fbpx
เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม : โฉมหน้าสิ่งแวดล้อมของวันพรุ่งนี้ กับ เพชร มโนปวิตร

เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม : โฉมหน้าสิ่งแวดล้อมของวันพรุ่งนี้ กับ เพชร มโนปวิตร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

ชุติกาญจน์ บุญสุทธิ ภาพ

 

ในช่วงที่ผ่านมา ‘เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม’ หรือ platform economy ได้รับการพูดถึงในวงกว้างว่ากำลังจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโลก กระเทือนตั้งแต่การใช้ชีวิตของคน กลไกตลาด และเรื่องสำคัญอย่างสิ่งแวดล้อม

ทุกครั้งที่เราสั่งรถมาส่งอาหารถึงบ้านด้วยการจิ้มหน้าจอไม่กี่ครั้ง ก่อให้เกิดขยะพลาสติกจำนวนมาก – อาจมากกว่าที่เราไปนั่งกินที่ร้าน แต่ก็เช่นกัน ที่เราอาจลดการผลิตคาร์บอนด้วยการใช้บริการรถรับส่งส่วนบุคคล ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นรูปแบบหนึ่งของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

คำถามสำคัญคือ การ ‘บูม’ ของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเหล่านี้ จะส่งผลอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อมโลกบ้าง ไม่ใช่แค่เรื่องการสร้างขยะ แต่ในมุมกลับ เราสามารถใช้ประโยชน์อะไรจากเทคโนโลยีแพลตฟอร์มได้บ้าง ถ้าเราออกแบบบริการที่หลากหลายผ่านแอปพลิเคชันได้ เราก็ย่อมออกแบบการจัดการทรัพยากรได้เช่นกัน?

101 ชวน ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ที่ผ่านการทำงานในองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับโลกหลายแห่งทั้ง IUCN, WWF และ WCS ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาโครงการด้านสิ่งแวดล้อมให้กับองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง และขับเคลื่อนประเด็นเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและเศรษฐกิจหมุนเวียน กับ ReReef บริษัทสตาร์ทอัพที่เน้นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนด้วยพลังผู้บริโภค มาพูดคุยว่าด้วยผลกระทบของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มต่อสิ่งแวดล้อม

โลกกำลังกังวลอะไร เศรษฐกิจแพลตฟอร์มจะมาในฐานะวายร้ายหรือพระเอก มีโมเดลของประเทศไหนที่แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างชะงัด และประชาธิปไตยสำคัญอย่างไรต่อการแก้ปัญหาเหล่านี้

 

ช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ในระดับโลกมีการถกเถียงประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง เรื่องอะไรที่คนกำลังให้ความสำคัญ

เรื่องที่โดดเด่นที่สุดคงจะเป็นเรื่องโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการตื่นตัวมาก และมีการรณรงค์อย่างกว้างขวางในกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั่วโลก แต่ถ้ามองในภาพกว้างทางวิชาการ แนวคิดเรื่องขีดจำกัดที่ปลอดภัยของโลก (planetary boundaries) เป็นบทสรุปปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ดี โดยนักวิทยาศาสตร์เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า ในทุกๆ ระบบปฏิบัติการของมนุษย์จะมีขอบเขตที่ปลอดภัยอยู่ ซึ่งเราจะปล่อยให้ปัญหาเกินขอบเขตนี้ไปไม่ได้ เหมือนถ้าอยู่ในโรงงาน แล้วความร้อนสูงเกินไป ความดันในท่อเกินระดับ ก็จะมีสัญญาณส่งเสียงเตือนขึ้นมาทันที นักวิทยาศาสตร์จึงนำแนวคิดนี้มาอธิบายว่า เราจำเป็นต้องรักษาให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ อยู่ในระดับที่ปลอดภัยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นโลกก็จะอยู่ไม่ได้ ซึ่งพอมาวิเคราะห์แล้วก็พบว่ามีหลายปัญหาที่เกินขอบเขตที่ปลอดภัยของโลกมาแล้ว

ประเด็นที่หนึ่งคือเรื่องการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เราจะได้ข่าวการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตถูกพูดถึงบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลัง เป็นประเด็นใหญ่มากและถือเป็นวิกฤตที่สุดก็ว่าได้ นั่นคือวิกฤตการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 ตอนนี้อัตราการสูญพันธุ์สูงกว่าตามธรรมชาตินับพันเท่า เราไม่ได้พูดถึงการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าหายากที่รู้จักกันดีเท่านั้นอย่าง เสือ ช้าง ลิงอุรังอุตัง แต่รวมไปถึงแมลง และสิ่งมีชีวิตจำนวนมากที่มองไม่เห็น เพราะมันจะกระทบต่อการทำงานทุกอย่างในทุกๆ ระบบนิเวศของโลก

ประเด็นที่สอง คือเรื่องมลภาวะ พวกสารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส ที่ถูกปล่อยลงสู่ทะเลมากเกินไป ซึ่งก็จะพ่วงเรื่องมลภาวะอื่นๆ ไปด้วย ที่เราได้ยินมากๆ เรื่องขยะทะเล และขยะพลาสติกที่โดดขึ้นมา แต่ความจริงการใช้ปุ๋ยและสารเคมีมากเกินไปส่งผลต่อระบบนิเวศเป็นวงกว้างมาก เวลาสารอาหารเหล่านี้ถูกชะลงสู่ทะเลก็จะเกิดการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืชและสัตว์ (plankton bloom) พอหนักเข้าก็จะกลายเป็นเขตมรณะหรือ dead zone คือบริเวณในทะเลที่ไม่มีออกซิเจนเหลืออยู่เลย ซึ่งก็แทบไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆ อาศัยอยู่ได้ ยกเว้นแค่จุลินทรีย์บางชนิด คงคล้ายๆ กับทะเลทรายใต้น้ำ ที่น่าตกใจคือมีการขยายตัวของเขตมรณะเหล่านี้ถึง 4 เท่าในช่วง 60-70 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าตอนนี้มี dead zone กว่า 400 แห่งทั่วโลก และขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่มหาสมุทรคือแหล่งอาหารที่สร้างผลผลิตให้มนุษย์มากที่สุด แต่ตอนนี้แม้แต่มหาสมุทรก็ถูกทำให้กลายเป็นพื้นที่ที่สิ่งมีชีวิตไม่สามารถอาศัยอยู่ได้

