fbpx

หมดยุค Disruptive Technology?: ข้อคิดสำหรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

‘การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ’ เป็นโจทย์สำคัญระดับชาติที่ต้องใคร่ครวญ เพื่อให้ประเทศก้าวทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นภายในและนอกประเทศ รวมไปถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ พลังงานสะอาด เทคโนโลยีชีวภาพ ฯลฯ 

สำหรับประเทศไทย แม้การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจะเป็นโจทย์เก่า แต่กำลังเกิดขึ้นในบริบทใหม่ ส่งผลให้การแก้โจทย์ดังกล่าวยากขึ้น ที่ผ่านมามีเรื่องสำคัญที่ถูกมองข้ามอย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรก เทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในวันนี้อาจจะไม่ ‘disruptive’ กับอุตสาหกรรมรุนแรงอย่างที่เคยวิตก เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทำให้เกิดสินค้าใหม่ และทำให้สินค้าบางรายการที่มีอยู่ไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป แต่สิ่งที่ยังไม่ชัดสำหรับครั้งนี้คือ ไม่มีใครรู้ว่าความรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ระดับไหน 

ที่ผ่านมา หลายฝ่ายเชื่อว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการเดิมต้องล้มหายตายจากอย่างรวดเร็ว สะท้อนผ่านคำว่า ‘Disruptive Technology’ โดยมักใช้กล่าวถึงการล่มสลายอย่างรวดเร็วของ Nokia และ Kodak เป็นตัวอย่าง แต่งานศึกษาระยะต่อมาจำนวนหนึ่งตั้งคำถามว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี disrupt ผู้ประกอบการมากน้อยเพียงไหน โดยเฉพาะงานของ Birkinshaw (2022) ที่พบว่าบริษัทใน Fortune 500 ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักระหว่างปี 1995 และ 2020 เพราะผลของการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นรวดเร็วอย่างที่เคยวิตก

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงไม่เกิดขึ้นเร็วและ disruptive เพราะสินค้าใหม่ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเป็นสินค้าใหม่สำหรับผู้บริโภค หลายๆ ครั้งผู้บริโภคยังลังเล หรือรอให้คนอื่นๆ บริโภคก่อน (wait-and-see mode) และทำให้ความต้องการไม่เติบโตตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ประสบการณ์ในอดีตก็มีลักษณะคล้ายกัน เมื่อโลกค้นพบไฟฟ้าก็ยังต้องใช้เวลาหลายทศวรรษกว่าไฟฟ้าจะมีการใช้อย่างแพร่หลาย ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นคือ การที่เทคโนโลยียังไม่นิ่งแต่ถูกรีบเข็นออกมาสู่ตลาด และมีการปั่นกระแสจากการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการรายใหม่ที่อยากแย่งส่วนแบ่งตลาดจากผู้ผลิตรายเดิมเพื่อเข้าสู่ตลาด ในสภาวะแบบนี้ผู้บริโภคจะรอดูก่อน   

ไม่ว่าเหตุผลจะเป็นอย่างไร ความต้องการสินค้าใหม่ๆ จะค่อยๆ โตขึ้น การทดแทนสินค้าเดิมก็จะเกิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป การเร่งรัดการเปลี่ยนแปลงเพื่อไม่ให้ตกขบวน (First-mover advantage) ที่รีบกระโดดก่อนเรือจะล่ม อาจไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวัง มิหนำซ้ำมีผลเสียกับอุตสาหกรรมเดิมของประเทศ นอกจากนั้น หากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยียังไม่ตกผลึก การเลือกด้านใดด้านหนึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงที่นโยบายจะก่อให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้   

ประการที่สอง ไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลาง การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจึงไม่ใช่แค่การโยกย้ายแรงงานจากภาคชนบท มาสู่ภาคอุตสาหกรรม แต่เป็นเรื่องของการปรับตัวภายในภาคอุตสาหกรรมเองด้วย โดยบางอุตสาหกรรมขยายตัว ขณะที่บางอุตสาหกรรมหดตัว  

สำหรับบริษัทเอกชน การปรับตัวก็คงเป็นแค่การยุบแผนกที่ไม่ทำกำไร และไปขยายแผนกที่ทำกำไรได้ดีกว่า แต่ประเทศทำอย่างนั้นไม่ได้ ดังวลีเด็ดของพอล ครุกแมน (Paul Krugman) “Country is not a company” ที่เป็นหนึ่งในงานที่ได้รับความสนใจมากที่สุดของ Harvard Business Review   

