fbpx

OPPENHEIMER ความสำเร็จอันเลิศเลอ เจอทีเผลอแห่งปฏิกิริยาลูกโซ่

ผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) คงจะได้รับบทเรียนมาจากหนังเรื่อง Tenet (2020) ที่เมื่อเขาเขียนบทอย่างคะนองมือ สื่อสารเรื่องราวผ่านหลักทฤษฎีด้านฟิสิกส์วิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น inverted entropy (ทฤษฎีเอนโทรปีย้อนกลับ) ที่ทำให้ผู้คนเดินทางย้อนเวลาได้ด้วยอานุภาพของธาตุกัมมันตภาพรังสีพลูโตเนียม-241 (Plutonium-241) หรือการบิดผันลำดับความคิดอย่างอัลกอริธึมให้กลายเป็นวัตถุเศษโลหะจากตลาดเชียงกง  สร้างความมึนงงให้แก่ผู้ชมที่ไม่มีความรู้พื้นฐาน พร้อมกับสร้างเสียงอุทาน ‘นี่มันอิหยังฟะ’ จากผู้ที่ศึกษาร่ำเรียนมาในสนามนี้ จนเหมือนเป็นส่วนของเรื่องราวที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความสร้างสรรค์จรรโลงต่อใครได้เลย

มาถึงผลงานใหม่ Oppenheimer (2023) ที่เล่าเรื่องราวชีวิตการศึกษาเล่าเรียนและการทำงานเป็นนักฟิสิกส์เชิงทฤษฎีของ เจ โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘บิดาผู้ให้กำเนิดระเบิดนิวเคลียร์แห่งสหรัฐอเมริกา’ ผู้กำกับและเขียนบทอย่างโนแลนจึงไม่ได้ ‘หาทำ’ นำความรู้และทฤษฎีเชิงลึกด้านควอนตัมฟิสิกส์มายัดใส่ในหนังให้คนดูต้องปวดหัวเล่นอีกต่อไป แล้วหันมาใส่ใจกับมิติด้านอารมณ์ความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไปตามเส้นทางชีวิตของออพเพนไฮเมอร์เอง จนดูเป็นงานชีวประวัติเล่าประวัติบุคคลสำคัญแนวโปรดของรางวัลออสการ์ มากกว่าจะเรียกว่าเป็น ‘หนังวิทยาศาสตร์’ ซึ่งก็นับเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาดอยู่ไม่น้อย เพราะต่อให้ผู้ชมจะไม่ค่อยได้สันทัดกับหลักการเบื้องหลังในการสร้างระเบิดปรมาณูทำลายล้างเหล่านี้มากนัก ก็ยังสามารถตั้งหลักติดตามเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบอย่างกระจ่างได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ใดๆ

Oppenheimer ไล่เล่าเรื่องราวตั้งแต่สมัยที่ออพเพนไฮเมอร์ยังเป็นนักศึกษาหนุ่มเหน้าที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และมีโอกาสได้พบนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังคือ นิลส์ โปร์ (Niels Bohr) ก่อนจะย้ายไปเรียนต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเกิตทิงเงิน ประเทศเยอรมนี เมื่อได้โยกย้ายกลับมายังสหรัฐอเมริกาดินแดนมาตุภูมิ เขาก็ได้ไปสอนด้านควอนตั ฟิสิกส์ ที่เบิร์กลีย์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และได้พบปะกับนักวิทยาศาสตร์เก่ง ๆ ในสนามนี้มากมาย เมื่อออพเพนไฮเมอร์ได้รับการติดต่อจากพลเอก เลสลี โกรฟส์ (Leslie Groves) เมื่อปี 1942 ให้กำกับดูแลโปรเจ็กต์แมนฮัตตัน (Manhattan Project) โครงการประดิษฐ์ระเบิดปรมาณูนิวเคลียร์ เพื่อแข่งกับกองทัพนาซีที่กำลังเรืองอำนาจในสงครามโลกครั้งที่สองขณะนั้น เขาจึงตอบตกลงทันที เพราะจะได้มีเงินทุนในการทดลองวิจัยและพัฒนา หาคำตอบให้กับข้อคำถามทางฟิสิกส์ทฤษฎีที่เขาเองก็อยากรู้ แต่ยังไม่มีโอกาสลองทำดูจริงๆ โดยไม่ประวิงกริ่งเกรงเลยว่า ผลลัพธ์ที่ได้มา อาจจะมีอานุภาพในการทำลายล้างโลกทั้งใบได้ในพริบตา!

