fbpx

เปิดม่าน ‘แมนสรวง’: คุยกับ ‘นักรบ มูลมานัส’ ว่าด้วยศิลปะและการตีความประวัติศาสตร์

ถือเป็นเรื่องฮือฮาสำหรับวงการภาพยนตร์ไทยอย่างมาก เมื่อค่ายผลิตสื่อบันเทิง Be On Cloud เปิดตัวใบปิดและตัวอย่างภาพยนตร์ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ 2023 พาภาพยนตร์ไทยออกสู่สายตาชาวโลกอีกครั้งกับ ‘แมนสรวง’ ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่ผสมผสานกันระหว่างศิลปะย้อนยุค ประวัติศาสตร์ เรื่องราวการสืบสวนและการเมือง เข้าไว้ด้วยกัน โดยถ่ายทอดเรื่องราวของไพร่หนุ่มจากแปดริ้วที่ต้องการเป็นนายรำ หากแต่ได้เข้าไปทำภารกิจสืบสวนเงื่อนงำในสถานเริงรมย์ลึกลับของพระนครนามว่า แมนสรวง

ความลับซุกซ่อนในแดนสวรรค์นี้ถูกเปิดเผยผ่านงานภาพและงานศิลป์ที่ตระการตาตรึงใจผู้ชม จนกวาดรายได้เปิดตัววันแรกไปกว่า 11 ล้านบาท ขึ้นแท่นเป็นหนังไทยที่ทำรายได้เปิดตัวทั่วประเทศสูงสุดในปี 2566 และกระแสของภาพยนตร์เรื่อง ‘แมนสรวง’ ได้ปลุกให้หนังไทยกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง แม้จะมีทั้งกระแสที่ชอบและไม่ชอบหนัง แต่สิ่งหนึ่งที่แมนสรวงทำได้คือชวนให้คนมาถกเถียงเรื่องประวัติศาสตร์ และพูดคุยถึงงานศิลปะที่แทรกซึมอยู่ในตัวหนัง

เมื่อความงดงามของงานศิลป์และการถ่ายทอดประวัติศาสตร์ในมุมมองปุถุชนทำให้เกิดเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงมากที่สุดของภาพยนตร์ 101 จึงถือโอกาสชวน ‘นักรบ มูลมานัส’ นักออกแบบปกหนังสือแนวคอลลาจที่มีสไตล์จัดจ้านเป็นเอกลักษณ์ และยังเขียนหนังสือเรื่อง ‘เล่นแร่แปลภาพ: ประวัติศาสตร์สยามจากเบื้องหลังภาพถ่าย’ ผู้รับหน้าที่เป็น creative art director และ assistant to executive producer ประจำภาพยนตร์ มาพูดคุยถึงวิธีการทำงาน พร้อมชวนตีความประวัติศาสตร์และงานศิลป์ของไทย ผ่านม่านแมนสรวง

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-one Ep.309 ‘แมนสรวง’ ศิลปะและการตีความประวัติศาสตร์ กับ นักรบ มูลมานัส เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566

ประวัติศาสตร์ไทยรัชสมัยพระนั่งเกล้าฯ หลังม่านโรงละคร ‘แมนสรวง’

หากผู้ที่ได้รับชมภาพยนตร์ แมนสรวง ไปแล้ว คงจินตนาการถึงความวิจิตรโอ่อ่าของสถานเริงรมย์ที่เร้นกายอยู่ในย่านการค้าแห่งแรกของพระนครได้ไม่ยาก แม้สถานที่นี้จะเป็นสถานที่สมมติเพื่อความบันเทิง แต่ภายใต้ม่านโรงละครนั้นแทรกซ้อนซ่อนไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ที่ถูกนำมาผสมผสานอย่างลงตัว โดยนักรบ มูลมานัส เผยว่าแนวคิดของภาพยนตร์แมนสรวงเกิดขึ้นจากการที่ทีมสร้างหนังต้องการเล่าถึงเหตุการณ์ในสถานบันเทิงสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งมีเรื่องราวของคณะละคร การแสดง ดนตรี เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

