fbpx

วัยรุ่นไทยภายใต้การเมืองแหลมคม อำนาจนิยมโดยรัฐ และการส่งต่อบาดแผลจากรุ่นสู่รุ่น: พนม เกตุมาน

31 ตุลาคม 2022 รายงานจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ประชากรไทยที่อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ มีผู้ป่วยที่สามารถเข้าถึงการรักษาจากแพทย์ได้เพียง 28 คนจาก 100 คนเท่านั้น และระบบการประเมินสุขภาพจิตออนไลน์ด้วยตนเองของกรมสุขภาพจิต พบว่ามีประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีที่เข้ามาทำแบบทดสอบ มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ากว่า 5.8 หมื่นคน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดใหญ่ที่กินเวลาตั้งแต่ปี 2020 ส่งผลต่อวิถีชีวิตผู้คนทั่วโลก รวมทั้งเหล่าเยาวชนที่ต้องหยุดเรียน อันหมายถึงการที่พวกเขาไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมที่ไหน และใช้เวลาอยู่กับที่บ้านเนิ่นนาน ยังไม่นับรวมถึงความเจ็บปวดด้านเศรษฐกิจที่หลายครัวเรือนต้องแบกรับ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ไม่แปลกหากจะส่งผลต่อความรู้สึกและหัวใจของวัยรุ่น

บวกกับเงื่อนไขประการสำคัญของสังคมไทย เมื่อการเมืองแหลมคม บีบคั้นให้เยาวชนต้องออกมาส่งเสียงเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชีวิต จนหลายคนต้องเจอการคุกคามจากรัฐ หรือความรู้สึกบั่นทอน เมื่อเห็นอนาคตตัวเองถูกฉกฉวยไปโดยคนที่เรียกตัวเองว่าผู้หลักผู้ใหญ่ ยิ่งทำให้สภาพจิตใจบอบช้ำและยังผลให้เกิดเป็นภาวะซึมเศร้าในท้ายที่สุด

เราจะอยู่กับภาวะนี้กันอย่างไร ปลายทางของปัญหานี้อยู่ตรงไหน 101 ชวนสนทนากับ ผศ.นพ.พนม เกตุมาน ที่ปรึกษาภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจสภาพจิตใจของวัยรุ่นไทย และทางคลี่คลายในภายภาคหน้า

การระบาดใหญ่ของโรควิด-19 น่าจะเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญของโรคซึมเศร้าที่เพิ่มมากขึ้นในหมู่วัยรุ่น ในฐานะจิตแพทย์ มองประเด็นนี้อย่างไร

โรคซึมเศร้าในกลุ่มวัยรุ่นมีแนวโน้มสูงขึ้นจริง โดยอาจมีเรื่องโควิด-19 มาเกี่ยวด้วย เพราะหลังมีเหตุโรคระบาดร้ายแรง เราก็คาดการณ์ล่วงหน้ากันอยู่แล้วว่า จะมีอัตราการเกิดโรคซึมเศร้าเยอะขึ้น นี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่เมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่าง เช่น หลังสงคราม หลังเหตุภัยพิบัติ จะพบโรคซึมเศร้ามากขึ้นทุกกลุ่มอายุ โควิด-19 เองก็เป็นเรื่องใหญ่ กินเวลานาน เรื้อรังอยู่สองสามปี ทำให้มีผลกระทบต่อจิตใจโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งทางตรงคือเรื่องความเครียดของตัวโรคเอง แต่ทางอ้อมคือผลของโรคนั้น ทำให้เด็กๆ ไม่ได้ไปเรียน พ่อแม่ขาดรายได้ ครอบครัวเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความเครียดสะสมเรื้อรัง และมีผลต่อการเป็นโรคซึมเศร้า ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิต ความเป็นอยู่ แต่ตัวโรคเองเป็นความเครียดที่ทำให้มนุษย์ต้องปรับตัว ความเครียดที่รุนแรงและเรื้อรังนั้นทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้

เท่าที่พบ วัยรุ่นมาหาจิตแพทย์ด้วยตัวเองหรือผู้ปกครองพามา

มีทั้งสองแบบ แต่มีแนวโน้มที่เยาวชนจะมาเองเยอะขึ้น และเขาเรียนรู้เรื่องโรคซึมเศร้าก่อนที่จะมาหาหมอ มีวัยรุ่นหลายคนที่ซึมเศร้าและเซิร์ชหาข้อมูลของภาวะนี้ เรียนรู้เรื่องนี้ ทำให้มีความรู้ ได้คำแนะนำบางอย่างของคนที่มีภาวะนี้ก่อนหน้าเขา ว่าเป็นโรคที่รักษาและหายได้ ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกหวาดกลัวในการมาหาจิตแพทย์ด้วยตัวเอง บางคนจึงมาเอง ขณะที่บางคนอาจจะบอกพ่อแม่ให้พามาหาจิตแพทย์

