fbpx

ย้อนอ่าน ‘นิธิ’ มุมมองเรื่องการปกครองท้องถิ่นและปัญหาของเมืองเชียงใหม่ (1)

ถ้าให้ผมเขียนถึงอาจารย์นิธิคงขึ้นต้นบทความต่างจากหลายคนที่บอกว่าเสียดายไม่เคยมีโอกาสได้เรียนกับอาจารย์ หรือเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ผ่านงานเขียน

เทอมแรกในรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมต้องลงเรียนวิชาหนึ่งที่มีชื่อนิธิ เอียวศรีวงศ์เป็นผู้สอน วิชานั้นคือ Thai Social and Culture (นักศึกษาชอบเรียกย่อๆ ว่าไทยซอค) สารภาพตามตรงว่าเรียนไม่รู้เรื่อง เนื้อหาที่สอนกับความรู้ของเด็กที่เพิ่งผ่านชั้นมัธยมมายังห่างกันลิบลับ เช่น เรื่องเขาพระสุเมรุที่แม้นบรรยายโดยใช้แผ่นใสวาดรูปแผนผังประกอบก็ยังไม่เข้าใจ พร้อมนึกค้านในหัวว่าจะให้เรียนไปทำไม

หน้าแรกของเค้าโครงการสอนวิชาสังคมและวัฒนธรรมไทยที่มีนิธิ เอียวศรีวงศ์เป็นหนึ่งในผู้สอน

ด้วยผมร่ำเรียนทางรัฐศาสตร์ งานของนิธิที่ได้อ่านจึงไม่ใช่งานประวัติศาสตร์เพียวๆ หากแต่เป็นงานที่สัมพันธ์กับเรื่องการเมืองการปกครองไทย อย่าง ‘การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี’ (พิมพ์ครั้งแรกปี 2529), ‘ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์’ (พิมพ์ครั้งแรกปี 2538) ที่มีบทความเรื่อง ‘รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย’ ที่ถูกอ้างอิงถึงบ่อยๆ รวมอยู่ด้วย

งานของอาจารย์ที่เนื้อหาย่อยง่ายหน่อยซึ่งผมติดตามอ่านประจำ จึงเป็นบทความที่อาจารย์เขียนลงมติชน (ทั้งสุดสัปดาห์และรายวัน) อ่านจากในห้องสมุดเอา สมัยนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ หลายชิ้นที่ชอบใจต้องถ่ายเอกสารเก็บเข้าแฟ้มไว้  เผื่อจะเอาไปใช้ทำรายงานในกระบวนวิชาต่างๆ ได้ เพราะข้อเขียนเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งวิเคราะห์ปรากฏการณ์โดยมองผ่านแว่นของหลายศาสตร์

ในช่วงที่ผมเรียนอยู่ในชั้นปีสูงๆ ถึงเริ่มสัมผัสกับบทบาทของนิธินอกห้องเรียนมากขึ้น ทั้งในฐานะวิทยากร และผู้เคลื่อนไหวเคียงข้างภาคประชาสังคม (โดยเฉพาะประเด็นทรัพยากรธรรมชาติ)

อย่างน้อยสองกิจกรรมที่ยังจำได้แม่นถึงตอนนี้ คือ ผมมีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับอาจารย์นิธิ (และอาจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์) ซึ่งให้คำชี้แนะขบวนนักศึกษาที่กำลังจะออกไปรณรงค์ให้สังคมตื่นตัวและสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และการดูหนังญี่ปุ่นชั้นยอดอย่าง ‘ราโชมอน’ ครั้งแรกนั้นมีอาจารย์นิธิมาพูดให้แง่คิดปิดท้าย เป็นการฉายแบบหนังกลางแปลงจอเล็กที่ด้านนอกหอศิลป์ฯ มช.