หลายคนอาจคุ้นหูคำว่า ‘แมนสรวง’ จากวรรณคดีไทยอย่าง ลิลิตพระลอ ซึ่งนักรบเล่าถึงการลงเอยในชื่อ ‘แมนสรวง’ ของภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า ด้วยความหมายของคำว่าแมนสรวงนั้น มีความเป็นคำโบราณ แต่เมื่อนำมาจับกับมุมมองของคนยุคปัจจุบันก็อาจตั้งคำถามว่า ‘แมน’ ในที่นี้หมายถึงอะไร หมายความว่ามนุษย์ในภาษาต่างประเทศหรือไม่ จีงมีการตีความให้ ‘แมนสรวง’ หมายความถึงสวรรค์ของมนุษย์ ซึ่งนักรบมองว่าเพียงเท่านี้ก็เกิดความน่าสนใจในตัวคำของมันเองแล้ว

“ผมรู้สึกว่า แมนสรวง เป็นคำที่ดูโบราณ แต่ถ้ามองในมุมมองของคนยุคปัจจุบันมันยังเป็นคำที่น่าสนใจ จริงๆ ภาษาไทยโบราณคำว่า ‘แมน’ แปลว่าเทพยดาทั้งปวง สรวงคือสวรรค์ ผมเลยคิดว่าชื่อนี้แสดงให้เห็นถึงดินแดนในจินตนาการ เป็นโลกแห่งสวรรค์ และความสุขต่างๆ”

“การยืมชื่อจากลิลิตพระลอก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจ เพราะในสมัยรัชกาลที่ 3 เรื่องพระลอเป็นปรัมปราในภูมิภาคแถบเหนือ แต่ได้มีการเอามาปรับแต่งเป็นบทละครโดยใช้ชื่อว่า พระลอนรลักษณ์ เมื่อตั้งชื่อสถานบันเทิงในเรื่องว่า แมนสรวง ผมรู้สึกว่ามันเหมือนเป็นการหยิบยืมโลกวรรณกรรมของสมัยนั้นมา มีความเข้ากันมากกับการตั้งชื่อสถานบันเทิงที่อยู่ในบรรยากาศของความบันเทิงในพระนครสมัยนั้น”

ภายในภาพยตร์ ‘แมนสรวง’ จึงถูกถ่ายทอดออกมาในภาพของสถานบันเทิงเริงรมย์ที่เป็นดั่งสวรรค์ เป็นสถานที่ที่จัดการแสดงและเติมเต็มความสุขให้กับผู้คน เปิดรับให้ทุกคนเข้ามาใช้ชีวิตได้อย่างที่ใจหวัง แต่ก็ซุกซ่อนไว้ซึ่งความลึกลับและปมปริศนามากมาย

“หากเทียบกับปัจจุบัน แมนสรวงอาจเป็น exclusive club สักที่ที่เข้าไปแล้วห้ามถ่ายรูป อย่างที่เห็นในหนังว่าในนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่ความบันเทิงอย่างเดียว แต่เป็นสถานที่ที่มีดีลลับต่างๆ ด้วย”

ในฐานะ creative art director และ assistant to executive producer นี่ถือเป็นครั้งแรกของนักรบในการออกแบบศิลปะสายภาพยนตร์ เขากล่าวว่า แมนสรวงได้ซ่อนรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสิ่งต่างๆ ที่บอกบ่งถึงความเป็นไปในยุคนั้นมาตั้งแต่ใบปิดภาพยนตร์ ตั้งแต่ฉากท้องเรื่อง (setting) ของแมนสรวงที่ดำเนินอยู่ในช่วงปีสุดท้ายของรัชกาลที่ 3 อันเป็นช่วงรอยต่อของการผลัดแผ่นดิน ตรงกับ ค.ศ.1851 ของตะวันตก นักรบจึงออกแบบใบปิดด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตน จากการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของยุคสมัยนั้นทั้งในและนอกประเทศ