ส่วนตัวจึงคิดว่าแนวโน้มของโรคซึมเศร้าจะดีขึ้น เพราะคนไม่ค่อยกลัวแล้ว เห็นว่ามันไม่ใช่โรคน่ากลัวอะไร มีความหวังว่ามันรักษาหายได้ และหลายๆ คนก็ออกมาบอกเล่าประสบการณ์ว่ารักษาหายได้ เกิดการบอกต่อกัน หายแล้วหยุดยาได้ กลับไปเรียน ไปทำงาน ไปใช้ชีวิตได้ปกติ ทำให้คนมีภาพจำของโรคซึมเศร้าแบบใหม่ และทำให้ stigma ต่อโรคนี้ลดลง

มีความเชื่อกันว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เพิ่งเกิดในยุคหลังๆ เช่น กล่าวกันว่าเมื่อก่อนคนก็เครียด เห็นอยู่กันได้ แต่ทำไมคนรุ่นหลังๆ ถึงมาเป็นกันได้ จริงๆ มันอยู่กับมนุษย์มานานแล้วไหม แค่เมื่อก่อนไม่ได้คุยกัน

ภาวะซึมเศร้าอยู่มานานอยู่แล้ว ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ แต่คนเป็นเยอะขึ้นจริงๆ

เมื่อสัก 20-30 ปีก่อน มีคนที่ทำนายไว้แล้วว่าโรคซึมเศร้า -ซึ่งในเวลานั้นเป็นโรคที่เจอบ่อยอันดับเจ็ดหรือแปดจากทั่วโลก- ว่าโรคนี้จะขึ้นมาเป็นอันดับสองรองจากโรคหัวใจ เพราะเขาเห็นแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงของโรคนี้ว่าเยอะขึ้นเรื่อยๆ และเป็นจริงเช่นนั้น เมื่อเราพบว่าเวลานี้โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่พบบ่อยเป็นอันดับสองรองจากโรคหัวใจ

ถามว่าทำไมถึงเจอเยอะขึ้น มีคนอธิบายไว้หลายอย่าง ไม่ว่าจะการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็วขึ้น เด็กรุ่นใหม่อยู่กับเทคโนโลยีต่างๆ ความสัมพันธ์ระหว่างคนด้วยกันลดลงไป ซึ่งต่างไปจากยุคก่อนแน่นอน บวกกับโรคซึมเศร้ากลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น ฉะนั้น คนที่เป็นโรคนี้จึงเข้าถึงข้อมูลได้เร็วขึ้น เพราะเมื่อสัก 20 ปีก่อน มีการสำรวจในชุมชน พบว่าคนไข้โรคซึมเศร้าหนึ่งร้อยคน มาถึงมือหมอเพียงสามคนเท่านั้น ถือเป็นสามในร้อย คือมีคนที่รู้ตัวว่าเป็นโรคซึมเศร้าแล้วไปหาหมอเพียงสามคน ที่เหลือก็ไปใช้เหล้า ยาเสพติดแทน ซึ่งไม่ได้ทำให้โรคหายไปไหน

ปัจจุบัน คนเป็นโรคซึมเศร้าหนึ่งร้อยคน ถึงมือหมอราวๆ 30-50 คน ซึ่งก็ถือว่ายังน้อยอยู่ เราอยากให้ถึงสัก 80-90 คน

ที่บอกว่าคนรุ่นใหม่อยู่กับเทคโนโลยีซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนด้วยกันลดลงนั้น ประเด็นนี้ส่งผลต่อการเกิดโรคซึมเศร้าอย่างไร

อธิบายผ่านเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีต่ออารมณ์ได้ คนเราที่ปกติสุขนั้นเพราะมีความสมดุลของความสัมพันธ์อยู่ระดับหนึ่ง เป็นความสัมพันธ์ที่ดี เมื่อก่อน ในยุคที่สังคมเป็นอีกแบบหนึ่ง ความสัมพันธ์ก็ดีระดับหนึ่ง ทำให้อารมณ์ของเราไม่ตกลงไปมาก แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ตรงนี้ขาดหายไป เช่น แทนที่จะคุยกัน เราก็ส่งข้อความหากันผ่านหน้าจอ เราไม่เห็น ไม่ได้ซัปพอร์ตเรื่องอารมณ์ของกันและกัน บวกกับเราไม่ได้ช่วยเหลือกันเหมือนเมื่อก่อน ชีวิตเราแข่งขันกันมากขึ้น เป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น เราแคร์กันน้อยลง นี่เองที่ทำให้อารมณ์เราตกลง ถึงจุดหนึ่งก็ทำให้เป็นซึมเศร้ากันมากขึ้น

คุณหมอเคยทำวิจัยเกี่ยวกับความผิดปกติทางจิตใจหลังเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) ในกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่นจากเหตุการณ์สึนามิในปี 2004 อยากชวนคุยว่าผลจากการวิจัยครั้งนั้นเป็นอย่างไร กระบวนการเยียวยาบาดแผลเป็นอย่างไรบ้าง

