fbpx
จากอารมณ์ความรู้สึกแห่งยุคสมัยถึงการถดถอยทางปัญญาของอนุรักษนิยมไทย สนทนากับสายชล สัตยานุรักษ์

จากอารมณ์ความรู้สึกแห่งยุคสมัยถึงการถดถอยทางปัญญาของอนุรักษนิยมไทย สนทนากับสายชล สัตยานุรักษ์

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

 

กันยายน 2563 แม้ฝนจะยังตกหนัก แต่ทั้งสภาพอากาศจริงและอุณหภูมิการเมืองกลับร้อนแรงอย่างยิ่ง หากย้อนกลับไปในวันที่คนไทยส่วนใหญ่ยังต้องล็อกดาวน์ เพราะโควิด-19 เมื่อกลางปี คงไม่มีใครกล้าคิดว่า การเมืองไทยวันนี้จะแหลมคมถึงขั้นที่หลายคนบอกว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญทางประวัติศาสตร์

ที่บอกว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะเป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้งในประวัติศาสตร์ที่ ‘ความเป็นไทยกระแสหลัก’ และความเชื่อที่ว่า ‘เมืองไทยนี้ดี’ ซึ่งทรงพลังและครอบงำสังคมไทยมาตลอด 130 ปีถูกท้าทายอย่างถึงแก่น และเป็นผลพลอยให้สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็น ‘หัวใจของความเป็นไทย’ ถูกตั้งคำถามไปด้วย

จริงอยู่ว่า การตั้งคำถามต่อความเป็นไทยที่มาพร้อมกับการเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การปะทะกันทางความคิดในทุกพื้นที่ตั้งแต่ ครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย ท้องถนน เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ฯลฯ จนเกิดเป็น ‘อารมณ์ความรู้สึกแห่งยุคสมัย’ เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ในขณะเดียวกัน ปัญญาชนอนุรักษนิยมที่เคยได้ชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์ความเป็นไทยกระแสหลักกลับไม่สามารถนำเสนอคำตอบให้กับผู้ตั้งคำถามเท่าใดนัก

คำถามใหญ่ที่เรียบง่ายคือ เกิดอะไรขึ้นกันแน่?

หนึ่งในคนที่ตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดคือ สายชล สัตยานุรักษ์  ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เขียนหนังสือ “10 ปัญญาชนสยาม” ซึ่งเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ความคิดของปัญญาชนอนุรักษนิยมไทยในการสร้าง ‘ความเป็นไทยกระแสหลัก’ ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด นอกจากนี้ สายชลยังผลิตงานวิจัยด้านประวัติศาสตร์ความคิดและภูมิปัญญาในการเมืองร่วมสมัยอีก เช่น งานวิจัยเรื่อง “นักวิชาการกับการต่อสู้ช่วงชิงความหมาย ‘ประชาธิปไตย’ ในภาวะวิกฤตทางการเมือง พ.ศ.2548-2557”  และโครงการวิจัยชุด “ความคิด ระบบคุณค่า และระบอบอารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นกลางไทย”

101 พูดคุยกับ ‘อาจารย์สายชล’ ในวันที่สังคมการเมืองไทยยังต้องการคำอธิบายใหม่ๆ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างสันติ

 

 

สังคมการเมืองไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญและคงไม่มีใครคาดเดาได้ว่าสถานการณ์จะวิวัฒน์หรือคลี่คลายไปในทางใด หากมองจากแว่นตาของคนที่สนใจประวัติศาสตร์ความคิดและภูมิปัญญา อาจารย์มองพลวัตการเมืองไทยอย่างไร

ขอมองผ่านงานวิจัยที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน ทีมวิจัยกำลังศึกษาระบอบอารมณ์ความรู้สึก (emotional regimes)[1] ที่สัมพันธ์กับความคิด และระบบคุณค่าของชนชั้นกลางไทย แม้ว่าเป้าหมายหลักของโครงการจะไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่ผลการวิจัยเท่าที่เราได้ทำกันมาตั้งแต่ปี 2561 ก็ช่วยให้เห็นพลวัตของการเมืองไทยได้ไม่น้อย เพราะได้เห็นทั้งส่วนที่มีลักษณะอนุรักษนิยม และส่วนที่เป็นระบอบอารมณ์ความรู้สึกใหม่ที่กำลังก่อตัวชัดเจนขึ้น จนน่าจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการเมืองไทยในอนาคตอันใกล้[2]

ทีมวิจัยสนใจระบอบอารมณ์ความรู้สึก ความคิด และระบบคุณค่า ที่สถาบันหลักๆ ในสังคมไทยสถาปนาขึ้น แล้วพยายามวิเคราะห์และอธิบายความเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายอันเกิดจากพลังใหม่ๆ ในสังคม เช่น คุณอาสา คำภา ศึกษาพุทธศาสนาของชนชั้นกลาง อ.ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว ศึกษาครอบครัวของชนชั้นกลาง อ.สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ ศึกษาจินตนาการชาติของชนชั้นกลางไทยเชื้อสายจีน และมีนักวิชาการอีกหลายคนช่วยศึกษาเรื่องอื่นๆ ที่ช่วยให้เข้าใจชนชั้นกลางไทยมากขึ้น คือ อ.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ศึกษาอารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวกับความงาม อ.กฤษณ์พชร โสมณวัตร ศึกษาอารมณ์ความรู้สึกเดือดร้อนรำคาญ อ.ปราการ กลิ่นฟุ้ง ศึกษาอารมณ์ความรู้สึกที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ส่วน อ.เซนโจ นาไก (Senjo Nakai) ทำวิจัยเกี่ยวกับ ‘ความรู้สึกโหยหาอดีต’ (nostalgia) ของชนชั้นกลางญี่ปุ่น เพื่อเปรียบเทียบกับความรู้สึกโหยหาอดีตของชนชั้นกลางไทย

เรื่องระบอบอารมณ์ความรู้สึก ความคิด และระบบคุณค่าที่เราช่วยกันศึกษาอยู่นี้ ดูเผินๆ เหมือนจะไม่เกี่ยวอะไรกับการเมือง แต่ที่จริงแล้วช่วยให้เห็นทิศทางหรือแนวโน้มของความเปลี่ยนแปลงได้ไม่น้อย และที่สำคัญคือ เป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันของชนชั้นกลาง ซึ่งในที่สุดแล้วส่งผลไปถึงการเมือง

เช่น การศึกษาเกี่ยวกับครอบครัวทำให้เห็นว่า รัฐและชนชั้นนำส่งเสริมบทบาทผู้หญิงในการสร้างครอบครัวและเลี้ยงดูลูกให้เป็นพลเมืองดีของชาติ แต่ในบริบทที่ผู้หญิงต้องออกมาทำงานนอกบ้าน ผู้หญิงจำนวนหนึ่งจึงเกิด ‘ความทุกข์ทนทางอารมณ์ความรู้สึก’ จากการที่จะต้องทำตัวตามมาตรฐานทางอารมณ์ความรู้สึกเดิม ที่มันไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ ผู้หญิงจำนวนหนึ่งอาจถูกสังคมลงโทษ ในขณะที่จำนวนไม่น้อยเกิด ‘ความทุกข์ทนทางอารมณ์ความรู้สึก’ จากการลงโทษตัวเองที่ไม่ได้ทำตัวตามมาตรฐานที่ตัวเองเชื่อว่าถูกต้องดีงาม โดยเฉพาะการมีอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่ทำให้ผู้หญิงเป็นเมียและแม่ที่ดี เช่น ความรู้สึกเคารพต่อสามี ความรักอย่างลึกซึ้งต่อสามีและลูกจนยอมอุทิศชีวิตทั้งหมดให้แก่ครอบครัว

ผู้หญิงชนชั้นกลางที่มี ‘ความทุกข์ทนทางอารมณ์ความรู้สึก’ เหล่านี้จะเริ่ม ‘หนี’ ไปสู่  ‘ที่พักพิงอารมณ์ความรู้สึก’ ต่างๆ ที่ช่วยให้รู้สึกเป็นอิสระจากระบบคุณค่าและมาตรฐานทางอารมณ์ความรู้สึกเดิม มีเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกับคนอื่นๆ

เพียงแค่มองผ่านครอบครัว ก็จะเห็น ‘ที่พักพิงอารมณ์ความรู้สึก’ หลากหลายรูปแบบ ซึ่งในความเป็นจริงคนไทยมี ‘ความทุกข์ทนทางอารมณ์ความรู้สึก’ จากระบอบอารมณ์ความรู้สึกหลักอื่นๆ ที่มีอยู่ในสังคมอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา โดยแต่ละคนย่อมเลือก ‘ที่พักพิงอารมณ์ความรู้สึก’ ที่เหมาะกับตัวเอง บางคนก็อาจเลือกหลายๆ ที่ หรือบางคน/บางกลุ่มอาจสร้าง ‘ที่พักพิงอารมณ์ความรู้สึก’ ใหม่ๆ ทำให้อารมณ์ความรู้สึกใหม่ ความคิดใหม่ และระบบคุณค่าใหม่กระจายตัวออกไปในสังคมกว้างขึ้นเรื่อยๆ