“เราเอาองค์ประกอบหลายๆ อย่างจากงานศิลปะของโลกตะวันตกในยุคหนึ่งที่เขาเลียนแบบศิลปะลวดลายจีน หรือที่เรียกว่า chinoiserie มาผสมผสานวัฒนธรรม อารยธรรมไทยและตะวันตก รสนิยมหรือสุนทรียะเช่นนี้เข้ากับความเป็นแมนสรวงในระยะของช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเป็นอย่างมาก”

“สมัยนั้นเริ่มมีนิทรรศการใหญ่ๆ ในอังกฤษที่จัดแสดงเครื่องเรือน เครื่องประดับประดา เชิงเทียน มันอาจจะไม่ได้รวดเร็วขนาดนั้นที่นวัตกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วจะเข้ามาในสยามเลย แต่แมนสรวงต้องเป็นสถานที่ที่ล้ำสมัย ผู้มีอิทธิพลส่งของมาประดับตกแต่ง เพราะฉะนั้นเราจึงอิงจากนวัตกรรมใหม่ๆ ในยุค 1850 ของโลกตะวันตกด้วย”

ส่วนของฉากที่เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญต่อการดำเนินเรื่อง รวมถึงเครื่องแต่งกายที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมที่ถูกนำมาผสมผสาน ทางทีมสร้างได้ร่วมกันจัดวางออกมาให้เหมาะสมกับบริบทที่สุด โดยเริ่มจากการมองว่า สถานเริงรมย์แห่งนี้มีเจ้าของเป็นคนเชื้อชาติจีน ควรจะตั้งอยู่ส่วนใดของพระนคร แมนสรวงจึงไปบรรจบที่ย่านการค้าสำคัญอย่าง ‘สำเพ็ง’ นักรบกล่าวว่า ย่านสำเพ็งเป็นย่านที่มีความสวรรค์และนรกอยู่รวมกัน กล่าวคือ ตั้งแต่กุลีจนถึงชนชั้นขุนนางที่ใกล้ชิดราชสำนักต่างก็อาศัยอยู่รวมกันในที่แห่งนั้น เมื่อแมนสรวงถูกปักหลักที่นั่นแล้ว สถาปัตยกรรมแบบจีนจึงได้รับการถ่ายทอดออกมาให้เห็นในฉากต่างๆ ซึ่งทางทีมสร้างออกแบบโดยการเทียบเคียงจากโรงอุปรากรของจีนแผ่นดินใหญ่ในยุคเดียวกัน

อย่างที่ทราบกันตามประวัติศาสตร์กระแสหลักว่า รัชกาลที่ 3 โปรดศิลปกรรมแบบจีนไม่น้อย วัดหรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่หลงเหลืออยู่มักจะมาในรูปแบบที่เรียกว่า ‘พระราชนิยมในรัชกาลที่ 3’  กล่าวคือ วัดต่างๆ ถูกปลดเปลื้องสิ่งที่สะท้อนความเป็นไทย เช่น ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลวดลายประดับต่างๆ จะถูกเปลี่ยนให้มีลักษณะคล้ายกับสถาปัตยกรรมแบบจีน มีการใช้เครื่องกระเบื้องประดับ นำส่วนประกอบในศาลเจ้าจีนมาตกแต่งในศาสนสถานไทย หรือจิตรกรรมฝาผนังที่แม้จะเล่าถึงชาดกแบบเดิม แต่แทรกรูปเครื่องบูชาแบบจีนผสมผสานเข้ามา นักรบมองว่า หากจะให้เปรียบเทียบพระราชนิยมศิลปกรรมตะวันออกแบบจีนเข้ากับสมัยรัชกาลที่ 4-5 ก็คล้ายกับที่สองสมัยนั้นมีความตะวันตกเป็นเครื่องหมายแสดงความเจริญ

กระนั้น รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แม้สยามจะได้รับอิทธิพลความเป็นตะวันออกจากจีนค่อนข้างมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีการเข้ามาของชนชาติตะวันตกมากมาย ทั้งทำสนธิสัญญาทางการค้า มีทูตจากหลายประเทศเดินทางเข้ามา ทั้งยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่รัชกาลใหม่ที่มีสัมพันธ์อันดีกับชาติตะวันตก ทำให้นักรบมองว่าสยามในสมัยนั้นมีกระแสของความเป็นตะวันตกเข้มข้นไม่น้อยไปกว่ากัน สิ่งเหล่านี้จึงถูกถ่ายทอดผ่านใบปิดภาพยนตร์ รวมถึงฉากและศิลปะต่างๆ ในเรื่องด้วย

