fbpx
อู้กับเพ็ญสุภา สุขคตะ เมื่อม็อบฅนเมืองไม่ ‘ต๊ะต่อนยอน’ ตามที่เขาหลอกลวง

อู้กับเพ็ญสุภา สุขคตะ เมื่อม็อบฅนเมืองไม่ ‘ต๊ะต่อนยอน’ ตามที่เขาหลอกลวง

ชลิดา หนูหล้า เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

สีสันในการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านรัฐบาลในภูมิภาคต่างๆ คือการใช้ภาษาและวัฒนธรรมของตนเพื่อแสดงความไม่พอใจ สื่อสารกับทั้งผู้รับสารและผู้ชุมนุมที่ต่างโอบรับวัฒนธรรมนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น การปราศรัยภาษามลายูที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี การร้องกลอนลำ ‘ลำเดินไล่เผด็จการ’ ที่จังหวัดมหาสารคามและขอนแก่น หรือการประกอบพิธีบายศรีเรียกขวัญประชาธิปไตยที่จังหวัดขอนแก่น รวมถึงการเขียนป้ายประท้วงด้วยอักษรธรรมล้านนาในภาคเหนือด้วย

 

https://www.youtube.com/watch?v=2eNeieot5YE

ลำเดินไล่เผด็จการ โดยปฏิภาณ ลือชา (หมอลำแบงค์)

 

ภาคเหนือตอนบนซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา เป็นอีกภูมิภาคที่มีภาษาและวัฒนธรรมเฉพาะ โดย ‘คนเมือง’ จำนวนหนึ่งใช้ภาษาและวัฒนธรรมอัน ‘เนิบนาบ อ่อนหวาน’ เพื่อแสดงความไม่พอใจของตน ทั้งใช้สะตวง คำเมือง ข้อความเขียนด้วยอักษรธรรมล้านนา และตุงสามหางที่ปรากฏในการชุมนุมทั่วภาคเหนือและการชุมนุมในกรุงเทพมหานคร

 

บอล ธนวัฒน์ วงศ์ไชย ตุงสามหาง

ภาพตุงสามหางที่พบทั่วไปในการชุมนุมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน

จากบัญชีทวิตเตอร์ของธนวัฒน์ วงศ์ไชย นักกิจกรรมทางการเมือง

 

เหตุผลที่ผู้ชุมนุมเลือกสื่อสารด้วยภาษาและวัตถุทางวัฒนธรรมหนึ่งๆ อาจแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อภาษาและวัฒนธรรมเป็นเครื่องระบุอัตลักษณ์ของบุคคลและกลุ่มคน ช่วยจำแนกบุคคลหรือกลุ่มคนนั้นๆ จากผู้ถืออัตลักษณ์อื่น ผลลัพธ์หนึ่งของการใช้หรือแสดงวัตถุทางวัฒนธรรมในพื้นที่สาธารณะ ทั้งวัฒนธรรมประชานิยม อาทิ ‘หน้ากากดาลี’ จากซีรีส์ทรชนคนปล้นโลก (Money Heist) ภาษาลู และอักษรธรรมล้านนา คือการประกาศต่อสาธารณชนว่ามีผู้ถืออัตลักษณ์นั้นๆ ในสังคม

101 ชวนร่วมถอดความหมายของวัตถุทางวัฒนธรรมเหล่านี้ กับ ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ อาจารย์พิเศษ สาขาวิชาสื่อ ศิลปะ และการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของคอลัมน์ ‘ปริศนาโบราณคดี’ ในมติชนสุดสัปดาห์ และชวนอ่านปรากฏการณ์สังคมผ่านงานวิชาการเรื่องอัตลักษณ์

ในสมัยแห่งความไม่คาดฝันนี้ อาจถึงเวลาต้องจับตาดูและสงสัย ว่าไม่เพียงข้อเรียกร้องและแนวทางการชุมนุมในปัจจุบันเท่านั้นที่เปลี่ยนไป ทว่าตำแหน่งแห่งที่ของวัฒนธรรมท้องถิ่นไทยกำลังเดินไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ ณ ปลายทางการเคลื่อนไหวเช่นกัน