อันนั้นรุนแรงมาก เราไปเจอเด็กๆ ที่ผ่านเหตุการณ์สึนามิ เราติดตามเด็กกลุ่มนี้อยู่สิบปี ไปหาเขาทุกปี เราอยากรู้ว่าเขาเป็นอย่างไรบ้าง พบว่าเด็กประมาณ 1 ใน 3 ของคนที่ผ่านเหตุสึนามิมีภาวะ PTSD และเราเรียนกันมาว่าคนที่มีภาวะ PTSD นั้นจะตามมาด้วยภาวะซึมเศร้า เราจึงตามดูเขาระยะยาว สิ่งที่เราพบคือตัวเลขของภาวะ PTSD ลดลง แต่ตัวเลขภาวะซึมเศร้าเยอะขึ้น และอาการจะต่างกันมาก เพราะ PTSD จะมีอาการวิตกกังวล เครียดหรือหลอน ตื่นตระหนก ได้ยินเสียงดังๆ แล้วตกใจนึกถึงคลื่นยักษ์ขึ้นมาอีก แต่หลังจากนั้น ภาวะนี้จะค่อยๆ หายไป แต่ภาวะที่เข้ามาแทรกคือภาวะซึมเศร้า เกิดเป็นความรู้สึกหดหู่ เศร้า เบื่อหรือท้อแท้ ขณะที่เด็กอีกกลุ่มหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้วเป็นวัยรุ่น หลังพ้นภาวะ PTSD แล้วแทนที่จะซึมเศร้า พวกเขากลับก้าวร้าวแทน ซึ่งอธิบายได้เหมือนกัน เพราะในกลุ่มวัยรุ่น บางคนไม่ได้มองตัวเองลบหรือรู้สึกแย่ต่อตัวเอง แต่กลายเป็นมองคนอื่นลบ มองแล้วหงุดหงิด ก้าวร้าว อารมณ์แปรปรวน เพราะใน PTSD เอง อาการหนึ่งที่พบคืออารมณ์ไม่เสถียร เป็นหนึ่งในอาการที่หลงเหลือของ PTSD จึงไม่ใช่ซึมเศร้าเสียทีเดียว แต่จะกลายเป็นความก้าวร้าวแทน

ฉะนั้น เด็กวัยรุ่นที่ผ่านเหตุการณ์สึนามิมานั้นจึงก้าวร้าวโดยสองสาเหตุ สาเหตุแรกคือ PTSD สาเหตุที่สองคือซึมเศร้า เพราะสำหรับบางคน ความซึมเศร้าแสดงออกผ่านความหงุดหงิด

การเปลี่ยนผ่านจาก PTSD มาสู่ซึมเศร้า กินเวลานานแค่ไหน

ผมว่าภายใน 2-3 ปีแรก เราจะเห็นความซึมเศร้าตามมาในช่วงเวลานี้เยอะ

แล้วกว่าความซึมเศร้าจะคลี่คลายได้จนใช้ชีวิตได้ปกติ นานแค่ไหน

แตกต่างกันไปนะ มีทั้งกลุ่มที่ดีขึ้น เพราะส่วนหนึ่งที่เราไปทำงานคือเราไปรักษาเขาด้วย เราไม่ได้ไปติดตามอย่างเดียว แต่มีกระบวนการรักษา PTSD พบว่า ก็มีเด็กที่ผ่านกระบวนการรักษา PTSD หายจากภาวะนี้โดยไม่มีโรคซึมเศร้า

โดยส่วนใหญ่แล้ว วิธีการรักษาคือเราใช้กิจกรรม เรียกว่าการรักษาแบบพฤติกรรมบำบัด (cognitive behavior therapy-CBT) ฝึกให้เด็กรู้จักจัดการอารมณ์ตัวเองให้สงบได้ เสร็จแล้วให้กลับไปเผชิญกับเหตุการณ์หรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วกลัวชายหาด ไม่กล้าไปเล่นที่ชายหาดทั้งที่เป็นลูกทะเล บ้านอยู่แถวทะเล แต่ไม่สามารถไปเล่นที่ทะเลได้ หรือไปช่วยพ่อหาปลาไม่ได้เพราะกลัว การรักษา PTSD เลยต้องค่อยๆ ให้เขาไปเผชิญตรงนี้ ฝึกให้เขาไปที่ชายหาดได้ โดยให้เขาสงบอารมณ์ เด็กบางคนเห็นชายหาดไกลๆ ก็เหงื่อออก ใจเต้น ไม่ไปเลย เราก็ให้เขาหยุดก่อน กำหนดลมหายใจ เมื่อดีขึ้น ไม่กลัวก็ค่อยๆ ขยับเข้าไปใกล้ทะเล แล้วค่อยๆ ทำเช่นนี้ เขยิบเข้าไปเรื่อย จนในที่สุดก็ไปถึงชายหาดได้ นี่คือกระบวนการรักษาบำบัด

ดูเหมือนจำเป็นต้องเป็นกระบวนการที่อยู่ในการควบคุมดูแลของจิตแพทย์ด้วย

ใช่ เราออกแบบกระบวนการ ดูแลเด็ก และสอนคุณครูให้เข้าใจเรื่องกระบวนการเหล่านี้ด้วย เพราะเราทำเองไม่หมดหรอก เราก็ถ่ายทอดเทคนิค วิธีการเหล่านี้ให้ครูว่า ครูจะสอนให้เด็กสงบได้อย่างไร ให้เด็กฝึกหายใจทำอย่างไร เผชิญกับเหตุการณ์หรือชายหาดตรงนั้นอย่างไร แล้วให้ครูลองไปใช้กับเด็กดู

