fbpx

ลอกคราบความฝัน บ้านและครอบครัวสุขสันต์ของชนชั้นกลางไทย กับ ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว

ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว

เมื่อพูดถึงเรื่อง ‘บ้าน’ และ ‘ครอบครัว’ ขอเริ่มต้นด้วยการย้อนความทรงจำของเด็กในครอบครัวชนชั้นกลางสักเล็กน้อย – สมัยที่เรายังอยู่ชั้นอนุบาล ถึงเวลาคาบศิลปะทีไร หนึ่งในหัวข้อยอดฮิตที่สุดที่คุณครูให้เราวาด มักมีคำว่า ‘บ้าน’ ไม่ก็ ‘ครอบครัว’ เป็นองค์ประกอบของโจทย์เสมอ ทำนอง ‘บ้านแสนสุข’ ‘บ้านในฝัน’ ‘ครอบครัวของฉัน’ ฯลฯ

แล้วเราก็ได้เห็นผลงานรูปแบบคล้ายๆ กัน ถ้าเป็นรูปบ้าน เราจะเห็นบ้านเดี่ยวอยู่ในทุ่งหรือมีสวนเป็นของตัวเอง มีภูเขาเป็นฉากหลังไกลๆ กับนกที่บินอยู่ลิบๆ จนเห็นแค่ปีกเป็นรูปตัวเอ็ม ถ้าโจทย์คือรูปครอบครัว มักหนีไม่พ้นภาพพ่อแม่ลูก (อาจจะมากหรือน้อยกว่านั้น) จูงมือกันด้วยใบหน้ายิ้มแย้มนอกบ้าน คาดเดาได้ไม่ยากว่ากำลังพากันออกไปเที่ยวในวันฟ้าแจ่มใส

พอโตขึ้นมาหน่อย คงมีน้อยคนที่จะไม่รู้จักละครซิตคอม ‘บ้านนี้มีรัก’ กับเรื่องราวอลวนชวนหัวของบรรดาสมาชิกครอบครัวใหญ่ ที่ไม่ว่าจะตีกันแค่ไหน สุดท้ายจะกลับมารักกัน เป็นที่พึ่งพาให้กันเมื่อต้องเจอปัญหา หรือถ้าคุณเป็นวัยรุ่นที่รักเสียงเพลงมากกว่าละคร ต้องเคยได้ยินเพลง ‘Home’ ของบอย โกสิยพงษ์ ซึ่งมีท่อนเปิดเป็นเอกลักษณ์ด้วยการร่ายเรียง ‘ดอกไม้ ประตู แจกัน ดินทราย ต้นไม้ใหญ่…’ และท่อนฮุคอันจับใจว่า ‘เพราะเธอคือที่พักพิง คือทุกสิ่งที่มีความหมาย เมื่อเธออยู่เคียงชิดใกล้ เรื่องร้ายใดใดไม่เกรง..’ แน่นอน

บ้านเดี่ยวมีสวนสวย และครอบครัวเป็นที่พักใจ คือสิ่งที่เราจับเค้าลางได้จากสื่อและภาพจำฝังหัวเหล่านี้ แต่คำถามที่น่าสนใจคือเรามองภาพบ้านและครอบครัวเป็นพื้นที่ทางใจ ปลอดความวุ่นวายจากโลกภายนอกกันตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำไมบ้านในฝันของใครหลายคนถึงเป็นบ้านเดี่ยว หรือหากมองภาพประวัติศาสตร์ เรา – ในฐานะชนชั้นกลางไทยมีความคาดหวังต่อครอบครัวจากอดีตถึงปัจจุบันอย่างไร

101 ชวนคุณมาค้นหาคำตอบจากบทสนทนากับ ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว อาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เจ้าของงานศึกษาเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงของระบบความคิดระบบคุณค่า และระบอบอารมณ์ความรู้สึกที่เกี่ยวเนื่องกับ “ครอบครัว” ของชนชั้นกลางไทย: ทศวรรษ 2520 – ปัจจุบัน” ที่มาตีแผ่ ‘อารมณ์’ ‘ความรู้สึก’ และ ‘มุมมอง’ ของชนชั้นกลางไทยเรื่องบ้านและครอบครัวว่าอันที่จริงแล้ว ภาพบ้านและครอบครัวแสขสุขที่ฝังหัวเรามาตั้งแต่เล็กจนโต เพิ่งก่อร่างสร้างตัวเมื่อ 40 ปีมานี้เอง


ณัฐฏพงษ์ สกุลเลี่ยว


อาจารย์เป็นผู้ศึกษาระบอบอารมณ์ความรู้สึกในประเด็นบ้านและครอบครัวของชนชั้นกลางไทย การศึกษาที่ว่าศึกษาผ่านอะไรได้บ้าง

บ้านและครอบครัวถือเป็นเรื่องใหญ่ที่แทบทุกคน ทุกหน่วยงานรู้สึกว่าสำคัญ ที่ผ่านมามีงานศึกษาเกี่ยวกับครอบครัวเยอะมาก ที่โดดเด่นเลยคือ สถาบันวิจัยประชากรและสังคมของมหาวิทยาลัยมหิดล แต่ส่วนใหญ่งานศึกษาเหล่านั้นจะเป็นงานที่ใช้ตัวเลข ใช้หลักสถิติวิเคราะห์อัตราการเกิด การแต่งงาน การหย่าร้าง ให้เห็นภาพรวมในความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระยะยาว อีกด้านหนึ่งจะเป็นสายสตรีศึกษา หรือการศึกษาเชิงมานุษยวิทยา ผ่านสัมภาษณ์กรณีศึกษา (case study) แบบต่างๆ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ได้รับความกดดันในเรื่องต่างๆ ภายในครอบครัว

ส่วนตัวผมเป็นนักประวัติศาสตร์ที่พยายามศึกษาเรื่องบ้านและครอบครัวในทางประวัติศาสตร์ ซึ่งยังอาจจะมีคนศึกษาไม่มากเท่าไหร่  และอันที่จริง งานศึกษาของผมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่ที่ศึกษาอารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นกลางโดย มีหัวหน้าโครงการคือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สายชล สัตยานุรักษ์ คำว่า ‘อารมณ์ความรู้สึก’ และ ‘ชนชั้นกลาง’ เป็นคำใหญ่ทั้งคู่ จึงมีหลายคนมาช่วยกันทำหลายด้าน ตัวผมก็ได้รับโจทย์มาในเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวกับชีวิตครอบครัว วิธีการศึกษาจะใช้หลักฐานเอกสารเป็นหลัก เลือกว่าเอกสารชุดไหนบ้างที่สะท้อนชีวิตครอบครัวชนชั้นกลางไทย  ผมเลือกนิตยสารที่เราเข้าถึงได้ อย่างนิตยสาร ‘บ้านและสวน’ เป็นหลักฐานหลักที่นำเราไปสู่การทำความเข้าใจครอบครัวชนชั้นกลางไทย โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 2500 แต่นอกเหนือจากนี้ การศึกษาประวัติศาสตร์ในประเด็นครอบครัวอาจจะใช้สื่ออื่นๆ อย่างภาพยนตร์ที่สะท้อนบริบทสังคม ครอบครัวผ่านตัวละครได้เช่นกัน แล้วแต่ว่าเราจะเลือกศึกษาอย่างไร


การศึกษาระบอบอารมณ์ความรู้สึกเรื่องดังกล่าวมีประโยชน์ในการทำความเข้าใจภาพกว้างของสังคมไทยอย่างไร

ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับบ้านและครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคม ซึ่งการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมก็เพิ่งเติบโตในเมืองไทยได้ไม่นาน ประเมินคร่าวๆ คือหลังยุค 14 ตุลา 2516 ที่เริ่มมีคนศึกษามิติชีวิตประจำวันแง่มุมต่างๆ ผมมองว่าการศึกษาเรื่องบ้านและครอบครัวเองจะเป็นส่วนหนึ่งที่ไปเติมประวัติศาสตร์สังคมให้เห็นภาพเรื่องราวชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น และมันน่าจะเป็นประวัติศาสตร์ที่หลายๆ คนอยากรู้ ไม่ใช่ว่าต้องมีแค่เรื่องของการเมืองเท่านั้น

