู้ใช้งานสามารถนำอุปกรณ์ดังกล่าวพกพาติดตัว หรือนำไปติดตั้งได้ทุกที่ เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศและค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ด้วยตนเอง
ปรับมาตรฐานยานยนต์ สู่ยูโร 5/6
อีกปัจจัยหนึ่งซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่สำคัญ ก็คือกลุ่มของยานยนต์และเครื่องจักรประเภทต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีมาตรการควบคุมที่จริงจังและได้มาตรฐานเท่าที่ควร
ดร.ยศพงษ์ กล่าวถึงมาตรฐานการปล่อยมลพิษของยานยนต์ในประเทศไทยว่า ในปัจจุบันไทยยังใช้มาตรฐานยูโร 4 กับรถยนต์ส่วนบุคคลและรถกระบะ ส่วนรถเมล์และรถบรรทุกยังใช้ยูโร 3 อยู่ ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานที่ต่ำกว่าระดับสากล ที่ส่วนใหญ่ปรับไปใช้ยานยนต์มาตรฐานยูโร 5 และ 6 กันแล้ว โดยเสนอว่า ภาคอุตสาหกรรมควรตระหนักถึงความสำคัญของการปรับมาตรฐานยานยนต์ไปสู่ยูโร 5/6 และต้องพยายามผลักดันให้เร็วที่สุด โดยชี้ว่า หากสามารถผลักดันให้คนเปลี่ยนไปใช้รถที่ได้มาตรฐานยูโร 5/6 ได้ปีละ 1 ล้านคัน จะช่วยลดมลพิษลงได้ครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับรถยนต์ยูโร 3/4 ในปัจจุบัน นอกจากนี้ รัฐบาลก็ควรมีมาตรการด้านน้ำมันที่รองรับยานยนต์มาตรฐานยูโร 5/6 ควบคู่กันไปด้วย
แต่นอกเหนือจากการยกระดับมาตรฐานยานยนต์ สิ่งที่สามารถผลักดันและทำควบคู่กันไป ก็คือการพัฒนาระบบขนส่งด้วยพลังงานสะอาด เช่น รถโดยสารที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันทีมวิจัยของดร.ยศพงษ์ ได้ริเริ่มทดสอบรถโดยสารไฟฟ้าในเส้นทางเดินรถของ ขสมก. แล้วในบางเส้นทาง อาทิ สาย 168 และ สาย 73 โดยเป็นรถโดยสารไฟฟ้าที่นำเข้าจากเกาหลีใต้ โดยมีระบบบันทึกข้อมูลการเดินรถอย่างละเอียด ตั้งแต่ความเร็วเฉลี่ย อัตราการสิ้นเปลือง ไปจนถึงสภาพการจราจรบนเส้นทางนั้นๆ ในแต่ละช่วงเวลา โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาประมวลผลเพื่อสะท้อนปัญหาการจราจรและระบบขนส่งสาธารณะได้
นอกจากนี้ ดร.ยศพงษ์ยังเสนอมาตรการอื่นๆ ที่จะช่วยลงมลพิษจากยานยนต์ได้ เช่น มาตรการการจัดการรถเก่าและการดูแลเครื่องยนต์ที่เหมาะสม มาตรการลดระยะการเดินทางจากการใช้รถยนต์ รวมถึงการบริหารจัดการช่วงเวลาที่มีจราจรหนาแน่น ขณะเดียวกันก็เชิญชวนให้ผู้ประกอบที่สนใจมาร่วมลงทุนสร้างรถโดยสารไฟฟ้า เพื่อให้คนไทยมีการขนส่งด้วยพลังงานสะอาดในอนาคต

มาตรการด้านภาษี
ด้าน ดร.อดิศร์ กล่าวถึงแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ในการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น โดยจำแนกจุดกำเนิดฝุ่นออกเป็น 2 แหล่งหลักๆ คือ จากเครื่องยนต์และเครื่องจักรประเภทต่างๆ และจากการเผาไหม้ในภาคการเกษตร ทั้งนี้เขาเสนอมาตรการในการแก้ปัญหาจากจุดกำเนิดทั้ง 2 แหล่ง โดยใช้ ‘ระดับรายได้’ เป็นเกณฑ์แบ่งในการกำหนดมาตรการ ดังนี้
1) มาตรการที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์
สำหรับคนที่มีรายได้ปานกลาง-สูง ควรใช้มาตรการภาษีที่คำนวณตามค่าฝุ่นจากเครื่องยนต์ กล่าวคือ ยิ่งรถคันไหนปล่อยควันพิษออกมามาก ก็ยิ่งต้องเสียภาษีเยอะขึ้น โดยบังคับใช้กับทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารสาธารณะ รวมถึงรถที่ใช้ในกองทัพหรือหน่วยงานราชการ นอกจากนี้ก็ควรมีการเก็บภาษีน้ำมันควบคู่กันไปด้วย โดยรัฐควรสนับสนุนและหาทางจูงใจให้คนหันไปใช้น้ำมันยูโร 5 ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยเน้นย้ำว่า รัฐมนตรีสามกระทรวง คือ กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และ กระทรวงมหาดไทย จะต้องนั่งโต๊ะหารือกันร่วมกัน มาตรการดังกล่าวจึงจะเกิดขึ้นได้จริง
นอกจากนี้ ดร.อดิศร์ยังชี้ว่า ควรสนับสนุนและผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยกรมศุลกากรและกรมสรรพสามิต ควรร่วมมือกันในการกำหนดอัตราภาษีที่เหมาะสม กล่าวคือภาษีต้องไม่แพงเกินไป เพื่อให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น
2) มาตรการสำหรับภาคเกษตร
ดร.อดิศร์ เสนอว่าควรมีการรับรองที่มาของวัตถุดิบทางการเกษตร ปฏิเสธการรับซื้อจากผู้ประกอบการที่ปลูกข้าวโพดในเขตป่าสงวน หรือผลิตอ้อยจากไร่ที่มีการเผา
สำหรับผู้มีรายได้น้อย ควรมีเงินกู้สำหรับซื้อเครื่องจักรหรือรถตัดอ้อยได้โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ มีระบบการจัดการของเหลือใช้ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงมีมาตรการจูงใจให้เกิดการนำของเหลือทิ้งจากภาคเกษตรมาผลิตพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น เหนืออื่นใดคือรัฐต้องเข้มงวดกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ต้องสามารถเพิกถอนใบอนุญาตผู้ละเมิดกฎได้จริง โดยเน้นการกระจายอำนาจและ ‘เสริมเขี้ยวเล็บ’ ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในระดับปฏิบัติการมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ดร.อดิศร์ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า สุดท้ายแล้วปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นและยังคาราคาซังอยู่นี้ มีอุปสรรคใหญ่ข้อหนึ่งที่ทำให้ปัญหายากจะคลี่คลาย ก็คือการที่ธรรมชาติสังคมไทยเป็นสังคมที่ ‘ไม่สามารถชี้นิ้วได้ว่าใครผิด’ ไม่เฉพาะแต่ปัญหาฝุ่นละออง แต่รวมถึงอีกหลายๆ ปัญหาที่หมักหมมในสังคมไทยมาเนิ่นนาน