fbpx

[ความน่าจะอ่าน] ปรากฏการณ์ “ตาสว่าง” กับ ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี’

ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวถึงความสัมพันธ์ของอาการ ‘ตาสว่าง’ กับการ ‘อ่าน’ ประวัติศาสตร์ไว้ได้อย่างน่าสนใจในคำนำเสนอของหนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ว่า เมื่อคนตาสว่างกับปัจจุบันแล้ว จึงย้อนกลับไปสอบสวนอดีต ความข้อนี้เองทำให้การศึกษาบทบาททางการเมืองของพระมหากษัตริย์และพวกนิยมเจ้าตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีข้อเสนอใหม่ๆ ปรากฏขึ้นมาในวงวิชาการ

กล่าวได้ว่านับแต่วางแผงเมื่อสิงหาคม 2563 ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ของ ณัฐพล ใจจริง เป็นหนังสือแห่งปีที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นการขยายพรมแดนแห่งความรู้ในเรื่องการเมืองไทยทศวรรษ 2490 ได้อย่างลุ่มลึกและน่าตื่นตาตื่นใจ


มองอดีตด้วยตาคู่ใหม่


การอ่านหนังสือเล่มนี้ช่วยให้เราเห็นอดีตในอีกมุมหนึ่ง หรือจะเรียกว่ามองด้วยตาคู่ใหม่ก็ได้ เพราะเป็นการเสนอมุมมองใหม่ๆ เรื่องขั้วอำนาจในการเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2491-2500 ดังชื่อหนังสือได้เอ่ยถึง 3 กลุ่มหลัก คือ ขุนศึก (ทหาร ตำรวจ) ศักดินา (เจ้า พวกนิยมเจ้า) และพญาอินทรี (สหรัฐอเมริกา)

ในช่วง 10 ปีที่หนังสือเล่มนี้มุ่งพิจารณานั้น ได้แสดงให้ผู้อ่านเห็นว่า ‘มิตร’ และ ‘ศัตรู’ ในทางการเมือง มีพลวัตที่สูงมาก ประเดี๋ยวมิตรก็แตกกัน ประเดี๋ยวศัตรูกลับมาผูกมิตรกัน ขึ้นอยู่กับประโยชน์ในทางการเมืองของแต่ละฝ่ายในแต่ละช่วงเวลา (อนึ่ง พึงกล่าวด้วยว่า นามานุกรมท้ายเล่มกว่า 20 หน้านั้น ช่วยแนะนำให้ผู้อ่านรู้จัก ทำความเข้าใจกับชื่อบุคคลจำนวนมากที่พบเห็นในเล่มนี้ได้เป็นอย่างดี)

เพียงเท่านี้ ก็นับว่าทำให้เราเห็นความเป็นอนิจจังของอำนาจได้อย่างน่าสนใจแล้ว การเมืองที่แยกเป็นขาวเป็นดำนั้นยากจะพบเห็นได้ในความเป็นจริง ดังที่ในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของกลุ่มนายปรีดี พนมยงค์ กับกลุ่มจอมพล ป. พิบูลสงคราม ว่าหลังจากปรีดีต้องลี้ภัยเพราะการรัฐประหาร 2490 นั้น มีความพยายามคืนดีกันอย่างต่อเนื่อง บางช่วงตกลงกันไม่ได้ต้องต่อสู้กันตรงๆ บางช่วงก็ดูใกล้ที่จะคืนดีกันได้ เป็นต้น

ในทำนองเดียวกัน กลุ่มนิยมเจ้าที่เข้ากับกลุ่มปรีดีได้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็พร้อมจะถีบหัวส่งปรีดีไปจับมือกับกลุ่มทหารเมื่อเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ทางการเมืองมากกว่า  มิพักต้องเอ่ยถึงบทบาททางการเมืองของสหรัฐอเมริกาที่ไม่ไยดีปรีดีอีกเมื่อเห็นว่าการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของเขาขัดกับผลประโยชน์ที่สหรัฐอเมริกาต้องการ เช่น กรณีสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนี้เป็นต้น


ราชสมบัติ


เรื่องในรั้วในวัง หนังสือเล่มนี้ก็นำเสนอเรื่องใหม่ๆ หลายอย่าง โดยเฉพาะความมั่นคงของราชบัลลังก์จากการที่เจ้านายหรือกลุ่มนิยมเจ้าพยายามเคลื่อนไหวให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้อยู่ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ เช่น การเคลื่อนไหวเพื่อให้ราชสมบัติย้ายจากสายของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มาทางสายของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในช่วงรัชกาลที่ 8 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรืออีกนัยหนึ่งคือ “การช่วงชิงความเป็นผู้นำกลุ่ม (รอยัลลิสต์) ระหว่างสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ผู้สนับสนุนราชสกุลจักรพงษ์ กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้สนับสนุนราชสกุลมหิดล” (หน้า 31)