เมื่อมารวมเข้ากับการศึกษาประวัติศาสตร์อารมณ์ จะทำให้เห็นภาพชัดว่ามนุษย์ไม่ได้ดำเนินชีวิตด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับความปรารถนา ความใฝ่ฝันในฐานะที่เป็นแรงผลักดันชีวิต ทำให้เราเห็นความเป็นมนุษย์ของผู้คนในอดีตมากขึ้น หลักฐานหนึ่งที่ผมคิดว่าใช้สะท้อนภาพอารมณ์ความเป็นมนุษย์เหล่านี้ได้ดีคือหนังสืองานศพ เพราะเวลาคนเราเล่าเรื่องการสูญเสียหรือระลึกถึงความสุขในชีวิตจะทำให้เห็นมิติอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์เยอะทีเดียว


ถ้ามองภาพรวม วิวัฒนาการของบ้านและครอบครัวของคนไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน มีความเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน

ต่างกันเยอะมากนะครับถ้าเทียบปัจจุบันกับเมื่อ 100-200 ปีก่อน ถ้าพูดถึงภาพครอบครัวแบบที่เราชิน ตอนเด็กๆ เวลาได้โจทย์มาแล้วเราวาดภาพลงกระดาษเป็นภาพบ้านสักหลัง มีภูเขา พระอาทิตย์ แม่น้ำ ต้นไม้สักต้น แล้วก็มีภาพพ่อแม่ลูก ชีวิตที่ดูสุขสงบแบบนี้ถือว่าใหม่มากๆ สำหรับสังคมไทย อ้างอิงจากงานของผม จุดเริ่มต้นของภาพชีวิตครอบครัวแบบใหม่คือช่วงหลังปี 2500 เป็นต้นไป ซึ่งจริงๆ ผมว่าเริ่มชัดมากในช่วงปี 2520 ด้วยซ้ำ เพราะมีบ้านจัดสรรเติบโตขึ้นมา

บ้านและครอบครัวในสมัยก่อนไม่ได้มีแต่พ่อแม่ลูกอย่างที่เราคุ้นเคยนะครับ แต่มีสมาชิกเป็นสิบ หรือในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เรียกได้ว่าเป็นร้อย มีเจ้านายอาศัยร่วมกับบ่าวไพร่ในครัวเรือนหรือในวัง บ้านแบบนี้ไม่มีทางเงียบสงบได้ อย่างน้อยตื่นเช้ามาต้องหุงหาอาหาร ปัดกวาดเช็ดถู ทำนู่นทำนี่ตามคำสั่งของเจ้านายหรือหัวหน้าครัวเรือน นอกจากนี้พอเป็นที่ชุมนุมของคนจำนวนมาก และมีความสัมพันธ์เป็นลำดับชั้นไม่เท่ากัน ก็มีการโวยวายด่าทอออกคำสั่ง เช่นในวรรณคดีเรื่อง ‘ขุนช้างขุนแผน’ นี่ให้บรรยากาศบ้านแบบเก่าได้ดีมาก คือนางพิมต้องปากจัด เพราะต้องด่าบ่าวไพร่ควบคุมให้ทำงาน

กระทั่งในช่วงก่อนทศวรรษ 2500 บ้านของชนชั้นกลางก็ยังมีลักษณะเป็นที่อยู่อาศัยรวมกับที่ทำมาหากิน ยกตัวอย่างภาพของครอบครัวชนชั้นกลางเชื้อสายจีนที่มักอาศัยอยู่ในตึกแถว บ้านก็ถูกใช้ทำการผลิต ทำการค้าขาย มีไว้ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่าจะพักผ่อน บ้านก๋งผมเนี่ยมีที่นอนบนเหล่าเต๊ง (ชั้นบนของบ้าน) แค่นิดเดียว พื้นที่อื่นๆ ในบ้านถูกใช้เพื่อเก็บของ เก็บสินค้า หรือเป็นส่วนหนึ่งของการผลิต แต่บ้านชนชั้นกลางไทยในปี 2500 เป็นต้นมา จนมาชัดเจนในช่วงปี 2520 บ้านและครอบครัวถือว่าเป็นที่ปลอดจากกิจกรรมทางการผลิต กิจกรรมทางเศรษฐกิจนะครับ บ้านชนชั้นกลางที่เป็นมนุษย์เงินเดือนถูกมองว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว ใช้เพื่อพักผ่อนหย่อนใจเป็นหลัก เป็นสถานที่ที่เงียบสงบ นี่เป็นวิธีคิดแบบใหม่ ซึ่งสะท้อนออกมาผ่านรูปแบบหมู่บ้านจัดสรรที่มักห้ามใช้พื้นที่บริเวณบ้านทำการผลิต ค้าขายใดๆ ก็ตาม


การให้คุณค่ากับความเงียบสงบภายในบ้าน ทำให้ครอบครัวของชนชั้นกลางในยุคต่อมาเริ่มหดเล็กลงด้วยหรือเปล่า

ใช่ครับ การไม่มีบ้านเป็นของตนเองในวัยที่สมควร เช่น แต่งงานมีภรรยามีลูกแล้วยังอยู่บ้านพ่อแม่ มักปรากฏผ่านสื่อว่าเป็นบ่อเกิดของความตึงเครียดด้วย ในละครก็มักจะมีเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างแม่ผัวลูกสะใภ้ให้เห็น กระทั่งช่วงที่ผ่านมาก็ยังมีคำบอกเล่าผ่านกระทู้พันทิปว่าการอยู่ร่วมกันกับญาติ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ของสามี หรือพ่อแม่ของภรรยาทำให้เกิดความลำบากใจ อึดอัด หลายคนรู้สึกว่าครอบครัวควรมีแค่ ฉัน เธอ และลูก ถึงจะเป็นญาติใกล้ชิดก็ยังไม่สะดวกใจให้อยู่ในบ้าน ในครอบครัวร่วมกัน


ในงานศึกษาของอาจารย์ ค้นพบว่าอารมณ์ความรู้สึก ความคาดหวังของชนชั้นกลางไทยต่อบ้านและครอบครัว ที่เริ่มพัฒนาช่วงทศวรรษ 2500 จนชัดเจนในปี 2520 เป็นอย่างไร

ถ้าพูดถึงอารมณ์ความรู้สึก และระบบคุณค่าแบบใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นในยุคนั้น ตามอุดมคติของชนชั้นกลางมองว่า ชีวิตของตัวเองเป็นชีวิตที่ทำงานหนัก แต่ต้องมีความสุข คำว่า ‘ชีวิตที่มีความสุข’ นี่ถือว่าเป็นของใหม่มากๆ เหมือนกันนะครับ เพราะแนวคิดแต่เดิมในสังคมไทยยุคจารีตเราเกิดมาก็ทุกข์แล้ว ตามหลักศาสนาบอกว่าเราเกิดมาเพื่อชดใช้กรรม ยิ่งถ้าเราเป็นไพร่สมัยก่อนก็ต้องทุกข์ทนจากการโดนเกณฑ์ไปทำงาน และไม่สามารถแสดงออก หรืออย่างน้อยก็ไม่ควรแสดงออกว่ามีความสุข ไม่อย่างนั้นก็จะใช้ให้ทำงานอีก