“ในสมัยรัชกาลที่ 3 ไม่ได้มีภาพถ่ายทางประวัติศาสตร์มากนัก จึงจำเป็นต้องเทียบเคียงกับยุคต่อๆ มา เช่น สมัยรัชกาลที่ 5 ผู้หญิงในราชสำนักแต่งตัวส่วนล่างเป็นโจงกระเบน ส่วนบนเป็นเสื้อแขนหมูแฮม ซึ่งดูเป็นสัดส่วนที่ลงตัว แต่ถ้าเราย้อนกลับไปดูรูปสมัยรัชกาลที่ 4 จะพบว่าสัดส่วนในการแต่งกายยังไม่ได้ลงตัวขนาดนั้น อาจจะไม่ได้ถูกต้องตามตำราตะวันตก แต่เห็นถึงการทดลอง เราจึงหยิบจับรสนิยมแบบนี้มาอยู่ในแมนสรวงด้วย”

ภาพที่ออกมาผู้ชมจึงได้เห็นการนำเอารูปปั้นตะวันตกมาจับใส่กับเครื่องทรงแบบไทย การจับม่านจัดเวทีที่คล้ายกับสมัยวิคตอเรียนที่ตรงกับยุคนั้นพอดี แม้กระทั่งภาพวาดติดฝาผนังที่แสดงถึงความสำราญทางโลก และเติมสิ่งต่างๆ เหล่านี้เข้ากับโครงสร้างแบบจีน ทุกสิ่งในแมนสรวงจึงเป็นดั่งกระจกสะท้อนกันระหว่างความเป็นตะวันออกและตะวันตก ผสมผสานวัฒนธรรมจากหลายเชื้อชาติเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว

“อย่างเสื้อผ้าชุดขุนนางในแมนสรวง เราก็ยึดตามธรรมเนียมที่มีในรูปแบบไทย แต่มีความคอเสื้อบางอย่างคอจีน มีเสื้อคลุมที่เรียกว่าครุย ทีมเครื่องแต่งกายก็พยายามเอาผ้าที่มีความตะวันตก แขก จีน มาทำเป็นชุดครุยและผ้านุ่งต่างๆ ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 มีบันทึกไว้ว่า หากจะเข้าเฝ้าหรือเข้าวัง ขุนนางทุกคนต้องไม่สวมเสื้อ เป็นธรรมเนียมและเพื่อความปลอดภัยของราชสำนัก เราจึงตีความว่า แมนสรวงเป็นสถานที่อีกแบบหนึ่ง ทุกคนสามารถประโคมความเป็นตัวเองใส่เข้าไปเท่าไรก็ได้ ไม่มีพิธีการใดๆ เอาตามที่ใจต้องการ”

“จริงๆ แล้วเอกสารสมัยรัชกาลที่ 3 มีอยู่ประมาณหนึ่ง บันทึกของชาวต่างชาติอีกประมาณหนึ่ง แต่ว่าสิ่งเหล่านี้บันทึกไว้เพียงประวัติศาสตร์กระแสหลัก ซ้ำยังอยู่ในยุคที่ไม่มีภาพถ่ายให้เทียบเคียง หลักฐานต่างๆ จึงไม่ค่อยมีการพูดถึงสถานบันเทิง หรือแม้แต่วิถีชีวิตของชาวบ้าน ฉะนั้นผมคิดว่ามันมีช่องว่างให้จินตนาการ แต่จินตนาการก็ยังคงยึดโยงอยู่กับความเป็นไปได้และข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์” นักรบกล่าว