ใบปลิวประชาสัมพันธ์กิจกรรมรณณงค์รัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งมีนิธิ เอียวศรีวงศ์เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเสวนาในหัวข้อสังคมไทยทำไมต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่

แต่กระนั้น งานเขียนที่มีอิทธิพลต่อความสนใจผมส่วนตัวที่สุดกลับเป็น ‘เกียวโตใต้ชะเงื้อมดอยสุเทพ’ (พิมพ์ครั้งแรกปี 2532) เขียนเล่าประสบการณ์ตอนที่อาจารย์ไปใช้ชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่น ณ เกียวโต และชวนมองสังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้อย่างแยบคาย เล่าไปเล่ามาก็อดนำมาเปรียบเทียบกับเชียงใหม่ไม่ได้ โดยเฉพาะประเด็นของความภูมิใจในอัตลักษณ์ท้องถิ่น ทั้งภาษา อาหาร พิธีกรรม ความเชื่อ การแต่งกาย กระทั่งเรื่องผังเมือง นี่เองจุดที่ผมชอบ

การจากไปของนิธินั้น มีการจัดงานรำลึกโดยหลายภาคส่วนอย่างคึกคักและต่อเนื่อง ไม่ว่าภาควิชาการ ภาคเอกชน (ร้านหนังสือ, สำนักพิมพ์, นิตยสาร) ตลอดจนภาคประชาสังคม โดยในภาควิชาการพบว่ามีหลากหลายแขนง ทั้งด้านประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรม และศิลปะ ซึ่งก็ไม่ได้จัดเฉพาะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สังกัดเก่าก่อนอาจารย์ลาออกเมื่ออายุครบ 60 ปีเต็ม (ในปี 2543 ก่อนเวลาเกษียณจริงตามระบบราชการ) หากมีที่กรุงเทพฯ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) พิษณุโลก (มหาวิทยาลัยนเรศวร) สงขลา (มหาวิทยาลัยทักษิณ) สะท้อนถึงการยอมรับข้ามศาสตร์และตัดขวางพื้นที่

มีบทความมากมายที่คนเขียนถึงนิธิไปเยอะแล้วจากแง่มุมสารพัด บทความนี้ตั้งใจพาสำรวจทัศนะเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นและกระจายอำนาจ ซึ่งไม่ค่อยมีใครพูดถึง พร้อมพ่วงด้วยประเด็นปัญหาเมืองเชียงใหม่ในสายตาของอาจารย์ เป็นเมืองที่อาจารย์เลือกอาศัยอยู่ค่อนชีวิต นับแต่บรรจุเข้าเป็นอาจารย์ในปี พ.ศ. 2509 ทั้งที่เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด

หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ประมาณหนึ่งปี อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุลเคยสัมภาษณ์อาจารย์นิธิเรื่องประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจ ใจความท่อนสำคัญมีว่า

“..ประชาธิปไตยของไทยไม่มีทางก้าวต่อไปได้ หากอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรยังรวมศูนย์อยู่ในกรุงเทพฯ.. จะเลือกตั้งผู้ว่าหรือจะอะไรก็แล้วแต่ ที่สำคัญคืออย่าเพียงแค่ให้มีเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ต้องให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรอย่างแท้จริงด้วย..”[1]

ในช่วงคาบเกี่ยวกันนั้น จดหมายข่าว ครป. (คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย) ปีที่ 1 ฉบับที่ 5 กุมภาพันธ์-มีนาคม 2536 ว่าด้วยการกระจายอำนาจก็ได้ลงบทสัมภาษณ์อาจารย์นิธิ (คู่กับอาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง) ซึ่งบทสัมภาษณ์ฉบับดังกล่าว อาจารย์นงเยาว์ เนาวรัตน์ยังคงเก็บไว้ และนำมาเผยแพร่ในเฟซบุ๊คส่วนตัว

“..เทศบาลในเมืองไทยเกิดจากการต้องการที่จะผลักภาระการบริการ คุณตั้งเทศบาลมาเพื่อเก็บขยะ คุณไม่ได้ตั้งเทศบาลมาเพื่อให้เขาปกครองตนเอง ให้ตัดสินใจว่าจะใช้ทรัพยากรในเขตเมืองนั้นอย่างไร..[2]