การจินตนาการถึงชีวิตที่ทำงานพร้อมกับมีความสุขของชนชั้นกลางไทยจึงเป็นจินตนาการใหม่ และบ้านเองก็ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เรามีความสุขได้ในทุกๆ วัน ซึ่งบ้านตามอุดมคติคือบ้านที่สงบร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากความทุกข์ร้อน ความสัมพันธ์ในบ้านจะเปลี่ยนมาเป็นความสัมพันธ์เชิงระนาบมากขึ้น สมาชิกเท่ากันมากขึ้น ส่วนเรื่องการจัดการบ้าน ตกแต่งบ้าน ก็ต้องแสดงให้เห็นว่าเราเป็นผู้มีรสนิยมอย่างไร มีความคิดสร้างสรรค์แค่ไหน สิ่งที่ผมค้นพบจากนิตยสารบ้านและสวนคือคนให้ความสำคัญกับการใช้ความคิดตกแต่งบ้านแบบประหยัด ไม่ใช่ว่าบ้านที่ดีจะใช้เงินอย่างเดียว ให้ความสำคัญกับการสร้างความสงบร่มเย็นในจิตใจ การตกแต่งแบบมืออาชีพ แสดงความสามารถในเชิงปัจเจก คนที่ให้คำแนะนำในนิตยสารจึงเป็นสถาปนิก มัณฑนากร ออกไอเดียตกแต่งบ้าน แต่ส่วนใหญ่บ้านจริงๆ ก็ไม่ได้เป็นไปตามปกนิตยสารหรอกครับ


เกิดอะไรขึ้นในบริบทสังคมไทยช่วงทศวรรษ 2500 ถึงทำให้การมองคุณค่าของบ้านและครอบครัวในสายตาชนชั้นกลางไทยเปลี่ยนไปจากเดิม

สิ่งสำคัญคือการพัฒนาทางเศรษฐกิจครับ เดิมช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ ชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษามักเลือกทำงานเป็นข้าราชการเสียส่วนใหญ่ แต่หลังปี 2500 เป็นต้นมา ข้าราชการกลายเป็นอาชีพที่ถูกมองว่าน่าเบื่อ ซ้ำซากจำเจ เต็มไปด้วยระเบียบข้อบังคับ ขณะที่ภาพลักษณ์ของมนุษย์เงินเดือน พนักงานออฟฟิศคือชอบความอิสระ รักความท้าทาย ทะเยอะทะยานอยากก้าวหน้าตลอดเวลา และเป็นการก้าวหน้าอย่างรวดเร็วด้วย

สิ่งปรากฏในนิตยสารที่ผมศึกษาอีกชุดหนึ่ง คือนิตยสารจีเอ็ม ภาพลักษณ์ผู้ชายในนั้นจะเป็นคนใส่สูทผูกไทแบบผู้บริหาร มนุษย์เงินเดือนเป็นหลัก ไม่ค่อยพูดถึงการทำธุรกิจครอบครัวหรืออาชีพอื่นมากนัก และจะให้ความสำคัญกับการประสบความสำเร็จด้วยความสามารถของตนเอง แม้ว่าเบื้องหลังอาจจะมีครอบครัวเป็นปัจจัยเสริมก็ตามที เซนส์ของการทำธุรกิจ เป็นเจ้าของกิจการด้วยตนเองน่าจะเริ่มปรากฏในช่วงหลังปี 2540 เป็นต้นมามากกว่า

เมื่อหลายคนหันมาเป็นมนุษย์เงินเดือน การทำงานในออฟฟิศก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป ต้องเดินทางออกจากบ้านไปทำงาน เพราะงั้นเรื่องงานถูกกันออกไปจากชีวิตครอบครัวและพื้นที่บ้านแทบจะโดยสิ้นเชิง


เอาเข้าจริง ชนชั้นกลางไทยค่อนข้างมีความแตกต่างหลากหลายกันอย่างมาก ค่านิยมการทำงานแบบมนุษย์เงินเดือนที่ว่า สามารถอธิบายคาแรกเตอร์ชนชั้นกลางได้ครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน

มีการตั้งคำถามเช่นกันว่าคนที่เสพสื่ออย่างนิตยสารจีเอ็มเป็นคนจำพวกไหน เป็นชนชั้นกลางในเมืองหรือนอกเมือง เป็นพวกหนุ่มๆ ยังไม่แก่หรือเปล่า เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งงานศึกษาของผมอาจจะพอให้ภาพรวมอารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นกลางได้แค่บางกลุ่ม คือกลุ่มที่อยู่ในเมืองเช่นกรุงเทพ เป็นมนุษย์เงินเดือนรุ่นแรกๆ ที่ทำงานกับภาคเอกชน เติบโตพร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและภาคบริการ ไม่ใช่ชนชั้นกลางต่างจังหวัดสักเท่าไหร่ หากลงรายละเอียดเป็นชนชั้นกลางไทยแต่ละกลุ่มแต่ละพื้นที่อาจจะต้องทำการศึกษาเพิ่มในอนาคตครับ


ในงานศึกษาของอาจารย์ระบุว่าจินตนาการเรื่องบ้านและครอบครัวแบบใหม่ถือเป็นสัญญาณหนึ่งของการก้าวเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

แนวคิดนี้ผมอ้างมาจากงานในโลกตะวันตกที่มองว่ายุคปฏิวัติอุตสาหกรรม การที่มนุษย์เดินทางไปทำงานในโรงงานหรือสำนักงาน นับว่าเป็นวิธีการทำงานแบบใหม่ และการแยกบ้านออกจากพื้นที่ทำงานก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นพร้อมสังคมสมัยใหม่

กรณีของสังคมไทย เราถกเถียงกันมายาวนานมากว่าจะนับเข้าสู่สมัยใหม่เมื่อไหร่ กระทั่งตอนนี้ก็ยังต้องถามว่าเราสมัยใหม่หรือยัง บางคนก็บอกว่านับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 บางคนก็ว่าตั้งแต่ปี 2475 แต่สำหรับผม ถ้าใช้เรื่องครอบครัวหรือวิถีชีวิตครอบครัวเป็นตัวตั้ง สังคมเราเพิ่งเข้าสู่ยุคใหม่เมื่อปี 2520 นี้เอง เพราะครอบครัวแบบเดิมเป็นครอบครัวที่มีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นแกนหลักของสังคมแบบจารีต แต่ในช่วงปี 2520 ความสัมพันธ์ในครอบครัวเริ่มเปลี่ยน มุมมองเรื่องบ้านและครอบครัวแบบใหม่เกิดขึ้น จึงเป็นหมุดหมายการเปลี่ยนผ่านจากสังคมแบบเดิมไปสู่ความเป็นสมัยใหม่


กล่าวได้ไหมว่าสังคมไทยก็เพิ่งจะมีความก้าวหน้าเรื่องบ้านและครอบครัวเมื่อไม่นานมานี้เอง

ผมไม่แน่ใจว่าจะเรียกเป็นความก้าวหน้าได้หรือเปล่า ในมุมมองของผมคือภาพครอบครัวในอุดมคติว่าต้องเป็นครอบครัวแสนสุข บ้านแสนสุข เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เพิ่งมา ตั้งอยู่แป๊บเดียว แล้วก็กำลังจะจากไป มันกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนสมัยใหม่อาจจะต้องการน้อยลงเรื่อยๆ บางคนไม่เห็นความจำเป็นจะต้องซื้อบ้าน หรือแม้แต่จะมีครอบครัว ดังนั้นภาพอุดมคติของชนชั้นกลางไทยแบบนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ระยะสั้นแล้วมันก็จะเปลี่ยนไปอีก


ทำไมคุณค่าเรื่องบ้านและครอบครัวแสนสุขถึงได้มาไวไปไว เกิดอะไรขึ้นกันแน่

ผมคิดว่าการที่คนจะใฝ่ฝันถึงชีวิตครอบครัวแสนสุข มีบ้านแสนสุขได้ ปัจจัยสำคัญคือบรรยากาศความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หลังทศวรรษ 2500 ถึงช่วงปี 2540 เศรษฐกิจไทยเติบโตรวดเร็ว เติบโตเรื่อยๆ ไม่หยุด บรรยากาศแบบนี้ทำให้เราสามารถใฝ่ฝันได้ แต่หลังจากปี 2540 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ปรากฏการณ์เงินเฟ้อ อะไรทำนองนี้ไม่เปิดโอกาสให้เราฝันถึงชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์ได้เลย เราไม่วาดฝันถึงการมีลูก บางคนแค่จะมีแฟนสักคน มีคู่ชีวิตสักคนยังคิดเรื่องผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัว ชีวิตการทำงานเลย