หลากมิติ ต่างชนชั้น ในแดนสวรรค์สำเพ็ง

นอกเหนือจากฉากอลังการ เครื่องแต่งกายงดงาม และการแสดงนาฏกรรมวิจิตรตระการตาแล้ว ด้วยสื่อบันเทิงไทยมักจะนำเสนอมุมมองทางประวัติศาสตร์ของชนชั้นสูง ทำให้บทภาพยนตร์แมนสรวงที่เลือกเล่าเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์ผ่านสายตาของชนชั้นสามัญและความหลากหลายของผู้คนกลายเป็นอีกหนึ่งจุดน่าสนใจที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นที่พูดถึงในสังคม

การที่ปุถุชนอย่างตัวละครจะมีความคิด ความฝันอย่างชนชั้นสูง ไม่ได้ปรากฏให้เห็นบ่อยในหน้าสื่อหรือแม้แต่ประวัติศาสตร์ ด้วยอาจเพราะเข้าไม่ถึงการศึกษาที่จะทำให้อ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการบันทึกเรื่องราว ชนชั้นไพร่ทาสจึงไม่ได้มีปากมีเสียงทางประวัติศาสตร์มากนัก

“ถ้าเป็นภาพยนตร์เรื่องอื่น ‘เขม’ อาจจะเป็นขุนนางหรือชนชั้นเจ้า มีบุคลิกโก้เก๋ตามฉบับนิยม” นักรบกล่าวเกริ่น

ขณะที่ความจริงแล้วตัวละคร ‘เขม’ ถูกวางตัวให้เป็นไพร่ อยู่ในชนชั้นสามัญ ไม่ได้ถือยศถาบรรดาศักดิ์ใด ซึ่งภาพยนตร์ก็สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามต่อสู้ ดิ้นรนทำทุกวิถีทางในการไต่ระดับชั้นทางสังคมของตัวละคร เพื่อที่จะได้มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น มีที่ยืนมากขึ้นในสังคม

เขมเป็นไพร่หนุ่มที่มีความฝันอยากเป็นนายรำ และมีความทะเยอทะยานในตัวสูง อาจด้วยบริบทสังคมที่รัชกาลก่อนหน้านั้นการร่ายรำหรือศิลปะละครถูกผูกโยงไว้กับชนชั้นนำเป็นส่วนใหญ่ ถือเป็นราชูปโภคของกษัตริย์ก็ว่าได้ แต่เมื่อผลัดแผ่นดินถึงรัชกาลที่ 3 กษัตริย์ทรงยกเลิกละครหลวง เนื่องจากทรงนิยมทำสิ่งอื่นมากกว่า เช่น สร้างวัด ค้าขาย ขุนนาง พ่อค้าต่างๆ จีงสามารถมีคณะละครเป็นของตนเองได้มากขึ้น จุดนี้ทำให้โอกาสไต่เต้าถูกขยายมายังเขมด้วยเช่นกัน

นักรบมองว่าสิ่งนี้สะท้อนถึงผู้คนในยุคสมัยปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับความท้าทายหลากมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง แม้ว่าความเป็นทาสหรือไพร่จะไม่ได้มีให้เห็นอย่างชัดเจนแล้ว แต่คนยังคงพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อระดับชั้นทางสังคม ต่อสู้กับโครงสร้างต่างๆ ทุกวิถี ไม่ต่างจากตัวละครในเรื่องเท่าไรนัก ซึ่งเป็นมุมมองที่นักรบมองว่าแตกต่างและน่าสนใจ สะท้อนถึงจิตวิญญาณของยุคสมัย

นอกจากนี้ ในภาพยนตร์ยังแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของชนชาติ เนื่องจากรัชสมัยพระนั่งเกล้าฯ เป็นยุคที่การค้าและการติดต่อกับต่างประเทศเฟื่องฟูมาก ทำให้ในภาพยนตร์ไม่สะท้อนความหลากหลายเพียงแต่ศิลปวัฒนธรรมแบบผสมผสานเท่านั้น เช่น มีการเล่าเกี่ยวกับจีนต่างๆ อย่างสมาคมตั้วเหี่ยที่ถูกอ้างว่าเป็นกลุ่มก่อความรุนแรง

