fbpx
อินโดนีเซียในสมรภูมิ COVID-19 กับ อรอนงค์ ทิพย์พิมล

อินโดนีเซียในสมรภูมิ COVID-19 กับ อรอนงค์ ทิพย์พิมล

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

 

 

ในช่วงที่ผ่านมา อินโดนีเซียกลายเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สูงเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เพราะเหตุใดอินโดนีเซียจึงมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมากขนาดนี้ โรคระบาดกระทบกับการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างไร เราเห็นอะไรน่าสนใจในการรับมือกับไวรัสครั้งนี้ และสถานการณ์ในอินโดนีเซียจะส่งผลต่ออาเซียนอย่างไร

101 สนทนากับ ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศอินโดนีเซีย

หมายเหตุ: บันทึกเทปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563

 

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศอินโดนีเซีย

 

ข้อมูลของวันที่ 18 มิถุนายน 2563[1] บอกเราว่า อินโดนีเซียมีผู้ติดเชื้อประมาณ 41,431 คน ซึ่งถือว่าเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน แซงหน้าสิงคโปร์ และเป็นอันดับที่ 30 ของโลก ส่วนผู้เสียชีวิตเองก็ค่อนข้างเยอะ คือประมาณ 2,276 คน เป็นอันดับ 1 ของอาเซียนเช่นกัน

ที่อินโดนีเซียมีการทำเว็บไซต์ให้คนมาติดตามดูได้ว่า มีคนติดเชื้อเท่าไร จากข้อมูลพบว่า เขามีผู้ติดเชื้อ 152 คน ผู้เสียชีวิต 8 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน ถ้าเทียบกับของไทย เรามีผู้เสียชีวิต 0.8 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน และอีกสถิติที่น่าสนใจคือ ในอินโดนีเซีย ผู้ชาย (53.2%) ติดเชื้อมากกว่าผู้หญิง (46.8%) ตัวเลขนี้อาจดูไม่ค่อยต่างกัน แต่ด้านอัตราเสียชีวิต ผู้ชายมีแนวโน้มเสียชีวิตมากกว่า คือ 60.8% ขณะที่ผู้หญิงเสียชีวิต 39.2% ตรงนี้เข้าใจว่าเป็นเพราะกิจกรรมการออกไปใช้ชีวิตข้างนอกบ้าน เช่น การไปทำละหมาดที่มัสยิด ผู้ชายจะออกไปละหมาดเยอะกว่า ถ้าขยับไปดูที่ช่วงอายุ จะพบว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี เสียชีวิตมากที่สุด คือสูงถึง 43.6%

ส่วนจังหวัดที่มีการติดเชื้อมากที่สุดคือ จาการ์ตา มีผู้ติดเชื้อประมาณ 9,349 คน เสียชีวิต 563 คน รองลงมาคือในพื้นที่เขตชวา ชวาตะวันตกและตะวันออก และสุลาเวสี (Sulawesi) ใต้ แต่ถ้าดูภาพรวม จะเห็นว่ามีผู้ติดเชื้อที่เกาะชวาเยอะ เพราะมีประชากรค่อนข้างหนาแน่น คือประมาณ 141 ล้านคน ซึ่งเกินครึ่งของประชากรทั้งประเทศ (270 ล้านคน) อัตราส่วนประชากรต่อพื้นที่ที่หนาแน่นจึงทำให้การติดเชื้อแพร่ไปได้ค่อนข้างเร็ว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาอย่างหนึ่งของอินโดนีเซียคือ เขาทดสอบคนติดเชื้อได้ค่อนข้างน้อยมาก จนถึงวันนี้ยังทดสอบได้แค่ประมาณ 560,000 คน หรือถ้าเทียบกับต่อประชากร 1 ล้านคน คือตรวจได้แค่ประมาณ 2,048 คน เพราะฉะนั้น ประชาชนจึงเชื่อว่า จำนวนที่ได้รับการเปิดเผยจากรัฐบาลน้อยกว่าความเป็นจริง หรือพูดง่ายๆ คือ คนอินโดนีเซียไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะเปิดเผยตัวเลขที่แท้จริง

 

โควิด-19 ในอินโดนีเซีย: วิกฤตสุขภาพและวิกฤตการจัดการ

 

อินโดนีเซียถือว่า เจอผู้ติดเชื้อรายแรก หรือออกมาประกาศว่าเจอผู้ติดเชื้อรายแรกค่อนข้างช้า คือเจอในวันที่ 2 มีนาคม ตอนนั้นประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงไทย เจอผู้ติดเชื้อแล้ว ผู้ติดเชื้อรายแรกๆ ของอินโดนีเซียเป็นแม่ลูกกัน อาศัยอยู่ที่เมือง Depok ซึ่งเป็นเมืองทางใต้ของจาการ์ตา และได้สัมผัสกับคนญี่ปุ่นมา

สาเหตุที่ทำให้รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างหนักคือ ก่อนหน้าที่จะมีการระบาดหรือมีผู้ติดเชื้อในอินโดนีเซีย รัฐบาลมีเวลาเตรียมตัวนาน แต่กลับไม่มีวิธีรับมือโรคที่ดีกว่านี้ อีกทั้งก่อนหน้าที่จะพบผู้ติดเชื้อ ผู้นำระดับสูงหรือคนที่มีอำนาจในกระทรวงสาธารณสุขก็ยังออกมาพูดทีเล่นทีจริงว่า เชื้อโควิด-19 ไม่เข้าประเทศเพราะเชื้อโรคกลัวประเทศอินโดนีเซีย หรือพูดว่า ประชาชนชาวอินโดนีเซียสวดมนต์ เชื้อโรคเลยเข้าไม่ได้ ทำให้คนรู้สึกว่าประมาทเกินไปแล้ว