เราจะพบว่า ความคิด ค่านิยม และอารมณ์ความรู้สึกที่รักอิสรภาพ เสรีภาพ ความเสมอภาค ปรากฏในการจัดกิจกรรมทางวิชาการหรือทางสังคมของกลุ่มหรือสมาคมต่างๆ มีชมรมใหม่ๆ เกิดขึ้น รวมทั้ง ‘ชมรมแม่เลี้ยงเดี่ยว’ มีหนังสือธรรมะแนวใหม่และงานเขียนทางพุทธศาสนาบางสำนัก และมีอยู่ในนวนิยาย เรื่องสั้น ภาพยนตร์ เว็บไซต์ เว็บบอร์ด ทวิตเตอร์ ฯลฯ กลายเป็น ‘ที่พักพิงทางอารมณ์ความรู้สึก’ ของชนชั้นกลาง ที่พักพิงบางที่ยังเปิดโอกาสให้คนได้ใช้ศักยภาพทางสติปัญญาและทางจิตใจในการเผชิญกับความล้มเหลวในชีวิต มีศักยภาพที่จะเรียนรู้ และลุกขึ้นมาใหม่อย่างคนที่พึ่งตัวเองได้ โดยมีเป้าหมายในชีวิตที่พวกเขาเลือกเอง และมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมาย แทนที่จะอยู่ใน ‘comfort zone’ แล้วยอมอดทนกับความเจ็บปวดจากการทำตัวตามระบอบหรือแบบแผนที่คนอื่น/สังคม หรือรัฐบอกว่ามันถูกต้อง ดี งาม

เมื่อคนจำนวนมากในสังคมหนีไปยัง ‘ที่พักพิงอารมณ์ความรู้สึก’ ต่างๆ บ่อยขึ้น นานขึ้น ในที่สุดก็จะเคยชินกับชีวิตและจิตใจที่มีอิสรภาพ เสรีภาพ และความเสมอภาค สามารถเป็นตัวของตัวเอง ไม่ถูกใครจ้องมอง ตัดสิน หรือลงโทษ เกิดความต้องการอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้อย่างถาวร กล่าวได้ว่าเกิดการก่อตัวของ ‘ระบอบอารมณ์ความรู้สึกใหม่’ ในสังคมไทย ที่จะมีผลไปถึงการเคลื่อนไหวทางการเมือง นำไปสู่การปฏิเสธหรือต่อต้านสถาบันต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันที่ไม่ได้ปรับตัวให้มีบทบาทอย่างสอดคล้องกับความคิด ระบบคุณค่า และอารมณ์ความรู้สึกใหม่ๆ ของคนเหล่านี้

จำเป็นต้องกล่าวด้วยว่า ถึงแม้ว่า ‘ที่ลี้ภัยทางอารมณ์ความรู้สึก’ บางส่วนมีความคิดและระบบคุณค่าเก่าๆ หลงเหลืออยู่มาก แต่ส่วนที่ทำให้ผู้คนมีความรู้สึกเป็นอิสระ มีเสรีภาพ หรือสามารถพูดคุยถกเถียงกับคนอื่นๆ อย่างเสมอภาค ก็เป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อชนชั้นกลางที่อยากจะหลุดออกไปจากระบอบอารมณ์ความรู้สึกหลักในสังคม ซึ่งเมื่ออารมณ์ความรู้สึกใหม่ๆ มีอิทธิพลกว้างขวางขึ้นแล้ว ก็ถือได้ว่าเกิดระบอบและมาตรฐานอารมณ์ความรู้สึกใหม่  ซึ่งจะผลักดันคนจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจที่ดำรงอยู่

 

อาจารย์ให้ความสำคัญกับ ‘ระบอบอารมณ์ความรู้สึก’ อยากให้ช่วยขยายความสักนิดว่า หมายถึงอะไรกันแน่ และต่างจากคำว่าอุดมการณ์อย่างไร  

แนวคิดเรื่อง ‘ระบอบอารมณ์ความรู้สึก’ บุกเบิกโดยวิลเลียม เรดดี้ (William M. Reddy) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาวัฒนธรรมแห่งมหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University) โดยหมายถึง แบบแผนหรือมาตรฐานทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาและในบริบททางวัฒนธรรมหนึ่งๆ แนวคิดนี้เชื่อว่า อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่เกิดขึ้นมาอย่างลอยๆ หรือเป็นแค่ปฏิกิริยาต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่มีมาตรฐานบางอย่างในสังคมและวัฒนธรรมกำกับอยู่ เราจะได้รับอนุญาตให้รัก เกลียด ภูมิใจ ดีใจ เสียใจ กับอะไร และอย่างไร ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ แต่มีโครงสร้างอำนาจที่กำหนดแบบแผน มีการให้รางวัลหรือเกียรติยศ และมีการลงโทษต่างๆ แก่คนที่ละเมิดแบบแผนหรือมาตรฐานทางอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้น เรดดี้แสดงให้เห็นว่าระบอบอารมณ์ความรู้สึกหลักในสังคมทำให้เกิดความทุกข์ทนทางอารมณ์ความรู้สึก ระบอบอารมณ์ความรู้สึกใหม่ที่ก่อตัวและขยายออกไปสู่สังคมวงกว้างทำให้เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส และความผันแปรของระบอบอารมณ์ความรู้สึกหลังจากนั้น ก็ส่งผลต่อการเมืองของฝรั่งเศสอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งการการประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และโรเบสปิแอร์ ด้วยกิโยตินในเวลาต่อมา[3]

ในกรณีสังคมไทย ในอดีตที่ผ่านมา ระบอบอารมณ์ความรู้สึกหลักของสังคมไทยมาจากการสร้างและผลิตซ้ำโดยปัญญาชนอนุรักษนิยมไทย และมีสถาบันหลายระดับ เช่น ครอบครัว โรงเรียน กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม วัด นักเขียน นักสร้างภาพยนตร์หรือละครทีวี ฯลฯ เป็นกลไกสำคัญในการส่งผ่านและผลิตซ้ำ มีการปรับเปลี่ยนอยู่บ้างเพื่อตอบสนองบริบทที่เปลี่ยนไป แต่แบบแผนหรือมาตรฐานหลักยังได้รับการรักษาไว้ และมีอำนาจในการกำหนดวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างมาก แม้ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา

ที่จริงแล้วระบอบอารมณ์ความรู้สึกกับอุดมการณ์สัมพันธ์กันมาก จะเห็นอารมณ์ความรู้สึกอยู่ในอุดมการณ์เสมอ เช่น คนต้อง ‘รักชาติ’ ‘ภาคภูมิใจในความเป็นไทย’ ฯลฯ เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่มีอยู่ในอุดมการณ์ชาตินิยม ในปัจจุบันก็จะมีการโจมตีนักการเมืองบางกลุ่มและเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองว่าเป็นพวก ‘ชังชาติ’ ก็เป็นการใช้คำแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่มาจากอุดมการณ์ชาตินิยมเช่นกัน

พูดได้ว่า ในอุดมการณ์ต่างๆ มีทั้งส่วนที่เป็นความคิด ระบบคุณค่า และอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งทั้งสามส่วนนี้สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ทีมวิจัยของเราจึงหวังว่าจะเข้าใจอุดมการณ์ของชนชั้นกลางอย่างซับซ้อนกว่าระดับที่เป็น ‘ความคิด’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราอยากจะเข้าใจ ’ระบอบอารมณ์ความรู้สึก’ ของชนชั้นกลางซึ่งเรายังมีความรู้น้อยมาก และเราหวังว่าความเข้าใจนี้จะช่วยให้เราเข้าใจการเมืองไทยมากขึ้นด้วย  มีคำกล่าวว่า “การปฏิวัติแท้ที่จริงแล้วเป็นห้วงจังหวะแห่งอารมณ์” (revolutions are deeply emotional moments) การทำความเข้าใจอารมณ์จึงสำคัญอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจการเมือง

 

หากมองเข้าไปในม็อบนิสิต นักศึกษา และเด็กนักเรียน อาจารย์มองเห็นอารมณ์ความรู้สึกแบบไหน

อาจพูดได้ว่าพวกเขาตกอยู่ในสภาวะ ‘ทุกข์ทนทางอารมณ์ความรู้สึก’ เพราะถูกบังคับให้ทำตัวเป็น ‘เด็กดี’ ตามมาตรฐานทางอารมณ์ความรู้สึกเดิมที่อยู่ในกรอบ ‘ความเป็นไทย’ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงต้องเรียบร้อย เป็นกุลสตรี โรงเรียนบางแห่งบังคับให้นักเรียนหญิงต้องสวมชุดชั้นใน 2 ชั้น (ต้องสวมเสื้อบังทรงและกางเกงขาสั้นทับชุดชั้นใน) แม้ว่าอากาศจะร้อนและอึดอัดแค่ไหนก็ต้องอดทน พวกเขาทุกข์ทนกับการถูกลงโทษหรือถูกตัดสินว่าเป็น ‘เด็กเลว’ เมื่อใดก็ตามที่เขาละเมิด ‘ความเป็นไทย’