ข้างต้นเป็นโควทที่ถูกนำไปใช้เป็นคำโปรยในเอกสารดังกล่าว

ถ้าลองพูดแบบวิชาการ นิธิเสนอว่า การกระจายอำนาจที่แท้จริงต้องไปให้ไกลกว่าการกระจายอำนาจทางการบริหาร (administrative decentralization) หมายถึง การกระจายอำนาจทางการเมือง (political decentralization) นั่นเอง ซึ่งนิธิเสนอแบบนี้มาตั้งแต่ก่อนจะมีรัฐธรรมนูญปี 40 ใช้ซะอีก

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่านิธิเป็นคอลัมนิสต์ประจำให้แก่หนังสือพิมพ์มติชนตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา ทว่าในห้องสมุดข่าวของมติชน หากใช้คำค้นว่า ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ เจอบทความ/ข่าวที่เกี่ยวข้องย้อนหลังไปไกลสุดคือปี 2539 เท่านั้น

ข้อมูลที่ใช้เป็นฐานในการเขียนบทความนี้จึงมีข้อจำกัดดังกล่าว โดยพบว่ามีบทความที่นิธิเคยเขียนเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นอยู่นับสิบเรื่อง ไล่เรียงตามลำดับเวลา พร้อมสรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

(1) ซีอีโอ (มติชน, 16 พ.ย. 2544): การบริหารที่ดีต้องขึ้นอยู่กับระบบ เราไม่ควรศรัทธาผู้นำเพียงคนเดียว ผู้ว่าฯ ซีอีโอของกระทรวงมหาดไทย สนใจแต่การเลือกตัวบุคคลไปดำรงตำแหน่งมากกว่าการปรับเปลี่ยนระบบบริหารในจังหวัดนั้นๆ โดยเฉพาะการทำให้ทรัพยากรของราชการทั้งหมดอยู่ภายใต้การบังคับควบคุมของผู้ว่าฯ ซีอีโอ การบริหารรัฐกิจแตกต่างจากธุรกิจ เป้าหมายของการบริหารทั้งหลากหลายกว่าและซับซ้อนกว่านั้นมากนัก

(2) กำนันผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกพรรคราชการ (มติชน, 28 พ.ค. 2550): ตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านถือกำเนิดในสมัยปฏิรูปการปกครองของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างการเป็นคนของรัฐบาลกับคนของประชาชน เป็นไปเพื่อขยายพระราชอำนาจให้ลงไปถึงระดับรากหญ้า กำนันผู้ใหญ่บ้านจึงเป็นทั้งคนของรัฐบาลที่ใช้อำนาจในชุมชน ผู้ไม่มีแขนขาจะเอื้อมไปถึงอำนาจแทนรัฐ ทำหน้าที่ทั้งในเชิงการควบคุมและให้บริการ อีกทั้งเป็นตัวกลางระหว่างประชาชนกับรัฐบาลกลาง

ในสมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้านเปลี่ยนไปเป็น ‘เอเย่นต์’ เต็มตัว คอยรับใช้กลไกราชการ พ่อค้า นายทุน นักการเมืองเพื่อโน้มน้าวชาวบ้านในเรื่องต่างๆ เช่น การขายที่ดิน ทำให้พบว่าพรรคการเมืองไม่ว่าที่เป็นทางการหรือพรรคราชการจึงแข่งกันเพื่อมี ‘บารมี’ เหนือกำนันผู้ใหญ่บ้านเสมอมา โดยเฉพาะมีส่วนช่วยธำรงอำนาจของคณะรัฐประหารได้ การแก้กฎหมายให้กำนันผู้ใหญ่บ้านดำรงตำแหน่งไปได้ถึงอายุ 60 คือ การแปรเปลี่ยนกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นข้าราชการเต็มตัว แสดงให้เห็นความไม่เคารพต่อนโยบายกระจายอำนาจ (ที่อุตส่าห์เขียนไว้ถึงในรัฐธรรมนูญ)

(3) ใต้หมวกคาวบอย (มติชน, 23 มิ.ย. 2551): การที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยแนะนำผู้ว่าราชการจังหวัดให้ขี่ม้าไปทำงานแทนนั่งรถเก๋ง เพื่อประหยัดน้ำมัน เป็นข้อเสนอที่ไม่ได้ผ่านการคิดลึกซึ้ง ไม่เข้าใจวิถีชีวิตและสังคมสมัยใหม่ แทนที่จะส่งเสริมให้ก่อเกิดวัฒนธรรมการใช้จักรยานสำหรับการเดินทางในเขตเมืองด้วยการเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน และขจัดรถควันดำ

