fbpx

วิกฤตฯ ที่รอ ‘รัฐบาลนิดหนึ่ง’

เมื่อวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้เปิดเผยว่าตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ของปีนี้ เติบโตต่ำกว่าที่ได้มีการคาดการณ์กันไว้มาก โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าในอัตราเพียงแค่ร้อยละ 1.8 เท่านั้น

ความผิดหวังที่เกิดขึ้นนี้มีผลมาจากตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกที่สภาพัฒน์ได้แถลงไว้เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมนั้นแสดงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าพึงพอใจ โดยอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ซึ่งส่งผลให้ทุกฝ่ายต่างมีความคาดหวังกับเศรษฐกิจไทยในปีนี้อย่างมาก

ณ เวลานั้น ทางสภาพัฒน์ก็ดูจะมั่นใจว่าสามไตรมาสที่เหลือของปีนี้ จะเติบโตในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.6 แน่ๆ ดังเห็นได้จากประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจตลอดปี 2566 ที่ปรากฏในเอกสารประกอบการนำเสนอรายงานฯ เดือนพฤษภาคม ซึ่งระบุช่วงของอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปีไว้ที่ร้อยละ 2.7-3.7

เมื่อตัวเลขการขยายตัวจีดีพีในไตรมาสที่ 2 หล่นฮวบมาที่ร้อยละ 1.8 เป้าการเติบโตทั้งปีที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนพฤษภาคมจึงดูห่างความเป็นจริง ดังนั้นในรายงานสภาวะเศรษฐกิจรายไตรมาสฉบับล่าสุด สภาพัฒน์จำต้องปรับลดประมาณการแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 2566 ลงมาเหลือแค่ร้อยละ 2.5-3.0

แม้จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ลงจากเดิม แต่เมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้แล้ว โอกาสที่จะได้เห็นจีดีพีในปีนี้บรรลุเป้าหมายการเติบโตในอัตราร้อยละ 2.5 (ซึ่งเป็นขอบล่างของช่วงพยากรณ์) ก็ยังดูยากเอาการ เพราะตัวเลขการเติบโตในช่วงครึ่งปีแรกนี้ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.2 เท่านั้น ดังนั้นหากจะดันให้จีดีพีเติบโตทั้งปีในอัตราร้อยละ 2.5 การเติบโตของจีดีพีในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้จะต้องขยายตัวในอัตราเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.8!

ตัวเลข 2.8 นี้อาจดูไม่ใช่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงเกินเอื้อมสำหรับการบริหารจัดการเศรษฐกิจช่วงสองทศวรรษก่อน แต่ในสภาพปัจจุบันที่ประเทศไทยเราถูกเรียกขานว่าเป็น ‘คนป่วยประจำภูมิภาค’ เราคงได้แต่สวดมนต์และส่งกำลังใจให้รัฐบาลใหม่สามารถพิชิตภารกิจ ‘เข็นครกขึ้นภูเขา’ นี้ได้สำเร็จ

ในเอกสารที่สภาพัฒน์นำเสนอประกอบการแถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 นั้น ได้แจกแจงให้เห็นองค์ประกอบสำคัญของ ‘อุปสงค์มวลรวม’ ที่ทำหน้าที่เสมือนเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่

  1. การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของครัวเรือน
  2. การบริโภคของรัฐบาล
  3. การลงทุนรวม
  4. ปริมาณส่งออก

ทั้งสี่องค์ประกอบหลักนี้ร่วมกันกำหนดอุปสงค์มวลรวมของระบบเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา และเป็นตัวกระตุ้นให้ภาคการผลิต เพิ่มการจ้างงานและปัจจัยการผลิตต่างๆ เพื่อตอบสนองอุปสงค์ ก่อเกิดเป็น ‘อุปทานมวลรวม’ ซึ่งสร้างให้เกิดมูลค่าผลผลิตในประเทศหรือจีดีพีนั่นเอง