ในขณะเดียวกัน ‘ความเป็นไทย’ แบบเดิมที่พวกเขาถูกสอนให้เห็นคุณค่าและต้องทำตาม รวมทั้งความรู้แบบท่องจำทั้งหลาย ก็ไม่ตอบสนองต่อความเป็นจริงในชีวิตของพวกเขาแล้ว เพราะไม่ช่วยในการทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ รอบตัวที่ทุกสิ่งทุกอย่างผันแปรอย่างรวดเร็ว การโหยหาอดีตแบบ ‘เมืองไทยนี้ดี’ ไม่มีความหมายแก่คนรุ่นนี้ เยาวชนเหล่านี้พบว่าความรู้แบบเดิมที่พวกเขาต้องท่องจำเพื่อเอาไปสอบ และมาตรฐานที่คนรุ่นเก่าสร้างไว้ ไม่ช่วยให้พวกเขาอยู่รอดได้ จึงไม่แปลกเลยที่พวกเขาจะรู้สึกโกรธ และลุกขึ้นมาต่อสู้หรือต่อต้าน และพร้อมที่จะเรียกตัวเองว่า ‘เด็กเลว’ ในความหมายที่ว่าพวกเขาจะไม่ยอมรับความรู้เดิมๆ และไม่ทำตามมาตรฐานเดิมๆ เพื่อจะเป็น ‘เด็กดี’ อีกต่อไป

นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่คงมี ‘ความทุกข์ทนทางอารมณ์ความรู้สึก’ มาตั้งแต่ระดับครอบครัวและโรงเรียนแล้ว โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่ถูกบังคับให้อยู่ในระเบียบแบบแผนที่เข้มงวดกว่า ต้องอยู่กับกฎระเบียบที่จุกจิกกว่า ตั้งแต่การแต่งกาย กริยา-มารยาท การควบคุมอารมณ์ความรู้สึกให้อยู่ในกรอบของ ‘ผู้หญิงไทย’ ความคิดเรื่อง ‘พรหมจรรย์’ และ ‘ผู้หญิงดี’ ยังคงได้รับการปลูกฝังเพื่อให้ผู้หญิงควบคุมอารมณ์ความรู้สึกทางเพศอย่างเข้มงวด

ความโกรธ ความไม่พอใจ และความคับข้องใจของคนรุ่นใหม่เป็นผลมาจากการที่พวกเขาประจักษ์ว่าระบบคุณค่าและความรู้แบบเดิมนั้นล้าสมัย ยิ่งไปเจอความรู้ชุดอื่นในโลกออนไลน์ที่ตอบโจทย์ในชีวิตมากกว่า ก็ยิ่งปฏิเสธความรู้ชุดเดิม อยากให้ปฏิรูปการศึกษา อยากมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสวงหาความรู้ คิดเอง เลือกเอง ตัดสินใจเอง อยากลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ถ้าต้องล้มเหลวพวกเขาก็อยากจะมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ และลุกขึ้นมาใหม่อย่างคนที่พึ่งตัวเองได้ โดยมีเป้าหมายในชีวิตที่พวกเขาเลือกเอง ไม่ใช่การท่องจำเป้าหมายนามธรรมที่ ‘ดี’ หรือ ‘งาม’ หรือ ‘สูงส่ง’ ตามที่คนรุ่นเก่า ซึ่งมักจะแก่และอนุรักษนิยมอย่างสุดโต่ง พยายามบีบบังคับหรือกล่อมเกลาให้พวกเขาเชื่อ และลงโทษเมื่อพวกเขาเชื่อไม่ลง หรือตัดสินว่าพวกเขาเป็น ‘เด็กเลว’ อย่างที่เป็นอยู่

 

แต่ไหนแต่ไรมา เด็กและวัยรุ่นก็มักจะขบถต่อผู้ใหญ่และต่อสังคมอยู่แล้ว ทำไมการเคลื่อนไหวของม็อบรอบนี้จึงดูต่างออกไปจากทุกที

ข้อค้นพบหนึ่งจากงานวิจัยก็คือ ในสังคมไทยมี ‘ที่พักพิงทางอารมณ์ความรู้สึก’ ที่ทำให้คนมีอิสรภาพและความเสมอภาคกับคนอื่นๆ คล้ายงานคลาสสิกของเรดดี้ที่เสนอว่า การออกไปนั่งคุยกันในวงเล็กๆ คือที่ลี้ภัยทางอารมณ์ความรู้สึกของคนฝรั่งเศสที่ต้องทุกข์ทนทางอารมณ์ความรู้สึกจากระบบเกียรติยศและการที่จะต้องพยายามทำตามมาตรฐานทางอารมณ์ความรู้สึกที่ราชสำนักสร้างขึ้น แล้วอารมณ์ความรู้สึกในพื้นที่เล็กๆ ที่พวกเขาคุยกันก็ขยายออกไปในสังคมวงกว้าง เกิดเป็นระบอบอารมณ์ความรู้สึกใหม่ที่นำไปสู่การปฏิวัติใน ค.ศ.1789

ในกรณีของไทย จะนำไปสู่การปฏิวัติแบบในฝรั่งเศสหรือไม่ ก็ไม่ทราบ (หัวเราะ) แต่ก็มีข้อสังเกตที่น่าคิดบางประการ โดยเฉพาะการเขียนและการอ่านวรรณกรรม ซึ่งอาจถือเป็น ‘ที่พักพิงทางอารมณ์ความรู้สึก’ ของเยาวชนที่สำคัญอย่างหนึ่ง วรรณกรรมและนวนิยายยอดนิยมจำนวนมาก มีตัวละครหลักเป็นผู้หญิงที่นำความสำเร็จมาสู่ตนเองและครอบครัว บรรลุเป้าหมายในชีวิตได้โดยไม่ต้องพึ่งผู้ชายหรือไม่ต้องขอให้ใครมาอุปถัมภ์ช่วยเหลือ มีวรรณกรรมแนวอีโรติกของไทยหลายเรื่องที่เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์และเพศรสอย่างโลดโผนมาก เช่น เล่าถึงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายพร้อมกัน 2 คน การแสดงอารมณ์ทางเพศในที่สาธารณะ ฯลฯ เนื้อหาแบบนี้ขัดกับ ‘ความเป็นไทย’ กระแสหลักที่สอนเรื่องรักเดียวใจเดียว การรักษาพรหมจรรย์ การควบคุมอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ หากละเมิดก็จะถูกลงโทษ นับตั้งแต่การนินทาไปจนถึงการมองว่าเป็นบ้าไปแล้ว

กระทั่งในกลุ่มนักเขียนที่เคยถูกมองว่าอนุรักษนิยมก็ยังเขียนนวนิยายที่นางเอกมิได้ทำตัวสอดคล้องกับค่านิยมเก่าๆ นวนิยายบางเรื่องนางเอกลุกขึ้นมาแก้แค้นผู้ชายที่ทำร้ายตัวเองและลูก ในนวนิยายและภาพยนตร์หลายเรื่องนางเอกเคยผิดหวังจากสามีเก่าและได้พบรักกับพระเอก นางเอกบางคนเคยเลือกเป็นเมียน้อยก่อนที่จะมาพบรักกับพระเอก

งานอีกประเภทหนึ่งที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของยุคสมัยได้มาก คือหนังสือแนะนำการดำเนินชีวิต (how to) หนังสือเหล่านี้บางส่วนอาจเน้นเป้าหมายในเรื่องความมั่งคั่งร่ำรวย แต่จะพบว่า หลายเรื่องกล่าวถึงการเรียนรู้จากความล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิตครอบครัวหรือการทำงาน ไม่จมอยู่กับอดีตที่เจ็บปวด พร้อมที่จะค้นหาเป้าหมายใหม่ของชีวิต แล้วลุกขึ้นต่อสู้เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตนค้นพบ ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น และด้วยความรู้กับประสบการณ์ของตนเอง หนังสือเหล่านี้ทำให้คนอ่านเชื่อว่า ตนเองมีสิทธิและเสรีภาพที่จะเลือกเดินไปสู่ความสำเร็จและมีความสุขในแบบของตนเอง ให้คำอธิบายและสร้างแรงบันดาลใจแก่คนที่ผิดหวังในชีวิต ในกรณีผู้หญิงที่ผิดหวังกับชีวิตครอบครัว หรือรู้สึกผิดจากการทิ้งครอบครัวออกไปทำงาน และรู้สึกทุกข์ใจ ท้อใจ งานเขียนหลายเรื่องก็ช่วยเป็น ‘เข็มทิศ’ ที่ชี้ให้เห็นว่า การทิ้งครอบครัวและเลือกออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเองนั้นเป็นสิทธิอันชอบธรรม เป็นสิ่งที่ดีต่อตนเอง และสุดท้ายก็จะดีกับคนอื่นด้วย เพราะเมื่อได้รับความสำเร็จหรือร่ำรวยขึ้นมาแล้ว ก็สามารถจะช่วยเหลือคนในครอบครัว รวมทั้งพ่อแม่ หรือช่วยคนอื่นๆ ได้ งานเขียนหลายเรื่องกระตุ้นให้ก้าวออกไปจาก comfort  zone พร้อมที่จะเสี่ยงในการเดินไปสู่เป้าหมายใหม่ที่ตัวเองเลือก ถ้าล้มเหลวก็จะไม่กลัว จะสรุปบทเรียนและใช้ประโยชน์จากบทเรียนนั้นเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายอีกครั้ง และอีกครั้ง