ตอนที่อาจารย์ศึกษานิตยสารบ้านและสวน พอเห็นภาพไหมว่าในทางกายภาพ บ้านในฝันของชนชั้นกลางไทยในยุคหนี่งหน้าตาเป็นแบบไหน มีอะไรเป็นรสนิยมร่วมกัน

อันที่จริง ผมศึกษานิตยสารบ้านและสวนนับตั้งแต่ปี 2520-2540 ประมาณ 20 ปี โดยไม่ได้เน้นเรื่องความเปลี่ยนแปลงด้านรสนิยมความงาม ศิลปะการตกแต่งบ้านเท่าไหร่นัก ในชุดโครงการที่ศึกษาด้วยกันจะมี รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ที่เจาะลึกเรื่องนี้มากกว่า อย่างไรก็ตาม จุดร่วมสำคัญของการจัดบ้านในหมู่ชนชั้นกลางที่สังเกตได้คือบ้านถูกแบ่งเป็นพื้นที่ย่อยๆ เป็นสัดส่วนและมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ต้องมีห้องนอนลูก ห้องนอนพ่อแม่ มีพื้นที่ไว้นั่งเล่น ซึ่งบ้านแบบเดิมๆ พ่อแม่ลูกก็นอนกองรวมกันอยู่ในที่เดียว ในเรือนเดียวกัน อย่างมากก็มีมุ้งกั้นแค่นั้น นี่ยังไม่รวมถึงว่ายุคหนึ่งครอบครัวชนชั้นกลางต้องมีคนใช้ มีห้องของคนใช้ที่แยกจากตัวบ้านไปอีก

อย่างที่สองคือการแต่งบ้านต้องมีการโชว์ความสำเร็จในชีวิตให้คนอื่นเห็น อย่างรูปรับปริญญาก็จะไม่อยู่ในห้องนอน แต่ต้องอยู่ในห้องนั่งเล่นไว้บอกคนอื่นๆ ว่าสมาชิกในครอบครัวประสบความสำเร็จอย่างไรบ้าง รวมถึงมีการวางสิ่งของสะสมที่แสดงถึงความเป็นผู้มีรสนิยมของเจ้าของบ้านให้เห็นด้วย  

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการจัดสวน ในนิตยสารมักบอกว่าสวนจะช่วยเยียวยาเรา ทำให้คนรู้สึกรื่นรมย์ สดชื่น ใช้คำว่าช่วยขัดเกลาจิตใจให้สุขสงบยิ่งขึ้น แต่ส่วนใหญ่สวนจริงๆ ของคนทั่วไปก็มักจะรกอยู่ดีครับ (หัวเราะ)


ในแง่หนึ่ง ไม่ใช่แค่สะท้อนภาพรสนิยม ความต้องการของผู้อ่าน แต่สื่ออย่างนิตยสารบ้านและสวนเองก็มีอิทธิพลต่อการสร้างภาพ กำหนดคุณค่าเรื่องบ้านของชนชั้นกลางไทยด้วยหรือเปล่า

ใช่ครับ ผมว่าเป็นผู้มีอิทธิพลหลักเลยในการทำให้คนรู้สึกว่าชีวิตที่ประสบความสำเร็จหรือชีวิตที่ดีต้องเป็นอย่างไร ทำให้ชนชั้นกลางใฝ่ฝันถึงภาพการทำงาน มีเงินแล้วออกนอกร่มเงาของครอบครัวตัวเองเพื่อไปซื้อบ้าน สร้างครอบครัวใหม่ที่มีสามีภรรยาและลูก ทำให้บ้านแบบหมู่บ้านจัดสรรกลายเป็นบ้านในฝันของคนในสังคม เพราะบ้านที่จะจัดการพื้นที่ มีสวนอย่างในนิตยสารได้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นบ้านจัดสรรทั้งนั้น ซึ่งเขาจะเลือกถ่ายภาพบ้านที่ดูมีรสนิยมมาลงนิตยสาร จัดประกวดบ้านสวยประจำปี ให้คนเห็นภาพว่าบ้านที่ดีมีรสนิยมควรมีลักษณะหน้าตาอย่างไร

ทั้งหมดเป็นความฝันที่หลายคนอยากไปให้ถึง แต่ก็ใช่ว่าจะทำได้ทุกคน มันอาจทำให้บางคนที่ต้องอยู่หออยู่ห้องเช่ารู้สึกว่าชีวิตเรายังไม่ประสบความสำเร็จ ยังต้องดิ้นรนกันต่อไป


นอกจากภาพบ้านในฝันแบบบ้านจัดสรร ที่ทางของบ้านแบบอื่นๆ อย่างตึกแถว ห้องเช่า คอนโดมิเนียม ในสายตาของเหล่าชนชั้นกลางยุคนั้นเป็นอย่างไร

ตึกแถวกับห้องเช่าถือว่าได้รับการพูดถึงน้อยในนิตยสารบ้านและสวนนะครับ อาจจะมีอยู่บ้าง แต่ไม่ได้รับความสนใจเท่าบ้านเดี่ยว เพราะโดยส่วนใหญ่ชนชั้นกลางเองก็พยายามหนีห้องเช่าแบบแออัดในเมือง ยอมออกไปอยู่หมู่บ้านจัดสรรแถบชานเมืองแทน

สำหรับคอนโดมิเนียมนี่ก็ถือว่าเป็นของใหม่ และถูกมองในแง่ดีว่าเป็นที่อยู่อาศัยที่มารองรับวิถีชีวิตคนทำงานสมัยใหม่ ซึ่งวิถีชีวิตการอยู่คอนโดเริ่มได้รับการพูดถึงในช่วงปี 2530 เป็นต้นมา มีนิตยสารเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมแยกออกไป แต่ผมยังไม่ได้ดูว่าการพูดถึงคอนโดในนิตยสารเหล่านี้ต่างกับวิธีการพูดถึงบ้านเดี่ยวอย่างไร ก็น่าสนใจศึกษาต่อไปครับ เพราะคนที่อาศัยอยู่ในคอนโดก็เยอะมากๆ โดยเฉพาะคนในกรุงเทพฯ


ความรู้สึกว่าอยากให้บ้านเป็นที่พักพิงทางใจจากสังคมภายนอกจะเด่นชัดขึ้นในภาวะสังคมแบบไหนบ้าง

เรื่องนี้น่าจะสอดคล้องกับการมองภาพสังคม โดยเฉพาะในเมืองอย่างกรุงเทพฯ ว่าเป็นเมืองแห่งมลพิษ เมืองแห่งรถติด ตั้งแต่ช่วงหลังปี 2500 เป็นต้นมา เพราะความเติบโตกระจุกแค่ในเมืองหลวง กรุงเทพฯ เป็นเมืองโตเดี่ยว ดังนั้น เวลาชนชั้นกลางหรือใครก็ตามต้องการโอกาสของชีวิต โอกาสในการเติบโตของหน้าที่การงานก็ต้องเข้ามาอาศัยในกรุงเทพฯ ต้องไปอยู่ในบรรยากาศที่คนมองว่าแข่งขันแย่งชิงกัน คนเมืองหลวงไม่มีน้ำใจ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ทางออกอย่างหนึ่งคือการสร้างพื้นที่ส่วนตัวสักที่ให้ปลอดจากบรรยากาศเช่นนั้น นั่นคือบ้านแบบใหม่ที่เติบโตขึ้นมาเพื่อให้เราใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ฟูมฟักให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกเชิงบวกที่หาไม่ได้จากโลกภายนอก เรื่องราวภายในบ้านควรมีแต่เรื่องดีๆ สมาชิกมีความจริงใจต่อกัน