ประเด็นที่สาม ก็คือประเด็นที่มีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง แล้วก็เริ่มเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ คือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นักวิทยาศาสตร์เองก็กระตุ้นว่าจะต้องมีการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะ 10 ปีจากนี้ซึ่งถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างยิ่ง ถ้าจะฉุดไม่ให้ขบวนรถตกเหวก็จะต้องทำตอนนี้ รอไม่ได้อีกแล้ว ระยะหลังเราจึงเห็นนักวิทยาศาสตร์ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับกล่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น เมื่อปีที่แล้วก็มีนักวิทยาศาสตร์กว่า 10,000 คนออกมาเซ็นจดหมายเรียกร้องว่าต้องมีการประกาศสภาวะฉุกเฉินด้านสภาวะอากาศ และขับเคลื่อนแก้ไขเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ประเด็นนี้จุดติด และหลายประเทศก็รับมาเป็นนโยบายหลักแล้ว เรียกว่าไปไกลกว่ากลุ่มอนุรักษ์เล็กๆ แล้ว

 

นอกจากเรื่องที่กล่าวมาแล้ว ในช่วงที่ผ่านมา มีการพูดถึงเยอะว่าเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เป็นเศรษฐกิจแห่งอนาคต แพลตฟอร์มจะมีพลังอำนาจมากในการเคลื่อนเศรษฐกิจโลก แต่ขณะเดียวกันทางสิ่งแวดล้อมก็พูดถึงเรื่องการเกิดขยะจำนวนมากที่เกิดจากเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม คำถามก็คือเศรษฐกิจแพลตฟอร์มจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

platform economy เป็นส่วนหนึ่งของ digital disruption ที่เกิดขึ้น ส่งผลกับทุกคน ตั้งแต่การสื่อสารในระดับครอบครัวไปจนถึงเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และมีผลต่อทุกแง่มุมในการใช้ชีวิต เรื่องทำให้เกิดขยะมากขึ้นจากการสั่งของเป็นแค่มุมเล็กๆ เท่านั้นเอง ถ้าจะมองให้ใหญ่ขึ้น ก็ต้องมองเรื่องดิสรัปชันที่เกิดขึ้นจากแพลตฟอร์ม

โควิดเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด เรียกได้ว่าเป็นสึนามิมากวาดทุกอย่างเลย ทำให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำและจุดอ่อนของเศรษฐกิจแบบเดิมที่เป็นอยู่ แต่ถามว่าคนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเองก็มองว่าดิสรัปชันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในแง่ดี การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากดิสรัปชันจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด ซึ่งการแก้วิกฤตต่างๆ ในปัจจุบัน เราจำเป็นต้องมีทางออกแบบนั้นถึงจะเอาอยู่ ปรากฏการณ์ที่เห็นในเวลานี้คือธุรกิจแพลตฟอร์มโตขึ้นเรื่อยๆ หลายๆ คนก็ยังไม่รู้จะรับมือกับมันอย่างไร เป็นนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นมาไม่นาน แล้วตอนนี้กลายเป็นว่าเจ้าของแพลตฟอร์มคือคนที่มีอำนาจมากที่สุด

แต่ในมุมสิ่งแวดล้อมเอง เราก็มองว่ามีข้อดีและศักยภาพหลายอย่างที่แพลตฟอร์มแบบนี้จะมาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเดิมที่เป็นอยู่ได้ ปัญหาใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของเรื่องสิ่งแวดล้อมคือผลกระทบภายนอกที่เกิดจากการผลิต หรือโครงการใดๆ ก็ตาม ระบบทุนนิยมที่เน้นผลกำไรบังคับให้การผลิตต้องพยายามทำให้ต้นทุนถูกที่สุด ผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงถูกซ่อนไว้หรือไม่ได้ถูกนำมาคำนวณ

ระยะหลัง digital platform มีเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนเพื่อช่วยแก้ปัญหามากขึ้น เช่น การตัดไม้ทำลายป่า เมื่อก่อนการจะทำให้มีการตรวจสอบการทำงานของรัฐ หรือดูว่าใครเป็นคนตัด มีขั้นตอนเยอะแยะไปหมด ข้อมูลเข้าถึงได้ยาก เหมือนเป็นดินแดนสนธยาก็ว่าได้ เราแทบไม่มีโอกาสรับรู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ตอนนี้ ด้วยเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม การสำรวจทางไกล (remote sensing) การใช้ big data ทำให้สามารถประมวลผลแบบเกือบจะเรียลไทม์ได้ เช่น แอปพลิเคชัน Global Forest Watch ใช้ติดตามพื้นที่ป่าไม้ทั่วโลกว่ามีการตัดไม้ทำลายป่าที่ไหนบ้าง หรือ Global Fishing Watch ก็ติดตามเส้นทางของเรือประมงได้จากหน้าจอ เพื่อแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย โปรแกรมพวกนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความโปร่งใสในการจัดการทรัพยากร

เมื่อก่อนไม่มีเทคโนโลยีในการจัดการทรัพยากร อำนาจอยู่กับผู้มีอำนาจเท่านั้น แต่พอเรามีโปรแกรมเหล่านี้ สามารถดูข้อมูลได้เลยว่าเกิดการบุกรุกป่าที่ไหน มีเรือประมงแอบเข้าไปจับปลาในเขตอนุรักษ์รึเปล่า เป็นการบังคับให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทำงาน ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ข้อมูลตรงนี้ช่วยให้ภาคประชาสังคมเองสามารถเข้าไปตรวจสอบอำนาจของรัฐได้

เทคโนโลยีและข้อมูลบนแพลตฟอร์มเหล่านี้จะช่วยสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน เมื่อก่อนบริษัทขายอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ถูกตั้งคำถามว่าเพราะความต้องการของคุณทำให้มีการบุกป่ามากขึ้นเพื่อจะปลูกข้าวโพดขึ้นรึเปล่า ตอนนี้หลายบริษัทถูกบังคับให้ตอบคำถามให้ได้ว่าตลอดห่วงโซ่อุปทาน คุณได้สร้างผลกระทบมากน้อยขนาดไหน

ถ้ามองเรื่อง platform economy ที่ใกล้ตัวเรามากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือเรื่องเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน คนมีความจำเป็นน้อยลงที่จะเป็นเจ้าของสินค้าบางอย่าง ซึ่งความจริงแล้วในเชิงเศรษฐกิจภาพรวมหรือในเชิงสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้ดีตรงที่ลดการใช้ทรัพยากรลงได้เยอะมาก ถ้าคนไม่ใช้รถ หันมาใช้ Uber หรือ Grab ก็ลดการผลิตคาร์บอนลงไปได้เยอะมาก

