fbpx

‘Chief Evangelist’ : นักเผยแผ่ผลิตภัณฑ์ ผู้ประกาศข่าวดีทางการตลาด

ในศาสนาคริสต์ คำว่า ‘evangelism’ หมายถึง ‘การเผยแผ่ศาสนา’ โดยเป็นการออกเดินทางไปเพื่อ ‘ประกาศข่าวดี’ ให้คนทั้งโลกรู้ว่า มนุษย์นั้นมี ‘ทางรอด’ อยู่นะ – ถ้ามนุษย์หันมาเชื่อและศรัทธาในพระเจ้า

นักวิจารณ์ใจร้ายบางคนบอกว่าถ้ามองในแง่ของการตลาด – ก็คล้ายว่าเหล่า evengelist เป็นเซลส์แมนที่ออกไปขายศาสนานั่นเอง

แต่เชื่อหรือไม่ – ว่าในช่วงเวลาหลายปีมานี้ ธุรกิจยักษ์ใหญ่หลายแห่ง (โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี) หันมา ‘ว่าจ้าง’ คนทำงานในตำแหน่ง evangelist หรือ ‘นักเผยแผ่ข่าวดี’ แบบเดียวกับการเผยแผ่ศาสนากันมากขึ้น 

คำถามก็คือ – แล้ว evangelist หรือนักเผยแผ่ข่าวดีในโลกธุรกิจ (โดยเฉพาะธุรกิจเทคโนโลยี) เหมือนหรือต่างจากนักเผยแผ่ข่าวดีจากพระเจ้าอย่างไร?

ตอบง่ายๆ ก็คือ ‘ข่าวดี’ ที่ evangelist ยุคใหม่เหล่านี้เผยแผ่ไม่ใช่พระเจ้า ทว่าคือ ‘สินค้าหรือบริการ’ รวมไปถึงการเผยแผ่ ‘วัฒนธรรมการใช้สินค้าหรือบริการ’ เหล่านั้น ให้พวกเราชาวมนุษย์ตาดำๆ ทั่วไปที่อาจจะใช้เทคโนโลยีเป็นบ้างไม่เป็นบ้าง – ได้รับรู้ว่ามีสิ่งเหล่านี้อยู่ และการใช้งานสิ่งเหล่านี้ (แน่นอน – ต้องจ่ายเป็นเงิน) จะทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นคล้ายๆ กับได้พบพระเจ้า

ดังนั้น ‘พระเจ้า’ ของเหล่า evanglist ในปัจจุบันนี้จึงไม่ใช่สภาวะนามธรรมใดๆ แต่เป็นพระเจ้าที่จับต้องได้ ลูบคลำได้ ใช้งานได้ – ผ่านตัวสินค้าหรือบริการทั้งหลาย หรือถ้าจะมีสภาวะนามธรรมอยู่บ้าง ก็คือ ‘วัฒนธรรม’ แห่งการใช้งานสินค้าและบริการเหล่านี้นี่เอง

ในไทย เคยมีผู้แปลคำว่า evangelist เอาไว้ว่า ‘ผู้เผยแพร่วัฒนธรรม’ แต่ผมรู้สึกว่าคำแปลนี้น่าจะ ‘อ่อน’ หน่อยไปหน่อยกับความหมายของคำต้นทาง อย่างแรกสุด ผมคิดว่าคำว่า ‘เผยแผ่’ น่าจะเหมาะกว่าคำว่า ‘เผยแพร่’ เพราะราชบัณฑิตบอกเราว่า ‘เผยแผ่’ หมายถึงทำให้ขยายออกไป เช่น เผยแผ่พระศาสนา ส่วน ‘เผยแพร่’ หมายถึงโฆษณาให้แพร่หลาย เช่น เผยแพร่ความรู้ โดยมีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า ‘เผยแผ่’ หมายถึงการขยายออกไปโดย ‘ไม่ทิ้งหลักเดิม’ ของเดิมเป็นอย่างไรก็ขยายออกไปตามนั้นทุกประการ เหมือนการ ‘แผ่’ เสื่อออก เสื่อย่อมเป็นผืนเดิมติดกันที่แผ่กว้างออกไป แต่ถ้าเป็น ‘เผยแพร่’ แม้ขยายออกเหมือนกัน แต่ขยายด้วยการ ‘แพร่’ จึงไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเดิม เช่นเชื้อโรคแพร่จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ไม่ใช่เชื้อโรคตัวนั้นๆ ที่ขยายตัวเองให้กว้างใหญ่ออกไป แต่เป็นเชื้อชนิดเดียวกันตัวอื่นๆ ที่ ‘แพร่หลาย’ ออกไปเป็นวงกว้าง

