fbpx

‘สันติวิธี = ประท้วงอย่างถูกกฎหมายเท่านั้น?’ ความเข้าใจ(ผิด?)ของคนเมืองหลวง

สันติวิธี

เมื่อขบวนการทางการเมืองเริ่มเคลื่อนไหว คำว่า ‘ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง’ หรือ ‘สันติวิธี’ มักจะเป็นคำที่ถูกหยิบขึ้นมาใช้อยู่บ่อยครั้ง และกลายเป็นคำสำคัญอย่างมาก เพราะสันติวิธีเป็นเหมือนกรอบในการปกป้องขบวนการและสร้างความชอบธรรมให้แก่การเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น

ขณะเดียวกัน เมื่อไหร่ก็ตามที่ขบวนการเคลื่อนไหวถูกมองว่า ‘ข้ามเส้นสันติวิธี’ แล้ว ความชอบธรรมต่อขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็อาจลดลงตามไป มิหนำซ้ำหลายครั้งกลับกลายเป็นการยื่นความชอบธรรมให้แก่รัฐในการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมฝูงชน การใช้รถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา ยิงกระสุนยาง หรือรุมตีด้วยกระบอง ภายใต้คำอธิบายอย่าง ‘เพื่อความสงบสุขและความเรียบร้อย’ จนหลายครั้ง ‘สันติวิธี’ จึงเป็นเหมือนเกราะคุ้มกันขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ในวันที่สันติวิธีกลายเป็นเครื่องมือสำคัญ คำถามที่ชวนให้ขบคิดคือ นิยามของแต่ละคนคืออะไร และขอบเขตไหนที่คนส่วนใหญ่มองว่าข้ามเส้น

รศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อุเชนทร์ เชียงเสน อาจารย์ประจำสำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกันศึกษาความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘สันติวิธี’ ของประชาชนในกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 500 คน ภายใต้รายงานผลการสำรวจความคิดเห็น “การเคลื่อนไหวแนวทางไม่ใช้ความรุนแรงในทัศนะของชาวกรุงเทพมหานคร”

101 ชวนอ่านสรุปรายงานฉบับดังกล่าว เพื่อทำความเข้าใจตัวละครในการเมืองไทยที่สร้างผลกระเทือนต่อการเมืองไทยอยู่บ่อยครั้งอย่าง ‘คนเมือง’ ว่าพวกเขามอง ‘สันติวิธี’ อย่างไร และอะไรบ้างที่ไม่ใช่สันติวิธี ในวันที่การเมืองไทยดูราวกับ ‘สันติวิธี’ อาจจะไม่ใช่ทางออก

หมายเหตุ เรียบเรียงเนื้อหาจาก รายงานผลการสำรวจความคิดเห็น “การเคลื่อนไหวแนวทางไม่ใช้ความรุนแรงในทัศนะของชาวกรุงเทพมหานคร” โดยบุญเลิศ วิเศษปรีชา และ อุเชนทร์ เชียงเสน


‘สันติวิธี’ เท่ากับ ‘ถูกกฎหมาย’ เท่านั้น?

“ข้อถกเถียงในสังคมไทยไม่ใช่การถกเถียงว่า ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองควรจะใช้ความรุนแรงหรือไม่ แต่คือเราจะเคลื่อนไหวอย่างไรให้เป็นสันติวิธี ที่ผ่านมา การนิยามของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองนิยามความหมายผ่านกรอบแบบหนึ่ง เจ้าหน้าที่มองอีกกรอบหนึ่ง สื่อมวลชนมองในอีกกรอบหนึ่ง ดังนั้นการเข้าใจความหมายที่แตกต่างกันย่อมนำไปสู่การปฏิบัติหรือการรับมือขบวนการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกัน” บุญเลิศกล่าว

ทั้ง รศ. ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา และ อุเชนทร์ เชียงเสน มองว่าบริบทของคนแต่ละช่วงเวลาในบริบทสังคมและการเมืองที่แตกต่างกัน จะส่งผลต่อความแตกต่างทางด้านทัศนคติต่อสันติวิธี  ดังนั้นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพมหานครต่อ ‘สันติวิธี’ ครั้งนี้จึงอยู่ภายใต้สมมติฐานว่า ‘ช่วงวัย’ มีผลต่อความคิดและความเชื่อ

