fbpx
จากแฟนพันธุ์แท้สงครามถึงผู้ประสานงานการซ้อมรบกองทัพไทย-สหรัฐฯ และโลกความมั่นคงหลัง 9/11 - คุยกับณัฐรินทร์ รัตนะพิบูลย์

จากแฟนพันธุ์แท้สงครามถึงผู้ประสานงานการซ้อมรบกองทัพไทย-สหรัฐฯ และโลกความมั่นคงหลัง 9/11 – คุยกับณัฐรินทร์ รัตนะพิบูลย์

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่องและภาพ

 

เหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน (9/11) 2001 คือหมุดหมายสำคัญในโลกความมั่นคง สงคราม ความขัดแย้ง และความยุ่งเหยิงของความความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เราเห็นในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาคือ มรดกของการที่เครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในครั้งนั้น ถึงขนาดที่มีการพูดกันแบบเล่นๆ ว่า คนที่เกิดและเติบโตก่อนและหลัง 9/11 มีโลกทัศน์ด้านความมั่นคงและการใช้ชีวิตในฐานะพลเมืองโลกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

กระนั้น ความมั่นคงศึกษาก็ไม่ใช่เรื่องที่คนสนใจมากนัก อาจเพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวและไม่เห็นอิทธิพลที่เป็นรูปธรรมต่อชีวิตประจำวัน

แต่นั่นไม่ใช่สำหรับ ‘ณัฐรินทร์ รัตนะพิบูลย์’ ที่ยอมรับด้วยความภาคภูมิใจว่า เขาบ้าและเป็นเนิร์ดเรื่องความมั่นคงแบบเข้าไส้  โดยมีรางวัลชนะเลิศรายการ ‘แฟนพันธุ์แท้สงครามเกาหลี‘ ที่ออกอากาศในปี 2014 การันตีเรื่องนี้ 

แม้การเป็นแฟนพันธ์แท้จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ณัฐรินทร์น่าจะมีความรู้ ‘แน่นปึ้ก’ เกี่ยวกับเรื่องสงคราม แต่รางวัลและประสบการณ์ครั้งนั้นเป็นแค่ช่วงเริ่มต้นของการเดินทางทางความคิดของเขาเท่านั้น หลังเรียนจบปริญญาตรี ณัฐรินทร์มีโอกาสทำงานให้กับกองทัพสหรัฐอเมริกาในฐานะล่ามและผู้ประสานงานการซ้อมรบระหว่างกองทัพไทยและสหรัฐอเมริกาอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ประกอบกับการที่มีบุคคลใกล้ตัวทำงานเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ อยู่แล้ว ยิ่งทำให้เขาหลงใหล และอยากจะศึกษายุทธศาสตร์ความมั่นคงให้มากขึ้น จนทำให้เขาเลือกศึกษาแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงสหรัฐฯ และแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงจีนอย่างเป็นวิชาการจริงจังในการศึกษาระดับปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ในโอกาสครบรอบ 19 ปีของการก่อการร้ายสะเทือนโลก ประกอบกับสถานการณ์การเมืองโลกที่ร้อนระอุและแหลมคมขึ้นทุกที 101 ชวน ณัฐรินทร์ รัตนะพิบูลย์ สนทนากันยาวๆ ทั้งในฐานะคนที่เติบโตมาในโลกหลัง 9/11 บทบาทแฟนพันธุ์แท้สงครามเกาหลี ประสบการณ์การทำงานร่วมกับกองทัพสหรัฐอเมริกา และผู้ที่หลงใหลในยุทธศาสตร์ความมั่นคง

อะไรคือสิ่งที่เขาได้จากการทำงานร่วมกับกองทัพสหรัฐฯ ภูมิทัศน์ของโลกของความมั่นคงทุกวันนี้เป็นอย่างไร สหรัฐฯ และโลกเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ 9/11 รวมถึงประเด็นการแข่งขันกันของมหาอำนาจบนเวทีโลก

 ชวนเปิดโลกความมั่นคงผ่านสายตาของเนิร์ดความมั่นคงนับจากบรรทัดด้านล่างนี้

 

ภาพจากณัฐรินทร์ รัตนะพิบูลย์

 

หลายคนจำคุณได้จากการเป็นผู้ชนะรายการแฟนพันธุ์แท้ตอนสงครามเกาหลี อยากชวนย้อนกลับไปในตอนนั้นว่า จุดเริ่มต้นเป็นยังไง ทำไมคุณถึงตัดสินใจไปแข่งรายการในครั้งนั้น

ตอนแรกผมไม่ได้สนใจเรื่องสงครามเกาหลีเลย จะสนใจเรื่องสงครามเวียดนามมากกว่า แต่มีเพื่อนเห็นว่าเราสนใจเรื่องนี้จึงเชียร์ให้ไปแข่ง ผมก็ลองศึกษาดูเลยรู้สึกว่าเรื่องนี้น่าสนใจดีเหมือนกัน เพราะตั้งแต่เริ่มยุคสงครามเย็นมา สงครามเกาหลีเป็นสงครามแรกที่มหาอำนาจโลกเสรีนิยมและสังคมนิยมส่งตัวแทนมาสู้กัน

ตอนนั้นผมยังเรียนอยู่ปริญญาตรีชั้นปีที่ 3 จำได้ว่าก็เตรียมตัวอยู่เป็นปีได้ พอไปแข่งแล้วก็ได้รางวัลมา แต่ตอนแรกผมไม่คิดเหมือนกันว่าตัวเองจะได้รางวัล เพราะสับสนตัวเลขเลยตอบผิดไปข้อหนึ่ง ตอนจะประกาศข้อชิงชนะเลิศก็ตื่นเต้นมาก แต่ยังไม่ถึงกับเป็นลมนะครับ (หัวเราะ) คิดว่าจะถูกไหม พอชนะก็ดีใจ

 

การชนะแฟนพันธุ์แท้ในครั้งนั้นเปลี่ยนชีวิตคุณไปยังไงบ้าง

ตอนนั้นผมเรียนนิติศาสตร์อยู่ แต่ก็รู้เลยว่าตัวเองอยากเรียน IR (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) ต่อ เพราะตอนผมหาข้อมูลไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่ามันสนุกดี เลยอยากเรียนต่อปริญญาโทเพราะจะได้ทำวิจัยหรือทำวิทยานิพนธ์อะไรแบบนี้ ตอนนั้นเราก็เริ่มสนใจเรื่องการวิจัย อยากรู้อะไรก็จะหาหัวข้อนั้นมาศึกษาให้ลึกลงไป

อีกอย่างหนึ่ง คำถามรอบชิงชนะเลิศอาจจะดูละเอียด ดูเฉพาะ แต่ถ้าดูจริงๆ มันไม่ได้เฉพาะหรือยากขนาดนั้น เพราะทุกอย่างจะมีบันทึกความทรงจำ (memorandum) เช่น ทหารอเมริกันให้รางวัลใคร และเขาจะมีหนังสือพิมพ์สตาร์แอนด์สไตรปส์ เป็นหนังสือพิมพ์ทหารที่เอาเรื่องเกี่ยวกับทหารไปลง ซึ่งมีไม่กี่ครั้งหรอกที่ทหารไทยจะได้ลงหนังสือพิมพ์นี้ เราก็หยิบจุดที่โดดเด่นตรงนั้นมา คือรู้จักเลือกใช้ข้อมูลนั่นแหละ นี่ก็ทำให้ผมกลายเป็นคนที่เลือกใช้ข้อมูลมาก เป็นการปลูกฝังจิตวิญญาณนักวิจัยให้เราเลย

 

ในฐานะแฟนพันธุ์แท้สงครามเกาหลี สงครามครั้งนี้มีนัยสำคัญอย่างไรบ้าง

ในช่วงสงครามเกาหลี ไทยถือเป็นประเทศแรกในเอเชีย และประเทศที่สองในโลก (ประเทศแรกคือสหรัฐอเมริกา) ที่ประกาศว่า เราจะส่งทหารไปร่วมรบในสงครามครั้งนี้ เพราะครั้งนั้นเราเป็นสมาชิกสหประชาชาติ (UN) ได้ไม่นาน และอยากเอาใจโลกเสรี อยากโชว์ว่าเราสนับสนุน agenda ของโลกเสรี เลยยินดีส่งทหารไป นี่ก็เป็นเกียรติประวัติอย่างหนึ่ง เพราะเราส่งข้าวและส่งทหารไปช่วยเขา เขาก็ยังจำได้ คนเกาหลีที่อายุเยอะๆ บางคนยังจำคนไทยได้อยู่เลย คือตอนนั้นเกาหลีก็เพิ่งฟื้นขึ้นมาจากสงครามโลกครั้งที่สอง 2 มีแต่ซากปรักหักพัง สงคราม ส่วนไทยก็เป็นประเทศที่ไม่ได้พร้อมอะไร แต่เราไปช่วยเขาสร้างประเทศมาจนถึงทุกวันนี้ จนตอนนี้เขานำเราไปแล้ว (หัวเราะ)

ถ้ามองในแง่การดำเนินนโยบายการต่างประเทศ สงครามเกาหลีเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้เห็นว่าไทยเลือกข้างจริงๆ อย่าลืมว่านายกรัฐมนตรีตอนนั้นคือจอมพล ป. พิบูลสงคราม อยากทำให้ฝ่ายโลกเสรีมั่นใจในตนเอง เพราะจอมพลป. เคยอยู่กับฝ่ายอักษะ เขาเลยต้องแสดงท่าทีว่าสนับสนุนสหรัฐฯ พร้อมยืนข้างโลกเสรี ส่วนหนึ่งก็เพราะเราอยากได้ทรัพยากรจากสหรัฐฯ เข้าประเทศ และตระหนักว่าอนาคตประเทศเราต้องเผชิญกับภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ เพราะปี 1949 พรรคคอมมิวนิสต์จีนชนะ เรารู้แล้วว่าศัตรูในอนาคตเป็นคอมมิวนิสต์แน่นอน จีนคณะชาติก็แพ้แล้ว ขบวนการคอมมิวนิสต์ในลาวกับเวียดนามก็เริ่มเคลื่อนไหว แล้วไทยจะทำยังไง เราก็ถูกผลักดันด้วยความกลัว เลยต้องเลือกข้างโลกเสรีชัดเจนมาก เพราะไทยรู้สึกว่าสหรัฐฯ ชนะสงครามโลก เป็น The Conqueror เราเลยคิดว่าเลือกอยู่กับสหรัฐฯ ดีกว่า

อีกอย่างหนึ่ง ตอนนั้นฝรั่งเศสหรือสหราชอาณาจักรก็ดูไม่อยากให้เราเข้าสหประชาชาติขนาดนั้น เพราะเราเคยอยู่กับญี่ปุ่นมาก่อน แล้วจู่ๆ จะมาเป็น free rider เข้าไปได้อย่างไร ไทยเลยต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยว่า เราสมควรจะได้เข้าไปในสหประชาชาติ

 

ได้ยินว่าคุณเคยทำงานให้กองทัพสหรัฐฯ เรื่องตรงนี้เป็นมาอย่างไรบ้าง

พอผมเรียนจบปริญญาตรี พี่ที่รู้จักกันเคยทำงานเป็นล่ามให้ทหารอเมริกัน ก็มาถามว่าสนใจเป็นล่ามให้ทหารอเมริกันที่มาฝึกในไทยไหม ผมก็รู้สึกว่าน่าสนใจ ฟังแล้วดูเท่ เลยตกลงไปทำ

งานแรกรู้รายละเอียดแค่ว่าต้องมาติดต่อนายทหารคนนี้ ชื่อนี้ โรงแรมนี้ ปรากฏว่าคนที่ผมไปเจอคือหัวหน้าทีมหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น แล้วจะไปที่ไหนเขาจะไม่บอกก่อนเลยนะ มาบอกเอาวันสุดท้ายก่อนเดินทางว่าจะไปที่ไหนบ้าง เราก็ไปกับเขา ไปช่วยสอนทหารไทยโดดร่มจากเครื่องบินที่ความสูง 3-5 หมื่นฟีต ตอนนั้นบอกตรงๆ ว่าผมกลัวมาก เพราะต้องแปลเรื่องการแก้สถานการณ์ แก้ร่ม ถ้าเกิดผิดพลาดต้องทำยังไง

อีกอย่างคือ ทหารอเมริกันดูดุไง กลุ่มหน่วยรบพิเศษเขาไม่ยิ้ม ไม่แชร์เรื่องส่วนตัว คือก็เป็นธรรมชาติของเขาแหละ แต่ตอนนั้นผมก็รู้สึกว่าไม่มีเพื่อนเลย ไปอยู่กับเขาประมาณเดือนกว่าๆ รู้สึกเหมือนจะบ้าตาย (หัวเราะ) พอกลับบ้านก็รู้สึกว่า งานนี้สนุกดีนะ แต่เครียดมากเลย งานอื่นจะเป็นแบบนี้ไหม ก็ไม่อยากทำแล้ว เลยเบนเข็มไปทางงานทนายแทน แต่พอลองไปฝึกงานที่สำนักงานทนาย บอกตรงๆ ว่ามันไม่อินเลย ผมคิดถึงงานแบบที่ทำกับกองทัพ เลยตัดสินใจโทรไปของานเขาเลยว่ามีแบบนี้อีกไหม เขาเลยให้ผมไปเป็นล่ามประจำ ทำได้ประมาณ 4-5 ปี มีฝึกอะไรมาเราก็ไปทำหมด

 

ภาพจากณัฐรินทร์ รัตนะพิบูลย์

 

ภาพจากณัฐรินทร์ รัตนะพิบูลย์

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณชอบและอยากทำงานในเรื่องนี้?