evangelist จึงน่าจะเป็น ‘นักเผยแผ่’ มากกว่า ‘นักเผยแพร่’ เพราะน่าจะหอยากจะ ‘แผ่’ จิตวิญญาณของสินค้าและบริการเดียวกันนั้นให้ขยายกว้างออกไป คล้ายๆ การเผยแผ่ ‘ลัทธิ’ ท่ีสาวกจะมีความคิดความเชื่อและวิธีปฏิบัติตัวแบบเดียวกันหมด

อย่างที่สองก็คือ ส่ิงที่ evangelist เผยแผ่ออกไป ไม่จำเป็นต้องเป็นนวัตกรรมอย่างเดียว แต่คือความคิด ความเชื่อมั่น ความรักใคร่ชอบพอ (หรืออาจถึงขั้นหลงใหล) จนกระทั่งกลายเป็น ‘วัฒนธรรม’ ในการใช้สินค้าหรือบริการนั้นๆ ไป เช่น กลุ่มคนที่เราเรียกกันเล่นๆ ว่า ‘สาวกแอปเปิ้ล’ มักจะใช้ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ลทุกรูปแบบ ก่อให้เกิดวัฒนธรรมแบบแอปเปิ้ลขึ้นมาอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ การเรียก evangelist สมัยใหม่ว่าเป็น ‘นักเผยแผ่เทคโนโลยี’ จึงน่าจะเหมาะสมกว่า

ที่จริงแล้ว การนำคำว่า evangelism มาใช้ในภาคธุรกิจไม่ใช่ของใหม่ มีการริเริ่มใช้คำนี้จนเป็น buzzword (ในแวดวงแคบๆ) มาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 แล้ว แต่คนที่ทำให้คำคำนี้กลายเป็นคำที่โด่งดังไปทั่วโลก และหลายบริษัทเริ่ม ‘สร้าง’ ตำแหน่ง evangelist หรือ chief evangelist ขึ้นมา ก็คือผู้เชี่ยวชาญการตลาดและ VC (venture capitalist) แห่งซิลิคอนแวลเลย์ชาวอเมริกัน ผู้มีชื่อว่า กาย ทาเคโอะ คาวาซากิ หรือเรียกสั้นๆ ว่า กาย คาวาซากิ (Guy Kawasaki)

เขาวนเวียนอยู่กับธุรกิจเทคโนโลยีมาชั่วชีวิต แต่งานที่น่าจะสำคัญและเป็นตัวตนของเขามากที่สุด ก็คือการเป็น chief evangelist นี่แหละครับ

 แรกเริ่มเดิมที เขาเป็น chief evangelist ที่ Apple ก่อน แล้วหลังจากไปทำโน่นนั่นนี่อีกหลายอย่าง ทั้งเป็นนักเขียน นักพูด ผู้ประกอบการ VC ฯลฯ สุดท้ายเขาก็กลายมาเป็น chief evangelist ให้กับ Canva ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำแพลตฟอร์มกราฟิกดีไซน์ที่ผู้คนกำลังฮิตใช้งานกันทั่วบ้านทั่วเมืองนี่แหละครับ