 

ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ

ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ นักประวัติศาสตร์ศิลปะและนักเขียน

 

ในช่วงการประท้วงที่ผ่านมา ปรากฏภาพตุงสามหางในการชุมนุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่เขียนชื่อและอายุของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือตุงสามหางในการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนเลวที่กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 5 กันยายน โดยเปลี่ยนชื่อและอายุของนายกรัฐมนตรีเป็น ‘กระทรวงศึกษาฯ ๑๒๘ ปี ของฝากจากเชียงใหม่’

อาจกล่าวได้ว่าตุงสามหางเป็นวัตถุทางวัฒนธรรมซึ่งถ่ายทอดความคิดและความรู้สึกที่คนเมืองจำนวนไม่น้อยเห็นพ้อง โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ อธิบายความหมายและที่มาที่ไปของตุงสามหางไว้ว่า

“ภาษาล้านนาเรียกธงว่าตุง ตุงสามหางเป็นธงที่ใช้ในการแห่ศพ โดยตัดจากผ้าหรือกระดาษขาว สูงประมาณ 1 เมตร กว้างประมาณครึ่งเมตร ส่วนบนตั้งแต่หัวถึงเอวมีลักษณะคล้ายคน ส่วนล่างตัดเป็นสามแฉก หรือที่เรียกว่า ‘สามหาง’”

หางหรือแฉกทั้งสามของตุงนั้นมีความหมายหลากหลาย และล้วนผูกพันกับศรัทธาในพระพุทธศาสนา

“ความหมายของหางทั้งสามอธิบายเป็นปริศนาธรรมได้หลายนัยยะ นัยยะแรกคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นัยยะที่สองคือ โลภะ โทสะ โมหะ นัยยะที่สามคือภพทั้งสาม ได้แก่ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ แล้วแต่จะตีความ ใช้ตุงสามหางโดยนำไปผูกกับปลายไม้ ปักไว้ข้างโลงศพ เมื่อนำศพไปสู่ป่าช้าจะมีคนแบกตุงสามหางนำหน้า ทันทีที่ใครเห็นคนแห่ตุงสามหางก็รู้ทันทีว่ากำลังมีขบวนศพแห่ผ่าน จะไม่วิ่งตัดหน้า เพราะถือว่าเป็นอัปมงคล

“ปราชญ์ล้านนาอธิบายว่า เดิมตุงสามหางถูกใช้ในงานมงคลด้วย รวมถึงมีสีสันอื่นๆ เนื่องจากพบภาพตุงสามหางในจิตรกรรมผืนผ้า หรือพระบฏของล้านนาหลายแห่ง แต่ปัจจุบันพบตุงสามหางในงานศพหรืองานอวมงคลเท่านั้น ดังนั้น การใช้ตุงสามหางในการชุมนุมทางการเมือง ชาวล้านนาย่อมรู้ดีว่า เพื่อตอกย้ำความตาย ความเป็นอัปมงคล และเป็นสัญลักษณ์ของการสาปแช่งเผด็จการให้มีความพินาศ”

อีกหนึ่งวัตถุทางวัฒนธรรมที่มีบทบาทใกล้เคียงตุงสามหางและถูกใช้ในการชุมนุมเช่นกัน ได้แก่ สะตวง หรือเครื่องส่งเคราะห์ โดยพบในการชุมนุม #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง ณ มหาวิทยาลัยพะเยา วันที่ 27 กรกฎาคม เป็นสะตวงดังภาพถ่ายด้านล่าง และมีกระดาษเขียนข้อความ ‘เสนียดจัญไร’ ‘ขี้ข้าเผด็จการ’ ฯลฯ ในสะตวงด้วย

 

สะตวง

สะตวง

 