(4) เทศบาลเมืองยะลา (มติชน, 12 ม.ค. 2552): เป็นเทศบาลแห่งแรกของประเทศที่มีวงดนตรีฟิลฮาโมนิคของตนเอง เทศบาลลงทุนจัดหาเครื่องดนตรีแล้วฝึกเด็กตั้งเป็นวงขึ้นมาจนเปิดแสดงได้ แนวคิดคือ เราสามารถทำอะไรร่วมกันได้ ไม่ว่าเราจะแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม ซึ่งในที่นี้ก็คือ ชาติพันธุ์และศาสนา แม้เทศบาลไม่มีความพร้อมในสิ่งภายนอก เช่น สถานที่ วาทยกร แต่ก็มีใจที่พร้อม และความกล้าหาญ ต่อจากนั้นได้สร้างห้องสมุดเยาวชนขึ้น มีหนังสือเป็นหมื่นเล่ม แปลงนิทานเด็กพื้นบ้าน (ในวัฒนธรรมมลายู) เป็นการ์ตูน มีเด็กเข้ามาใช้บริการวันละ 500-700 คน ไม่เคยเห็นท้องถิ่นใดมีห้องสมุดเด็กที่มีคุณภาพเช่นนี้ แม้แต่พิพิธภัณฑ์เด็กของ กทม.

กรณีเทศบาลเมืองยะลาชี้ให้เห็นว่าภายใต้ผู้บริหารที่มองการณ์ไกล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทุกระดับสามารถทำอะไรที่มีประโยชน์แก่ประชาชนได้มาก และอาจจะมากกว่ารัฐบาลกลางด้วยซ้ำ นอกจากเทศบาลเมืองยะลาที่เป็นแรงบันดาลของ อปท.ที่ใฝ่ดีแล้ว ยังมีเทศบาลนครหาดใหญ่ เมืองแรกในประเทศที่เอาสายทั่วเขตเทศบาลลงดินทั้งหมด

(5) รัฐรวมศูนย์ที่ไม่มีศูนย์ (มติชน, 4 พ.ค. 2552): ไทยเป็นรัฐรวมศูนย์ที่ไม่มีกลไกที่จะกำกับควบคุมให้เป็นไปตามนโยบาย จึงเป็นธรรมดาที่นโยบายของรัฐจะถูกนำไปปฏิบัติอย่างลักลั่น ไม่ตรงเป้า หรือแม้แต่ถูกเพิกเฉยเมยอยู่เป็นประจำ ระบบราชการของเราไม่มีประสิทธิภาพ ทางออกจากปัญหานี้มีเพียง เผด็จการเบ็ดเสร็จ หรือ ประชาธิปไตย เท่านั้น ซึ่งทางเลือกแรกเป็นไปไม่ได้ จึงเหลืออยู่ทางเลือกเดียวคือ ประชาธิปไตย โดยใช้เวทีท้องถิ่นระดับต่างๆ และเวทีสื่อ ซึ่งท้องถิ่นต้องมีอำนาจอย่างชัดเจนในขอบเขตหนึ่ง เช่น ป่าชุมชน การจัดการน้ำ การจัดการขยะ หลายเรื่องที่สำคัญและเป็นไปได้ควรตัดสินกันด้วยประชาธิปไตยทางตรงคือ การลงมติของประชาชนทุกคนโดยไม่ต้องผ่านตัวแทน ฐานความเข้มแข็งของฝ่ายบริหารต้องมาจากตรงนี้