ส่วนตัวมีเพื่อนชาวอินโดนีเซียที่เป็นอาจารย์ ตอนแรก เขาก็เชื่อมั่นคล้ายกับรัฐบาลว่า อินโดนีเซียไม่น่ามีการระบาด หรืออาจจะระบาดไม่หนัก แต่เมื่อดูแล้ว อินโดนีเซียเป็นประเทศใหญ่ มีทางเข้าออกประเทศเยอะไปหมด เรียกได้ว่าเป็นจุดหมายปลายทางหนึ่งของนักเดินทาง นักท่องเที่ยวเองก็เยอะ เพราะฉะนั้น เป็นไปได้ยากที่จะไม่มีการระบาดเลย

เมื่ออินโดนีเซียพบผู้ติดเชื้อ รัฐบาลก็ใช้นโยบายรับมือแบบที่ประชาชนไม่ค่อยพอใจเท่าไร มีความล่าช้ามาก กล่าวคือ ตรวจพบเชื้อวันที่ 2 มีนาคม แต่กว่าจะประกาศนโยบายการจัดการต่างๆ ก็ล่วงเข้าสู่ปลายเดือนมีนาคม จนวันที่ 13 เมษายนถึงได้ประกาศว่า โควิด-19 เป็นภัยพิบัติแห่งชาติ เพิ่งเริ่มว่า วันนี้จะเป็นวันที่เรารับมือกับโควิด-19 อย่างเป็นทางการ

ที่น่าสนใจคือ ถ้าเป็นประเทศอื่น โควิด-19 อาจจะเป็นวิกฤตสุขภาพ แต่ที่อินโดนีเซีย คล้ายว่าเป็นทั้งวิกฤตสุขภาพและวิกฤตการจัดการของรัฐบาลผสมกัน อย่างไรก็ดี มีคนออกมาปกป้องรัฐบาลเช่นกันว่า โควิด-19 เป็นวิกฤตที่หลายประเทศไม่เคยเจอมาก่อน การตั้งรับจึงเป็นการลองผิดลองถูกไป อีกทั้งแต่ละประเทศก็ใช้วิธีการต่างกัน ดังนั้น การทำงานของรัฐบาลอาจแตกต่างและมีความผิดพลาดได้บ้าง

แต่ปัญหาของอินโดนีเซียที่มีคนวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันคือ การแก้ปัญหามีเรื่องการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง และยังละเลยต่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์ พูดง่ายๆ คือ ผู้นำที่มีอำนาจในการตัดสินใจไม่เชื่อมั่นต่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เชื่อแต่ว่า เราจัดการได้ เราเอาอยู่ และยังรับมือแบบไม่จริงจัง ใช้นโยบาย wait and see คือ รอดูสถานการณ์ก่อน และสุดท้ายถึงมีการตั้งศูนย์มาคอยดูแลจัดการเรื่องโควิด-19 ตามด้วยการออกประกาศเป็นกฎหมายถึง 9 ฉบับ แถมแต่ละฉบับก็ไม่ค่อยมีสาระสำคัญที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า จะทำให้การจัดการโควิด-19 เป็นรูปธรรม นอกจากประกาศว่า เราจะใช้การเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ในช่วงกลางเดือนมีนาคม และช่วงปลายมีนาคม ประกาศว่า จะนำโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่เคยปิดไปแล้วมาสร้างใหม่ เพื่อจะรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่บริเวณเกาะ Batam ซึ่งอยู่ใกล้กับสิงคโปร์และหมู่เกาะเรียว 

สิ่งที่ต่างจากที่อื่นคือ รัฐบาลประกาศว่าจะไม่ใช้วิธีล็อกดาวน์ แต่จะจำกัดระยะห่างทางสังคมแทน นอกจากนั้นคือ ประกาศให้โควิด-19 เป็นภัยพิบัติแห่งชาติในวันที่ 13 เมษายน ประกาศให้ทำงานที่บ้าน ปิดโรงเรียน และประกาศให้รัฐบาลท้องถิ่นปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลกลางด้วย ส่วนประเด็นอื่นที่ท้าทายการจัดการวิกฤตของอินโดนีเซียคือข้อจำกัดทางด้านเศรษฐกิจ เพราะเขามีงบประมาณจำกัด ไม่เพียงพอที่จะเอามาใช้แก้ไขเยียวยา และระบบการให้บริการด้านสาธารณสุขก็ยังไม่เพียงพอ

 

รัฐบาลท้องถิ่นกับการรับมือโควิด-19

 

ในอินโดนีเซีย รัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารจัดการกิจการภายในของตนเยอะขึ้นมาก อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปฏิรูปทางการเมืองหลังยุคระเบียบใหม่ของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต ซึ่งอยู่ในตำแหน่งนานมาก และมีการรวมศูนย์อำนาจที่จาการ์ตา เมื่อซูฮาร์โตหมดอำนาจในปี 1998 ก็เกิดการปฏิรูปทุกด้าน หนึ่งในนั้นคือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น พูดง่ายๆ คือก่อนปี 1998 ผู้ว่าราชการจังหวัดจะถูกส่งไปจากจาการ์ตา แต่ตอนนี้ทุกจังหวัดเลือกผู้ว่าของตัวเองได้ มีรัฐบาลท้องถิ่นเป็นของตัวเอง ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจในการออกกฎหมายและนโยบายเป็นของตัวเอง 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ในสถานการณ์โควิด-19 ที่รัฐบาลกลางมีท่าทีลังเลและไม่กล้าประกาศล็อกดาวน์ รัฐบาลท้องถิ่นแต่ละที่จึงเริ่มดำเนินการเอง ริเริ่มนโยบายของตัวเอง ตรงนี้อาจจะมองได้ว่าเป็นเหมือนกับการแข่งขันทางการเมืองด้วยเช่นกัน หลังจากโควิด-19 ระบาดไปสักระยะ ได้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนว่า ชอบผู้นำคนไหน ผลพบว่า ผู้นำท้องถิ่นหลายคนที่ใช้นโยบายปิดจังหวัดของตนเองได้รับความนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นรัฐบาลบริเวณเกาะชวา เพราะเป็นบริเวณที่ประชากรเยอะ พอเริ่มมีคนเสียชีวิต เขาก็มีมาตรการที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น ปิดหมู่บ้าน