การขยายตัวของพื้นที่ลี้ภัยทางอารมณ์ความรู้สึกที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพ อิสรภาพ และความเสมอภาค การไม่จมอยู่กับพันธนาการและความล้มเหลวต่างๆ พร้อมที่จะเรียนรู้ พร้อมที่จะสร้างเป้าหมายที่ชัดเจน และยึดหลักการว่าจะต้องต่อสู้จนถึงที่สุดเพื่อบรรลุเป้าหมาย ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า ระบบคิด คุณค่า และอารมณ์ความรู้สึกของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงอย่างไพศาล ไม่ใช่การยึดถือแบบแผนหรือมาตรฐานใดๆ อย่างตายตัวอีกต่อไป

 

 

ในบริบทแบบไทยๆ แม้ ‘ที่ลี้ภัยทางอารมณ์ความรู้สึก’ จะเน้นสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคมากขึ้น แต่พูดให้ถึงที่สุด งานเหล่านี้ก็ยังถูกครอบงำโดย ‘ความเป็นไทยกระแสหลัก’ อยู่หรือเปล่า เช่น ต่อให้ตัวละครเอกจะก้าวหน้าในเรื่องเพศหรือเรื่องสังคมแค่ไหน แต่พวกเขาจะไม่ข้ามเส้นชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยเด็ดขาด หรือถ้าเป็นเรื่องครอบครัว งานเหล่านี้ก็จะไม่วิพากษ์ ‘ครอบครัวที่ดี’ ในแบบอนุรักษนิยมสักเท่าไหร่

เห็นด้วย เราอาจจะพูดได้ว่า อุดมการณ์อนุรักษนิยมยังทรงอิทธิพลมาก มีวรรณกรรมหรือภาพยนตร์แนวรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และแนวครอบครัวแบบเดิมอีกมาก ในหลายเรื่องด้วยกันที่หลังจากตัวละครละเมิดมาตรฐานทางอารมณ์ความรู้สึกหลักในสังคมไปแล้ว ก็ไม่สามารถจะมีชีวิตที่มีความสุขจากสิ่งที่ตนเองได้ทำลงไป และในหลายเรื่องที่ต้องเขียนในลักษณะที่ผู้หญิงเป็นผีจึงละเมิดมาตรฐานทางอารมณ์ความรู้สึกได้ ซึ่งในที่สุดแล้วเรื่องก็จะจบลงด้วย ‘กฎแห่งกรรม’ หรือ ‘กรรมตามสนอง’ อันที่จริง ‘ที่ลี้ภัยทางอารมณ์ความรู้สึก’ จำนวนมากก็มีด้านที่สืบทอดความคิดเดิม ระบบคุณค่าเดิม และระบอบอารมณ์ความรู้สึกเดิมอยู่ด้วยซ้ำ เช่น ความสำเร็จและความสุขของผู้หญิงก็ยังอยู่ที่การทำหน้าที่ต่อครอบครัว การเข้าร่วมในลัทธิพิธีที่ผู้หญิงมีโอกาสเป็นผู้นำก็ยังเน้นคุณธรรมที่ทำให้ผู้หญิงยอมรับบทบาทหน้าที่เดิมในครอบครัวอย่างเต็มใจ จะเห็นว่า เวลาที่มีงานเขียนเชิงวรรณกรรมวิจารณ์และงานวิชาการที่วิพากษ์ ‘ความเป็นไทย’ กระแสหลัก หรือวรรณกรรมที่หลุดไปจากความดีงามกระแสหลัก เช่น นิยายแนวอีโรติกที่ผู้หญิงเขียน ก็จะมีกระแสต่อต้านเกิดขึ้นอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม เมื่อคิดทบทวนดูก็จะพบว่า งานที่ทรงพลังทางความคิดและวัฒนธรรมไม่จำเป็นต้องท้าทายความคิดอนุรักษนิยมกระแสหลักอย่างตรงไปตรงมาเสมอไป เพียงแค่ตัวละครมีความใฝ่ฝันของตัวเอง มีทะเยอทะยานส่วนตัวหรือต้องการเสรีภาพในบางเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์และอารมณ์ความรู้สึกหลักในสังคม ก็ทำให้อารมณ์ความรู้สึกแบบที่เน้นปัจเจกภาพแจ่มชัดขึ้นแล้ว และคนอ่านก็จะเชื่อมต่ออารมณ์ความรู้สึกต่างๆ รวมทั้งความคับข้องใจของตัวละครเข้ากับตนเอง ความเป็นปัจเจกภาพในลักษณะนี้ จะท้าทายหรือตอบโต้ระเบียบโครงสร้างทางสังคมและกรอบอารมณ์ความรู้สึกแบบอนุรักษนิยม และเปิดพื้นที่ให้กับอารมณ์ความรู้สึกที่ต้องการสิทธิ เสรีภาพและอำนาจในการเลือก และอิสรภาพในเรื่องอื่นๆ รวมทั้งเรื่องการเมือง หรืออาจจะนำไปสู่การต่อต้านสถาบันทางอำนาจที่พยายามจรรโลงระเบียบแบบแผนเดิม โดยที่คนเขียนหรือคนเล่าอาจไม่ได้มีความตั้งใจแบบนั้นเลยก็ได้ กรณีพุทธศาสนา การเกิดนิกายต่างๆ อย่างหลากหลายที่ท้าทายพุทธศาสนากระแสหลักอย่างมาก ส่วน เฟซบุ๊ก เว็บบอร์ดต่างๆ ก็เป็น ‘ที่พักพิงทางอารมณ์ความรู้สึก’ ที่คนเข้าไปใช้สิทธิเสรีภาพในการวิจารณ์สถาบันหลักทั้งหลายมานานแล้ว

 

อาจารย์ให้ความสนใจกับที่ลี้ภัยทางอารมณ์ความรู้สึกของผู้หญิงมากเป็นพิเศษ ซึ่งในม็อบนิสิต นักศึกษา และนักเรียน เราก็เห็นบทบาทของผู้หญิงที่เด่นชัดเป็นอย่างมาก ทั้งสองเรื่องนี้เกี่ยวข้องกันไหม

ที่จริงก็สนใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชายมาก แต่ในทีมวิจัยมี อ.ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว ศึกษาความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชายอยู่แล้ว ก็เลยใช้เวลา 6 เดือนที่ผ่านมาในการศึกษาผู้หญิงเพื่อให้เห็นภาพอีกด้านหนึ่ง อีกทั้งเห็นว่าผู้หญิงเสียเปรียบผู้ชายในหลายเรื่อง ก็อยากจะเสนอความรู้ที่ช่วยเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายเท่าที่พอจะทำได้

ผู้หญิงเริ่มมีบทบาททางการเมืองมากขึ้นตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2540 แล้ว ทั้งในม็อบพันธมิตรฯ นปช. กปปส. และต่อเนื่องมาจนถึงการเคลื่อนไหวของนักเรียน-นักศึกษาในปัจจุบัน ปรากฏการณ์นี้เชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคม ราว 3 ทศวรรษแล้วที่จำนวนผู้หญิงได้รับการศึกษาทั้งในระดับมัธยม ปริญญาตรี โท และเอก มากกว่าผู้ชาย และมีสัดส่วนในการเป็นผู้นำในองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมากขึ้น พูดอย่างย่อๆ คือ ชีวิตผู้หญิงเปลี่ยนไปมากแล้ว แต่โครงสร้างสัมพันธ์ในสังคม รวมทั้งระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

ผู้หญิงมีความทุกข์ทนทางอารมณ์ความรู้สึกในเรื่องงานและครอบครัวอยู่มาก โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา ที่ผู้หญิงก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งระดับหัวหน้ามากขึ้น ผู้หญิงเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และประสบการณ์ที่กว้างขวาง ต้องมีความเป็นผู้นำ เชื่อมั่นในตัวเองสูง และต้องสร้างเครือข่ายทางสังคมเพื่อประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่เมื่ออยู่ในครอบครัวผู้หญิงยังต้องเป็นรองสามี แม้ว่าวรรณกรรม นิตยสาร และสื่อต่างๆ เริ่มเปิดทางเลือกให้กับผู้หญิงในการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้กับตัวเอง แต่ผู้หญิงจำนวนมากก็ยังเผชิญกับปัญหาวิกฤตอัตลักษณ์ เพราะยังคงให้ความสำคัญกับการเป็นเมียและแม่ที่ดี เมื่อทุ่มเทให้กับการทำงานสร้างเครือข่ายทางสังคม ซึ่งเป็นงานนอกบ้านก็อดรู้สึกผิดไม่ได้ จึงกล่าวได้ว่าผู้หญิงไม่มีอิสระเท่ากับผู้ชายในการดำเนินชีวิตและการทำงาน