(6) .36 ในการเมืองท้องถิ่น (มติชน, 21 มี.ค. 2554): แกนนำสองคนของตำบลอ่าวน้อยซึ่งกำลังต่อต้านโครงการบ่อขยะและสะพานปลาถูกมือปืนกระหน่ำยิงด้วยปืนเอ็ม 16 แต่รอดชีวิตมาได้ สาเหตุที่พวกเขาถูกหมายปองชีวิต คือ เขามีทีท่าให้การสนับสนุนกลุ่มการเมืองอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มใหม่ที่จะเข้ามาแข่งกับกลุ่มเก่า สาเหตุของการลอบสังหารจึงปนๆ กัน จากเหตุการณ์นี้อาจารย์นิธิได้กล่าวถึงงานวิจัยของผมเรื่องการลอบสังหารในการเมืองท้องถิ่น จริงอยู่มีการลอบสังหารเกิดขึ้นมากทีเดียว แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนแล้วมีไม่ถึง 1% เมื่อเทียบกับคดีฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาที่เกิดขึ้นเฉลี่ยในแต่ละปี หรือจำนวนนักการเมืองท้องถิ่นทั้งหมด นิธิเห็นว่าตัวเลขอาจน้อยไปบ้างเพราะไม่ได้รวมการลอบสังหารหัวคะแนน การยับยั้งความรุนแรงการเมืองท้องถิ่นได้ก็ต้องยับยั้งการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาในสังคม-วัฒนธรรมไทยให้ได้ ส่วนใหญ่ที่ฆ่ากันไม่ใช่เพราะแย่งตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น แต่เพราะมีเหตุส่วนตัวหรือมีผลประโยชน์ขัดแย้งกันด้วย นั่นหมายความว่าจะมีหรือไม่มีการเมืองท้องถิ่น เมืองไทยก็เป็นสังคมแห่งความรุนแรงอยู่แล้ว

ทว่า ในห้วงหลัง ‘ต้นทุน’ ของการลอบสังหารสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนขยายตัวขึ้น และเข้มแข็งมากขึ้น สื่อมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ ‘ผู้ใหญ่’ รู้สึกว่าเจ้าพ่อ-เจ้าแม่หนักเกินไปที่จะแบกไว้ต่อไป ต้นทุนทางกฎหมายอาจน้อย แต่ต้นทุนทางการเมืองและสังคมมีสูงขึ้น

(7) เลิกกำนันผู้ใหญ่บ้านเหอะ (มติชน, 19 พ.ย. 2555): กำนันผู้ใหญ่บ้านออกมาประท้วงในกรุงเทพฯ คราใด นักการเมืองมักยอมถอยเสมอ ทั้งที่เป็นตำแหน่งที่หมดหน้าที่ความจำเป็นไปนานแล้ว ถูกตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อสร้างระบบกึ่งทางการขึ้นควบคุมท้องที่หมู่บ้าน เป็นตัวกลางสื่ออำนาจรัฐลงไปถึงประชาชน อยู่ในกำกับควบคุมของนายอำเภอ หรืออันที่จริง คือ ผู้ช่วยนายอำเภออันเป็นคนของรัฐที่ส่งไปประจำส่วนภูมิภาคนั่นเอง การปฏิวัติ 2475 ทำเพียงแต่เสริมงานด้านบริการของภาครัฐลงไป แต่ยังรักษาภาระการควบคุมไว้ต่อไป บารมีของกำนันผู้ใหญ่บ้านเพิ่มขึ้นในยุคสมัยแห่งการพัฒนา (และปราบคอมมิวนิสต์) เกิดเส้นสายสัมพันธ์กับนักธุรกิจ-ข้าราชการใกล้ชิดขึ้น ทว่าการเกิดขึ้นขององค์การบริหารส่วนตำบลและจังหวัดส่งผลให้บทบาทผู้อุปถัมภ์ย้ายมาอยู่ที่ อปท. กำนันผู้ใหญ่บ้านหลายแห่งหันไปลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น เพราะมองออกว่าเส้นทางของตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านมีแต่จะลีบลงไปเรื่อยๆ หน้าที่ควบคุมหมดความจำเป็น หน้าที่บริการก็มีคนอื่นเอาไปทำหมดแล้ว อำนาจของกำนันผู้ใหญ่บ้าน (ที่เป็นส่วนท้องที่) เชื่อมโยงอย่างแยกไม่ออกจากการบริหารราชการส่วนภูมิภาค การกระจายอำนาจอย่างทั่วถึงจำเป็นต้องคิดถึงส่วนภูมิภาคใหม่ เป็นเรื่องใหญ่กว่านักการเมือง/พรรคการเมืองจะทำได้โดยไม่มีการต่อต้าน

