fbpx
“อิเมลดา มาร์กอสเป็นคนน่ารัก”: บทเรียนประชาธิปไตยจาก The Kingmaker

“อิเมลดา มาร์กอสเป็นคนน่ารัก”: บทเรียนประชาธิปไตยจาก The Kingmaker

ธีรภัทร อรุณรัตน์ เรื่อง

1

“เมื่อกี้ได้เจอท่านประวิตร มันไม่เหมือนที่เราเห็นในรูปภาพที่อยู่ในมีมที่เขาหลับและภาพออกมาดูร้ายหน่อย แต่พอได้เห็นตัวจริงเหมือนเป็นผู้ใหญ่ที่น่ารัก”

ภาพยนตร์ The Kingmaker (2019) ทำให้นึกถึงประโยคข้างต้นของฌอน บูรณะหิรัญ

สารคดีเรื่องนี้กำกับโดย Lauren Greenfield ผู้กำกับชาวอเมริกัน โดยได้ฉายภาพคำบอกเล่าชีวิตของ อิเมลดา มาร์กอส อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งฟิลิปปินส์ ผู้อยู่เคียงคู่ประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส สมัยเรืองอำนาจในปี 1965 จนถูกโค่นลงจากอำนาจด้วยพลังของประชาชนในปี 1986

ด้วยรูปโฉมอันงดงามในอดีตของเธอมีส่วนให้อิเมลดาคว้ารางวัลการประกวดนางงามอันดับที่สามของประเทศฟิลิปปินส์ในปี 1953 และนั่นทำให้ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส รู้จักชื่อของเธอขณะที่เขายังเป็นสมาชิกวุฒิสภาในขณะนั้น

หนึ่งปีถัดมา ทั้งคู่ได้พบกันครั้งแรกและตัดสินใจแต่งงานใน 11 วันให้หลัง และนี่คือจุดเริ่มต้นสู่อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของอิเมลดา

Kingmaker ฉายให้เห็นภาพด้านหนึ่งที่เป็นความย้อนแย้งของคำพูดและการกระทำของอิเมลดา แต่อีกด้านหนึ่งก็เปิดโอกาสให้เธอได้แสดงภาพที่ต้องการให้สาธารณะรับรู้ ทั้งจากคำพูดทีเล่นทีจริงรวมถึงมุกตลก และหากตัดสินการนำเสนอด้านนี้ของภาพยนตร์ เราอาจพูดแบบฌอน บูรณะหิรัญได้ว่า “อิเมลดา มาร์กอสเป็นคนน่ารัก”

แต่แน่ทีเดียว เราคงนำภาพยนตร์เพียงชั่วโมงเศษมายืนยันตัวตนทั้งหมดของเธอไม่ได้

ชีวิตส่วนตัวของผู้มีบารมีทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างเธอจะเป็นอย่างไร นิสัยใจคอเป็นแบบไหน มีความลับเรื่องอะไรบ้าง ฯลฯ ยากที่จะหาคำตอบที่แท้จริง

อิเมลดา มาร์กอส The Kingmaker

ภาพยนตร์ได้เผยให้เห็นชีวิตด้านหนึ่งของอิเมลดา ผ่านคำพูดสวยหรูที่เธอปั้นแต่งเอง อันแสดงออกถึงความมีจิตใจโอบอ้อมอารีต่อเพื่อนมนุษย์ไม่เพียงแต่คนฟิลิปปินส์ แต่เป็นความพยายามในการเป็น ‘แม่ของมวลมนุษยชาติ’

ทว่าเรื่องราวของสามีภรรยาคู่นี้ในขณะที่อยู่ในอำนาจกลับต่างกันราวฟ้ากับเหวหากเล่าผ่านคำพูดของฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและประชาชนที่ถูกละเมิด ไม่ว่าจะเป็นมุมมองของผู้ถูกทรมานในท่า ‘สะพานแห่งความรัก’ อันเป็นอนุสรณ์สถานความรักของเฟอร์ดินานผู้เป็นสามีต่ออิเมลดา มาร์กอสผู้เป็นภรรยา หรือมุมมองจากครอบครัวของผู้นำฝ่ายค้านที่ต้องลี้ภัยต่างแดนและถูกลอบสังหาร