คือเราหันไปซื้อบริการแทนการซื้อสินค้าเพื่อเป็นเจ้าของ ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะซื้อหลอดไฟ เราเปลี่ยนเป็นซื้อบริการให้แสงสว่าง เราไม่ต้องเป็นเจ้าของหลอดไฟแต่ซื้อบริการการให้แสงสว่าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือบริษัทจะผลิตหลอดไฟที่ดีที่สุดเท่าที่เขาทำได้ เพื่อให้มีอายุนานที่สุด มีประสิทธิภาพดีที่สุด และรับผิดชอบในการจัดการเมื่อหลอดไฟหมดอายุ เพราะนั่นคือสิ่งที่เขาขายให้ลูกค้า ซึ่งอันนี้ก็ช่วยแก้ไขปัญหาวงจรระบบวัตถุนิยม ที่ต้องผลิตให้มากที่สุด ทำให้สินค้ามีอายุสั้น เพื่อให้ลูกค้ากลับมาซื้อใหม่ ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนเลยนะว่าถ้าคุณมาขายการบริการแทน จะช่วยลดของเสียที่เกิดขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และลดการใช้วัตถุดิบตั้งแต่ต้นทางด้วย ซึ่งอันนี้ก็จะเกิดขึ้นคู่ขนานกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจแพลตฟอร์มในลักษณะนี้จะช่วยลดการใช้ทรัพยากรได้มหาศาล

 

ณ ตอนนี้หลายธุรกิจในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เช่น บริการรับส่งอาหาร ในมุมหนึ่งช่วยลดการใช้ทรัพยากรก็จริง แต่ก็เป็นการเพิ่มขยะด้วยเหมือนกัน ในส่วนของบริษัทที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มควรจะออกมารับผิดชอบอย่างเป็นรูปธรรมต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นไหม เหมือนอย่างที่เคยมีการเรียกร้องให้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่สร้างขยะมากที่สุดออกมารับผิดชอบ

ควร และทิศทางการเรียกร้องนโยบายในอนาคตก็ควรจะเป็นไปในทางนั้นด้วยนะ คือเราพูดถึงข้อดีของแพลตฟอร์มเหล่านี้ แต่สิ่งที่ยังขาดในปัจจุบันก็คือแนวทางที่ชัดเจนที่เจ้าของแพลตฟอร์มต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เรารับข้อดีมาแต่ข้อเสียคนอาจจะยังไม่พูดถึงมากนัก เพราะฉะนั้นการแก้ต้องใช้คอนเซ็ปต์เดียวกับเรื่องขยะที่บอกว่า ผู้ผลิตซึ่งเป็นผู้ได้ประโยชน์โดยตรงจากการขายสินค้ารวมหีบห่อจำเป็นต้องรับผิดชอบมากขึ้น

จึงมีการพูดถึงเรื่อง reverse supply chain ขึ้นมา ไม่ใช่แค่ผลิตขายแล้วจบ แต่พอใช้เสร็จ เส้นทางของขยะที่เกิดขึ้นจะต้องกลับหาผู้ผลิต หากมีระบบนี้ ขยะเหล่านี้จึงจะมีการติดตาม คัดแยก เพื่อนำกลับไปส่งให้ผู้ผลิตได้ ซึ่งถ้ามีการกระทำเป็นวงจรอย่างนี้ แน่นอนว่าผู้ผลิตก็ต้องมีความพยายามที่จะพัฒนาหีบห่อผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาจจะทนทาน และรีไซเคิลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือถ้าจำเป็นต้องใช้แล้วทิ้ง ก็จะใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้แทน

ความจริงถ้าจะแก้ไม่ยากเลย ถ้ามีกฎหมายขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility-EPR) ซึ่งตัวอย่างที่ง่ายที่สุด คือระบบมัดจำ และระบบรับซื้อคืนสินค้าหมดอายุแล้วที่จัดเก็บยาก เช่น เตียงนอน ฟูก ฯลฯ หลายประเทศฝั่งยุโรปมีกฎหมายลักษณะนี้มา 30 ปีแล้ว เริ่มจากค่ามัดจำขวด ซึ่งบ้านเราเมื่อก่อนก็เป็น ซื้อน้ำอัดลมต้องเอาขวดไปคืนที่ร้าน ในประเทศที่มีกฎหมายบังคับค่ามัดจำพวกนี้ ผู้ผลิตสามารถเก็บขวดกลับคืนได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ บรรจุภัณฑ์จะไม่ถูกทิ้งเป็นขยะในสิ่งแวดล้อมเพราะนั่นคือเงินเห็นๆ ถ้าเอามาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกทุกประเภทก็ช่วยแก้ปัญหาไปเยอะมากแล้ว ซึ่งเศรษฐกิจแพลตฟอร์มอาจปรับมาใช้แบบนี้ด้วย คือมีระบบชัดเจนเลยว่า บริษัทที่ให้บริการจะรับผิดชอบขยะที่เกิดขึ้นด้วย คุณมาส่งได้ คุณก็มารับได้เช่นกัน

แม้ว่าเราจะเปลี่ยนจากเศรษฐกิจแบบเดิมมาสู่เศรษฐกิจแพลตฟอร์มแบบใหม่ แต่ถ้ายังไม่คิดถึงผลกระทบภายนอกที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นปัญหาแบบเดิม ซึ่งไม่ได้คำนวณว่าต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นใครเป็นคนรับผิดชอบ โยนมาให้ผู้บริโภค ผู้บริโภคก็ไม่อยากรับผิดชอบ เลยกลายเป็นว่าสิ่งแวดล้อมกับธรรมชาติต้องแบกต้นทุนตรงนั้น แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ควรนำมาบูรณาการกับแพลตฟอร์มพวกนี้คือเรื่องต้นทุนทางธรรมชาติ (natural capital) ต้องคำนวณออกมาให้ได้ว่าธรรมชาติสูญเสียอะไรบ้างตลอดวงจรชีวิตของสินค้านั้นๆ ตั้งแต่การผลิตและขั้นตอนบริการ แล้วเราจะทำให้บัญชีสมดุลได้อย่างไร และใครจะต้องเป็นคนจ่าย

 

ในโลกหลังโควิด วิกฤตสิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างไร แล้วเศรษฐกิจแพลตฟอร์มจะมีปัจจัยอะไรเข้ามาแทรกแซงหรือไม่

เศรษฐกิจแพลตฟอร์มได้ประโยชน์จากวิกฤตครั้งนี้อย่างชัดเจน คนที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มอย่างแอมะซอน คือ Jeff Bezos รวยเอาๆ และกำลังจะเป็นมนุษย์คนแรกของโลกที่จะเป็นมหาเศรษฐีระดับล้านล้านซึ่งไม่เคยมีมาก่อน เราเห็นว่าภาค e-commerce online ของเขาขยายตัวไปขนาดไหน แต่ในขณะเดียวกันบริษัทยังมีปัญหาการดูแลสวัสดิการพนักงานอย่างมาก เป็นอะไรที่ย้อนแย้ง