ในรายงานฯ ของสภาพัฒน์ระบุว่า ตัวขับเคลื่อนที่ ‘แบก’ ให้จีดีพีไตรมาสสองเติบโตถึงระดับร้อยละ 1.8 ได้ นั่นคือการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของครัวเรือน โดยในไตรมาสที่ 2 นี้ การใช้จ่ายภาคเอกชนเติบโตในอัตราร้อยละ 7.8! ซึ่งไม่เพียงแสดงอัตราการขยายตัวที่มั่นคงต่อเนื่องจากการเติบโตในไตรมาสแรก (ซึ่งเติบโตในอัตราร้อยละ 5.8) แต่ยังเป็นอัตราการเติบโตที่สูงมากจนแม้แต่นักวิเคราะห์ยังหาต้นเหตุไม่ได้อีกด้วย

ในขณะที่ตัวขับเคลื่อนอื่นๆ ไม่สามารถคงโมเมนตัมของการเติบโตในไตรมาสแรกไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนรวมหรือ ปริมาณส่งออก

ตัวเลขที่ปรากฏชวนให้คิดต่อว่า หากการใช้จ่ายภาคเอกชนไม่ได้เติบโตในอัตราสูงเช่นนี้ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 คงออกมาน่าผิดหวังกว่านี้เพียงใด

 ไตรมาสที่ 2 ปี 2566ไตรมาสที่ 1 ปี 2566
การบริโภคภาคเอกชน7.85.8
การบริโภคภาครัฐบาล-4.3-6.8
การลงทุนรวม0.43.1
ปริมาณส่งออก0.72.1
ตารางที่ 1: องค์ประกอบสำคัญของจีดีพี ในช่วงครึ่งปีแรก 2566
ที่มา: เอกสารประกอบการแถลงภาวะเศรษฐกิจรายไตรมาส วันที่ 21 สิงหาคม 2566

หลังจากที่ได้เห็นสภาพห้องเครื่องของเศรษฐกิจไทยแล้ว หลายท่านอาจเริ่มกังวลว่าหากการบริโภคภาคเอกชนต้องชะงักงัน ไม่ขยายตัวได้อย่างในช่วงครึ่งปีแรก เศรษฐกิจไทยและจีดีพีในปีนี้จะแผ่วปลาย และไม่สามารถเติบโตได้ดังที่คาดการณ์เป็นแน่แท้

ความกังวลนี้ใช่ว่าจะไร้เหตุปัจจัย เพราะในช่วงเดือนที่ผ่านมา ผู้อ่านคงได้ยินเสียงเตือนเกี่ยวกับหนี้ระดับครัวเรือนของประเทศไทยที่ได้แตะระดับร้อยละ 90 ของจีดีพีไปแล้ว การที่ครัวเรือนมีภาระหนี้ต่อรายได้สูง ย่อมเป็นปัจจัยฉุดรั้งการจับจ่ายใช้สอยของเอกชนในระดับจุลภาค ที่เมื่อนับรวมกันทั้งระบบจะส่งต่อให้การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของเอกชนในระดับมหภาคชะลอตัวหรืออาจถึงขั้นถดถอยลดลงได้

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รายงานสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในไตรมาสแรกของปี 2566 นี้ว่าครัวเรือนไทยมีหนี้สินกับสถาบันการเงินในระบบรวมทั้งสิ้น 16 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 90.6 ของจีดีพี

สัดส่วนที่ปรากฏนี้ไม่ใช่ระดับสูงสุดที่ประเทศไทยเคยมี กล่าวคือในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 นั้น สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเคยพุ่งสูงถึงร้อยละ 94.3 อย่างไรก็ดียอดหนี้คงค้าง ณ เวลานั้นมีมูลค่าเพียง 15.3 ล้านล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าตัวเลขล่าสุด แต่เหตุที่ทำให้สัดส่วนมีค่าสูงถึงร้อยละ 94.3 นั้นเป็นเพราะจีดีพีในขณะนั้นยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ในปีก่อนหน้านั่นเอง

