fbpx

อ่านฉากทัศน์อนาคต ตั้งหลักใหม่ประเทศไทย กับ มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

หลังวิกฤตการณ์การเงินเมื่อปี 2540 ที่สร้างผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ คล้อยหลังมา 20 ปี ประเทศไทยต้องเจอกับวิกฤตอีกครา ซึ่งแม้จะมีต้นเหตุหลักมาจากวิกฤตสุขภาพ แต่ก็ส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจอย่างสาหัสสากรรจ์ เมื่อผนวกกับวิกฤตการเมืองที่ดำเนินมากว่าทศวรรษ ผลลัพธ์คือการที่สังคมไทยตกอยู่ในจุดที่ยากลำบากที่สุดอีกหน

นอกจากความทุกข์ยากของผู้คนที่เห็นชัดกับตาแล้ว วิกฤตรอบนี้ก็ได้ถลกพรมสังคมไทยและเผยให้เห็นถึง ‘ขยะ’ ที่ซุกไว้เป็นจำนวนมาก – ไม่ว่าจะเป็น ความเปราะบางของเศรษฐกิจที่พึ่งพิงแต่ภาคท่องเที่ยวเป็นหลัก ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น และระบบการเมืองที่ล้มเหลว

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ สังคมไทยต้องการความรู้ ทักษะ พลังสร้างสรรค์ และนโยบายสาธารณะแบบใหม่ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง ‘ตั้งหลัก’ คิดทบทวนอย่างเข้มข้น ลึกซึ้ง เพื่อมีส่วนในการสร้างและออกแบบนโยบายสาธารณะที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผู้อำนวยการสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักเศรษฐศาสตร์และนักวิจัยด้านโยบายสาธารณะคนสำคัญของประเทศไทย เป็นหนึ่งในคนที่ขบคิดถึงโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยมาตลอดชีวิตนักวิชาการ จากผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐศาสตร์การพัฒนาและการเกษตร ถึงการพัฒนาเมืองและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ล่าสุด ‘อ.มิ่งสรรพ์’ ร่วมกับนักวิจัยหลายศาสตร์ หลากชีวิต ทำงานวิจัยชุดใหญ่ว่าด้วย ‘อนาคตประเทศไทย’ ในหลายมิติ ผ่านแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม คนไทย 4.0 เพื่อร่วมหาคำตอบและทางออกให้กับสังคมไทย 

ในคืนวันที่คุณภาพชีวิตคนไทยกำลังย่ำแย่ลงเรื่อยๆ 101 ชวน มิ่งสรรพ์ อ่านฉากทัศน์อนาคตประเทศไทย และตั้งหลักคิดใหม่เพื่อออกแบบนโยบายสาธารณะให้เท่าทันกับวันข้างหน้า

ในปี 2557 คุณเผยแพร่งานวิจัย ‘ฉากทัศน์ชีวิตคนไทยพ.ศ. 2576’ ซึ่งเป็นการมองประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้าว่าจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน ปัจจุบันคือปี 2564 ผ่านมา 7 ปีแล้ว มีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายทั้งการรัฐประหารและการระบาดของโควิด ถ้าให้คุณเปรียบเทียบฉากทัศน์ที่เคยตั้งสมมติฐานไว้กับฉากทัศน์ที่เกิดขึ้นจริง ณ วันนี้ มีอะไรที่เหมือนหรือเปลี่ยนแปลงไปบ้าง 

งานวิจัยชุดนั้นเป็นการอ่านฉากทัศน์ประเทศไทยหลังจากผ่านความขัดแย้งทางการเมืองสีเสื้อ โดยมองว่าฉากทัศน์ที่ตามมาจะเป็นไปได้ใน 2 ทางแพร่ง คือ ซิมโฟนีปี่พาทย์ กับ แจ๊สหมอลำ 