“เราไปเปิดพงศาวดารสมัยรัชกาลที่ 3 เกิดเหตุการณ์นี้หลายครั้งมาก จริงๆ แล้วชาวจีนอาจจะไม่ได้ก่อตัวเป็นกบฏอะไรเลยด้วยซ้ำ แต่มันมีความย้อนแย้งกันนิดหนึ่ง เพราะทางหลวงนิยมความเป็นจีน แต่อีกด้านหนึ่งก็ไปเพ่งเล็งเขาว่าจะทำให้เกิดความวุ่นวายในเชิงการปกครองหรือเปล่า”

“เรื่องคนจีน คนพลัดถิ่น ถ้าไปดูแมนสรวงสามารถดูได้หลายมุมเลย เอาสนุกเอาบันเทิงก็ได้ หรือมองการต่อสู้ของคนที่มาจากที่อื่นก็ได้เหมือนกัน ดังนั้นการดูแมนสรวงจึงดูได้หลายระดับมากๆ”

“จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าเรามองชนชาติหนึ่งด้วยภาพลักษณ์และอุดมคติแบบไหน” นักรบกล่าว

มองประวัติศาสตร์ด้วยม่านศิลปะ

ความเป็นศิลปินคอลลาจไทยประยุกต์แห่งยุคที่ทั้งออกแบบปกและเขียนหนังสือเกี่ยวกับการมองประวัติศาสตร์สยามในมุมใหม่ ทำให้นักรบคลุกคลีอยู่กับทั้งความเป็นศิลปะและประวัติศาสตร์ ซึ่งการที่ได้มาลองฝีมือในสายภาพยนตร์ครั้งแรกนี้ ทำให้นักรบได้มีโอกาสศึกษาประวัติศาสตร์รัชสมัยพระนั่งเกล้าฯ อย่างลึกซึ้ง เขาจึงชวนมองประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ตอนต้นยุคนี้ให้ต่างจากกรอบแนวคิดเดิม

ในรัชสมัยนี้มีสื่อบันเทิงหยิบยกเอาไปนำเสนออยู่บ่อยครั้ง แต่ยังมีช่องว่างที่ไม่ถูกกล่าวถึงอีกมากเช่นกัน หากมองด้วยประวัติศาสตร์ในแบบเรียนไทย ในสายตาของผู้คนยุคนี้อาจเป็นยุคที่ดูตะวันออกหรือมีความเป็นจีนมาก แต่เมื่อลองศึกษาแล้วนักรบกลับพบว่า เป็นยุคที่มีความหลากหลายอีกยุคหนึ่ง

“คนอาจจะไม่นึกว่าสหรัฐอเมริกาเข้ามาสยามครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการเซ็นสนธิสัญญาทางการค้า หลายคนอาจคิดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 4-5 ไปแล้ว” นักรบอธิบาย

อย่างในแง่ของศิลปะหลายแขนงที่ผู้คนมองว่ารัชสมัยพระนั่งเกล้าฯ เป็นยุคมืด เช่น วรรณกรรม ละคร เพราะกษัตริย์ทรงให้ยกเลิก แต่ขุนนางหรือผู้มีอิทธิพลสามารถก่อตั้งคณะละครของตนได้อย่างอิสระ สายธารของศิลปะการแสดงจึงไม่ได้ถูกตัดขาดไปเสียทีเดียว เมื่อทางการไม่ได้ควบคุม ส่วนนี้จึงมีความเป็นอิสระมากขึ้นในหมู่ของเอกชน คณะเล็กๆ น้อยๆ สามารถเกิดขึ้นได้ รวมถึงมีความกล้าที่จะดัดแปลงบทละครต่างๆ มาใช้ได้มากขึ้น

ผู้คนในยุคสมัยนี้จึงมีความน่าสนใจอยู่ค่อนข้างมาก ตัวนักรบก็ชื่นชมกวีหญิงนามว่า ‘คุณสุวรรณ’ ในยุคนี้เช่นกัน เนื่องจากเป็นกวีหญิงที่มีสำนวนภาษาดีเยี่ยม และประพันธ์เรื่องราวแตกต่างไปจากกวีอื่นๆ อย่างอาจหาญ ผลงานประพันธ์เป็นที่ประจักษ์และได้การยอมรับอยู่เรื่อง หนึ่งในนั้นคือ อุณรุทร้อยเรื่อง ที่นำเอาวรรณคดีไทยมาร้อยเรียงใหม่ นำตัวละครจากเรื่องต่างๆ มาผสมผสานกัน ต่างจากวรรณคดีกระแสหลัก

