fbpx

เมื่อเจ้าพ่อเจ้าแม่แห่งบ้านหนองขาวกลับมาร่ายรำ : หมดยุค social distancing ระหว่าง ‘คน’ กับ ‘เทพ’

1

“เดียวปีหน้าค่อยจัดงาน ปีนี้ทำบุญเลี้ยงเพลไปพลางก่อน” เสียงของร่างทรงกล่าวกับชาวบ้านที่ถือเครื่องเซ่นไหว้มายังศาลแม่ย่าท้าวทอง ณ ชุมชนหนองขาว จังหวัดกาญจนบุรี

คุณยายร่างทรงบอกว่าปีนี้แค่มาตั้งสำรับเครื่องเซ่นไหว้ ที่ประกอบไปด้วยบายศรีปากชาม ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว น้ำ ธูป และดอกไม้ มาถวายแม่ย่าท้าวทองก็พอ เพราะสถานการณ์โควิดในช่วงที่ผ่านมาทำให้ต้องระมัดระวังกันอยู่

ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเริ่มผ่อนคลาย ทางภาครัฐเริ่มผ่อนปรนให้จัดงานเทศกาลต่างๆ ได้ ซึ่งรวมถึงพิธีกรรมจัดสำรับบูชาศาลแม่ย่าท้าวทองที่ปกติจัดขึ้นทุกปีในหมู่บ้านหนองขาวด้วย ก่อนหน้านี้พิธีตั้งสำรับถูกงดมาตลอด 2 ปีในช่วงการระบาดของโควิด ทำให้ชาวบ้านกับเทพคุ้มครองหมู่บ้านไม่ได้ติดต่อกันผ่านพิธีกรรม เมื่อรัฐมีนโยบายผ่อนปรนขึ้นมาก็ทำให้ชาวบ้านบางส่วนสับสนว่าปีนี้จะต้องไปตั้งสำรับกันหรือไม่ ดังคำพูดของชาวบ้านท่านหนึ่งว่า เทศบาลเขาประกาศผ่อนปรนให้แต่ศาลใหญ่ เช่น ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ ศาลเจ้าพ่อโรงหนัง ศาลเจ้าพ่อลมบน ฯลฯ เลยไม่รู้ว่าศาลเจ้าแม่ย่าท้าวทองจะจัดงานประจำปีได้หรือไม่

ท่ามกลางความสับสนบางส่วนที่เกิดขึ้น ใต้ถุนศาลแม่ย่าท้าวทองก็ยังเต็มไปด้วยสำรับที่ชาวบ้านนำมาบูชา เพราะคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะกลับมาบูชาย่าที่ดูแลหมู่บ้าน

ศาลแม่ย่าท้าวทอง

ความผูกพันระหว่างชาวบ้านหนองขาวกับเทพที่คุ้มครองหมู่บ้าน เป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาจากเรื่องเล่าของบรรพบุรุษที่ตกทอดกันมาว่า ในบ้านที่มี ‘หม้อยาย’ หรือสัญลักษณ์ของวิญญาณที่ดูแลคนหนองขาว ชาวบ้านจะต้องนำเครื่องเซ่นหรือสำรับไปบูชาองค์เทพนั้นๆ เมื่อถึงช่วงงานประจำปี

หม้อยายคือสัญลักษณ์ของการนับถือเซ่นไหว้ผีประจำตระกูล (Totem) โดยมีหลายลักษณะตามภาชนะต่างๆ เช่น ยายในหม้อ อยู่ในหม้อดินขนาดเล็ก มีตุ๊กตาปั้นด้วยขี้ผึ้งหนึ่งตัว ปิดฝาหม้อด้วยผ้าขาวมัดด้วยด้ายดิบ

ยายในตะกร้า มีชื่อว่า ‘ยายตลับสี’ อยู่ในตะกร้าสองใบ ในตะกร้าใส่มะพร้าวแห้งทั้งเปลือกและมีขั้วพร้อมเจว็ด

ยายในชาม มีชื่อต่างกันไป เช่น ยายเอี้ยง ยายใจ ยายกุเลา ยายทอง แม่ย่าท้าวทอง ภายในชามมีรูปคนปั้นด้วยขี้ผึ้งใส่ไว้ก้นชาม