“สะตวง หมายถึงกระทงรูปกระบะสี่เหลี่ยม ตัดจากกาบกล้วย นำมาหักพับ เสียบด้วยไม้ไผ่แล้วนำกระดาษรองข้างใน สะตวงถูกใช้ในพิธีกรรมสองอย่าง” นักประวัติศาสตร์ศิลปะอธิบาย “อย่างแรก ใช้สะตวงเพื่อใส่เครื่องบัตรพลีกรรม หรือเครื่องเซ่นสังเวยเทวดาคือ ‘ท้าวทั้งสี่’ ซึ่งเทียบได้กับท้าวจตุโลกบาล รวมพระอินทร์และพระแม่ธรณีบีบมวยผมเป็นหก ชาวล้านนาจะเตรียมสะตวง 6 ใบ ภายในใส่เครื่องเซ่นสังเวย ได้แก่ อาหารหวานคาว ข้าวเหนียว หมากพลู บุหรี่ เมี่ยง ดอกไม้ธูปเทียน ช่อหรือธงจิ๋วรูปสามเหลี่ยม สีเหลือง แดง ขาว และเขียว 4 ชุด

“อีกอย่างหนึ่งคือใช้เพื่อการส่งเคราะห์ สะเดาะเคราะห์ นำสิ่งเลวร้ายออกจากตัว การใช้สะตวงในการชุมนุมก็เช่นกัน ชาวล้านนาย่อมเข้าใจกันดี ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการ ‘ส่งเคราะห์’ ปัดเสนียดจัญไร สิ่งอัปรีย์ไปให้พ้นๆ”

นอกจากวัตถุทางวัฒนธรรม ยังมีการใช้คำเมือง ทั้งที่สะกดด้วยอักษรไทย และอักษรธรรมล้านนาหรืออักษรธัมม์ล้านนาบนป้ายเพื่อถ่ายทอดความคิดและความรู้สึกของผู้ชุมนุมอย่างตรงไปตรงมา

 

ป้ายในการชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ

ตัวอย่างป้ายในการชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ

จากผู้ใช้ทวิตเตอร์ @betterdaesyrup

 

คำเมืองนั้นปรากฏทั้งบนป้ายของผู้ชุมนุมและชื่อการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็น #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง (คนพะเยาไม่เอาแป้ง) #คนแป้แกนต๋าเผด็จการ (คนแพร่ไม่ชอบหน้าเผด็จการ) #คนแพร่เล่าขวัญเผด็จการ (คนแพร่นินทาเผด็จการ) หรือ #ฮาบ่เอาคิง (ฉันไม่เอาคุณ) ในวันที่ 25 กันยายน โดยเจ้าของคอลัมน์ปริศนาโบราณคดีเห็นว่า การพูดภาษาเมืองหรือ ‘อู้กำเมือง’ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนนั้น เป็นภาวะปกติอย่างยิ่ง

“การใช้ภาษาและวัฒนธรรมล้านนาในการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะเป็นภาษาพูดปกติที่ใช้ในชีวิตประจำวันของผู้คนใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนอยู่แล้ว พบได้ทั้งในครอบครัว ตลาด รถโดยสาร ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ห้องเรียน และในห้องประชุม”

ไม่เพียงเป็นภาษาที่ใช้ทั่วไปเท่านั้น เพ็ญสุภายังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับความพยายามอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน

“ใน 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา มีการรณรงค์ให้ผู้คนทั้งชายหญิงใส่ผ้าพื้นเมืองไปทำงานและไปโรงเรียนทุกวันศุกร์ รณรงค์ให้สื่อสาร บรรยายวิชาการด้วยภาษาล้านนา แม้แต่คนแปลกถิ่นอย่างดิฉันซึ่งเกิดที่กรุงเทพมหานคร เมื่อไปใช้ชีวิตที่ลำพูน 10 ปี และที่เชียงใหม่อีก 10 ปี ก็จำเป็นต้องหัด ‘อู้กำเมือง’ ไว้พอสมควร เพื่อการสื่อสารที่กลมกลืนกับผู้คนในท้องถิ่น”

 

ป้ายหนึ่งจากการชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ

อีกป้ายหนึ่งจากการชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ

จากผู้ใช้ทวิตเตอร์ @betterdaesyrup

 