“แปลกเสียจนชนชั้นนำสมัยรัชกาลที่ 5 อย่าง พระยาดำรงราชานุภาพกล่าวว่ากวีหญิงคนนี้เป็นกวีที่เสียสติ แต่สำหรับเรา เรามองว่าสิ่งที่คุณสุวรรณทำ เขามีความกล้าหาญ มีจินตนาการไหนถึงไหน และยังหัวก้าวหน้ามาก”

อีกทั้งยังมีกวีหญิงอย่าง ‘คุณพุ่ม’ หรือกวีชายอย่าง ‘สุนทรภู่’ ที่โดดเด่นมาก สุนทรภู่สามารถจินตนาการไปถึงโลกตะวันตก แฟนตาซี เช่น พระอภัยมณีที่มีละเวงซึ่งเป็นจอมกษัตริย์กรุงลงกา โดยน่าจะใช้ต้นแบบมาจากราชินีวิคตอเรีย

นักรบมองว่า ยุคนั้นมีคนที่สร้างสรรค์และก้าวหน้าอยู่มาก เพราะสยามเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับตะวันตก เช่น รัชกาลที่ 4 สมัยบวชอยู่ก็มีปฏิสัมพันธ์กับบาทหลวงฝรั่งเศสต่างๆ จนเขาทำพจนานุกรมได้จากการคุยกับพระองค์ รัชสมัยนี้จึงมีปฏิสัมพันธ์ของผู้คนที่มีบทบาทในสังคมและมีหลายคนที่น่าสนใจ

“เราอาจจะมองยุคนี้ว่าไม่ได้เปิดรับอะไรต่างๆ แต่จริงๆ แล้วมีการเปิดรับจากทุกทาง ทั้งโลกตะวันออกและโลกตะวันตก” นักรบให้ความเห็น

การมองประวัติศาสตร์ของคนยุคปัจจุบันนั้น นักรบมองว่าอาจเริ่มต้นจากการที่เราอ่านแบบเรียนประวัติศาสตร์ บันเทิงคดีอิงประวัติศาสตร์ ด้วยกรอบความคิดที่ว่าสิ่งเหล่านี้คือความจริง เพราะมาจากบันทึกที่เป็นหลักฐานชั้นต้น แต่ประวัติศาสตร์คือนิพนธ์อย่างหนึ่งที่ถูกเขียนโดยผู้มีสิทธิมีเสียงในสมัยนั้น การมองประวัติศาสตร์จึงควรมองด้วยมุมมองที่รอบด้านมากขึ้น

“ไม่ได้ปฏิเสธว่ากระแสหลักจริงหรือไม่จริง แต่การมองประวัติศาสตร์แบบนี้สำคัญกับการจินตนาการถึงไพร่ คนตัวเล็ก คนชายขอบ ว่าวิถีชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไร”

“วิธีการสำคัญในการเสพสิ่งเหล่านี้คือ การที่เราอาจจะต้องดูหลักฐานให้รอบด้านกว่าเดิม หลักฐานแกนเขียนอย่างไร ให้หาหลักฐานที่เป็นคนด้านนอกมองเข้ามาหรือประวัติศาสตร์ที่เป็นเรื่องเล่าของคนธรรมดามาประกอบ ซึ่งอาจจะหายาก แต่จำเป็นต้องดู ต้องตรวจสอบ เพื่อว่าเรามองประวัติศาสตร์แกนหลักแล้วจะจินตนาการถึงคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างไรบ้าง”

