fbpx
เมื่อความมั่นคงแบบอเมริกันทำให้การซ้อมรบกลายเป็นเรื่องรอไม่ได้?

เมื่อความมั่นคงแบบอเมริกันทำให้การซ้อมรบกลายเป็นเรื่องรอไม่ได้?

ณัฐรินทร์ รัตนะพิบูลย์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เล่นเอาแตกตื่นกันไปทั้งประเทศ เมื่อภาพสัมภาระของทหารอเมริกันเต็มถนนหน้าโรงแรมกลางกรุงถูกเผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมคำถามจากสังคมว่า เหตุใดรัฐบาลไทยจึงยอมให้พลยุหเสนาอเมริกัน ที่ขณะนี้กำลังเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 หนักหนาที่สุดในโลกเดินทางเข้ามาในประเทศไทย และให้เข้าพักในโรงแรมหรูใจกลางกรุงเทพฯ

ที่จริงแล้ว การเข้ามาซ้อมรบของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ดำเนินมาหลายทศวรรษแล้ว ถึงขนาดที่การฝึกร่วมทางทหารที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชียอย่าง ‘คอบร้าโกลด์’ (Cobra Gold) ที่เป็นการริเริ่มของสหรัฐอเมริกา ก็เริ่มต้นฝึกซ้อมโดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และมีประเทศพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศที่ยังคาบเกี่ยวระหว่างความเป็นมิตรกับศัตรูเข้าร่วมการฝึกและสังเกตการณ์ ยังไม่รวมถึงการซ้อมรบในระดับทวิภาคีระหว่างกองทัพสหรัฐอเมริกาและกองทัพไทย ทั้งฝึกใหญ่และฝึกย่อยอย่าง การฝึกหนุมานการ์เดี้ยน (Hanuman Guardian) บาลานช์ทอร์ช (Balance Torch) เวคเตอร์ทอร์ช (Vector Torch) ทีคทอร์ช (Teak Torch) สมี (SMEE – Subject Matter Expert Exchange) และกะรัต (CARAT) ที่สหรัฐอเมริกาส่งกำลังเข้ามาฝึกกับกองทัพไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติตลอดทั้งปี

ถ้าถามว่าประเทศไทยได้ประโยชน์อะไรจากการฝึกร่วมกับกองทัพสหรัฐอเมริกา ก็คงต้อบได้ไม่ยากว่าเม็ดเงินจำนวนมากที่สหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทยทั้งในเชิงเทคนิค ยุทธวิธี องค์ความรู้ทางทหาร หลักนิยมทางทหาร และความมั่งคั่งที่กองทัพไทยจะได้รับจากความช่วยเหลือของมหามิตรอย่างสหรัฐอเมริกา เป็นเหมือนสิ่งยั่วยวนที่กองทัพไทยยากจะปฏิเสธอยู่แล้ว ยิ่งในช่วงเวลาที่การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจอย่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ที่ถือว่าอยู่ในช่วงการแข่งขันอย่างสุดขีดในช่วงเวลาเช่นนี้ ประเทศไทยจึงได้อานิสงส์จากการตักตวงผลประโยชน์จากเกมการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจทั้งสอง ซึ่งแน่นอนว่าทั้งสองมหาอำนาจต่างมาซ้อมรบกับไทยเพิ่มมากขึ้นและร่ำรวยด้วยกันทั้งคู่

แต่ถ้าจะคิดว่าสหรัฐอเมริกาจะมาซ้อมรบกับไทย ยอมเสียเปรียบเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แนบแน่นระหว่างทั้งสองประเทศ คงต้องขอเรียนให้ทราบว่าอาจจะคลาดเคลื่อนไปสักหน่อย เพราะสิ่งที่สหรัฐอเมริกาได้กลับไปจากการมาซ้อมรบแต่ละครั้งไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ที่ดีกับไทยและความพร้อมในการทำสงครามเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ได้กลับไปนั้นจะกลายเป็นองค์ความรู้สำคัญที่เกื้อหนุนต่อวงการแพทย์ วิศวกรรม และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมถึงการขนส่งอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึงเลยทีเดียว เลยใคร่ขอยกตัวอย่างประโยชน์ที่สหรัฐฯ จะได้จากการซ้อมรบบางส่วนมาให้ได้อ่านกัน

 

การซ้อมรบกับการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าอุตสาหกรรมป้องกันประเทศนับเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันกล่าวได้ว่าประเทศต่างๆทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นชาติเสรีประชาธิปไตย โลกคอมมิวนิสต์ หรือแม้แต่กลุ่มก่อการร้ายและอาชญากรรมทั่วโลก ที่ไม่ว่าจะรักหรือชังสหรัฐอเมริกา ล้วนยอมรับในมาตรฐานวิศวกรรมอาวุธอเมริกัน และทำทุกวิถีทางให้ได้ครอบครองอาวุธ Made in U.S.A.