ส่วนโลกหลังโควิด ผมเป็นคนหนึ่งที่มองโลกในแง่ดีว่ามันเป็นจุดที่จะทำให้คนตั้งสติได้ เห็นระบบที่ผ่านมาว่ามีความผิดปกติอย่างไรบ้าง ช่วงก่อนโควิดเราก็เห็นอยู่แล้วว่าระบบเศรษฐกิจที่ผ่านมา รวมไปถึงทิศทางการพัฒนามีความไม่ปกติขนาดไหน มันสร้างความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในรูปแบบรวยกระจุกจนกระจาย แต่พอเกิดโควิดก็ยิ่งทำให้ความไม่ปกติมาอยู่ในที่แจ้ง เห็นชัดเจนมาก สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยรวมเลยก็ว่าได้

วิกฤตโควิดยังทำให้เห็นด้วยว่าคนเราแต่ละคนได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน คนที่มีทรัพยากรมากสามารถกักตัวอยู่ในบ้านได้เป็นเดือนๆ โดยไม่เดือดร้อน และถ้าต้องปิดเมืองอีกปีนึงก็คงจะไม่ใช่คนกลุ่มแรกที่ตายก่อนแน่นอน ซึ่งก็เป็นเหมือนปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถามว่ากลุ่มคนหรือชุมชนไหนที่จะได้รับผลกระทบก่อน ไม่ใช่กลุ่มคนที่ใช้พลังงานมาก ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงๆ หรอก แต่จะเป็นชุมชนชายขอบที่ขาดทรัพยากร ขาดต้นทุนในการรับมือการเปลี่ยนแปลง วิกฤตโควิด จึงเป็น wake up call ที่ใหญ่มากนะ แต่เราจะตื่นหรือเปล่า ซึ่งถ้ามองโลกในแง่ความเป็นจริงก็ยาก เพราะคนที่ได้ประโยชน์จากระบบแบบเดิม เขาก็ต้องการให้ระบบนั้นกลับมาโดยเร็วที่สุด

แต่ในแง่ของคนที่พยายามขับเคลื่อน ต้องบอกว่าถ้าวิกฤตใหญ่ขนาดนี้ยังไม่สามารถทำให้มนุษย์ตื่นได้ ก็น่าจะเรียกว่าสิ้นหวังแล้วนะ นักวิทยาศาสตร์เตือนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมานานก่อนที่จะเริ่มมีวิกฤต แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่แก้ยากมาก เพราะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงข้ามคืน เราพูดกันถึงผลกระทบใน 10 ปี 20 ปี เพราะฉะนั้นวลี ‘ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลังน้ำตา’ ใช้ได้ดีมากกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โควิดทำให้เราเห็นว่า สุดท้ายพอเกิดวิกฤตจริงๆ สิ่งที่จะช่วยชีวิตมนุษย์ไม่ใช่อุดมการณ์ ไม่ใช่ความเชื่อ แต่คือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้เรารอด บุคลากรทางสาธารณสุขรับมือได้เพราะใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ทั้งนั้นเลย แล้วถ้าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นจริงๆ ก็ต้องอาศัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์นี่แหละ แต่ ณ ปัจจุบันเองก็ยังมีแรงต่อต้าน ไม่อยากเปลี่ยนแปลง จริงๆ ยุคหลังโควิดตอนนี้มีการนำเสนอแนวทางต่างๆ มากมายที่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจ พร้อมๆ กับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนรับมือกับวิกฤตครั้งต่อไปได้ดีขึ้น

แน่นอนว่าวิกฤตแบบโควิดไม่ได้จะเกิดครั้งเดียว วิกฤตครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นอีกแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด หรือหายนะภัยจากธรรมชาติอันเนื่องมาจากโลกร้อน ซึ่งแนวโน้มเราเห็นอยู่แล้วว่ามันจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นทำไมรัฐบาลจึงไม่แก้ปัญหาด้วยการลงทุนในสิ่งที่จำเป็นต่อการป้องกันวิกฤตในอนาคต จริงๆ เราใช้เศรษฐกิจแพลตฟอร์มเข้ามาช่วยได้เยอะ เช่น จัดการการท่องเที่ยวให้ไม่เกินศักยภาพของพื้นที่ธรรมชาติ เช่น ระบบ e-ticket ต้องจองตั๋วล่วงหน้าก่อนที่จะเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ เหมือนกับซื้อตั๋วดูหนัง ตั๋วเต็มเราก็เข้าไม่ได้ ต้องรอรอบต่อไป เอาแพลตฟอร์มและระบบแบบนี้มาใช้ เราก็สามารถจำกัดคนได้แล้ว ตอนนี้มีการพูดกันเยอะเรื่องการท่องเที่ยวแบบ new normal ต้องเน้นการรักษาสภาพแวดล้อม เราก็หวังว่า post โควิดน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แพลตฟอร์มพวกนี้มีอยู่เยอะแล้ว ถ้าเราเอามาปรับใช้กับปัญหาต่างๆ เช่น โควตาการประมง การปล่อยน้ำเสีย การจัดเก็บและคัดแยกขยะ ก็จะช่วยเรื่องการจัดการทรัพยากรโดยรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ยุคที่โลกเริ่มใช้ถ่านหิน กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อสภาพสิ่งแวดล้อมโลก แล้วถ้าเรามองถึงการเกิดขึ้นของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม นับเป็นจุดเปลี่ยนของเรื่องสิ่งแวดล้อมโลกได้ไหม ระดับอำนาจในการเปลี่ยนแปลงโลกมีมากแค่ไหน

ถ้ามองให้ใหญ่ถึงเรื่อง digital platform หลายคนก็มองว่าน่าจะมีโอกาสเปลี่ยนแปลง เราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงในระยะหลังว่าเป็นการก้าวกระโดด การเปลี่ยนแปลงในช่วงยุคสมัยเกิดภายในเวลาไม่กี่ปี ไม่ใช่ทีละเล็กทีละน้อย แต่สมมติว่ามี breakthrough technology (เทคโนโลยีปฏิวัติ) ขึ้นมา เช่น เมื่อก่อนก็เริ่มมาจากกูเกิล เฟซบุ๊ก แอปเปิล ฯลฯ เราก็จะเห็นว่ามันเปลี่ยนผ่านระบบการสื่อสารหรือระบบการใช้งานเลย เพราะฉะนั้นแพลตฟอร์มมีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค จึงต้องย้อนกลับไปว่าคุณต้องมีความรับผิดชอบในเป้าหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมเช่นกัน การที่คุณคิดเรื่องส่งของถึงบ้าน คุณอาจจะต้องคิดในมุมกลับด้วยว่าคุณจะชดเชยยังไงกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น