จำเป็นต้องเน้นย้ำในที่นี้ว่า การเกิดความคิด ระบบคุณค่า และอารมณ์ความรู้สึกใหม่ๆ ขึ้นมานั้น ไม่ได้หมายถึงการที่ความคิด ระบบคุณค่า และอารมณ์ความรู้สึกเดิมหมดพลังลงไปอย่างสิ้นเชิง ผลการวิจัยโครงการย่อยหลายเรื่องแสดงว่ามีข้อจำกัดของความเปลี่ยนแปลงมากทีเดียว เช่น คุณอาสา คำภา ซึ่งมองความเปลี่ยนแปลงผ่านพุทธศาสนาของชนชั้นกลาง เลือกใช้วลีที่สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างจำกัด นั่นคือ “ก้าวไม่ถึง-ไปไม่สุด ของเสรีนิยมประชาธิปไตย”

อย่างไรก็ตาม อารมณ์ความรู้สึกใหม่ๆ ก็ปรากฏขึ้นมาอย่างชัดเจน เช่น ผู้หญิงไม่ควรจมอยู่กับความล้มเหลวในอดีต ผู้หญิงมีศักยภาพที่จะเดินไปสู่ความสำเร็จได้ด้วยตัวเอง ฯลฯ ความรู้สึกที่ดีที่ผู้หญิงได้มาจากการเข้าไปอยู่ใน ‘ที่ลี้ภัยทางอารมณ์ความรู้สึก’ ที่ทำให้ผู้หญิงมีอิสรภาพมากขึ้น กล้าทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อและตัวเองเลือก ฯลฯ อารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญของการออกมามีบทบาททางการเมืองของผู้หญิงในทศวรรษ 2540-2550 ส่วนหนึ่งออกมาเคลื่อนไหวเพื่อ ‘กู้ชาติ’ อันเป็นอุดมการณ์ที่ตกทอดมาจากอดีต แต่ก็เกิดจากความกังวลในเรื่องเศรษฐกิจที่จะส่งผลต่อธุรกิจของผู้หญิงเองด้วย

นอกจากนี้ บทบาททางการเมืองของผู้หญฺิงส่วนหนึ่งเริ่มมาจากการปฏิเสธระเบียบแบบแผนในครอบครัวที่ผู้หญิงเป็นรองสามีและทำให้ผู้หญิงเกิดปัญหาวิกฤตอัตลักษณ์ การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นเหมือน ‘ที่ลี้ภัยทางอารมณ์ความรู้สึก’ ที่ทำให้ผู้หญิงมีอัตลักษณ์ใหม่ในฐานะผู้เสียสละ ยอมเหน็ดเหนื่อยเพื่อ ‘กู้ชาติ’ เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้น ในแง่นี้ การออกมามีบทบาทของนักเรียน-นักศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ก็เป็นผลจากการปฏิเสธระเบียบแบบแผนในระดับโรงเรียนและสังคมไทยโดยรวม

 

นอกจากมิติด้านเพศแล้ว เวลาพูดถึงชนชั้นกลางไทยคำถามใหญ่ที่เราพยายามหาคำตอบมาตลอดคือ ทำไมชนชั้นกลางบางกลุ่มถึงเลือกสนับสนุนประชาธิปไตย ในขณะที่บางกลุ่มกลับหันหลังให้ประชาธิปไตย ภายใต้การศึกษาของอาจารย์มีคำตอบให้กับคำถามนี้ไหม

ที่จริงแล้วการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาเป็นการช่วงชิงความหมายของคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ไม่ใช่ว่า ‘บางกลุ่มถึงเลือกสนับสนุนประชาธิปไตย ในขณะที่บางกลุ่มกลับหันหลังให้ประชาธิปไตย’ จะเห็นว่า แต่ละฝ่ายต่างใช้คำว่า ‘ประชาธิปไตย’ เพียงแต่มีจุดเน้นและการให้ความหมายที่แตกต่างกัน

กลุ่มพันธมิตรฯ และ กปปส. มีส่วนที่คล้ายกัน กล่าวคือ ในทางเศรษฐกิจคนกลุ่มนี้คือกลุ่มชนชั้นกลางระดับกลางและระดับบนที่ได้ประโยชน์จากอุดมการณ์เดิมของรัฐไทย ซึ่งแม้ว่าวัฒนธรรมแห่งชาติของไทยจะจรรโลงโครงสร้างสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น แต่ชนชั้นกลางเหล่านี้อยู่ในสถานะที่ดีกว่าและมีโอกาสที่จะเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศ

จากโครงสร้างอำนาจของรัฐไทย และพลังทางอุดมการณ์ที่ครอบงำพวกเขาอยู่ ทำให้ชนชั้นกลางไม่สามารถจะสร้างสถาบันทางการเมืองของตนเองขึ้นมาเพื่อใช้ในการต่อสู้หรือต่อรองกับรัฐบาลที่มาจากกองทัพและนักการเมือง ชนชั้นกลางจึงเลือก ‘พึ่งพระบารมี’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาเห็นว่าได้เกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้นแล้ว ดังนั้น เมื่อมีนายกรัฐมนตรีที่ชนชั้นกลางมองว่าเป็น ‘ทุนสามานย์’ ชนชั้นกลางจึงต้องการ ‘ประชาธิปไตย’ แบบที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุลนักการเมือง พวกเขาเชื่อว่านักการเมืองไม่เพียงแต่จะใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว รวมทั้งการคอร์รัปชันเชิงนโยบายโดยไม่มีสถาบันอื่นใด นอกจากพระมหากษัตริย์และตุลาการ จะช่วยจัดการปัญหาได้เท่านั้น

ชนชั้นกลางยังเห็นว่า ‘ทุนสามานย์’ ใช้งบประมานจำนวนมากในการดำเนินนโยบายประชานิยมเพื่อซื้อเสียง ซึ่งจะทำให้สามารถอยู่ยาวผ่านประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง และจะใช้อำนาจในการคอร์รัปชันไปอีกนาน ซึ่งย่อมสร้างภาระทางการเงินการคลังและเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจไทยในเวลานั้นและในอนาคต นอกจากนี้ชนชั้นกลางยังมองว่าการนำเอาชาวชนบทออกจากวัฒนธรรมชุมชน โดยส่งเสริมให้คนชนบทอยากสร้างความร่ำรวยและบริโภคสินค้าจนเกินตัว หรือที่ชนชั้นกลางเรียกอย่างง่ายๆ ว่า ‘วัตถุนิยม’ จะทำลายวิถีชีวิตของคนชนบทและทำลาย ‘ความเป็นไทย’ หรือวัฒนธรรมไทยอันดีงาม

จะเห็นได้ว่าเรื่องทุนนิยม การซื้อสิทธิ์ขายเสียงของนักการเมือง ปัญหาทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงความรู้สึกสูญเสีย ‘สังคมชาวนา’ และวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องสำคัญที่สร้างความวิตกกังวลในใจของชนชั้นกลางมาหลายทศวรรษแล้วทั้งสิ้น ชนชั้นกลางจึงให้ความสำคัญอย่างมากกับ ‘ประชาธิปไตยแบบกำกับตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ’ และถ้าหากมีการกระจายอำนาจก็อยากจะกระจายอำนาจไปให้ ‘ชุมชน’ มิใช่บุคคล เพื่อให้ ‘ชุมชน’ ได้ใช้ ‘ภูมิปัญญาชาวบ้าน’ ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม  โดยชนชั้นกลางเห็นว่าชาวบ้านแต่ละคนไม่มีความรู้ และไม่รู้เท่าทันนักการเมือง  ถ้าหากมีการเลือกตั้งชาวบ้านแต่ละคนก็จะพากัน ‘ขายเสียง’ ทั้งด้วยความเห็นแก่เงินเล็กๆ น้อยๆ และด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

อารมณ์ความรู้สึกวิตกกังวล อารมณ์ความรู้สึกโกรธ อารมณ์ความรู้สึกไม่พอใจ ในเรื่องที่กล่าวมานี้ และความหวังว่าการปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คือมีการกำกับตรวจสอบการใช้อำนาจที่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของ ‘คนเสื้อเหลือง’

ส่วนคนเสื้อแดงนั้น แม้ว่างานวิจัยของ อ.อภิชาติ สถิตนิรามัยและคณะ กับงานของ อ.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี จะพบว่า คนเสื้อแดงไม่ใช่คนที่จนมาก แต่เราจะเห็นได้ชัดว่าในแง่ของสถานภาพทางสังคมแล้วพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่โครงสร้างใหญ่ของสังคมจัดวางเอาไว้ล่างสุด การที่รัฐและชนชั้นนำต้องการรักษาโครงสร้างอำนาจแบบเดิมเอาไว้ ต้องการให้คนไทย ‘รู้ที่ต่ำที่สูง’ จึงเป็นโครงสร้างอำนาจหนึ่งที่กดพวกเขาเอาไว้ อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป คนกลุ่มนี้เข้าไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเต็มตัว ทำการผลิตเพื่อขาย หรือที่ อ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เรียกว่าเป็น ‘ผู้ประกอบการในชนบท’ ทรัพยากรของรัฐจึงมีความสำคัญต่อพวกเขามากขึ้น ซึ่งในทศวรรษ 2540 สิ่งที่ตอบสนองความต้องการของคนชนบทได้เร็วที่สุด ก็คือนโยบายของพรรคไทยรักไทย