แล้วอะไรที่ทำให้อาวุธพวกนี้ขายดี? คำตอบก็คือ เพราะอาวุธที่ดีเหล่านี้ทำลายข้อจำกัดต่างๆ ของหลายประเทศ และตอบโจทย์ความมั่นคงของประเทศต่างๆทั่วโลก ไม่ว่าจะมีต้นทุนทางเศรษฐกิจน้อยเพียงใดก็ตาม อาวุธอเมริกันเป็นของดีที่ทุกคนสามารถเอื้อมถึง ข้อจำกัดเหล่านี้แน่นอนว่า อเมริกาต้องเอาชนะให้ได้เสียก่อน และไม่มีโอกาสไหนจะดีไปกว่าการเข้าใจข้อจำกัดผ่านการซ้อมรบหรือการให้ความช่วยเหลือทางทหาร

ผู้เขียนเคยมีโอกาสเรียนรู้วิธีการยิงจรวดต่อสู้รถถังแบบ BGM-71 TOW จรวดต่อสู้รถถังแบบบังคับด้วยคลื่นวิทยุที่ดีที่สุดในโลก ที่กว่าผู้เรียนจะยิงของจริงได้ต้องเรียนรู้ผ่านเครื่องซิมูเลเตอร์ จำลองการใช้และการควบคุมจรวดหลายสิบชั่วโมง ในการยิงจรวดของจริงนั้นระบบการเล็งหนึ่งที่ทำให้เครื่องยิงจรวดนี้มีราคาแพงคือระบบการเล็งหาเป้าหมายแบบตรวจจับด้วยความร้อนที่กล้องเล็งจะแยกเป้าหมายออกจากสภาพแวดล้อมด้วยความร้อน ทำให้ผู้ยิงสามารถยิงจรวดเข้าใส่เป้าหมายได้อย่างแม่นยำไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน เป็นระบบใหม่ที่เป็นที่สนใจของหลายประเทศ

หากระบบอาวุธนี้นำไปใช้ในพื้นที่หนาวเย็นก็คงไม่มีปัญหา เพราะระบบเล็งย่อมแยกเป้าหมายเช่น รถถัง ยานเกราะต่างๆ ที่มีความร้อนจากเครื่องยนต์ที่เผาไหม้ทำงาน ออกจากสภาพแวดล้อมรอบด้าน แต่ระบบนี้จะมีข้อท้าทายทางเทคนิคทันทีหากนำไปใช้ในประเทศเขตร้อนที่มีสภาพแวดล้อมอุณหภูมิสูง เพราะความร้อนจากเครื่องยนต์ ความร้อนจากแผ่นเหล็กยานเกราะ รถถัง และความร้อนจากสภาพแวดล้อม ย่อมทำให้ระบบเล็งนี้แยกเป้าหมายออกจากกันได้ยาก ในปีนั้นไทยยิงจรวดของอเมริกาพลาดหลายลูกมาก กระทั่งนายสิบนาวิกโยธินชาวอเมริกันแนะวิธีแก้ปัญหาประการหนึ่งที่หลายคนอาจไม่คาดคิดแต่เป็นวิทยาศาสตร์ง่ายๆ คือ ความร้อนของโลหะ ย่อมร้อนกว่าสภาวะแวดล้อมรอบด้าน ยิ่งความร้อนจากแสงอาทิตย์ตกกระทบโลหะ โลหะจะยิ่งร้อน และจะแสดงผลในจอเล็งเป้า ให้มีสีส้มมากขึ้นผิดปกติ ซึ่งพอเปลี่ยนให้อเมริกันยิงบ้าง จรวดทุกลูกที่ยิงออกไปล้วนทำลายเป้าหมายอย่างแม่นยำ