ซิมโฟนีปี่พาทย์ เป็นฉากทัศน์ที่พูดถึงการใช้ชีวิตของคนไทยภายใต้กฎระเบียบชัดเจน มีกติกาที่เข้มงวด ต่างคนต่างทำหน้าที่ตามความเชี่ยวชาญ เป็นรูปแบบการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจ มีกลุ่มชนชั้นนำทำหน้าที่เป็นผู้วางแผนและชี้นำความเป็นไปในสังคมตามที่เห็นสมควร จากการศึกษาครั้งนั้นคาดการณ์ว่าปี 2576 ประเทศไทยจะก้าวข้ามผ่านกับดักรายได้ปานกลางจากการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ของรัฐรวมศูนย์ แต่ขณะเดียวกันด้วยโครงสร้างอำนาจลักษณะนี้จะส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น 

ในขณะที่ แจ๊สหมอลำเป็นฉากทัศน์ที่ตรงกันข้าม การใช้ชีวิตของคนไทยจะเน้นที่ความเป็นอิสระและเสรีภาพส่วนบุคคล ให้ความสนใจประเด็นทางสังคม แม้สังคมจะมีกฎระเบียบอยู่บ้าง แต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนประยุกต์ใช้ได้ตามสถานการณ์และความเหมาะสม ชีวิตที่เป็นปัจเจกนิยมมากขึ้นมาพร้อมกับแรงผลักดันเพื่อสร้างสังคมพหุนิยมและเสรีนิยม ซึ่งเน้นความหลากหลายด้านความคิด ค่านิยม และแนวทางการดำรงชีวิตที่มีความแตกต่างและหลากหลาย พร้อมๆ ไปกับการกระจายอำนาจด้านเศรษฐกิจสังคม และการเมืองออกจากกลุ่มชนชั้นนำ

ฉะนั้นหากย้อนกลับมาดูปัจจุบัน พบว่าฉากทัศน์ของประเทศไทยขยับไปในรูปแบบของซิมโฟนีปี่พาทย์ สิ่งที่เหมือนคือรูปแบบของสังคมที่กลายเป็นสังคมอุดมกฎเกณฑ์ โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ออกคำสั่ง ส่วนสิ่งที่ต่างคือผลลัพธ์ เนื่องจากยังเป็นช่วงต้นของการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ ทำให้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าไทยจะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้จริงหรือไม่ เพราะการจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จจำเป็นต้องอาศัยฝีมือการบริหารงานของรัฐบาลเช่นกัน

ในงานวิจัยเล่มนี้ได้กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยไว้ว่า ‘โชติช่วงแต่ไม่ชัชวาล’ เนื่องจากติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง และมีความเปราะบางหลายด้าน เช่น ขาดการพัฒนาทักษะแรงงานระดับสูง มาวันนี้ไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด คุณเห็นความเปราะบางอะไรเพิ่มเติมขึ้นบ้าง 

เศรษฐกิจไทยมีปัญหาอยู่ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด ปัญหาหลักคือภาคอุตสาหกรรมที่เคยหวังว่าจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้ามีอัตราการเจริญเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ในทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโตเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน แต่ภาคอุตสาหกรรมกลับไม่ได้เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยอย่างที่คาดหวังไว้ เดิมภาคอุตสาหกรรมเคยมีสัดส่วนสูงถึง 39% ของจีดีพีไทย ในปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 36-37% เท่านั้น

ในอีกด้านหนึ่ง ภาคการท่องเที่ยวกลายมาเป็นภาคเศรษฐกิจใหญ่ของไทย หลังวิกฤตต้มยำกุ้งภาคการท่องเที่ยวค่อยๆ เพิ่มความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม การพึ่งพิงภาคท่องเที่ยวมากเกินไปกลับทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเปราะบาง เราพึ่งพิงภาคท่องเที่ยวคิดเป็น 18% ของจีดีพี ถือว่าสูงมาก แม้เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่เน้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็พบว่า ไทยพึ่งพิงภาคการท่องเที่ยวสูงที่สุด และยังมีสัดส่วนการพึ่งพิงนักท่องเที่ยวจากต่างชาติมากที่สุดเช่นกัน การระบาดของของโควิด-19 จึงทำให้เศรษฐกิจไทยเจ็บหนักมาก