อีกด้านหนึ่งของเหรียญ แม้ว่าความรุนแรงจะเกิดกับผู้เห็นต่างขนาดไหน คนนิยมชมชอบในตัวอิเมลดา มาร์กอสก็ยังคงมีจำนวนไม่น้อย

ดังที่ผู้สนับสนุนอิเมลดาคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในสลัมให้สัมภาษณ์กับผู้ทำสารคดีว่า เธอยืนยันสนับสนุนอิเมลดา เพราะอิเมลดาเป็นดั่งความหวังของเธอ (ถึงแม้ชีวิตความเป็นอยู่ของเธอจะเลวร้ายในเชิงภววิสัยมากเพียงใด)

ที่เป็นเช่นนี้เพราะมารดาแห่งฟิลิปปินส์มักจะเยี่ยมเยียนพื้นที่สลัมหรือที่ที่คนยากคนจนอยู่เป็นประจำ เธอปรากฏกายพร้อมด้วยธนบัตรหลายใบในมือและเครื่องแต่งกายงดงามเพื่อเป็นแสงและความหวังให้กับผู้คน

เพราะอิเมลดาก็เคยเป็นหนึ่งในคนที่มาจากพื้นที่ยากจนมาก่อน แต่ ‘ด้วยความสามารถ’ จึงทำให้เธอปีนบันไดขึ้นมาถึงจุดนี้และส่งแสงความหวังให้กับผู้ลำบากยากเข็ญคนอื่นได้

ความเป็นจริงในคำกล่าวของฌอน บูรณะหิรัญจึงอาจตีความได้ว่าเป็นเพราะประสบการณ์ของเขาต่อรองนายกฯ ประวิตร แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาเล็กๆ ที่เขาได้สัมผัสผู้นำทางการเมืองท่านนี้ แต่ประสบการณ์ของฌอนบอกกับเราว่า “ประวิตรเป็นคนน่ารัก”

การรับรู้ตัวตนจึงต่างไปตามมุมมองและประสบการณ์

ดังคำกล่าวของอิเมลดาที่ว่า “การรับรู้ภายนอกนั่นแหละที่จริง ส่วนความจริงนั้นเป็นอีกเรื่อง” (Perception is real, and the truth is not.)

อิเมลดา มาร์กอส The Kingmaker

2

แล้วอะไรจะสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้น? เราจะรับรู้ตัวตนของอิเมลดาอย่างไรนอกเหนือจากคำพูดและการกระทำหน้าฉากของเธอ?

ผู้เขียนขอยกถ้อยคำการวิเคราะห์ความคิดส่วนหนึ่งของสลาวอย ชิเชค นักคิดฝ่ายซ้ายชาวสโลวีเนียขึ้นมาเพื่อตอบคำถาม ดังนี้

“[…] ความเคยชินโดยเนื้อแท้คือสิ่งที่ก่อร่างอัตลักษณ์ของเราขึ้นมา ดังนั้นจึงเป็นการยากที่เราจะแตกหักกับความเคยชิน เพราะมันย่อมหมายถึงการ ‘กระแทกชน’ กับตัวเอง ความเคยชินนี่เองเป็นสาเหตุทำให้สิ่งที่เรามักทำ จะ ‘ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เรารับรู้ว่าเราเป็นใคร’ ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่เราเชื่ออย่างสุดซึ้งว่าเรามีความอดทนอดกลั้นและเคารพความแตกต่าง การกระทำของเราสะท้อนอคติลับๆ ที่เหยียดสีผิวหรือคิดว่าตัวเองสูงส่ง ความเป็นจริงถูกสะท้อนออกมาผ่านการกระทำของเรา การกระทำคือการแสดงออกซึ่งความเชื่อที่เราตีหน้าซื่อปฏิเสธ […]” [1]

ความเคยชินของอิเมลดาคืออะไร? ภาพยนตร์ฉายให้เราตีความได้หลายมุมมอง ทั้งการใช้อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจหรือความพยายามคงสถานะเดิมบนยอดพีระมิดของเธอ แม้ภายหลังการหมดอำนาจนำของสามี ตัวอิเมลดายังคงเฝ้าหาวันที่ครอบครัวจะหวนสู่อำนาจรัฐ และการขึ้นเป็นประธานาธิบดีของ โรดริโก ดูเตอร์เต คือความสำเร็จก้าวแรก