กายเขียนเอาไว้ในบทความชื่อ ‘The Art of Evangelism’ หรือ ‘ศิลปะของการเผยแผ่’ ว่าตำแหน่งงานของเขาในตอนแรกคือ software evangelist ซึ่งจะแปลว่าเป็น ‘นักเผยแผ่ซอฟต์แวร์’ ไม่ได้นะครับ เพราะงานของเขาไม่ใช่การเอาซอฟต์แวร์ไปเผยแผ่ แต่เป็นการเผยแผ่ความรักชอบในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แม็คอินทอช (หรือแอปเปิ้ลในปัจจุบัน) ซึ่งเมื่อรักชอบแล้ว นักพัฒนาซอฟต์แวร์ก็จะได้หันมาใช้เครื่องแม็คอินทอชแทนเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพีซี เขาน่าจะทำงานประสบความสำเร็จมาก เพราะหลังจากนั้นได้เปลี่ยนตำแหน่งงานมาเป็น chief evangelist ซึ่งถ้าจะแปลก็อาจแปลได้ว่าเป็นประมาณ ‘ตัวพ่อประกาศก’ อะไรทำนองนั้น

กายบอกว่า evangelist ไม่ใช่ตำแหน่งงาน แต่คือ ‘วิถีชีวิต’ หรือ way of life ต่างหาก คนที่จะมาเป็นนักเผยแผ่ต้อง ‘รัก’ สิ่งที่ตัวเองเผยแผ่อย่างมากด้วย ไม่ว่าคนคนนั้นจะเก่งขนาดไหน แต่ถ้าเริ่มต้นแล้วเขาไม่ได้รักสิ่งที่ตัวเองต้องเผยแผ่ ก็ไม่อาจเป็นนักเผยแผ่ที่ดีได้

นอกจากนี้แล้ว กายยังบอกอีกด้วยว่า คนเราจะเป็น evangelist ได้ สินค้าหรือบริการที่เราไป evanglize หรือเผยแผ่นั้น จะต้องเป็นสินค้าหรือบริการที่ ‘เปลี่ยนโลก’ ได้ด้วย หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีส่วนในการเปลี่ยนโลก

ตัวอย่างของสิ่งที่เปลี่ยนโลกในสายตาของกาย ได้แก่ แม็คอินทอชหรือแอปเปิ้ล, กูเกิล หรืออีเบย์ ที่เปลี่ยนโลกแห่งคอมพิวเตอร์ ข้อมูลข่าวสาร และการค้าตามลำดับ และล่าสุด กายก็เชื่อว่า canva จะเปลี่ยนโลกของการออกแบบได้ด้วย นั่นเป็นเหตุผลที่เขาเรียกตำแหน่งงานของตัวเองที่ canva ว่า chief evangelist

โปรดสังเกตว่า ทุกงานที่กายว่ามา ล้วนแล้วแต่เป็น ‘บริษัทเทค’ ทั้งสิ้น!

คุณอาจจะสงสัยว่า ทำไมบริษัทเทคพวกนี้ ถึงต้องการการตลาดที่ล้ำลึกถึงระดับเป็น ‘นักเผยแผ่’ ด้วยเล่า?

คำตอบก็คือ – เพราะเรื่องของ ‘การขาย’ และ ‘การตลาด’ ในโลกปัจจุบันนั้นซับซ้อนขึ้นมากจากความโกลาหลใน ‘โซเชียลมีเดีย’ นี่แหละครับ ถ้าเราดูการรีวิวสินค้าและบริการต่างๆ เราจะพบว่าการรีวิวนั้นหลากหลายมาก มีทั้งแง่บวกแง่ลบเต็มไปหมดจนงุนงง บ่อยครั้งที่ความงุนงงเหล่านี้เกิดขึ้นจากการ ‘ซื้อขายรีวิว’ โดยมีความรุนแรงถึงระดับจ้างอินฟลูเอนเซอร์บางรายไปรีวิวในแง่ลบให้กับสินค้าและบริการของคู่แข่งแบบเนียนๆ ซึ่งยิ่งส่งผลกระเพื่อมต่อการรับรู้ในสินค้าและบริการต่างๆ ต่อเนื่องออกไปเป็นวงที่ซับซ้อนไม่มีที่สิ้นสุด การใช้งานอินฟลูเอนเซอร์ให้ถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญ

นักการตลาดเรียกการทำตลาดแบบนี้ว่า influencer marketing หรือ การทำการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งในระดับพื้นฐาน ก็คือการจ้างอินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ มาสร้างความรับรู้ในแง่บวกให้แก่กลุ่มผู้ติดตามของตัวเอง ด้วยการสร้างคอนเทนต์ การพูดถึงสินค้าและบริการ หรือโปรโมทงานต่างๆ ให้ ซึ่งถ้าเลือกอินฟลูเอนเซอร์ได้ถูกฝาถูกตัว ก็จะส่งผลให้เกิดการขายในระดับมโหฬารขึ้นมา

แล้ว chief evangelist เกี่ยวอะไรกับ influencer marketing เล่า?

คำตอบคือ – chief evangelist เป็นผู้ดูแลเรื่องการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ไงครับ พูดง่ายๆ ก็คือ เขากลายมาเป็น ‘ผู้นำทางจิตวิญญาณ’ ของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ (ทั้งที่ถูกจ้างมาและที่แห่ตามกระแส) ทั้งโดยตัวเนื้อหาของสินค้าและบริการว่ามันดีอย่างไร รวมถึงการเป็น ‘ต้นแบบ’ วิธีใช้งานสินค้าและบริการเหล่านั้นในแบบที่ ‘ลึก’ ลงไปถึง ‘ความเชื่อ’ หรือ ‘ความศรัทธา’ ซึ่งก่อให้เกิด ‘วิถีชีวิต’ และ ‘วัฒนธรรม’ จนกลายเป็นเป็นแบบและเบ้าให้ ‘สาวก’ ที่พิสมัยในสินค้าและบริการเหล่านั้นได้ดำเนินรอยตาม

นิตยสาร Forbes เคยมีบทความชื่อ ‘Why Every Tech Company Needs a Chief Evangelist’ บอกว่า สิ่งที่นักเผยแผ่เหล่านี้ทำไม่ใช่แค่การ ‘ขาย’ เท่านั้น แต่ต้องเป็นเหมือนผู้นำทาง (แบบเดียวกับประกาศกในพระคัมภีร์) ชีวิตของลูกค้าด้วย

ถ้าเป็นการขายธรรมดาๆ แรงขับเคลื่อนก็คือการทำเงิน (make money) แต่ถ้าเป็นนักเผยแผ่ สิ่งที่พวกเขาต้องการไม่ใช่เงินเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขาต้องการ ‘สร้างประวัติศาสตร์’ (make history) ด้วย ว่าสินค้าหรือบริการที่พวกเขาเผยแผ่นั้น ‘เปลี่ยนโลก’ อย่างไร

ในแง่ของปรัชญา การขายไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าการ ‘ขายให้ใครสักคน’ แต่พอเป็นนักเผยแผ่ สิ่งที่พวกเขาต้องการทำคือการ ‘เปลี่ยนคนให้มาเข้ารีต’ หรือมีความเชื่อถือล้ำลึกต่อสินค้าและบริการนั้นจนกลับใจมาใช้ผลิตภัณฑ์ นั่นทำให้เป้าหมายของนักขายและนักเผยแผ่ต่างกันมาก นักขายอาจจะทำงานเก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น และมีเป้าหมายอยู่ที่ค่าคอมมิชชั่น แต่นักเผยแผ่ทำงานได้ตลอดเวลาทุกลมหายใจ เพราะเป้าหมายของเขาคือการ ‘เปลี่ยนโลก’ และสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับสินค้าและบริการของตัวเอง