ยายกระบอก อยู่ในกระบอกไม้ไผ่ มีผ้าขาวปิดไว้ เป็นต้น[1]

หม้อยายเป็นความเชื่อของบรรพบุรุษที่ตกทอดมาของชาวบ้านหนองขาว แต่ละบ้านมีหม้อยายต่างชนิดและมีจำนวนไม่เท่ากันตามที่บรรพบุรุษแต่ละบ้านนับถือ ซึ่งสัมพันธ์กับการตั้งสำรับเทพที่คุ้มครองครอบครัวของตัวเองตามจำนวนและประเภทที่มีหม้อยายประจำบ้าน และเมื่อมีการแต่งงานย้ายไปสร้างครอบครัวใหม่ก็ต้องรับหม้อยายไปอยู่ด้วย

ความสำคัญของหม้อยายเปรียบเสมือนบรรพบุรุษคอยดูแลปกป้องคนในบ้านนั้นๆ เมื่อจะทำการสิ่งใด เช่น จัดงานบวช ขึ้นบ้านใหม่ ก็ต้องจุดธูปบอกกล่าวยายเพื่อให้ประสบความสำเร็จและคนในบ้านอยู่เย็นเป็นสุข เมื่อถึงงานประจำปีก็ต้องไปตั้งสำรับเครื่องเซ่นตามจำนวนและประเภทของหม้อยายในบ้าน เช่น ยายหม้อ (ต้องไปไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่ เจ้าพ่อลมบน เจ้าพ่อโรงหนัง) ยายกระบอก (ต้องไปไหว้ยายกุเลา เภาตะรังษี) เป็นต้น[2]

ไม่ใช่แค่ที่ศาลแม่ย่าท้าวทองเท่านั้นที่มีชาวบ้านยกสำรับไปบูชาอย่างคับคั่ง แต่ที่หนองขาวยังมีศาลสำคัญอีกหลายศาลซึ่งเป็นที่ประทับของเทพที่ชาวบ้านเคารพบูชา โดยมีศาลหลักคือ ‘ศาลกลางบ้าน’ หรือ ‘ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่’ ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่เปรียบเหมือนศูนย์รวมจิตใจของหมู่บ้าน ไม่ว่าคนต้องการประกอบพิธีอะไรก็ต้องมาขอขมาหรือขออนุญาตที่ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ก่อน

ภาพตัวอย่างความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างชาวบ้านหนองขาวกับเทพเจ้าเห็นได้ชัดในงานบุญ เช่น ในงานบวช เมื่อขบวนแห่นาคไปรับนาคที่วัดเพื่อกลับมาเลี้ยงฉลองก็ต้องนำนาคมาไหว้ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ก่อน หรือหากใครจะแต่งงานกับคนนอกหมู่บ้านก็ต้องมาไหว้ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ก่อน

พิธีกรรมเหล่านี้สะท้อนการประนีประนอมกันระหว่างศาสนาผี (เทพ) ที่เป็นศาสนาดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับพุทธศาสนาที่เข้ามายังดินแดนนี้ทีหลัง จนปัจจุบันกลายเป็นพิธีกรรมที่ผสมผสานกัน เห็นได้ชัดจากงานประจำปีของศาลต่างๆ ที่ต้องนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพุทธมนต์เย็นและทำบุญเลี้ยงเพลพระ หรือแม้แต่องค์ประธานของศาลเจ้าต่างๆ ในหมู่บ้านก็คือพระพุทธรูป

ไม่ใช่แค่ผสมผสานวัฒนธรรมความเชื่อเรื่องผีและพุทธศาสนาเข้าไว้ด้วยกันเท่านั้น แต่ที่บ้านหนองขาวยังหลอมรวมวัฒนธรรมจีนเข้าไปด้วย ซึ่งสังเกตเห็นได้ในทุกศาลที่มีการติดผ้าพื้นหลังสีแดงและเขียนตัวอักษรสีทองด้วยคำว่า 神 (เสิน) ที่แปลว่าเทพเจ้า รวมถึงวัฒนธรรมฮินดูที่มีรูปปั้นพระพรหมสี่หน้าซึ่งเป็นเทพเจ้าของฮินดูอยู่ตามศาลต่างๆ ด้วย ภาพแทนเหล่านี้สะท้อนถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมในหมู่บ้านหนองขาวได้เป็นอย่างดี