กลุ่มตัวอย่างคือประชาชนในกรุงเทพมหานครผู้เคยมีประสบการณ์เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองนับแต่ปี 2548-ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นขบวนการเยาวชนคนรุ่นใหม่ในปี 2563-2564, แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.), กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนอื่นๆ

ทั้งนี้รายงานฉบับดังกล่าวได้แบ่งประเด็นคำถามออกมาทั้งหมด 3 ส่วน ประกอบด้วย นิยามความหมายและขอบเขตของสันติวิธี, รูปแบบวิธีการประท้วงที่ยอมรับได้ และความเชื่อมั่นต่อแนวทางสันติวิธีในการคลี่คลายความขัดแย้ง

'สันติวิธี' เท่ากับ 'ประท้วงอย่างถูกกฎหมาย'
‘สันติวิธี’ เท่ากับ ‘ประท้วงอย่างถูกกฎหมาย’

ส่วนของการนิยามความหมายและขอบเขต ผลการสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างมากถึงร้อยละ 91 เคยได้ยินคำดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าเป็นคำที่รับรู้อย่างทั่วถึงในสังคมไทย แต่เมื่อเจาะลึกถึงความหมายของคำดังกล่าว เกือบครึ่งของกลุ่มตัวอย่าง (ร้อยละ 44.2) มองว่าคือการประท้วงที่ไม่ผิดกฎหมาย 

สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่เหลือนิยาม ว่าเป็นการประท้วงที่อาจผิดกฎหมาย แต่ไม่กระทบสิทธิผู้อื่น (ร้อยละ 28.4), การประท้วงที่อาจผิดกฎหมาย กระทบสิทธิของผู้อื่น แต่ไม่ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต (ร้อยละ 20.2) และการไม่ทำอะไรเลย (ร้อยละ 7.2) ตามลำดับ

ในทางวิชาการถือว่ามุมมองนิยามดังกล่าวนับเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะการนิยามในความหมายที่จำกัดกรอบไว้แค่การกระทำอัน ‘ถูกกฎหมาย’ เท่านั้น จะทำให้การกระทำอื่นๆ ที่เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบ ‘อารยะขัดขืน (civil disobedience)’ ซึ่งตั้งใจละเมิดกฎหมาย เพื่อสะท้อนความไม่พอใจของพวกเขาและแสดงให้สังคมเห็นว่านโยบายหรือกฎหมายนั้นไม่เป็นธรรม

อีกทั้งในภาวะที่การบังคับใช้กฎหมายของสังคมไทยยังขาดหลักนิติรัฐ หลายครั้งเจ้าหน้าที่มักจะอ้างกฎหมายมาดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 หรือกฎหมายเรื่องการรักษาความสะอาด เพื่อเข้ามา ‘ควบคุม’ การชุมนุมและการประท้วงมากกว่า‘การคุ้มครอง’ สิทธิของประชาชน

การเคลื่อนไหวบางครั้งอาจไม่ถูกนับรวมว่าเป็นสันติวิธี

เคลื่อนไหวแบบไหนนับว่าเป็นสันติวิธี?

คณะผู้วิจัยได้แบ่งรูปแบบหรือวิธีการเคลื่อนไหวออกเป็น 16 วิธี และจัดเป็น 3 กลุ่มของการกระทำ โดยกลุ่มที่ 1 (ลำดับที่ 1-3) เป็นการแสดงออกที่แทบไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น กลุ่มที่ 2 (ลำดับที่ 4-10) เป็นวิธีการที่อาจมีผลกระทบต่อผู้อื่น แต่ไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายหรือทำลายทรัพย์สิน และกลุ่มที่ 3 (ลำดับที่ 11-16) เป็นการแสดงออกที่สร้างข้อถกเถียงในสังคมไทย พบว่าการแสดงออกแบบกลุ่มที่ 1 ได้รับการยอมรับมากที่สุดถึงร้อยละ 70 

