fbpx
ญี่ปุ่นหลังยุคชินโซ อาเบะ กับ กิตติ ประเสริฐสุข

ญี่ปุ่นหลังยุคชินโซ อาเบะ กับ กิตติ ประเสริฐสุข

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

ที่มาภาพประกอบ http://www.kantei.go.jp/

 

 

“ความท้าทายที่สุดในทางการเมืองคือการทำสิ่งต่างๆ ให้บรรลุผล ซึ่งผมได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจตลอด 7 ปี 8 เดือนที่ผ่านมาในฐานะนายกรัฐมนตรีเพื่อทำสิ่งนี้ ผมต้องสู้กับอาการเจ็บป่วยและการรักษา สุขภาพร่างกายของผมไม่สมบูรณ์ และผมก็รู้สึกเจ็บปวดอย่างยิ่ง แต่นั่นไม่ใช่ข้ออ้างที่จะก่อความผิดพลาดในการตัดสินใจที่สำคัญทางการเมือง

เมื่อผมอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถทำตามความคาดหวังของประชาชนได้ ผมจึงตัดสินใจว่าตนเองไม่ควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป”

– ชินโซ อาเบะ (28 สิงหาคม 2563)

 

หลังจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมายาวนานเกือบ 8 ปี เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ชินโซ อาเบะ ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งด้วยปัญหาสุขภาพ จบเส้นทางการเป็นนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองญี่ปุ่น

ด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การประกาศลาออกของอาเบะสร้างแรงสั่นสะเทือนในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ขณะที่ภายในประเทศ ญี่ปุ่นเองก็ต้องเจอกับภาวะระส่ำระส่าย ทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และการจัดโอลิมปิกที่ต้องเลื่อนออกไปในปี 2021 จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า ญี่ปุ่นหลังยุคชินโซ อาเบะ จะเป็นอย่างไร ใครคือแคนดิเดตนายกฯ คนต่อไปที่น่าจับตามอง โจทย์ใหญ่อะไรที่รอนายกฯ คนใหม่อยู่ ความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ และประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นอย่างไรต่อไป และอะไรคือมรดกสำคัญที่อาเบะทิ้งไว้ให้ญี่ปุ่น

ก่อนรู้ผลแคนดิเดตนายกฯ คนใหม่ 101 สนทนากับ รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติ ประเสริฐสุข รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับญี่ปุ่นในยุคหลังชินโซ อาเบะ

หมายเหตุ: เรียบเรียงจากรายการ 101 One-On-One Ep.176 : “ญี่ปุ่นหลังยุคชินโซ อาเบะ” – กิตติ ประเสริฐสุข (บันทึกเทปเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2563)

 

 

ตลอดระยะเวลาเกือบ 8 ปีที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ดำรงตำแหน่ง คนญี่ปุ่นมองอาเบะอย่างไร และเขาน่าจะถูกจดจำในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นแบบไหน

เราต้องเข้าใจก่อนว่า อาเบะดำรงตำแหน่งครั้งนี้เป็นรอบที่สอง โดยในรอบแรก เขาดำรงตำแหน่งอยู่เพียง 1 ปี (2006-2007) ก่อนจะลาออกด้วยปัญหาสุขภาพเดียวกันกับครั้งนี้ คือโรคลำไส้อักเสบ ต่อมาในปี 2012 อาเบะกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งและอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือ อาเบะเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ซึ่งระหว่างการดำรงตำแหน่ง ก็มีข้อจดจำความโดดเด่น หรือสิ่งที่คนญี่ปุ่นจะจดจำอาเบะได้หลายประการ

ประการแรก อาเบะโนมิกส์ (Abenomics) คือการที่เขาพยายามเน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมาก มีหลายมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งนำสุภาพสตรีเข้ามาในตลาดแรงงานมากขึ้น หรือที่เรียกว่า Womenomics เพราะญี่ปุ่นขาดแคลนแรงงาน ช่วงอาเบะจึงมีทั้งนโยบายและสวัสดิการ เช่น ให้คุณพ่อลางานเพื่อเลี้ยงลูกได้เป็นปี หรือมีมาตรการสนับสนุนครอบครัว คือให้เงินสนับสนุนการมีบุตร ส่วนหนึ่งก็เพื่อบรรเทาปัญหาการเกิดน้อยในญี่ปุ่นด้วย

นอกจากเรื่องนี้ ก็ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายแบบ โดยเฉพาะเศรษฐกิจในต่างจังหวัดหรือในเขตพื้นที่อื่นๆ เพราะญี่ปุ่นประสบปัญหาอย่างหนึ่งคือ คนอยู่ในเมืองเยอะ แต่อยู่ในท้องถิ่นต่างจังหวัดน้อย ทำให้เมืองต่างจังหวัดค่อนข้างซบเซา

จะเห็นว่า ในช่วงอาเบะมีการออกนโยบายเศรษฐกิจหลายอย่าง ทำให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาได้บ้าง ตลาดหุ้นก็ขึ้น เรียกได้ว่าช่วงอาเบะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจดีกว่าช่วงก่อนหน้า ถึงจะไม่ได้มากเพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นโตช้า แต่ก็นับได้ว่าดูดีกว่ายุคก่อน