นอกจากนี้ โควิดยังได้ตอกย้ำปัญหาเรื่องการอาศัยแรงงานต่างชาติมากเกินไป เห็นได้ชัดว่าตามโรงงานต่างๆ มีแรงงานไทยลดน้อยลงมาก ส่งผลให้แรงงานไทยขาดโอกาสพัฒนาทักษะระดับสูง เรื่องนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรม

คุณทำวิจัยเกี่ยวกับการยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอยู่หลายชิ้น ซึ่งตอนที่ทำคงไม่คาดคิดว่าจะเกิดโรคระบาด แต่ในอีกด้านหนึ่ง ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์คุณก็เห็นความเปราะบางของเศรษฐกิจที่พึ่งพิงภาคเศรษฐกิจหนึ่งๆ มากเกินไป ถ้าโควิดหายไป เราควรหวังให้การท่องเที่ยวกลับมาเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเหมือนเดิมได้ไหม

เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ควรเป็นอะไรที่แค่หาเงินอย่างเดียว แต่ต้องสะสมทุนได้ด้วย ยกตัวอย่างภาคอุตสาหกรรม การสะสมทุนคือการซื้อเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงโรงงานให้ดีขึ้น ส่วนแรงงานก็ต้องพัฒนาทักษะความรู้เพื่อพัฒนาสินค้าให้ซับซ้อนขึ้น เมื่อแรงงานมีความรู้มากขึ้น มีผลิตภาพมากขึ้น ค่าจ้างก็จะสูงขึ้น และเกิดโอกาสในการพัฒนาแรงงานขึ้นมา แต่ภาคการท่องเที่ยวเน้นขายธรรมชาติเป็นหลัก ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่แต่เดิมและสึกหรอไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันตัวเนื้องานก็ไม่ได้ใช้ทักษะขั้นสูงในการทำงานมากนัก ก็ทำให้แรงงานภาคการท่องเที่ยวขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะ

นอกจากนี้ การท่องเที่ยวไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับโลกหลังอุตสาหกรรม (post industrial) อย่างโลกดิจิทัลมากนัก ทั้งๆ ที่เรามีรายได้สุทธิจากการท่องเที่ยวเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ถ้าลองไปดูประเทศเพื่อนบ้านจะเห็นว่าทุกประเทศล้วนมีแพลตฟอร์มจากประเทศเขา เช่น Gojek ของอินโดนีเซีย Traveloka ของประเทศฟิลิปปินส์ Grab ของมาเลเซีย ตัดภาพมาที่ไทย ไม่มีอะไรเลย เพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้สร้างเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีหรือทักษะให้กับแรงงาน เมื่อมีภาคเศรษฐกิจใหม่ที่แข็งแรงเติบใหญ่เกิดขึ้น เรามีแค่เงินแต่ข้างในกลวง ไม่มีอะไรที่สามารถใช้ต่อยอดได้ กลายเป็นว่าถ้าเราอยากขายอะไร ก็ต้องไปฝากขายในแพลตฟอร์มต่างชาติ

ไม่ใช่แค่นั้น ภาคการท่องเที่ยวไทยยังพึ่งพิงแรงงานต่างชาติค่อนข้างมาก ซึ่งมองโดยผิวเผินอาจจะไม่เห็นพวกเขามากนัก เพราะส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ข้างหลัง เป็นแรงงานไร้ทักษะ บวกกับประเทศไทยไม่เคยมีนโยบายเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่ชัดเจนจึงทำให้เกิดปัญหาแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย ด้านบริษัท ห้างร้าน หรือโรงแรม ก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะพัฒนาเทคโนโลยีให้ดีขึ้น เพราะใช้แรงงานต่างชาติราคาถูกคุ้มกว่า เราจึงไปข้างหน้าได้ค่อนข้างช้าและน้อยมาก 

ดังนั้น ถ้ายังอยู่กันแบบเดิม การท่องเที่ยวก็ไม่ควรเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่ไทยฝากความหวัง

หากจะตั้งหลักใหม่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประเทศไทย เราควรคำนึงถึงเรื่องอะไรบ้าง 

