fbpx
เมื่อความปั่นป่วนในทะเลจีนใต้กระทบไกลถึงสหรัฐอเมริกา

เมื่อความปั่นป่วนในทะเลจีนใต้กระทบไกลถึงสหรัฐอเมริกา

ณัฐรินทร์ รัตนะพิบูลย์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

หนึ่งในสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่มีความน่าสนใจแต่กลับถูกพูดถึงในวงจำกัด คงหนีไม่พ้นเรื่องทะเลจีนใต้ (South China Sea) เมื่อผู้เขียนถามคนใกล้ตัว เพื่อน นอกแวดวงรัฐศาสตร์ หลายคนมีความเข้าใจถึงความสำคัญของทะเลจีนใต้แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะด้วยรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัวหรืออย่างไรก็ตาม แต่ปัจจุบัน ‘ความเดือด’ ของการแข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจในทะเลจีนใต้กลับมามีความเซ็กซี่มากพอที่คนจำนวนมากกลับมาให้ความสนใจอีกครั้ง

ภาพเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Nimitz และเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Ronald Reagan ดำเนินการฝึกร่วม (Duel-carrier operation) พร้อมกองเรือโจมตี (Strike Force) และเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ B-52 ในพื้นที่ทะเลจีนใต้ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2563 ท่ามกลางบรรยากาศความสัมพันธ์อันย่ำแย่ระหว่างรัฐบาลวอชิงตันกับรัฐบาลปักกิ่ง นับเป็นการส่งสัญญาณ ‘ท้าทาย’ อำนาจของรัฐบาลจีนเหนือพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้อย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา และหากพิจารณาจากคำแถลงการณ์ของนายไมค์ ปอมเปโอ (Mike Pompeo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมาว่า “The world will not allow Beijing to treat the South China Sea as its maritime empire.” (ทั่วโลกจะไม่ยอมให้จีนทำเหมือนทะเลจีนใต้เป็นจักรวรรดิทางทะเลของตัวเอง) เป็นการประกาศชัดแล้วว่า สหรัฐอเมริกาจะเป็นผู้เล่นสำคัญในเกมการเมืองทะเลจีนใต้อย่างแข็งขันกว่าที่ผ่านมา

เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Nimitz และเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Ronald Reagan
ที่มา: https://www.militarytimes.com

หากจะปูพื้นฐานความสำคัญของทะเลจีนใต้ให้ผู้อ่านทราบถึงความสำคัญว่า เหตุใดพื้นที่ทางทะเลที่มีแต่หินโสโครกนี้จึงกลายเป็นที่หมายปองของชาติมหาอำนาจและบรรดาชาติในอาเซียน คงต้องเท้าความไปถึงรายงานการศึกษาเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ของหน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐอเมริกา (CIA) เรื่อง The dispute islands in South China Sea ช่วงสงครามเวียดนาม ข้อมูลที่น่าสนใจจากรายงานฉบับนี้คือความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ที่ระบุว่าทะเลจีนใต้อาจมีน้ำมันดิบมากถึง 900,000 บาร์เรลต่อหนึ่งตารางไมล์ หรือรวมแล้วปริมาณน้ำมันดิบนี้อาจมากถึง 49 ล้านบาร์เรล พื้นที่นี้ยังเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารสำคัญ หากพิจารณาความหลากหลายทางชีวภาพใต้ทะเลจำนวนมหาศาลในพื้นที่ดังกล่าว ยังไม่รวมถึงการเป็นประตูเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิก ที่เรือทุกลำซึ่งเดินทางมาจากมหาสมุทรอินเดีย หรือจะเดินทางไปมหาสมุทรอินเดีย จะต้องเดินเรือผ่านพื้นที่ทะเลจีนใต้ ส่งผลให้พื้นที่ทะเลจีนใต้มีความสำคัญทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และด้านเศรษฐศาสตร์ ทะเลจีนใต้จึงเปรียบเสมือน ‘สวนเอเดน’ ที่หลายชาติหมายปอง

นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน ไม่ใช่ประเทศใหญ่อย่างจีนเท่านั้นที่พยายามเข้าครอบครองความมั่งคั่งในทะเลจีนใต้ แต่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย และไต้หวัน ต่างเข้ามาแย่งชิงสิทธิอธิปไตยเหนือพื้นที่ทะเลจีนใต้มาตลอด แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้บรรดาประเทศเหล่านี้ต้องจำยอมให้จีนอ้างสิทธิ์ได้ตามอำเภอใจคือ การเปลี่ยนแปลงด้านดุลกำลังกองทัพเรือของจีนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ในฐานะผู้ศึกษายุทธศาสตร์ความมั่นคงของจีนและสหรัฐอเมริกามาหลายปี หากจะให้ไล่เรียงความน่าสนใจ จุดเปลี่ยน จุดหักเหสำคัญ เกรงว่าจะเล่าในพื้นที่จำกัดได้ไม่หมด ผู้เขียนเลยขอยกงานวิชาการเรื่อง The Chinese Navy’s Offshore Active Defense Strategy ของศาสตราจารย์ Alexander Chieh-cheng Huang มาเล่าสู่ผู้อ่านฟัง

งานเขียนของ Alexander กล่าวถึงการปฏิรูปกองทัพเรือจีนในห้วงทศวรรษที่ 1980 – 1990 ไว้อย่างน่าสนใจว่า การนำเรือรบผิวน้ำ ขีปนาวุธ ตอร์ปิโด และเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ชั้นเซี่ย (Xia class) ที่มีขีดความสามารถในการปล่อยขีปนาวุธข้ามทวีปแบบยิงจากใต้ผิวน้ำ (Submarine-launch Ballistic Missile) เข้าประจำการจำนวนมากควบคู่ไปกับการปรับหลักนิยมทางทหารจากกองเรือป้องกันชายฝั่ง (Coastal defense) เป็นกองเรือปฏิบัติการไกลฝั่ง (Blue-water navy) ที่สามารถปฏิบัติการทางทหารแบบป้องกันไกลฝั่ง (Offshore defense) เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้จีนสามารถเข้าครอบงำทะเลจีนใต้ได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น ทำให้จีนมั่นใจพอที่จะกล้าประกาศกฎหมายทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง ปี 1992 ของจีนว่า หมู่เกาะพิพาทหลายแห่งในทะเลจีนใต้อยู่ในอำนาจอธิปไตยของจีน ช่วงเวลานี้เราจะเริ่มเห็นการพัฒนายุทธศาสตร์การหวงกันพื้นที่และปฏิเสธกันเข้าถึง (Anti-Access/Area Denial) อย่างเป็นระบบมากขึ้นจากการปฏิรูปกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนอย่างเป็นรูปธรรม

ดุลอำนาจกองทัพเรือจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องผันแปรตามความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ จนในปี 2015 กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริการะบุในรายงานเรื่อง The Asia-Pacific Maritime Security Strategy ว่า จีนมีเรือรบแบบต่างๆ ประจำการอยู่มากถึง 303 ลำ ส่งผลให้กองทัพเรือจีนสามารถแสดงอำนาจ ป้องปรามการท้าทายจีนในพื้นที่พิพาททั้งในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ ภาวะอสมมาตรนี้ช่วยให้จีนสามารถสร้างเกาะเทียมบนทะเลจีนใต้ได้โดยไม่ต้องกังวลถึงแรงเสียดทานจากประเทศผู้อ้างสิทธิ์ในภูมิภาคอาเซียน เกาะเทียมของจีนในปัจจุบันสามารถรองรับการขึ้นลงของเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์และใช้เป็นฐานยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้และพิสัยไกล เปรียบได้กับเรือบรรทุกเครื่องบินที่ไม่มีวันจม

ขณะเดียวกัน อิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน ประกอบกับความขัดแย้งกันเองระหว่างชาติขนาดเล็กในประเด็นทะเลจีนใต้ ทำให้องค์กรความร่วมมืออย่างอาเซียนไม่สามารถต่อกรกับจีนอย่างมีเอกภาพสำเร็จ ประเทศสมาชิกอาเซียนหลายชาติเลือกที่อยู่ข้างจีนหรือตักตวงผลประโยชน์จากความขัดแย้งผ่านการวางตัวเป็นกลางในประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้ เช่น กัมพูชา ลาว ไทย สิงคโปร์ และไม่ว่าสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศจะหักเหไปในทิศทางไหน ทะเลจีนใต้ก็กำลังจะกลายเป็นสนามประลองที่ชาติอาเซียนทุกชาติมีส่วนได้เสียไม่อาจวางเฉย ผู้เขียนกล้ากล่าวเช่นนี้เพราะติดตามการสร้างฐานทัพเรือหยูหลิน (Yulin Naval Base) ฐานทัพเรือแห่งใหม่ที่มีความสำคัญที่สุดของกองทัพเรือจีนบนเกาะไห่หนาน (Hainan) มาหลายปี ฐานทัพเรือแห่งนี้ถือเป็นหัวใจของปฏิบัติการทางเรือทั้งหมดของจีนในพื้นที่ทะเลจีนใต้ เพราะเป็นฐานทัพเรือสำหรับเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ทั้งยังสามารถรองรับการเทียบของเรือบรรทุกเครื่องบินได้ จีนพัฒนาฐานทัพเรือแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2008 แล้วเสร็จในช่วงปี 2015 ทำหน้าที่เป็นปราการสนับสนุน (Bastion) ให้กับเรือรบของกองทัพเรือจีน โดยเฉพาะเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่มีขีดความสามารถยิงขีปนาวุธบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ข้ามทวีป