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และนโยบายของพรรคไทยรักไทย ได้ทำให้ ‘ความหวัง’ ของผู้ประกอบการในชนบทผูกโยงกับสิทธิในการเลือกตั้งและความเสมอภาคทางสังคมและการเมืองกับคนอื่นๆ ในสังคม ประชาธิปไตยของคนเสื้อแดงจึงให้ความสำคัญกับ ‘เสียงส่วนใหญ่’  ซึ่งแน่นอนว่าจำนวนเสียงของคนเสื้อแดงมีมากกว่า ดังนั้น ‘ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง’ ย่อมจะช่วยให้พวกเขามีอำนาจในการเลือกพรรคการเมืองและตัวบุคคลที่จะมาดำเนินนโยบายให้พวกเขาได้ประโยชน์มากที่สุด หรือมีโอกาสมากขึ้นที่จะสมหวังในสิ่งที่ปรารถนา

 

ปรากฏการณ์หนึ่งที่เราเห็นคือ ขบวนการนักศึกษาเปิดพื้นที่ให้กับ คนเสื้อแดงอาจารย์มองเห็นรอยต่ออะไรในแง่ของภูมิปัญญาและการช่วงชิงความหมายของคำว่าประชาธิปไตย

ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการให้ความหมายต่างๆ ภายใต้กรอบ ‘ความเป็นไทยกระแสหลัก’ คือ การพยายามทำให้ทุกอย่างมีความหมายเดียวที่เป็นสัจธรรม แต่คนรุ่นใหม่เห็นแล้วว่า มโนทัศน์ต่างๆ ล้วนมีความหมายที่เลื่อนไหล พวกเขาโตขึ้นมาในโลกที่ความคิด/ความหมาย/ระบบคุณค่าที่ค้ำจุนโครงสร้างสังคมแบบเดิมเลื่อนไหลได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ‘คนดี’ ‘ความเป็นหญิง’ ‘ความเป็นชาย’ หรือกระทั่ง ‘ชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์‘ ในขบวนการนักเรียนนักศึกษาในปัจจุบันความหมายเดิมทั้งหลายไม่มีความสำคัญอีกต่อไป และถ้าบางสถาบันยังมีอำนาจอยู่พวกเขาก็จะออกจาก ‘comfort zone’ เพื่อต่อต้าน เช่น การต่อต้านกระทรวงศึกษาธิการ และเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษา

การที่ขบวนการนักศึกษาเปิดพื้นที่ให้กับ ‘คนเสื้อแดง’ ในแง่หนึ่งเป็นการผนวกเอาคนกลุ่มใหญ่ทั่วประเทศที่ปฏิเสธหรือต่อต้านความหมายเดิมต่างๆ ปฏิเสธหรือต่อต้านอารมณ์ความรู้สึก ความคิด และระบบคุณค่าต่างๆ ที่อยู่ภายใต้กรอบ ‘ความเป็นไทยกระแสหลัก’ เช่น ไม่ยอมรับว่าการแบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น การมีหัวมีก้อย และ ‘รู้ที่ต่ำ-ที่สูง’ ว่าเป็นเรื่องถูกต้องดีงาม การปฏิเสธอำนาจของชนชั้นนำเดิมที่คนเสื้อแดงเรียกว่าพวก ‘อำมาตย์’ พร้อมกันนั้นก็เป็นกลุ่มที่ต้องการ ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ ในความหมายที่วางอยู่บนหลักการ ‘อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน’ และให้ความสำคัญแก่ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญที่ค้ำประกันว่าอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการเป็นของประชาชน สถาบันอำนาจทั้งหลายมีหน้าที่ปกป้องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค

การเปิดพื้นที่ให้กับ ‘คนเสื้อแดง’ เช่นนี้ อาจทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักเรียนนักศึกษาเข้มแข็งขึ้น มีแนวร่วมมากขึ้น ขณะเดียวกันก็อาจทำให้กระแสต้านที่เกิดจากความทรงจำของชนชั้นกลางเกี่ยวกับ ‘คนเสื้อแดง’ เช่น การแปะป้ายว่าเป็น ‘พวกเผาบ้านเผาเมือง’ แข็งแรงมากขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ แม้ว่าพลังอนุรักษนิยมจะถดถอยลงไปแล้ว แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มในหมู่พวกเขาให้ความหมายประชาธิปไตยที่มีลักษณะอนุรักษนิยมมากยิ่งกว่าเดิม เช่น ให้ความหมายแก่ ‘ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ ที่ใกล้เคียงมากๆ กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และด้วยเหตุผลแบบเดิมๆ คือประชาธิปไตยของไทยควรสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของสังคมและวัฒนธรรมไทย พระมหากษัตริย์ไทยควรมี ‘พระราชอำนาจ’ เพราะพระองค์ทรงมีทศพิธราชธรรม แล้วก็สรุปไปเลยว่านี่คือระบอบ ‘ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’

ที่จริงแล้วคำอธิบายหรือความหมายของ ‘ประชาธิปไตย’ และ ‘ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ มีหลายแบบมาก แม้แต่นักวิชาการที่สนับสนุน ‘คนเสื้อแดง’ เหมือนกัน เช่น อ.เกษียร เตชะพีระ อ.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็ถกเถียงกันเองอย่างดุเดือดเข้มข้น และความหมายที่เสนอโดยนักวิชาการที่สนับสนุน ‘คนเสื้อแดง’ บางคนกลับมีความคล้ายคลึงมากกับความหมายที่เสนอโดยนักวิชาการที่สนับสนุน ‘คนเสื้อเหลือง’[4]

 

 

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยวิจารณ์ไว้ว่า ปัญญาชนอนุรักษนิยมปัจจุบันไม่มีความสามารถมากพอที่จะสร้างพลังทางปัญญาในแบบที่เป็นมาอีกแล้ว ในฐานะคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาอนุรักษนิยมมาอย่างต่อเนื่อง อาจารย์เห็นอย่างไร

เห็นด้วยกับท่านทั้งหมดเลย ส่วนที่อยากเน้นก็คือ การที่ปัญญาชนอนุรักษนิยมไม่ได้ปรับตัวเท่าที่เคยทำได้ในอดีต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมไทยใน 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงเร็วมาก โลกาภิวัตน์เข้มข้นขึ้น สื่อใหม่ขยายตัวกว้างขวาง นำเอาความรู้และข้อมูลข่าวสารจากมุมมองใหม่ๆ ไปสู่คนทั่วประเทศ จนไม่มีความรู้ชุดใด ไม่มีคำพูดของใครจะถือว่าเป็นสัจธรรมได้อีก ในอีกด้านหนึ่ง การสร้างความรู้ภายใต้วิธีคิดแบบ post-modern ก็ขยายตัวรวดเร็ว งานทางด้านมนุษยศาสตร์ที่เคยถูกใช้เพื่อผลิตซ้ำ ‘ความเป็นไทย’ อย่างเข้มข้นก็เปลี่ยนไปสู่แนวใหม่ๆ สิ่งที่เคยเป็นสัจธรรมกลายเป็นแค่ ‘ความจริง’ ในเครื่องหมายคำพูด และมักจะล้าสมัยไปอย่างรวดเร็ว คุณค่าและความหมายที่เคยยึดถือกันมากลายเป็นเรื่องของวาทกรรม ที่ต้องรู้เท่าทันว่ามีโครงสร้างอำนาจแบบหนึ่งค้ำจุนอยู่ และเป็นสิทธิอันชอบธรรมของทุกคนที่จะเปลี่ยนความหมายและมุมมองเกี่ยวกับ ‘ความจริง ความดี ความงาม’ ทำให้ครู โรงเรียน พ่อแม่ และสถาบันอำนาจทั้งหลายไม่มีสิทธิผูกขาดความหมายและมุมมองในเรื่องใดๆ อีกต่อไป ในบริบทเช่นนี้เองที่ยากจะเกิดปัญญาชนอนุรักษนิยมที่มีอำนาจนำทางวัฒนธรรมขึ้นมา

นอกจากนี้ การปราบปรามคู่แข่งทางภูมิปัญญาก็ทำได้จำกัด ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่การเคลื่อนไหวทางปัญญาเกิดขึ้นในแวดวงเล็กๆ ลำพังแค่การจับคนอย่างจิตร ภูมิศักดิ์ หรือทำให้กุหลาบ สายประดิษฐ์ ต้องหนีไปต่างประเทศ ก็ทำให้บุคคลที่มีความรู้และพลังทางปัญญาสูงเช่นท่านทั้งสองไม่มีโอกาสแข่งขันอย่างเสมอภาคและเป็นธรรมอีกต่อไป แต่ในยุคนี้เราเห็นแล้วว่า การใช้อำนาจกดปราบในเมืองไทยเป็นเรื่องที่ยากจะทำได้ และคู่แข่งทั้งหลายของฝ่ายอนุรักษนิยมก็เผยแพร่ความคิดผ่านสื่อใหม่ที่รัฐไทยไม่อาจควบคุมและปราบปรามตามอำเภอใจ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ฯลฯ