อีกปัจจัยหนึ่งคือ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ใหญ่มาก และยังมีหมู่เกาะมากที่สุดในโลก ถ้าเทียบง่ายๆ เราบินจากจาการ์ตามากรุงเทพฯ จะใช้เวลาน้อยกว่าบินจากจาการ์ตาไปยังพื้นอื่นๆ ในอินโดนีเซีย และเขาจะมีถึง 3 โซนเวลา ซึ่งเร็วกว่ากันไป 1 ชั่วโมงเรื่อยๆ เมื่อประเทศใหญ่ขนาดนี้ อินโดนีเซียจึงมีปัญหาในเรื่องการประสานงานจากรัฐบาลกลางไปยังรัฐบาลท้องถิ่น บางทีประสานไปก็ไม่มีประสิทธิภาพพอ ตรงนี้จึงทำให้แต่ละท้องถิ่นต้องออกนโยบายเป็นของตัวเองด้วย

 

ทำไมอินโดนีเซียถึงมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน?

 

สาเหตุที่ทำให้อินโดนีเซียมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากขนาดนี้มาจากหลายปัจจัย ประการแรกคือ ระบบสาธารณสุขยังไม่ค่อยดีเท่าไร บริการทางสาธารณสุขและระบบประกันสุขภาพก็ยังไม่ถึงระดับมาตรฐานสากล มีคนอีกไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงประกันสุขภาพ เช่น กลุ่มคนยากจน กลุ่มคนชายขอบ หรือกลุ่มคนที่ไม่มีบัตรประชาชน ยิ่งเจอโรคระบาดก็ไปโรงพยาบาลและเข้าถึงการรักษาไม่ได้

ประการที่สองคือรัฐบาล อย่างที่บอกไปแล้วว่า รัฐบาลออกมาตรการรับมือค่อนข้างล่าช้า และปฏิบัติได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าไร ทำให้ประชาชนสับสนและงงมากว่า ควรจะปฏิบัติตนอย่างไรดี เพราะนโยบายของรัฐบาลไม่ชัดเจนว่าจะให้อยู่บ้านหรือไม่ หรือจะล็อกดาวน์ไหม ตรงนี้ทำให้คนติดเชื้อเพิ่มขึ้น

ปัจจัยประการต่อมาคือเรื่องวัฒนธรรมและศาสนา โดยในเรื่องวัฒนธรรม คนอินโดนีเซียจะมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่ทำให้เขาต้องใช้มือสัมผัสหน้าตาหรือร่างกายค่อนข้างเยอะ เช่น การกิน ที่ส่วนใหญ่ยังกินข้าวด้วยมือ ทักทายด้วยการจับมือ บางทีก็จูบมือ กอดกัน หอมหรือจูบแก้ม ทำให้การแพร่เชื้อหรือรับเชื้อง่ายขึ้น รวมถึงการสูบบุหรี่ด้วย คนอินโดนีเซียสูบบุหรี่ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะผู้ชาย ซึ่งก็มีงานวิจัยออกมาว่า ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ทำให้การระบาดหรือโรคระบาดหนักมากขึ้น

ส่วนเรื่องศาสนา ในที่นี้หมายถึงทั้งคริสต์และอิสลาม คนอินโดนีเซียจะมีการไปประกอบกิจกรรมหรือพิธีกรรมทางศาสนาที่โบสถ์หรือมัสยิด ซึ่งก่อให้เกิดการรวมตัวของประชาชนค่อนข้างเยอะ จึงเกิดการติดเชื้อเร็วและง่าย พอถึงช่วงกลางเดือนมีนาคมหลังจากพบผู้ติดเชื้อแล้ว สภาองค์กรผู้นำศาสนาอิสลามก็ออกมาประกาศว่า ต่อจากนี้ไม่จำเป็นต้องไปละหมาดที่มัสยิดอีกแล้ว ให้ละหมาดที่บ้านได้ ก็ยังมีคนแย้งว่า ละหมาดวันศุกร์สำคัญมาก สำหรับคนมุสลิม พวกเขาจะมีการรวมตัวกันที่มัสยิดและละหมาดร่วมกันช่วงวันศุกร์บ่าย การที่สภาองค์กรผู้นำศาสนาอิสลามออกมาพูดแบบนี้ ทำให้คนงง และหลายคนก็ยังยืนยันว่า ต้องไปทำละหมาดที่มัสยิดให้ได้

ประการสุดท้ายคือความยากจน ที่ทำให้คนอินโดนีเซียต้องอยู่ในบ้านเรือนที่แออัด หรืออยู่กันเป็นชุมชนแออัด จะเว้นระยะห่างทางสังคมก็ค่อนข้างลำบาก รวมถึงระบบขนส่งมวลชนที่แน่นมาก ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ รถเมล์ หรือรถประจำทาง ทำให้การติดเชื้อไปได้ไกลและติดเชื้อกันได้ง่ายด้วย

 

มองระบบสาธารณสุขของอินโดนีเซีย

 

อย่างที่เกริ่นไปแล้วบ้างว่า ระบบสาธารณสุขของอินโดนีเซียยังไม่ดีเท่าที่ควร เพราะประชากรเยอะ และช่องว่างทางสังคมค่อนข้างกว้างมาก เพราะฉะนั้น คนที่จะเข้าถึงระบบสาธารณสุขค่อนข้างมีจำกัด งบประมาณด้านสาธารณสุขหรือระบบการพัฒนาโรงพยาบาลก็ไม่ค่อยเพียงพอ ถึงจะได้งบประมาณเพิ่มขึ้นเมื่อเกิดโควิด-19 แล้วก็ตาม ซึ่งก่อนเกิดโควิด-19 เขาก็ได้งบประมาณไม่เยอะมาก ประมาณ 5% ของงบทั้งหมดเท่านั้นเอง

