fbpx

การผูกขาดของแพลตฟอร์มดิจิทัลในมุมนักบริหาร: ข้อค้นพบจากโลกจริง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้แพลตฟอร์มดิจิทัลถือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของพวกเราอย่างชัดเจนแล้ว เราใช้ Facebook เพื่อติดต่อสื่อสารกับเพื่อนของเรา เราใช้ Google เพื่อค้นหาข้อมูล หรือใช้ Grab เพื่อเดินทางหรือสั่งอาหาร แต่แพลตฟอร์มไม่ได้มีอิทธิพลเพียงเท่านั้น เพราะหากมองภาพที่ใหญ่ขึ้น แพลตฟอร์มนับได้ว่าเป็นตัวสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมไปอย่างมหาศาล ที่สำคัญคือการช่วยเติมเต็ม ‘ตลาด’ โดยเฉพาะตลาดในประเทศกำลังพัฒนาให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (filling in institutional void)

อย่างไรก็ตาม พลังอันยิ่งใหญ่ของแพลตฟอร์มก็ส่งผลกระทบต่อสังคมในด้านกลับ โดยอาจก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมตามมาได้มากมายเช่นกัน

ดังนั้น แพลตฟอร์มดิจิทัลจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องถูกกำกับดูแล ทว่ากลุ่มผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยที่ศึกษาการกำกับดูแลแพลตฟอร์มส่วนมากเป็นนักเศรษฐศาสตร์ (economist) ทั้งที่นักเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเพียงกลุ่มเดียวที่ควรมีบทบาทในเรื่องนี้ ในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ประเทศแถบยุโรป นักวิจัยสายบริหาร (management scholar) ก็มีบทบาทไม่น้อยหน้าไปกว่านั้นเช่นกัน

การศึกษาแพลตฟอร์มในฝั่งเศรษฐศาสตร์และฝั่งบริหารมีความเก่าแก่พอๆ กัน งานชิ้นสำคัญในยุคบุกเบิกในการศึกษาแพลตฟอร์มของนักเศรษฐศาสตร์อย่าง Platform Competition in Two-sided Markets เมื่อปี 2003 ของ Jean Tirole ซึ่งต่อมากลายเป็นนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล อันที่จริงก็มีอายุพอๆ กับหนังสือ Platform leadership: How Intel, Microsoft and Cisco Drive Industry Unnovation ของ Annabelle Gawer แห่งมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ (University of Surrey) ที่ถูกตีพิมพ์เมื่อปี 2002 ทั้ง Annabelle และ Tirole ต่างเป็นนักวิชาการที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงด้วยกันทั้งคู่ แต่สำหรับประเทศไทย คนมักจะรู้จักงานของ Tirole และนักเศรษฐศาสตร์คนอื่นๆ ที่สนใจประเด็นการกำกับดูแลมากกว่า

บทความชิ้นนี้จึงขอชวนเปิดมุมมองของนักวิจัยสายบริหารในมิติการกำกับดูแลแพลตฟอร์ม ผ่านบทความเรื่อง Identifying the Patterns: Towards a Systematic Approach to Digital Platform Regulation ที่เพิ่งตีพิมพ์ในปลายปี 2022 โดย Alexander Gleiss และคณะ จุดเด่นของงานวิจัยชิ้นนี้คือการมองปัญหาอย่างองค์รวมผ่านการสังเคราะห์กรณีพิพาทที่เกิดขึ้นจริงกว่า 211 กรณี และฉายภาพให้เห็นได้ว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลกำลังสร้างปัญหาอะไร ซึ่งจะนำพาไปสู่การออกแบบการกำกับดูแลแพลตฟอร์มที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

กรอบความคิดว่าด้วยการแผ่อำนาจของแพลตฟอร์มดิจิทัล

ปัญหาที่เกิดจากแพลตฟอร์มมีอยู่สองลักษณะหลักๆ คือ (1) ปัญหาเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม (platform-related problems) ซึ่งเกิดจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์ม ผู้กำกับนโยบาย และผู้ใช้ และ (2) ปัญหาเกี่ยวกับการผูกขาด (monopoly-related problems) ซึ่งเกิดจากการที่แพลตฟอร์มแผ่กระจายอำนาจออกไปนอกเหนือจากตลาดที่แพลตฟอร์มดำเนินการอยู่

โดยทั่วไป แพลตฟอร์มธรรมดาจะสร้างแค่ platform-related problem แต่ถึงจุดหนึ่ง แพลตฟอร์มอาจจะโตไปจนสามารถกินรวบตลาดหลักของตัวเองได้ และเริ่มที่จะสร้าง monopoly-related problem โดยแผ่อำนาจทั้งแนวตั้ง (vertical integration) และแนวนอน (horizontal diversification) จนกลายเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่ที่ดำเนินการอยู่ในหลากหลายตลาด

แพลตฟอร์มมีปัญหาอะไร?