ใช่ครับ จริงๆ ผมมีไปทำงานที่สำนักข่าวแห่งหนึ่งด้วย แต่ทำได้ไม่นานก็อยากจะไปทำงานที่สหรัฐฯ หรือทำงานด้านความมั่นคง ผมเลยขอวีซ่าไปสหรัฐฯ แต่ไปคราวนี้ผมมีเป้าหมายคือ อยากไปศึกษาเรื่องระบบอาวุธเพราะได้แรงบันดาลใจจากคุณลุงของผมที่เป็นหัวหน้าวิศวกรระบบ reentry system ของขีปนาวุธข้ามทวีป ทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่งใน Hill Air Force Base ผมก็อยากไปดูที่ทำงานของเขา เพราะอยากเก็บข้อมูลอาวุธทางอากาศของสหรัฐฯ ที่เคยมีใช้ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน

ที่ทำงานของลุงจะมีพิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศอเมริกัน ซึ่งรวมอาวุธทุกอย่างบนโลกที่เกี่ยวกับอากาศมาไว้ที่นี่ มีทั้งขีปนาวุธข้ามทวีป จรวดที่บรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ที่ยิงได้จากเครื่องบินขับไล่ มีไว้เพื่อยิงเครื่องบินทิ้งระเบิดของโซเวียต คือถ้าเครื่องบินบินมาเป็นฝูง ยิงจรวดนี่ไปลูกหนึ่งก็หายหมดทั้งฝูงเลย หรือระเบิด bunker buster รุ่น BLU-82 ที่ถูกนำมาใช้ในช่วงสงครามเวียดนาม เพราะตอนนั้นพวกเวียดกงชอบขุดฐานหรือขุดอุโมงค์ สหรัฐฯ ก็อยากจะทำลายศัตรูที่ใต้ดิน เลยสร้างระเบิดนี้ขึ้นมา ซึ่งเมื่อระเบิดแล้วจะเจาะทะลวงดินเข้าไป 100-300 เมตรแล้วจะระเบิดไปถึงใต้ดิน คือคิดละเอียดถึงขั้นนี้เลย

พอกลับมาที่ไทย ผมก็มีหมุดหมายสำคัญแล้ว ในเมื่อคุณลุงผมเป็นวิศวกรขีปนาวุธ ผมก็อยากกลับมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านขีปนาวุธที่ไทยให้ได้ เพราะในไทยไม่มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้เลย เรามีแค่ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงระหว่างประเทศเท่านั้น อีกอย่าง เรื่องขีปนาวุธก็สำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในโลกทุกวันนี้ เพราะประเทศยากจน เช่น เกาหลีเหนือ ปากีสถาน หรือเมียนมา ก็เข้าถึงเทคโนโลยีขีปนาวุธได้หมดแล้ว ทั้งที่นำมาผ่านกระบวนการวิศวกรรมย้อนกลับ (reverse engineer) หรือได้รับแลกเปลี่ยนมา และพยายามพัฒนาของเขาขึ้นมาเอง

 

นอกจากเรื่องอาวุธแล้ว มีแรงบันดาลใจไหนอีกที่ทำให้คุณอยากทำงานกับสหรัฐฯ หรืออยากศึกษาเรื่องความมั่นคงให้มากขึ้น

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมสนใจเรื่องนี้มากคือเรื่องจารชน ต้องบอกว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศที่โลกของสายลับยังมีอยู่จริง ในภาพยนตร์ไม่ได้เศษเสี้ยวหนึ่งของความจริงเลย อย่างเจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองกลาง (CIA) ที่ปฏิบัติภารกิจนอกประเทศจะไม่มีใครรู้ตัวตนของเขาเลย เพราะมันเป็นเรื่องความปลอดภัยขององค์กรและเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ก็จะไม่บอกใคร ใช้ชีวิตแบบคนตกงาน แฝงตัวทำภารกิจตามประเทศต่างๆ เช่น ไปอยู่ที่ประเทศหนึ่งๆ เพื่อปฏิบัติภารกิจ และเรียนภาษาของเขาด้วย ทั้งที่อาจไม่เคยรู้ภาษานั้นมาก่อน คือเขาแพรวพราวมาก ปฏิบัติการได้ทุกที่

เวลาเจ้าหน้าที่ CIA เสียชีวิต จะมีการสลักรูปดาวในออฟฟิศของเขา แต่ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ที่ลับมากๆ จะเป็นดาวไร้ชื่อ คือจนตายก็ไม่มีใครรู้ว่าเขาเป็นใคร CIA จะมีหน่วย SOG (Special Operation Group) ที่ปฏิบัติงานนอกประเทศ ซึ่งจะมี motto ว่า Tertia optio ที่แปลว่า ถ้าการทูตกับการทหารทำอะไรไม่ได้ เขาจะเป็นตัวเลือกสุดท้าย เพราะฉะนั้น เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้จะอยู่ในโลกที่ไม่มีใครรู้จักเขา และเขาก็ไม่รู้จักใคร

อย่างช่วงสงครามเย็น ไทยก็เคยเป็นสวรรค์ของ CIA มาก่อน เช่น สายการบิน Air America จริงๆ เป็นสายการบินปกปิดของ CIA ที่มาปฏิบัติการทางการทหารในลาว นักบินที่แต่งชุดฮาวายนั่นแหละคือทหาร ขับเครื่องบินจากอุดรธานีไปทิ้งอาวุธยุทธภัณฑ์ให้นายพลวังเปาหรือทหารไทยที่รบในสงครามลับในลาว ยิ่งรู้แบบนี้ ผมก็ยิ่งอยากทำงานกับทหารอเมริกัน เลยพยายามอยู่ในวงการนี้มาตลอด เผื่อว่าวันหนึ่งจะกระทบไหล่กับพวกเขาบ้าง แต่เราก็ไม่มีทางได้พบหรอกนะ เพราะเขาพูดไทยได้เหมือนเจ้าของภาษา ไม่ต้องพึ่งเราด้วยซ้ำ (หัวเราะ)

 

นอกจากงานล่าม ได้ยินมาว่าคุณยังเคยทำงานเป็นผู้ประสานงานการซ้อมรบระหว่างกองทัพสหรัฐฯ และไทย การทำหน้าที่ประสานงานตรงนี้ต้องทำอะไรบ้าง

เวลากองทัพสหรัฐฯ จะมาฝึกในไทย เขาก็จะมาใช้ค่าย ซึ่งเราจะเป็นคนดีลให้เขา พาเขาไปดูว่าจะเข้าไปได้วันไหน สาธารณูปโภคต่างๆ เป็นยังไง คลังกระสุนอยู่ตรงไหน มีความปลอดภัยไหม ที่สำคัญอีกอย่างคือ การตรวจคุณภาพน้ำว่าเป็นอย่างไร ปลอดภัยพอให้ผู้บังคับบัญชาหรือทหารใช้ไหม ถ้าคลอรีนหรือตะกอนเยอะมากไปก็ไม่ได้ เพราะสหรัฐฯ จะมี standard of procedure ของเขา เราก็ต้องประสานให้เป็นไปตามมาตรฐานนั้น

ทั้งหมดเป็นเรื่องความปลอดภัย ทุกวันนี้สหรัฐฯ ไม่ให้ใครเข้าใกล้คลังแหล่งน้ำเลยนะครับ เพราะมันวางยากันได้ คือถ้าไม่ใช่ทหารอเมริกันจะเข้าใกล้แหล่งน้ำที่เขาจัดไว้ไม่ได้เด็ดขาด หรือแม้แต่ถ้าเราจะเข้าไปใกล้ท่ออากาศก็ยังต้องมีคนอเมริกันพาไปเลย เพราะเราอาจจะเอาอะไรไปปล่อยก็ได้ จะเห็นว่าเขาห่วงคนของเขามาก ยิ่งเห็นแบบนี้ เราก็ยิ่งอยากทำงานกับเขา

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่มีการฝึกคอบร้าโกลด์ (Cobra Gold) ตอนนั้นผมไปเป็นล่ามให้ทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่มาสอน ทหารอเมริกันที่มาประกบเราก็จะสอนเทคนิคให้ เราก็พอได้ความรู้ตรงนี้มาบ้าง เพราะผมต้องแปลให้ทหารนาวิกโยธินไทยฟังว่าการใช้เครื่อง simulator จะใช้ยังไง หาเป้าหมายยังไง โอเปอร์เรตยังไง จะแก้ไขข้อผิดพลาดยังไง ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าอาวุธพวกนี้ต้องบังคับยากแน่ๆ แต่จริงๆ มันไม่ยากนะครับ เหมือนบังคับเครื่องบินบังคับวิทยุให้วิ่งไปชนอะไรสักอย่าง มันง่ายขนาดนั้นแหละ

อีกอย่างที่ประทับใจคือสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องสภาพจิตใจมาก โดยเฉพาะภาวะ Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD) คือถ้าคุณมีบาดแผลทางจิตใจที่เกิดจากสงครามต้องเข้ารับคำปรึกษา ถ้าเป็นหนักมากต้องปลดประจำการ (discharge) อยู่ในกองทัพต่อไม่ได้ เพราะเคยมีช่วงสงครามเวียดนามที่ทหารดึงสลักระเบิดแล้ววิ่งไปหาผู้บังคับบัญชา ระเบิดตายไปด้วยกันเลย เพราะตอนนั้นมันกดดันมากๆ สหรัฐฯ ก็เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากสงครามเวียดนาม และเราจะเห็นว่าเขาห่วงคนของเขามาก

 

ภาพจากณัฐรินทร์ รัตนะพิบูลย์

 

ในมุมมองของคนที่เคยทำงานในแวดวงนี้ กองทัพไทยสำคัญกับกองทัพสหรัฐฯ อย่างไร

ไทยกับสหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (strategic partner) กันมาตั้งแต่สมัยจอมพลป. แล้ว ช่วงที่เราส่งทหารไปรบที่เกาหลีและมีสนธิสัญญาช่วยเหลือทางทหารกับสหรัฐฯ ตอนนั้นไทยเปลี่ยนหลักนิยมทางทหารหมดเลย เราใช้อาวุธอเมริกันเกือบ 100% เครื่องแต่งกายก็เปลี่ยนมาเป็นแพทเทิร์นเดียวกัน ลายพรางก็ได้แรงบันดาลใจมาจากสหรัฐฯ