“การรณรงค์ให้คนล้านนาอู้กำเมืองในชีวิตประจำวันในทุกสถานที่ และการพยายามสอดแทรกอักษรธัมม์ล้านนาบนป้ายชื่อสถานที่ต่างๆ รวมถึงในกิจกรรมและงานประเพณีต่างๆ เริ่มถูกขานรับอย่างต่อเนื่องใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมานี้” เพ็ญสุภาเสริม “คือนอกจากมีอักษรไทย อักษรภาษาอังกฤษ บางแห่งมีอักษรจีนแล้ว คนในหลายพื้นที่จะไม่พอใจเลย หากป้ายนั้นขาดเสียซึ่งอักษรธรรมล้านนา”

ความเข้มข้นของอัตลักษณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับผลสำรวจที่โจเอล ซาวัต เซลเวย์ (Joel Sawat Selway) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันกล่าวถึงในบทความ Thai National Identity and Lanna Identity in Northern Thailand ในวารสาร Kyoto Review of Southeast Asia ฉบับที่ 27 ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 โดยเซลเวย์ชี้ความขัดแย้งที่น่าสนใจในผลสำรวจความรับรู้ของคนเมืองเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของตนเองเป็นระยะ ระหว่าง พ.ศ. 2550-2562

เซลเวย์กล่าวว่าความรับรู้เกี่ยวกับคนเมืองหรือชาวล้านนาในสื่อกระแสหลักของไทยนั้นโดยมากเป็นบวก คือพูดอ่อนหวาน ผิวสีอ่อน ร่ำรวยวัฒนธรรม อาจเพราะอาณาจักรไทระยะแรกมีพื้นที่ทับซ้อนอาณาจักรล้านนา ทั้งชาวล้านนายังไม่มีกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมในประเทศใกล้เคียง กระนั้น นอกจากในชุมชนมุสลิม-มลายูในภาคใต้ อัตลักษณ์ของคนเมือง หรือชาวล้านนาก็นำมาซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองบ่อยครั้งกว่าในภูมิภาคอื่นๆ

แบบสำรวจที่เซลเวย์กล่าวถึงจัดทำโดย World Values Survey (WVS) และ Lanna Cultural Project (LCP) เพื่อสำรวจว่าผู้พูดภาษาเมืองนิยามตนเองอย่างไร และมีความภูมิใจในอัตลักษณ์ชาติ รวมถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นมากน้อยเพียงใด ผลสำรวจชี้ว่าผู้พูดภาษาเมืองจำนวนมากที่สุด (ราวร้อยละ 72) นิยามตนเองเป็น ‘คนไทย’ เท่ากับ ‘คนล้านนา’ (Equally Lanna and Thai) ดังที่บทความบรรยายว่า ‘พวกเขามีทั้งอัตลักษณ์ชาติ และอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่เข้มข้นที่สุด’ โดยผลสำรวจชี้อีกด้วยว่า การนิยามตนเองเป็น ‘คนล้านนา’ ของผู้ตอบแบบสำรวจมีรายละเอียดมากกว่าการนิยามตนเองเป็น ‘คนไทย’ โดยหากมีตัวเลือกอัตลักษณ์อื่นให้เลือก พวกเขาอาจเลือกนิยามตนเองเป็น ‘คนภาคเหนือ’ หรือ ‘คนเชียงใหม่’ แทนที่ อย่างไรก็ตาม ผลรวมของการนิยามตนเองทั้งสามแบบก็ยังมีจำนวนสูสีการนิยามตนเองเป็นคนไทย

ยิ่งกว่านั้น ระดับความภูมิใจในอัตลักษณ์ชาติ และอัตลักษณ์ท้องถิ่นผู้ตอบแบบสำรวจ ยังแทบไม่มีความสัมพันธ์กับการเลือกนิยามตนเอง อาทิ ผู้ตอบแบบสำรวจกว่าร้อยละ 60 ที่มีระดับความภูมิใจในความเป็นไทยต่ำที่สุด กลับเลือกนิยามตนเองเป็นคนไทยมากกว่าคนล้านนา คนภาคเหนือ หรือคนเชียงใหม่ ด้วยเหตุนี้ เซลเวย์จึงสรุปว่าอัตลักษณ์ทั้งสองนั้น ‘ชิงดีชิงเด่นกัน’ จนเป็นความขัดแย้งในตนเองของผู้ถือสองอัตลักษณ์นี้