เริ่มที่ปัญหาจากแพลตฟอร์มลักษณะแรกคือ platform-related problem ปัญหาลักษณะนี้สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น 3 ชนิดด้วยกัน

ปัญหาชนิดแรกเกี่ยวโยงกับผู้กำกับดูแลแพลตฟอร์ม (regulator behavior) โดยเฉพาะเมื่อแพลตฟอร์มนั้นเป็นองค์กรที่มีการกระจายการดำเนินการไปทั่วโลก โดยปัญหาคือการร่วมมือกันระหว่างประเทศต่างๆ ในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มอาจเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย ด้วยว่าปัจจัยหนึ่งคือประเทศต่างๆ อาจมีมีการแข่งขันกันเพื่อดึงดูดแพลตฟอร์มให้เข้ามาลงทุนในประเทศตัวเอง โดยการให้ผลประโยชน์ทางด้านภาษีต่างๆ

นอกจากนี้กฎหมายอาจจะยังมีช่องโหว่ ด้วยว่าการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างใหม่ ทำให้กฎหมายยังกำกับและดูแลแพลตฟอร์มได้อย่างไม่ทั่วถึง จนแพลตฟอร์มสามารถอาศัยช่องโหว่ตรงนี้ในการทำกำไร ยกตัวอย่างเช่นประเด็นที่ว่ารถยนต์ที่เข้าร่วมวิ่งกับแพลตฟอร์มเฉกเช่น Grab นั้น ควรมีใบอนุญาตแบบที่รถแท็กซีธรรมดามีหรือไม่ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น ถึงแม้ว่าอาจจะมีกฎหมายถูกบังคับใช้อยู่ แต่กฎหมายก็อาจไม่ได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะผู้กำกับดูแลอาจจะไม่เห็นปัญหาหรืออาจมีทรัพยากรไม่เพียงพอในการบังคับใช้ และนอกจากนี้ แม้ว่ากฎหมายจะได้รับการบังคับใช้จริง เช่น แพลตฟอร์มที่ละเมิดกฎอาจโดนปรับด้วยจำนวนเงินที่ค่อนข้างมาก แต่ก็อาจไม่ทำให้แพลตฟอร์มเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ เพราะแพลตฟอร์มอาจคิดว่าตัวเองสามารถสร้างกำไรมากกว่าค่าปรับที่เสียไป เช่น กรณีที่ Facebook โดนปรับเป็นมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในกรณี Cambridge Analytica เมื่อปี 2019

ปัญหาชนิดที่สองคือแพลตฟอร์มสามารถที่จะใช้อำนาจในทางที่ผิดด้วยตัวของแพลตฟอร์มเอง (platform behavior) โดยแพลตฟอร์มอาจได้ประโยชน์จากความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูล (information asymmetries) ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าแพลตฟอร์มเก็บและนำข้อมูลไปใช้มากขนาดไหนและใช้อย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น Apple และ Google ที่เก็บข้อมูลการใช้แอปพลิเคชันในมือถือระบบ iOS และ Android ตลอดเวลาเพื่อทำให้สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น นอกจากนี้แพลตฟอร์มยังอาจพยายาม ‘ขัง’ (lock-in) ผู้ใช้ไว้ในแพลตฟอร์มของตัวเองผ่านกลไกด้านเครือข่าย (network effect) หรือการใช้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเพื่อทำให้ผู้ใช้ติดการใช้แพลตฟอร์มมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น แพลตฟอร์มยังมีสถานะของผู้สร้างกฎต่างๆ บนแพลตฟอร์มตัวเองอีก (platform governance) อย่างเช่น สื่อสังคมออนไลน์ที่มีอำนาจในการกำกับดูแลข้อมูลที่ถูกส่งผ่านในแพลตฟอร์มของตัวเอง โดยการบล็อกบัญชีของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ Donald Trump ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง เป็นตัวสะท้อนว่าแพลตฟอร์มมีอำนาจที่จะกำหนดว่าผู้ใช้คนไหนสามารถเข้าถึงทรัพยากรอะไรบ้างบนแพลตฟอร์ม