ฝ่ายจีนเองก็ย่ามใจส่งเรือดำน้ำออกปฏิบัติการอย่างลับๆ มากขึ้น ก่อนจะเปิดตัวแบบบิ๊กเซอร์ไพร์สเมื่อช่วงเดือนกันยายน ปี 2019 เมื่อเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์บรรทุกขีปนาวุธ (nuclear-powered ballistic missile submarine (SSBN)) แบบ 094 ชั้นจิ้น (Type 094 Jin-Class) โผล่ขึ้นเหนือน้ำ (Surface) ท่ามกลางหมู่เรือประมงเวียดนามใกล้หมู่เกาะพาราแซล (Paracel islands) เป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลก

เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์บรรทุกขีปนาวุธ (nuclear-powered ballistic missile submarine (SSBN))
ที่มา: https://www.forbes.com

นัยสำคัญของเหตุการณ์นี้บอกอะไรกับเรา? ประการแรก กองทัพเรือจีนมีความพร้อมสำหรับปฏิบัติการทางทะเลเต็มรูปแบบในทะเลจีนใต้ ฐานทัพเรือหยูหลินสามารถสนับสนุนปฏิบัติการทางทะเลของเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่มีขีดความสามารถยิงขีปนาวุธบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ข้ามทวีปแบบ JL-2 พิสัยทำการ 8,000 – 9,000 กิโลเมตร อาวุธป้องปรามทางยุทธศาสตร์นี้มีระยะโจมตีไกลถึงรัฐฮาวาย เกาะกวมที่เปรียบเสมือนหัวใจของปฏิบัติการทางทหารในแปซิฟิกของสหรัฐ และคุกคามฐานทัพทางทหารของสหรัฐทั้งหมดในเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี ในทะเลจีนใต้ได้อย่างปลอดภัย

ประการที่สอง ยุทธศาสตร์การหวงกันพื้นที่และปฏิเสธกันเข้าถึง (Anti-Access/Area Denial – A2/AD) ช่วยให้จีนสามารถปลดอาวุธของบรรดาชาติขนาดเล็กทั้งหลายที่อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ได้โดยสมบูรณ์ เพราะทั้งฐานทัพเรือ ทั้งเกาะเทียม เป็นปัจจัยสำคัญเพียงพอแล้วสำหรับจีนในการดำรงสถานะ ‘ผู้คุมประตู’ เข้าออกทะเลจีนใต้ เรือทุกลำที่จะผ่านไปแปซิฟิกหรือผ่านไปมหาสมุทรอินเดียอาจต้องร้องขอใช้เส้นทางเดินเรือจากรัฐบาลจีน ซึ่งจีนจะอนุญาตหรือไม่ก็ได้ ยังไม่รวมถึงการเจาะสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การประมง ที่จีนสามารถผูกขาดได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ในประเด็นนี้ Richard Bitzinger ให้ทัศนะที่น่าสนใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ A2/AD ไว้ในบทความเรื่อง Countering Anti-Access/Area Denial Challenges Strategic and Capabilities ว่า จีนมีความได้เปรียบสองประการ ประการแรก ยุทธศาสตร์นี้ตั้งอยู่ในภูมิรัฐศาสตร์ที่จีนได้เปรียบ ความได้เปรียบในเชิงระยะทาง และการเสริมกำลังผ่านการสร้างเกาะเทียมทางทหารในทะเลจีนใต้ ที่มีทั้งสนามบิน ตำบลยิงขีปนาวุธ ช่วยให้จีนรักษาความได้เปรียบอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ประเทศเล็กในภูมิภาคอาเซียนก็เลือกใช้นโยบายต่อจีนเกี่ยวกับประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้ต่างกัน ตามความสำคัญและสภาวะบีบคั้นจากการตกเป็นตัวประกันทางเศรษฐกิจของจีน

ขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาดูเหมือนจะเป็นผู้เล่นเพียงหนึ่งเดียวที่ยังพอให้ประเทศเล็กสามารถดำเนินกลยุทธ์ตอบโต้จีนได้บ้าง ปฏิบัติการยืนยันเสรีภาพในการเดินเรือผ่าน (Freedom of Navigation Operation – FONOP) การเรียกร้องให้จีนปฏิบัติตามกฎหมายทะเล (UN Convention the Law of the Sea – UNCLOS) ของสหรัฐอเมริกาในทะเลจีนใต้ แม้จะเป็นการแสดงออกถึงการปฏิเสธอำนาจของจีนเพื่อผลประโยชน์ของมนุษยชาติ แต่จุดมุ่งหมายของสหรัฐก็ไม่ได้เรียกว่า ‘เพื่อประชาคมโลก’ เสียทีเดียว เพราะแท้จริงแล้ว บริบทที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้กระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา จนถึงขั้นอาจบั่นทอนสถานะความเป็นหนึ่งในเอเชียของสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว เพราะเมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า ยุทธศาสตร์ A2/AD ของจีนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐโดยตรง ดังนี้

ประการแรก ยุทธศาสตร์ A2/AD ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้สหรัฐอเมริกาเข้าใกล้ชายฝั่งจีนอย่างเดียว หากแต่มุ่ง ‘จำกัด’ ไปจนถึง ‘ขจัด’ อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด รวมถึงการปิดประตูเข้าออกมหาสมุทรแปซิฟิกผ่านการควบคุมการเข้าออกทะเลจีนใต้ ที่หากจีนสามารถครอบครองและเปลี่ยนสถานะความเป็นน่านน้ำสากลให้อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของจีนได้สำเร็จ เรือทุกลำที่แล่นผ่านทะเลจีนใต้จะต้องร้องขออนุญาตจากจีนก่อน ซึ่งก็เป็นดุลพินิจของจีนที่จะอนุญาตหรือไม่ก็ได้ ความสำคัญของเรื่องคือ กองเรือสหรัฐที่แล่นเข้าออกมหาสมุทรแปซิฟิกผ่านไปยังมหาสมุทรอินเดีย แอฟริกา และตะวันออกกลางจะไม่สามารถปฏิบัติการได้อย่างอิสระดังเดิม แต่ต้องใช้เส้นทางฝั่งแอตแลนติกที่ใช้เวลานานกว่า ซึ่งในทางยุทธศาสตร์ ความห่างระยะของพื้นที่และระยะเวลาส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแสดงอำนาจ (Power projection) เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากสหรัฐอเมริกาไม่สามารถแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่าอำนาจของอเมริกานั้นเป็นที่สุด ความเชื่อมั่นในระบอบพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาอาจเสื่อมถอย ในขณะที่จีนใช้นโยบายเศรษฐกิจเป็นเครื่องต่อรองสร้างอำนาจทางทหารมีแนวโน้มได้เปรียบสหรัฐอเมริกามากขึ้น

First Defensive Layer, Second Defensive Layer, Third Defensive Layer
ที่มา: http://missiledefenseadvocacy.org/

ประการที่สอง การมีอยู่ของระบบอาวุธทำลายล้างสูง (Weapon of Mass destruction – WMD) อย่างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่มีขีดความสามารถยิงขีปนาวุธบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ข้ามทวีป (SSBN) โจมตีแผ่นดินสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้ ย่อมกระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาโดยตรง บทความของ Malcom Cook ในบทความเรื่อง Countering Anti-Access/Area Denial Challenges Strategic and Capabilities สนับสนุนประเด็นนี้เช่นกันว่า การคงอยู่ของเรือดำน้ำประเภทนี้ในทะเลจีนใต้ จะทำให้ผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาในพื้นที่ทะเลจีนใต้มีความสำคัญมากขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะเห็นเครื่องบินปราบเรือดำน้ำและเรือพิฆาตของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาปฏิบัติภารกิจเข้าออกทะเลจีนใต้บ่อยครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