ผมคิดว่าเงื่อนไขส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดบ้านแบบใหม่ของชนชั้นกลาง เกิดบ้านที่คนคาดหวังให้เป็นสถานที่สร้างความรู้สึกเชิงบวกเป็นผลมาจากครอบครัวแบบเดิมไม่ตอบโจทย์ชีวิตด้วย ผมมองว่าครอบครัวแบบเก่าอาจไม่ใช่ครอบครัวที่มีความสุขเท่าไหร่ ไม่ต้องย้อนไปไกล แค่ดูในสมัยก่อน 2475 เรายังอยู่ในระบบผัวเดียวหลายเมีย สมมติว่าเราเป็นเมียน้อยไม่ใช่เมียแต่ง ไปอยู่ในครอบครัวเขาก็อาจไม่มีความสุข มันจะมีบรรยากาศของความอิจฉาริษยา มีบ่าวใครบ่าวมันเหมือนในละครเลย หรือกระทั่งครอบครัวคนจีนที่สะใภ้แต่งเข้าไปอยู่บ้านสามี มีสมาชิกหลากหลายอายุลดหลั่นกันไป ครอบครัวแบบนี้มีความตึงเครียดแฝงอยู่ข้างใน

แต่วิถีชีวิตครอบครัวแบบชนชั้นกลางเป็นครอบครัวที่เราแยกออกมาอยู่กับภรรยาและลูกๆ มันเปิดโอกาสให้เรามีความสุขมากขึ้น ใกล้ชิดกันมากขึ้น ความตึงเครียดน้อยลง คนจึงเริ่มคิดว่านี่เป็นครอบครัวที่ดี เป็นที่พักใจให้เราได้

สำหรับตอนนี้ ความคิดที่ว่าบ้านเป็นที่ปลอดภัยจากโลกภายนอกที่โหดร้ายน่าจะยังคงอยู่ แต่คำถามคือภายในบ้านให้ความรู้สึกปลอดภัยกับทุกคนจริงๆ ไหม มีความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นหรือเปล่า ส่วนนี้ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะอันที่จริง งานศึกษาของผมเป็นการศึกษาความคาดหวัง มาตรฐานครอบครัวในอุดมคติของชนชั้นกลางเท่านั้น แต่ชีวิตครอบครัวจริงๆ คงมีปัญหาอื่นๆ แบบที่ไม่ตรงมาตรฐานอยู่มาก


ในสายตาของอาจารย์ การให้คุณค่าว่า ‘บ้าน’ เท่ากับ ‘พื้นที่ส่วนตัว’ ของชนชั้นกลาง ก่อให้เกิดปัญหาอะไรตามมาบ้างไหม

ผมไม่แน่ใจว่าถือเป็นปัญหาไหม แต่เท่าที่นึกออกคือการแยกโลกภายนอกออกจากโลกในบ้านเป็นคนละส่วนกัน ทำให้สมาชิกในครอบครัวเวลาอยู่บ้านด้วยกันเขาอาจจะมีบุคลิกแบบหนึ่ง พออยู่ข้างนอกเป็นอีกคนหนึ่งซึ่งเราอาจไม่คุ้นเคยเลยก็ได้ อย่างวัยรุ่นนี่ค่อนข้างชัดเจนว่าเวลาอยู่ในบ้านกับพ่อแม่จะเป็นคนแบบหนึ่ง เวลาออกไปอยู่กับเพื่อนที่โรงเรียน หรือใช้ชีวิตนอกบ้านจะเป็นอีกคนที่พ่อแม่อาจไม่รู้จักเลย พ่อแม่ก็จะบอกว่าลูกฉันเป็นคนดีเสมอ จุดนี้ต่างจากครอบครัวแบบเก่าในบ้านแบบเดิมที่มีกิจกรรมการผลิต ทำมาค้าขายร่วมกัน สมาชิกได้ทำงานและเห็นมิติหลายๆ มิติของคนในบ้าน คงทำให้รู้จักกันดีกว่าการใช้ชีวิตในบ้านแบบใหม่ที่บอกว่าเราต้องรักกัน แต่เราอาจจะเข้าใจกันน้อยลงก็ได้


ในวันที่วิถีชีวิตเปลี่ยน คนทำงานที่บ้านมากขึ้น จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงความรู้สึกเรื่องบ้านบ้างไหม มีโอกาสกลับไปเป็นบ้านที่ไม่แยกชีวิตส่วนตัวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหมือนในอดีตหรือเปล่า

ตอนนี้ดูเหมือนว่าพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่โลกภายนอกที่เคยแยกกันกลับมาผสมกันมากขึ้น อย่างเรื่องการเมืองเองที่เคยถูกมองเป็นเรื่องภายนอก ทุกวันนี้ก็เข้าไปเป็นเรื่องที่เราถกเถียงกันในครอบครัว ถึงขั้นบางครอบครัวแตกหักรุนแรงก็มี เรื่อง Work From Home (WFH) เองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ทำงานกับพื้นที่พักผ่อนไม่ชัดเจนอีกต่อไป ซึ่งผมคิดว่าคงทำให้ความรู้สึกของคนที่มีต่อบ้านย่อมเปลี่ยนไปแน่นอนครับ แต่จะเปลี่ยนไปอย่างไรผมยังไม่แน่ใจเช่นกัน อาจต้องรอดูกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม บ้านที่ใช้ WFH ในปัจจุบันอาจจะแตกต่างไปจากบ้านแบบเดิมอยู่ เพราะงานที่เราสามารถทำจากบ้านได้เป็นงานที่ใช้ความคิดเป็นหลัก เราอาจจะมีโต๊ะสักตัว คอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องก็พอแล้ว แต่การทำงานบ้านแบบเดิมเป็นงานที่ใช้แรงงาน ออกแรงทำกิจกรรมต่างๆ ล้างถ้วยล้างชาม ทำการผลิต บรรยากาศของบ้านจึงน่าจะเป็นคนละแบบกัน


บ้านจัดสรรเคยเป็นบ้านในอุดมคติของชนชั้นกลางไทย แต่ปัจจุบันบ้านเดี่ยวมีราคาจับต้องได้ยากขึ้น ทำให้คนหันไปอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมหรือบ้านเช่า การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพนี้จะเปลี่ยนแปลงคุณค่า ความรู้สึกของชนชั้นกลางไทยเกี่ยวกับเรื่องบ้านไปบ้างไหม อย่างไร

ตัวผมเรียนประวัติศาสตร์มาก็อาจจะไม่ค่อยถนัดเรื่องเกี่ยวกับอนาคตเท่าไหร่นะครับ (หัวเราะ) แต่เรื่องนี้ผมพอจะเห็นกระแสอยู่บ้างว่าการมีบ้านและครอบครัวในปัจจุบันเริ่มถูกมองว่าเป็นภาระ หรือไม่ได้คิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นแล้ว คนอยากมีบ้านน้อยลง เพราะอยู่คนเดียวมากขึ้น เป็นโสดมากขึ้น ตัดสินใจไม่มีลูกมากขึ้น นี่เป็นเทรนด์ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ งานของอาจารย์สรวิศ ชัยนามเรื่องความรักกับทุนนิยมพยายามอธิบายว่าโลกทุนนิยมทำให้เราไม่กล้ามีความรักหรือมีคู่รัก เพราะการมีความรักเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ในชีวิตและมีความเสี่ยง แต่โดยปกติแล้วมนุษย์ในโลกทุนนิยมต้องการชีวิตที่ควบคุมได้

เมื่อคนเริ่มให้ความสำคัญกับชีวิตการทำงานมากขึ้น และให้ความสำคัญกับชีวิตครอบครัวน้อยลงไปเรื่อยๆ จินตนาการเรื่องบ้านและครอบครัวย่อมเปลี่ยนไปอยู่แล้วโดยอัตโนมัติ แต่จะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ผมยังไม่แน่ใจ


นอกจากการศึกษาระบอบอารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวกับบ้านและครอบครัวผ่านนิตยสารบ้านและสวน อาจารย์เองยังศึกษามวลอารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นกลางไทยภาพรวมในช่วงทศวรรษ 2520 ด้วย ซึ่งข้อค้นพบหนึ่งของอาจารย์คือช่วงเวลาดังกล่าว ชนชั้นกลางไทยมีความมั่นใจ กระปรี้กระเปร่า กล้าเสี่ยง และเปี่ยมไปด้วยความหวัง สิ่งนี้ส่งผลมาถึงการใช้ชีวิตหรือความสัมพันธ์ในครอบครัวบ้างไหม