คำถามสำหรับประเทศคือ เราจะเปลี่ยนผ่านอย่างไรให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ซึ่งต้องพิจารณาว่าอุตสาหกรรมของเรากำลังทำหรือผลิตอะไร เทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้มาต่อยอดการผลิตเดิมได้มากน้อยแค่ไหน และอย่างไร มีโอกาสหรือไม่ที่เทคโนโลยีจะทำให้อุตสาหกรรมที่ทำอยู่ต้องล้มหายตายจากไป หรือเป็นแค่สินค้าบางรายการ-บางกลุ่มตกรุ่นแล้วถูกแทนด้วยสินค้าใหม่ หากอุตสาหกรรมใหม่ไม่ได้เกิดขึ้นข้ามวัน เราก็ต้องคิดว่าผู้ประกอบการจะอยู่อย่างไรหากอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดด ในขณะที่ผู้บริโภคก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ซึ่งต้องใช้เวลาอีกสักพัก

ทั้งสองเหตุผลข้างต้นมักเป็นเรื่องที่ถูกมองข้าม ข้อเสนอแนะการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ผ่านมาล้วนแต่เสนอว่า ต้องเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยรวมเอาเทคโนโลยีดิจิตัล ต้องทำวิจัยและพัฒนา และต้องยกระดับฝีมือแรงงาน คำตอบเหล่านี้เป็นคำตอบมาตรฐานที่ไม่ผิด แต่ไม่พอที่จะทำให้การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม 

นอกจากนั้น ข้อเสนอเหล่านี้มักตั้งอยู่บนข้อสมมติแฝงที่ว่าผู้ประกอบการต้องเร่งลงมือเพื่อไม่ให้ถูก disrupt จากเทคโนโลยี  และคำตอบที่เป็นธงคือ ‘การเติบโตแบบก้าวกระโดด’ (Leapfrogging) ซึ่งเป็น theme ที่องค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก ใช้กระตุ้นประเทศรายได้ต่ำที่คนจำนวนมากยังอยู่ในภาคชนบทท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี วันนี้องค์กรระหว่าประเทศเริ่มตระหนักถึงข้อจำกัดและปัญหาต่างๆ ของการกระตุ้นดังกล่าว เพราะทำให้หลายๆ ประเทศลอกเลียนแบบสิ่งที่เคยมีในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น การสร้าง Silicon Valley ในประเทศของตน

หากพิจารณาข้อเสนอที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ คำถามแรกๆ สำหรับผู้ประกอบการคือ เทคโนโลยีใหม่แบบไหนที่ควรนำมาประยุกต์ใช้ และควรประยุกต์กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ หรือก้าวกระโดดไปยังอุตสาหกรรมใหม่ หากเชื่อว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว ข้อเสนอข้างต้นกำลังบอกว่าควรกระโดดไปยังอุตสาหกรรมใหม่แล้วทิ้งอุตสาหกรรมเดิม ตรรกะเช่นเดียวกันนี้สามารถประยุกต์กับข้อเสนอในการวิจัยและพัฒนา และการยกระดับฝีมือแรงงาน

แต่ปัญหาใหญ่มีอยู่ว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นเรื่องที่ ‘พูดง่าย’ โดยเฉพาะบุคคลภายนอกที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับความเป็นอยู่ของผู้ประกอบการโดยตรง แต่เป็นเรื่องยากสำหรับผู้ประกอบการที่จะลงมือทำ การเริ่มอุตสาหกรรมใหม่ต้องเข้าใจและเรียนรู้ธุรกิจใหม่ อีกทั้งยังต้องการสายป่านทางการเงินที่ยาวพอจะทำให้สถานประกอบการอยู่ได้ในช่วงกำลังเรียนรู้ และมีความเสี่ยงที่สูงเมื่ออุตสาหกรรมใหม่ไม่ใช่แค่การต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม 

กรณีการเปลี่ยนจากยานยนต์เครื่องสันดาปภายในไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เพราะแม้จะขึ้นชื่อว่า ‘ยานยนต์’ เหมือนกัน แต่ทั้งสองแทบจะเป็นคนละอุตสาหกรรม มีชิ้นส่วนที่ทดแทนกันได้ไม่ถึงร้อยละ 10 ในขณะที่สินค้าขายไปยังผู้บริโภคใกล้กัน หรืออาจจะเป็นกลุ่มเดียวกัน  ดังนั้นการส่งเสริมให้ผู้ผลิตยานยนต์เดิมไปตอบโจทย์ยานยนต์ไฟฟ้าจึงเหมือนการบอกให้ผู้ประกอบการเริ่มกิจการใหม่ที่ไม่ใช่ทุกคนจะถนัด เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอาหาร ที่อาหารแห่งอนาคตอย่าง plant based หรืออาหารออร์แกนิค กับอาหารแปรรูปดั้งเดิม (เช่น กุ้งแช่แข็ง ปลาทูน่ากระป๋อง) ก็เป็นอุตสาหกรรมคนละประเภท​    