อย่างไรก็ดี สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีที่สูงกว่าร้อยละ 90 ส่งให้ประเทศไทยติดอันดับท็อปเทนของตารางประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงสุดในโลก โดยประเทศสวิตเซอร์แลนด์รั้งอันดับจ่าฝูงด้วยตัวเลข ร้อยละ 128 ตามด้วยประเทศออสเตรเลียที่มีสัดส่วนหนี้เท่ากับร้อยละ 112

อันดับประเทศสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี (ร้อยละ)ข้อมูลล่าสุด
1สวิตเซอร์แลนด์128ธค. 2565
2ออสเตรเลีย112ธค. 2565
3เกาหลีใต้105ธค. 2565
4แคนาดา102มีค. 2566
5ฮ่องกง96ธค. 2565
6เนเธอร์แลนด์95ธค. 2565
7นิวซีแลนด์94.5ธค. 2565
8ไทย90.6มีค. 2566
9สวีเดน87.9ธค. 2565
10เดนมาร์ก86ธค. 2565
ตารางที่ 2: ประเทศที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงสุด 10 อันดับแรกของโลก
ที่มา: Trading Economics และรายงานหนี้ครัวเรือน ธนาคารแห่งประเทศไทย

เห็นได้ว่าในตารางอันดับข้างต้นนี้มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่เป็นประเทศระดับรายได้ปานกลาง ท่ามกลางนานาประเทศจากกลุ่มรายได้ระดับสูง!

เราอาจกล่าวได้ว่า ในเวทีนานาชาติ ประเทศไทยเรา “มีหนี้สินสูง ก่อนจะรวย” ซึ่งข้อสังเกตนี้ก็สอดคล้องกับข้อค้นพบจากรายงานสถานการณ์หนี้ครัวเรือน ซึ่งมาจากผลสำรวจระดับจุลภาคของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่พบว่าคนไทยเป็นหนี้เร็ว กล่าวคือจากกลุ่มตัวอย่าง 4,600 ราย มีมากกว่าร้อยละ 58 ของคนในวัยเริ่มทำงาน (อายุ 23-29 ปี ซึ่งมีจำนวนประมาณ 4.8 ล้านคน) มีหนี้สิน และมากกว่าร้อยละ 25 เป็นหนี้เสียไปแล้ว ไม่เพียงเท่านั้นผลสำรวจยังชี้ด้วยว่า คนไทยมีหนี้เกินตัว กล่าวคือราวร้อยละ 30 ของลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล มีหนี้มากกว่า 4 บัญชี โดยวงเงินรวมต่อคนสูงถึง 10-25 เท่าของรายได้ในแต่ละเดือน ดังนั้นกลุ่มตัวอย่างนี้ใช้รายได้เกินกว่าครึ่งไปกับการชำระคืนหนี้

ในรายงานได้ให้ความเห็นด้วยว่าวงเงินบัตรเครดิตต่อรายได้ในประเทศไทยนี้ สูงกว่าที่ปรากฏในต่างประเทศ โดยในต่างประเทศนั้นจะให้วงเงินรวมต่อคนจะอยู่ที่ราว 5-12 เท่าของรายได้เท่านั้น นอกจากนี้ร้อยละ 42 ของกลุ่มตัวอย่างจากทั่วภูมิภาค ยังเป็นหนี้นอกระบบอีกด้วย โดยในรายงานพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วมีหนี้นอกระบบกันคนละ 54,300 บาท