ต่อมา หลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เพียง 1 เดือน และหลังการรัฐประหาร 2490 ม.ร.ว.เสนีย์-คึกฤทธิ์ ปราโมช และควง อภัยวงศ์ มีแผนสนับสนุนพระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร จากสายสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ให้ขึ้นครองราชย์แทน และต้องการฟื้นฟูอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบเดิมให้กลับมาอีกครั้ง (หน้า 44-45, 70-71) เป็นต้น


กรณีสวรรคต ร.8


ธงชัย วินิจจะกูล ตั้งข้อสังเกตไว้ในคำนำเสนอได้อย่างชวนอ่านว่า “การกล่าวหาปรีดี พนมยงค์ ว่ามีส่วนในกรณีสวรรคตด้วยการให้คนตะโกนในโรงหนังนั้น เป็นเพียงปลายยอดภูเขาน้ำแข็งของกระบวนการทำลายปรีดีอย่างเป็นระบบกว้างขวางจริงจังกว่านั้นมาก” (หน้า 24)

ตลอดช่วงเวลา 10 ปีในหนังสือเล่มนี้ กล่าวถึงการใช้กรณีสวรรคตเป็นเครื่องมือทางการเมืองอยู่เป็นระยะ จนถึงในสถานการณ์ช่วงเดือนสุดท้ายของรัฐบาลจอมพล ป. (ก่อนถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500) นั้น  London Times วิเคราะห์ว่า “วิกฤตการณ์การเมืองของไทยเกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลจอมพล ป. เนื่องจากจอมพล ป. สนับสนุนให้ปรีดีกลับจากจีนมาไทย เพื่อรื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นใหม่” (หน้า 252)

โดยก่อนหน้านั้นไม่นาน (24 มิถุนายน 2500) จอมพล ป. ฝากข้อความผ่านปาลไปยังบิดาของเขาว่า “บอกคุณพ่อของหลานด้วยนะว่า ลุงอยากให้กลับมาช่วยลุงทำงานให้ชาติ ลุงคนเดียวสู้ศักดินาไม่ไหวแล้ว” (หน้า 234)


บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์


ในการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ สหรัฐอเมริกาได้เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในประเทศไทย โดยเฉพาะการใช้สงครามจิตวิทยาผ่านการเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลักชัย จนทำให้ “สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เพียงเริ่มต้นท้าทายอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. เท่านั้น กลุ่มรอยัลลิสต์เองยังมีแผนการสร้างกระแสความนิยมในองค์พระมหากษัตริย์ให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนเพื่อท้าทายอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. ในอีกทางหนึ่งด้วย” (หน้า 163)

ปลายทศวรรษ 2490 จึงเริ่มเห็นภาพที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชเสด็จเยี่ยมราษฎรในชนบท ถึงขนาดที่ในเดือนมีนาคม 2499 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ได้เข้าเฝ้าและ “กราบบังคมทูลให้พระองค์ทรงตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทของพระมหากษัตริย์ในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ว่า พระองค์จะต้องทรงมีความแข็งแกร่ง กระฉับกระเฉง และมีกิจกรรมที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณของการต่อต้านคอมมิวนิสต์ต่อไป” (หน้า 167)


ความน่าจะอ่าน


กล่าวได้ว่า เป็นเรื่องบังเอิญอยู่มากที่หนังสือเล่มนี้ออกสู่บรรณพิภพในห้วงเวลาที่มีกระแสเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ กลุ่มคนที่ตาสว่างกลับมาสอบสวนอดีตที่ผ่านมาแล้วเห็นมุมมองใหม่ๆ ย่อมตื่นตาตื่นใจไปกับการนำเสนอข้อมูลและการวิเคราะห์ของณัฐพล ใจจริง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้    

ความสนุกของการศึกษาประวัติศาสตร์อยู่ตรงนี้เอง เรื่องที่ดูจะเป็นอดีตไปแล้ว จบไปแล้ว ยังสามารถให้ข้อคิด ให้บทเรียนกับเราในปัจจุบันได้  เมื่ออ่าน ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี แล้ว ก็คงให้ประโยชน์สำหรับปัจจุบันและอนาคตได้ไม่มากก็น้อย ทั้งสำหรับผู้ที่มีบทบาทในทางการเมือง และสำหรับราษฎรผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save