(8) เลือกชีวิตดีกว่าเลือกผู้ว่าฯ (มติชน, 9 มี.ค. 2556): การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเกมการเมืองของพรรคใหญ่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ย้ำว่าต้องรักษาเมืองหลวงไว้ไม่ให้กลายเป็นเมืองขึ้น หรือตกเป็นของ ‘ข้าศึก’ ขณะที่พรรคเพื่อไทยใช้คำขวัญว่า ‘ไร้รอยต่อ’ หมายความว่าจะร่วมมือกับรัฐบาลในการพัฒนากรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม ระบบบริหารกรุงเทพฯ กระจายอำนาจให้ผู้คนได้ต่อรองกันเพื่อกำหนดชีวิตของตนเองน้อยมาก ซึ่งเป็นปัญหามากกว่าใครจะเป็นผู้ว่าฯ อำนาจที่แท้จริงในการวางเงื่อนไขของชีวิตคนกรุงเทพอยู่กับกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ซึ่งคนกรุงเทพฯ ไม่ได้เลือก ไม่ว่าจะเป็นการรื้อไล่ที่ ทางด่วน ทางรถไฟ ตึกสูง มลพิษทางอากาศและเสียง ฯลฯ เรื่องเหล่านี้อำนาจไม่ได้อยู่ที่ผู้ว่าฯ โครงสร้างการบริหารนั่นแหละคือตัวปัญหา แต่ไม่มีผู้สมัครคนใดพร้อมจะเป็นหัวหอกผลักดันการปรับปรุงขนานใหญ่เสียคนเดียว 

(9) การเมืองท้องถิ่นเส้นสายหรือเครือข่าย (มติชน, 28 ก.ค. 2557): การประกาศยกเลิกการเลือกตั้งท้องถิ่นของ คสช. และอาศัยระบบแต่งตั้งใน อปท. ที่หมดวาระลง เป็นการโยนหินถามทาง หากมาตรการนี้มีปฏิกิริยาต่อต้านอย่างกว้างขวางก็อาจเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว แต่หากเป็นไปในทางยอมรับ รัฐธรรมนูญที่จะถูกร่างขึ้นภายใต้การกำกับของ คสช. ก็อาจไม่มีข้อความเกี่ยวกับการกระจายอำนาจไปสู่ อปท. อีกเลยก็ได้ โดยเพื่อนของนิธิที่ทำวิจัยเกี่ยวกับท้องถิ่นมานานท่านหนึ่งมองว่าคนที่ได้รับเลือกมาเป็นผู้บริหารท้องถิ่นย่อมเคยมี ‘เส้นสาย’ สัมพันธ์กับระบบราชการมาก่อน

ดังนั้น การยกเลิกการเลือกตั้งท้องถิ่นจึงไม่กระทบกระเทือนต่ออะไรในท้องถิ่นมากนัก แต่เขา (นิธิ) คิดว่าคนท้องถิ่นไม่น่าพอใจและคงรับไม่ได้ เราจำเป็นต้องมองให้ไกลไปกว่ากลุ่มชนชั้นนำ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเมืองท้องถิ่นกลับไปสู่การกำกับของราชการอย่างฉับพลันย่อมกระทบต่อ ‘เครือข่าย’ ที่สลับซับซ้อนที่ทุกฝ่ายได้ลงทุนไปมาก การเมืองท้องถิ่นแม้มีอายุเพียง 20 ปี แต่การถอยกลับก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ มีปัญหาใหม่ๆ ที่สังคมไทยต้องอาศัยองค์กรท้องถิ่นในการจัดการ เช่น ผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น เด็กอ่อนที่ไม่มีคนเลี้ยงระหว่างพ่อแม่ไปทำงาน ภาระเหล่านี้ราชการส่วนกลางคิดเอง ทำเองไม่ได้