ถ้าเรามาดูข้อมูลจริงๆ จะพบว่า อินโดนีเซียมีเตียงที่รองรับผู้ป่วยได้ค่อนข้างน้อย คือประมาณ 1.2 เตียงต่อประชากร 1 พันคน เพราะฉะนั้น ช่วงที่เริ่มมีคนติดเชื้อเป็นพันคน ก็เกิดความวิตกกังวลว่า ถ้าคนป่วยเยอะกว่านี้ จะมีปัญหาเตียงและบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ

อีกเรื่องที่เป็นปัญหาคือ จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่เสียชีวิต ถึงจะมีการประกาศออกมาว่าไม่ถึงสิบคน แต่คนก็เชื่อว่า จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่เสียชีวิตน่าจะมากกว่านั้น และเขายังประเมินกันด้วยว่า อินโดนีเซียต้องการเครื่องช่วยหายใจประมาณ 29,000 เครื่องในช่วงที่จะมีการระบาดสูงสุด ซึ่งเขาคาดการณ์กันว่าน่าจะเป็นเดือนมิถุนายน แต่ทั้งประเทศมีเครื่องช่วยหายใจอยู่แค่ประมาณ 9,000 เครื่อง รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ ก็ไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นชุดป้องกันหรือหน้ากากอนามัย 

สุดท้ายคือ ความสามารถในการตรวจโควิด-19 เรียกได้ว่าไม่เพียงพอ มีสถานที่ที่จะตรวจได้น้อยมาก ดังนั้น จึงถือได้ว่า ระบบสาธารณสุขของอินโดนีเซียไม่พร้อมที่จะรับมือโรคระบาดขนาดนี้ ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ทุกวันนี้ ครอบครัวของคนอินโดนีเซียถึง 27% ยังเข้าไม่ถึงน้ำดื่มสะอาด เพราะฉะนั้น พอเราบอกว่าต้องล้างมือให้สะอาด คน 27% นี้ก็ยังนึกไม่ออกว่าจะเอาน้ำที่ไหนมาล้างมือ เพราะน้ำสะอาดที่จะดื่มยังมีไม่เพียงพอเลย

 

โควิด-19 กระทบการเมือง-เศรษฐกิจอินโดนีเซีย

 

ในวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลกลางโจโก วิโดโด (โจโกวี) โดนโจมตีหนักมากในแง่ที่ว่า ไม่ค่อยมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมเท่าไร แต่เราก็อาจจะต้องให้ความเป็นธรรมกับเขานิดหนึ่ง เพราะถ้าไปไล่ดูจริงๆ จะพบว่า รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือค่อนข้างเยอะ แต่อาจเป็นเพราะทำล่าช้าเกินไป และยังขาดการประชาสัมพันธ์และการประสานงานกับรัฐบาลท้องถิ่น ทำให้คนไม่ค่อยรู้ว่า รัฐบาลมีนโยบายอะไรบ้าง

สิ่งที่รัฐบาลถูกโจมตีมากคือ ไม่มีการวางแผนจัดการที่ดี และการใช้ความรู้สึกแก้ปัญหามากกว่าจะใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มีรายงานจากหลายหน่วยงาน เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าจะมีการระบาดมาถึงอินโดนีเซีย แต่ผู้นำทางการเมืองหรือในกระทรวงต่างๆ ก็เพิกเฉย บางทีก็เกรี้ยวกราดเมื่อถูกถามเรื่องการรับมือโควิด-19 นี่เป็นเหตุให้ความนิยมในตัวประธานาธิบดีโจโกวีลดลงจากช่วงต้นปี 2020 แต่เขาก็อาจจะไม่สนใจเท่าไร เพราะโจโกวีดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 แล้ว ตามกฎหมายของอินโดนีเซีย ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้แค่ 2 สมัย คราวหน้าเขาลงเลือกตั้งไม่ได้อยู่แล้ว อีกทั้งการเมืองอินโดนีเซียก็ไม่ได้ผูกติดกับพรรคเท่าไร ขึ้นกับตัวบุคคลและเครือข่ายของผู้นำทางการเมืองมากกว่า ทำให้เขาไม่จำเป็นต้องห่วงตัวแทนที่จะมาจากพรรคของเขา

ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ อินโดนีเซียได้รับผลกระทบหนักมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน การท่องเที่ยว การขนส่ง โรงแรม หรือร้านอาหาร ทุกอย่างหยุดชะงักหมด แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ล็อกดาวน์ แต่ท้องที่ต่างๆ ก็ปิดด้วยตัวเอง หรือประเทศอื่นๆ ปิดตัวเองทำให้นักท่องเที่ยวหรือคนที่จะเดินทางมายังอินโดนีเซียลดน้อยลง

อีกธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักคือ รัฐวิสาหกิจ  เช่น พวกรถไฟ หรือการไฟฟ้า ซึ่งก่อนหน้าจะมีโควิด-19 ก็ประสบกับปัญหาขาดทุนอยู่แล้ว แต่เขาก็พยายามปรับตัวอยู่ เช่น สายการบินการูดา (Garuda) ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของอินโดนีเซีย จากที่เคยบินระหว่างประเทศ ก็หันกลับมาบินในประเทศแทน หรือใช้เครื่องบินส่งเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันไปให้ประชาชนตามต่างจังหวัด

ถ้ามองในภาพรวม มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะถดถอยอย่างมาก จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะโต 5% ซึ่งอินโดนีเซียโตเท่านี้มาตลอด ก็คาดการณ์กันว่าจะตกลงเหลือ 2.1% อย่างไรก็ดี ขณะที่บางธุรกิจถดถอยและได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ธุรกิจการสื่อสารกลับเติบโตขึ้น 0.53% และส่วนของนักท่องเที่ยว ที่แม้เราจะบอกว่านักท่องเที่ยวเข้ามาได้น้อยลง แต่ไม่น่าเชื่อว่าในไตรมาสแรก นักท่องเที่ยวยังเข้าไปได้อยู่ แต่ลดลงประมาณ 34.9%

นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า บริษัทหรือธุรกิจขนาดย่อยจะยื้อหรือทนได้แค่ 3 เดือน ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ออกมาพูดว่า ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางน่าเป็นห่วง ถึงในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ธุรกิจเหล่านี้จะผ่านมาได้และไม่เป็นอะไรเลย แต่โควิด-19 จะกระทบธุรกิจกลุ่มนี้หนักกว่าตอนนั้น เพราะคนออกจากบ้านไม่ได้ ไม่มีการทำกิจกรรมต่างๆ จึงถือว่าน่าเป็นห่วงมาก นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม รัฐบาลออกมาประกาศว่า จะกลับสู่ภาวะปกติ แต่เป็นปกติแบบ new normal เขาให้เหตุผลว่า ถ้ายังปิดอยู่แบบนี้และไปเปิดเอาช่วงเดือนสิงหาคม ธุรกิจหลายอย่างอาจจะทนไม่ไหว และเขาก็มีนโยบายช่วยเหลือนักธุรกิจด้วย เช่น ลดดอกเบี้ยเงินกู้

อีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักมากคือ กลุ่มคนเปราะบาง ทั้งในแง่ที่พวกเขาไม่มีกำลังพอจะซื้อเครื่องป้องกันต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัย หรือเจลล้างมือ และไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคมได้ เพราะพวกเขาต้องอยู่ในชุมชนแออัด หรือจะให้หยุดงานเลยก็ทำไม่ได้ บางคนตกงาน ก็ไม่มีเงินเก็บพอจะมาช่วยสนับสนุนการดำเนินชีวิตประจำวันได้

 

รัฐบาลเยียวยาประชาชนอย่างไร?

 

นโยบายที่รัฐบาลใช้เพื่อการเยียวยาคือ เพิ่มงบประมาณในโปรแกรมที่ก่อนหน้าเคยเป็นโปรแกรมของรัฐบาลและกลุ่มกระทรวงทางสังคมต่างๆอยู่แล้ว เรียกว่า ‘โปรแกรมครอบครัวความหวัง’ (Program Keluarga Harapan) ซึ่งเป็นโปรแกรมช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย โดยช่วยเหลือทางการเงินเป็นรายครอบครัว เช่น เคยมอบเงิน 2.4 ล้านรูเปียห์ต่อครอบครัว ก็เพิ่มเป็น 3.4 ล้านรูเปียห์ต่อครอบครัว 

อีกนโยบายหนึ่งคือ บัตรรับเครื่องบริโภค ในอินโดนีเซียจะมีของจำเป็นต่อการบริโภค 9 อย่าง เช่น ข้าวสาร น้ำมัน ไว้บริโภคในชีวิตประจำวัน เรานำบัตรนี้ไปแลกของจากรัฐบาลได้ และยังมีบัตรสำหรับคนทำงาน กล่าวคือ คนที่เคยมีอาชีพ แต่ช่วงนี้ตกงาน ก็สามารถนำบัตรนี้ไปขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลได้ด้วย อย่างไรก็ดี ก็ยังมีคนที่เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือเหล่านี้ เช่น ไม่มีบัตรประชาชน หรือไม่รู้ว่าจะต้องไปขอรับความช่วยเหลืออย่างไรด้วย

นอกจากนโยบายที่ว่ามา รัฐบาลยังช่วยเรื่องจ่ายค่าไฟ ชะลอการจ่ายหนี้ และเพิ่มงบให้ท้องถิ่นรับมือโควิด-19 แต่คนประเมินว่า นโยบายพวกนี้ยังไม่เพียงพอ และการให้ข้อมูลยังเป็นปัญหามาก เพราะคนไม่รู้เลยว่ามีนโยบายแบบนี้ คนที่เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือก็เยอะ จนพอโดนโจมตีมากๆ เข้า รัฐบาลจึงเพิ่มนโยบายเข้าไปอีกคือ ให้เงินเยียวยาเดือนละ 6 แสนรูเปียห์ (ประมาณ 1,300 บาท) ให้ 3 เดือน ตั้งแต่เมษายนถึงมิถุนายน กับประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในเขตจาการ์ตาและปริมณฑล และต้องไม่ใช่คนที่อยู่ใน 3 โปรแกรมที่พูดไปตอนแรก

อย่างไรก็ตาม มีเสียงสะท้อนเยอะว่า คนเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือนี้สักเท่าไร และเงื่อนไขสำหรับการรับเงินก็ยุ่งยากมาก เช่น ต้องลงทะเบียนในระดับหมู่บ้าน ต้องมีการยืนยันว่าตกงานจริงเพราะโควิด-19 และไม่ได้รับความช่วยเหลืออื่นๆ มาก่อนหน้านี้ แล้วจะเลือกรับเป็นเงินสดหรือโอนเข้าบัญชีก็ได้ 

กลุ่มชาติพันธุ์จีน กับความ ‘เป็นอื่น’ ในอินโดนีเซีย

 

ถ้าจะพูดถึงเรื่องอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ชาวจีนในอินโดนีเซีย ต้องเท้าความก่อนว่า อคติต่อกลุ่มคนจีนมีมายาวนานมากๆ พวกเขาเป็นกลุ่มที่ถูกกระทำมาอย่างยาวนานแล้ว เพราะมักจะถูกมองว่าเป็นกลุ่ม ‘คนอื่น’ เป็นคนที่เข้ามาอยู่ในดินแดนนี้ และเข้ามามีความเป็นอยู่ที่ดี มีฐานะทางเศรษฐกิจดี และมาแย่งงานในส่วนที่ควรจะเป็นของคนท้องถิ่น 

ถ้าจะพูดถึงช่วงอคติต่อชาวจีนที่เกิดขึ้นยาวนานที่สุด คือในช่วงยุคต้นระเบียบใหม่ที่ซูฮาร์โตขึ้นมามีอำนาจ และมีการกวาดล้างขบวนการหรือพรรคคอมมิวนิสต์ของอินโดนีเซีย ทำให้มีคนเสียชีวิตประมาณ 5 แสนคนเป็นอย่างน้อย และต้องบอกก่อนว่า แม้ตอนนั้นจะมีขบวนการคอมมิวนิสต์หลายกลุ่ม แต่ถ้าพูดถึงคอมมิวนิสต์ ก็จะถูกผูกหรือเชื่อมโยงกับความเป็นจีนทันที 