คนมองว่าในช่วง 10-30 ปีข้างหน้าน่าตื่นเต้นมากๆ เพราะในขณะที่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ชี้ว่าเรากำลังเดินหน้าลงเหว อีกด้านหนึ่งก็มีข้อมูลเตือนว่าความจริงเรามีเทคโนโลยีที่จะช่วยฉุดไม่ให้รถไฟขบวนนี้ตกเหวได้นะ ถ้าเรามีเจตจำนงทางการเมืองและต้องการแก้วิกฤตจริงๆ ซึ่งโควิดก็แสดงให้เห็นในจุดนี้ ลำพังแค่คนกลุ่มน้อยเรียกร้องแบบเดิมอาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไม่ทันการณ์ แต่ถ้ามีเครื่องมือมาช่วยเปลี่ยน เช่น ระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน หรือระบบที่ช่วยสร้างความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทาน สร้างความโปร่งใสเรื่องบริหารจัดการทรัพยากร สิ่งนี้น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโลก

ถ้าจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ได้ผล เราต้องแก้ที่นโยบายและระบบโครงสร้าง ซึ่งถ้าไม่มีเครื่องมือมาช่วย อาศัยแค่การแก้ปัญหาทีละเล็กทีละน้อยแบบขอความร่วมมือ หรือเน้นการสร้างจิตสำนึกอย่างเดียว ก็จะไม่ทันกับปัญหาที่เกิดขึ้นแน่นอน เช่น เราคุยกันเรื่องคัดแยกขยะ ลดขยะพลาสติกในฝั่งผู้บริโภค ในขณะที่ฝั่งผู้ผลิต ยังมีการผลิตพลาสติกออกมาใช้ปีละกว่า 400 ล้านตันและยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือมันคนละสเกลกันเลย ถ้าการแก้ปัญหาของเราจุ๋มจิ๋ม ไม่ตอบโจทย์ ก็ไม่มีทางแก้ปัญหาใหญ่ขนาดนี้ได้ สเกลการแก้ปัญหาต้องสอดคล้องกับปัญหาที่เราต้องการจะแก้

 

มีประเทศไหนที่รัฐออกนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมแล้วเห็นผลชัดเจนจับต้องได้บ้าง เช่น ออกมาตรการมาแล้ว ภาคธุรกิจต้องทำตาม

ในระดับภูมิภาค คงจะเป็นสหภาพยุโรป (EU) ที่มีนโยบายแบบก้าวหน้าและทันสมัยหน่อย เราได้เห็นหลายๆ ประเทศมีการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ และเริ่มใช้เป้าเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาบูรณาการเป็นกฎหมายที่บริษัทต้องปฏิบัติตามจริงๆ หรืออย่างกฎหมายเรื่อง EPR ยุโรปก็มีมา 30 ปีแล้ว ในขณะที่บ้านเราเพิ่งพูดกัน

ในระดับประเทศ ผมอยากยกตัวอย่างประเทศที่มีบริบทใกล้เคียงกับบ้านเราคือคอสตาริกา เป็นประเทศเล็กๆ ในอเมริกากลาง ประชากรน้อย พื้นที่เล็กกว่าบ้านเราประมาณ 10 เท่า แต่เป็นประเทศที่มีวิสัยทัศน์เรื่องสิ่งแวดล้อมก้าวหน้ามาก วางตัวเองให้เป็นหมุดหมายปลายทางของโลกสำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ลงทุนกับการจัดการเครือข่ายพื้นที่คุ้มครอง และยังส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติในภาคการเกษตรด้วย คือไม่ใช่แค่เฉพาะในพื้นที่อนุรักษ์แต่รวมถึงพื้นที่ชุมชน ส่งเสริมให้ใช้ความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่ให้มีคุณค่าในเชิงการท่องเที่ยวให้มากที่สุด นอกจากนี้ก็ยังมีระบบภาษีสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุม มีระบบการจ่ายเงินให้กับนิเวศบริการ เขาประสบความสำเร็จมากและมีทิศทางเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ก้าวหน้ามาตลอด เมื่อไม่นานมานี้ก็ตั้งเป้าว่าคอสตาริกาจะเป็นประเทศที่ปลอดจากขยะพลาสติก และปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปีหน้า (2021) ตอนนี้กว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานที่ใช้ในประเทศได้มาจากพลังงานหมุนเวียนแล้ว และแบนการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งอย่างถุงก็อบแก็บและพลาสติกอื่นๆ ไปแล้ว

คอสตาริกาเป็นประเทศไม่ใหญ่ และที่สำคัญเป็นประเทศที่ไม่มีทหาร ผู้นำคอสตาริกาตัดสินใจยกเลิกกองทัพเมื่อ 70 กว่าปีที่แล้ว และนำงบประมาณด้านกลาโหม ไปลงกับระบบการศึกษาและสาธารณสุข จนเป็นประเทศที่มีสวัสดิการของรัฐดีที่สุดแห่งหนึ่ง การเน้นเรื่องการศึกษา นอกจากจะช่วยปลูกฝังสร้างจิตสำนึกของประชาชนแล้ว ก็ยังทำให้นโยบายดีๆ ได้รับการตอบรับ เพราะคนเข้าใจว่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาจริงๆ

 

แล้วถ้าย้อนกลับมาดูที่ไทย รัฐบาลไทยมีนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอะไรที่น่าสนใจและทันสมัยบ้าง รวมถึงรัฐบาลตั้งรับการขยายของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มอย่างไร

ถ้าไปดูการทำงานในกรมกองต่างๆ หลายนโยบายถือว่าทันสมัยนะ สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของประเทศไทยเลยคือเรื่องพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งมีการจัดตั้งมา นับเป็นจุดแข็งของบ้านเราจริงๆ ความจริงปี 2020 เป็นปีที่ทุกประเทศต้องรายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับงานอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพตามเป้าหมายไอจิ หรือ Aichi Targets หนึ่งในเป้าหมายร่วมกันคือเราควรจะมีพื้นที่อนุรักษ์ทางบกไม่ต่ำกว่า 17 เปอร์เซ็นต์ และมีพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลไม่ต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์  ถ้าว่ากันแต่ตัวเลข เรามีเปอร์เซ็นต์พื้นที่คุ้มครอง อย่างน้อยเกินขั้นต่ำที่ระดับโลกตั้งเป้าแล้ว คือราวๆ 20 เปอร์เซ็นต์

ในระดับภูมิภาค พื้นที่คุ้มครองของประเทศเราก้าวหน้ากว่าประเทศอื่น มีการลงทุนจ้างเจ้าหน้าที่ มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน ที่ทำการ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว น่าจะเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สัตว์ป่าหลายชนิดเริ่มฟื้นประชากรกลับมา ซึ่งถ้ามองเป็นต้นทุน นี่คือทรัพยากรที่จะแปลงไปสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูงได้