ประการที่สอง อาเบะมีภาวะผู้นำสูง อยู่ในตำแหน่งได้นาน ถ้าเราย้อนกลับไปในช่วงที่อาเบะลาออกครั้งแรก นายกฯ ญี่ปุ่นคนต่อๆ มาดำรงตำแหน่งได้ปีเดียวหรือไม่ถึงปีก็เปลี่ยนคน เรียกได้ว่ามีปัญหาภาวะผู้นำในรัฐบาล และในช่วงที่พรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น (DJP) ขึ้นเป็นนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นยุกิโอะ ฮะโตะยะมะ หรือโยะชิฮิโกะ โนะดะ เราจะจำชื่อไม่ค่อยได้หรอกครับ เพราะเปลี่ยนบ่อยเหลือเกิน อีกทั้งรัฐบาลพรรค DJP ก็ไม่ได้แสดงถึงความสามารถในการบริหารประเทศ รวมถึงการทำงานกับราชการ เพราะเป็นฝ่ายค้านมาตลอด เมื่อเป็นรัฐบาลก็เหมือนกระบวนการทำงานยังไม่ลงตัว ประกอบกับเกิดวิกฤต 3.11 (แผ่นดินไหวรุนแรงในบริเวณแถบตะวันออกเฉียงเหนือ หรือแถบโทโฮคุ ทำให้เกิดคลื่นสึนามิ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุคุชิม่าระเบิด) ในปี 2011 ทำให้นายกฯ ตอนนั้นถูกโจมตีเรื่องภาวะผู้นำ พอมีการเลือกตั้งครั้งต่อมา คนจึงหวนกลับมาเลือกพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) และทำให้อาเบะดำรงตำแหน่งนายกฯ จนถึงปัจจุบันนี้

ประการที่สาม คือ อาเบะสามารถบริหารจัดการความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ได้ดี แม้จะเป็นยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ฟาดงวงฟาดงา เรียกร้องนู่นนี่จากประเทศอื่นไปทั่ว ซ้ำยังออกจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) ความสัมพันธ์ของสองประเทศก็ยังราบรื่นอยู่ เรื่องฐานทัพก็ไม่มีปัญหาเหมือนในยุค DJP ส่วนความสัมพันธ์กับจีนที่กระท่อนกระแท่น บาดหมางมาตั้งแต่ช่วงปี 2000 ก็ถือได้ว่า ดีขึ้นในช่วงหลัง และมาปรับความสัมพันธ์กันได้ในยุคของอาเบะ

อย่างไรก็ดี การปรับความสัมพันธ์ตรงนี้ต้องให้เครดิตทรัมป์ด้วย เพราะอย่างที่บอกว่าทรัมป์ฟาดงวงฟาดงาไปทั่ว สงครามการค้า (trade war) ก็ไม่ได้กระทบแค่จีน แต่ชาติอื่นที่เกินดุลการค้าก็โดนมาตรการบางอย่างเช่นกัน เพราะฉะนั้น ความน่าเชื่อถือของทรัมป์ก็จะน้อย ญี่ปุ่นกับจีนก็รู้สึกว่า ขัดแย้งกันมานานแล้ว ก็น่าจะหันมาปรองดองกันสักหน่อย ทำให้อาเบะกลายเป็นนายกฯ ญี่ปุ่นคนแรกในรอบ 20 ปีที่เดินทางเยือนจีนได้

อีกอย่างที่น่าสนใจคือ อาเซียน ซึ่งอาเบะถือว่ามีบทบาทใน 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ อาเบะได้เดินทางเยือนประเทศอาเซียนครบ 10 ประเทศ ภายในปี 2013 ซึ่งเป็นปีแรกที่เขาดำรงตำแหน่ง เรียกได้ว่าเขาให้ความสำคัญกับอาเซียนอย่างยิ่ง เรื่องที่สองคือ อาเบะได้ตั้งกองทุนเพื่อเพิ่มการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างญี่ปุ่นกับอาเซียน มีทุน Jenesys มีการสนับสนุนเงินในการทำกิจกรรมร่วมกัน จัดสัมมนา จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของเยาวชน หรือจัดนิทรรศการต่างๆ ตรงนี้ก็ถือว่า เขาดำเนินนโยบายต่างประเทศได้โอเคอยู่

ประการที่สี่ คือ การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เราคงคุ้นชินกับภาพที่อาเบะแต่งตัวเป็นมาริโอ้ไปรับธงเจ้าภาพที่ประเทศบราซิล ตรงนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นการทูตสาธารณะ (public diplomacy) ที่น่าดึงดูดต่อสาธารณชน และนับได้ว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ญี่ปุ่นทางหนึ่ง

แต่แน่นอน ระหว่างการดำรงตำแหน่งที่ยาวนานก็ย่อมมีปัญหาเกิดขึ้น ปัญหาหลักๆ ของอาเบะคือกรณีอื้อฉาว (scandal) กรณีแรกเป็นเรื่องที่อาเบะใช้อำนาจหน้าที่เพื่อเอื้อให้เพื่อนได้ใบอนุญาตพิเศษในการใช้ที่ดินแถบคันไซ ซึ่งญี่ปุ่นจะถือเรื่องคอร์รัปชันและการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบแบบนี้มาก คะแนนนิยมอาเบะเลยตกลงอยู่พักหนึ่ง อีกเรื่องคือการพาคนไปชมซากุระ คือพวกนักการเมืองจะมีกลุ่มฐานเสียงของตนเอง และก็จะมีการเอนเตอร์เทนกลุ่มฐานเสียงเหล่านี้ ปรากฏว่ามีการใช้เงินหลวงโดยมิชอบ ก็กลายเป็นอีกหนึ่งกรณีอื้อฉาว ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศอื่นอาจจะดูว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่เท่าไหร่ เม็ดเงินก็ไม่ได้เยอะ แต่ถ้าเป็นประเทศที่มีมาตรฐานสูงทางประชาธิปไตยจะถือว่านี่เป็นเรื่องใหญ่มาก

 

ถ้าพูดให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น อะไรคือมรดกสำคัญที่อาเบะทิ้งไว้ให้ญี่ปุ่น

หนึ่งในประเด็นสำคัญคือ เรื่องกฎหมายความมั่นคง ซึ่งพัวพันกับการแก้รัฐธรรมนูญด้วย ตรงนี้ต้องย้อนไปในปี 2015 ที่เราเห็นคนญี่ปุ่นเรือนแสนออกมาประท้วงไม่ให้รัฐสภาออกกฎหมายความมั่นคงใหม่ (new security law) ซึ่งกฎหมายนี้จะอนุญาตให้กองกำลังป้องกันตนเอง (self-defense forces: SDF) เข้ามามีบทบาทด้านความมั่นคงระหว่างประเทศได้มากขึ้น หรือมีการป้องกันร่วมกัน (collective self-defense)

