fbpx

เด็กนอกคอกต้องโดนอะไร…

“เหมือนนักเรียนเรียนดี แต่ไม่มีเพื่อน”

เสียงวิจารณ์แกมดุ-แกมตำหนิเมื่อพูดถึงพรรคก้าวไกล สี่เดือนหลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองแทบทุกพรรคกำลังร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลครึกครื้นยิ่ง สวนทางกับพรรคก้าวไกลที่ดูจะโดดเดี่ยวขึ้นทุกทีกับอาการ ‘เพื่อนไม่คบ’

ในการศึกษาพรรคการเมืองนั้น อาจแบ่งเป็นสองกลุ่มหลักๆ คือ พรรคการเมืองกระแสหลัก (mainstream party) และ pariah party ซึ่งศัพท์นี้แปลยากอยู่สักหน่อย

pariah อาจหมายถึงจัณฑาลก็ได้ แต่ทั่วไปหมายถึงคนที่สังคมรังเกียจหรือไม่ต้อนรับ แปลว่านอกคอกก็พอไหว pariah party จึงเป็นพรรคนอกคอก ตรงข้ามกับพรรคกระแสหลัก

หลายคนอาจสรุปง่ายๆ ว่า การเป็นคนนอกคอกหรือพรรคนอกคอกนั้น เกิดแต่การทำตัวเอง เช่น ดำเนินนโยบายสุดโต่งหัวแข็งหรือก้าวร้าว จนเพื่อนไม่คบ แต่ที่จริงการสร้างตัวตนนั้นมีปัจจัยมากกว่าแค่การกระทำของตัวเอง แต่ยังมีปัจจัยจากพรรคการเมืองอื่น สื่อมวลชน รวมถึงประชาชนทั่วไปอีกด้วย อันที่จริงความสุดโต่งของนโยบายอาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลักในการกำหนดว่าพรรคใดจะเป็นพรรคนอกคอกเหลือเสียด้วยซ้ำ

ไม่ใช่ทุกพรรคอยากเป็นพรรคกระแสหลัก พรรคบางพรรคตั้งใจวางตัวเองให้เป็นพรรคนอกคอก ด้วยการกำหนดจุดยืนสุดโต่ง พรรคเหล่านี้ไม่หวังดึงดูดผู้สนับสนุนกระแสหลัก แต่สร้างฐานเสียงเข้มแข็งจากแฟนคลับสุดโต่ง เช่น พรรคต่อต้านคนผิวสี หรือรักร่วมเพศ ซึ่งด้วยสภาพนโยบายไม่อาจกลายเป็นพรรคกระแสหลักได้โดยง่าย แต่ก็ดึงดูดฐานเสียงเพราะผู้สนับสนุนเห็นว่าพวกเขานั้นแตกต่างจากพรรคในระบบเดิมๆ (ซึ่งถูกมองว่าฉ้อฉลไปหมดแล้ว) ส่วนมากพรรคประเภทนี้มักควบคู่มากับการปลูกฝังอุดมการณ์สุดโต่ง ในการเมืองไทยเราอาจจะคิดถึงพรรคไทยภักดีก็ได้

แต่บ่อยครั้ง การกำหนดพรรคนอกคอกนั้นเกิดจากพรรคกระแสหลักที่จำแนกพรรคอื่นว่านอกคอก กลยุทธ์ในการกำหนดพรรคนอกคอก มีตั้งแต่การดำเนินการทางกฎหมาย การแสดงออกทางการเมืองว่าจะไม่ร่วมสังฆกรรม (การจัดมวลชนมาให้กำลังใจการผ่าข้าวต้มมัด การปราศรัยประณามว่าการร่วมมือทางการเมืองกับพรรคนั้นเป็นความผิดพลาด) การแบ่งแยกเช่นนี้ ทำไปเพื่อประสงค์จะดึงมวลชนโดยทำให้เข้าใจว่า พรรคกระแสหลักนั้นคือกลุ่มการเมืองที่ไม่สุดโต่ง เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้คนที่อยากเป็นคนธรรมดา-คนที่ไม่ดูก้าวร้าวรุนแรงสุดโต่งเลือกจะไปต่อกับพรรคกระแสหลัก