อีกข้อค้นพบหนึ่งในรายงานนี้คือ ภาระหนี้นี้ไม่ได้จำกัดวงไว้เพียงกลุ่มคนทำงานเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงกลุ่มประชากรสูงวัย จนปรากฏเป็นภาวะติดหนี้นาน กล่าวคือมากกว่าร้อยละ 25 ของกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุเกิน 60 ปี ยังมีภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระ โดยมีหนี้เฉลี่ยสูงกว่า 415,000 บาทต่อคน นอกจากนี้เกือบร้อยละ 40 ระบุว่ามักผ่อนจ่ายหนี้เพียงขั้นต่ำเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นที่น่ากังวลว่ากลุ่มตัวอย่างนี้ยังต้องผ่อนชำระหนี้ไปอีกยาวนานเลย

เมื่อมีหนี้เยอะและติดหนี้นาน หากมีเหตุให้กระแสรายได้ชะงักงัน ย่อมส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้เสียได้ไม่ยาก

ดังที่ปรากฏในฐานข้อมูลเครดิตบูโร ซึ่งพบว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 เกิดหนี้เสียจำนวนมาก เงินกู้ 82 ล้านบัญชี ได้กลายมาเป็นหนี้เสียถึง 10 ล้านบัญชี

อันที่จริงหนี้ครัวเรือนจะไม่สร้างปัญหากับระบบเศรษฐกิจ หากครัวเรือนนำเงินกู้นั้นไปใช้ในสิ่งจำเป็น หรือใช้สำหรับเป็นเงินทุนสำหรับการประกอบอาชีพ แต่หากพิจารณาข้อมูลหนี้ครัวเรือนโดยแยกตามประเภทของการกู้จะพบว่า มีเพียงร้อยละ 28 เท่านั้นที่เป็นการกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพ (ซึ่งรวมถึงหนี้ กยศ. ไว้ด้วย) ในส่วนที่เหลือนั้นสามารถแจกแจงตามประเภทหลักๆ ได้ดังนี้

  • ร้อยละ 34 ของหนี้ครัวเรือนเป็นสินเชื่อบ้าน
  • ร้อยละ 27 เป็นหนี้จากสินเชื่อส่วนบุคคลและหนี้บัตรเครดิต
  • ร้อยละ 11 เป็นสินเชื่อรถยนต์/จักรยานยนต์

เห็นได้ว่าเมื่อรวมทั้งสามส่วนนี้เข้าด้วยกัน จะมีน้ำหนักคิดเป็นร้อยละ 72 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด

ไม่เพียงเท่านั้น ลูกหนี้ในสามกลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มที่มีปัญหาหนี้เสีย (หรือ NPL คือหนี้ที่ค้างชำระเกินกว่า 90 วัน) และหนี้กำลังจะเสีย (หนี้ที่ค้างชำระนานกว่า 30 วันแต่ยังไม่ถึง 90 วัน) มากที่สุดอีกด้วย

จากข้อมูลของเครดิตบูโร พบว่า ณ สิ้นไตรมาส 2 ยอดหนี้เสียในการดูแลของเครดิตบูโรมีมูลค่าทั้งสิ้น 1 ล้านล้านบาท โดยจำแนกเป็น

  • หนี้เสียจากสินเชื่อรถยนต์ 2 แสนล้านบาท
  • หนี้เสียจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย 1.8 แสนล้านบาท
  • หนี้เสียจากสินเชื่อบุคคล (รวมหนี้เกษตรกรด้วย) 3.3 แสนล้านบาท

สำหรับหนี้ค้างชำระที่สุ่มเสี่ยงว่าจะกลายเป็น NPL ได้นั้น มียอดรวม 4.8 แสนล้านบาท ซึ่งจำแนกตามประเภทได้ดังนี้

  • หนี้ค้างชำระจากสินเชื่อรถยนต์ 2 แสนล้านบาท
  • หนี้ค้างชำระจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย 1.3 แสนล้านบาท
  • หนี้ค้างชำระจากสินเชื่อส่วนบุคคล 8.6 หมื่นล้านบาท