การกระทำเหล่านี้สะท้อนตัวตนของเธอหรือไม่? แม้ว่าเธอจะแสดงความเศร้าโศกเสียใจกับสภาพความเป็นอยู่ของคนฟิลิปปินส์ปัจจุบันอย่างไร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกระทำของเธอเป็นส่วนหนึ่งของทรัพยากรที่ไม่ถูกจัดสรรอย่างเป็นธรรม เงินในมือของเธอเป็นสิ่งที่คนที่เธอแจกสมควรได้รับตั้งแต่ต้น

การแจกเงินตามท้องถนน ตามโรงพยาบาลภายใต้โครงการของเธอ หรือการเยี่ยมผู้คนตามสลัมสะท้อนการกระทำนี้ตามความเคยชิน ความเคยชินของการคงสถานะเดิมเอาไว้ไม่ให้สั่นคลอน ความเคยชินจากการไม่ ‘กระแทกชน’ กับตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา

ดังนั้น ความ (ไม่) อดทนอดกลั้นต่อความยากจน ความโอบอ้อมอารี และการแต่งตัวสวยสดงดงามเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนยากจนของอิเมลดาจึงสะท้อนอคติและการเหยียดชนชั้นอย่างรุนแรง

แม้ว่าภายใต้หน้าฉากของเธอจะให้ความหมายกับการกระทำของเธอว่าสวยงามเพียงใดก็ตาม ‘การรับรู้ว่าอิเมลดาเป็นใคร’ จากปากของเธอเองจึงสะท้อน ‘ความเป็นจริงที่เธอตีหน้าซื่อปฏิเสธ’

ทั้งความเป็นจริงในยาพิษอาบน้ำผึ้งของการแจกเงิน หรือความเป็นจริงที่กระทำความรุนแรงโดยตรงต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง

อิเมลดา และ บองบอง มาร์กอส ลูกชายของเธอ ระหว่างการหาเสียงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ปี 2016
อิเมลดา และ บองบอง มาร์กอส ลูกชายของเธอ ระหว่างการหาเสียงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ปี 2016

3

ผู้เขียนเห็นด้วยกับนักกิจกรรมฟิลิปปินส์ท่านหนึ่งซึ่งกล่าวในสารคดีว่า การกระทำของตระกูลมาร์กอสไม่ควรได้รับการอภัยหากความอยุติธรรมยังไม่ได้รับการสะสาง

และหากนำความพ่ายแพ้ของการต่อสู้ในระบบประชาธิปไตยจากสารคดีมาเป็นบทเรียน คำถามสำคัญที่ภาพยนตร์แสดงออกมาคือ ชัยชนะและการได้รับความยุติธรรมจะสำเร็จเพียงแค่ล้มผู้ทำนาบนหลังคนลงจากอำนาจเท่านั้นหรือ?

นั่นคงเป็นก้าวแรก และภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ให้คำตอบเสียงแข็งกับเราว่า “ยังไม่พอ”

เพราะว่าอะไร?

“ประชาธิปไตยไม่ใช่ยาวิเศษ มันไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกโรค เราชอบเพ้อเจ้อว่ามันมีพลังมากมายว่า เมื่อเป็นประชาธิปไตย ทุกอย่างจะได้รับการแก้ไข ทุกอย่างจะไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ได้บอกว่าไม่มีข้อดี แต่มันไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตามที่เราคาดหวัง โดยเฉพาะปัญหาของทุน”

ข้อวิจารณ์แนวคิดประชาธิปไตยเชิงหลักการของสรวิศ ชัยนามข้างบน ถูกกลุ่มเคลื่อนไหวฝ่ายอนุรักษนิยมหยิบยกมาเพื่อวิจารณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย

แต่สิ่งควรตั้งหลักให้แน่นคือ การวิพากษ์ประชาธิปไตยไม่ใช่การปฏิเสธประชาธิปไตยในตัวเอง นี่คือพื้นฐานของการโอบกอดประชาธิปไตยอย่างมีสติมากที่สุด