หลังจากที่ขบวนการคอมมิวนิสต์ถูกทำลายไปแล้ว ความเป็นจีนก็กลายเป็นความเป็นอื่น คนจีนถูกห้ามหลายอย่าง เช่น ห้ามเรียนภาษาจีน ห้ามแสดงอัตลักษณ์ความเป็นจีน ต้องเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนาม รวมถึงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่ขงจื๊อ แต่นโยบายของซูฮาร์โตก็มีความสองมาตรฐาน คือในขณะที่กีดกันหรือห้ามคนจีนไม่ให้แสดงอัตลักษณ์ของตนออกมา แต่กลุ่มนักธุรกิจเพื่อนพ้องชาวจีนของซูฮาร์โตกลับได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล เรียกได้ว่าประกอบธุรกิจจนร่ำรวยขึ้นมากๆ ตรงนี้ก็ยิ่งทำให้คนเกลียดชังคนจีนยิ่งขึ้นไปอีก

พอเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งขึ้น เศรษฐกิจและธุรกิจของคนอินโดนีเซียได้รับผลกระทบหนักมาก เรียกได้ว่าหนักยิ่งกว่าโควิด-19 ในตอนนี้ ความเกลียดชังคนจีนก็ถูกปลุกให้กลับขึ้นมาอีกครั้ง คนจีนกลายเป็นแพะรับบาปของวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความเกลียดชังและลุกลามมาเป็นการก่อจลาจลต่อต้านคนจีน มีการปล้นสะดมบ้านและร้านค้าของจีน ทำร้ายหรือข่มข่นผู้หญิงจีน

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คนจีนในอินโดนีเซียก็อยู่กันแบบไม่ค่อยปลอดภัย เพราะเขารู้สึกว่า อาจเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เขากลายเป็นเป้าหมายของการโจมตีได้ทุกเมื่อ ซึ่งก่อนหน้าที่โควิด-19 จะระบาด ก็มีความพยายามจะปลุกกระแสต่อต้านคนจีนขึ้นมาอีก เป็นช่วงที่ต่อต้านอดีตผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาชื่ออาฮก ในช่วงปี 2016-2017 อาฮกเป็นชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน และเป็นนักการเมืองที่มีบทบาทโดดเด่นมาก แต่พอเขาจะลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง ก็โดนโจมตีจากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มอิสลามที่ค่อนข้างอนุรักษนิยม ไม่ต้องการให้เขาดำรงตำแหน่งอีก จึงกล่าวหาว่าอาฮกดูหมิ่นศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นข้อหาที่ค่อนข้างรุนแรง สุดท้าย เมื่ออาฮกโดนข้อหานี้ก็กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต และโดนตัดสินจำคุก 2 ปี แต่กระแสต่อต้านคนจีนก็ปลุกไม่ขึ้นมากกว่านี้ คือไม่ได้ลุกลามจนไปทำร้ายคนจีนหรือชุมชนจีน

พอมาถึงช่วงโควิด-19 ก็มีคนออกมาเคลื่อนไหวบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในโลกโซเชียลหรือในทวิตเตอร์ มีคนบอกว่า โควิด-19 เป็นไวรัสจากประเทศจีน ใช้คำว่า #viruschina แต่ปรากฎการณ์ที่น่าสนใจคือ กระแสสังคมไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด มีคนออกไปแก้ต่างด้วยว่า ไวรัสเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด เป็นโรคที่รักษาหายได้ กระแสจึงยังไม่ได้ลุกลามจนถึงขั้นที่น่าจะวิตกกังวลมากเกินไป แต่คนจีนในอินโดนีเซียก็อยู่กันแบบค่อนข้างระแวดระวัง เพราะเขากลัวอยู่เหมือนกันว่า มันจะลุกลามไปกว่านี้ไหม

 

‘ร่วมแรงร่วมใจ-ปรึกษาหารือ’ ตัวช่วยผ่านวิกฤตโรคระบาดจากภาคประชาชน

 

ในฝั่งประชาชน เราจะเห็นว่า new normal ของคนอินโดนีเซียคล้ายกับของไทย คือจำกัดการเข้าถึงสถานที่ต่างๆ เช่น ให้เข้าห้างได้ทีละ 50-100 คน เวลาทานอาหาร บางร้านจะมีแผ่นพลาสติกมากั้นไว้ และต้องสแกนเข้า หรือให้สวมหน้ากากอนามัย แต่ก็ยังปฏิบัติได้ยาก เพราะคนไม่ค่อยเชื่อฟังเท่าไร

ที่น่าเป็นห่วงคือ เรื่องศาสนา ซึ่งยังไม่ค่อยมีมาตรการอะไรออกมาเท่าไร และยังไม่ชัดเจนว่า จะมีมาตรการอย่างไร นอกจากให้ละหมาดที่บ้าน ที่คนก็ไม่ค่อยเชื่อฟังด้วย