หากผนวกปัจจัยทั้งสองด้านที่กล่าวข้างต้น การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจควรเป็นการเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยประคองโครงสร้างเดิมให้ยังมีความสามารถในการแข่งขัน พร้อมๆ กับเปิดโอกาสและช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการค่อยๆ เปลี่ยนผ่านไปยังสินค้าใหม่ โครงสร้างเดิมจะทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนให้ผู้ประกอบการสามารถนำกำไรบางส่วนมาลองผิดลองถูกกับสินค้าใหม่ที่ตลาดค่อยๆ เติบโต การเรียนรู้เหล่านี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการสะสมความรู้ความสามารถและพร้อมจะตักตวงเมื่อตลาดเปิดกว้าง

การขับเคลื่อนเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ จำเป็นต้องอาศัยความรู้เชิงลึกเฉพาะสาขาการผลิตที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันไปตามแต่ละอุตสาหกรรม อีกทั้งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างประชากร โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมสูงวัย ทิศทางการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและความรวดเร็ว การพัฒนาทักษะและการปรับเปลี่ยนทักษะ (skilling and deskilling) พลวัตของเศรษฐกิจและการเมืองของโลก นโยบายแรงงานข้ามชาติ ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาสิ่งแวดล้อม มิติเหล่านี้มีความสำคัญแตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม (หากมีโอกาสจะนำเสนอในลำดับต่อๆ ไป)

ดังนั้น รัฐควรส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างเดิมหรือโครงสร้างใหม่ เพราะหัวใจสำคัญของการฉกฉวยโอกาสท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี คือ เอาเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในวงกว้างที่สุด ไม่ต้องจำกัดว่าใครจะใช้ประโยชน์ นี่เป็นแนวทางที่หลายๆ ประเทศในเอเชียตะวันออก ยกเว้น จีน ใช้ในการขับเคลื่อนประเทศ

กระนั้น สิ่งที่ต้องระวังคือพยายามหลีกเลี่ยงการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป้าหมายที่กว้างเกินไปนั้นไม่มีความหมาย ส่วนเป้าหมายที่แคบเกินไป จะมีเพียงบางอุตสาหกรรมที่ถูกเลือก (อุตสาหกรรมเป้าหมาย) และอุตสาหกรรมอีกจำนวนมากไม่ถูกเลือก (อุตสาหกรรมที่ไม่ได้อยู่ในเป้าหมาย) เรื่องดังกล่าวสร้างผลกระทบในวงกว้างทันที ไม่ว่าจะเป็นทิศทางของทุนวิจัยที่จะเน้นไปที่อุตสาหกรรมเป้าหมายก่อนเทคโนโลยีใหม่ โครงการของภาครัฐในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ แนวทางการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ดังที่เคยวิวาทะอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มได้รับความนิยมลดลง (Sunset industry) ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ผู้ประกอบการเก่งๆ ถูกตัดสินเชื่อจากสถาบันการเงินทันทีจากวิวาทะดังกล่าว เป็นต้น    

ปัจจุบัน ความเสียหายจากการเลือกผิด (เลือกอุตสาหกรรมก่อน) สูงมาก เพราะในยุคหลังโควิค การกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการสร้างงาน คือโจทย์ใหญ่ที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ การประคองโครงสร้างเดิมจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในระยะสั้น และต้องทำคู่ขนานกับการอำนวยความสะดวกการเปลี่ยนผ่าน สัญญาณเศรษฐกิจที่ผิดอาจทำให้ผู้ประกอบการที่บาดเจ็บรุนแรงในช่วงวิกฤตโควิดตัดสินใจเลิกกิจการ นั่นเป็นความเสียหายที่ควรหลีกเลี่ยง

วันนี้ไทยกำลังจะมีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองต่างๆ พยายามแข่งขันกันด้วยนโยบายเพื่อให้ได้เสียงจากประชาขน ความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าวคือ การชูการเปลี่ยนผ่านแบบค่อยเป็นค่อยไปอาจดูจืดชืดในการหาเสียงเมื่อเทียบกับการชูอุตสาหกรรมทันสมัยมีเป้าหมายชัดเจน สิ่งที่ต้องตระหนักคือการเน้นชูอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ทันสมัย หรือไฮเทคมาก แม้จะน่าตื่นตาตื่นใจ ดูเท่ แต่ประเทศอาจไม่มีเงินและไม่สามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้จริง 

เอกสารอ้างอิง

อาชนัน เกาะไพบูลย์. คลัสเตอร์ความสามารถในการแข่งขัน. เศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์

Birkinshaw, J. (2022). How incumbents survive and thrive. Harvard Business Review, Jan-Feb, 37-42.

Krugman, P. (1996), ‘A country is not a company’, Harvard Business Review, Jan-Feb, 40-51.


บทความเป็นการส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเผยแพร่องค์ความรู้ของโครงการเมธีวิจัยอาวุโสประจำปี 2565

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save