ปัจจัยเรื่องสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ ครอบครัว มีผลต่อการหายจากภาวะ PTSD ช้าเร็วต่างกันไหม

แน่นอน การรักษาของเรามีปัจจัยเรื่องร่างกาย จิตใจและสังคม ทั้งสามประการนี้ต้องไปด้วยกัน หมายความว่าเมื่อเด็กอยู่กับพ่อแม่และครูเป็นหลัก ถ้าพ่อแม่และครูช่วยสนับสนุนได้ดี เขาจะหายเร็ว แต่เราก็เจอปัญหาเหมือนกันว่า ตอนที่เราพยายามช่วยเด็ก แต่พ่อแม่ก็มีภาวะ PTSD เราก็พยายามพาเด็กไปชายหาด พ่อแม่ก็ไม่ยอมเพราะเขากลัว เราจึงต้องไปบำบัดพ่อแม่ด้วย

ครูก็เช่นกัน ครูเองก็สูญเสียและซึมเศร้า เป็นภาวะ PTSD เพราะอยู่ในคลื่นเหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องไปบำบัดทั้งชุมชน พ่อแม่ ครูและคนที่เกี่ยวข้อง เมื่อทุกคนดีขึ้นก็ไปช่วยเด็กได้

เทียบกับโควิด-19 ที่ไม่ว่าจะอย่างไรคงส่งผลระยะยาวต่อสภาพจิตใจแน่นอน มองเรื่องผลลบในระยะยาวอย่างไร

เราอาจมีหลายมุมมอง ประการแรกคือ ผลต่อตัวเด็กเองที่อยู่ในความหวาดกลัว เหมือนสึนามิคือเหตุการณ์น่ากลัว ทุกอย่างเร้าเข้ามา และเด็กก็อาจไม่ได้เข้าใจเหมือนผู้ใหญ่ ความกลัวของเด็กเองก็เป็นส่วนหนึ่ง บวกกับพ่อแม่ ครอบครัว ซึ่งอยู่ด้วยกันในบ้านก็มีภาวะความเครียดอีกแบบหนึ่ง กระทบกระทั่งกันเยอะ พ่อแม่ก็เครียดจากเศรษฐกิจหรือจากโรคเองแล้วก็มาลงกับเด็ก เด็กก็ถูกกดดันทั้งจากเรื่องนี้และเรื่องเรียนออนไลน์ จึงเผชิญกับความเครียดเรื้อรังและน่ากลัว

ผลที่ตามมาคือ สภาวการณ์เช่นนี้มีทั้งผลต่อจิตใจและผลต่อพัฒนาการ เพราะเมื่ออยู่บ้านนานๆ ขาดการไปโรงเรียนอยู่สองปี เด็กหลายคนเข้าสังคมไม่เป็น เกิดเป็นภาวะ social learning loss ซึ่งมีความหมายมาก ครูบางคนบ่นเลยว่าเขาดูแลเด็กมา แต่พอเด็กต้องหยุดเรียนไปสองปี กลับมาก็ดูแลตัวเองไม่ได้ เข้าสังคมไม่เป็น เล่นกับเพื่อนๆ ไม่เป็น เพราะการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นในโรงเรียนนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องการเรียนอย่างเดียว แต่เป็นทักษะการเข้าสังคม การอยู่ร่วมกับคนอื่นด้วย และบางกรณีก็อาจส่งผลให้เด็กกลายเป็นเด็กที่ไม่ค่อยสัมพันธ์กับใคร เด็กบางคนบอกว่าเขาเรียนออนไลน์ต่อก็ดี ไม่ต้องยุ่งกับใคร เขาชอบเรียนกับจอคอมพิวเตอร์ เพราะรู้สึกว่าการมาเจอเพื่อนต้องปรับตัวเยอะ

เด็กหลังยุคโควิด-19 มาเจอคุณหมอด้วยสาเหตุเหมือนหรือต่างจากยุคก่อนหน้าไหม

ต่างนะ ผมว่าพัฒนาการเด็กหลังโควิด-19 เปลี่ยนไป จาก social learning loss แน่ ๆ ประการหนึ่ง การสื่อสารหายไปด้วย เช่น เวลาเขาคุยกับเรา เขาไม่สามารถบอกได้ว่าคิดอย่างไร ต้องการอะไรออกมาเป็นภาษาได้ เพราะเขาอยู่หน้าจอนานกว่า หรือวิเคราะห์ สื่อสารเรื่องความคิดว่าคิดอย่างไร รู้สึกอะไร อารมณ์เป็นแบบไหน

สมมติเราถามเขาว่า หนูรู้สึกยังไง บางคนก็บอกว่าไม่รู้ เพราะเขาไม่มีคำศัพท์ทางอารมณ์ เนื่องจากเขาไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับใครมาสองปีเต็ม ดังนั้น เรื่องของอารมณ์ที่สัมพันธ์กับผู้อื่นหรือ social emotional learning จึงหายไป