เร็วๆ นี้ก็มีงานวิจัยระดับโลกที่วิเคราะห์การท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับแนวปะการัง พบว่าประเทศไทยได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับแนวปะการังปีหนึ่งกว่า 80,000 ล้านบาท นับเป็นประเทศท็อป 5 ที่ได้ประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรทางทะเลในลักษณะนี้ ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า เรามีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรกันหนักหน่วงจริงๆ ถึงแม้จะมีปัญหารุมเร้ามากมาย แตะตรงไหนก็เหมือนจะมีปัญหาไปหมด แต่จริงๆ แล้วเรายังมีพื้นที่หลักที่มีศักยภาพในการอนุรักษ์อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเพียงแต่จะได้รับการปกป้องดูแลบ้าง

เป้าหมายในระยะต่อไป ต้องเป็นการสร้างศักยภาพในพื้นที่ ให้ชุมชนโดยรอบได้ประโยชน์จริงๆ ทำให้เขาเห็นว่าการอนุรักษ์กินได้ มีประโยชน์กับเขาจริงๆ จะช่วยลดความขัดแย้งในรูปแบบเดิมๆ ที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างพื้นที่ป่าตะวันตกเป็นซึ่งป่าอนุรักษ์ผืนใหญ่ที่สุดของบ้านเรา ยังมีชุมชนอยู่อาศัยภายในพื้นที่กว่า 200 กว่าแห่ง ซึ่งแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาก็จะต้องทำอย่างรอบคอบ แต่เราเริ่มเห็นความหวังในหลายพื้นที่ มีการสำรวจแนวเขต สร้างกติการร่วมกัน มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น การส่งเสริมการทำกาแฟใต้ร่มไม้ ผ้าทอโบราณ ซึ่งถ้าภาครัฐเข้ามาสนับสนุนจริงๆ ก็แก้ปัญหาได้

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ก็มีการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมสำรวจระยะไกล สนับสนุนการทำงานในระดับปฏิบัติการที่ดีมาก เรามีศักยภาพที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มที่เหมือน Forest Watch หรือ  Fire Watch ติดตามเรื่องการบุกรุกป่า หรือ ไฟป่าได้อย่างรวดเร็วและทันการณ์ ถ้าพัฒนาแพลตฟอร์มให้คนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลให้ง่ายขึ้น จะช่วยให้การทำงานเกิดความโปร่งใสมากขึ้น

หลายโครงการของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (BEDO) ก็ก้าวหน้ามาก มีการดูว่าทำอย่างไรที่ระบบเศรษฐศาสตร์จะคำนึงถึงนิเวศบริการต่างๆ ที่เราได้จากธรรมชาติ มีโครงการศึกษาการทำบัญชีต้นทุนธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางธรรมชาติมีราคาขึ้นมา ซึ่งมันก็จะนำไปสู่การคำนึงถึงผลได้ผลเสียตามความเป็นจริง ถ้ามีโครงการพัฒนาที่ทำแล้วเกิดผลกระทบ คุณได้คำนวณผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในเชิงตัวเงินหรือยัง ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าถ้าคุณทำอันนี้ จะเกิดผลเสียอันนี้ ถ้าได้ไม่คุ้มเสีย โครงการก็ไม่ควรเกิดนะ

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมหลายอย่างของเราก้าวหน้าและล้อไปกับเป้าหมายของโลก ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ในภาพใหญ่ยังมีคอขวดที่สำคัญอยู่ นั่นคือ การรวมศูนย์อำนาจ และระบบที่ยังเปิดโอกาสให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ได้ง่าย สังเกตว่ายังมีโครงการที่ไม่เกิดผลประโยชน์อย่างแท้จริงแต่เดินหน้าอยู่เรื่อยๆ ที่เป็นข่าวเร็วๆ นี้ก็การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยการสร้างเขื่อนกันคลื่น การแก้ปัญหาที่แท้จริงเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการกัดเซาะมีสาเหตุมาจากอะไร และย้อนกลับไปแก้ที่ต้นเหตุ แต่แนวทางการแก้ปัญหาที่แพร่หลาย คือการใช้โครงสร้างแข็งทางวิศวกรรม ซึ่งทำให้เกิดการกัดเซาะในพื้นที่อื่นๆ ตามมา เพราะพลังงานจากคลื่นไม่ได้หายไปไหน โครงการแบบนี้แพร่ระบาดไปทั่วชายฝั่ง แม้แต่ในชายหาดที่ไม่ได้เกิดปัญหาการกัดเซาะรุนแรง โครงการเหล่านี้เป็นโครงการที่ใช้งบประมาณมหาศาล ซึ่งเราก็รู้ว่าทำไมถึงเกิดโครงการลักษณะนี้เต็มไปหมด ในทางวิชาการมีข้อมูลสนับสนุนมากมายว่าทำไปแล้วได้ไม่คุ้มเสีย เราต้องหยุดโครงการพวกนี้ให้ได้ ก็ยังน่าดีใจที่เริ่มเห็นชุมชนชายฝั่งตื่นตัวลุกขึ้นมาปกป้องชายหาดของตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้ามีแพลตฟอร์มที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมและตรวจสอบนโยบายเหล่านี้ จะช่วยให้การบริหารทรัพยากรโปร่งใส่ขึ้น แก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น

 

ประชาธิปไตยสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมแค่ไหน เราจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการปกครองแบบเผด็จการได้ไหม

ประชาธิปไตยเป็นพื้นฐานสำคัญอยู่แล้ว คำพูดที่ว่า Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely ใช้ได้เสมอ คือยิ่งผู้ปกครองมีอำนาจมากเท่าไหร่ การตรวจสอบก็ยิ่งทำได้ยากขึ้นเท่านั้น ยิ่งเวลาที่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลได้ผลเสีย ถ้าระบบไม่เท่าเทียม การพิจารณาผลประโยชน์ก็จะไม่เท่าเทียม ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ ในขณะที่คนที่ได้ประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจแบบทิ้งสิ่งแวดล้อมไว้ข้างหลัง มักจะเป็นแค่คนกลุ่มน้อย เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยจึงสำคัญตรงที่ช่วยสะท้อนเสียงของคนส่วนใหญ่ ไม่มีใครได้ประโยชน์จากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ยกเว้นเพียงคนกลุ่มน้อยที่อยู่บนสุดของปีรามิด ซึ่งถ้าประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้สามารถมีอิทธิพลต่อนโยบายสาธารณะได้มาก และเขาไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงหรอก ตราบเท่าที่เขายังได้ประโยชน์จากระบบที่บิดเบี้ยวเช่นนี้