และประชาธิปไตยโดยตัวเองไม่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความเป็นหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงของระบอบประชาธิปไตยถูกงัดคานอำนาจโดยตรงกับความยิ่งใหญ่ของทุนในผู้คนไม่กี่หยิบมือ

อำนาจทางการเมืองของอิเมลดาในทางปฏิบัติจึงมากกว่าหนึ่งสิทธิที่เธอถือครองอยู่ ตัวอย่างจึงแสดงให้เห็นในสารคดีถึงความตลกร้ายของการขึ้นสู่อำนาจของดูเตอร์เตจากภาพตัวละครไม่กี่หยิบมือ ทั้งอิเมลดา และผู้สืบสายเลือดมาร์กอสก็มีส่วนในท่อน้ำเลี้ยงของดูเตอร์เต

อีกรูปแบบหนึ่งของความไม่เท่าเทียมทางอำนาจคือปัญหาสิ่งแวดล้อม การสร้างสวนสัตว์ซาฟารีในฝันของอิเมลดาไม่สนใจความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ หรือผู้คนที่อาศัยในเกาะ

การสร้างสวนสัตว์ซาฟารีในฝันของอิเมลดา

นี่คือ ‘ปัญหาของทุน’ ใช่หรือไม่? ทุนไม่ได้สนใจความกินดีอยู่ดี ทุนไม่ได้สนใจสิ่งแวดล้อมแม้จะปกป้องมันอย่างปากว่าตาขยิบ และประชาธิปไตยก็ไม่ใช่คู่ต่อสู้ที่งัดข้อโดยตรงกับทุน แต่ “ประชาธิปไตยเป็นรูปแบบที่ว่างเปล่า” ซึ่งรอให้เติมเต็มเนื้อในที่แก้ปัญหาเหล่านี้ได้

ในส่วนแรกผู้เขียนไม่ได้ปรารถนาจะวิจารณ์อิเมลดา มาร์กอสอย่างเสียหาย แต่การแก้ปัญหาของทุนอาจไม่ใช่การหวนสู่การวิพากษ์ตัวบุคคลเสียทั้งหมด ดังที่ชิเชคกล่าวติดตลกจากตัวอย่างการเปิดโปงการซุกซ่อนเงินในต่างประเทศของนักธุรกิจและนักการเมืองมากหน้าหลายตาในเอกสารปานามา (Panama Papers) ว่า:

“ทำไมนักธุรกิจและนักการเมืองนับพันคนถึงกระทำสิ่งที่ถูกบันทึกในเอกสารปานามาลงไป? คำตอบอยู่ที่มุขตลกชวนปั่นประสาทที่ว่า ทำไมสุนัขจึงเลียลูกอัณฑะของตัวเอง คำตอบคือเพราะว่าพวกมันทำได้ (they can) ยังไงล่ะ” [2]

Kingmaker จึงให้คำตอบกับเราเป็นนัยว่า ปัญหาสังคมตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำ จนถึงวิกฤตสภาพแวดล้อมไม่สามารถแก้ไขจากการล้างผลาญผู้ทำนาบนหลังคนออกจากอำนาจ

ไม่มีเฟอร์ดินาน มาร์กอสก็ยังมีอิเมลดาและลูกชายของเธออย่างบองบอง มาร์กอส หรือพันธมิตรทางการเมืองอย่าง โรดริโก ดูเตอร์เต

การเยียวยาประชาธิปไตยในขั้นแรกคือ การถามคำถามที่ซ่อนคำตอบในตัวว่า เราต้องการเห็นประชาธิปไตยแบบใด? เราจะเติมสารัตถะอะไรให้กับระบอบที่เรากำลังเรียกร้อง?

และดังที่ Kingmaker บอกเรา ว่าทุนนิยมไม่ใช่คำตอบ – อย่างแน่นอน


อ้างอิง

[1] เน้นตัวหนาโดยผู้เขียน. สรวิศ ชัยนาม, Slavoj Žižek ความรุนแรงและการเมืองเพื่อการปลดปล่อย: คู่มือการอ่าน Violence, trans. กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2558), 284.

[2] Slavoj Žižek, The Courage of Hopelessness: Chronicles of A Year of Acting Dangerously (UK: Penguin Books, 2018), 16.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save