ภายหลังการยิงก็จะเข้าสู่กระบวนการที่เรียกว่า การทบทวนหลังการปฏิบัติ หรือ After Action Review (AAR) ที่ข้อบกพร่องรวมถึงข้อมูลต่างๆ จะถูกนำมารวมกัน และทำเป็นรายงานส่งต่อผู้บังคับบัญชาตามสายการบังคับบัญชาต่อไป แน่นอนว่ารายงานเหล่านี้จะต้องส่งต่อไปยังสำนักงานความรับผิดชอบรัฐบาล (Government Accountability Office) ที่จะทำรายงานข้อจำกัดของระบบอาวุธที่มีปัญหา รวมถึงเรื่องประสิทธิภาพ เสนอแก่สภาคองเกรสให้ได้รับทราบ ยังไม่รวมถึงข้อเสนอและข้อจำกัดที่กองทัพจะแจ้งให้ผู้ผลิตได้รับทราบและจัดการแก้ปัญหา ขจัดจุดอ่อนของผลิตภัณฑ์ให้ได้ เพราะข้อมูลสภาพแวดล้อม ความชื้น สภาพอากาศ ล้วนส่งผลต่อระบบอาวุธทั้งนั้น

ดังนั้น การซ้อมรบแต่ละครั้งไม่ใช่แค่การนำอาวุธมาระเบิดภูเขาหรือเผากระท่อมเท่านั้น แต่เป็นการค้นหาจุดอ่อนเพื่อทำลายข้อจำกัดของระบบอาวุธอเมริกัน พัฒนาต่อยอดให้มีประสิทธิภาพ พร้อมใช้งานยิ่งขึ้น แน่นอนว่า เมื่อระบบอาวุธเหล่านี้ทำลายข้อจำกัดที่หลายประเทศเผชิญอยู่ได้ ย่อมกลายเป็นสินค้าที่ประเทศทั้งหลายจะพยายามขวนขวายหาซื้อเข้ามาไว้ในคลังแสง เผื่อไว้ใช้ในยามต้องเผชิญกับภาวะสงคราม

ตัวอย่างนี้ยังไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางทหารอื่นผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ตรง เช่น เครื่องตรวจจับทุ่นระเบิด  เวชภัณฑ์ ยา อาวุธหนักเบาต่างๆ วัคซีนป้องกันโรคต่างๆ รวมถึงแนวทางปฏิบัติ ที่ตอบสนองข้อจำกัดต่างๆ ของอเมริกันจะกลายเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมสร้างรายได้ของสหรัฐอเมริกาในอนาคตที่ทั้งโลกจะพลอยได้ผลประโยชน์ไปด้วย

 

การซ้อมรบกับความก้าวหน้าทางการแพทย์

 

สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจยังไม่ทราบคือ ก่อนจะมีการส่งทหารอเมริกันไปประจำการ ณ แห่งหนตำบลใดบนโลกใบนี้ ทหารอเมริกันทุกนายจะได้รับการฉีดวัคซีนและต้องกินยาปฏิชีวนะตลอดระยะเวลาที่อยู่ในประเทศนั้น โดยเฉพาะประเทศที่มีการระบาดของโรคที่คุกคามต่อชีวิต ยังไม่รวมถึงการต้องมีทีมแพทย์ พยาบาล ที่หลายครั้งจะมีนักวิทยาศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคเขตร้อน หรือแพทย์ระบาดวิทยา ติดตามมาพร้อมกับกำลังพลของสหรัฐฯ ด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรทางการแพทย์ของกองทัพสหรัฐฯ มีความเข้าใจการปฏิบัติในพื้นที่เขตร้อน และสามารถปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงมีประสบการณ์ในการจัดการการแพทย์ในพื้นที่สงคราม ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมใดก็ตาม

การเดินทางมาซ้อมรบที่ประเทศไทยในสภาวะที่ต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสที่หนักหนารุนแรงที่สุดเช่นนี้ ถ้ามองกลับกันถือว่าเป็นการฝึกความพร้อมในการรบรูปแบบหนึ่ง (Combat readiness) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของความเกรียงไกรของกองทัพสหรัฐอเมริกาที่ต้องพร้อมปฏิบัติการทั่วโลก ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์ใดก็ตาม การส่งกำลังมาฝึกนอกประเทศเช่นนี้ แพทย์ก็ต้องเตรียมแผนดูแลกำลังพล กำลังพลก็ต้องดูแลสุขภาพตนเอง ต้องรับวัคซีน ต้องกินยา และเข้ารับการประเมินสุขภาพ ติดตามผลข้างเคียงที่ยามีต่อร่างกาย ในขณะที่ผู้บังคับบัญชาเองยังได้ฝึกการบัญชาการกองกำลังในสถานการณ์พิเศษ เพื่อไม่ให้กำลังพลเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต ขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดในระหว่างการฝึกที่เกี่ยวกับการแพทย์ไม่ว่าจะเป็นยา วัคซีน อุปกรณ์รักษาพยาบาล อุปกรณ์ทางการแพทย์ จะถูกส่งกลับไปยังบริษัทเวชภัณฑ์เพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ต่อไป  แน่นอนว่า รายงานของกองทัพที่มาจากผู้ปฏิบัติงานที่เป็นผู้ใช้ผลิตภัณฑ์จริง ย่อมเป็นการทดลองที่มีต้นทุนการทดลองต่ำมากสำหรับบริษัทเหล่านี้ เพราะเป็นการทดลองและเก็บตัวอย่างโดยทหาร