อันที่จริงความรู้สึกกระปรี้กระเปร่า หรือกระโจนสู่ความเสี่ยงเป็นอารมณ์ที่ถูกใช้ในชีวิตการทำงานเท่านั้นนะครับ เราต้องทิ้งความรู้สึกเหล่านี้ทันทีที่ก้าวเข้าบ้าน กลับมาสู่ครอบครัว ต้องโยนอารมณ์ความรู้สึกในโลกแห่งการทำงานออกไปให้หมดเพื่อมาผ่อนคลาย สร้างความสุขร่วมกันกับครอบครัว ในยุคนั้นเราถือได้ว่าครอบครัวกลายเป็นหน่วยแห่งการบริโภค คือพากันออกไปเที่ยว พากันกินข้าว พากันแสวงหาความสุข มีหลักฐานในหนังสืองานศพเล่มหนึ่งที่ลูกเขาระลึกถึงช่วงเวลาที่อยู่กับพ่อว่านึกถึงวันหยุดที่ได้ดูทีวีแล้วกินข้าวพร้อมกันกับพ่อ นี่คือครอบครัวแบบใหม่ของชนชั้นกลางที่ต้องใช้วันหยุดร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่ใช่ครอบครัวที่ช่วยกันทำมาหากินในครัวเรือน

ปัจจุบันการมองว่าเราต้องทำงานนอกบ้านให้เสร็จ แล้วกลับมาใช้ช่วงเวลาวันหยุดอยู่กับครอบครัว สร้างความสุขร่วมกันก็ยังหลงเหลืออยู่ ภาพครอบครัวแห่งความสุขแบบนี้ยังเป็นที่พึงปรารถนาของหลายๆ คน แต่ไม่แน่ว่าคนที่คิดแบบนี้อาจจะแค่กลุ่มวัยกลางคนก็ได้ เพราะเด็กรุ่นใหม่อาจมองภาพหรือวิธีสร้างครอบครัวแห่งความสุขไม่เหมือนเดิมแล้ว


อาจารย์เคยกล่าวว่าความสัมพันธ์ของครอบครัวชนชั้นกลางตั้งแต่ยุคทศวรรษ 2520 เป็นต้นมามีการเปลี่ยนแปลงจากความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ มาเป็นความสัมพันธ์แบบมิตรภาพมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากอะไร

ปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญคือนโยบายควบคุมประชากรของรัฐ การรณรงค์ให้คุมกำเนิดซึ่งเกิดขึ้นช่วงปี 2500 เดิมคนมีลูกกันเยอะมาก 7-8 คน ไปจนถึง 10 กว่าคน แต่หลังปี 2500 เราเริ่มมองว่ามีลูกผู้หญิงก็ได้ชายก็ดี มีแค่คนเดียวหรือสองคน และสองคนนั้นจะเกิดในช่วงเวลาเหมาะสมไล่เลี่ยกัน ถ้าเทียบกับพี่น้องยุคก่อนหน้านี้ พี่คนโตอายุห่างจากน้องคนเล็กกว่า 20 ปีก็มีนะครับ ขนาดที่ว่าพี่คนโตแต่งงานมีลูกแล้ว ลูกของพี่อายุเท่ากับน้องคนเล็กสุดก็ยังเป็นไปได้ ดังนั้น การให้พี่ๆ ดูแลน้องๆ ถือเป็นเรื่องเกิดขึ้นโดยทั่วไป เครือข่ายญาติพี่น้องที่มีอยู่กว้างขวางจะทำหน้าที่ซัพพอร์ตลูกหลายคนที่อาจจะเสียพ่อหรือเสียแม่ กระจายกันไปอุปการะเลี้ยงดู หลายคนจึงมีสำนึกว่าพี่มีสถานะไม่ต่างจากพ่อหรือแม่ สิ่งนี้ปรากฏเยอะในหนังสืองานศพเวลาพี่คนโตเสียชีวิต น้องๆ ก็จะระลึกว่าพี่เปรียบเสมือนพ่อหรือแม่คนที่สอง แต่จำนวนบุตรที่น้อยลงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องมีลักษณะเป็นเพื่อนกันมากขึ้น พี่ไม่ต้องอุปการะเลี้ยงดูน้องอีกต่อไป แค่คอยช่วยเหลือดูแลกัน ความสัมพันธ์นี้ทำให้พี่น้องมีสถานะเท่ากัน

นอกจากนี้ ในมุมความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาที่มีลักษณะเป็นมิตรภาพเท่ากันมากขึ้น เป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจ แต่เดิมภรรยามักเป็นแม่บ้านเต็มเวลา ถ้าเป็นเมียข้าราชการสมัยก่อน 2475 จะเห็นภาพชัดว่าเมียเป็นแม่บ้าน ส่วนสามีเป็นข้าราชการคอยหาเงินเข้าบ้านเลี้ยงดู จนถึงตอนนี้ความสัมพันธ์ที่พึ่งพาให้ฝ่ายชายเป็นผู้คอยอุปการะก็อาจจะยังมีอยู่บ้าง แต่หลังปี 2500 เป็นต้นมา มีการเติบโตของภาคบริการ ภาคธุรกิจ การเงิน บริษัทเอกชนก็ดึงดูดให้ผู้หญิงออกไปสู่โลกนอกบ้านมากขึ้น จนทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีความสำคัญและพึ่งพาตัวเองได้

สุดท้ายแล้ว การมองหาคู่จากเดิมที่ผู้หญิงมีสามีเพราะหาผู้มาปกครองดูแลแทนพ่อ ก็กลายเป็นการหาสามีที่เป็นหุ้นส่วนชีวิต เป็นคนที่มาแชร์ชีวิตร่วมกัน โดยไม่ต้องมีใครอุปถัมภ์ค้ำชูแต่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยานี่ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงจากการทำงานในโลกสมัยใหม่หลังปี 2500 นี้เอง


นอกจากความสัมพันธ์เชิงมิตรภาพจะเกิดขึ้นระหว่างพี่น้อง สามีภรรยาแล้ว ระหว่างพ่อแม่กับลูกล่ะเป็นอย่างไร มีความใกล้ชิดหรือสถานะอำนาจเท่าเทียมกันมากขึ้นไหม

จริงๆ พ่อในอุดมคติของชนชั้นกลางที่ปรากฏอยู่ในสื่อแบบนิตยสาร เป็นพ่อที่เริ่มจะเป็นเพื่อนกับลูกนะครับ มีการพูดถึงครอบครัวประชาธิปไตยมากขึ้น คือใช้อำนาจน้อยลง ไม่มีใครกุมอำนาจใหญ่สุด ใช้การฟังและพูดคุยกันด้วยเหตุผล ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งที่หลายคนมองว่าดีและสนับสนุนให้เกิดขึ้นในครอบครัว แต่ในความเป็นจริงน่าจะตรงกันข้าม หลายคนก็ยังโตมาในบ้านที่พ่อมีอำนาจอยู่มาก และไม่มีใครรู้ว่าอำนาจของพ่อจะเสื่อมไปตอนไหน หรือเสื่อมไปแล้วหรือยัง แต่ในยุคหนึ่ง ช่วงปี 2520-2530 ชนชั้นกลางก็ยังสามารถหลุดพ้นจากครอบครัวหรือจากอำนาจของพ่อได้ด้วยการออกไปซื้อบ้านเป็นของตัวเอง