ข้อมูลเชิงลึกของหนี้ครัวเรือนทำให้เห็นได้ว่า สถานะทางการเงินของครัวเรือนไทยจำนวนไม่น้อยนั้น มีความเปราะบาง และสุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นครัวเรือนที่มีเงินไม่พอใช้จ่ายเพื่อยังชีพ เพราะรายได้ส่วนใหญ่ในแต่ละเดือนต้องหมดไปกับการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ ยิ่งในภาวะที่ค่าครองชีพสูงควบคู่กับดอกเบี้ยขาขึ้นอีกด้วย น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งว่าภาคครัวเรือนจะไม่สามารถช่วยผลักดันจีดีพีให้เติบโตได้ดังที่เห็นในช่วงครึ่งปีแรก

เมื่อการผลิตและรายได้ในระดับมหภาคที่ขยายตัวในอัตราต่ำเตี้ย ย่อมเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ย้อนกลับมาสู่ครัวเรือนระดับล่างอีก เพราะเมื่อรายได้เติบโตไม่ทันรายจ่าย ครัวเรือนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะกู้เงินเพิ่ม ก่อหนี้ทั้งในและนอกระบบ เป็นแบบนี้วนไป

หากปล่อยให้ภาวการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไป โดยไม่ตัดตอนเสียก่อน ในที่สุดจะต้องเกิดการผิดนัดชำระหนี้ และกลายเป็นหนี้เสียของสถาบันการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มาถึงบรรทัดนี้ ดูเหมือนว่าวิกฤติของประเทศได้มายืนรอหน้าปากซอยเสียแล้ว ดังที่พรรคเพื่อไทยได้ใช้อ้างเพื่อเร่งตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว แต่เราต้องไม่ลืมว่า ที่ประเทศเรามาถึงจุดนี้นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นได้ในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน แต่เป็นผลพวงจากการที่รัฐบาลในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา บริหารเศรษฐกิจอย่างผิดพลาด ดังนั้นหากต้องการแก้ไขหรือปัดเป่าวิกฤติฯ อย่างเบ็ดเสร็จ พรรคเพื่อไทยไม่ควรไปนำบรรดาพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่มีส่วนในการนำพาประเทศไทยมาถึงจุดนี้มาร่วมรัฐบาลด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลคุณนิด-เศรษฐา ทวีสิน หรือรัฐบาล ‘นิดหนึ่ง’ นี้ยังเป็นรัฐบาลที่มี ‘ทุนทางการเมือง’ น้อยนิดอีกด้วย

ทุนทางการเมือง หรือ Political Capital นั้นไม่ใช่เม็ดเงินหรือกระสุน แต่เป็นแรงสนับสนุนจากมวลชนที่สามารถช่วยส่งให้พรรครัฐบาลฝ่าอุปสรรคต่างๆ ในการผลักดันนโยบายสำคัญๆ ได้

อนิจจา รัฐบาลนิดหนึ่งนี้มีทุนทางการเมืองต่ำ เพราะพรรคเพื่อไทยไม่ใช่พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ไม่ได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนมากที่สุด ไม่เพียงเท่านั้น ผลโพลก่อนเลือกตั้งทุกสำนักก็บ่งชี้ชัดว่า เศรษฐา ทวีสิน ไม่เคยติดอันดับแคนดิเดตนายกฯ ที่ประชาชนอยากได้มากที่สุดเลย

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลนิดหนึ่งจะต้องสู้กับทั้งวิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติศรัทธาไปพร้อมๆ กัน

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Thai Politics

20 Jan 2023

“ฉันนี่แหละรอยัลลิสต์ตัวจริง” ความหวังดีจาก ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงสถาบันกษัตริย์ไทย ในยุคสมัยการเมืองไร้เพดาน

101 คุยกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงภูมิทัศน์การเมืองไทย การเลือกตั้งหลังผ่านปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ และอนาคตของสถาบันกษัตริย์ไทยในสายตา ‘รอยัลลิสต์ตัวจริง’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

20 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save