นอกจากนี้ เรายังส่งทหารไปเรียนที่โรงเรียนเสนาธิการทหารของสหรัฐฯ มาเกือบ 50-60 ปี เพราะฉะนั้น หลักนิยมจะแน่น และยัง interoperable กันได้ ตรงนี้หมายความว่า พูดจาภาษาเดียวกัน บอกว่าไปทางซ้ายคือซ้าย สมมติถ้าสหรัฐฯ มีหลักว่า เวลาเอาเครื่องบินขึ้น บินเริ่มแรกที่ 3,000 ฟีตแล้วค่อยขึ้นไป ไทยก็จะเข้าใจและทำแบบเดียวกัน แต่ถ้าเป็นประเทศอื่นก็อาจจะต่างกัน ความที่ปฏิบัติการร่วมกันได้นี่เองเป็นตัวชี้ว่าใครจะเป็นพันธมิตรกับใครได้ ซึ่งเราอยู่กับสหรัฐฯ ได้ และอีกประเทศที่ทำได้คือฟิลิปปินส์ ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ พอกัน

อีกประเด็นคือเรื่องที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ไทยเชื่อมต่อระหว่าง 2 มหาสมุทร คืออินเดียและแปซิฟิก มีน้ำจืด มีทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เราจึงเป็นฐานที่มั่นได้ ดังจะเห็นว่าในช่วงสงครามเวียดนาม ฐานทัพอเมริกันที่ไปทิ้งระเบิดในเวียดนามก็อยู่ที่ไทย เรามีโครงสร้างพื้นฐานที่สหรัฐฯ มาสร้างให้หมด ทั้งที่แหลมฉบัง จุกเสม็ด ทางรถไฟที่ไว้ขนอาวุธ จะเห็นว่า ความผูกพันมีเยอะ โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆ พร้อม มันกลมกล่อมไปหมด สหรัฐฯ เลยขาดเราไม่ได้

 

คุณทำงานกับกองทัพสหรัฐฯ มานานพอสมควร เห็นอะไรที่น่าสนใจหรือน่าประทับใจบ้างไหม

เรื่องแรกคือเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างครั้งหนึ่ง กองทัพเคยจะสร้างสถานีทดสอบระบบป้องกันขีปนาวุธ Terminal High Altitude Area Defense (THAAD) ที่เกาะกวม แต่กฎระเบียบของเขาคือ คุณต้องทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อม และต้องสอดคล้องกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมของรัฐนั้นด้วย ซึ่งสถานีเรดาร์ที่เขาจะสร้างอยู่เหนือแนวปะการังพอดี เขาเลยยอมช้าเพื่อไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อม คือยอมมาร์กจุดใหม่ ต้องทดสอบสภาพอากาศด้วยว่า มีฝุ่นเท่าไหร่ ค่า pH น้ำเป็นอย่างไร คือจะให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และถ้ากระทบมาก เขาก็จะย้ายไปประเทศอื่น

อีกเรื่องคือความหลากหลายของกองทัพ คือถ้ากองทัพอเมริกันเขาไม่มั่นใจว่าเขารู้จริง เขาไม่รีรอที่จะปรึกษาคนธรรมดาที่มีความรู้เรื่องนี้ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม จะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยหรือคนเดินถนนธรรมดา แต่ถ้าคุณแม่นและมีความรู้เรื่องนี้ก็มาได้เลย

ถ้าใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง Catch Me If You Can จะเจอตัวละครชื่อ ‘แฟรงก์ อแบกเนล’ (Frank Abagnale) เป็นนักปลอมเช็กในตำนานที่ทำให้สหรัฐฯ วุ่นวายไปหมด และเขายังมีส่วนร่วมในการออกแบบความปลอดภัยของเช็กเพื่อป้องกันการฟอกเงิน ซึ่งสหรัฐฯ เห็นแล้วว่า อนาคตผู้ก่อการร้ายจะฟอกเงินแน่ เลยยื่นข้อเสนอให้อแบกเนลมาสอน แลกกับการที่ไม่ต้องติดคุกตลอดชีวิต แต่ต้องบอกทริกทั้งหมดที่ผู้ก่อการร้ายจะเอามาใช้ในการปลอมเช็กเพื่อฟอกเงิน จะเห็นว่า ถ้าใครถนัดอะไร เขายินดีให้มาช่วยหมด จะเป็นอาชญากรก็ได้ เขาไม่รีรอเลยที่จะปรึกษาคนที่มีความรู้เรื่องนี้

 

Challenge coin เป็นรางวัลสำหรับ service member หรือ contractor ที่มีผลงานการปฏิบัติงานดีเยี่ยม (over performance) ภาษาละตินบนเหรียญแปลว่า arrive in silence

 

ในมุมมองของผู้ที่ศึกษาเรื่องความมั่นคง ตอนนี้ความมั่นคงแบบดั้งเดิม (traditional security) ยังจำเป็นอยู่ไหมในโลกทุกวันนี้ และความมั่นคงแบบใหม่ (non-traditional security) กำลังจะเข้ามามีบทบาทอย่างไรบ้าง

หลายคนจะชอบมองข้ามความมั่นคงแบบใหม่ไป ซึ่งจริงๆ ความมั่นคงแบบใหม่เชื่อมต่อและกระทบกับความมั่นคงแบบดั้งเดิม เช่น เรื่องภาวะโลกร้อน ที่ทำให้เกิดโรคระบาดใหม่ๆ สภาวะแวดล้อมถดถอย สมมติว่าแล้งจนปลูกข้าวไม่ได้ สุดท้ายก็จะกระทบความมั่นคงทางอาหาร พอกระทบความมั่นคงทางอาหารก็อาจจะเกิดภัยพิบัติ คนยากจน แย่งชิง ต้องย้ายถิ่นฐานและเกิดการเผชิญหน้ากัน สุดท้ายก็อาจลุกลามบานปลายจนกลายเป็นการทำสงคราม เช่น ทุกวันนี้ ในประเทศอย่างอุซเบกิสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เขาสู้เรื่องแหล่งน้ำกันจนจะกลายเป็นสงครามใหญ่โตเลย เพราะเรื่องน้ำสำคัญมาก

จะเห็นว่าทุกอย่างเชื่อมโยงและแยกจากกันไม่ได้ คุณจะตอบประเด็นการย้ายถิ่นฐานอย่างไรล่ะ พอคนเริ่มยากจนเขาก็จะแห่กันไปที่ๆ ร่ำรวยกว่า พร้อมทั้งเอาภาษา วัฒนธรรม เชื้อชาติ หรือวิถีปฏิบัติไปใช้ในประเทศอื่นด้วย เช่น กลุ่มผู้ลี้ภัยในยุโรป สุดท้ายก็ทำให้เกิดการเหยียดเชื้อชาติ (racist) และนำอคติทางเชื้อชาติกลับมา เราเคยเห็นในสมัยฮิตเลอร์ที่คนมีอคติกับชาวยิว แต่ตอนนี้คนเยอรมันเริ่มอคติกับชาวมุสลิมแล้ว กระแสความเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) เริ่มกลับมา เราเห็นคนล้อเลียนศาสนา เห็นกรณีกราดยิงที่นิตยสารชาร์ลี เอบโด ในฝรั่งเศส ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าคนเหยียดเชื้อชาติมากขึ้น อคติมากขึ้น และจะนำมาสู่ความขัดแย้งที่อาจลุกลามบานปลายเป็นการก่อการร้ายได้ ยังไงความขัดแย้งก็เกิด อยู่ที่ว่าจะอยู่ในระดับรัฐหรือไม่ใช่รัฐเท่านั้นเอง

ที่น่ากังวลคือ คนมองว่าความมั่นคงแบบใหม่ไม่สำคัญ ทุกวันนี้นักการเมืองอเมริกันยังกังขาเรื่องโลกร้อนอยู่เลย หรือคนไทยเองก็ด้วย แม้เราจะบอกว่าเราสนใจเรื่องนี้ แต่จริงๆ ไทยก็ไม่ได้ให้ความสนใจกับความมั่นคงแบบใหม่เท่าที่ควร เพราะเราไม่รู้สึกว่ามันกระทบเราเท่าไหร่ เลยพยายามหาทางมาอำนวยความสะดวกตัวเองเพื่อบอกว่า เรื่องนี้ไม่มีอยู่จริง แต่มันมีอยู่จริง และถ้าเราจะมาสนใจทีหลัง มันก็อาจจะสายเกินไปแล้ว

 

หนึ่งในหมุดหมายสำคัญของโลกความมั่นคงคือ เหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน (9/11) ในมุมมองของคุณ เหตุการณ์ 9/11 เปลี่ยนภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมโลกความมั่นคงไปอย่างไร และโลกหลัง 9/11 มีความเปลี่ยนแปลงอะไรที่น่าสนใจบ้าง

ทั่วโลกไม่มีใครคิดว่า จะมีคนไปโจมตีแผ่นดินใจกลางของสหรัฐฯ ได้ คือแม้ญี่ปุ่นจะเคยพยายามโจมตีเพิร์ล ฮาเบอร์ (Pearl Harbor) เอาเครื่องบินทิ้งระเบิดใส่เรือดำน้ำไป และทิ้งระเบิดในแคลิฟอร์เนีย นั่นคือครั้งเดียวที่มีคนโจมตีแผ่นดินสหรัฐฯ ก่อน 9/11 ได้ แต่การโจมตีในวันที่ 11 กันยายน 2001 คือ ศูนย์กลางการค้าโลกเลย และมันยังเป็นเรื่องใหญ่ตรงที่ว่า คนที่โจมตีแผ่นดินอเมริกันไม่ใช่รัฐ (non-state actor) คือคุณโดนหยามเต็มที่เลยนะ

สำหรับประชาชนชาวอเมริกันรวมถึงผู้กำหนดนโยบาย สหรัฐฯ เหมือนมีปราการธรรมชาติสองปราการกั้นไว้ คือมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติก ใครจะมาโจมตีสหรัฐฯ ต้องข้ามสองมหาสมุทรนี้มาก่อน เพราะฉะนั้น เขาเลยมองว่าตัวเองปลอดภัย ถ้าเรือมาเอาเครื่องบินยิงก็จบ แต่เหตุการณ์ 9/11 เกิดจากคนธรรมดาที่ถือวีซ่ามาเรียนขับเครื่องบิน และขับเครื่องบินชนตึก คือคุณหลุดรอดเข้ามาโดยใช้ช่องว่างของระบบทุนนิยมนั่นแหละ โอเค คนอาจจะเคยคาดคิดว่าสหรัฐฯ จะถูกโจมตี แต่ไม่ใช่ในรูปแบบการบังคับเครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรด (World Trade Centre) ถล่มลงมา

ต้องบอกว่า สหรัฐฯ ไม่เคยคิดว่า จะมีใครมาคุกคามตัวเองได้ แต่โลกทัศน์หลัง 9/11 กลายเป็นว่า ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐมีบทบาทมาก สหรัฐฯ เริ่มเห็นความสำคัญของกลุ่ม warlord และผู้ก่อการร้ายทั่วโลกแล้วว่า นี่เป็นเรื่องอันตราย ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และในเมื่อเขาสามารถมาโจมตีสหรัฐฯได้ เขาก็โจมตีประเทศอื่นได้ ขณะที่ประเทศเล็กๆ เช่น อิหร่าน เกาหลีเหนือ ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น ซึ่งสองประเทศนี้ทั้งยากจนและถูกคว่ำบาตร แต่เขาทำให้สหรัฐฯ กลัวได้ ส่วนสงครามก็ซับซ้อนมากขึ้น มีขนาดเล็กลง คนน้อยลง เราจะไม่เห็นสงครามขนาดใหญ่แบบสงครามอ่าวอีกแล้ว แต่อาจจะเห็นแบบที่คน 5-6 คนรวมตัวกันก่อวินาศกรรมแทน