ทั้งนี้กลุ่มที่ 2 และ 3 นั้น มีกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งมองว่าการกระทำดังกล่าวไม่เข้าข่าย เช่น การปักหลักใช้พื้นถนนเป็นพื้นที่ชุมนุมต่อเนื่อง การปิดล้อมรัฐสภา การสาดสีใส่ป้ายของหน่วยงานของรัฐหรือท้องถนน เป็นต้น โดยวิธีการประท้วงที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสันติวิธีในสายตาของคนเมืองน้อยที่สุด คือการพกอาวุธ หรือสิ่งเทียมอาวุธเข้ามาในที่ชุมนุมเพื่อป้องกันตัว

ดังนั้น กลุ่มผู้วิจัยวิเคราะห์ว่า กลุ่มตัวอย่างพิจารณาว่าการกระทำใดจะถูกนับเป็นสันติวิธีหรือไม่ มีเกณฑ์ 2 ข้อ ประกอบด้วย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อคนอื่น/สังคม และการทำให้ทรัพย์สินเสียหายและบาดเจ็บล้มตายหรือไม่ วิธีการที่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่นน้อยจะได้รับการยอมรับมากกว่าวิธีการที่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่นมาก และวิธีการที่ทำให้ทรัพย์สินเสียหายหรือผู้คนบาดเจ็บล้มตาย ก็จะไม่ได้รับการยอมรับมากขึ้น โดยการกระทำต่อร่างกายจัดว่ามีความร้ายแรงมากกว่าความเสียหายต่อทรัพย์สิน

เมื่อประเด็นและข้อเรียกร้องมีผลต่อการยอมรับว่าเป็น สันติวิธี

ประเด็นและข้อเรียกร้องมีผลต่อการยอมรับว่าเป็น ‘สันติวิธี’

เมื่อกลุ่มคณะผู้วิจัยสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ พบว่านอกจากรูปแบบวิธีการแสดงออกที่มีผลต่อการพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสันติวิธีหรือไม่นั้น ประเด็นข้อเรียกร้องก็มีผลต่อการพิจารณาเช่นกัน ซึ่งประเด็นอย่างปัญหาชาวบ้าน เศรษฐกิจปากท้อง ปัญหาสิ่งแวดล้อม และประเด็นสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ ได้รับการยอมรับมากที่สุดว่าเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ รองลงมาคือประเด็นการเรียกร้องปฏิรูปการเมือง การแก้กฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ การต่อต้านรัฐบาล และการปฏิรูปกองทัพ

ประเด็นที่ได้รับการยอมรับน้อยที่สุดว่าเป็นสิทธิที่ประชาชนทำได้ คือการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ (เพียงร้อยละ 48.8) ซึ่งการยอมรับของประชากรในกรุงเทพมหานครต่อประเด็นการเรียกร้องทางการเมืองนั้นมีความสัมพันธ์กับช่วงอายุของประชากร สำหรับเจนฯ Z ยอมรับว่าประชาชนสามารถเรียกร้องในประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างสันติได้ มากถึงร้อยละ 88.2 ขณะที่เจนฯ Y มีร้อยละ 51.5 กับ เจนฯ X และเจนฯ Baby Boomer เหลือเพียงร้อยละ 36.9 และ 36.8 ตามลำดับ

จากผลสำรวจดังกล่าวอาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรที่ปัญหาเรื่องปากท้องหรือเศรษฐกิจจะได้รับการยอมรับมากกว่าประเด็นเรียกร้องทางการเมืองโดยตรง และประเด็นอ่อนไหวอย่างการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะมีกลุ่มตัวอย่างยอมรับได้น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ยอมรับ ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยมองว่าสังคมไทยเริ่มเปิดกว้างสำหรับการถกเถียงในประเด็นดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม แม้ความเข้าใจต่อสันติวิธีของประชาชนชาวกรุงเทพมหานครยังคงจำกัด ทั้งด้านของความเข้าใจและวิธีการที่ถูกนับว่าเป็นสันติวิธี แต่ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 61.8) ยังเชื่อมั่นว่าแนวทางสันติวิธีสามารถใช้คลี่คลายความขัดแย้งในสังคมไทยได้ มีเพียงร้อยละ 27 ที่ไม่แน่ใจ และร้อยละ 11.2 เท่านั้นที่ไม่เชื่อว่าจะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งลงได้

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save