ท้ายสุดคือสื่อมวลชนที่สามารถเลือกถ้อยคำในการพาดหัวถึงพรรคการเมืองต่างๆ ได้ หรือการเปิดพื้นที่สื่อให้พรรคต่างๆ มากน้อยต่างกันไป ล้วนมีส่วนกำหนดภาพลักษณ์ของพรรคการเมืองนั้นในสายตาประชาชน พรรคที่ชอบฟาด สวน แฉ แหก โว ก็ย่อมดูก้าวร้าวกว่าพรรคอื่นโดยเฉลี่ย แม้แต่การเลือกรูปถ่ายของนักการเมืองแต่ละพรรคก็อาจมีนัยแฝงอยู่ รวมไปถึงการตัดข้อความสั้นๆ มารายงานลงโดยไม่ระบุบริบท สามารถเปลี่ยนร้ายเป็นดีและดีเป็นร้ายได้ไม่ยาก

สถานะกระแสหลักหรือนอกคอกนั้นเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา พรรคกระแสหลักก็อาจกลายเป็นพรรคนอกคอกได้ หากพรรคอื่นๆ หรือสื่อมวลชนเริ่มรายงานข่าวในทางไม่เป็นคุณ กลับกัน พรรคนอกคอกอาจจะกลายเป็นพรรคกระแสหลักได้เช่นกัน อาจจะเพราะได้รับเชิญเข้าร่วมรัฐบาล หรือเปิดพื้นที่สื่อมากขึ้น ส่งผลให้ค่ามัธยฐานทางการเมืองของสาธารณะนั้นขยับเปลี่ยนแปลงไป บางครั้งพอสังคมประสบปัญหาบางประการแล้ว ทัศนคติต่อเรื่องนั้นๆ ก็อาจจะเปลี่ยนได้ เช่น เริ่มรู้สึกเดือดร้อนกับการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม ปัญหาผู้อพยพ หรือปัญหาการทุจริต สังคมก็อาจจะเห็นว่าพรรคการเมืองที่มีนโยบายก้าวหน้าสุดโต่งด้านสิ่งแวดล้อมสีเขียว หรือต่อต้านผู้อพยพ หรือคลั่งศีลธรรมสุดกู่ กลายเป็นพรรคที่น่านิยมไปก็ได้

พรรคก้าวไกลนั้นเป็นพรรคนอกคอกแน่นอน ทุกวันนี้แทบทุกพรรคในสภา ยกเว้นก้าวไกล เป็นธรรม ไทยสร้างไทย และประชาธิปัตย์บางส่วนแล้ว ทุกพรรคการเมืองไม่ว่าจะมีแหล่งกำเนิดจากไหน จุดยืนทางการเมืองเช่นใด ล้วนจับมือกันประสานตั้งรัฐบาลอย่างเข้มแข็งอย่างยิ่ง

เป็นไปได้ว่า สภาพนอกคอกเช่นนี้จะอยู่ไปอีกนาน ต่อให้เลือกตั้งได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่ง ต่อให้ลดเพดานบางนโยบาย พรรคการเมืองอื่นก็ไม่ยอมกินข้าวด้วยอยู่ดี อารมณ์คล้ายๆ เวลาเด็กวัยรุ่นในหนังฝรั่งเขาตั้งแก๊งโดดเดี่ยวเพื่อนร่วมชั้น (ostracization) กัน

แต่ที่น่าคิดคือ กระบวนการทำให้พรรคก้าวไกลนอกคอกนั้น เกิดอยู่ในสภาเป็นหลัก ผ่านการแสดงออกของเพื่อนร่วมสภากันเอง แต่นอกสภานั้น สถานการณ์อาจจะกลับกัน ด้านสังคมและวัฒนธรรมนั้นดูเหมือนพรรคที่นอกคอกอาจจะไม่ใช่พรรคก้าวไกลก็ได้ พรรคที่ถูกล้อเลียนยันลูกหลานบวช แกนนำกลายเป็นมีม หรือ ส.ส. ของพรรคลงพื้นที่ไม่ได้ ไม่น่าจะใช่พรรคก้าวไกล

แม้การเมืองในสภาจะชนะหรือแพ้อย่างไรก็ตาม สุดท้ายเมื่อครบกำหนด พรรคการเมืองก็ต้องออกไปพบกับสังคม และขอให้มวลชนลงคะแนนให้เพื่อต่ออายุความชอบธรรมในการบริหารประเทศ เมื่อถึงวันนั้น พรรคใดจะกลายเป็นพรรคกระแสหลักหรือนอกคอกก็คงรู้กันได้อีกที

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save