สิ่งที่น่าสนใจมากคือ ความร่วมมือร่วมใจจากภาคประชาสังคมของอินโดนีเซีย พอพวกเขาเห็นว่า หวังพึ่งรัฐบาลไม่ได้ เพราะรัฐบาลมีนโยบายไม่ชัดเจน ภาคประชาสังคมจึงพึ่งพากันเอง โดยเขามีมาตรการหรือนโยบายที่ทำกันเองในจังหวัดหรือในชุมชนของเขา เช่น การริเริ่มของคนในชุมชนให้มีอาสาสมัครมาแต่งตัวเป็นผีให้คนกลัว ไม่กล้าออกจากบ้าน ผีที่เขาเลือกใช้คือผีที่ถูกห่อด้วยผ้าดิบสีขาว คล้ายกับศพชาวมุสลิมเวลาจะเอาไปฝัง ซึ่งเป็นผีที่คนอินโดนีเซียกลัวมาก เพราะเขาเชื่อกันว่าเฮี้ยนมาก ยิ่งลุกขึ้นมานั่งได้ถือว่าน่ากลัวมาก ตรงนี้ก็สะท้อนถึงความเชื่อเรื่องผีที่มีมาก่อนทุกศาสนาในภูมิภาคนี้ และความน่าสนใจคือ เมื่อศาสนาเข้ามา ความเชื่ออื่นๆ หรือความเชื่อดั้งเดิมแบบนี้ก็ไม่ได้หายไป แต่ฝังแน่นในความเชื่อของคนอินโดนีเซีย อย่างไรก็ดี เรื่องนี้อาจจะทำให้คนมุสลิมในพื้นที่อื่นไม่ค่อยสบายใจ เขาอาจจะมองว่า เป็นชาวมุสลิมต้องไม่เชื่อเรื่องผี

การรับมือของประชาชนอินโดนีเซียเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากว่า ทำไมพวกเขาทำอะไรขึ้นมาได้ขนาดนี้ ตรงนี้มองได้ 2 แง่ แง่แรกคือประชาชนค่อนข้างเข้มแข็ง ร่วมมือร่วมใจกันเอง แต่ในทางกลับกันก็สะท้อนว่า ประชาชนไม่เชื่อมั่นและไม่คิดว่าจะพึ่งพารัฐบาลได้ ทั้งที่ควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลมาช่วยเหลือประชาชน ส่วนคนที่เป็นเป้าหมายของความช่วยเหลือคือ กลุ่มเปราะบาง คนยากจน คนที่ทำงานใน informal sector หรือเข้าถึงระบบสาธารณสุขไม่ได้ เช่น กลุ่มคนที่ไม่มีบัตรประชาชน หรือกลุ่ม LGBT ก็จะได้รับความช่วยเหลือเป็นอันดับแรกๆ ความช่วยเหลือระดับแรกคือการบริจาค เป็นเงินหรือถุงยังชีพที่จะบรรจุข้าวของที่จำเป็น อีกระดับคือการสนับสนุนให้เกิดอาชีพ เช่น คนที่เคยเย็บผ้าแล้วตกงาน ก็ไปช่วยให้เขาผลิตหน้ากากอนามัย จะได้มีอาชีพ

สิ่งเหล่านี้สะท้อนในรากฐานวัฒนธรรมของคนอินโดนีเซียด้วย คือเขาจะมีวัฒนธรรมชื่อ ‘gotong royong’ แปลว่า ร่วมแรงร่วมใจ ซึ่งจริงๆ เป็นวัฒนธรรมของชวามาก่อน แต่ตอนนี้ถูกใช้เป็นวัฒนธรรมแห่งชาติเลย คำอธิบายง่ายๆ คือ การเวียนไปช่วยเหลือกัน อีกคำคือวัฒนธรรมแบบ ‘musyawarah’ เป็นคำที่สำคัญมาก แปลว่า การปรึกษาหารือกัน จริงๆ นี่เป็นบรรทัดฐานหรือนโยบายที่อาเซียนใช้ด้วย ชาวบ้านในอินโดนีเซียจะยึดมั่นกับสองหลักการนี้ สิ่งที่ออกไปได้ผ่านการปรึกษาหารือกันแล้ว และตั้งอยู่บนฐานว่า เราต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 

นอกจากนี้ ในหลายชุมชนยังมีการตั้งคลินิกออนไลน์ขึ้นมาเพื่อรายงานให้ประชาชนทราบว่า ตอนนี้เกิดอะไรขึ้นแล้ว มีคนติดเชื้อกี่คน มีสถานที่กักตัวตรงไหนบ้าง รวมถึงเป็นช่องทางให้ประชาชนเข้ามารายงาน เช่น พบผู้ติดเชื้อตรงไหน ซึ่งถือว่าทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ดีขึ้น และทำได้ดีกว่าที่รัฐบาลทำให้ประชาชนเสียอีก หรืออีกกรณีคือ มีการตั้งกลุ่มอาสาสมัครในหลายๆ ที่ เพื่อทำงานหลายอย่าง ทั้งกระจายข่าวให้ประชาชน ให้ความรู้และกำลังใจ พาประชาชนไปตรวจโควิด-19 ถ้าอยากไป รวมถึงดูแลคนที่ถูกกักตัว ช่วยกระจายข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น และไปเป็นอาสาสมัครทางการแพทย์ ตรงนี้ถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ และมีการจัดการวางแผนที่ดีกว่ารัฐบาลเสียด้วยซ้ำในบางด้าน จนมีคนบอกว่า ทำไมไม่เอาคนกลุ่มนี้ไปวางแผนให้รัฐบาลเสียเลย เพราะพวกเขามีการจัดการที่น่าจะเป็นระบบมากกว่าที่รัฐบาลกลางทำเสียอีก

 

อินโดนีเซียกับอาเซียน

 

ในวิกฤตโควิด-19 นี้ ต้องบอกว่าประเทศหลักๆ ในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ หรือไทย ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก และเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อค่อนข้างเยอะ ตรงนี้อาจทำให้อาเซียนทำอะไรไม่คล่องไปอีกนาน เพราะประเทศหลักก็เจอวิกฤตในประเทศตัวเอง และต้องช่วยเหลือตัวเองให้ข้ามผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปก่อน ตรงนี้ก็น่าจะกระทบการทำงานร่วมกันหรือการเติบโตของอาเซียนอย่างแน่นอน