ในระยะยาว การหายไปของทักษะเหล่านี้จะส่งผลต่อตัวเด็กอย่างไรบ้าง

นี่เป็นประเด็นที่เราสนใจและต้องเฝ้ามอง คาดว่าถ้าเราไม่ฟื้นฟูสิ่งนี้กลับมา ความสามารถด้านอารมณ์ของเด็กจะจำกัดมาก จัดการกับอารมณ์ตัวเองไม่ได้ สื่อสารเรื่องอารมณ์ สังคมกับคนอื่นไม่ได้ การทำงานร่วมกับคนอื่นจะลดลง ความสามารถในการทำงานร่วมกันก็ลดลง คือเขาอยู่คนเดียวได้ แต่ให้ทำงานร่วมกันเมื่อไหร่นี่ยากเลย ซึ่งประเด็นนี้เราก็เริ่มเห็นในกลุ่มนักเรียนที่กลับมาเรียนแล้ว คือหลายคนไม่สนุกที่จะทำงานกลุ่ม เนื่องจากขาดการฝึกเรื่องทักษะสังคม

ถ้ามองในภาพกว้าง ปัญหาทางทักษะและพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กในตัวเมืองกับเด็กต่างจังหวัดเหมือนหรือต่างกันอย่างไร เพราะเวลานี้ จิตแพทย์กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมากจนเรามีข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพจิตของเด็กต่างจังหวัดค่อนข้างจำกัด

ผมว่าเหมือนเหรียญสองด้าน เพราะเด็กที่มีฐานะดีก็มีความเสี่ยงของการเป็นเด็กที่มีฐานะดีเหมือนกัน เช่น เขาจะเจอกับปัญหาในการอยู่ร่วมกันอีกแบบหนึ่ง เด็กที่อยู่ในพื้นที่ที่พร้อมมากๆ บางครั้งก็กลายเป็นเด็กที่มีความเสี่ยงสูงเพราะบางทีไม่ได้ทำอะไรด้วยตัวเอง หรือเผชิญหน้ากับสิ่งเร้าเยอะๆ โดยสิ่งเร้าที่ว่าคือความเครียด หรือต้องเจอกับการแข่งขันสูงๆ เป็นต้น ขณะที่เด็กที่อยู่ในต่างจังหวัดอาจไม่มีสิ่งเร้าแบบนี้มากนัก

ทั้งนี้ ผมว่าบางทีสิ่งแวดล้อมที่การแข่งขันไม่สูงมากก็อาจเป็นตัวช่วยอย่างหนึ่งของเด็กๆ ก็ได้ เพราะดูเหมือนเด็กเหล่านี้จะไว้วางใจสิ่งแวดล้อมมากกว่าเด็กที่แข่งขันกันสูงๆ ซึ่งเอาเป็นเอาตายกันมาก เด็กบางคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่การแข่งขันสูงๆ เขาช่วยเหลือกันมากกว่า มีความสัมพันธ์ต่อกันและกันดีกว่า

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา สังคมเราถกเถียงกันเรื่องความรุนแรงในรั้วโรงเรียนค่อนข้างเยอะ ทั้งที่จริงๆ โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เด็กและเยาวชน แต่กลับมีการใช้อำนาจนิยมจากผู้มีอำนาจ หรือการกลั่นแกล้งจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันเอง คุณหมอมองประเด็นเหล่านี้อย่างไร ส่งผลต่อสุขภาพจิตเด็กๆ ในโรงเรียนไหม

ส่งผลแน่นอน เพราะเมื่อสิ่งแวดล้อมน่ากลัวก็ส่งผลต่อสภาพจิตใจของเด็กและครู รวมทั้งครอบครัวด้วย ทั้งหมดนี้โยงกันไปหมด

อย่างไรก็ตาม เรื่องการใช้อำนาจในโรงเรียนนั้นอาจเป็นอีกประเด็น แต่ส่งผลเกี่ยวข้องกันแน่นอน ผมนึกถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกาพบว่าสถิติการใช้ปืนในรั้วโรงเรียน เหตุกราดยิงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนหลังปี 2019 ซึ่งนี่อธิบายได้หลายอย่าง เช่น จากโควิด-19 ก็ได้ หรือสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปก็ได้ ซึ่งไปกระตุ้นความก้าวร้าวรุนแรง ความระแวง ความโกรธของคนที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว เพราะคนที่ลงมือทำได้ต้องมีเชื้อบางอย่าง เช่น เคยโดนกลั่นแกล้ง รังแกหรือโดนกดทับ และนี่เองที่โยงไปยังเรื่องอำนาจ เมื่อคนเราอยู่ภายใต้อำนาจที่กดทับอย่างรุนแรงและเรื้อรัง โดยไม่มีทางตอบโต้ เขาก็จะเก็บไว้ จนเมื่อถึงวันหนึ่งก็ไปลากปืนจากบ้านออกมายิงคนที่โรงเรียน ความโกรธ ความก้าวร้าวของคนก็ไม่ได้หายไปไหน มันแค่เก็บไว้และรอวันระเบิด