ประชาธิปไตยจึงเป็นพื้นฐานสำคัญอันดับแรก ที่จะทำให้ได้มาซึ่งนโยบายที่มีประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ เป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่จะต้องเกิดขึ้นเพื่อชี้ให้เห็นว่าปัญหาเชิงโครงสร้างคืออะไร และต้องแก้ตรงไหน เราถึงจะแก้ปัญหาได้จริงๆ

 

ถ้าชวนมองในประเด็นเรื่องการผูกขาด ในอนาคตถ้าเราต้องรอให้บริษัทใหญ่ประกาศว่าจะทำ zero waste หรือรอให้แพลตฟอร์มคิดขึ้นมาได้ว่าต้องจัดการวงจรขยะ นั่นหมายความว่าโลกเราจะมุ่งไปสู่ทิศทางที่กลุ่มทุนกุมอำนาจเรื่องสิ่งแวดล้อมรึเปล่า

โยงกับคำถามเรื่องประชาธิปไตย ถามว่าคนที่สามารถจัดการกับกลุ่มทุนหรือภาคธุรกิจเป็นใคร ก็ต้องเป็นผู้กำหนดกติกา ซึ่งคือรัฐ รัฐในอุดมคติก็ต้องเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ในสังคม เพราะฉะนั้นรัฐต้องมีหน้าที่ควบคุมกฎกติกาอยู่แล้ว

ถ้าบริษัทขนาดใหญ่ไม่ได้จ่ายคืนสังคมในอัตราที่สอดคล้องกับประโยชน์ที่เขาได้รับหรือผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องเข้าไปแทรกแซงว่าเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง ไปสร้างกลไก ซึ่งกรณีนี้ก็ไม่ใช่แค่เกิดกับประเทศเรา แต่บางทีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเร็วกว่ากฎระเบียบจะตามทัน ก่อนหน้านี้อาจจะไม่ได้มีใครนึกว่าธุรกิจการขายออนไลน์จะร่ำรวยกว่าการเปิดร้าน เลยกลายเป็นว่าไม่มีกฎระเบียบเหมือนที่ร้านค้าปกติต้องทำ คนก็ตั้งคำถามว่าเจ้าของแพลตฟอร์มอย่างแอมะซอนโตเอาๆ แต่กลายเป็นว่าไม่ต้องจ่ายภาษีอย่างเหมาะสมเลย เป็นต้น

เอาเข้าจริงๆ การจัดการเรื่องแบบนี้ไม่ง่ายอยู่แล้ว เพราะกลุ่มทุนก็มีความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ การจะเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบเพื่อให้เกิดความยุติธรรมขึ้น เลยกลายเป็นต้องต่อสู้กับทั้งสองฝั่ง ต่อสู้กับคนที่ผูกขาด ในขณะเดียวกันก็ต้องต่อสู้กับระบบเชิงโครงสร้างด้วย ซึ่งบ่อยครั้ง รัฐบาลก็ไม่ใช่รัฐบาลแบบอุดมคติในระบอบประชาธิปไตย ที่ว่ารัฐต้องทำเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

อีกอย่างที่อยากตั้งข้อสังเกตคือ โครงการด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมีเยอะมาก มันสะท้อนให้เห็นว่าความจริงประเทศไทยมีทรัพยากรเยอะนะ ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนที่ถูกจัดสรรไว้ให้ใช้เพื่อสิ่งแวดล้อม แต่หลายอย่างเป็นโครงการที่ไม่เกิดผลจริงในทางปฏิบัติ ไม่มีการติดตามผล ไม่มีการประเมินว่าทำไปแล้วสามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่

รัฐควรมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมในการสร้างแรงจูงใจว่าบริษัทที่ดีจะได้ผลประโยชน์อะไรบ้าง เช่น การลดภาษี เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การเข้าถึงสวัสดิการอื่นๆ ปัญหาใหญ่มากคือเราไม่สร้างกลไกทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่จะทำให้คนอยากทำในสิ่งที่ควรทำ คือทำดีแล้วไม่รู้จะได้อะไรนอกจากต้นทุนที่สูงขึ้น เหนื่อยมากขึ้น ในขณะที่ถ้าคุณใช้สารเคมีเยอะๆ ใช้แรงงานทาส หลบเลี่ยงกฎระเบียบต่างๆ คุณก็ทำกำไรมากขึ้น นี่แหละเป็นปัญหาหลักเลยว่า ทำไมคนที่ไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบกลายเป็นคนที่ผลิตสินค้าได้ถูกที่สุด ผลิตได้มากที่สุด กำไรก็เยอะที่สุด แล้วสุดท้ายอาจเจียดกำไรนิดหน่อยเอาไปสร้างภาพลักษณ์ให้องค์กร

เกรต้า ธันเบิร์ก ที่ออกมารณรงค์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พูดไว้ได้ตรงประเด็นว่า ถ้าระบบที่มีอยู่เป็นต้นตอของปัญหา เราก็แก้ไม่ได้หรอก เราต้องเริ่มจากการสร้างระบบขึ้นมาใหม่ก่อน ซึ่งอันนี้ก็สะท้อนความจริงว่า ทำไมปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายอย่างพูดกันเหมือน 20 กว่าปีที่แล้ว ไม่มีอะไรดีขึ้น ในเมื่อระบบที่เป็นอยู่เป็นระบบที่ทำให้คนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งที่เข้าถึงอำนาจได้ประโยชน์ ย่อมไม่มีใครอยากเปลี่ยนระบบตรงนี้ การจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจึงต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของคนจำนวนมากจริงๆ

แต่คำว่า ‘คนจำนวนมาก’ ก็น่าสนใจนะ เพราะว่าในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่ผ่านมา มีตัวเลขอยู่ว่า ถ้าคุณสามารถทำให้คนเห็นด้วยกับสิ่งที่คุณเรียกร้อง แค่ร้อยละ 3 ของประชากร ก็สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องใหญ่ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเลิกทาส เรียกร้องสิทธิสตรี หรือสิทธิมนุษยชน ซึ่งตอนนี้คนรุ่นใหม่ก็มีความสนใจประเด็นเหล่านี้มากขึ้น

ความหวังจึงอยู่ที่คนรุ่นใหม่นี่แหละ เพราะการเข้าถึงข้อมูลสมัยนี้ทำได้ง่ายขึ้น มีความตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะจะว่าไปมันก็เข้าใกล้ตัวพวกเขาเข้าไปทุกที ปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ ที่สลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนก็สามารถสืบค้น ย้อนกลับไปหาต้นทางได้ไม่ยากเหมือนแต่ก่อน แล้วถ้าคนมีความเข้าใจถึงปัญหาเรื่องการผูกขาด เราก็ยังหวังว่ารัฐบาลเองก็จะต้องถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลง แน่นอนว่ายาก แล้วมันก็แยกไม่ออกกับคำถามที่ว่าทำไมถึงต้องมีประชาธิปไตย