หนึ่ง ต้องเปลี่ยนให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ โดยอาจต่อยอดจากแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ เพื่อสร้างระบบนิเวศสำหรับการท่องเที่ยวและการซื้อสินค้า ไม่ใช่เพียงเป็นแค่ e-wallet แบบที่เป็นอยู่ นอกจากนี้ การปรับไปสู่สังคมไร้เงินสดก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ตอบสนองพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวจีนได้ ทุกวันนี้เวลาที่นักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวบ้านเรา เขาใช้แพลตฟอร์มของเขาหมดเลย ไม่ว่าจะซื้อของหรือจ่ายเงิน เพราะเราไม่มีแพลตฟอร์มให้เขาใช้ เราต้องกลับมาทำให้เงินโอนเข้าสู่ประเทศไทยไม่ใช่ไปที่ประเทศจีน

สอง ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น ทั้งในรูปแบบของการท่องเที่ยว หรือการอาศัยในระยะยาว เช่น กลุ่มครอบครัวนักท่องเที่ยวจีนที่ย้ายมาอยู่อาศัยในประเทศไทย พบว่าในปัจจุบันมีเด็กนักเรียนจีนกว่า 2,000 คนศึกษาอยู่ในโรงเรียนนานาชาติในจังหวัดเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่เราควรให้ความสนใจ

สาม ต้องปรับให้สอดรับกับเทรนด์โลกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลสุขภาพ เรื่องสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องมีการพัฒนาตลอดเวลาเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป

สี่ ต้องดึงเศรษฐกิจฐานรากขึ้นมา เช่น สินค้าท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น กิจกรรมวัฒนธรรม ในชุมชนอื่นๆ ไม่ใช่เพียงชุมชนท่องเที่ยวอย่างเดียว

เรื่องสุดท้าย ต้องเปลี่ยนจากการซื้อสินค้าครั้งเดียว (one time product) หรือการท่องเที่ยวครั้งเดียว (one time relationship) มาเป็นความสัมพันธ์ระยะยาว (all time relationship) เพื่อให้เกิดการติดต่อและซื้อขายกันได้ตลอดเวลาผ่านเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่เฉพาะยามมาเที่ยวประเทศไทยเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น สมมติเรามีปางช้าง แทนที่จะขายบริการขี่ช้างเพียงอย่างเดียว ลองให้เขาตั้งชื่อช้างเพื่อสร้างความรู้สึกร่วมในการเป็นผู้ดูแลช้างตัวนี้ ช่วงที่โควิดระบาด เราอาจติดต่อเขาไปว่าช้างที่เขาดูแลไม่มีเงินกินข้าว ทางเขาก็ส่งเงินหรือซื้อของกลับมาให้ เราก็มีเงินที่จะเลี้ยงช้างต่อไป หรือจะต่อยอดเอามูลช้างไปทำสินค้าเช่นกระดาษ ก็ได้เหมือนกัน ถ้าสามารถทำได้ในลักษณะนี้ความสัมพันธ์ในระยะยาวก็จะเกิดขึ้น 

นอกจากนี้ควรเสริมการขายอัตลักษณ์ของคนไทยอย่าง ‘ความอัธยาศัยดี’ หรือ ‘ความเป็นเพื่อน’ เพิ่มเข้าไปด้วย เราชอบคิดกันว่าสาเหตุที่นักท่องเที่ยวต่างชาติชอบมาเที่ยวบ้านเราเป็นเพราะเรามีวัด ทะเล หรือวัฒนธรรมที่สวยงาม แต่จากการสำรวจของทุกสำนักต่างพูดตรงกันว่านักท่องเที่ยวชอบคนไทย ทำไมเราไม่ทำให้ ‘ความเป็นคนไทย’ กลายเป็นสินทรัพย์ที่ติดอยู่กับพื้นที่ของเรา (asset on location) คุณต้องมาเที่ยวที่นี่ถึงจะซื้อความเป็นคนไทยได้ สิ่งนี้จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้มากขึ้น

ที่ผ่านมารัฐบาลมีการส่งเสริม ‘โครงการเที่ยวเมืองรอง’ เพื่อช่วยผลักดันเศรษฐกิจฐานราก นโยบายแบบนี้ตอบโจทย์ไหม