ยกตัวอย่างเช่นในหนังสือ ‘เล่นแร่แปลภาพ’ ก็สะท้อนถึงมุมการมองประวัติศาสตร์แบบรอบด้านเช่นกัน เริ่มต้นจากความอยากพูดถึงภาพถ่ายในหลายระดับ สำรวจภาพถ่ายและสิ่งต่างๆ ว่าในภาพนั้นยุคสมัยอะไร เป็นอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงไว้เสมอว่า ภาพถ่ายเป็นการจัดวางและจัดแจงความตั้งใจให้เห็น เราอาจจะต้องมองภาพถ่ายในอีกมุมหนึ่งว่า หากเราถอดรื้อภาพถ่ายสี่เหลี่ยมนี้ รอบนอกที่ไม่ได้อยู่ในกรอบนั้นจะสามารถประกอบไปด้วยอะไรได้บ้าง สิ่งใดที่มากำหนดให้ผู้คนเป็นอย่างนี้ ยุคสมัย สังคม หล่อหลอมอย่างไร และไปเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และศิลปะอย่างไร นับรบเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างนี้สะท้อนถึงกันประมาณหนึ่ง

ในขณะเดียวกันนักรบมองว่า ภาพถ่ายถือเป็นหลักฐานที่ดีที่ทำให้ผู้ชมเห็นถึงยุคสมัยก่อนหน้า และเปรียบเทียบอดีตปัจจุบันได้ง่าย แต่ต้องไม่ลืมว่ามันเป็นการจัดแจงภาพลักษณ์ที่อยากให้คนอื่นเห็น ไม่ว่าการถ่ายภาพหรือการบันทึกอะไรต่างๆ ด้วยภาพ ท้ายสุดแล้ว ผู้คนมักคำนึงถึงความคิดของคนอื่นที่จะมองเรามากกว่าว่าเราเป็นคนอย่างไร นักรบจึงรู้สึกว่ายังคงมีความสลับซับซ้อนเล็กน้อยในการวิเคราะห์ภาพถ่าย

“มีทั้งข้อที่ช่วยเยอะ และมีทั้งข้อที่เราอาจจะหลงทางไปกับมันก็ได้ ฉะนั้นสำหรับเราอย่างไรก็ต้องเชื่อมโยงและดูหลักฐานให้ครอบคลุมทุกด้าน”

ในฐานะคนทำงานศิลป์ร่วมกับประวัติศาสตร์ นักรบจึงพยายามดูการแสดงออกทางศิลปะที่ไม่ใช่เพียงภาพวาดอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมถึงสถาปัตยกรรม การแต่งกาย การวางผังเมือง นโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องภายนอก ทำให้รู้ว่าศิลปะสามารถสะท้อนสิ่งต่างๆ ได้มาก

ตัวอย่างเช่น ในสมัยรัชกาลที่ 3 ศิลปกรรมในสมัยนิยมแบบจีน หรือรัชกาลที่ 5 ที่นิยมศิลปกรรมแบบตะวันตก ก็สะท้อนให้เห็นนโยบายของผู้นำประเทศว่าจะมีแนวโน้มไปในทางไหน เมื่อเห็นภาพในอุดมคติไปในทิศทางใด การมองประวัติศาสตร์ก็จะชัดเจนแม้จะเป็นภาพที่กว้างก็ตาม

นอกจากนี้ รายละเอียดปลีกย่อยของศิลปะยังแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่สลับซับซ้อนกว่านั้นอีกมาก เช่น การที่สยามเลือกนำสิ่งนี้เข้ามา แล้วไม่นำสิ่งนั้นเข้ามา หมายความว่าอย่างไร การมีภาพวาดเช่นนี้แปะไว้ในบ้านของขุนนาง หรือมีสิ่งประดิษฐ์จากแดนไกลอยู่ในวังกษัตริย์ มีนัยว่าอย่างไร

“หากเรามองประวัติศาสตร์ได้อย่างครบถ้วนรอบด้าน ก็จะช่วยให้การตีความหรือทำความเข้าใจประวัติศาสตร์เป็นประโยชน์มากขึ้น”

“ศิลปะสามารถเชื่อมโยงได้ในหลายมิติ และเราไม่สามารถตัดการแสดงออกทางศิลปะไปจากการพิจารณาภาพรวมของสังคมได้เลย” นักรบทิ้งท้าย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save