ตรงนี้หมายความว่า ถ้าเรามีข้อตกลงร่วมกับประเทศไหน และประเทศนั้นโดนโจมตี เราจะต้องเข้าไปช่วย หรือถ้าเราถูกโจมตี อีกฝ่ายก็จะเข้ามาช่วยเช่นกัน เช่น สหรัฐฯ กับญี่ปุ่น แต่ในกรณีที่ญี่ปุ่นโดนโจมตี เดิมมีอยู่แล้วว่าสหรัฐฯ ต้องเข้ามาช่วย แต่การที่ญี่ปุ่นต้องไปช่วยสหรัฐฯ ยังไม่ชัดเจนว่าจะช่วยแบบไหน แบบขนส่งโลจิสติกส์ คุ้มกันเรือ หรือว่าอย่างไร เพราะกฎหมายนี้กินความกว้างมาก สมมติจีนกับฟิลิปปินส์มีปัญหากันเรื่องทะเลจีนใต้ ตามกฎหมายญี่ปุ่นจะส่งกำลังทหารไปช่วยได้ แต่คนญี่ปุ่นก็มองว่า นี่จะทำให้ญี่ปุ่นเข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งระหว่างประเทศอีก หรือจะกลับไปสู่สงครามอีกครั้ง ซึ่งคนญี่ปุ่นครึ่งหนึ่งก็ไม่เห็นด้วย แต่ฟากฝั่งคนที่เห็นด้วยก็มี เพราะเขามองว่าญี่ปุ่นถูกจำกัดบทบาทมานานแล้ว

ขณะที่ตัวอาเบะก็มีแนวคิดว่า เรามีทหาร แต่ทำไมไม่สามารถมีบทบาทอะไรได้เลย ดูแล้วมันฝืนธรรมชาติ เพราะเวลาญี่ปุ่นจะส่งกองกำลังไปรักษาสันติภาพที่ไหนก็ต้องไปกับสหประชาชาติ (UN) ไม่เช่นนั้นก็ต้องออกกฎหมายเฉพาะกิจ เช่น ในปี 2002-2003 ที่สหรัฐฯ บุกอิรัก ตอนนั้นก็ไม่มีมติสหประชาชาติมารองรับ ญี่ปุ่นจึงต้องออกกฎหมายเฉพาะกิจเพื่อฟื้นฟูอิรัก จะได้ส่งกองกำลังไปอิรักได้ ไม่ใช่ไปรบด้วยนะ แต่ไปเป็นทหารช่างหรือทหารแพทย์ หรืออย่างตอนอัฟกานิสถานก็มีกฎหมายอีกฉบับ ตรงนี้ถ้ามองในเรื่องความมั่นคงก็รู้สึกได้ว่า มันไม่เป็นธรรมชาติ ต้องออกกฎหมายเพื่อส่งทหารไปแต่ละครั้งๆ เลยคิดจะออกกฎหมายที่เคลียร์พวกนี้ทั้งหมด ถ้าจะไปก็ไปได้เลย

 

เมื่อพูดถึงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในมาตรา 9 ที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของกองกำลังป้องกันตนเอง เราจะเห็นความพยายามของอาเบะในการแก้รัฐธรรมนูญมาโดยตลอด แม้คนญี่ปุ่นส่วนหนึ่งจะดูไม่เห็นด้วย แล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีนัยสำคัญอย่างไร ทำไมอาเบะจึงอยากจะแก้รัฐธรรมนูญให้ได้

ต้องอธิบายก่อนว่า รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นออกมาตั้งแต่ปี 1946 (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด 1 ปี) และประกาศใช้จริงในปี 1947 ผ่านมาแล้ว 73 ปี รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เคยมีการแก้ไขเลย มีแต่การตีความรัฐธรรมนูญ คือที่ผมบอกว่ามีการออกกฎหมายเฉพาะกิจเพื่อส่งทหารไปอิรักหรืออัฟกานิสถาน

ในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นบัญญัติไว้ว่า ญี่ปุ่นสละสิทธิในการใช้กำลังแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างประเทศ หมายความว่า ญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องมีทหาร ซึ่งเราต้องเข้าใจก่อนว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ญี่ปุ่นไม่ได้มีเอกราช แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ มาปกครองและร่างรัฐธรรมนูญให้ ถึงญี่ปุ่นจะมีบทบาทบ้าง สหรัฐฯ ก็มาจัดการเสียเยอะกว่า ส่วนคนญี่ปุ่นก็ไม่ได้ขัดขืนอะไร แต่รู้สึกว่า มันต้องเป็นแบบนี้แหละ ต้องเป็นประชาธิปไตย เพราะเข็ดแล้วกับการมีทหารหรือลัทธิทหารนิยม พวกเขาจึงยอมที่จะไม่มีทหาร

 

อะไรคือจุดเปลี่ยนจากการไม่มีทหารไปสู่การมีกองกำลังป้องกันตนเอง

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในปี 1950 คือหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญแค่ 3 ปี ตอนนั้นเกิดสงครามเกาหลี สหรัฐฯ ต้องการให้ญี่ปุ่นช่วยส่งทหารไปรบ เพราะเกาหลีใกล้กับญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นปฏิเสธโดยอ้างมาตรา 9 ที่สละสิทธิใช้กำลังแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างประเทศ สหรัฐฯ ก็ยังผลักดันให้ญี่ปุ่นตั้งกองกำลังอะไรสักอย่างขึ้นมา จนกลายเป็นการจัดตั้ง ‘ตำรวจพลเรือน’ และเปลี่ยนเป็น ‘กองกำลังป้องกันตนเอง’ ในเวลาไม่กี่ปีหลังจากนั้น ตรงนี้เกิดจากการตีความรัฐธรรมนูญว่า แม้ญี่ปุ่นสละสิทธิการแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างประเทศ แต่ยังมีสิทธิปกป้องประเทศของตนได้

 