2

เมื่อถึงเวลางานประจำปีของศาลใหญ่ประจำหมู่บ้านหลังช่วงระบาดหนักของโควิด ส่งผลให้ศาลกลางบ้านหรือ ‘ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่’ เต็มไปด้วยชาวบ้านที่พร้อมเพรียงกันถือถาดอาหาร ดอกไม้ ถุงขนม เตรียมพร้อมมาบูชาศาลเทพเจ้าที่ดูแลหมู่บ้าน ทำให้ในพื้นที่ละลานตาไปด้วยสีสันของดอกไม้

“ต้องเตรียมของก่อน เดียวถึงงานเจ้าพ่อโรงหนังจะได้เอาไปขายทัน” ย่ายง ชาวบ้านหนองขาวที่ประกอบอาชีพขายข้าวเกรียบว่าวกล่าวอย่างดีใจ เพราะการมี ‘งานประจำปี’ หมายถึงยอดขายข้าวเกรียบที่เพิ่มมากขึ้น ความดีใจของชาวบ้านสะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณของการกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติด้วย หลังจากที่ชาวบ้านหนองขาวต้องรักษาระยะห่าง ไม่สามารถพบปะกันได้เหมือนปกติ แม้ว่าบ้านจะตั้งอยู่ใกล้ชิดกันก็ตาม

เมื่อเสียงแตรวงดังขึ้น เหล่าบรรดาเทพเจ้าทั้งเจ้าพ่อ เจ้าแม่ เจ้าพี่ ก็ประทับทรงพร้อมร่ายรำในรอบ 2 ปีที่ไม่ได้ลงมาพบปะลูกหลานชาวบ้านคนหนองขาว กลิ่นธูปลอยฟุ้งจากถาดสำรับของชาวบ้านที่มาถวายและขอพรให้อยู่เย็นเป็นสุข ค้าขายร่ำรวย และรอดพ้นจากจากโควิด-19

ในพิธีกรรมนี้ ร่างทรงจะอัญเชิญเทพเทวดา (เจ้าพ่อ เจ้าแม่ เจ้าพี่) มาประทับร่าง เมื่อเข้าทรงแล้ว ร่างทรงต่างพูดคุย ร่ำร้อง กอดกัน ไหว้เคารพซึ่งกันและกันตามลำดับและเครือญาติขององค์เทพ ความสวยงามของพิธีกรรมคือความหลากหลายของชุดและเครื่องตกแต่งของร่างทรงแต่ละคน บางคนสีสันฉูดฉาด บางคนสวมผ้าถุงหรือผ้าขาวม้าประจำหมู่บ้านแบบธรรมดา หรือบางคนประดับด้วยชุดส่าหรีอินเดีย ซึ่งร่างทรงบางคนมีอาวุธประจำกาย เช่น ดาบสั้น เป็นต้น

เมื่อประทับทรงแล้วก็จะทำการบูชาด้วยการถือธูปไปไหว้ตามจุดต่างๆ ตัวอย่างเช่นศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ ที่มีจุดให้ไปบูชาหลายตำแหน่ง เช่น หน้าหิ้งศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ ศาลเจ้าพ่อจุ้ย ศาลเจ้าพ่อคลุกคลี รวมไปถึงศาลพระภูมิ ในระหว่างที่ร่างทรงเดินบูชาตามจุดต่างๆ ชาวบ้านก็เข้ามาทำความเคารพบูชา ขอพรให้อยู่เย็นเป็นสุข ยิ่งเป็นองค์เจ้าเก่าแก่คนก็มักจะนิยมไปขอพรเจ้าองค์นั้นๆ

ในลานพิธีกรรม ร่างทรงถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และได้รับอนุญาตให้ไม่ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ส่วนชาวบ้านที่นำสำรับมาบูชายังคงต้องใส่ (ช่วงเดือนพฤษภาคม หลังผ่อนคลายมาตรการในช่วงแรก) นับว่าเป็นสัญญาณให้ความมั่นใจต่อชาวบ้าน ในการค่อยๆ กลับมาใช้ชีวิตแบบปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการเริ่มที่องค์เทพก่อน