สถานการณ์ความขัดแย้งที่ส่อเค้ารุนแรงขึ้นระหว่างสองมหาอำนาจเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามว่า อาเซียนในฐานะประชาคมในพื้นที่ความขัดแย้งจะสามารถเล่นบทนำปฏิเสธการกระทำยั่วยุระหว่างมหาอำนาจทั้งสองนี้ได้อย่างไร โดยที่ไม่เอนเอียงไปหามหาอำนาจฟากใดฟากหนึ่ง? เพราะอาเซียนมีเจตนารมณ์สร้างภูมิภาคแห่งสันติภาพเป็นสำคัญ จนถึงขั้นมีพิธีสารของอาเซียนในการรักษาสันติภาพ ปลอดอิทธิพลของมหาอำนาจ (Zone of Peace, Freedom and Neutrality Declaration (ZOPFAN)) และสร้างภูมิภาคปลอดอาวุธนิวเคลียร์ตามสนธิสัญญาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ (The Southeast Asian Nuclear-Weapon-Free Zone Treaty (SEANWFZ))

ที่ผ่านมา แม้อาเซียนจะยืนยันความเป็นศูนย์กลาง (ASEAN Centric) ในภูมิภาคมาตลอด แต่จากการร่วมกับสหรัฐอเมริกาซ้อมรบทางทะเลกับทั้งจีนตั้งแต่ปี 2015 และสหรัฐอเมริกาในปี 2019 และความเห็นที่ไม่สอดคล้องกันของสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับทะเลจีนใต้สะท้อนว่า อาเซียนไม่สามารถเป็นกลไกการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ได้จริง จุดยืนของอาเซียนยังคงขาดเอกภาพในการจัดการปัญหาร่วมกัน ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากสมาชิกอาเซียนบางชาติเลือกให้น้ำหนักกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ตนได้จากจีน มากกว่าการสร้างความไม่พอใจให้จีนด้วยการนำตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนต่อความสัมพันธ์กับจีน

แนวทางรับมือกับความเปลี่ยนแปลงภาพรวมยุทธศาสตร์ชาติมหาอำนาจของอาเซียน คือการรับรองเอกสาร ‘มุมของของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (The ASEAN Outlook on The Indo-Pacific)’ ในการประชุมอาเซียน ครั้งที่ 34 ที่กรุงเทพมหานคร ในปี 2019 ถึงกระนั้น เอกสารฉบับนี้ยังคงลักษณะเป็น ‘แนวทางปฏิบัติ’ (Guideline) มากกว่าเป็นพิธีสารทางกฎหมาย (Legal instrument) ที่จะมีผลผูกพันสมาชิกให้ร่วมกัน ‘เห็นแก่ภูมิภาค’ มากกว่าผลประโยชน์แห่งชาติของตน ตอกย้ำภาพการมีจุดยืนที่ขาดความหนักแน่นของอาเซียนในการเป็นอำนาจนำในการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ ทั้งยังสะท้อนภาพความประนีประนอมกับทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาอย่างเห็นได้ชัด ประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นด้วยกับบทความของ Amitav Archarya เรื่อง Why ASEAN’s Indo-Pacific outlook matters ที่ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของเอกสารฉบับนี้ว่า ยังมีลักษณะรอมชอมกับมหาอำนาจอย่างจีน – สหรัฐอเมริกาอยู่มาก โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า ‘Free’ ที่สำหรับจีนเเล้วเป็นเป็นคำที่มีความหมายเชิงลบในลักษณะคุกคาม ขณะเดียวกันเอกสารฉบับนี้เลือกใช้คำว่า ‘Freedom of Navigation’ อันมีความหมายสนับสนุนวาระที่สหรัฐอเมริกาต้องการผลักดันในพื้นที่ทะเลจีนใต้ รวมถึงการหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำเชิงยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการทหารในเอกสาร เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกับมหาอำนาจชาติใดชาติหนึ่ง

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2020 ถือว่าหนักหน่วงอย่างยิ่ง COVID-19 ที่ว่าแย่แล้ว เมื่อเจอมหาอำนาจขนทั้งนิวเคลียร์ ทั้งอาวุธหนักเข้ามาในภูมิภาค ยิ่งฟังดูแย่ขึ้นไปอีก เราคงต้องติดตามสถานการณ์ในทะเลจีนใต้กันต่อไป เพราะจากนี้รับรองว่าจะทั้งเดือดและน่าติดตาม ผู้เขียนได้แต่หวังว่า ภาษาการทูตของอาเซียนจะช่วยให้ภูมิภาคนี้ไม่กลายเป็นกระดานความขัดแย้งของมหาอำนาจอีกครั้ง

….กระมัง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save