 

ถ้า 9/11 เป็นเหตุการณ์วินาศกรรมที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดมา สหรัฐฯ และโลกถอดบทเรียนอะไรได้บ้าง

โลกเห็นว่า สหรัฐอเมริกาไม่ปลอดภัยอีกต่อไป ทุกอย่างมันเลยตึงเครียด และก่อนหน้านี้ที่โลกเคยสมาทานลัทธิเสรีนิยม (Liberalism) มีการเปิดเสรีทางการค้า คนเดินทางได้อย่างอิสระ เป็นยุคสมัยของสันติภาพ โลกก็หันกลับมาหาแนวคิดแบบสัจนิยม (Realism) มากขึ้น จะเห็นว่า คนที่จะเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ต้องผ่านการสัมภาษณ์วีซ่าและการสกรีนที่เข้มงวดมาก

แม้แต่ชาวอเมริกันก็เริ่มตั้งคำถามว่า กองทัพจะปกป้องเราจากคนธรรมดาที่เป็นผู้ก่อการร้ายซึ่งเราไม่รู้จักมาก่อนได้ไหม รัฐจะตอบสนองอย่างไร เพราะทุกครั้งที่เกิดการก่อการร้าย รัฐเสียหน้านะ แต่ตรงนี้เราก็ต้องระวังด้วยว่า เมื่อคำนึงถึงความมั่นคง (security) มากขึ้น ก็เท่ากับว่า เราเปิดช่องทางให้รัฐละเมิดความเป็นส่วนตัว (privacy) ตอนเกิด 9/11 ใหม่ๆ ชาวอเมริกันยอมมอบความเป็นส่วนตัวให้รัฐเลย เพราะเขากลัวมาก ช่วงแรกของสงครามอิรักคนก็ต่อต้านน้อยมาก เพราะคนอเมริกันแค้นไง เขาเห็นภาพที่สื่อฉายออกไปเป็นภาพผู้ชายกระโดดตึกลงมา หรือแม่ส่งข้อความเสียงให้ลูกก่อนเครื่องบินตก มันสะเทือนใจคนอเมริกันที่มองว่าตนเองถูกกระทำ และไม่มีใครควรจะทำกับเขาแบบนี้

เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เกิดหลัง 9/11 มันจริงจังมาก คือเป็นสัญลักษณ์ว่าสหรัฐฯ ไม่ควรถูกทรีตแบบนี้ เหมือนพญาอินทรีโดนผู้ก่อการร้ายเหยียบจมูก ประชาชนเลยร่วมมือมาก แม้แต่เยอรมนีที่ตอนแรกไม่ซื้อแนวคิดแบบนี้เลย แต่เมื่อเขาเองเคยเจอเหตุการณ์ที่ผู้ก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์เข้าไปฆ่าคนอิสราเอลในเยอรมนี เขาก็เริ่มกลัวแล้ว คิดว่าจะมัวมามองแต่เรื่องศีลธรรมไม่ได้ เลยขอพื้นที่ว่า จะมีความเป็นส่วนตัวก็ได้ เหมือนรัฐไม่ขอให้คุณเปิดประตูบ้านทิ้งไว้ แต่ถ้าเราจะเปิดประตูเราจะเคาะก่อน ใช้วิธีทางกฎหมายในการขอเข้าไป ไม่ใช่อยู่ดีๆ เปิดเข้ามาเลย แต่บางประเทศก็เปิดเข้ามาเลย มันอยู่ที่ว่า รัฐจริงใจกับประชาชนแค่ไหน เพราะตรงนี้ก็เป็นทางแพร่ง (dilemma) ระหว่างความมั่นคงกับความเป็นส่วนตัวด้วย

 

เรามองได้ไหมว่า ฝ่ายสหรัฐฯ เองก็ใช้สื่อหรือภาพเหตุการณ์การก่อการร้ายผลิตซ้ำและสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองในการแสวงหาผลประโยชน์หรือเข้าไปยังประเทศอื่นด้วย

การผลิตซ้ำมีอยู่แล้ว เพราะเขาต้องหาเสียงสนับสนุนจากประชาชน ต้องบอกให้ได้ว่า ประเทศนั้นๆ หรือกลุ่มนั้นๆ เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ ยังไง ทำไมสหรัฐฯ ต้องเข้าไป มิฉะนั้นก็จะเกิดเหตุการณ์แบบสมัยสงครามเวียดนาม ที่ผู้กำหนดนโยบายตอบแบบเป็นรูปธรรมไม่ได้ว่าจะเข้าไปในเวียดนามทำไม แต่ในกรณีของ 9/11 สหรัฐฯ บอกชัดเจนว่า เราต้องไปโจมตีฐานผู้ก่อการร้ายในประเทศนั้นๆ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เข้ามาโจมตีแผ่นดินสหรัฐฯ อีก ซึ่งก็เป็นภาพที่คนอเมริกันเห็นแล้วว่า ถ้าปล่อยให้เข้ามาก็อาจจะเกิดเหตุการณ์แบบ 9/11 ที่ไหนก็ได้ และถ้าผู้ก่อการร้ายโจมตีได้ทั้งเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ทำเนียบขาว และเพนตากอนได้อย่างที่ตั้งใจไว้ มันก็เป็นการเหยียบจมูกสหรัฐฯ ชัดๆ

เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ในครั้งนี้จึงต่างจากกรณีเวียดนาม คนอเมริกันสนับสนุนเรื่องนี้ เพราะพวกเขาเห็นว่ารัฐบาลอเมริกันคุ้มครองพวกเขา โดยการส่งคนไปโจมตีนอกประเทศเพื่อไม่ให้ข้ามมาโจมตีที่สหรัฐฯ เป็นการดับไฟตั้งแต่ต้นลม

ถ้าเราลองสังเกตดู ในหนังอเมริกันหรือหนังฮอลลีวูด ตัวร้ายมักจะเป็นคนมุสลิมหรือคนตะวันออกกลาง เกิดภาพผลิตซ้ำไปมา ไม่ใช่แค่กับคนอเมริกันนะ คนไทยบางส่วนก็ยังมองว่า คนมุสลิมมักจะเป็นผู้ก่อการร้าย แต่มันไม่ใช่ไง พวกเขาก็คือเหยื่อเหมือนกัน คนมุสลิมนิกายสุหนี่ก็เป็นเหยื่อของผู้ก่อการร้ายมุสลิมต่างนิกาย แต่ภาพมันกล่อมไปหมดแล้วว่า คนมุสลิมทุกคนเป็นผู้ก่อการร้าย หลายครั้งเราก็จะเห็นคอมเมนต์ล้อเลียน เช่น กินหมูบ้างมั้ย ตรงนี้ก็ทำให้เกิดการแบ่งแยกเข้าไปอีก ก็อาจจะกลายเป็นโอกาสของกลุ่มก่อการร้ายไปอีกที่จะดึงคนไปเข้ากับเขา

 

เท่ากับว่าการแบ่งแยกและความเกลียดชังของคนเป็นหนึ่งในสิ่งที่หล่อเลี้ยงกลุ่มก่อการร้ายให้โตขึ้นด้วย?

ใช่ครับ นี่มันก็เป็นดาบสองคมนะ คนอาจจะไม่ค่อยมองมุมนี้ แต่จริงๆ กลุ่มก่อการร้ายก็ได้เสียงสนับสนุน เพราะการแบ่งแยกทำให้คนรู้สึกไม่เป็นธรรม เพราะฉันเป็นมุสลิมหรอ เดินไปมีคนทำท่าทีรังเกียจ รู้สึกว่าโดนปฏิบัติด้วยแบบไม่เป็นธรรม สุดท้ายก็กลายเป็นความอคติกับทุกอย่าง

ที่น่าสนใจคือ โลกทัศน์และความเข้าใจเรื่องการก่อการร้ายของคนอเมริกันเปลี่ยนไปมากหลังจาก 9/11 เราอาจจะเคยติดภาพว่าผู้ก่อการร้ายเป็นคนไม่มีการศึกษาเลยถูกชักจูงง่าย หรือมีแรงจูงใจแค่เรื่องศาสนา แต่ดูอย่างอุซามะฮ์ บิน ลาดิน ผู้นำกลุ่มอัลกออิดะฮ์ (แอลไค-ดา) เขามีการศึกษาสูงมากนะครับ เป็นลูกเศรษฐีเลย หรืออย่างผู้นำกลุ่มนี้คนปัจจุบันก็เป็นศัลยแพทย์ เราจะมองว่าเขาไร้การศึกษาอยู่ไหมล่ะ

จะเห็นว่า กลุ่มก่อการร้ายถูกขับเคลื่อนด้วยคนที่มีการศึกษา และยังมีอีกหลายประเด็นที่ซับซ้อน เพราะพวกเขาไม่ได้มีแรงจูงใจแค่เรื่องศาสนา มีทั้งถูกขับจากแรงกดดันจากทางประวัติศาสตร์ หรือเจ็บปวดจากประวัติศาสตร์ อย่างกลุ่มอัลกออิดะฮ์ก็ไม่ใช่เรื่องศาสนาเพียวๆ แต่เป็นความเจ็บปวดจากการโดนสหรัฐฯ หักหลัง เขามองว่าตัวเองเป็นผู้แพ้ในโลกทุนนิยม หรือจะเป็นเรื่องการศึกษา การเมือง วัฒนธรรม หรือเชื้อชาติ ทุกอย่างล้วนกระตุ้นให้เกิดการก่อการร้ายได้หมด ไม่ใช่แค่ว่า มุสลิมจะเป็นผู้ก่อการร้าย แต่ทุกคนเป็นผู้ก่อการร้ายได้ ถ้าเขามีแรงจูงใจทางการเมือง และเจออะไรสักอย่างที่ผลักให้เขาเป็น

 

 

 

นับจากเหตุการณ์ 9/11 คุณมองว่ามีเหตุการณ์หรือปัจจัยใดเป็นเหมือนหมุดหมายในการเปลี่ยนรูปแบบยุทธศาสตร์โลกความมั่นคงไปบ้างไหม

มีเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นการท้าทายทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างใหญ่หลวง คือความสำเร็จของเกาหลีเหนือในการทดสอบขีปนาวุธฮวาซอง-14 ในปี 2017 ซึ่งเป็นขีปนาวุธข้ามทวีปบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ ที่สามารถยิงจากเกาหลีเหนือไปยังที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้

ความสำคัญของเรื่องนี้คือ เกาหลีเหนือเป็นประเทศยากจน ประชาชนก็ลำบาก ระบอบของเขาก็เป็นอำนาจนิยมแบบเบ็ดเสร็จ แต่กลับมีเงินมากพอจะซื้อเทคโนโลยีนิวเคลียร์แบบเดียวกับที่มหาอำนาจ 5 ชาติ (สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) – P5) มี แถมขีปนาวุธข้ามทวีปนี้ก็ดีเท่าจีน เหนือกว่าอินเดีย ปากีสถาน และอิหร่าน จนเกาหลีเหนืออยู่ในสถานะผู้ส่งออกเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้ประเทศต่างๆ ไปแล้ว ปากีสถานก็ซื้อจากเกาหลีเหนือ แล้วเกาหลีเหนือก็บอกเลยว่า ถ้ามหาอำนาจอื่นไม่ขายให้คุณ เกาหลีเหนือขายให้ได้

การยิงขีปนาวุธฮวาซอง-14 ลูกแรกเกิดขึ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม 2017 ซึ่งเป็นวันชาติสหรัฐอเมริกา (The Fourth of July) ซึ่งเกาหลีเหนือบอกว่านี่เป็นของขวัญให้ชาวอเมริกัน สหรัฐฯ อาจจะบอกได้ว่าลูกแรกฟลุก แต่พอลูกที่สองถูกยิงในวันที่ 28 กรกฎาคม คราวนี้ไม่ฟลุกแล้ว เกาหลีเหนือยิงให้ดูเลย ตรงนี้เลยทำให้สหรัฐฯ เริ่มตระหนักว่า เกาหลีเหนือมีศักยภาพพอจะโจมตีแผ่นดินสหรัฐฯ ซึ่งมีภาพแผนที่เกาหลีเหนือ และมีเส้นแดงโยงไปที่แผ่นดินสหรัฐฯ ตรงนี้ข่าวกรองสหรัฐฯ ก็พยายามบอกมาตลอดว่าเป็นเรื่องไม่จริง แต่ก็เห็นแล้วว่า เกาหลีเหนือยิงได้จริงๆ โลกเลยเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับเกาหลีเหนือไปเลย

ตรงนี้เลยทำให้เกาหลีเหนือไปขึ้นโต๊ะเจรจากับเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ได้ในช่วงปี 2018-2019 ซึ่งเกาหลีเหนือก็อยากขึ้นโต๊ะเจรจาในสถานะผู้เสมอกันอยู่แล้ว เขามองว่าตัวเองมีนิวเคลียร์นะ จะมาบอกว่าเกาหลีเหนือเป็นประเทศยากจนไม่ได้อีก เกาหลีเหนือจึงเป็นประเทศที่ซับซ้อนมาก เพราะเขาใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการยกสถานะตนเองขึ้นมาเทียบกับประเทศอื่น การที่ทรัมป์ยอมจับมือกับคิม จองอึน ก็เหมือนเป็นการแสดงแล้วว่า ทรัมป์ตระหนักถึงผู้นำเกาหลีเหนือในฐานะผู้นำถูกต้อง เทียบเท่ากับสหรัฐฯ

หลายคนบอกว่า นโยบายเกาหลีเหนือของสหรัฐฯ เปลี่ยนไปเพราะการขึ้นดำรงตำแหน่งของทรัมป์ อันที่จริงในช่วงต้นปี 2017 ก่อนที่บารัก โอบามา จะอำลาตำแหน่ง เขาได้ทิ้งท้ายกับทรัมป์ไว้ว่า เกาหลีเหนือเป็นปัญหาสำคัญที่สุด (the most urgent problem) คุกคามสหรัฐฯ มากกว่าจีนหรือตะวันออกกลางเสียอีก เพราะเขาแสดงให้เห็นแล้วว่า โจมตีสหรัฐฯ ได้จริง

ส่วนฝั่งจีน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็มองเกาหลีเหนือเป็นปัญหาเหมือนกัน เพราะเขาชอบสร้างปัญหา ยิงขีปนาวุธแบบไม่ได้ปรึกษากับจีน ก็ยิ่งทำให้บรรยากาศทางการเมืองตึงเครียดกว่าเดิม เพราะทุกครั้งที่เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธ สหรัฐฯ ก็จะเสริมกำลังเข้ามาเรื่อยๆ คือหาอะไรมาสกัดและต่อต้าน และระบบต่อต้านขีปนาวุธมาพร้อมกับเรดาร์ ซึ่งเรดาร์ไม่เลือกนาย เข้าไปได้ทุกที่ ในจีนก็ด้วย เท่ากับว่าสหรัฐฯ อาจจะสอดแนมจีนได้ตลอดเวลา จีนเลยอยากให้เกาหลีเหนือหยุดได้แล้ว ตรงนี้ก็เข้าหลัก alliance dilemma คือเพื่อนหางานมาให้เรา

 

แล้วเหตุการณ์นี้ท้าทายทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างไร?

ผมมองว่า เหตุการณ์นี้เปลี่ยนทฤษฎีสัจนิยม (Realism) ไปเลย เพราะประเทศเล็กๆ เป็นภัยคุกคามและท้าทายประเทศใหญ่ได้ เพราะฉะนั้น มันไม่สำคัญอีกต่อไปแล้วว่า ประเทศต้องเข้มแข็งเท่านั้นถึงจะสู้ได้ ประเทศที่อ่อนแอ เปราะบาง ก็เป็นภัยคุกคามได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ดี ตอนนี้คนยังไม่ได้มองไปที่เกาหลีเหนือมาก จะมองจีนหรือแม้แต่รัสเซียมากกว่า แต่อย่าลืมนะว่า เกาหลีเหนือเป็นประเทศเล็กๆ ที่ทำให้สหรัฐฯ ต้องขึ้นโต๊ะเจรจาได้ และที่น่ากลัวคือ ในอนาคต คิม จองอึนประกาศว่า จะปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัยและมีนิวเคลียร์มากกว่าเดิม แบบนี้สหรัฐฯ จะอยู่ยังไง

ถ้าเรามองจีน จะเห็นว่าจีนมีข้อจำกัดไม่เหมือนเกาหลีเหนือ เกาหลีเหนือคือประเทศที่ไม่มีอะไรจะเสียเพราะจนอยู่แล้ว แต่จีนมีเรื่องเศรษฐกิจ ประชาชน และความมั่นคงภายในที่ตอนนี้เขาเริ่มคุมไม่อยู่แล้ว ถ้าไปเปรียบเทียบงบประมาณความมั่นคง จะเห็นว่าจีนใช้งบไปกับความมั่นคงภายในมากกว่าภายนอกเสียอีก เพื่อคุมไม่ให้คนในประเทศต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่เกาหลีเหนือเป็นเผด็จการสมบูรณ์ มี propaganda และยังมีข้อได้เปรียบทางการเมืองระหว่างประเทศ เพราะเขาเป็นประเทศเล็ก ถ้าสมมติสหรัฐฯ ยิงโต้ตอบ คนจะมองว่าประเทศใหญ่รังแกประเทศเล็ก

นอกจากนี้ หมุดหมายนี้ยังสำคัญกับ 9/11 เพราะเกาหลีเหนือเริ่มกลายเป็นประเทศที่ไปสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายทั่วโลก ส่งที่ปรึกษาทางการทหารไปช่วยประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ในสงครามกลางเมือง แถมยังขายอาวุธเคมีให้เขาอีก จะเห็นว่าบทบาทของเกาหลีเหนือสำคัญมาก แต่เราแทบไม่มองตรงนี้เลย

 

ในฐานะคนที่มองโลกผ่านแว่นตาความมั่นคง คุณทำความเข้าใจยุทธศาสตร์ความมั่นคงของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งอย่างไร

การจะทำความเข้าใจกรอบยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ต้องย้อนไปช่วงปี 1947 คือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เราเริ่มตระหนักถึงบทบาทของคอมมิวนิสต์ สหรัฐฯ เลยตั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council) ขึ้นมา และมีคำสั่งฉบับแรกคือ NSC 68 ของประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมน เพื่อสกัดกั้นแผนการขยายอิทธิพลของโลกคอมมิวนิสต์ นั่นคือเป็นแผนยุทธศาสตร์อเมริกันที่เป็นรูปธรรมแผนแรกๆ เป็นเหมือนแม่บท ใช้กันทั่วโลก และใช้มายาวนานจนถึงช่วงสิ้นสุดสงครามเย็น

เมื่อเป็นเช่นนี้ แผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงของสหรัฐฯ จึงมีความต่อเนื่องมาตลอด และถูกทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นในสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน มีแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Strategy) ที่เอามาสกัดกั้นอิทธิพลของโซเวียต และอาจจะมีแผนแยกออกไปบ้าง เช่น ยุทธศาสตร์การป้องกันแผ่นดินอเมริกัน การจัดการภูมิทัศน์ความมั่นคงของสหรัฐฯ ในโลก หรือแม้แต่การใช้ hard power และ soft power ช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ทางเศรษฐกิจ หรือสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เขามีรายละเอียดต่อเนื่องชัดเจนมาก และเขาเปิดเป็นสาธารณะให้คนเข้าไปอ่านได้เลย เพราะเขามองว่าประชาชนควรมีสิทธิรับรู้เรื่องความมั่นคงของชาติ

จะเห็นว่าสหรัฐฯ มีความชัดเจน เขากำหนดศัตรูตลอด สมัยทรูแมนคือโซเวียต สมัยเรแกนคือคอมมิวนิสต์และกลุ่มก่อการร้าย เพื่อให้รู้ว่าเราสู้อยู่กับใคร ไม่เลื่อนลอย คือถ้าบอกว่าเราต้องมีกำลังความมั่นคงของชาติ ประชาชนอาจจะไม่เข้าใจว่าคืออะไร ถ้าตอบไม่ได้ว่าคืออะไรก็จะเหมือนในกรณีเวียดนาม แต่อันนี้คือชัดเจน เรากำลังสู้กับผู้ก่อการร้าย อิหร่าน หรือจีน เมื่อคนอเมริกันรับรู้รายละเอียดพวกนี้ เขาก็จะรู้สึกว่ามันชัดเจนและพร้อมสนับสนุน นี่คือความมั่นคงในกรอบของระบอบประชาธิปไตย และเป็นกิมมิคแรกของยุทธศาสตร์สหรัฐฯ

ข้อที่สองที่น่าสนใจคือ คนที่เข้าไปวางยุทธศาสตร์มีความเข้าใจชัดเจนมาก คือไม่ได้มีแค่ทหารที่เข้าไป แต่มีคนที่มีความรู้เรื่องความมั่นคงแบบใหม่ด้วย เช่น นักสิ่งแวดล้อม นักการทูต ผู้พิพากษา อาจารย์มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่เจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ เมื่อคนที่เข้าไปมีความหลากหลาย นำองค์ความรู้ของตัวเองเข้ามาใช้ มันก็จะกว้างและมีแหล่งข้อมูลเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ครบ

คำๆ หนึ่งที่อยู่ในแผนความมั่นคงของสหรัฐฯ คือ สันติภาพผ่านความเข้มแข็ง (Peace through strength) ซึ่งเป็นคำพูดของเรแกน และเราเห็นคำนี้อีกครั้งในยุคของทรัมป์ โดยประธานาธิบดีเรแกนเคยกล่าวว่า สหรัฐฯ ไม่เคยเข้าสู่สงครามเพราะเราเข้มแข็งเกินไป (America has never gotten in a war because we were too strong.) คือมีคนท้าทายเราและทำให้เราอ่อนแอตลอดเวลา เพราะฉะนั้น สหรัฐฯ ต้องชัดเจน คนที่มาทำงานต้องมีความรู้ความเข้าใจ มีความหลากหลาย และความหลากหลายเป็นเสน่ห์ มุมมองที่แตกต่างจะทำให้เราเห็นโลกทัศน์ที่เติมเต็มทุกอย่างในทุกมิติ ตรงนี้เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้เขายังครองความเป็นเจ้า (hegemon) มาได้จนถึงทุกวันนี้ มาจากรายละเอียดเล็กๆ พวกนี้แหละ

 

นับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 มาจนถึงการที่ประธานาธิบดีบุชประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on Terror) สมรภูมิสำคัญทางยุทธศาสตร์เหมือนจะอยู่ที่ตะวันออกกลางเป็นหลัก แต่ตอนนี้ มีผู้วิเคราะห์ว่า สมรภูมิสำคัญจะเปลี่ยนมาที่อินโด-แปซิฟิกแทน ตัวคุณมองเรื่องนี้อย่างไร

จริงๆ สหรัฐฯ มองทุกเรื่อง แต่อย่างที่บอกว่าเขาจะมีธงเอาไว้ อย่างหลัง 9/11 จะมีสงครามต่อต้านการร้าย (War on Terror) เพราะทุกคนกลัวการก่อการร้าย แม้ตอนนี้เรื่องนี้เริ่มอ่อนกำลังลงแล้ว แต่ที่น่าสนใจคือ ตอนที่สหรัฐฯ ย้ายความสนใจไปยังตะวันออกกลางในช่วงหลัง 9/11 เขาผละจากเอเชียไป ทำให้จีนเริ่มทำทุกอย่างได้แบบอิสระ เพราะตอนนั้นเป็นช่วงปี 2000 จีนปฏิรูป-เปิดประเทศแล้ว และเอาเงินไปใช้จ่ายกับงบประมาณกลาโหมมากที่สุด ซึ่งยุทธศาสตร์จีนก็ไม่เคยขาดตอนเหมือนกัน เขาเอาเรือรบใหม่ๆ เข้าประจำการ มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกองทัพเรือ จนกองทัพเรือของทุกประเทศเอเชียรวมกันยังไม่เท่ากองทัพเรือจีนเลย ตอนนี้จีนมีเรือรบกับเรือดำน้ำรวมๆ กันแล้วประมาณ 300 ลำได้