กาย คาวาซากิ บอกว่าการเผยแผ่สิ่งที่ ‘ห่วยแตก’ นั้น เป็นเรื่องยากมาก แต่ถ้าเป็นสินค้าและบริการที่ยอดเยี่ยม คุณจะทำงานเผยแผ่ได้ง่าย เขาบอกว่าสินค้าและบริการที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติห้าอย่าง นั่นคือมีความลึกซึ้ง คิดค้นมาแล้วอย่างดีให้ทำงานได้หลายอย่างในสินค้าเดียว, มีความเฉลียวฉลาด คือ เป็นสินค้าที่สร้างขึ้นมาอย่างฉลาด เข้าใจปัญหาของผู้ใช้งาน และช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ให้มีความสมบูรณ์อยู่ในตัว คือสร้างขึ้นมาแล้วสมบูรณ์แบบ ทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ขาดๆ เกินๆ ใช้แล้วสร้างพลังอำนาจให้ผู้ใช้ นั่นคือช่วยเสริมส่งให้ชีวิตของผู้ใช้งานดีขึ้น และสุดท้ายก็คืองดงาม แปลว่าสินค้าหรือบริการนั้นๆ ไม่ได้แค่ใช้งานได้ดีเท่านั้น แต่ต้องมีการออกแบบที่สวยงามเรียบง่าย ใช้แล้วไม่อายใคร ทั้งสะดวกสบาย และรู้สึกดีหรือรู้สึกเหนือกว่าเมื่อได้ใช้ด้วย

คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้นักเผยแผ่สามารถรักสิ่งที่ตัวเองต้องเผยแผ่ได้ กายบอกว่า “ถ้าคุณไม่รักสิ่งนั้น คุณก็เผยแผ่สิ่งนั้นไม่ได้”

เมื่อ ‘รัก’ และ ‘เชื่อมั่น’ ในผลิตภัณฑ์นั้นๆ แล้ว นักเผยแผ่จึงสามารถทุ่มตัวเองไป ‘แบก’ ผลิตภัณฑ์นั้นได้เต็มที่ทั้งตัวและหัวใจโดยไม่ได้คำนึงถึงรายได้มากนัก ในกรณีของกาย แอปเปิ้ลคือผลิตภัณฑ์ที่เขาเชื่อ และกระโดดลงไปปั้นปั่นกระแสให้เกิดการยอมรับในผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ล และสามารถสร้างความเป็น ‘นักเผยแผ่’ ให้เกิดกับกลุ่มลูกค้าสาวกแอปเปิ้ลทั่วไปได้

นักเผยแผ่จึงมีได้สองลักษณะ คือเป็นลูกจ้างประจำอยู่ในบริษัท คอยทำหน้าที่ ‘ประกาศข่าวดี’ ให้กับตลาด กับเป็นแฟนประจำที่หนียวแน่น คอยบอก ‘ข่าวดี’ เรื่องผลิตภัณฑ์นั้นๆ ให้กับคนรอบตัวของตัวเองโดยไม่ต้องมีใครว่าจ้าง 

เท่าที่เคยรับนามบัตรของผู้คนจากองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยมาตลอดชีวิต ผมยังไม่เคยเห็นใครระบุตำแหน่งตัวเองว่าเป็น brand evangelist, chief evangelist หรือแม้แต่ evangelist เฉยๆ เลย แต่ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีนะครับ อาจจะมีโดยที่ผมไม่รู้ – หรือมีคนที่เป็นนักเผยแผ่โดยไม่ได้ระบุตำแหน่งก็เป็นได้ แต่ที่เราเห็นได้ชัดที่สุด ก็คือนักเผยแผ่องค์กรที่มี ‘อุดมการณ์’ เป็นฐานรองรับ เช่นนักเผยแผ่ความคิดความเชื่อของพรรคการเมืองที่อาจถูกเรียกว่าเป็นติ่งพรรคบ้าง เป็นนักแบกพรรคบ้าง