นอกจากพ่อ อาจารย์เห็นภาพไหมว่าคนคาดหวังผู้หญิงให้เป็นแม่แบบไหน

ผมอาจจะไม่ได้ศึกษาเรื่องของผู้หญิงไว้ลึกซึ้ง เพราะที่ผ่านมามีงานศึกษาเกี่ยวกับสตรีนิยม ผู้หญิงในที่ทำงานและความเป็นแม่ค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับการศึกษาเกี่ยวกับผู้ชาย แต่พอจะเห็นภาพอยู่บ้างว่าในยุค 2520-2530 ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกมักถูกให้ความหมายว่าเป็นแกนกลางของครอบครัว ครอบครัวจะอบอุ่นหรือไม่อบอุ่น ลูกจะเป็นคนมีคุณภาพหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์และการเลี้ยงดูของแม่เป็นหลัก ผู้หญิงรับภาระทางอารมณ์ความรู้สึกหนักมาก พูดง่ายๆ ว่าผู้ชายที่ล้มเหลวในชีวิตครอบครัวอาจจะไม่รู้สึกเป็นทุกข์เท่าผู้หญิงที่ล้มเหลวในชีวิตครอบครัว หลายคนถูกทำให้รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบ เมื่อเจอปัญหาในบ้านก็อาจจะเลือกทนเก็บไว้เพื่อรักษาชีวิตครอบครัว

ขณะเดียวกัน ในยุคนั้นเป็นยุคที่ผู้หญิงเริ่มมีอิสระ ออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น ก็กลายเป็นว่าถูกคาดหวังให้ประสบความสำเร็จในโลกนอกบ้านด้วย ผู้หญิงหลายคนใฝ่ฝันอยากก้าวหน้าในโลกแห่งการทำงาน แต่การดูแลครอบครัวให้มีความสุขก็เป็นภาระที่ต้องแบกไว้ ไม่เหมือนกับผู้ชายที่สามารถให้คุณค่ากับโลกแห่งการทำงานมากกว่าชีวิตครอบครัวได้ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมากนัก อย่างน้อยที่สุดคือหารายได้เข้าบ้านได้ก็พอ

ในงานศึกษาเรื่องผู้หญิงของอาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ หัวหน้าโครงการก็มีระบุไว้ครับว่าการแบกรับความคาดหวังทำให้ผู้หญิงต้องหาที่พักพิงทางอารมณ์ความรู้สึก สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือลัทธิพิธี การบวชชี สถานที่แบบเสถียรธรรมสถาน บุคคลอย่างแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต เพื่อเป็นพื้นที่ให้ผู้หญิงที่มีปัญหาเรื่องครอบครัวจำนวนหนึ่งเข้าไปพึ่งพิง ส่วนผู้ชายที่เข้าไปหาลัทธิพิธีด้วยปัญหาเรื่องครอบครัวผมคิดว่าคงมีน้อยกว่ามาก


พ้นไปจากนโยบายคุมกำเนิดที่อาจารย์ได้กล่าวไป มีตัวอย่างอื่นๆ บ้างไหมที่การเมืองหรือนโยบายของรัฐมีส่วนเข้ามากำหนดวิถีชีวิตครอบครัวชนชั้นกลาง

มองเผินๆ เหมือนว่ารัฐจะไม่ค่อยยุ่งกับเรื่องครอบครัว แต่จริงๆ แล้วรัฐก็ยุ่งเยอะอยู่นะครับ กระทั่งเป็นรัฐสมัยใหม่ก็ตาม เดิมรัฐจารีตใช้ครอบครัวในการควบคุมคนอย่างเห็นได้ชัด คือลูกเราทำผิด แต่รัฐอาจจับเราไปลงโทษแทนลูกก็ได้ แต่รัฐสมัยใหม่มักใช้อำนาจในลักษณะรณรงค์ ปลูกฝังทางความคิดมากกว่าจะใช้อำนาจแบบตรงๆ อย่างวันพ่อวันแม่ก็เป็นโครงการของรัฐที่ถูกทำขึ้นมานานแล้ว ทำให้เรารู้สึกว่าครอบครัวมีความสำคัญ ซึ่งเราเพิ่งจะมาตั้งคำถามเมื่อสัก 5 ปีหลังนี้เองที่เริ่มคุยกันว่าเลิกจัดงานวันพ่อวันแม่เถอะ เพราะเด็กที่ไม่มีพ่อหรือแม่จะรู้สึกไม่สบายใจ รู้สึกว่าแย่ที่ตนเองมีครอบครัวไม่สมบูรณ์ เป็นผลเสียมากกว่าผลดีกับการเชิญพ่อแม่มามอบพวงมาลัยกันที่โรงเรียน

นอกจากนี้ก็น่าจะมีเรื่องรณรงค์ทำนองเดียวกันอยู่อีกเยอะ แต่เราอาจจะไม่รู้ตัว เช่น การรณรงค์ให้กินนมแม่ ก็ชวนตั้งคำถามว่าสร้างภาระให้แก่ผู้หญิงทำงานหรือคาดหวังให้ผู้หญิงต้องเลี้ยงลูกเองเท่านั้นหรือเปล่าถึงจะเป็นแม่ที่ดี ในทางกลับกัน การพูดว่าพ่อควรมีบทบาทช่วยในการเลี้ยงลูกเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ แต่ก่อนพ่อก็ไม่เคยถูกคาดหวังให้รับภาระเรื่องการเลี้ยงบุตรเท่าไหร่


ชนชั้นกลางไทยมีภาพครอบครัวในอุดมคติแบบหนึ่ง แต่ในสายตารัฐ ครอบครัวอุดมคติที่รัฐต้องการเป็นอย่างไร

รัฐใช้ครอบครัวเป็นหน่วยในการควบคุมพลเมืองนะครับ คือการเลี้ยงดูอบรมเด็กถูกทำให้เป็นภาระสำคัญของพ่อและแม่ทุกคน ถ้าเด็กไม่ดี เด็กมีปัญหา ก็จะโทษว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอน ทุกครอบครัวถูกรัฐคาดหวังให้ต้องสั่งสอนบุตรหลานของตนเองให้อยู่ในกรอบ แต่ในทางตรงกันข้าม ก็เป็นรัฐอีกที่ดึงบุตรหลานของเราไปเข้าสู่ระบบการศึกษาในโรงเรียน ทำให้เด็กอยู่กับเราน้อยลง พ่อแม่มีเวลาดูแลลูกอย่างใกล้ชิดน้อยลง ชีวิตเด็กครึ่งหนึ่งอยู่ในโรงเรียนภายใต้การดูแลของรัฐ พอมีปัญหาขึ้นมากลับบอกว่าเป็นเพราะพ่อแม่ไม่สั่งสอนเสียอย่างนั้น


หนึ่งในปัญหาครอบครัวแห่งยุคสมัย คือความขัดแย้งระหว่างรุ่น (generation crash) ในเรื่องการเมือง อาจารย์มองเห็นมวลความขัดแย้งเหล่านี้บ้างไหม และคิดว่าจะนำไปสู่อะไร

ที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่มาก ผมเองก็เห็นจากตามหน้าสื่อว่ามีประเด็นความตึงเครียดระหว่างรุ่นที่เพิ่มมากขึ้นในครอบครัว ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่าความตึงเครียดระหว่างพ่อแม่และบุตรมีมานานแล้ว แค่มันอาจจะไม่ใช่เรื่องการเมืองเสียทีเดียว พอตอนนี้ช่องทางการแสดงออกของคนเป็นลูกมีมากขึ้น ก็คงทำให้ทุกคนเห็นความตึงเครียดตรงนี้ชัดเจนขึ้น ยิ่งเป็นเรื่องการเมืองที่โดยปกติก็สร้างความขัดแย้งได้เสมอมาอยู่แล้ว ยิ่งเอาไปคุยในบ้านก็ยิ่งตึงเครียดแน่ๆ หลายคนจึงพยายามหลีกเลี่ยงไม่พูดเพื่อไม่ให้เสียบรรยากาศ อันที่จริงชนชั้นกลางรุ่นที่ผมศึกษาเขารู้นะครับว่าสังคมมีปัญหาอะไรบ้าง แต่วิธีการที่ใช้ในการหลุดพ้นออกจากปัญหาคือการสร้างเซฟโซนของตัวเองแยกออกมา แล้วไม่ว่าเรื่องอะไรครอบครัวจะต้องมาก่อน แต่เด็กรุ่นใหม่ไม่คิดแบบนั้น เขาคิดว่าถ้าสังคมมีปัญหาก็ต้องแก้ปัญหาของสังคม ต้องเปลี่ยนแปลงข้างนอกก่อน ทำให้เป็นประชาธิปไตย เรื่องในครอบครัวถึงจะดี เขาถึงกล้าพูด กล้าวิพากษ์วิจารณ์ แต่บางครอบครัวอาจไม่ชอบใจ ไม่เห็นด้วยจึงเกิดเป็นความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น จุดนี้จะแก้ไขยังไงผมเองก็ยังนึกไม่ออก ได้แต่หวังว่าสุดท้ายเราจะมีทางที่นำไปสู่การพูดคุยสร้างความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้นกว่าเดิม