กองกำลังป้องกันตนเองแตกต่างจากกองทัพหรือทหารอย่างไร

จริงๆ กองกำลังป้องกันตนเองก็คือทหารแหละครับ แต่เรียกทหารไม่ได้ ตอนแรกก็จะเป็นกองกำลังไม่ใหญ่ แต่ตอนนี้ก็ขยายตัวขึ้นแล้ว และอย่าลืมอย่างหนึ่งว่า ญี่ปุ่นมีงบประมาณสูง เพราะขนาด GDP ใหญ่ แม้ญี่ปุ่นจะบอกว่าเขาใช้ GDP เพื่อการกลาโหมไปเพียง 1% แต่ก็ถือเป็นเงินเยอะ และยังซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ ได้เต็มที่

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีอาวุธล้ำสมัยนะครับ เครื่องบินขับไล่ F-35 Stealth มีเป็นฝูงเลย เรือรบก็ต่อเองได้ เรือบรรทุกเครื่องบินก็ทำเองได้ แต่ที่น่าสนใจคือ เขาจะไม่เรียกว่าเรือบรรทุกเครื่องบินขับไล่ เพราะมีนัยของการโจมตี แต่เรียกว่าเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์แทน เพราะจะมีนัยของการกู้ภัย

จะเห็นว่า มาตรา 9 เป็นเหมือนข้อจำกัดที่ทำให้ญี่ปุ่นทำอะไรได้ลำบาก ยิ่งเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปในช่วงสงครามเย็น เกิดสงครามอิรักครั้งแรกในปี 1990-1991 ที่อิรักในสมัยซัดดัม ฮุสเซน บุกยึดคูเวต ตอนนั้นหลายๆ ชาติรวมทั้งสหรัฐฯ ก็นำกองกำลังไปช่วย ซึ่งตอนนั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ แย่มาก แต่ญี่ปุ่นที่ไม่ได้ส่งกองกำลังไปช่วยมีเศรษฐกิจดีมาก ทำให้สหรัฐฯ ไม่พอใจว่าทำไมญี่ปุ่นไม่ช่วยลงแรงด้วย ตรงนี้เลยกลายเป็นปมของญี่ปุ่นที่ไม่อยากจะมีข้อจำกัดนี้ จนนำไปสู่การที่ญี่ปุ่นส่งทหารมาที่กัมพูชาในปี 1993 เพื่อช่วยจัดการเลือกตั้ง

 

นอกจากข้อจำกัดด้านความมั่นคง การแก้รัฐธรรมนูญเกิดจากตัวอาเบะเองด้วยไหม

อาเบะเป็นนักการเมืองแนวชาตินิยม เขาก็ต้องการจะแก้ไขตรงนี้ให้ได้ ไม่อยากให้ติดอยู่ตลอดเวลา เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว และใช่ว่าญี่ปุ่นจะกลับไปสู่หนทางทหารนิยมอีก ตอนนี้ญี่ปุ่นก็ไม่มีการเกณฑ์ทหารแล้ว เวลาจะรับสมัครคนเข้ากองกำลังป้องกันตนเองก็ต้องเอา AKB48 ไปประชาสัมพันธ์ดึงดูดคนมาสมัครเลย เรียกได้ว่าไม่ได้ดุเดือดเหมือนเดิมแล้ว

อีกอย่างหนึ่ง เราต้องเข้าใจพื้นเพครอบครัวของอาเบะด้วย คุณพ่อของเขา คือชินทาโร อาเบะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในยุค 1980 และตัวอาเบะก็เป็นนักการเมืองจากจังหวัดยามากุจิ อยู่ทางตอนใต้ของเกาะคอนชูซึ่งเป็นเกาะใหญ่สุด โดยยามากุจิจะอยู่ส่วนปลายที่จะไปคิวชูแล้ว ถามว่าตรงนี้สำคัญยังไง ต้องบอกว่าแถบคิวชู ชิโกกุ และปลายคอนชูเรียกว่าเป็นจังหวัดของพวกซามูไรกู้ชาติ ในยุคปฏิรูปเมจิเมื่อกลางศตวรรษที่ 19 ในปี 1868 ซามูไรในแถบนี้จะอยู่ไกลจากโชกุน ทำให้โชกุนคุมไม่ค่อยได้ กลุ่มซามูไรนี้ก็ไปโค่นล้มโชกุนในปี 1868 และอัญเชิญสมเด็จพระจักรพรรดิมาครองอำนาจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฉะนั้น กลุ่มคนในจังหวัดพวกนี้จะมีเลือดรักชาติแรงมาก เป็นกลุ่มที่ออกแนวขวา ไปทางอนุรักษนิยม

อาเบะก็เป็นตัวแทนของนักการเมืองแบบนี้เลย คือเป็นนักการเมืองอนุรักษนิยมฝ่ายขวาที่อยากให้ญี่ปุ่นกลับมามีบทบาท แต่ไม่ใช่บทบาทในการทำสงคราม แค่รู้สึกว่าต้องการให้ญี่ปุ่นมีเกียรติภูมิ จะได้สมกับที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจด้วย ตรงนี้ก็อาจเรียกได้ว่า เป็นแรงบันดาลใจส่วนตัวของอาเบะเช่นกัน

 

 

อาจารย์มองว่า พรรค LDP หรือนายกฯ คนต่อไปจะสานต่อเจตนารมณ์การแก้รัฐธรรมนูญของอาเบะไหม

คนที่น่าจะมาเป็นนายกฯ คนใหม่ คือ โยชิฮิเดะ สึงะ เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและโฆษกรัฐบาล คนนี้คือตัวเก็งในการเลือกประธานพรรค LDP วันที่ 14 เลยครับ ซึ่งดูแล้ว ก็น่าจะมีนโยบายสานต่อจากอาเบะเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอาเบะโนมิกส์ แต่ถ้าเป็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าอาจจะไม่ได้แข็งขันเท่าอาเบะ เพราะอาเบะมีแรงบันดาลใจส่วนตัวอย่างที่บอกไป แต่สึงะจะไม่ได้เน้นเรื่องนี้เท่าไหร่ คืออาจจะพูดถึงบ้าง แต่ไม่ได้กระตือรือร้นเท่า

 