ปัญหาชนิดที่สามเกี่ยวโยงกับผู้ใช้ (user behavior) โดยผู้ใช้อาจมีพฤติกรรมหละหลวมในขณะที่ใช้แพลตฟอร์ม เช่น อาจยินยอมแชร์ข้อมูลต่างๆ ให้กับแพลตฟอร์มอย่างง่ายดาย แม้จะรู้ถึงผลที่อาจเกิดขึ้นตามมาก็ตาม นอกจากนี้ยังรวมถึงประเด็นที่ว่าคนแต่ละรุ่นอาจจะมีบรรทัดฐาน (norm) ที่แตกต่างกัน เช่น เด็กรุ่นใหม่ๆ อาจต้องการที่จะย้ายการปฏิสัมพันธ์มาอยู่บนแพลตฟอร์มทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากคนรุ่นเก่า และยิ่งไปกว่านั้น พฤติกรรมการใช้แพลตฟอร์มในทางผิดๆ ก็ทำให้ผู้คนใช้แพลตฟอร์มมากยิ่งขึ้นเช่นกัน เช่น การใช้แพลตฟอร์มเพื่อที่จะกระจายคอนเทนต์ละเมิดลิขสิทธิ์

เมื่อแพลตฟอร์มผูกขาด

ปัญหาจากแพลตฟอร์มอีกลักษณะหนึ่งอย่าง monopoly-related problems ก็สามารถแบ่งย่อยได้เป็น 3 ชนิดเช่นกัน

ปัญหาชนิดแรกคือการผูกขาดตลาดหลัก (core-market monopoly) โดยแพลตฟอร์มมีอำนาจในการต่อรองที่เหนือกว่าด้วยความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูล และอำนาจในการออกกฎแห่งการปฏิสัมพันธ์ในแพลตฟอร์ม ด้วยเหตุเช่นนี้เอง แพลตฟอร์มอาจสามารถทำกำไรเพิ่มมากขึ้น โดยสามารถที่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่สินค้าของตัวเองได้ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Amazon ที่ได้สร้างตลาดสำหรับขายสินค้าออนไลน์ (marketplace) ขึ้นมา โดยที่ตัวเองก็ผลิตสินค้าเพื่อขายในตลาดของตัวเองด้วย ดังนั้น Amazon จึงสามารถใช้ความได้เปรียบทางด้านข้อมูลต่างๆ เพื่อที่จะผลิตสินค้าได้โดนใจผู้ซื้อได้มากกว่าคู่แข่ง

ปัญหาชนิดที่สองคือการผูกขาดข้ามตลาด (cross-market monopoly) โดยเกิดขึ้นได้เมื่อแพลตฟอร์มมีสถานะเป็น ‘คนคุมประตู’ (gatekeeper) สู่ตลาดอื่น และอาจจะสนับสนุนสินค้าข้ามตลาด รวมทั้งลดราคาเพื่อกำจัดคู่แข่งได้ (predatory pricing) นอกจากนั้น แพลตฟอร์มขนาดใหญ่อาจดำเนินการในลักษณะที่ให้ความร่วมมือระหว่างกันด้วย (coopetition) เช่น Apple ใช้บริการ AWS ขณะที่ Google และ Facebook ก็กระทำการฮั้วกัน (cartel) ในอุตสาหกรรมการโฆษณา

เดิมนั้นเคยมีการคาดหวังกันว่า บรรดาแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อาจแข่งกันเอง แต่ประสบการณ์สอนให้รู้ว่าเป็นเรื่องยากที่แพลตฟอร์มเจ้าหนึ่งจะเข้าไปแข่งขันในตลาดหลักของแพลตฟอร์มเจ้าอื่น เช่น กรณีที่ Google ออกบริการสื่อสังคมออนไลน์ Google+ ซึ่งก็ไปไม่รอด โดยท้ายที่สุดแพลตฟอร์มขนาดใหญ่มักตัดสินใจทำการปิดกั้นไม่ให้ให้บริษัทรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นมาได้ ด้วยการเข้าซื้อกิจการดาวรุ่ง หรือการสร้างสินค้าและบริการเลียนแบบในกรณีที่ไม่สามารถซื้อกิจการได้สำเร็จ เพื่อที่จะลดทอนภัยคุกคามต่อธุรกิจของตัวเอง