เนื้อหาอันเป็นหัวใจหลักๆ ของ Oppenheimer จึงหนีไม่พ้นความรู้สึกกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของออพเพนไฮเมอร์เอง เมื่อข้อพิสูจน์ทางทฤษฎีที่เขาเคยสงสัยมีอำนาจทำลายล้างแบบแผ่ขยายผ่านปฏิกิริยาลูกโซ่อันไม่อาจควบคุมได้ สร้างหายนะเกินระดับที่เขาเคยประเมินไว้ กลายเป็นความขุ่นมัววิตกลังเลคับข้องภายใน ว่าเขามีส่วนผิดมากน้อยแค่ไหนต่อความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของหมู่เพื่อนมนุษย์ในฐานะผู้คิดค้นอาวุธร้ายชนิดใหม่นี้  ก่อนที่หนังจะเข้าสู่ช่วงทรยศหักหลังกันทางการเมือง เมื่อปรากฏว่าแมนฮัตตันโปรเจ็กต์มีสายลับไส้ศึกคอยส่งข่าวให้ฝ่ายโซเวียต และออพเพนไฮเมอร์ก็เป็นฝ่ายโดนไต่สวนจากทางการว่าเขาเคยมีกรณีพัวพันให้การสนับสนุนฝ่ายคอมมิวนิสต์ใดๆ หรือไม่ สร้างสถานการณ์ที่ทำให้ตัวออพเพนไฮเมอร์ไม่อาจวางใจใคร ไม่เว้นแม้แต่หญิงคนรัก กระอักกระอ่วนอยู่ในพายุแห่งความไม่แน่นอน ไม่เข้าใครออกใคร ตอกย้ำคำถามว่าที่ผ่านมาเขาตัดสินใจถูกต้องแล้วหรือไม่ในการเข้าร่วมโครงการนี้

แต่สิ่งที่น่าสนใจเสียยิ่งกว่าภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของตัวละครหลักใน Oppenheimer คือ ถ้าจะว่ากันจริงๆ เนื้อหาเรื่องราวเกี่ยวกับวีรบุรุษคนบาป เฉลียวฉลาดในระดับสามารถมีอำนาจกุมชะตากรรมของโลกทั้งใบได้ แต่สุดท้ายความสำเร็จที่มาจากความสงสัยใคร่รู้ทางทฤษฎีวิทยาศาสตร์ ก็ทำให้เขาถูกอำนาจทางการเมืองเข้าย่ำยีจนกลายเป็นวีรบุรุษมือเปื้อนเลือดสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ ดูจะเป็นจุดที่ชวนให้อเมริกันชนในปัจจุบัน หันมาตั้งข้อสงสัยว่าสิ่งที่ออพเพนไฮเมอร์เคยกระทำนั้น ควรถือเป็นความสำเร็จระดับชาติอันควรภาคภูมิใจจริงหรือไม่ โดยเฉพาะในยุคสมัยแห่งการต่อต้านสงคราม ความพยายามของออพเพนไฮเมอร์ในแมนฮัตตันโปรเจ็กต์จึงอาจเป็นอีกหนึ่ง ‘ประวัติศาสตร์แห่งฝันร้าย’ ที่ทิ้งรอยแผลไว้ให้ชนอเมริกันรุ่นหลังตั้งคำถาม ไม่ต่างจากกรณีสงครามเวียดนาม ชื่อของเจ โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ จึงไม่ได้รับการจดจำ จนกระทั่งคริสโตเฟอร์ โนแลน หยิบเรื่องราวของเขามาทำเป็นหนังนี่แหละ จึงจะเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างจริงจังมากขึ้น สังเกตได้จากฉากสะเทือนขวัญของการนำระเบิดนิวเคลียร์ที่ออพเพนไฮเมอร์พัฒนาและทดลองใช้จนสำเร็จถูกนำไปทิ้งเพื่อทำลายข้าศึกช่วงปลายสงครามโลกครั้งสอง ณ เมือง ฮิโรชิมาและนางาซากิ ที่โนแลนดูจะประนีประนอม ไม่ยอมให้ผู้ชมได้เห็นภาพอันบาดตาบาดใจเหล่านั้นจริงๆ แม้ว่าจะมีฟุตเตจข่าวที่สามารถหยิบมาใช้ได้มากมาย หากทุกอย่างกลับได้รับการถ่ายทอดผ่านคำพูดบอกเล่าง่ายๆ ประกอบกับฉากฝันร้ายที่ปล่อยให้ชาวอเมริกันเป็นฝ่ายได้รับผลกระทบจากระเบิดนิวเคลียร์เสียเอง ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความบ้าคลั่งและความพยายามเหนี่ยวรั้งสงครามของฝ่ายสหรัฐอเมริกาเป็นสิ่งที่น่าสำนึกผิดและไม่ควรอภัย กลายเป็นสถานการณ์ชวนแสลงที่ไม่สามารถสำแดงภาพผ่านตัวหนังได้ หากจะยังรักษาน้ำใจชนอเมริกันในยุคสมัยปัจจุบันกันอยู่