ทีนี้ เมื่อสหรัฐฯ กลับมามองเอเชียในยุคโอบามา หลังจากห่างหายไปราว 15 ปี จะเห็นว่าทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก เขาบอกว่าจีนกำลังผงาดขึ้นมาอย่างสันติ เป็น peaceful rising คือมันไม่ใช่แล้ว เขาไม่ได้กำลังผงาดขึ้นมา แต่เขาผงาดขึ้นมานานแล้ว (raised) จีนเริ่มก้าวร้าวมากขึ้น เพราะฉะนั้น นโยบายปักหมุดสู่เอเชีย (pivot to Asia) ของโอบามาเกิดขึ้นในช่วงที่สายเกินไป แล้วความต่อเนื่องของนโยบายดังกล่าวก็ถูกท้าทายด้วยนโยบายอเมริกาต้องมาก่อน (America First) ของทรัมป์อีก เพราะการสัญญาว่าอเมริกาต้องมาก่อนคือการสัญญากับคนอเมริกันว่า เราจะดูแลสวัสดิภาพของคนอเมริกันมากกว่าคนอื่น หมายความว่าสหรัฐฯ จะไม่สามารถลงทุนกับประเทศในเอเชียได้มาก ถ้าผิดคำพูดเมื่อไรก็จะกระทบกับเรื่องใหญ่ที่สุด คือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ดังนั้น ทรัมป์จะทำอะไรต้องทำอย่างระมัดระวัง และประเทศพันธมิตรก็เริ่มไม่มั่นใจแล้วว่า สหรัฐฯ จะเอาฐานเสียงในประเทศก่อนหรือเปล่า นี่แหละเป็นความยากอย่างหนึ่ง และทำให้หลายชาติหันไปหาจีนมากขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจนคือตอนที่สหรัฐฯ ทอดทิ้งประเทศเอเชียไปในช่วงสงครามเวียดนาม อย่างประธานาธิบดีโรดริโก้ ดูเตอร์เต้ ของฟิลิปปินส์ ก็เพิ่งยกเลิกข้อตกลงเรื่องความมั่นคงกับสหรัฐฯ ไปเพราะเกรงใจจีน คือพันธมิตรเก่าแก่ก็ใช่ว่าจะอยู่กับคุณไปตลอด ถามว่าสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับนโยบายอินโด-แปซิฟิกไหม ผมกล้าพูดว่าเขาให้ความสำคัญมาก แต่มันเหมือนจะสายไปแล้ว

 

 

ถ้าเราลองเทียบยุทธศาสตร์ความมั่นคงของสองประเทศมหาอำนาจ ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแบบสหรัฐฯ กับจีน มีจุดเหมือนหรือจุดต่างกันอย่างไร

ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของจีนได้แรงบันดาลใจมาจากยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกานะ คือตั้งแต่ยุคเติ้ง เสี่ยวผิง เขาก็กำหนดยุทธศาสตร์มาเรื่อยๆ และพยายามทำให้ต่อเนื่องกัน แนวคิดของนักยุทธศาสตร์สำคัญอย่าง พลเอกอัลเฟรด เธเยอร์ มาฮาน (Alfred Thayer Mahan) ที่เป็นคนวางยุทธศาสตร์กองทัพเรือของสหรัฐฯ จีนก็รับมา เขาเลยให้ความสำคัญกับการพัฒนากองทัพเรือมาก

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ แต่ก่อน หลักนิยมกองทัพเรือจีนเป็นแบบ coastal defense คือจำกัดการป้องกันแค่น้ำตื้น (green water) แต่ในยุคเติ้ง เสี่ยวผิง จีนเริ่มร่ำรวยขึ้น เขาเลยบอกว่า ตนเองจะเป็นกองทัพที่ปฏิบัติการในทะเลลึก (blue water) คือป้องกันนอกฝั่ง และเสริมสร้างกองทัพมาเรื่อยๆ วางยุทธศาสตร์ชัดเจน แบ่งพื้นที่ทางการทหารคล้ายกับที่สหรัฐฯ แบ่ง เข่น ตั้งฐานทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในจิบูตี ทวีปแอฟริกา ซึ่งไม่ได้ห่างจากฐานทัพสหรัฐฯ เท่าไหร่ นี่คือจุดเหมือนว่า จีนเดินตามยุทธศาสตร์ความมั่นคงของสหรัฐฯ และจะพยายามทำให้ต่อเนื่อง

แต่จุดแตกต่างคือ จีนพยายามสร้างบ้านแต่พอตัว ดูบริบทและประเมินศักยภาพตัวเอง และเลือกที่จะเดินหมากอย่างชาญฉลาด หลายครั้งที่สหรัฐฯ ไม่สนใจเรื่องวัฒนธรรม จะกลับเข้ามาในเอเชียก็กลับมาเลย แต่กลับมามีปัญหากับบางประเทศ เช่น ไปประณามสิงคโปร์หรือฟิลิปปินส์ในเรื่องสิทธิมนุษยชน เขาคงอยากคุยกับคุณหรอก แต่จีนพยายามทำให้ทุกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ให้ความช่วยเหลือ แสดงความเข้าใจ และกำหนดยุทธศาสตร์อย่างระมัดระวัง เช่น ถ้าจะปฏิรูปกองทัพ ก็จะดูว่าความสำคัญลำดับแรกในตอนนั้นคืออะไร ถ้าเป็นช่วงเติ้ง เสี่ยวผิง ก็จะบอกว่า การปฏิรูปกองทัพต้องไม่ขัดขวางและเกื้อหนุนต่อการปฏิรูปประเทศ แต่ถ้าในทศวรรษหลังจากที่จีนผงาดขึ้นมาแล้ว เราจะเห็นเลยว่า จีนกำหนดให้ความสำคัญหลักของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนคือ การป้องกันผลประโยชน์แห่งชาติและคุ้มครองผลประโยชน์ของจีนนอกประเทศ ทุกอย่างเปลี่ยนไปเพราะบริบท ขีดความสามารถ ศักยภาพ และจุดยืนบนเวทีโลกเปลี่ยนไป จีนประเมินพวกนี้หมดแหละ และเขาทำทุกอย่างละเอียด ไม่ฝืน ถ้าทำไม่ได้ก็จะไม่เขียนลงไปในแผน แต่สหรัฐฯ จะทำเป็นกรอบกว้างๆ มากกว่า

 

คุณเป็นคนหนึ่งที่อ่านแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงจีน (defense white paper) เห็นอะไรที่เป็นจุดเด่นของแผนยุทธศาสตร์นี้บ้าง

จุดเด่นของจีนคือความกำกวมทางภาษา ไม่ว่าคุณจะเก่งภาษาแค่ไหนจะเจอกับความกำกวมของภาษาจีนหมดทุกคน ซึ่งจีนจะใช้ความกำกวมตรงนี้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองในเวทีโลกด้วย

เราอาจบอกได้ว่า ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของจีนเป็นแบบลูกผสม (hybrid warfare) คือใช้ทั้งการเมืองและการทหารรวมกัน จีนเขียนในแผนของเขาตลอดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันว่า จีนเป็นประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการทดสอบ ครอบครอง และพัฒนาขีปนาวุธนิวเคลียร์ แต่จีนก็จำเป็นต้องมีขีปนาวุธที่บรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ ซึ่งเขาจะไม่ใช้คำว่าหัวรบนิวเคลียร์ แต่จะมีคำว่าขีปนาวุธพิสัยกลาง พิสัยใกล้ พิสัยไกล ในครอบครอง เพื่อคงขีดความสามารถในการป้องปราม (deter)

ถามว่าป้องปรามในที่นี้คืออะไร ก็คือนิวเคลียร์นั่นแหละ คือไม่เห็นด้วยที่ทั่วโลกมีอาวุธนิวเคลียร์ แต่จีนก็ต้องมีเพื่อป้องปรามเหมือนกัน ตรงนี้ก็เป็นความกำกวมในที เพราะจีนเลี่ยงบาลีด้วยการบอกว่า สหรัฐฯ กับรัสเซียสร้างขีปนาวุธข้ามทวีป จีนจึงจะสร้างขีปนาวุธพิสัยกลาง (intermediate range) หรือพิสัยไกล (long range) คำถามคือ ไกลนี่ไกลแค่ไหน มันก็ยากตรงนี้ อยู่ที่ว่าเราจะตีความอย่างไร และเราก็ต้องเข้าใจธรรมชาติของจีนก่อนว่า เขาต้องการอะไรกันแน่

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ในกรณีปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้ จีนมี ‘แผนที่เส้นประ 9 เส้น’ (nine-dash line) ซึ่งเขาตีความว่าเป็นแผนที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีมาเป็นพันปี อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (United Nations Convention on the Law Of the Sea: UNCLOS) ก็คุ้มครองเรื่องอ่าวทางประวัติศาสตร์เหมือนกัน แต่ประเด็นคือ จีนอ้างตั้งแต่สมัยเจิ้งเหอ ซึ่งมันดูเลื่อนลอย และจีนก็ยังบอกว่า นี่คืออธิปไตยของจีนที่ต้องออกไปคุ้มครองและลาดตระเวน แต่หลายคนก็ตีความการกระทำของจีนว่าเป็นการคุกคาม เพราะการตีความยุทธศาสตร์ไม่เหมือนกัน

 

สถานการณ์ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้สะท้อนภาพการดำเนินยุทธศาสตร์ของจีนยังไง

เราพูดง่ายๆ ว่า มันก้าวร้าว (aggressive) และแน่วแน่ชัดเจน (assertive) มากขึ้น คือจะโชว์ว่า ฉันแสดงอำนาจแล้ว คนอื่นจะทำไม เช่น แต่ก่อนมีเรือประมงเวียดนามมาหาปลา จีนก็ไม่ทำอะไร แต่ตอนนี้จีนจมเรือประมงของพลเรือนเวียดนามแล้ว เพราะเขามองว่านี่คืออธิปไตยและพื้นที่ของจีน จะเอาแท่นขุดเจาะมาเจาะก๊าซก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องขอใคร หรือถ้าใครส่งเรือลาดตระเวนหรือมีเรือประมงเข้ามาก็ส่งเรือรบไปวิ่งชนได้เลย

นอกจากนี้ จีนยังเอาอาวุธหนักเข้ามาในทะเลจีนใต้หรือในเกาะเทียมของเขา เช่น เครื่องบินทิ้งระเบิด ขีปนาวุธพิสัยกลาง และที่น่ากังวลคือ มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่ยิงหัวรบนิวเคลียร์จอดอยู่ในทะเลไห่หนานแล้ว เท่ากับว่าเรือดำน้ำที่ยิงขีปนาวุธโจมตีแผ่นดินสหรัฐฯ ได้จอดอยู่ในทะเลจีนใต้ สหรัฐฯ ต้องเข้ามาโฟกัสที่ทะเลจีนใต้แน่นอน เพราะนี่กระทบความมั่นคงของสหรัฐฯ และพื้นที่นี้ก็จะดุเดือดมากกว่าเดิม เพราะมันไม่ได้คุกคามแค่สหรัฐฯ แต่คุกคามเกือบทั้งโลก

 