เสียงเพลงและการร่ายรำในพิธีกรรมนี้มีต่อเนื่องติดต่อกันสามวัน จากศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่สู่ศาลเจ้าพ่อโรงหนังและปิดฉากด้วยศาลหนองน้อย (สามศาลข้างต้นเป็นศาลที่จัดงานประจำปีเป็นงานใหญ่ ซึ่งยังมีพิธีตั้งสำรับตรงศาลอื่นอีกที่งานเล็กบ้าง ไม่จัดงานบ้าง เพราะไม่มีคนทรง แต่มีเพียงชาวบ้านไปตั้งสำรับเท่านั้น)

ความสัมพันธ์ของเจ้าหนองขาวเต็มไปด้วยวงศ์เครือญาติ เห็นได้จากที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อโรงหนัง ประกอบไปด้วยศาลเทพองค์อื่นๆ จำนวนมาก เช่น ศาลเจ้าแม่ร่มขาว ศาลเจ้าพ่อหัวรมาน หรือศาลหนองน้อยที่ประกอบไปด้วย ศาลเจ้าพ่อลมบน ศาลเจ้าพ่อเขาสูง ศาลเจ้าพ่อแทงตะวัน พ่อตะหลวงใหญ่ เป็นต้น รวมทั้งความสัมพันธ์ขององค์เทพต่างๆ ที่เป็นพ่อแม่ลูกหรือเพื่อนกัน เช่น เจ้าพ่องาแซงมีครอบครัวที่ประกอบไปด้วย เจ้าเวียงจันทร์ เจ้าไพรทอง หรือเจ้าพ่อลมบนเป็นพ่อของเจ้าพี่จำลองแก้วเป็นต้น  

แม้กระทั่งความสัมพันธ์ที่สนิทชิดเชื้อของเจ้าพ่อตะกา เจ้าพ่องาแซง เจ้าพ่อแสงหิน เจ้าพ่อกลิ่นธูป เจ้าพ่อรูปงาม เจ้าพ่อพราหมณ์เสด็จ ซึ่งล้วนมีพระนามคล้องจองกัน สิ่งเหล่านี้สะท้อนความเป็นเครือญาติกันของคนในชุมชนชาวหนองขาวที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพิงอาศัยกัน ทำให้ร่างทรงขององค์เทพในหมู่บ้านหนองขาวมีจำนวนมากในยุคก่อน ก่อนที่คนในชุมชนจะขยายตัวไปประกอบอาชีพนอกหมู่บ้าน

ศาลเจ้าพ่อคลุกคลี บริเวณศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่

การขยายตัวของเศรษฐกิจและการเปลี่ยนรูปแบบของการประกอบอาชีพส่งผลให้ชาวบ้านหนองขาวรุ่นหลังๆ ไม่ได้ประกอบอาชีพอยู่ในหมู่บ้านหนองขาวหรือไม่ได้อยู่ในจังหวัดกาญจนบุรีอีกแล้ว ทำให้ครอบครัวใหญ่ค่อยๆ เล็กลงเรื่อยๆ ชาวบ้านมีความสัมพันธ์กับเจ้าเก่าแก่น้อยลง

คุณนงนุช กระต่าย คนในหมู่บ้านดั้งเดิม เล่าว่าช่วงปลายทศวรรษ 2530 ที่ดินที่หนองขาวมีราคาสูง เกิดโรงงานขึ้นเยอะ คนในหมู่บ้านก็ย้ายไปทำอาชีพอย่างอื่นแทนการทำนาทำไร่ รวมไปถึงความเร่งรีบในโลกทุนนิยมทำให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนวิธีการบางอย่างเพื่อความสะดวกสบายต่อพิธีกรรม เช่น การจ้างทำบายศรีปากชามสำหรับการตั้งสำรับ การฝากเพื่อนบ้านไปตั้งสำรับให้ ซึ่งเมื่อก่อนเป็นสิ่งที่ห้ามทำ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีของชาวบ้านที่เปลี่ยนไป