อ่านมาถึงตรงนี้ ผู้บริหารหลายองค์กรอาจเกิดคำถามขึ้นมาว่า เอ๊ะ! แล้วองค์กรของฉันจำเป็นต้องมี ‘นักเผยแผ่’ ประจำองค์กรด้วยไหม (นอกเหนือไปจากที่มี ‘ทูต’ เอย ‘พรีเซนเตอร์’ เอยแล้วน่ะนะครับ) คำตอบก็คือ – ต่อให้อยากจะมี ก็ไม่ได้แปลว่าจะหาหรือสร้างขึ้นได้ง่ายๆ นะครับ เพราะจะมีนักเผยแผ่เหล่านี้ได้ องค์กรของคุณต้องมีพื้นฐานที่ดี (อย่างเรื่องห้าองค์ประกอบที่ กาย คาวาซากิ ว่าไว้) เสียก่อน และเมื่อนักเผยแผ่เหล่านี้กลายมาเป็น ‘เสียง’ ขององค์กรแล้ว คุณต้อง ‘ปล่อย’ ให้เขาคิด ทำ และเชื่อ โดยสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการสื่อสารได้ตลอดเวลาโดยต้องไม่นำเอากฎระเบียบขององค์กรไปขัดขวางการทำงานของนักเผยแผ่ แถมยังเป็นงานที่กำหนดหน้าที่ในการทำงานรวมไปถึง KPI ให้ชัดเจนไม่ได้ด้วย องค์กรไหนเคร่งๆ เรื่องกฎระเบียบหน่อย รับรองว่าจะต้องหัวหมุนแน่ๆ

แล้วถ้าอย่างนั้น – องค์กรของฉันไม่จำเป็นต้องมีนักเผยแผ่เลยจะได้ไหม คำตอบก็คือได้นะครับ แต่นั่นแปลว่าองค์กรของคุณอาจเสียโอกาสในการสร้างการเชื่อมต่อ (connection) กับผู้คนอีกมากมายในโลกก็ได้ เพราะในโลกปัจจุบัน การสื่อสารด้วยความหลงใหลเยี่ยงนักเผยแผ่กลายเป็นอาวุธสำคัญที่ใครๆ ก็พยายามใช้กันเต็มไปหมด เนื่องจากนักเผยแผ่ที่ดีจะทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์ (customer experience) ที่แปลกใหม่และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ถูกสร้างขึ้นมา ลูกค้าเหล่านี้จึงมีมากกว่าความ loyalty (อันเป็นศัพท์เก่าทางการตลาดไปแล้ว) แต่จะรู้สึกได้เลยว่าการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้คือ ‘อัตลักษณ์’ ส่วนหนึ่งของตัวเอง ซึ่งถ้ามองในแง่ของการเมือง ก็เทียบได้กับสภาวะ tribalism หรือความรู้สึกว่าตัวเองเป็น ‘ชนเผ่า’ ที่สมาทานอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่งอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูนั่นแหละครับ เพียงแต่ในกรณีนี้เป็นชนเผ่าทางผลิตภัณฑ์เท่านั้นเอง

ด้วยเหตุนี้ การเกิดข้ึนของตำแหน่ง ‘นักเผยแผ่ข่าวดี’ ในทางการตลาดหรือการขายสินค้าและบริการ จึงบอกอะไรเราหลายอย่าง อย่างน้อยที่สุด – มันทำให้เราเห็นว่า มนุษย์ในปัจจุบันนี้รู้สึกว่าตัวเองเปราะบางและอ่อนแอมากโขอยู่ จึงต้องพยายามเข้าไปเป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของอะไรบางอย่าง เพื่อให้สิ่งนั้นผนวกรวมกับอัตลักษณ์ของตัวเอง จึงจะนิยามความหมายตัวตนของตัวเองได้โดยไม่รู้สึกเปล่ากลวง และพร้อมต่อสู้เผยแผ่สิ่งนั้นต่อไปแม้ไม่ได้รับค่าจ้าง ไม่ผิดอะไรกับเหล่าประกาศกในทางศาสนาที่ยอมออกเดินทางเผยแผ่ศาสนาจนตัวตาย

ปรากฏการณ์ ‘นักเผยแผ่’ จึงบอกอะไรกับเราในฐานะมนุษย์ได้ไม่น้อย แต่ไม่รู้เหมือนกันนะครับว่า – การที่ในไทยยังไม่ค่อยมีตำแหน่งงาน ‘นักเผยแผ่’ กันอย่างแพร่หลาย, เป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดีแค่ไหนอย่างไร!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save