อาเซียนกับประเด็นทะเลจีนใต้จะเป็นยังไงต่อไป 

ทะเลจีนใต้เหมือนเป็นประตูไปสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ประตูบานนี้เปิดอยู่ตลอดเวลา แต่จีนพยายามปิดประตูนี้ และบอกว่า ในอนาคต ถ้าใครจะผ่านทางนี้ต้องมาเคาะประตูก่อน แต่จีนจะเปิดให้หรือไม่ก็เป็นสิทธิของเขา ตรงนี้หมายความว่าปัญหาทะเลจีนใต้เป็นเรื่องของทุกคน สมมติไทยจะส่งสินค้าไปขายที่ญี่ปุ่น แต่จีนไม่ให้ผ่านเสียเฉยๆ ไทยก็ทำอะไรไม่ได้ ส่วนสิ่งที่สหรัฐฯ พยายามยืนยันคือ ทุกคนสามารถใช้สิทธิผ่านตรงนี้ได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องขออนุญาตจีนอย่างที่จีนต้องการ

ในกรณีของอาเซียน จริงๆ อาเซียนไม่ค่อยมีเอกภาพเท่าไหร่ ยกเว้นมีประเด็นอะไรใหญ่ๆ ยิ่งในกรณีทะเลจีนใต้ ประเทศอาเซียนมองผลประโยชน์ในทะเลจีนใต้ไม่เหมือนกัน เช่น ลาวหรือเมียนมาไม่เห็นผลประโยชน์อะไร ไม่เห็นว่าตนเองเดือดร้อน เลยไม่คิดว่าตนเองต้องไปยืนฝั่งตรงข้ามจีน ยิ่งกัมพูชากับลาวต้องพึ่งเงินสนับสนุนกับจีนด้วย ความยากของเรื่องนี้จึงเป็นการทำให้อาเซียนบูรณาการและหาทางออกให้ปัญหานี้ร่วมกัน แต่อย่างที่บอกว่ามันยาก เพราะแต่ละประเทศมองปัญหาต่างกัน บางประเทศเลือกเซฟผลประโยชน์ที่มีกับจีนมากกว่าจะแขวนผลประโยชน์ตัวเองไว้กับประเด็นที่ตนเองไม่ได้ประโยชน์

อีกประเด็นคือ เรามักมองว่า ทะเลจีนใต้เป็นปัญหาของจีนกับเวียดนาม หรือจีนกับสหรัฐฯ แต่เราอาจลืมไปว่า ทะเลจีนใต้เป็นพื้นที่พิพาทของสมาชิกอาเซียนกันเองด้วย แต่ละประเทศก็อยากจะครอบครองพื้นที่ตรงนี้ด้วยมีทรัพยากรทางธรรมชาติ ยิ่งเป็นโจทย์ยากเข้าไปใหญ่ เพราะพูดอะไรก็พูดได้ยาก แถมยังเป็นภัยคุกคามสำคัญที่ใกล้ตัวเองมากที่สุด

ประเด็นท้าทายในอนาคตคือ ถ้าอาเซียนรวมกันไม่ได้ ต้องมีประเทศใดประเทศหนึ่งดึงเอามหาอำนาจ ซึ่งน่าจะเป็นสหรัฐฯ ที่พอคานกับจีนได้ เข้ามาในภูมิภาค ตรงนี้ก็จะทำให้ความปรารถนาของอาเซียนในการเป็นภูมิภาคที่ปราศจากอิทธิพลของมหาอำนาจหมดความหมายไปด้วย

 

เรามองได้ไหมว่า นี่เป็นปัญหาที่เกิดจากการบูรณาการอาเซียนตั้งแต่แรก

ถ้ามีภัยคุกคามจริงๆ อาเซียนรวมกันได้นะ เช่น ช่วงที่ก่อตั้งอาเซียนแรกๆ แต่ด้วยความที่ลักษณะทางภูมิศาสตร์ส่วนใหญ่ของอาเซียนเป็นพื้นที่ทางทะเล ถ้ากองทัพเรือไม่เข้มแข็งจริง เขาก็ไม่อยากมีเรื่องกับจีนที่กระจุกเรือรบอยู่ที่นี่ทั้งหมด แล้วถามว่าสหรัฐฯ จะเอาเรือรบทั้งหมดมาที่นี่ได้ไหม ก็ไม่ได้นะ เพราะยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ อยู่ในระดับโลก เขาวางเรือรบไว้ที่นั่นที่นี่ แต่จะระดมเรือรบมาเท่าจีนไม่ได้

ถ้าเรามองยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก สหรัฐฯ ยังได้เปรียบจากการมีเรือบรรทุกเครื่องบิน แต่จีนกำลังสร้างขึ้นมาแข่งเหมือนกัน และแผ่นดินที่ตั้งขีปนาวุธและยิงใส่เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ ได้ นั่นคือเรือบรรทุกเครื่องบินที่ไม่มีวันจม จีนมีอาวุธมากมาย และยังพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ด้วย เท่ากับว่าสหรัฐฯ ก็ถูกผลักห่างออกไปทุกทีๆ

ตรงนี้จีนประกาศชัดเจนว่า พื้นที่ตั้งแต่ญี่ปุ่นลากยาวลงมาจนถึงมหาสมุทรอินเดียจะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ Anti-Access/Area Denial (A2/AD) หมายความว่า จีนจะปฏิเสธการที่สหรัฐฯ จะเข้าถึงพื้นที่ในภูมิภาคนี้ทั้งหมด (anti-access) และไม่ให้ใครเข้าพื้นที่จีนโดยไม่ได้รับอนุญาต (area denial) เขากำหนดไว้เลยว่า แต่ละพื้นที่จะใช้อะไรป้องกันบ้าง ประเทศรอบๆ นี้เลยกลัวกันหมดแล้ว เพราะสหรัฐฯ ก็ยังยึดถือหลักอเมริกาต้องมาก่อนอยู่ แล้วประเทศอื่นจะมั่นใจได้อย่างไรว่า สหรัฐฯ จะช่วยเหลือตน

อีกอย่าง ทรัมป์ชอบพูดเรื่องการแบ่งเบาภาระทางความมั่นคง (burden sharing) แต่ใช่ว่าทุกประเทศจะพร้อมแชร์ ญี่ปุ่นก็เจอปัญหาทางเศรษฐกิจ ความไม่ต่อเนื่องของนโยบาย อินเดียก็ไม่ใช่ประเทศร่ำรวย ส่วนอาเซียนก็แทบจะลืมไปได้เลย

 

แล้วอาเซียนจำเป็นต้องมีจุดยืนไหม

จำเป็นสิ ตอนนี้ถามว่าเรากังวลว่าการแสดงท่าทีจะไปกระทบใครไหม แต่เราไม่เคยกังวลว่ามันจะกระทบเรารึเปล่า ซึ่งมันกระทบเราแล้ว

ผมคิดว่า อาเซียนควรรวมตัวและแสดงจุดยืนว่า เราเป็นเจ้าบ้านที่ต้องให้เกียรติกันบ้าง แม้อาเซียนอาจจะมีผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน แต่คำว่าเกียรติภูมิ (prestige) ของอาเซียน ควรจะมีบ้าง ไม่ใช่ว่าให้คนขาวหรือให้คนจีนมาบอกว่า เราต้องทำอะไร ไม่ใช่ต้องไปเกรงใจเขา แต่ต้องให้เขาเกรงใจเราบ้าง เพราะสุดท้ายถ้าสงครามเกิดในภูมิภาค คนที่อยู่ในสหรัฐฯ คงไม่ได้รับผลกระทบเท่าคนเอเชียหรือคนอาเซียนหรอก หรือเวลาจีนจะกดดันอะไร เขาก็ไม่ได้บีบสหรัฐฯ แต่มาบีบประเทศในอาเซียนนี่แหละ คือเราเกรงใจเขาตลอด แต่ไม่เคยเกรงใจตัวเองเลย

อย่างการออกเอกสารแสดงทัศนะของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on Indo-Pacific: AOIP) ยังดูเป็นการเอาใจจีนกับสหรัฐฯ เลย มันดูเหมือนเราไม่มีจุดยืน ไม่ชัดเจน อาจจะแสดงว่า เราตื่นตัวบ้าง แต่ก็ไม่มีประโยชน์ขนาดนั้น แม้อาเซียนจะอยากรักษาความสัมพันธ์ของสองมหาอำนาจ แต่การทำแบบนี้จะทำให้เราขาดจุดยืนชัดเจน และยิ่งทำให้อาเซียนกำหนดนโยบายหรือแสดงบทบาทในปัญหาทะเลจีนใต้หรือยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจไม่ได้เลย แทนที่เราจะเป็นคน steer the wheel ก็กลายเป็นให้มหาอำนาจมาควบคุมเราแทน

 

 

เมื่อมองโลกของการแข่งขันทางยุทธศาสตร์และความมั่นคง นอกจากสหรัฐฯ และจีน คุณว่ามีประเทศอะไรที่น่าสนใจ น่าพูดถึง และเป็นตัวแปรสำคัญในเรื่องความมั่นคงอีก

ประเทศหนึ่งที่คาดไม่ถึงคือ ออสเตรเลีย ซึ่งเพิ่งมีเอกสาร 2 ฉบับเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงของเขาขึ้นมา สิ่งที่น่าสนใจคือ ออสเตรเลียเป็นประเทศโอเชียเนียที่ชี้นำความเป็นไปของอาเซียนได้ ทั้งที่เขาเป็นประเทศนอกภูมิภาค แต่ออสเตรเลียมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในอาเซียนมีความสำคัญกับเขา ซึ่งที่น่าสนใจคือ ใครๆ ก็ไม่คิดว่าอาเซียนจะสำคัญกับออสเตรเลียอย่างไร

ตรงนี้ความเป็นมาเป็นไปคือ สหรัฐฯ เริ่มไม่มั่นใจในระบบพันธมิตรที่มีกับญี่ปุ่นและอินเดีย คือสหรัฐฯ มีข้อตกลงเรื่องความมั่นคงกับอินเดียนะ แต่อินเดียก็เกรงใจจีนเพราะถ้าอินเดียเลือกสหรัฐฯ สิ่งที่จะเจอคือ จีนจะสนับสนุนปากีสถาน ซึ่งเป็นหอกข้างแคร่ของอินเดียอยู่ แล้วอินเดียยังมีปัญหาข้อพิพาทเรื่องดินแดนกับจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ปากีสถานเองก็เริ่มคุกคามอินเดียเพราะจีนถือหาง ส่งเครื่องบินมาบินในแคชเมียร์ ยิงกันตกเป็นเรื่องเป็นราว และยังมีนิวเคลียร์อีก อินเดียก็ไม่กล้าเสี่ยง อีกอย่างคือ ถ้ามีอะไรมากระทบผลประโยชน์ของอินเดีย เขาจะไม่เกรงใจใครเลย มันเป็นกิมมิคของการทูตอินเดียมานานแล้ว ที่ไม่เลือกข้างใคร

ส่วนญี่ปุ่นมีเศรษฐกิจที่อ่อนแอมาก ทำอะไรมากไม่ได้ ยิ่งนายกฯ ชินโซ อาเบะ ประกาศลาออก ก็ยิ่งผีซ้ำด้ำพลอยเข้าไปอีก อีกอย่างคือญี่ปุ่นมีแต่กองกำลังป้องกันตนเอง (self-defense forces: SDF) ซึ่งโดนจำกัดบทบาทมาก กฎหมายและศาลรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นก็แข็งมาก คือคำว่าป้องกันตนเอง เขาก็ตีความว่าป้องกันเฉพาะประเทศตนเอง ต่อให้เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธโจมตีสหรัฐฯ ผ่านญี่ปุ่น ญี่ปุ่นก็ยังสกัดให้สหรัฐฯ ไม่ได้ เพราะผิดรัฐธรรมนูญ

ออสเตรเลียจึงขึ้นมาตรงนี้ โดยเสนอว่า ตนเองมีแผนยุทธศาสตร์ปี 2020 ที่จะคานอำนาจกับจีน กำหนดศัตรูแล้วว่าจีนเป็นภัยคุกคามของออสเตรเลีย และกำหนดแล้วว่าตนเองอยากจะขยายขีดความสามารถด้านการทหารของตนเองออกไป ออสเตรเลียก็เชื้อเชิญให้สหรัฐฯ มาลงทุน เพราะออสเตรเลียมีข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ด้วย ถ้าเรามองอาเซียนเป็นตัว V ออสเตรเลียก็จะอยู่ใต้ตัว V ช่วยเหลืออาเซียนได้ ออสเตรเลียเลยเสนอว่า ถ้าไม่อยากลงทุนในอาเซียนก็ให้ลงทุนในออสเตรเลียแทน