ในงานวิจัยเรื่อง พิธีทรงเจ้า : พิธีกรรมกับโครงสร้างสังคมที่หนองขาว[3]) และบทความ ‘การเข้าทรงของหมู่บ้านหนองขาว’[4] ชี้ให้เห็นว่าพิธีกรรมและร่างทรงมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับปัจจุบัน เช่น ในเครื่องบูชาที่เปลี่ยนจากเหล้าหมักสาโทมาเป็นสุรายี่ห้อต่างๆ ในปัจจุบัน ทำให้สามารถหาของมาบูชาทดแทนกันได้อย่างลงตัว หรือการปรับเปลี่ยนเครื่องเซ่นในสำรับของชาวบ้านที่เปลี่ยนเป็นขนมกรุบกรอบตามร้านค้าเพื่อความสะดวกสบายในการสรรหา สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงของพิธีกรรมอยู่ตลอด

เช่นเดียวกัน ในห้วงเวลาที่จัดพิธีกรรมใหญ่โตไม่ได้ เหล่าบรรดาร่างทรงเทพเทวดาประจำหมู่บ้านก็ประนีประนอมปรับตัวกับนโยบายของรัฐที่ไม่ค่อยมีความแน่นอน ด้วยการลดขนาดพิธีกรรมที่อาจเหลือแค่บรรดาร่างทรงและพี่เลี้ยงร่างทรงในการประกอบพิธี เช่นการบูรณะศาลเจ้าพ่องาแซง ที่อัญเชิญร่างทรงมาไม่มากนัก และชาวบ้านก็มาเฉพาะคนที่อยู่ใกล้บริเวณศาลเจ้าพ่องาแซงเท่านั้น พร้อมปฏิบัติตามมาตรการ social distancing และเมื่อองค์เจ้าพ่อเจ้าแม่เข้าทรงก็ร่ำร้องและกอดกับเจ้าองค์อื่นๆ หลังจากที่หมู่บ้านต้องพบกับวิกฤตการณ์โรคระบาดและให้พรแก่ชาวบ้านให้รอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ

“งานเจ้าน่าจะมีทุกวันนะ ถ้ามีทุกวันป้ารวยแน่” ป้าแหม็ดและป้าอี๊ดชาวบ้านหนองขาวที่ทำขนมต้มแดงและต้มขาวขายกล่าว ขนมสองชนิดนี้ใช้ในถาดสำรับเครื่องเซ่นไหว้ของงานประจำปี ป้าแหม็ดและป้าอี๊ดบอกว่ายอดสั่งทำขนมช่วงงานประจำปีศาลพ่อเจ้าแม่ ศาลเจ้าพ่อโรงหนัง และศาลหนองน้อย เยอะจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน

ความจริงแล้วนอกจากสามศาลข้างต้น หมู่บ้านหนองขาวยังมีศาลที่ชาวบ้านต้องไปตั้งสำรับอีกหลายศาล อาทิ ศาลเจ้ายายทุเลา ศาลเจ้าปู่เจ้าบ้าน ศาลเจ้าแม่ตลับศรี เจ้าพ่อพญามือเหล็ก เป็นต้น

การรวมตัวกันของเจ้าพ่อเจ้าแม่ หรือการรวมตัวกันของชาวบ้านในพิธีกรรม สะท้อนถึงสัญญาณการกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ หลังต้องทนทุกข์ทรมานจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการจัดการปัญหาเรื่องโควิดที่ไม่มีความแน่นอนของรัฐบาลที่ทำให้พิธีกรรมห่างหายไปเกือบสองปี จนทำให้วิถีชีวิตปกติของชาวบ้านหายไป ฉะนั้นพิธีกรรมแรกในรอบสองปี จึงเต็มไปด้วยชาวบ้านที่มาเคารพเทพเทวดาที่คุ้มครองหมู่บ้านอย่างเนื่องแน่น

ข้อสังเกตของการดำรงอยู่ของพิธีกรรมทรงเจ้าในชุมชนบ้านหนองขาว คือพิธีกรรมการทรงเจ้าช่วยเสริมความมั่นคงทางจิตใจของชาวบ้าน เช่น เมื่อชาวบ้านมาบนบานศาลกล่าวเรื่องงานที่ต้องแข่งขันกันในระบบทุนนิยม อาทิ ขอให้จับไม่ได้ใบแดงไปเป็นทหารเกณฑ์ เพราะเสียเวลาทำมาหากิน หรือขอให้สอบติดโรงเรียนดีๆ เพื่อจะให้ลูกเลื่อนสถานะครอบครัวในอนาคต ในแง่นี้ศาลเจ้าให้ประโยชน์ทางด้านจิตใจแก่ชาวบ้าน รวมไปถึงการเจ็บป่วยทางจิตใจ ที่ต้องกล่าวว่าการทำงานของระบบราชการและการประชาสัมพันธ์ทางภาครัฐเกี่ยวกับจิตแพทย์ยังไม่สามารถเข้าถึงประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งพิธีกรรมช่วยอุดรูรั่วในส่วนนี้สำหรับคนที่เคารพนับถือเทพเจ้า เช่น รถหาย ญาติพี่น้องเสีย ป่วยรักษาไม่หาย เป็นต้น