ถ้าพูดถึงนโยบายอาเบะโนมิกส์ ตอนที่เกิดนโยบายนี้ขึ้น บริบทสภาพแวดล้อมต่างๆ เป็นอย่างไร ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน

ในช่วงปี 90 เศรษฐกิจเกิดภาวะฟองสบู่แตก แต่ยังไม่ถึงขนาดแย่มาก จนมาพอช่วงปี 2000 นี่ชัดเจนเลยว่า เศรษฐกิจซึมยาว เราอย่าลืมว่าญี่ปุ่นมีปัญหาผู้สูงอายุเยอะ เขาเลยต้องใช้วิธีขึ้นภาษีผู้บริโภค (sales tax) แทน คล้ายๆ กับที่บ้านเรามีภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ญี่ปุ่นซื้ออะไรก็ต้องเสียภาษี ตอนนี้ขึ้นภาษีมาได้ 10% แล้ว ซึ่งถ้าย้อนไปก่อนอาเบะจะมาดำรงตำแหน่ง เศรษฐกิจดีขึ้น แต่พอรัฐบาลขึ้นภาษี เศรษฐกิจก็ตกเลย เพราะฉะนั้น ความพยายามอย่างหนึ่งของอาเบะคือ ไม่ให้การขึ้นภาษีผู้บริโภคไปทำลายเศรษฐกิจที่กำลังกระเตื้องขึ้น การตัดสินใจหลายครั้งก็ต้องเลื่อนออกไป แต่ในที่สุดก็ต้องขึ้นภาษีอยู่ดี ขึ้นมาหลายขยักพอสมควร ดูแล้วเขาก็จัดการการขึ้นภาษีได้ค่อนข้างดี ซึ่งจริงๆ เศรษฐกิจย่อมมีการกระตุกอยู่แล้ว แต่ก็ถือว่าพอไปได้ เพราะโจทย์เศรษฐกิจเป็นเรื่องยากมาก กล่าวคือ เศรษฐกิจดี แต่ก็ต้องเก็บภาษีให้ได้เยอะเพื่ออุดหนุนผู้สูงอายุ ทั้งเรื่องบำนาญ เรื่องรักษาพยาบาล หรือสวัสดิการสังคม เรียกได้ว่าต้องเดินบนเส้นทางที่ยากลำบากมาก

อีกเรื่องคือ ความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจในท้องถิ่น ซึ่งก็มีมาตรการหลายอย่างเพื่อช่วยอุดหนุนธุรกิจและผู้ประกอบการในท้องถิ่น ที่ผ่านมา เราเห็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า U-Turn คือคนที่เคยออกจากท้องถิ่นไปแล้วกลับมาทำงานในท้องถิ่น อาจมาเป็นผู้ประกอบการ ทำฟาร์มขนาดเล็ก และยังมีปรากฏการณ์ I-Turn คือคนที่มาจากเมืองอื่น ท้องถิ่นอื่น หรืออาจจะมาจากในเมือง มาปักหลักเป็นผู้ประกอบการในท้องถิ่นหนึ่งๆ ญี่ปุ่นก็มีความพยายามตรงนี้ แต่ก็ต้องทำงานอีกเยอะ

ในส่วนของภาคการผลิตและภาคการจ้างงาน สิ่งที่เห็นผลชัดจากนโยบายอาเบะโนมิกส์คือ คนญี่ปุ่นว่างงานน้อยลง เพราะก่อนอาเบะจะเข้ามาเป็นนายกฯ คนว่างงานเยอะ หรือทำงานแบบไม่เต็มเวลา ภาษาญี่ปุ่นจะเรียกคนเหล่านี้ว่า Freeter คือคนทำงานอิสระ แม้อายุมากแล้วก็ยังไม่มีงานประจำ แต่ในยุคอาเบะมีมาตรการอัดฉีดงบประมาณต่างๆ เข้าไป ซึ่งก็ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ดีมาก ตรงนี้เราต้องเข้าใจก่อนว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นเป็นแบบ mature economy คือสุกงอมแล้ว โตได้ค่อนข้างลำบาก

 

ในช่วงโควิดที่ผ่านมา อาจารย์เห็นมาตรการเศรษฐกิจอะไรที่น่าสนใจบ้าง

เราจะเห็นการให้งบสนับสนุนธุรกิจเพื่อให้ย้ายจากจีนกลับไปที่ญี่ปุ่น ตรงนี้มีเงินสนับสนุนมหาศาลเลย เพราะญี่ปุ่นเห็นแล้วว่า ถ้ามีฐานการผลิตหรือมี supply chain อยู่นอกประเทศมากเกินไป เมื่อเกิด disruption เช่น โรคระบาด หรือมีปัญหาทางการเมืองระหว่างกันมากๆ จะทำให้เกิดการชะงักงัน

ถ้าเป็นไปได้ ก็ต้องบอกว่าเขาอยากเอาธุรกิจกลับมาทั้งหมด แต่แน่นอนว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าธุรกิจต้องใช้แรงงานเยอะก็อาจจะต้องไปที่เวียดนาม อินโดนีเซีย หรือไทย แต่ผมว่านโยบายอาเบะโนมิกส์ในยุคสุดท้ายน่าสนใจมาก คือญี่ปุ่นกลัวว่าสายการผลิตในบ้านเขาจะหดหายไปทุกทีๆ เพราะไปผลิตในต่างประเทศ

 

ดังที่กล่าวไปบ้างแล้วว่า อาเบะทำให้ความสัมพันธ์ญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ดีขึ้นมาก อีกทั้งญี่ปุ่นยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทสำคัญในยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในสมาชิก Quad (ประกอบด้วยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย) ตรงนี้อาจารย์มองว่า ความสัมพันธ์หลังจากยุคอาเบะจะเป็นอย่างไร

ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ก็น่าจะดีต่อไป เพราะอาเบะวางพื้นฐานไว้ดี และถ้าสึงะขึ้นมาเป็นนายกฯ เขาก็น่าจะสานต่อ ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์มีสะดุดบ้างในยุค DJP เพราะเขาบอกว่าไม่เอาฐานทัพสหรัฐฯ ตรงนี้ก็จะเป็น drastic proposal เป็นข้อเสนอที่ค่อนข้างแรงซึ่งสหรัฐฯ ก็รับไม่ค่อยได้ แต่อาเบะจะมีความประนีประนอม คุยกับทรัมป์รู้เรื่อง ยกเว้นเรื่องการเข้าร่วม TPP ที่ยังไงทรัมป์ก็ไม่เอา