(10) วีรบุรุษท้องถิ่นใต้อำนาจรวมศูนย์ (มติชนสุดสัปดาห์, 29 ต.ค. 2564): พะเยาแตกต่างจากเมืองในภาคเหนือตอนบนทั่วไปตรงที่พยายามสร้างและจัดเมืองไว้สำหรับชาวเมืองของตัวเองก่อน ไม่ใช่มุ่งทำเพื่อนักท่องเที่ยว เช่น ระหว่างการขยายถนนชายกว๊านซึ่งแคบและแออัดกับการกันพื้นที่ริมกว๊านไว้ให้ชาวเมืองใช้ร่วมกันอย่างพอเหมาะ พะเยาเลือกแบบหลัง ทุกเช้าเย็นจึงเห็นชาวเมืองพะเยาจำนวนมากออกมาใช้พื้นที่ซึ่งจัดไว้นี้ออกกำลังกาย ถึงกระนั้น อนุสาวรีย์พญางำเมืองที่ตั้งในสวนสาธารณะกลับถูกฉากหลังที่สร้างขึ้นอย่างอลังการมาครอบพญางำเมืองให้เล็กลงจนกลายเป็นเครื่องประดับของฉากแทนที่ฉากควรเป็นเครื่องประดับของอนุสาวรีย์ ปรากฏการณ์สร้าง ‘อัตลักษณ์’ ของจังหวัด จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดทั่วประเทศ ซึ่งมักมีอัตลักษณ์ที่แย้งกันเองในจังหวัดต่างๆ เสมอ ฝ่ายหนึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่ราชการส่วนกลางมองเห็นและมอบให้ อีกส่วนหนึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่ชาวบ้านในจังหวัดนั้นๆ ให้ความสำคัญ

‘กว๊านพะเยา’ เป็นสัญลักษณ์ของพะเยาในสายตาประชาชน ‘เทศบาล’ จึงลงทุนทำพื้นที่ริมกว๊านให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่พญางำเมืองเป็นสัญลักษณ์ที่ประวัติศาสตร์ฉบับราชการเลือกให้เป็นอัตลักษณ์ของพะเยา ‘จังหวัด’ จึงสร้างอนุสาวรีย์และพิธีกรรมขึ้นเพื่อตอกย้ำ แต่ด้วยราชการมีกำลังมากกว่า นับวันอัตลักษณ์ของจังหวัดต่างๆ จึงตกอยู่ในกำกับของฝ่ายราชการมากขึ้นทุกที

ที่น่าสนใจคือ สัญลักษณ์ที่ราชการสร้างขึ้นเหล่านี้เข้าไปพัวพันกับชีวิตผู้คนไม่สู้จะมากนัก เช่นในเชียงใหม่ระหว่างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์กับอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ผู้คนสักการะบูชารูปประติมากรรมของครูบาฯ มากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ ‘วีรบุรุษท้องถิ่น’ อย่าง ครูบาศรีวิชัยจึงไม่เข้ากับแบบแผนของทางราชการ เพราะออกไปทางแสดงความเป็นอิสระในการปกครองตนเองของท้องถิ่น หรือที่จังหวัดแพร่มีอนุสาวรีย์พระยาไชยบูรณ์ก็ไม่ได้รับความใส่ใจจากชาวแพร่มากนัก อำนาจครอบงำอัตลักษณ์ของราชการส่วนกลางเหนือจังหวัดต่างๆ นั้นใช้สะท้อนอำนาจรวมศูนย์ของรัฐไทยได้เป็นอย่างดี แม้จะมีการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้น แต่วัฒนธรรมที่แสดงความเป็นตัวของตัวเองในท้องถิ่นก็ยังไม่ปรากฏให้เห็นได้ชัดนัก


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


[1] อ้างใน เฟซบุ๊กส่วนตัวของปริญญา เทวานฤมิตรกุล โพสต์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=6694691957241352&set=a.271670256210253

[2] อ้างใน เฟซบุ๊กส่วนตัวของนงเยาว์ เนาวรัตน์ โพสต์เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=2658721554282979&set=pcb.2658721774282957

สุชาดา จักรพิสุทธิ์, “ในความเป็นนิธิ (1),” มติชนสุดสัปดาห์ (31 ตุลาคม 2566), จาก https://www.matichonweekly.com/special-report/article_722378

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save