อดีตหลอนที่ว่าจึงทำให้อยากรู้เหลือเกินว่า จะมีผู้กำกับอเมริกันแท้ๆ รายไหน กล้าลุกขึ้นมาทำหนังเล่าประวัติออพเพนไฮเมอร์ในมุมเดียวกับตัวหนัง Oppenheimer อย่างที่เป็นอยู่นี้ไหม เพราะจริง ๆ แล้วผู้กำกับก็มิใช่คนอเมริกันโดยกำเนิด หากเกิดและเติบโต ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เขาจึงเล่าเรื่องราวชีวิตของออพเพนไฮเมอร์ได้ในฐานะคนนอก ไม่ถูกหลอกหลอนด้วยประวัติศาสตร์ชาติตนเองอย่างผู้กำกับอเมริกันรายอื่นๆ  ข้างฝ่ายนักแสดงนำ คิลเลียน เมอร์ฟี (Cillian Murphy) ผู้รับบทเป็นออพเพนไฮเมอร์ แท้แล้วก็เป็นชาวไอริช หากต้องมาแสดงเป็นคนอเมริกัน ส่งผลให้บุคลิกและความคิดอ่านรวมถึงสำเนียงเสียงพูดของตัวละครออพเพนไฮเมอร์ ยังคงมีเค้ารอยของความสุขุมนิ่งเย็นอย่างชาวยุโรปอยู่สูง จนชวนให้สงสัยว่าทำไมโนแลนจึงไม่ให้นักแสดงอเมริกันมารับบทบาทนี้ให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย หรือตัวบทแบบนี้มันจะทิ่มแทงใจนักแสดงอเมริกันแท้มากไปจนไม่มีใครกล้ารับเล่น ผู้กำกับจึงใช้เกณฑ์หา ‘คนหน้าเหมือน’ มาแสดงแทนแบบไม่ค่อยเข้าท่าสักเท่าไหร่