เหมือนเหตุการณ์บ้านเมืองต่างๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรม มีการละเมิดกัน เด็กปัจจุบันก็จะตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้เร็วกว่ารุ่นก่อนๆ เขาไม่ยอมให้มีการใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรมและพร้อมส่งเสียงต่อต้านเรื่องนี้ ซึ่งผมว่านี่เป็นเรื่องดี ดีกว่าการเก็บไว้ เพราะยิ่งเก็บหรือถูกกดไว้มากเท่าไหร่ก็อาจระเบิดเอาได้

เทียบกันกับวัยรุ่นต่างประเทศ วัยรุ่นไทยในเวลานี้อาจเผชิญสถานการณ์ที่พิเศษมากกว่าเพราะหลังการก่อตัวขึ้นของการประท้วงเมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้า ก็ทำให้นักเรียนหลายคนตกเป็นเป้าหมายของรัฐจากการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย สิ่งนี้จะส่งผลต่อการเรียนรู้ การเติบโต หรือสภาพทางจิตใจของเยาวชนแค่ไหน

ผมแยกเด็กที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่ไม่ยอม มีปฏิกิริยาออกมาค่อนข้างแรง จับกลุ่มกันและรวมตัวประท้วง ซึ่งอาจจะออกมาเป็นกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ ที่ดูชัดเจนหน่อย ผมว่าน้องในสื่อนั้นน่าจะอยู่ในกลุ่มนี้

กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่มองแล้วไม่มีปฏิกิริยาอะไร เฝ้ามองดู เป็นกลุ่มกลางๆ และกลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่มที่เก็บกด หวาดกลัว ออกมาเป็นความเครียด กังวลและซึมเศร้าในระยะยาวได้ นี่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคทางจิตเวชได้ เช่น ซึมเศร้า หรือระเบิดออกมาเป็นความรุนแรง เราจึงเจอเด็กที่ก้าวร้าวรุนแรงมากขึ้น

แล้วเราจะดูแล ประคับประคองเยาวชนที่ถูกรัฐกระทำให้อยู่กับบาดแผลนั้นได้อย่างไรบ้าง

ผมว่าเด็กที่ผ่านประสบการณ์เหล่านี้ อาจจะต้องการผู้ใหญ่ที่คอยช่วยประคับประคองหรือเยียวยานะ หรืออาจต้องมีนักจิตวิทยาช่วยดูหรือรักษา เพื่อให้เขาฟื้นฟูเขา

ด้านหนึ่ง เราก็เยียวยา แต่อีกด้านก็ต้องมองว่านี่เกิดอะไรขึ้น ทางออกที่ดีของสังคมคือเราต้องป้องกันไม่ให้มันเกิด ถ้าเราไม่มีทางออกนี้ เราก็จะอยู่ในลักษณะนี้ระแวงกัน มีการเอาคืน

เรื่องการเมืองก็ทับซ้อนกันหลายขั้น บางครอบครัวก็คุยเรื่องนี้กันไม่ได้ เด็กถูกกระทำแทบในทุกมิติ ไปม็อบก็โดนเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง อยู่โรงเรียนก็เจออำนาจนิยม หรือกลับบ้านก็คุยกับครอบครัวเรื่องการเมืองไม่ได้ ภาวะพวกนี้ส่งผลต่อตัวเด็กไทยยังไง มีพื้นที่ไหนที่พวกเขารู้สึกปลอดภัยได้ไหม

ผมว่ามีพื้นที่อยู่แล้ว เพียงแต่คนที่อยู่ในพื้นที่ก็ต้องทำความเข้าใจกัน คือที่บ้านและที่โรงเรียน ผู้ใหญ่ยุคนี้อาจจะต้องกลับมาปรับความสัมพันธ์กับเด็กๆ และลูกหลานใหม่ พยายามฟังเขา พยายามเข้าใจกันมากขึ้น เปิดพื้นที่ที่รับฟังเด็กๆ ผมว่าตอนนี้ผู้ใหญ่จำนวนมากไม่ฟังเด็ก

เรามีประสบการณ์พวกนี้จากนักศึกษาแพทย์ เคยมีกรณีที่นักศึกษาแพทย์โวยอาจารย์ที่ใช้อำนาจ กลั่นแกล้งเขา ปรากฏว่าเมื่อได้คุย เขารู้สึกว่าตัวเองไม่มีพื้นที่ให้เขาเข้าใจหรือได้ฟังผู้ใหญ่เลย ด้านผู้ใหญ่ก็ดุว่า ตราหน้านักศึกษาโดยไม่ได้ฟังว่าอีกฝ่ายคิดอย่างไร ทั้งที่จริงๆ คือต้องฟังก่อน เพื่อที่เด็กจะได้ฟังผู้ใหญ่ด้วย แต่ถ้าเป็นเช่นนี้ เด็กไม่มีทางรู้เลยว่าทำไมผู้ใหญ่ถึงยังยึดติดอะไรแบบเก่าๆ อยู่ เพราะเขาไม่รู้ว่าผู้ใหญ่รุ่นนี้ผูกพันกับอะไรบ้าง ทำไมจึงเชื่อแบบนั้น และเมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กได้ฟังผู้ใหญ่บ้าง ได้รู้ว่าความแตกต่างนี้ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ก็จะเข้าใจกัน ขณะที่ผู้ใหญ่ก็ต้องฟังเด็กๆ ด้วย เด็กรุ่นนี้เขาไม่ได้โตมากับค่านิยมแบบเก่าๆ แล้ว ไปฟังว่าเด็กคิดอย่างไรกับสิ่งที่เขาไม่ชอบ ไปฟังว่าสิ่งที่เด็กพูดนั้นจริงไหม ซึ่งหลายครั้งก็จริงเพราะบางทีผู้ใหญ่ก็ใช้อำนาจ เราก็ไม่จัดการอะไร ปล่อยให้มันเกิดขึ้น

แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เรากลับมาทบทวน เช่น กรณีอาจารย์แพทย์ ก็กลับมาทบทวนตัวเองว่าการไปพูดอย่างนั้นกับลูกศิษย์นั้นไม่ได้ ลูกศิษย์ไม่ชอบ

คนรุ่นเก่าหลายคนรู้สึกว่าตัวเองยังผ่านเรื่องแย่ๆ มาได้เลย ทำไมเด็กรุ่นใหม่ผ่านไม่ได้ ทำไมอ่อนแอ ไม่เอาไหน คุณหมอมองเรื่องนี้ยังไง

จากประสบการณ์กับเด็กรุ่นใหม่ที่ผ่านมา ผมขอท้าทายนะว่าการคิดแบบนั้นไม่ได้ผล ทำให้เรามองเด็กด้านลบ เพราะเด็กรุ่นนี้ไม่คิดแบบนั้น ไม่คิดว่าตัวเองต้องอดทนอะไร นี่เป็นสิ่งที่เปลี่ยนไปแล้ว เมื่อไหร่ก็ตามที่เรายังใช้วิธีคิดแบบเดิมๆ ก็จะเครียด ผิดหวัง และลงเอยด้วยการใช้อำนาจกัน

การปรับตัว จะเกิดจากการสร้างสมดุลอำนาจแบบใหม่ ไม่ใช่ power over (ลักษณะการใช้อำนาจเหนือ มีลักษณะการกดขี่ ข่มกัน) เหมือนเดิมแล้ว เมื่อก่อนเราอาจจะใช้ power over ซึ่งอาจจะตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาโน่น (หัวเราะ) การใช้อำนาจแบบ power over อาจจะเหมาะกับบางสถานการณ์ เช่น สงคราม แต่เมื่อเหตุการณ์ปกติ เราก็ต้องเปลี่ยนมาใช้ลักษณะอำนาจแบบ power within (อำนาจที่แต่ละคนมีอยู่ในตัว เป็นอำนาจจากภายใน จัดการตนเอง) นี่จึงจะอยู่ร่วมกันได้

ตัวอย่างที่เคยเห็นว่าทำสำเร็จคือ ที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาไม่มีเครื่องแบบนักเรียน ตัวโรงเรียนเองก็มีหนทางทำให้เด็กๆ อยู่ในกติกา(โดยไม่ใช่การ power over กับเด็ก ซึ่งมักมีลักษณะบังคับให้เด็กแต่งเครื่องแบบ ถ้าไม่แต่งก็จะตัดคะแนน) แต่เมื่อโรงเรียนชวนนักเรียนมาช่วยกันตั้งกติการ่วมกัน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จึงได้รับฟังกัน แล้วมาหาจุดที่ตกลงร่วมกัน และพบว่าเด็กพอใจกับวิธีนี้มากกว่า ไม่ต้องบังคับกัน เด็กๆ เองก็แต่งกายได้เหมาะสม ไม่ได้แต่งอวดรวยกันแบบที่ผู้ใหญ่กลัว ทั้งยังมีข้อดีด้วย คือเด็กได้รู้จัก power within ของตัวเอง อยู่ในกติกาที่ช่วยกันสร้างได้

ขยับมาในครอบครัว พ่อแม่เองก็เคยถูกปู่ย่ากระทำ ทำให้เมื่อมีลูก ก็กระทำลูกอีกทีหนึ่งโดยไม่รู้ตัวว่า สิ่งนั้นคือการทำร้ายเด็ก กลายเป็นส่งต่อบาดแผลจากรุ่นสู่รุ่น