ปัญหาชนิดที่สามคือการผูกขาดฐานผู้ใช้ (user-base monopoly) โดยบริษัทที่จะสามารถเข้าถึงผู้ใช้ได้จะต้องเข้าถึงผ่านแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ เช่น บางเว็บไซต์อาจไม่มีใครเห็นได้เลยถ้าไม่สามารถค้นหาเจอได้โดยผ่าน Google หรือบางแอปพลิเคชันอาจไม่มีผู้ใช้บริการเลยหากไม่ได้ถูกกระจายอยู่บน iOS หรือ Android หรืออาจไม่สามารถใช้งานบน Windows หรือ Mac ได้ การผูกขาดฐานผู้ใช้นั้นเกิดขึ้นเพราะผู้ใช้ถูก ‘ขัง’ (lock-in effect) ด้วยกลไกแห่งเครือข่าย (network effect) การผูกขาดในตลาดหลัก (core-market monopoly) และการผูกขาดข้ามตลาด (cross-market monopoly) นอกจากนี้แพลตฟอร์มยังเป็นเจ้าของข้อมูลผู้ใช้จำนวนมหาศาลด้วย ซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากๆ ในยุคดิจิทัล

การแผ่อำนาจของแพลตฟอร์มดิจิทัล

แม้แพลตฟอร์มดิจิทัลจะลอยอยู่ในอากาศและไม่ได้สิ้นเปลืองทรัพยากร แต่เอาเข้าจริง แพลตฟอร์มพวกนี้ก็ถูกสร้างอยู่บนโครงสร้างพื้นฐานที่มักจะเป็นพื้นที่สาธารณะ เช่น ระบบอินเทอร์เน็ต ดังนั้น การทำความเข้าใจอำนาจของแพลตฟอร์มจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

Gleiss และคณะ เสนอภาพใหญ่ในการทำความเข้าใจการแผ่ขยายอำนาจของแพลตฟอร์ม โดยมองว่า แพลตฟอร์มขนาดใหญ่มีแนวโน้มจะแผ่อำนาจในแนวตั้ง 3 ระดับ คือ (1) แพลตฟอร์มส่วนมากเป็นเจ้าของอุปกรณ์ที่จับต้องได้ (device layer) เช่น Apple ที่เป็นเจ้าของ MacBook และ iPhone ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต (2) การเป็นเจ้าของอุปกรณ์ (device) ทำให้แพลตฟอร์มขนาดใหญ่สามารถที่จะควบคุม Operating System (OS) ที่จะถูกนำมาลงใน device ได้ และ (3) แพลตฟอร์มสามารถที่จะควบคุมแอปพลิเคชันที่ถูกนำมาลงใน device ต่างๆ อีกทีหนึ่ง (platform service layer) ดังนั้น แพลตฟอร์มขนาดใหญ่จึงเหมือนมีประตูที่สามารถเปิดเข้าสู่ฐานผู้ใช้

นอกจากการรวมหน่วยตามแนวตั้ง (vertical integration) การกระจายไปอุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวข้อง (horizontal diversification) ก็มีความสำคัญสำหรับแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ด้วย เพราะแพลตฟอร์มสามารถแผ่อำนาจไปสู่ตลาดใหม่ๆ ด้วยการสร้างระบบนิเวศใหม่ๆ เพื่อให้ผู้ที่ใช้บริการของแพลตฟอร์มอยู่แล้วเข้าไปใช้งาน

โดยรวมแล้ว แพลตฟอร์มได้รับประโยชน์จากการเป็นแพลตฟอร์ม เช่น การที่แพลตฟอร์มมีข้อมูลเกี่ยวกับบริการบนแพลตฟอร์มมากกว่านักพัฒนาภายนอก (platform-related problem) และแพลตฟอร์มก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นผู้ครองตลาดได้ เช่น จากการที่แพลตฟอร์มสามารถที่จะใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ในกฎหมาย (core-market monopoly) แพลตฟอร์มธรรมดาจะแปลงสภาพเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่ด้วยทั้งการขยายทั้งแนวตั้งและแนวนอน และสร้างการผูกขาดขึ้นมาในตลาดอื่น ๆ (cross-market monopoly) รวมทั้งฐานลูกค้า (user-base monopoly) โดยกระบวนการนี้สามารถเห็นได้ชัดเจนจากโครงสร้างธุรกิจของแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น Microsoft, Google, Facebook, Apple และ Amazon

ระบบนิเวศดิจิทัลและแพลตฟอร์ม จากมุมมองนักบริหาร

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์มองแพลตฟอร์มในฐานะตัวกลางการจับคู่ระหว่างผู้ใช้เพื่อให้ผู้ใช้ได้ประสานผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน (matching) นักวิจัยสายบริหารมองแพลตฟอร์มในฐานะส่วนหนึ่งของระบบนิเวศดิจิทัล โดยวิเคราะห์ว่าสถาปัตยกรรม (architecture) ของแพลตฟอร์มเป็นอย่างไร และเชื่อมโยงกับระบบนิเวศดิจิทัลอย่างไร