ผู้เขียนใคร่ขอยกตัวอย่างประสบการณ์ที่ได้มาจากการฝึกร่วมกับทหารสหรัฐฯ มาหลายปี โรคที่ทหารสหรัฐกลัวมากกว่าโควิดในประเทศไทยก็คือ ‘โรคลมแดด’ (Heat stroke) เพราะเมื่อออกปฏิบัติภารกิจภาคสนาม ทหารอเมริกันต้องปฏิบัติตามหลักนิยมและระเบียบปฏิบัติของกองทัพ กล่าวคือ ต้องสวมหมวกนิรภัยกันกระสุน และสวมเสื้อเกราะมาตรฐานที่เรียกว่า IOTV พร้อมอุปกรณ์ป้องกันดวงตา ที่รวมแล้วมีน้ำหนักรวมกันเกือบ 20 กิโลกรัมหรือมากกว่า เมื่อต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวในพื้นที่เขตร้อนอย่างประเทศไทย ทหารอเมริกันที่ขึ้นชื่อว่ากำยำล่ำสันเช่นในภาพยนตร์ที่เราคุ้นชินก็อาจจะล้มคอพับคออ่อนตัวแดงเถือกเอาเสียง่ายๆ

ในกรณีที่มีทหารอเมริกันบาดเจ็บจากลมแดดจะถูกส่งกลับสายแพทย์ (MEDEVAC) กลับมาที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เพื่อรับการรักษาอย่างดีที่สุดด้วยอากาศยานของกองทัพที่ใกล้ที่สุด หลังการปฐมพยาบาลโดยแพทย์ทหารอเมริกัน ยารักษา การรักษา การปฏิบัติของแพทย์ การส่งกลับ การตัดสินใจของผู้บังคับบัญชา ล้วนจะถูกบันทึกไว้เพื่อเป็นบทเรียนให้มีการพัฒนาต่อไป

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้รับแจกผงน้ำเลมอนหลายซองที่เป็นเวชภัณฑ์รักษาอาการโรคลมแดดฉุกเฉิน ที่เมื่อผสมผงเลมอนซองหนึ่งกับน้ำหนึ่งขวด จะช่วยแก้อาการขาดน้ำได้อย่างเฉียบพลันเสมือนดื่มน้ำหลายขวด ผงเลมอนนี้เป็นเวชภัณฑ์ที่แพทย์ทหารผู้ที่ตามมาพร้อมกับกองกำลังสหรัฐฯ จะติดไม้ติดมือมาด้วยเพื่อเตรียมรับมือกับโรคลมแดด และจะเป็นเช่นนี้กับประเทศอื่นๆ ที่มีสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกับประเทศไทย และอย่างที่เรียนไปข้างต้นว่า ความสำเร็จของผลิตภัณฑ์นี้มาจากความพยายามในการเอาชนะข้อจำกัดต่างๆ ของอเมริกันชน ที่การเรียนรู้ข้อจำกัดเหล่านี้ไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้มาเรียนรู้ ‘ของจริง’

แน่นอนว่า สุดท้ายแล้วความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ย่อมกลายเป็นความมั่งคั่งในอนาคตของสหรัฐอเมริกาอย่างไม่ต้องสงสัย  เพราะยา วัคซีน อุปกรณ์ทางการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจากข้อจำกัดที่กำลังรบของสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญในสนามรบ จะกลายเป็นสินค้าธรรมดาที่วางขายทั่วโลก เช่น สายรัดห้ามเลือดยี่ห้อ CAT หรือกรรไกรทางยุทธวิธี เฝือกดัดเองยี่ห้อ SAM อุปกรณ์เจาะปอดพกพา ที่กลายเป็นอุปกรณ์ประจำหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินในโรงพยาบาลทั่วโลก

 

 การซ้อมรบกับต้นทุนสิ่งแวดล้อม

 

ถ้าไม่นับเรื่องต้นทุนในการซ้อมรบในประเทศที่มีต้นทุนสูงกว่าการซ้อมรบนอกประเทศของสหรัฐอเมริกา ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมคือสิ่งหนึ่งที่สหรัฐอเมริกาไม่อยาก ‘ขาดทุน’