พูดให้ถึงที่สุด การจะเป็นปัญญาชนอนุรักษนิยมในโลกแบบนี้ไม่ง่ายเลย ถ้าดูปัญญาชนอนุรักษนิยมในอดีต แต่ละคนสั่งสมความรู้ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องวิชาการเฉพาะทาง แต่รอบรู้ในเรื่องของศิลปวัฒนธรรมต่างๆ กว้างขวางมาก เช่น  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นต้น

 

ทำไมปัญญาชนอนุรักษนิยมในปัจจุบันจึงไม่รอบรู้อย่างที่ควรจะเป็น

ปัญหาหลักของปัญญาชนอนุรักษนิยมอยู่ที่ความพยายามที่จะรักษาโครงสร้างอำนาจเดิมเอาไว้ จึงไม่ได้พยายามปรับตัว ไม่ได้พยายามเป็นคนที่ ‘ฉลาดในการประสานประโยชน์’ เช่น ผนวกรวม (co-option) ความรู้หรือความคิดใหม่ๆ เข้ามาในโครงสร้างความรู้หรือในความคิดกระแสหลัก หรือผนวกรวมคนกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาในโครงสร้างอำนาจอย่างเหมาะสมและรวดเร็วทันกับความเปลี่ยนแปลง (ซึ่งความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันก็มีอัตราเร่งหรือมีความผันแปรสูงกว่าในอดีตอย่างเทียบกันไม่ได้เลย)

เราจะเห็นว่า แทนที่ปัญญาชนอนุรักษนิยมจะผนวกเอาความคิด/ความหมาย/ความรู้ใหม่ๆ และคนกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาในโครงสร้างความรู้และอำนาจอย่างชาญฉลาดเพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงและปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น กลับพยายามผูกขาดอำนาจมากขึ้น แล้วใช้วิธีที่อาจจะเรียกว่า ‘มักง่าย’ ในการต่อสู้เพื่อรักษาโครงสร้างอำนาจเดิม เช่น เลือกหยิบเอาความคิดเดิม ความรู้เดิม อารมณ์ความรู้สึกเดิมๆ มาปลุกเร้าผู้คน หรือมาวิจารณ์โจมตีคนอื่น/ความคิดอื่น ทั้งนี้ รวมถึงนักวิชาการแนวอนุรักษนิยมที่มักจะไม่ได้พัฒนาความรู้หรือความคิดไปไกลจากเดิมเท่าใดนัก

อาจเป็นที่ลักษณะของความรู้ด้วยที่จำกัดอยู่เฉพาะในสาขาวิชาที่ตนเองเรียนมา ความรู้ของนักวิชาการอนุรักษนิยมบางคนจึงแคบมาก แม้แต่ ‘อดีต’ ที่ตนเองต้องการอนุรักษ์ก็มีความรู้อย่างจำกัด และยังคงผูกอยู่กับความรู้ประวัติศาสตร์กระแสหลัก ในขณะที่สังคมเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ทั้งสาเหตุของปัญหาและผลที่ตามมาล้วนแต่ซับซ้อนขึ้น แตกต่างหลากหลายมากขึ้น มีลักษณะย้อนแย้งมากขึ้น อธิบายได้ยากขึ้น หาทางออกได้ยากขึ้น ฯลฯ นักวิชาการแนวอนุรักษนิยมก็ย่อมไม่สามารถจะผลิตความรู้ที่มีพลังในการเข้าใจลักษณะเหล่านี้ในสังคม และไม่อาจเสนอทางเลือกที่ยืดหยุ่นเพียงพอที่จะประยุกต์ใช้เพื่อตอบสนองกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลาย และแน่นอนว่าไม่สามารถกำราบความรู้ชุดอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งลงไปได้ กล่าวได้ว่าพวกเขาไม่สามารถตอบสนองการท้าทายใหม่ๆ อย่างได้ผล แตกต่างจากปัญญาชนอนุรักษนิยมในอดีตบางคนที่สามารถสยบคนทั้งทางความคิด ทางจิตใจ ทางอารมณ์ความรู้สึก และทางร่างกายให้เชื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ครั้งสุดท้ายที่อาจารย์เห็นว่า ปัญญาชนอนุรักษนิยมยังปรับตัวได้ดีคือตอนไหน

คือตอนที่ปัญญาชนอนุรักษนิยมผลิตแนวคิด ‘วัฒนธรรมชุมชน’ ในช่วงทศวรรษ 2520 แล้วมีพลังอย่างมากในช่วงทศวรรษ 2530-2540 แม้ว่าในช่วงทศวรรษ 2540 จะเริ่มถูกวิจารณ์แล้ว แต่อิทธิพลก็ยังสูงมาก ทั้งในหมู่เอ็นจีโอ นักวิชาการ และปัญญาชนสาธารณะ นักคิดอย่างคุณหมอประเวศ วะสี หรือกระทั่ง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็ยังเคยรับแนวความคิดนี้มาแล้ว (แต่ อ.นิธิ ปรับความคิดไปสู่วิธีคิดหรือมุมมองแบบอื่นๆ ค่อนข้างเร็ว)

ผลผลิตที่ตามมาของแนวคิด ‘วัฒนธรรมชุมชน’ ก็คือความคิดเรื่อง ‘ภูมิปัญญาชาวบ้าน’ ซึ่งดูเผินๆ เหมือนพลิกวิธีการมองชาวบ้านที่เคยมองว่าตกอยู่ในวัฏจักร ‘โง่ จน เจ็บ’ เพราะจากความคิดเรื่อง ‘ภูมิปัญญาชาวบ้าน’ ก็ได้เกิด ‘ปราชญ์ชาวบ้าน’ ขึ้นมาหลายคน อย่างไรก็ตาม ‘ภูมิปัญญาชาวบ้าน’ เป็นความรู้ของ ‘ชุมชน’ เป็นส่วนหนึ่งของ ‘วัฒนธรรมชุมชน’ ส่วน ‘ปราชญ์ชาวบ้าน’ ก็คือคนที่มีความรู้เกี่ยวกับ ‘ภูมิปัญญาชาวบ้าน’ มากที่สุด ซึ่งเมื่อนับรวมกันทั้งประเทศแล้วก็จะมี ‘ปราชญ์ชาวบ้าน’ ไม่กี่คน ชนชั้นกลางไม่ได้มองว่าชาวบ้านทุกคนมี ‘ภูมิปัญญาชาวบ้าน’ และไม่ได้คิดว่าชาวบ้านแต่ละคนมีลักษณะของ ‘ปราชญ์’ อยู่ในตัว พลังของชาวบ้านจึงอยู่ที่ ‘วัฒนธรรมชุมชน’ มิใช่อยู่ที่ชาวบ้านเป็นคนๆ ที่แต่ละคนมีศักยภาพในการคิดและตัดสินใจ

ในแนวคิด ‘วัฒนธรรมชุมชน’ จะพบว่า ระบบคุณค่าส่วนหนึ่ง (ที่เชื่อว่าเป็นคุณลักษณะที่มีอยู่ในชุมชนชาวบ้าน) มาจาก ‘ความเป็นไทย’ กระแสหลัก เช่น ความมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความมีน้ำใจต่อกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แตกต่างจาก ‘ความเป็นไทย’ กระแสหลัก เช่น ใน ‘ความเป็นไทย’ กระแสหลักจะมีผู้อุปถัมภ์ ผู้อยู่ใต้การอุปถัมภ์ คนแต่ละคนมีฐานทรัพยากรไม่เท่ากัน มีอำนาจไม่เท่ากัน การแบ่งชั้นทางสังคมมีความสำคัญมาก มีศีลธรรมที่กำกับความสัมพันธ์ เช่น ความเมตตาของผู้ใหญ่และความกตัญญูรู้คุณของผู้น้อย เป็นต้น  ส่วนในชุมชนของชาวบ้านนั้น ชาวบ้านพึ่งพาซึ่งกันและกันอย่างเสมอภาค แนวคิด ‘วัฒนธรรมชุมชน’ จึงเกิดจากการผนวกรวมบางส่วนของ ‘ความเป็นไทย’ กระแสหลัก เข้ากับบางส่วนของแนวคิดแบบมาร์กซิสต์

การปรับตัวรอบนี้มีพลัง เพราะเป็นการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ยอมรับให้สังคมมีความเสมอภาคมากขึ้น ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองไทยได้เป็นอย่างดี ทำให้ปัญญาชน นักวิชาการ และนักพัฒนาเอกชนยอมรับอย่างกว้างขวาง นำไปสู่ปฏิบัติการต่างๆ อย่างมากมาย

แต่ที่สุดแล้ว แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ตระหนักว่า ‘ชุมชน’ เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น เป็นอุดมการณ์แบบหนึ่งไม่ใช่ชีวิตจริงของชาวบ้าน อันที่จริงจะบอกว่าไม่จริงเลยก็ไม่ใช่ แต่สังคมชนบทเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมากจนทำให้การมองภาพชุมชนแบบสถิตตามแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนไม่ค่อยสมจริงอีกต่อไป การมองว่าระบบทุนนิยมเข้าไปทำลายชุมชน ชาวบ้านพยายามที่จะรักษาชุมชนไว้ เอ็นจีโอและนักวิชาการควรมีบทบาทในการเข้าไปช่วยฟื้นฟูวัฒนธรรมชุมชน มันเกิดขึ้นได้ยากในโลกที่ผู้คนผลิตเพื่อขาย เข้าสู่ตลาด และกลายเป็นผู้ประกอบการในระบบทุนนิยมเป็นส่วนใหญ่แล้ว