แต่เรื่องที่ผมว่าน่าสนใจมากคือ ในนโยบายอินโด-แปซิฟิก ประเทศที่กระตือรือร้นที่สุดคือญี่ปุ่นในยุคอาเบะ ที่ผ่านมา ทรัมป์ไม่ได้ใส่ใจอินโด-แปซิฟิกขนาดนั้น จะไปเน้นเรื่องเศรษฐกิจ สงครามการค้า (trade war) หรืออเมริกาต้องมาก่อน (America First) มากกว่า ส่วนเรื่องอินโด-แปซิฟิกจะให้กระทรวงกลาโหม (The Pentagon) ดูแล กลับเป็นญี่ปุ่นมากกว่าที่ออกหน้าในเรื่องนี้ และในยุคที่ความสัมพันธ์กับจีนยังไม่ค่อยดี ผมมองว่าญี่ปุ่นแทบเป็นตัวตั้งตัวตีอินโด-แปซิฟิกมากกว่าสหรัฐฯ อีก

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีการพูดข่มจีนด้วยว่า เราจะใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ (quality infrastructure) เพราะโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีนจะเน้นเรื่องสร้างรถไฟ ถนน และท่าเรือต่างๆ ญี่ปุ่นก็บอกว่าเรามีโครงสร้างพื้นฐานเหมือนกัน แต่มีคุณภาพ ก็คือเขาไปว่าจีนไม่มีคุณภาพนั่นเอง เรียกได้ว่าญี่ปุ่นมาแรง และไม่เอา BRI เลยในช่วงแรกเพราะความสัมพันธ์ไม่ดี

แต่เมื่อปี 2019 ที่อาเบะไปเยือนจีนได้ เขาก็บอกว่า BRI สามารถร่วมมือกันได้นะ จะร่วมมือในประเทศที่สามก็ได้ ซึ่งสี จิ้นผิง ก็เห็นพ้องกับอาเบะ ประเทศที่สามผมว่าน่าจะหมายถึงไทย เพราะไทยมีรถไฟระบบจีนแล้วหนึ่งสาย และยังอยากจะให้ญี่ปุ่นได้สักสาย และถ้ารถไฟมาเชื่อม (joint) กันที่กรุงเทพฯ ก็ต้องมีการประสาน (harmonise) ระบบหรือซอฟต์แวร์ต่างๆ ให้กลมกลืนกัน ซึ่งแม้จะยังไม่ได้มีความตกลงอะไรกัน แต่ผมว่าเรื่องนี้น่าสนใจมาก

 

ถ้ามองความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (จีน เกาหลีใต้ และเกาหลีเหนือ) อาเบะดำเนินนโยบายกับเพื่อนบ้านได้ดีขนาดไหน และความสัมพันธ์ต่อจากนี้น่าจะเป็นไปในทิศทางใดต่อ

อย่างที่ผมบอกไปว่า ความสัมพันธ์กับจีนก็ปรับตัวดีขึ้น แต่ไม่ยั่งยืนนะ ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรนิดเดียวก็น่าจะพลิกไปได้เลย ประวัติศาสตร์ก็ยังเป็นบาดแผลกันอยู่

ประเทศที่น่าสนใจคือเกาหลีใต้ เมื่อราว 2 ปีก่อน ญี่ปุ่นประกาศสงครามการค้ากับเกาหลีใต้ คือประกาศว่าจะไม่ส่งสินค้าประเภทสารกึ่งตัวนำ (semiconductor) หรือชิ้นส่วนสำคัญๆ ให้ ซึ่งที่ญี่ปุ่นมีมาตรการแบบนี้เพราะปัญหาเรื่องหญิงบำเรอ (comfort women)

จริงๆ ในประเด็นเรื่องหญิงบำเรอ ญี่ปุ่นเคยตกลงกับอดีตประธานาธิบดีหญิงพัก กึน-ฮเย เรียบร้อยแล้วว่า เกาหลีใต้จะไม่เรียกร้องอะไรอีก และญี่ปุ่นจะให้เงินช่วยเหลืออะไรต่างๆ แต่พอมาสมัยประนาธิบดีคนปัจจุบันคือมุน แจอิน เขาเป็นสาย NGOs คือจะสนใจเรื่องหญิงบำเรอกับกลุ่มประชาสังคมมาก จะว่าไปเรื่องนี้ก็น่าเห็นใจทั้งคู่ เพราะทั้งสองประเทศเคยคุยกันตั้งแต่ยุค 90 แล้วว่าให้จบเรื่องนี้ เกาหลีใต้ก็ว่าเรื่องนี้ก็จบยาก แต่ถ้ามองในมุมญี่ปุ่น ก็ไม่รู้ว่าเรื่องนี้จะไปถึงเมื่อไหร่ จะไม่สิ้นสุดเลยหรอ เพราะเกาหลีใต้จะไปสร้างอนุสาวรีย์หลายที่ ทั้งที่เมืองราชการใหม่ หรือที่ต่างประเทศก็มี ที่สำคัญคือตั้งอนุสาวรีย์ที่ทางเท้าตรงข้ามสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงโซล นี่ก็ทำให้ญี่ปุ่นไม่พอใจมานาน มองว่ามันเกินไปไหม เรียกทูตกลับเลยก็มี ฝั่งรัฐบาลเกาหลีใต้ก็บอกว่า เขาทำอะไรไม่ได้ เพราะนี่เป็นเรื่องของ NGOs กับประชาสังคมที่ทำ