 

ที่ผ่านมาเวลาเรารณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม มักจะใช้คำว่าต้องมีจิตสำนึก ซึ่งเหมือนจะเป็นการโยนภาระให้คนทั่วไปเหมือนกัน ในมุมมองของคุณ คิดว่าเรื่องจิตสำนึกสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริงไหม เราต้องมีจิตสำนึกแค่ไหนถึงจะพอ และเราจะผสมการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างกับการสร้างจิตสำนึกแต่ละคนอย่างไร  

ผมไม่เชื่อเรื่องสังคมคนดีอยู่แล้ว เพราะมันไม่เคยเกิดขึ้นจริง เราไม่สามารถทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ ถ้าดูการแก้ปัญหาในประเทศอื่น ก็ไม่ใช่ว่าคนของเขามีจิตสำนึกดีกว่า เพียงแต่มีระบบที่เอื้อให้คนต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะมันเป็นทางที่สะดวกและง่ายที่สุด เช่น การเก็บเงินค่าถุงพลาสติก การคิดค่ามัดจำขวด การเก็บค่าจัดเก็บขยะตามปริมาณที่สร้างขึ้น ไม่มีใครหรอกที่อยากเสียเงินซื้อถุงพลาสติกทุกครั้ง หรือต้องเสียเงินค่ามัดจำขวดฟรีๆ นโยบายพวกนี้ทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมไปเอง ซึ่งลำพังเรื่องจิตสำนึกอย่างเดียวแก้ไม่ได้ แต่ถามว่าจิตสำนึกสำคัญไหม สำคัญอยู่แล้ว เพราะทำให้ตระหนักได้ว่าปัญหาคืออะไร และควรจะแก้อย่างไร

จิตสำนึกยังสำคัญตรงที่จุดประเด็นให้เกิดการถกเถียง ทำให้เห็นปัญหา แพลตฟอร์มก็ช่วยได้เหมือนกัน เพราะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล เกิดกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะแต่ก่อนนโยบายต่างๆ เป็นลักษณะ top down อย่างเดียว แต่ถ้ามีแพลตฟอร์มเหล่านี้ การสื่อสารก็เป็นแนวราบมากขึ้น ทำให้ประเด็นต่างๆ ถูกนำขึ้นมาบนโต๊ะ เช่น ประเด็นพลาสติกที่ดังขึ้นมา ก็เป็นเสียงของชนชั้นกลางที่ดังที่สุด คือเรื่องวาฬตายแล้วมีถุงพลาสติกในท้อง ก็ช่วยจุดประเด็นได้

จิตสำนึกบางครั้งก็สามารถผลักดันแล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าคุณมีเป้าหมายที่ชัดเจน อย่างเรื่องขยะ เป้าหมายต้องไปไกลกว่าการเรียกร้องให้ทุกคนทิ้งขยะให้ลงถัง คัดแยกขยะที่บ้าน ควรจะต้องเรียกร้องถึงกฎหมายควบคุม กลไกทางเศรษฐศาสตร์ เช่น ให้ผู้ผลิตร่วมรับผิดชอบด้วย อันนี้ถึงจะเป็นการใช้พลังจิตสำนึกสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

 

ในฐานะปัจเจกของแต่ละคน ถ้าเราอยากให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น เราจะทำอะไรได้บ้าง และเราจะมีวิธีจัดการกับความรู้สึกโกรธโลก หรือผิดหวังกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นอยู่อย่างไรบ้าง

การใช้ชีวิตของเรามีผลต่อโลกในทุกการกระทำอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการตัดสินใจแต่ละอย่างในแต่ละวัน ก็เป็นการแสดงความเห็นในเชิงประชาธิปไตยเหมือนกัน เหมือนที่เขาบอกว่าการอยากมีส่วนร่วมทำให้โลกดีขึ้น ไม่ได้สิ้นสุดแค่การไปเลือกตั้ง แต่อำนาจที่ทุกคนมีคืออำนาจในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งก็เป็นตัวหนึ่งที่ช่วยกำหนดทิศทางเศรษฐกิจได้เหมือนกัน ถ้าคุณลองคิดว่าจะเอาเงินไปซื้ออะไร และเงินที่จ่ายจะไปสนับสนุนใคร ก็เหมือนการเลือกตั้งในทุกๆ วันนะ คุณจะตัดสินใจเลือกเข้าร้านสะดวกซื้อไปซื้อข้าวกะเพราทำสำเร็จ หรือจะไปซื้อร้านป้าแดงที่นั่งผัดกะเพราอยู่ คุณก็เลือกแล้วใช่ไหม

ทุกวันนี้มีผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นเต็มไปหมด การที่เราเลือกสนับสนุนเขาก็เป็นการโหวตลักษณะหนึ่ง เป็นการแสดงความเห็นลักษณะหนึ่ง ถ้าทุกคนมีแนวคิดอย่างนี้ แทนที่จะต้องนั่งรถไปปลูกป่า ทำแบบนี้ส่งผลกระทบมากกว่าอีก เพราะคุณทำได้ทุกวัน ถ้าคุณเป็นบริษัท คุณไม่ต้องไปปลูกป่าหรอก ลองดูว่าในห่วงโซ่อุปทาน และวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ของออฟฟิศคุณส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมยังไง เราสามารถจะลดผลกระทบได้อย่างไร และทำอะไรให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้บ้าง

เดี๋ยวนี้ก็มีเครื่องมือต่างๆ ที่ทำให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ทำให้เรากลายเป็นผู้บริโภคที่ตระหนักถึงการเลือกในชีวิตของเรามากขึ้น หรือมากไปกว่านั้น ก็อาจจะร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อน หรือส่งเสียงทางออนไลน์ ก็เป็นการมีส่วนร่วมอย่างหนึ่งในการผลักดันประเด็นต่างๆ ให้เป็นการถกเถียงสาธารณะ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าตามหลักส่วนบุคคล อยากให้เริ่มต้นจากการใช้สอยจับจ่าย ให้คิดเหมือนการเลือกนั่นแหละว่าคุณจะสนับสนุนใคร

 

เลือกตั้งทุกวัน?

ใช่ เลือกตั้งทุกวันด้วยเงินของคุณ ไม่มีใครบังคับคุณได้เลยนะว่าเงิน 100 บาทจะเอาไปให้ใคร อยู่ในอำนาจของคุณเต็มๆ เลยว่าจะเลือกให้ใคร

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save