ประเทศสหรัฐอเมริกามีกฎหมายฉบับหนึ่งชื่อว่า ‘กฎหมายนโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ’ (National Environment Policy Act – NEPA) ที่กำหนดให้หน่วยงานรัฐบาลทั้งหมดของสหรัฐอเมริกาต้องดำเนินการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมก่อนดำเนินการใดๆ ที่ถือว่าเป็นการกระทำแห่งชาติ (Federal action) ดังนั้น กองทัพสหรัฐฯ จึงต้องดำเนินการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทุกครั้งก่อนดำเนินการใดๆ ที่ถือว่าเข้าข่ายการกระทำแห่งชาติบนแผ่นดินสหรัฐ แน่นอนว่าการซ้อมรบคือหนึ่งในนั้น ยังไม่รวมถึงการต้องปฏิบัติตามนโยบายสิ่งแวดล้อมเฉพาะรัฐต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาที่อาจมีเงื่อนไขยิบย่อยลงไปอีก

ผู้เขียนใคร่ยกตัวอย่างการกระทำของกองทัพสหรัฐฯ บนเกาะกวมที่สหรัฐดำเนินการตั้งสถานีทดสอบระบบป้องกันขีปนาวุธรุ่นใหม่ล่าสุดอย่าง THAAD ที่ก่อนมีการดำเนินการ กองทัพบกสหรัฐฯ ดำเนินการจัดทำการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Assessment) รวบรวมข้อมูลมลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง มลพิษต่อแหล่งน้ำ มลพิษต่อความหลากหลายทางชีวภาพ มลพิษต่อวัฒนธรรม ขยะอันตราย และผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจสังคมของประชากรเกาะกวม และยังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของหน่วยงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของเกาะกวม (Guam Environmental Protection Agency) เรื่องข้อกำหนดการวางฐานเรดาห์โดยไม่ทำให้แนวปะการังเสียหาย

การทำรายงานและต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อกำหนดกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงมาก ยังไม่รวมถึงความล่าช้าที่อาจเกิดขึ้นจนทำให้กองทัพเสียหายหรือตอบสนองต่อภารกิจป้องกันประเทศไม่ทันกำหนด จนผู้บัญชาการเหล่าทัพอาจเจอปัญหาที่ส่งผลต่อการได้รับงบประมาณในปีงบประมาณถัดไป หากไม่สามารถตอบคำถามของคณะกรรมาธิการกลาโหมของสภาคองเกรสได้ ดังนั้นเพื่อ ‘ลดอุปสรรค’ การนำระบบอาวุธใหม่หรือการนำอาวุธไปทดสอบ ซ้อมรบในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ได้ใส่ใจวาระสิ่งแวดล้อมเป็นหลักหรือถูกให้ความสำคัญแบบยืดหยุ่นจึงเป็นจุดหมายสำคัญที่ง่ายต่อสหรัฐฯ ในการเดินทางไปซ้อมรบ เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการฝึก และประหยัดต้นทุนสิ่งแวดล้อมได้อักโขนัก

การซ้อมรบไม่ได้มีผลในทางการเมืองเพียงอย่างเดียว และประโยชน์ของการซ้อมรบไม่ได้มีเพียงการเตรียมความพร้อมในการทำสงครามเท่านั้น เพราะการซ้อมรบขยายขอบเขตผลประโยชน์ด้านการทหารไปยังด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ที่สร้างประโยชน์ให้กับทั้งสหรัฐอเมริกาและมิตรประเทศ การซ้อมรบจึงเป็นหนึ่งในกลไกที่นอกจากจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับมิตรประเทศ ยังทำหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมความมั่นคงที่สร้างความมั่งคั่งให้กับสหรัฐอเมริกา การขนอาวุธมาซ้อมรบในต่างแดนหากให้เปรียบก็เหมือนนักอุตสาหกรรมความมั่นคงในอเมริกาฝากผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ให้กระทรวงกลาโหมและกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ทำหน้าที่นำอาวุธเหล่านี้ออกมาอวดโฉมในต่างแดน เป็นการส่งเสริมให้นักอุตสาหกรรมความมั่นคงในอเมริกาขายของได้มากขึ้นในทางหนึ่งด้วย สุดท้ายรัฐบาลสหรัฐฯ ก็จะมั่นใจว่านอกจากตนเองจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับมิตรประเทศและพลพยุหเสนาที่พร้อมรบไม่ว่าโลกจะเป็นอย่างไรแล้ว ยังมีหลักประกันว่าจะมีรายได้เข้าประเทศไม่ขาดมือจากภาษีที่คิดจากรายได้ของภาคอุตสาหกรรมในแต่ละปีนั่นเอง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save