เรื่องพวกนี้เกิดมาตั้งแต่ก่อนยุคอาเบะแล้ว แต่พอมุน แจอินขึ้นมา ก็ฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมาอีก ทั้งที่ตกลงกับพัก กึน-ฮเยไปแล้วว่าขอให้เรื่องจบ ญี่ปุ่นจึงรู้สึกว่าตนเองจำเป็นต้องตอบโต้บ้าง จึงกลายเป็นที่มาของการระงับการส่งชิ้นส่วนที่จำเป็นให้เกาหลีใต้ ตอนนั้นเกาหลีใต้ก็ลำบากมาก แต่ตอนนี้สถานการณ์ก็คลี่คลายแล้ว ที่น่าสนใจคือตัวอาเบะที่มีความแข็ง ต่างจากนายกฯ คนอื่นที่ไม่ค่อยกล้าในเรื่องสงครามโลก จะโอนอ่อนเพราะรู้สึกว่าตนเองมีชนักติดหลัง แต่อย่างที่บอกว่าอาเบะมาจากเมืองซามูไรกู้ชาติ ก็จะมีสปิริตความเป็นสายแข็งเรื่องชาตินิยมอยู่

สำหรับเกาหลีเหนือ อาเบะเป็นคนที่เล่นประเด็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นโดนเกาหลีเหนือลักพาตัวมาตลอด ในสมัยของนายกฯ จุนอิชิโร โคอิซูมิ อาเบะดำรงตำแหน่งเลขาฯ ของโคอิซูมิ และได้เดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือในช่วงปี 2000 ตรงนี้มีเรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งคือ ในห้องที่หารือกัน ฝ่ายญี่ปุ่น ซึ่งเข้าใจว่าเป็นตัวอาเบะเองนั่นแหละ ไปพบเครื่องดักฟังจากเกาหลีเหนืออยู่ที่แจกันดอกไม้ พอมาเป็นนายกฯ อาเบะก็มีบทบาทสำคัญในเรื่องเกาหลีเหนือ และพยายามปกป้องสิทธิของครอบครัวผู้ที่ถูกลักพาตัวมาโดยตลอด ทุกครั้งที่เขาพบทรัมป์และรู้ว่าทรัมป์จะไปคุยกับเกาหลีเหนือ อาเบะจะพูดเสมอว่า ขอฝากให้ไปคุยกับเกาหลีเหนือเรื่องนี้ด้วย แต่ทรัมป์ก็ไม่เคยไปคุยนะ เพราะเขาจะไปคุยเรื่องปลดอาวุธนิวเคลียร์มากกว่า ตัวอาเบะก็รู้ดีว่า สิ่งที่เป็นความสำคัญลำดับแรกๆ คือการปลดอาวุธนิวเคลียร์ เขาก็ปล่อยให้สหรัฐฯ จัดการร่วมกับเกาหลีใต้ แต่อาเบะก็พูดทุกครั้งว่า ฝากสหรัฐฯ จัดการเรื่องนี้ให้ด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่า จุดยืนของญี่ปุ่นคือเรื่องนี้

 

หลังจากอาเบะลาออก กระบวนการต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป เพื่อจะได้มาซึ่งนายกฯ คนใหม่

ต้องมีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค LDP คนใหม่ก่อน จริงๆ ต้องบอกว่าประชาชนไม่ได้เลือกนายกฯ เพราะนายกฯ จะมาจากการเลือกส.ส. และส.ส.ที่มีเสียงข้างมากก็จะไปเลือกนายกฯ ตอนนี้พรรครัฐบาลมีอยู่ 2 พรรค คือ LDP กับพรรค Komeito (Clean Government Party: CGP) ซึ่งพรรคหลังนี้ไม่มีโอกาสเป็นนายกฯ อยู่แล้วเพราะมีขนาดเล็กกว่า LDP เยอะ

ดังนั้น ใครจะเป็นนายกฯ คนใหม่ก็มาจากการโหวตภายในพรรค LDP ว่าใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งอย่างที่ผมกล่าวไปว่า คุณสึงะน่าจะได้เป็นนายกฯ คนใหม่ เพราะเขาได้รับเสียงสนับสนุนจากกลุ่มมุ้งใหญ่ 2 กลุ่มในพรรค เราต้องเข้าใจก่อนว่า พรรค LDP เป็นพรรคใหญ่ มีหลายมุ้งหลายก๊ก ตรงนี้เป็นมาตั้งแต่ต้น เพราะพรรค LDP ก่อตั้งในปี 1955 จากการควบรวมพรรคเสรีนิยมกับพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่นตอนนั้น เวลาโหวตเขาก็จะไม่โหวตเดี่ยวๆ แต่จะโหวตเป็นก๊ก เป็นมุ้งการเมือง

แต่ถามว่าประชาชนนิยมสึงะไหม ไม่นะครับ คนที่ประชาชนนิยมจริงๆ คือชิเงรุ อิชิบะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ตอนนี้ก๊กต่างๆ ยังไม่สนับสนุนเขา สึงะจะได้เสียงจากก๊กใหญ่ที่บอกไป ก็ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าเขาน่าจะได้เป็นนายกฯ คนใหม่

 

มีโอกาสไหมที่การเมืองจะเปลี่ยนขั้วไปหาพรรคฝ่ายค้านหรือพรรคอื่นๆ บ้าง

มันยังไม่ง่าย เพราะต้องมีแคนดิเดตที่สมน้ำสมเนื้อ หรือมีองคาพยพในพรรค มีส.ส.ที่โดดเด่นหลายคน มองแล้วจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีได้ดี อีกทั้งญี่ปุ่นยังเข็ดกับพรรค DJP ที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาลแล้วก็ค่อนข้างไม่เป็นโล้เป็นพายในช่วงปี 2008-2011 ซ้ำยังเปลี่ยนนายกฯ บ่อย ไม่มีเสถียรภาพในพรรคเท่าไร อีกทั้งช่วงหลัง พรรค DJP ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดก็แตกออกมาอีก แกนนำสำคัญคนหนึ่งคือ ยูริโกะ โคอิเคะ ที่เป็นผู้ว่าการกรุงโตเกียวคนปัจจุบัน และยังมียูกิโอะ เอดาโนะ ที่ไปตั้งพรรคประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญ เน้นปกป้องรัฐธรรมนูญเลย ตรงนี้ถ้าดูตัวละครก็ยังไม่เด่นเท่าไหร่ ตัวโคอิเคะแม้จะเคยได้รับความนิยมมากจนแยกตัวออกจาก DJP แต่ก็เคยไปพูดอะไรที่กระทบกระเทือนสมาชิกอาวุโสในพรรค คนก็อาจจะหมั่นไส้ ทำให้คะแนนนิยมของเธอตกลงมาบ้าง จะเห็นว่า คนที่จะมาเป็นคู่แข่งของพรรค LDP ก็ยังไม่ชัดเจน