เท่าที่อาจารย์ศึกษาชีวิตครอบครัวของชนชั้นกลางไทย ในอดีตเคยมีมวลความตึงเครียด ความขัดแย้งในบ้านเนื่องด้วยเหตุการณ์หรือบรรยากาศทางการเมืองเหมือนในปัจจุบันบ้างไหม

แทบไม่ปรากฏเลยครับ ผมคิดว่าความขัดแย้งทางการเมืองแต่เดิมชนชั้นกลางอาจจะมีภาพศัตรูร่วมกันชัดเจน ว่าใครเป็นผู้ร้ายบ้าง แล้วมวลชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยก็จะเป็นพระเอก ดังนั้นเท่าที่ศึกษามาก็อาจจะไม่เห็นว่ามีการนำเรื่องการเมืองกับเรื่องภายในบ้านมาเกี่ยวกันสักเท่าไหร่ อย่างมากก็มีแค่การรณรงค์ให้มีครอบครัวแบบประชาธิปไตยเท่านั้นเอง ไม่ได้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใดครั้งหนึ่งโดยตรง

ถ้าให้ลองนึกภาพที่ใกล้เคียงกับปัจจุบัน ผมว่ายุค 14 ตุลา กับ 6 ตุลา ที่ลูกไปเป็นคอมมิวนิสต์หรือไปนิยมฝ่ายซ้ายต่างจากพ่อแม่น่าจะเห็นภาพชัดสุด น่าจะทำให้เกิดความตึงเครียดในครอบครัวขึ้น ซึ่งอาจต้องไปไล่อ่านความทรงจำของปัญญาชนสมัยนั้นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง


หากมองภาพสถานการณ์สังคมและการเมืองในปัจจุบัน มวลอารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นกลางในภาพรวมเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับชนชั้นกลางในอดีต

ตั้งแต่ปี 2540 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง มันทำให้ความกระปรี้กระเปร่า มั่นอกมั่นใจของคนลดลงไปเยอะ แต่ผมว่าชนชั้นกลางตอนนี้ก็ยังปรารถนาความก้าวหน้าในชีวิตอยู่ดีนะครับ แค่ด้วยเงื่อนไขเศรษฐกิจไม่เอื้อให้เราบรรลุความปรารถนานั้นง่ายๆ อีกแล้ว อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์พูดกันว่าเราติดกับดักรายได้ปานกลาง ทำให้ชนชั้นกลางไทยไม่เติบโตไปมากนัก คนก็จะรู้สึกชัดว่าเราโตช้า ไม่โตอย่างที่ควรจะเป็น กลายเป็นความรู้สึกย่ำแย่ ยิ่งเมื่อชนชั้นกลางระดับล่างในชนบทเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เห็นได้ชัดเจนเมื่อเทียบกับชนชั้นกลางในเมืองช่วงหลังปี 2540 เป็นต้นมา ความรู้สึกเปรียบเทียบนี้ก็ไปสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคเสื้อเหลืองเสื้อแดงด้วย กล่าวคือคนมองว่าเป็นคู่ตรงข้ามกัน ด้านหนึ่งกลายเป็นฐานของมวลชนคนเสื้อแดง อีกด้านเป็นฐานของคนเสื้อเหลือง

โดยภาพรวมแล้ว ชนชั้นกลางมักหวังว่า หนึ่ง ตนเองจะก้าวหน้า และสอง ไม่อยากให้ใครก้าวหน้าไปกว่าตนเองเท่าไหร่นัก การใช้ชีวิตของพวกเขาเป็นการมองขึ้นไปข้างบน อยากไต่ขึ้นไปสู่ข้างบนตลอดเวลา ไม่ได้มองลงมาข้างล่าง คำโฆษณาที่พบบ่อยในนิตยสารบ้านและสวนคือ ‘มีระดับ’ กับ ‘มีคลาส’ ถ้าคุณซื้อสิ่งนี้จะได้รับสิทธิพิเศษหรือมีอภิสิทธิ์มากกว่า คำทำนองนี้สะท้อนให้เห็นว่าชนชั้นกลางอยากขึ้นไปสู่ระดับบนตลอดเวลา


เมื่อหลายคนแยกตัวออกจากครอบครัว มีบ้านเป็นของตัวเองยากขึ้นเพราะเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อวิถีชีวิตหรือความรู้สึกที่มีต่อเรื่องครอบครัวของชนชั้นกลางบ้างไหม

ในแง่นี้อาจจะมีหลายคนที่อยู่ติดกับครอบครัว กับพ่อแม่มากขึ้น เลือกอยู่บ้านเช่ามากขึ้น และอาจมีอีกหลายคนที่กลัวจะมีครอบครัวใหม่ เพราะชีวิตที่มองว่าถ้าก้าวพลาด อาจจะล้มเหลวได้ง่ายแบบในปัจจุบันมันเปราะบางสำหรับการใฝ่ฝันถึงครอบครัวที่ดีหรือมีคู่ชีวิต กลายเป็นว่าคนจะบอกว่าถ้ามีแฟนแล้วไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้นก็ไม่เอาหรอก คนจะมองว่าคู่รักที่ทำให้ชีวิตดี นอกเหนือไปจากความรักก็มีมิติเรื่องความสุขสบายในชีวิตที่สำคัญ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการมีลูก หลายคนก็คิดหนักว่าจะรับผิดชอบเด็กยังไงให้โตมาได้มาตรฐานที่ถูกตั้งไว้ในสภาพเศรษฐกิจสังคมแบบนี้


สุดท้ายนี้ อาจารย์พอจะเห็นภาพไหมว่าในอนาคต ระบอบอารมณ์ความรู้สึกใหม่ของชนชั้นกลางที่อาจก่อตัวเกิดขึ้นได้มีหน้าตาอย่างไร

เดิมชีวิตชนชั้นกลางที่ผมศึกษาโดยภาพรวมจะเป็นอารมณ์ความรู้สึกเชิงบวก เป็นคนแอคทีฟ มุ่งมั่น ชอบความท้าทาย ชอบการแข่งขัน แต่ไม่ถึงกับต้องฆ่าแกงกันนะครับ เพราะเราแพ้ ล้มได้ก็ลุกได้ ส่วนชีวิตครอบครัวก็มองว่ามีความสุข ความสดชื่นเป็นอารมณ์หลัก

ช่วงหลังมานี้ ผมไม่แน่ใจว่าจะเรียกเป็นอารมณ์ความรู้สึกเชิงลบได้ไหม แต่คนมักพูดกันว่าชีวิตต้องขับเคลื่อนด้วยความโกรธ เรายังโกรธไม่พอ ตรงกันข้ามกับที่ตอนเด็กเรามักถูกสอนให้เก็บกลั้นความโกรธไว้ ไม่แสดงออกมา ตอนนี้เรามองความโกรธว่าเป็นแรงผลักดันในการเปลี่ยนแปลงอะไรต่อมิอะไรได้ด้วยซ้ำ การที่เราใช้ชีวิตด้วยอารมณ์โกรธน่าจะสร้างวิถีชีวิต ระบอบอารมณ์ความรู้สึกแบบใหม่ที่ไม่เหมือนกับชีวิตชนชั้นกลางในอดีต เป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจติดตามต่อครับ

ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว

ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save