ทว่าเหตุใดอัตลักษณ์ชาติ และอัตลักษณ์ท้องถิ่นจึงแย่งยื้อบุคคลที่ถือสองอัตลักษณ์เช่นนั้น เพ็ญสุภาได้กล่าวถึงที่มาของความขัดแย้งข้างต้นซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการเลือกใช้คำเมืองและอักษรธรรมล้านนาในการชุมนุม ดังนี้

“อาจกล่าวได้ว่า การปรากฏอักษรธรรมล้านนาในการชุมนุมทางการเมือง เป็นการประกาศความภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมล้านนา เพราะอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่นั้นวัดได้ด้วยภูมิปัญญาที่อาณาจักรใดๆ ใช้ประดิษฐ์อักขระใช้เอง แม้เมื่อเริ่มต้น อักษรธรรมล้านนาจะได้รับอิทธิพลจากอักษรมอญโบราณของอาณาจักรหริภุญไชยก็ตามที แต่ต่อมาได้ปรับปรุงจนกลายเป็นอักษรที่มีอัตลักษณ์เฉพาะของตนเอง แตกต่างจากอักษรมอญต้นฉบับ อักษรธรรมล้านนาถูกใช้อย่างยาวนานกว่า 6 ศตวรรษ และยังสามารถส่งอิทธิพล ถ่ายทอดอารยธรรมต่อไปสู่กลุ่มนอกอาณาจักรล้านนา ไทลื้อในสิบสองปันนา ไทขึนในเชียงตุง ไทน้อยในล้านช้าง เป็นต้น”

และด้วยเหตุนี้ ณ ปลายทางการเคลื่อนไหว ระบอบเผด็จการที่ถูกปฏิเสธอาจไม่ใช่เพียงเพราะการสงวนอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจแก่คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ทว่ารวมถึงการครองอำนาจนำทางวัฒนธรรมอย่างยาวนาน และไม่เคยคลี่คลายตลอดธารประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่

“การใช้อักษรธรรมล้านนา หรือที่เรียกว่า ‘ตั๋วเมือง’ นั้น น่าจะมีนัยยะทวงคืนอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของล้านนา ว่าครั้งหนึ่งล้านนาเคยเป็นอาณาจักรหรือรัฐอิสระ มีอักขระ ภาษาเขียน ภาษาพูดเป็นของตนเอง และยิ่งใหญ่ถึงขั้นส่งอิทธิพลถึงอักษรในกลุ่มตระกูลไทต่างๆ เช่น ไทลื้อ ไทขึน ไทน้อย ไทใหญ่ ฯลฯ” นักประวัติศาสตร์ศิลปะอธิบาย

“ในสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 อักษรธรรมล้านนาได้ถูกลดบทบาทเรื่อยๆ จนสมัยรัชกาลที่ 7-9 จึงมีประกาศห้ามใช้อักษรธรรมล้านนาในที่สาธารณะ ห้ามอู้กำเมืองในห้องเรียน นักเรียนจะถูกปรับคนละ 1 สลึง สถานการณ์เลวร้ายที่สุดคือการสั่งเผาตำราเรียนที่เขียนด้วยอักษรธรรมล้านนา ถือเป็นการทำลายรากเหง้า ไม่ใช่เพียงในล้านนาเท่านั้น แต่ทั่วทุกภูมิภาค อีสาน กลาง ใต้ ตะวันตก เหนือตอนล่าง ล้วนแล้วแต่ถูกทำลายอัตลักษณ์ท้องถิ่นจนหมดสิ้น เพราะรูปแบบการปกครองไทยมีศูนย์กลางที่กรุงเทพมหานคร”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save