อันนี้ผมเจอบ่อยเลย พ่อแม่ไม่รู้ตัว แต่ส่วนหนึ่งผมรู้สึกว่า พ่อแม่จำนวนหนึ่งทีเดียวที่ไม่มีวิธีใดๆ เลยในการเลี้ยงเด็ก เว้นเสียแต่ว่าต้องใช้วิธีที่เขาเคยโดนมา เราต้องทำงานสักพัก ทำให้เขาเห็นว่าจริงๆ แล้วมันมีวิธีที่ดีในการอยู่ร่วมกับเด็กได้ แล้วค่อยๆ ฝึกกัน กระบวนการนี้กินเวลานานอยู่ แต่ก็ทำได้ระดับหนึ่ง มีแค่บางครอบครัวที่ทำไม่ได้จริงๆ กรณีนี้มีไม่เยอะเท่าไหร่ คือกรณีที่พ่อแม่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ก็ต้องใช้ไม้สุดท้ายคือให้อยู่ห่างๆ กัน บอกเด็กว่าให้อยู่ห่างๆ พ่อหรือแม่ไว้ หรือไม่ก็แนะนำให้ไปโรงเรียนประจำ เนื่องจากเด็กถูกพ่อแม่ทำร้ายตลอดเวลาจนไม่มีความสุข ไปมีความสุขอีกทีตอนได้เรียนที่โรงเรียนแนะจำแล้วนานๆ กลับมาได้เจอพ่อแม่สักที พอทนได้

เป็นทางออกที่แต่ละครอบครัวก็มีไม่เหมือนกัน ต้องหาวิธีการที่ถูกต้อง แต่ทั้งนี้ เราก็ต้องพยายามให้พวกเขาอยู่ด้วยกันได้เสียก่อน พ่อแม่ก็ต้องรู้จัดปรับเปลี่ยนบางอย่าง

แต่ว่า โดยทั่วไปแล้ว พ่อแม่ที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้มักจะมีปัญหาทางสุขภาพจิตอยู่แล้ว

เท่ากันว่า การถูกทำร้ายในวัยเด็ก อาจส่งผลต่อบุคลิกและสภาพจิตเราในระยะยาวเหมือนกันใช่ไหม

ถูกต้องเลย

เมื่อเราโดนทำร้าย มักจะมีผลลัพธ์ออกมาเป็นสองแบบ แบบแรกคือเก็บกด เครียด เศร้าและเบื่อ กลัว กังวล และขาดความมั่นใจ แบบที่สองคือเลียนแบบ กลายเป็นคนที่ทำร้ายคนอื่นต่อ เมื่อมีลูก เขาก็จะไปทำร้ายลูกเขาต่อโดยที่เขาเองก็ไม่รู้ตัว ปัญหาคือวิธีการทำร้ายเช่นนี้ได้ผลในระยะสั้นเพราะเด็กจะกลัว และอยู่ในกติกา power over ของพ่อแม่ แต่เด็กจะเก็บกด และมาหาจิตแพทย์ในเวลาต่อมา เพื่อดูว่าเก็บกดแล้วกลายออกมาเป็นอะไร บางรายเป็นซึมเศร้า บางรายก้าวร้าว หรือบางรายย้ำคิดย้ำทำ

มีเด็กคนหนึ่งบอกว่าอยากทำร้ายพ่อ แต่ทำไม่ได้เพราะรู้ว่ามันผิด ก็จะเกิดเป็นภาวะย้ำคิดย้ำทำ เราก็ต้องใช้วิธีจิตบำบัดกับเด็ก หาวิธีที่ทำให้เด็กคลี่คลายเรื่องนี้ด้วยตัวเอง จะไปแก้ที่เหตุก็ยาก เราก็แนะนำเด็กว่าถ้าโกรธ เครียด ก็ให้ไปทำกิจกรรมที่ระบายความเครียด โกรธที่เหมาะสม เช่น กิจกรรมบางอย่างที่อยู่ในกติกา ก็จะช่วยลดความโกรธลงไปได้

มองแบบให้ความเป็นธรรมกับพ่อแม่ หลายคนก็เป็นพ่อแม่ครั้งแรก พวกเขาก็ไม่รู้ต้องเลี้ยงลูกอย่างไรจึงจะถูกต้อง และอาจสร้างบาดแผลให้ลูกโดยไม่ได้ตั้งใจก็ได้ มันมีหนทางการอยู่ด้วยกันไหม ให้เด็กเข้าใจว่าพ่อแม่เองก็ผิดพลาดได้

ในกรณีที่เด็กอยู่ในครอบครัวอย่างนี้ สิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะช่วยได้คือโรงเรียนนะ เพราะเด็กจะมาได้ชุดประสบการณ์ใหม่ในการเยียวยาตัวเองที่โรงเรียนเหมือนกัน ตลอดจนการจัดการกับอารมณ์ตัวเองด้วย หรือก็คือ social emotional learning นี่เป็นสิ่งที่หมอและครูพยายามช่วยกันทำอยู่ในเวลานี้ คือการไปโรงเรียนไม่ได้ให้เด็กไปเพื่อแค่เรียนอย่างเดียว แต่เน้นเรื่องเรียน อารมณ์และสังคมด้วย ให้เด็กรู้จักอารมณ์ตัวเอง เมื่อเขารู้จักอารมณ์ตัวเอง เขาก็จะจัดการกับตัวเองได้ รู้ว่าตัวเองเครียด โกรธ แต่เขาจะจัดการอารมณ์ตรงนั้นได้ และเมื่อเขาโตขึ้นมาเป็นพ่อแม่คน ก็จะไม่ทำร้ายลูก เพราะเขารู้อารมณ์ตัวเอง

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save