ในขณะที่บทบาทศรีภรรยา แคเธอรีน ออพเพนไฮเมอร์ (Katherine Oppenheimer) ก็กลายเป็นของนักแสดงหญิง เอมิลี บลันต์ (Emily Blunt) ชาวลอนดอนจ๋าเช่นเดียวกันกับผู้กำกับ ที่ฟังสำเนียงแล้วก็ยังไม่ ‘อเมริกัน’ แบบสนิทใจ ชวนให้สงสัยอีกว่าไม่มีนักแสดงหญิงอเมริกันรายไหนอยากจะมารับเล่นในบทบาทสำคัญนี้เลยหรือ นักแสดงอังกฤษรายเดียวในหนังที่สำแดงพลังทางการแสดงจนกลายเป็นคนอเมริกันไปแล้วจริงๆ คือ แกรี โอลแมน (Gary Oldman) ในบทประธานาธิบดี แฮร์รี ทรูแมน (Harry Truman) ผู้ออกคำสั่งให้ปล่อยระเบิดนิวเคลียร์ลงทั้งที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ที่ไม่ว่าจะเป็นอาการหยิ่งผยองบ้าอำนาจ, การแสดงมารยาทแบบจอมปลอม, ลีลาการกล่อมไม่ให้ออพเพนไฮเมอร์รู้สึกผิด และสำเนียงการ speak English แบบแบน ๆ อย่างคนอเมริกัน มันช่างน่าเชื่อไปทุกอิริยาบทเสียจริงๆ!

ไม่เพียงแต่การยกทัพนักแสดงอังกฤษและไอริชมารับบทบาทเป็นคนอเมริกันเท่านั้น สไตล์ด้านการซ้อนภาพและความคึกคักฉักฉึกด้านจังหวะของเสียงและดนตรีประกอบของหนัง ยังเหมือนจะหยิบยืมมาจากหนังไตรภาคชุด The Tulse Luper Suitcases (2003-2004) ของผู้กำกับติสท์แตกชาวอังกฤษ ปีเตอร์ กรีนอเวย์ (Peter Greenaway) อีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อ The Tulse Luper Suitcases เป็นงานไตรภาคที่เล่าเรื่องราวของตัวละครสมมติ ทุลส์ ลูเปอร์ (Tulse Luper) ตั้งแต่เกิดเมื่อปี 1911 ตระเวนทั่วยุโรปไปจนถึงช่วงที่เขาหายตัวไปจากคุกในรัสเซียช่วง 1970s คู่ขนานไปกับวิวัฒนาการของการใช้แร่ยูเรเนียมในฐานะธาตุโลหะกัมมันตรังสีในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ โดยเนื้อหาของหนังทั้งสามเรื่องเล่าผ่านวัตถุที่อยู่ในกระเป๋าเดินทางทั้ง 92 ใบของลูเปอร์ โดยหมายเลข 92 คือเลขอะตอมของธาตุชนิดนี้นั่นเอง ซึ่งถ้าใครที่เคยได้ดู คงรู้สึกถึงความเชื่อมโยงเชิงสไตล์ระหว่าง Oppenheimer กับหนังไตรภาคชุดนี้ ที่มีทั้งการซ้อนภาพเพื่อสื่อความหมายหลายชั้นมิติ คลอประกอบกับเสียงดนตรีสำเนียงแปร่งหู หนักแน่นทั้งคู่จังหวะยกตบแบบกระดกเท้าตามได้โดยแทบไม่มีจังหวะขัดเลย

ในภาพรวมแล้ว Oppenheimer จึงเป็นหนังที่ถ่ายทอดภาพชีวิตการทำงานของออพเพนไฮเมอร์ผ่านมุมมองของผู้กำกับ ‘คนนอก’ ที่มีอิสระในการบอกเล่าเรื่องราวอันเป็นบาดแผลของชนอเมริกัน โดยให้ความสำคัญกับมุมมองเชิง ‘มนุษยศาสตร์’ ยิ่งกว่า ‘วิทยาศาสตร์’ ตั้งคำถามต่อการใช้ความรู้ความสามารถอันปราดเปรื่องโดยไร้กรอบแห่งจริยธรรมว่ามันสามารถจะ ‘ทำลาย’ มวลมนุษยชาติเพียงเพราะอาการขาดสติได้อย่างน่าหวั่นกลัวถึงเพียงไหน ความสำเร็จก้าวใหญ่ในทางวิทยาศาสตร์ จึงไม่จำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนเสมอไป หากมันสามารถย้อนกลับมาทำร้ายเราทุกคนได้ ภายใต้หลักการแห่งปฏิกิริยาลูกโซ่!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save