อีกอย่างคือ ออสเตรเลียไม่ใช่มหาอำนาจโดยตรง ถ้าไทยอยากเป็นพันธมิตรก็ย่อมได้เสมอ ตรงนี้เลยน่าสนใจมากๆ เพราะออสเตรเลียเป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้ให้สหรัฐฯ เห็นความสำคัญของอาเซียน บอกว่าให้มาลงทุนดีกว่า

 

ในยุคที่มหาอำนาจแข่งขันกันรุนแรงแบบนี้ คุณคิดว่าประเทศไทยควรมีนโยบายด้านความมั่นคงอย่างไร อนาคตแบบไหนรอเราอยู่

ไทยจะต้องไม่เลือกข้าง เพราะอนาคตเราถูกบีบแน่ๆ จีนบีบไปได้หลายประเทศแล้ว ทั้งลาวและกัมพูชาให้เข้าข้างจีน หรือแม้แต่เมียนมา ซึ่งแม้ไม่ได้เลือกข้างแบบชัดเจน แต่จีนได้ใจเมียนมาจากการที่จีนเลือกจะคุ้มครองเมียนมาในเรื่องโรฮิงญา เมียนมาจึงตอบแทนด้วยการบอกว่า ทะเลจีนใต้เป็นเรื่องของจีน

จะเห็นว่า เมื่อแต่ละประเทศทยอยไปแบบนี้ ไทยก็เริ่มลำบากแล้วว่าจะรักษาสมดุลความสัมพันธ์อย่างไร ก็จะเห็นว่าไทยมีการซื้ออาวุธ ลงทุน หรือให้สหรัฐฯ มาซ้อมรบ เพราะไทยไม่สามารถไปพูดอะไรตรงๆ หรือใช้เงินลงทุนได้ เราก็เป็นลูกค้าแทน เพราะคนขายชอบลูกค้าที่จงรักภักดีอยู่แล้ว

 

ถ้ามองในมิติของความมั่นคง ไทยจำเป็นต้องซื้อเรือดำน้ำจีนไหม

การซื้อเรือดำน้ำเป็นที่ถกเถียงกันมาก เพราะมีปัจจัยแทรกซ้อนมากมาย เช่น วิกฤตเศรษฐกิจหลังโควิด-19 หรือการซื้อภายใต้ระบอบที่ทหารมีอำนาจมาก เป็นต้น แต่ถ้ามองจากมุมความมั่นคงล้วนๆ ผมว่าจำเป็นต้องซื้อนะ

หนึ่งคือซื้อเพื่อรักษาสมดุลเรื่องการทูตของเรา เพราะกองทัพมีอาวุธเก่าเยอะ และเรือดำน้ำที่จีนยอมขายเป็นเรือที่มีระบบอาวุธซับซ้อน และเป็นระบบทางยุทธศาสตร์ที่ป้องปรามได้ เพราะสามารถยิงจรวดจากผิวน้ำไปโจมตีเป้าหมายทางบกได้ และในเมื่อจีนกล้าขายอาวุธที่พิเศษขนาดนี้ สหรัฐฯ ก็ต้องมีอะไรเท่าเทียมมาเสนอเหมือนกัน ซึ่งสิ่งที่สหรัฐฯ เสนอคือ รถเกราะสไตรเกอร์ เพราะเขาอยากให้เราสนิทกับเขาเหมือนกัน ไทยเลยมองว่านี่เป็นโอกาสอย่างหนึ่ง ก็ตักตวงผลประโยชน์เพื่อรักษาสมดุลระหว่างสองประเทศนี้

สอง คือ ไทยต้องการขยายแท่นขุดเจาะทางทะเลไปยังพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา ซึ่งกัมพูชามีกองทัพเรือแต่น้อยมาก แต่ความได้เปรียบของกัมพูชาคือ เขาเป็นประเทศเล็ก ถ้าไทยโจมตีก็เหมือนพี่รังแกน้อง แต่ถ้าเรามีเรือดำน้ำปฏิบัติการอยู่บริเวณอ่าวไทย ก็จะช่วยให้เขาเกรงใจเวลาเจรจาอะไรกัน หรือแม้แต่พื้นที่ที่ต้องเจรจากับมาเลเซีย ซึ่งเป็นการจัดการร่วมกัน (joint management) ที่อยู่ในพื้นที่ทะเลต่างๆ มาเลเซียก็มีเรือดำน้ำ การที่เราจะไปคุยกับเขาก็ควรจะมีศักยภาพใกล้เคียงกัน การมีเรือดำน้ำก็จะทำให้เรามีเสียงขึ้นมาบ้าง

อีกอย่างหนึ่งคือ การลงทุนในระบบอาวุธ เช่น เรือดำน้ำ ถูกกว่าการลงทุนกับระบบต่อต้านเรือดำน้ำ เพราะระบบต่อต้านต้องมีเรือรบที่มีระบบต่อต้านเรือดำน้ำ เฮลิคอปเตอร์ที่มีระบบปราบเรือดำน้ำ เครื่องบินที่มีระบบต่อต้านเรือดำน้ำ และมีเรดาร์ คือต้องมีเยอะเลย งบประมาณจึงจะบานปลายมากเพราะต้องเอาระบบเหล่านี้ติดตั้งเข้าไป และต้องทำให้เรือทุกลำมีระบบที่ตรวจจับเรือดำน้ำได้ ซึ่งยากและแพงมาก การซื้อเรือดำน้ำไปเลยจึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากกว่า

 

คนมักมองว่าความมั่นคงดูเป็นเรื่องที่ไกลตัว ในฐานะคนที่ศึกษาและสนใจเรื่องความมั่นคงมานาน คุณคิดยังไง จริงๆ ความมั่นคงใกล้ตัวเราแค่ไหน ทำไมคนธรรมดาทั่วไปต้องสนใจเรื่องความมั่นคง

ความมั่นคงอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา บนโต๊ะอาหารเราก็เป็นความมั่นคงแล้ว เช่น เกลือ เพราะในอดีต โรมันเคยทำสงครามเพื่อแย่งชิงเหมืองเกลือ เพราะเขาจ่ายเงินเดือนทหารหรือข้าราชการเป็นเกลือ หรือแม้แต่พริกไทย อบเชย หรือกาแฟ ก็เป็นข้ออ้างในการยึดอาณานิคมมาแล้ว ทุกอย่างเกี่ยวข้องกับเราหมด

ยิ่งในภาพกว้างปัจจุบัน เมื่อคนไม่เข้าใจเรื่องความมั่นคง เช่น เวลาเราเห็นคนมุสลิม สิ่งแรกที่คิดคือการก่อการร้าย เพราะเราไม่เข้าใจเรื่องความมั่นคงเลย เราแค่คิดว่า กลุ่มก่อการร้ายเป็นอิสลาม ซึ่งใครก็เป็นผู้ก่อการร้ายได้หมด แต่พอเราขาดความเข้าใจก็มองว่า ชาวมุสลิมเป็นผู้ก่อการร้าย เกิดอคติทางเชื้อชาติ กลายเป็นไม่อยากเข้าใกล้คนมุสลิม เกิดเป็นการเหยียดเชื้อชาติไปเรื่อย หรือแม้แต่เรื่องนิวเคลียร์ คนก็อาจจะมาล้อกับบั้งไฟไทย ว่านิวเคลียร์สู้บั้งไฟได้ไหม ซึ่งถ้าเกิดสงครามนิวเคลียร์ยิงใส่ไทยจริงๆ ลูกเดียวก็ทำกรุงเทพฯ ราบเป็นหน้ากองได้แล้ว หรือถ้าทุกประเทศมองว่า คนอื่นมีนิวเคลียร์ ตนเองก็ต้องมีด้วย ก็จะเกิดความไม่เข้าใจและนำไปสู่ความขัดแย้งได้หมด

นอกจากนี้ การมีความเข้าใจเรื่องความมั่นคงที่ถูกต้องทำให้เราถ่วงดุลความคิดกับรัฐบาลได้ เช่น สมมติมองแค่ว่ามีอาวุธนิวเคลียร์ก็ดีเพราะทำให้เราเข้มแข็ง แต่เราไม่ได้มองเลยว่า ปัญหาจริงๆ คือ ถ้าไทยมีนิวเคลียร์ก็อาจจะกระตุ้นให้ประเทศอื่นอยากมีตาม เข้าหลักทางแพร่งทางความมั่นคง (security dilemma) หรืออย่างเรือดำน้ำ เราเห็นคนบอกว่า ซื้อมาทำไม มาแก้ปัญหาน้ำท่วมหรอ ทั้งที่ปัญหาจริงๆ อยู่ที่ว่า ถ้าเรามีเรือดำน้ำ 3 ลำ มาเลเซียก็อาจจะอยากได้มากกว่า 3 ลำด้วย ถ้ามองในเรื่องความมั่นคง ประเด็นมันอยู่ตรงนี้มากกว่า

แต่ถ้าเราเข้าใจเรื่องความมั่นคง คำพูดของเราก็จะมีน้ำหนัก กระตุ้นให้คนในสังคมเห็นตามได้ด้วย และผมเชื่อว่าถ้าเราพูดมีน้ำหนัก มีเหตุผล ฝากคนที่น่าเชื่อถือได้ไปพูด ผู้นำฟังเรานะ แต่เราต้องเข้าใจจริงๆ ด้วย ไม่เช่นนั้นผู้นำก็แย้งเราได้หมด อย่างเรื่องที่ว่าซื้ออาวุธมาเพื่อถ่วงดุลการเจรจา ก็ถูกของเขานะ หรือถ้าบอกว่าซื้อมาทำไมในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี เรือดำน้ำก็เอามาคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลได้เหมือนกัน คือมันมีอะไรให้โต้แย้งได้หมด

เรื่องความมั่นคงมัน nonsense ไม่ได้ เพราะการที่เขาจะซื้ออาวุธต้องมีฐานอะไรสักอย่าง ไม่ใช่อยากซื้อก็ซื้อ อาจจะเป็นเรื่องหลักคิดความมั่นคง ความจำเป็นทางการทูต เพราะบางครั้ง ถ้าเราไม่มีตัวเลือกในการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดี การซื้ออาวุธก็เป็นวิธีหนึ่งในการรักษาสมดุลทางการทูตดังที่บอกไป เช่น ซื้ออาวุธของทั้งสหรัฐฯ และจีนเท่าๆ กัน แต่ถ้าเราเทไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นั่นแหละคือการเลือกข้าง ซึ่งอันตรายแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าจะค้านอะไรก็ควรค้านแบบเข้าใจและมีหลักการ ซึ่งเป็นเรื่องดีและน่าสนับสนุน

หรืออีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าไทยดูจะไปสนิทกับเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่นมากขึ้น คนก็จะมองว่า ทำไมไม่สนิทกับสหรัฐฯ หรือจีนแทน เราชอบมองนะว่า เราต้องสนิทกับประเทศใหญ่ๆ แต่ถ้าเราไปอยู่กับประเทศขนาดกลางแต่เศรษฐกิจเข้มแข็ง จะทำให้เรามีตัวเลือกที่จะไม่เลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ แต่ดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศที่สามเพื่อถ่วงดุลมหาอำนาจได้ ตรงนี้ก็เป็นอีกหนึ่งมุมมอง ซึ่งถ้าเราเข้าใจและสนใจเรื่องความมั่นคง ก็จะทำให้เราเห็นภาพพวกนี้ชัดเจนขึ้น เสียงของเราก็จะมีเหตุผลควรค่าพอให้สาธารณชนสนใจและสนับสนุนด้วย

 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save