อย่างไรก็ดี ปีหน้าต้องมีการเลือกตั้งทั่วไป อันนี้ขึ้นกับผลการดำเนินงานของนายกฯ คนใหม่ ซึ่งน่าจะเป็นสึงะแล้วว่า จะทำงานได้ดีหรือไม่ ถ้าเขาทำงานได้ไม่ดี พรรค LDP จะมีกระบวนการภายใน คือไม่ใช่ว่าถ้าก๊กนี้โหวตคนนี้ก็ต้องเอาคนนี้ตลอด เขาจะเห็นแก่พรรคมากกว่าว่า ถ้าคนนี้ไปไม่ไหว ประชาชนไม่นิยม ก็ต้องเลือกคนใหม่ เขาเห็นแก่พรรคว่าทำอย่างไรจะให้พรรคชนะ แม้จะไม่ได้สนับสนุนคนนี้มาก่อน ก็เปลี่ยนมาสนับสนุนได้เพื่อให้พรรคเราได้เป็นรัฐบาล ดังนั้น ถ้าสึงะทำงานได้ไม่ดีมาก สมัยหน้าอิชิบะน่าจะกลับมา

 

อะไรคือโจทย์ท้าทายของนายกฯ คนต่อไป

ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เพราะพอมีโควิด เศรษฐกิจตกลงทุกชาติอยู่แล้ว การส่งออกหรือ supply chain กระทบหมด เรียกได้ว่าโจทย์นี้ยากมากๆ จากที่แต่เดิม การจะพยายามให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวอย่างยั่งยืนก็ยากอยู่แล้ว แต่ผมคิดว่า โจทย์นี้ถือเป็นโจทย์ยากสำหรับทุกคนที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาล ประชาชนก็อาจจะเข้าใจตรงนี้บ้าง แต่ถ้าเศรษฐกิจแย่ลงมากๆ ประชาชนญี่ปุ่นก็คงขอให้เปลี่ยนนายกฯ

 

อาจารย์มองภาพญี่ปุ่นหลังยุคอาเบะอย่างไร

ในภาพรวม ผมคิดว่าความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ก็คงยังดีอยู่ ยิ่งถ้าประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ไม่ใช่ทรัมป์ก็น่าจะคุยกันง่ายขึ้น ส่วนจีน ญี่ปุ่นก็คงต้องรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อไป

ทั้งนี้ ประเด็นหนึ่งที่เราต้องให้ความสนใจคือความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน คนจำนวนไม่น้อยที่มองว่า ถ้าโจ ไบเดน ได้ขึ้นมาแทนที่ทรัมป์ ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับจีนน่าจะดีขึ้น ผมคิดว่าในเบื้องต้น ในระดับผู้นำ การพูดคุยดีขึ้นแน่ๆ แต่ในเชิงโครงสร้างหรือภาพรวมอาจจะไม่ดีขึ้นมาก สงครามการค้าก็ไม่น่าจะคลี่คลายตัวไปอย่างรวดเร็ว เพราะสำหรับผู้กำหนดนโยบาย ชนชั้นนำ หรือคนอเมริกันเองก็ยังมองว่าจีนเป็นภัยคุกคาม เพราะฉะนั้น ผมว่าท่าทีของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนจะยังคล้ายเดิมอยู่

ถามว่าทิศทางความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนจะเกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นยังไง ผมว่าถ้าไบเดนเป็นผู้นำสหรัฐฯ เขาจะไม่ลุยกับจีนแบบเดี่ยวๆ แต่จะหาพันธมิตรไปกดดันหรือปิดล้อมจีนมากขึ้น ซึ่งถ้าญี่ปุ่นต้องไปยอมตามเกมสหรัฐฯ มาก โอกาสที่ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีนจะมีปัญหาก็มีมากขึ้น โลกในปีหน้าจึงไม่ใช่ว่าทรัมป์ไม่อยู่แล้ว เหตุการณ์จะดีขึ้นหรือคลี่คลายลง มันอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น อย่าลืมว่าการมองจีนเป็นศัตรูเริ่มตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช และมีนโยบายต่อเนื่องมาตลอด ยุคบารัก โอบามาก็เริ่มมีนโยบายการเผชิญหน้ากับจีน ซึ่งใช้นโยบายปักหมุดที่เอเชีย (pivot to Asia) และมีการถ่ายกำลังทหารมาทางเอเชียมากขึ้น คนอาจจะมองว่า ยุคโอบามาสันติจะตาย ได้รางวัลโนเบลด้วย แต่เราต้องมองให้ลึกไปถึงเชิงโครงสร้าง พอมายุคทรัมป์ ก็เปลี่ยนจาก pivot to Asia เป็นอินโด-แปซิฟิก ถึงเปลี่ยนชื่อแต่เจตนายังเหมือนเดิม คือคานอำนาจและปิดล้อมจีนภายใต้ยุทธศาสตร์ต่างๆ

เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นจุดสำคัญที่เราจะต้องดูว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่จะดึงญี่ปุ่นไปร่วมถ่วงดุลกับจีนมากน้อยแค่ไหน ญี่ปุ่นเองก็ต้องรู้ว่า ตนไม่สามารถไปถ่วงดุลจีนได้มากขนาดนั้น เพราะจีนมีผลประโยชน์มหาศาล และยังเป็นเพื่อนบ้านกันด้วย ญี่ปุ่นก็ยังอยากจะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนเอาไว้อยู่ โจทย์เรื่องการต่างประเทศจึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ยากของญี่ปุ่นในยุคถัดไป

 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save