ถ้ามองต่อไปในอนาคต สมมติว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนเริ่มเปิดให้มีการเดินทางระหว่างกันแล้ว อินโดนีเซียน่าจะยังให้เข้าออกไม่ได้ เพราะผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูง ระบบการทดสอบผู้ติดเชื้อก็ค่อนข้างไม่มีประสิทธิภาพ คนไม่เชื่อตัวเลขที่ประกาศออกมา และคิดว่าน่าจะมีผู้ติดเชื้อมากกว่านี้ เพราะฉะนั้น ถ้าอาเซียนจะเปิดเมื่อไร อินโดนีเซียน่าจะยังไม่พร้อม หรืออาจจะต้องมีวิธีการคัดกรองและกักตัวที่มีประสิทธิภาพกว่านี้

 

อินโดนีเซียในยุคหลังโควิด-19

 

จากวิกฤตครั้งนี้ อินโดนีเซียคงจะได้รับบทเรียนเรื่องการจัดการ การวางแผน รวมถึงการพัฒนาประชาธิปไตยที่เขามีความภาคภูมิใจไปสู่มิติอื่นๆ กล่าวคือ หลังจากผ่านพ้นวิกฤตยุคระเบียบใหม่ของซูฮาร์โตมาแล้ว อินโดนีเซียมีการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งได้รับการยกย่องมากว่า มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน แต่ก็ดูเหมือนว่า ประชาธิปไตยยังไม่เกิดในมิติอื่นๆ เช่น เรื่องสุขภาพ หรือการดูแลกลุ่มคนชายขอบ ซึ่งในอนาคต อินโดนีเซียควรจะทำให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยในด้านอื่นๆ นี้ด้วย เพราะแม้โควิด-19 จะหมดไป แต่ภัยพิบัติอื่นๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้อีก และถ้าอินโดนีเซียไม่ยอมปรับตัว วิกฤตแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นอีกแน่นอน

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ระบบการศึกษาของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา ช่วงที่เกิดโควิด-19 แสดงให้เห็นว่า สังคมการศึกษาของอินโดนีเซียเปลี่ยนไปเร็วมาก ก่อนหน้านี้เขาพูดกันว่า อินโดนีเซียจะเข้าสู่สังคมออนไลน์ 4.0 คล้ายกับของไทย และตอนที่รัฐบาลบอกให้ทำงานหรือเรียนจากที่บ้าน ตอนแรกคนก็คิดว่าไม่พร้อม ทำไม่ได้ ผลปรากฏว่า พอต้องเรียนออนไลน์จริงๆ ก็ได้รับผลดีมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ นี่เป็นโอกาสหนึ่งที่รู้สึกเหมือนกันว่า สิ่งที่เราเคยคิดว่าอาจจะทำได้ช้าหรือทำไม่ได้ พอมีโควิด-19 เข้ามา ก็เหมือนมีตัวเร่งปฏิกิริยาให้สามารถพัฒนาการศึกษาได้มากขึ้นด้วย แม้จะมีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า คนอินโดนีเซียยังเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้น้อย แต่จริงๆ แล้ว ประชากรอินโดนีเซียครึ่งหนึ่ง คือประมาณ 130 ล้านคน สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ หลายคนเลยมองว่า ถ้าระบบการเรียนในระดับอุดมศึกษาไปอยู่ในออนไลน์จะช่วยลดช่องว่างทางการศึกษาได้ ไม่ว่าใครก็เรียนได้ ไม่ต้องมานั่งกระจุกตัวอยู่แค่ในมหาวิทยาลัยอีกแล้ว ส่วนตัวคิดว่านี่เป็นสิ่งที่อินโดนีเซียน่าจะได้รับบทเรียนและนำไปปรับใช้ หลังจากหมดยุคโควิด-19 แล้ว

 

เรียนรู้จากวิกฤตในอินโดนีเซีย

 

ถ้าถามว่าอินโดนีเซียมีแบบอย่างอะไรที่ดีไหม อาจจะไม่ค่อยมี โดยเฉพาะการจัดการของรัฐบาลที่เราอาจจะดูว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ควรทำตามมากกว่า คือทั้งไม่พร้อมและไม่มีการเตรียมการอย่างดี เราอาจเรียนรู้ได้ว่า แบบนี้ไม่ควรทำ 

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ในประเทศอินโดนีเซียเคยเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจในยุคซูฮาร์โตมาแล้ว และเมื่อซูฮาร์โตจัดการไม่ดี วิกฤตดังกล่าวเลยกลายเป็นวิกฤตศรัทธา สถานการณ์โควิด-19 ในตอนนี้ก็เริ่มใกล้เคียงกับตอนนั้น คือประชาชนไม่เชื่อมั่นในรัฐบาล แต่ยังไม่ถึงขั้นที่เกิดในยุคซูฮาร์โต ตอนนั้นคนโกรธแค้นมากจนกลายเป็นการประท้วงลุกลามครั้งใหญ่ ซึ่งถ้ารัฐบาลจัดการหรือรับมือได้แย่กว่านี้มากๆ ก็อาจจะนำไปสู่วิกฤตศรัทธา และกลายเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่จะก่อให้เกิดผลเสียได้มากกว่านี้

สุดท้าย มีคนพูดกันเยอะ รวมถึงในประเทศอินโดนีเซียเองด้วย ว่าประเทศที่มีการรวมศูนย์ทางอำนาจน่าจะรับมือกับวิกฤตโรคระบาดแบบนี้ได้ดีกว่าไหม แต่ส่วนตัวไม่สนับสนุนและคิดว่า เราอย่าใช้โควิด-19 มาเป็นเหตุผลที่จะทำให้สังคมอินโดนีเซีย ซึ่งพัฒนาประชาธิปไตยมาได้ถึงขนาดนี้ ต้องหันกลับไปหาระบอบอำนาจนิยมเหมือนในอดีตอีก เพราะการที่รัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่นประสานงานกันไม่ดีเป็นปัญหามาจากการจัดการของรัฐบาล ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากความด่างพร้อยของประชาธิปไตยแต่อย่างใด


[1] ข้อมูล ณ วันที่ 1 กรกฎาคม ประเทศอินโดนีเซียมีผู้ติดเชื้อจำนวน 57,770 คน เสียชีวิต 2,934 คน (ที่มา) เป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน และอันดับที่ 28 ของโลก

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save