พิธีกรรมสามารถปลอบประโลมในสิ่งที่ภาครัฐไม่อาจตอบสนองชาวบ้านได้ และยิ่งสถานการณ์โควิดแล้วด้วยนั้น พิธีกรรมการทรงเจ้าของหนองขาวยิ่งช่วยให้ชาวบ้านสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติดังเช่นที่องค์เทพพบปะสังสรรค์กันได้

เมื่อพระอาทิตย์เลยหัวไป ก็บอกให้เรารู้ว่าเลยช่วงเที่ยงวันไปแล้ว หลังจากร่างทรงเลี้ยงเพลพระเสร็จ เสียงดนตรีเริ่มบรรเลงแบบเร่งจังหวะ เหล่าบรรดาร่างทรงออกมาร่ายร่ำท่ามกลางร่างทรงด้วยกันเองและชาวบ้านที่มามุงดู ร่างทรงแต่ละคนนั่งเป็นกลุ่มตามลำดับเครือญาติขององค์เทพ บางองค์โชว์ความสามารถด้วยการสูบบุหรี่หลายม้วนพร้อมกัน เหวี่ยงลูกทุเรียน (อุปกรณ์ที่ทำมาจากตะปูหลายๆ ดอก เป็นทรงกลม)

บริเวณศาลเจ้าตลบอบอวลไปด้วยควันธูปและควันเทียน เมื่อถึงเวลาอันสมควรเหล่าบรรดาเจ้าพ่อ เจ้าแม่ เจ้าพี่ รวมตัวกันทำการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำจุดต่างๆ แล้วโยนไม้เสี่ยงทาย (โป้ย) เมื่อไม้เสี่ยงทายถูกโยนขึ้นแล้วหล่นลงพื้นด้วยสัญลักษณ์คว่ำหนึ่งอันหงายหนึ่งอัน เป็นการส่งสัญญาณของเบื้องบนว่ารับรู้แล้ว สำเร็จแล้ว ก็ถึงเวลาที่ชาวบ้านมาเก็บถาดสำรับกลับบ้าน พร้อมสัญญาณการกลับมาใช้วิตแบบปกติ ที่จะต้องมาตั้งสำรับแบบนี้อีกในปีถัดๆ ไป

สถานการณ์โควิดที่ย่างกรายเข้ามาในประเทศไทยส่งผลกระทบต่อองค์เทพทำให้ไม่สามารถร่ายรำและพบปะร่างทรงอื่นๆ เช่นเดียวกับชาวบ้านที่ต้อง social distancing แต่เมื่อเจ้าพ่อเจ้าแม่กลับมาร่ายรำกลางพิธีได้ ก็สะท้อนถึงสัญญาณการกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติของชาวบ้านอีกครั้ง

                                               


References
1 องค์ บรรจุน. (2558). “หม้อตาหม้อยาย” สัญลักษณ์นับถือ-เซ่นไหว้ผีประจำตระกูลในชนโบราณที่สืบสายถึงปัจจุบัน. เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_10116
2 องค์ บรรจุน. (2558). “หม้อตาหม้อยาย” สัญลักษณ์นับถือ-เซ่นไหว้ผีประจำตระกูลในชนโบราณที่สืบสายถึงปัจจุบัน. เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_10116
3 พิธีทรงเจ้า : พิธีกรรมกับโครงสร้างสังคมที่หนองขาว. เบญจรัชต์ เมืองไทย (2543
4 การเข้าทรงของหมู่บ้านหนองขาว (2543) ของบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์, อุไรรัตน์ ไพบูลย์วัฒนกิจ และวิวรรธน์ นาคสุข.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save