 

ในหนังสือชุด 10 ปัญญาชนสยาม อาจารย์แบ่งปัญญาชนอนุรักษนิยมออกเป็น 2 ยุคคือ ก่อนการปฏิวัติ 2475 และหลังการปฏิวัติ 2475 โดยปัญญาชนคนสุดท้ายในหนังสือเล่มสองนั้นคือ สุลักษณ์ ศิวรักษ์’ ถ้าต้องเขียนหนังสือภาคต่ออาจารย์พอเห็นใครบ้างไหมที่จะก้าวขึ้นมาเป็นปัญญาชนอนุรักษนิยมรุ่นที่ 3

ที่นึกได้ตอนนี้อาจไม่ใช่ ‘ปัญญาชนอนุรักษนิยมรุ่นที่ 3’ แต่ยังเป็นรุ่นที่ 2 ส่วนรุ่นที่ 3 ยังนึกไม่ออก อาจจะยังไม่มีก็ได้ (ยิ้ม)

ถ้าจะให้ตอบว่า ปัญญาชนอนุรักษนิยมรุ่นที่ 2 คนนั้นคือใคร? ก็จะขออ้างทัศนะของปัญญาชนหัวก้าวหน้า 2 ท่าน คือ อาจารย์เกษียร เตชะพีระ และอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แม้ว่าทั้งสองท่านจะมีทัศนะที่แตกต่างกันในหลายเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งที่ทั้งสองท่านเห็นตรงกัน คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเป็น ‘ปัญญาชนสาธารณะ’ ที่สำคัญที่สุดในยุคสมัยของเรา อาจารย์สมศักดิ์เคยกล่าวในที่ประชุมแห่งหนึ่งในทำนองว่า การศึกษาปัญญาชน 10 คนนั้นไม่เพียงพอเลย จะต้องศึกษาปัญญาชนคนที่ 11 ด้วย

 

หนังสือ 10 ปัญญาชนสยาม เล่ม 1-2 สำนักพิมพ์ openbooks

 

โจทย์ยากของปัญญาชนอนุรักษนิยมไทยคือ เงื่อนไขต่างๆ ในปัจจุบันไม่ได้เอื้อให้คำอธิบายแบบเดิมทำงานได้อย่างทรงพลังอีกต่อไป โดยเฉพาะหลังการสิ้นสุดของสิ่งที่อาจารย์เกษียร เตชะพีระเรียกว่า ‘ฉันทามติภูมิพล’ ในสภาพแบบนี้อาจารย์พอจะมองเห็นความเป็นไปได้ในการปรับตัวของปัญญาชนอนุรักษนิยมบ้างไหม

หากมองสังคมไทยในภาพใหญ่  แนวคิดอนุรักษนิยมก็ยังมีพลังอยู่มาก ซึ่งกลายเป็นปัญหา เพราะสังคมเปลี่ยนแปลงไปมากจนกระทั่งคำอธิบายและทางเลือกแบบเดิมไม่ตอบโจทย์อีกแล้ว แต่กลับไม่มีการปรับตัวของปัญญาชนอนุรักษนิยม ดังนั้น พลังของความคิดอนุรักษนิยมที่ตกค้างในคนบางกลุ่มจึงทำให้พวกเขาขัดแย้งกับคนกลุ่มอื่นๆ ต่อต้านความเปลี่ยนแปลง และส่งผลให้ความขัดแย้งในสังคมไทยเพิ่มสูงขึ้น

ปัญญาชนในอดีตประสบความสำเร็จมากในการทำให้ ‘เก่ากับใหม่’ ประสมกันอย่างลงตัว กระแสความคิดในการประสาน ‘เก่ากับใหม่’ อย่างฉลาดเช่นนี้มีมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงใช้คำว่า ‘ความฉลาดในการประสานประโยชน์’ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือช่วงทศวรรษ 2490 หลักการนี้ก็กลับมีความสำคัญอีกครั้งหนึ่ง เห็นได้ชัดเจนในประติมากรรม ‘ขลุ่ยทิพย์’ ของเขียน ยิ้มศิริ ซึ่งได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง ใน พ.ศ. 2492 คำว่า ‘อนุรักษนิยม’ จึงไม่ใช่การเน้นแต่การรักษา ‘ของเก่า’ เอาไว้ แต่หมายถึงการนำของใหม่มาประสานกับของเก่าได้ดีที่สุดด้วย

แต่ในปัจจุบันเรามีปัญหาในการผสมผสาน ‘เก่ากับใหม่’ รูปธรรมเฉพาะหน้า คือ ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ ซึ่งเป็น ‘เก่าผสมใหม่’ แบบหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เรากลับไม่เคยมีคำตอบที่คนเห็นพ้องต้องกันในระดับใดระดับหนึ่งว่า ระบอบดังกล่าวนี้คืออะไรกันแน่ ควรรักษามรดกอะไรจากระบอบการปกครองในอดีตเอาไว้ ควรให้ความหมายใหม่แก่มรดกจากอดีตนี้อย่างไร ควรรับเอาความหมายใหม่ๆ ในเรื่องใดเข้ามาผสมผสานให้เกิดความหมายที่เหมาะสมกับสังคมไทยในโลกปัจจุบัน

หากจะตอบปัญหาข้างต้น ปัญญาชนอนุรักษนิยมจะต้องมีความรอบรู้ทั้ง ‘เก่า’ และ ‘ใหม่’ เป็นอย่างดี สามารถประเมินความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีวิสัยทัศน์ และเสนอทางเลือกที่มาจากการเลือกสรรระหว่าง ‘เก่า’ กับ ‘ใหม่’ อย่างฉลาด เรียนรู้จากทุกฝ่ายอย่างเปิดกว้าง และด้วยความหวังดีต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง พร้อมกันนั้นก็ต้องเปิดกว้างให้แก่การต่อสู้แข่งขันทางความคิด

ดังนั้น การกลับไปเริ่มต้นที่การเปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาถกเถียงและนิยามร่วมกันจึงสำคัญมาก และต้องพร้อมที่จะปรับตัวในทุกด้าน โดยมีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมและของมนุษยชาติทั้งหมด ไม่ใช่เพื่ออำนาจและผลประโยชน์ของคนกลุ่มเล็กๆ ปัญญาชนอนุรักษนิยมรุ่นที่ 3 ที่สามารถปรับตัวอย่างพลังจะช่วยให้คนจำนวนมากในสังคมไทยที่ยังมีทัศนะและอารมณ์ความรู้สึกแบบอนุรักษนิยมสามารถปรับตัวได้ และอยู่ร่วมกับคนกลุ่มอื่นได้อย่างราบรื่นขึ้น

ที่จริง การช่วงชิงความหมายของ ‘ความเป็นไทย’ เกิดขึ้นในพื้นที่ไพศาลมาก ตั้งแต่ ชาติ ศาสนา ครอบครัว บทบาทหญิง-ชาย ความรัก ความกลัว ความหวัง ความใฝ่ฝัน ฯลฯ ขณะเดียวกัน เราไม่ได้เป็นเพียง ‘คนไทย’ เราทุกคนยังเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่ใหญ่โตกว้างขวาง ซับซ้อน และมีพลวัตสูง ปัญญาชนอนุรักษนิยมต้องมีความรู้ที่ลึกซึ้งกว้างขวางจึงจะสามารถให้คำอธิบายหรือความหมายตลอดจนให้ทางเลือกต่างๆ เพื่อจะเชื่อมต่อ ‘ปัจจุบันและอนาคต’ เข้ากับ ‘อดีต’ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ก่อนที่ ‘อดีต’ จะหมดความหมายอย่างสิ้นเชิง ดังที่เราเริ่มมองเห็นเค้ารางอยู่บ้างแล้วในความคิด อารมณ์ความรู้สึก และการเคลื่อนไหวของเยาวชนคนหนุ่มสาวทั่วประเทศในปัจจุบัน

 

 


อ้างอิง

[1] โปรดดูแนวคิด ‘ระบอบอารมณ์ความรู้สึก’ (emotional regimes) ใน สิงห์ สุวรรณกิจ, “ท่องสมุทรแห่งความรู้สึก: วิลเลียม เรดดี้กับประวัติศาสตร์อารมณ์ความรู้สึก” หนังสือประมวลบทความในการประชุมทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณชน โครงการวิธีวิทยาในการศึกษาประวัติศาสตร์ ณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วันที่ 14-15 กุมภาพันธ์ 2563.

[2] โครงการวิจัยนี้ที่ได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น สกสว.)

[3] โปรดดูรายละเอียดในเรื่องเดียวกัน.

[4] โปรดดู สายชล สัตยานุรักษ์, นักวิชาการกับการต่อสู้ช่วงชิงความหมาย “ประชาธิปไตย” ในภาวะวิกฤตทางการเมือง พ.ศ.2548-2557” รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2562.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save