นักบริหารมองว่าระบบนิเวศดิจิทัลประกอบด้วยชิ้นส่วนดิจิทัล (modules) ต่างๆ ที่ถูกเชื่อมเอาไว้ด้วยกัน (ผ่านตัวประสานที่เรียกว่า interface) และแพลตฟอร์มก็ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนเหล่านั้นเช่นกัน หากว่ามีชิ้นส่วนบางชิ้นที่มีความคงทน เปลี่ยนแปลงได้ยาก ขณะที่บางชิ้นส่วนสามารถที่จะถูกเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เช่น โทรศัพท์มือถือที่เราใช้อยู่ทุกวันที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย ต่างจากแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

เรายังสามารถวิเคราะห์ว่า ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นที่ถูกนำมาประกอบขึ้นเป็นแพลตฟอร์มนั้นก่อร่างกันเป็นชั้นๆ (layered) เช่น ในระดับอุปกรณ์ (devices layer) ในระดับระบบปฏิบัติการ (operating system layer) และในระดับแอปพลิเคชันที่ถูกสร้างโดยแพลตฟอร์ม (platform service layer) (ดังแสดงเอาไว้ในตารางข้างบน)

บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เช่น Apple ดำเนินการอยู่ในหลากหลายธุรกิจ (จนอาจเรียกว่านับไม่ถ้วน และมีความซับซ้อนสูงมาก) ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโทรศัพท์มือถือ (iPhone) ธุรกิจแล๊ปท๊อป (MacBook) และธุรกิจเครื่องมือสวมใส่ (iWatch) โดย Apple ได้สร้างระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกันสำหรับเครื่องมือเหล่านั้น และยังสร้างระบบนิเวศสำหรับแต่ละสินค้าขึ้นมา ซึ่งประกอบด้วยทั้งชิ้นส่วนแอปพลิเคชันที่บริษัทสร้างขึ้นมาเอง (เช่น Siri) และที่สร้างขึ้นมาโดยนักพัฒนาภายนอก

ในระบบที่แพลตฟอร์มสร้างขึ้นมา แพลตฟอร์มถือแต้มต่อนักพัฒนาภายนอก เพราะแพลตฟอร์มเป็นผู้กำหนดกฎการดำเนินการต่างๆ บนแพลตฟอร์ม และมีข้อมูลเกี่ยวกับบริการต่างๆ บนแพลตฟอร์มมากกว่า (platform-related problem) และก่อให้เกิดการขังผู้ใช้ไว้ในระบบนิเวศที่แพลตฟอร์มสร้างขึ้นมา (monopoly-related problem) ทำให้แพลตฟอร์มสามารถแผ่นำอาจและขยายตัวได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน (vertical integration และ horizontal diversification)

บทสรุป

เส้นทางการพัฒนาของแพลตฟอร์มดิจิทัลอาจเริ่มด้วยการเป็นแพลตฟอร์มขนาดเล็กธรรมดา จนขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มที่จะกินรวบตลาดในที่สุด ด้วยปัจจัยจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์ม ผู้กำกับดูแลแพลตฟอร์ม และผู้ใช้แพลตฟอร์ม (platform-related problems) หลังจากนั้นแพลตฟอร์มจึงเริ่มแผ่อำนาจไปตลาดอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตลาดหลักของตัวเอง โดยอาจเริ่มกระทำการรวมหน่วยตามแนวยืน (vertical integration) ไปจนสุดท้ายแล้วแพลตฟอร์มอาจสามารถเข้าถึงผู้ใช้ได้โดยตรง พร้อมเกิดการขังผู้ใช้ไว้ในแพลตฟอร์ม (user-base monopoly) เมื่อแพลตฟอร์มมีลูกค้าอยู่ในมือแล้ว ตลาดหลักของแพลตฟอร์มจะยิ่งมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเอื้อให้แพลตฟอร์มขนาดเข้าไปในตลาดอื่นๆ (horizontal diversification) ได้อีกด้วย (monopoly-related problem)

ที่ผ่านมายังไม่มีใครดึงปัญหาต่างๆ ว่าด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาอยู่ในภาพเดียวกัน และแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของปรากฏการณ์ การเข้าใจภาพรวมของปัญหาที่แพลตฟอร์มสร้างทั้งสองแบบ (platform-related problem และ monopoly-related problem) และความเชื่อมโยงกับขนาดของแพลตฟอร์มดิจิทัล (vertical integration และ horizontal diversification) น่าจะเป็นก้าวหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการออกแบบการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งจะมีความสำคัญยิ่งขึ้นไปในเศรษฐกิจโลกในอนาคตอย่างแน่นอน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save