เวลาพูดถึงการท่องเที่ยวเมืองรอง ก็นึกเอาเองว่าทำโฆษณาให้คนไปเที่ยว แล้วเขาจะไปเที่ยว แต่ผลปรากฏว่าไม่มีใครไปเที่ยวเลย เพราะเขาไม่มีข้อมูล เช่น ถ้าคุณจะไปเที่ยวลำปาง มองซ้ายมองขวาก็แล้ว แต่ไม่มีแท็กซี่สักคัน หรือจะขึ้นรถประจำทาง คุณก็ไม่รู้เส้นทางอีก 

ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นการท่องเที่ยวที่จัดการโดยบริษัทท่องเที่ยว เขาจับคุณใส่รถและทำทุกอย่างให้ คุณแทบไม่ต้องคิดอะไรเลย จะกิน จะนอนที่ไหน บริษัททัวร์จัดให้หมด เลยทำให้ไม่มีข้อมูลที่สามารถหาอ่านเองได้ เดี๋ยวนี้ดีขึ้นหน่อยที่เกิดการรีวิวตามเว็บไซต์ต่างๆ แต่หลายเมืองรองก็ไม่มีสิ่งนี้ 

วิธีการที่เราให้คนไปท่องเที่ยวเมืองรองมันผิดมาตั้งแต่แรก เพราะเราไม่เคยสนใจ pain point จริงๆ ของนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวเมืองรองเลย 

คุณย้ำเรื่องการนำดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในระบบเศรษฐกิจภาคต่างๆ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว สำหรับคุณมองว่าการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล (digital transformation) ในประเทศไทยควรมีหน้าตาอย่างไร 

ทุกภาคเศรษฐกิจจำเป็นต้องหาแนวทางการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล เช่น ภาคธุรกิจการศึกษา คำถามใหญ่ตอนนี้คือในอนาคตมหาวิทยาลัยไทยจะยังไปต่อได้หรือไม่ เพราะทุกวันนี้เราเห็นแล้วว่ามหาวิทยาลัยต่างชาติเปิดคอร์สให้เรียนทางออนไลน์ได้ทั่วโลก สมมติว่าต่อไปเกิดเครื่องมือที่แปลสิ่งที่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดสอนให้เป็นภาษาไทย คุณคิดว่ามหาวิทยาลัยไทยจะขายการศึกษาสู้กับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ไหม

ดังนั้น ภาคการศึกษาต้องมาคิดทบทวนใหม่ทั้งหมดว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเรียนการสอนจริงๆ ข้างต้นเป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น โครงการวิจัยในแผนงานคนไทย 4.0 บอกชัดว่า เมืองในอนาคตจะเป็นเมืองแพลตฟอร์มและพวกเราจะกลายเป็นมนุษย์แพลตฟอร์ม ชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นยันนอนของพวกเราจะดำเนินอยู่บนแพลตฟอร์มเป็นหลัก ฉะนั้นในอนาคตคนจะรวยได้ ก็ต้องรวยจากการมีความสัมพันธ์กับแพลตฟอร์ม แต่ประเทศไทยยังล้าหลังในเรื่องนี้มาก แล้วจะไปก้าวข้ามรายได้กับดักปานกลางได้อย่างไร

อะไรเป็นคอขวดสำคัญของสังคมเศรษฐกิจไทย

โครงสร้างประชากรของไทยไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะคนไทยแก่ก่อนรวย การเข้าสู่สังคมสูงวัยสะท้อนว่า เราไม่มีแรงงานที่จะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจ

อีกเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งคือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของไทยมีน้อยมาก เพราะระยะหลังบริษัทข้ามชาติหนีไปลงทุนเวียดนาม อินโดนีเซีย หรือจีนกันหมด ในช่วงก่อนโควิด จีดีพีประเทศอื่นโตกัน 5-6% แต่ของไทยโตแค่ 2-3% เท่านั้น ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบอัตราการโตของจีดีพี แต่ต้องยอมรับว่า ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจแสดงถึงผลตอบแทนเฉลี่ยของการลงทุนในประเทศนั้นๆ ถ้าจีดีพีไทยโตแค่ 2-3% นักลงทุนก็เลือกไปลงทุนในประเทศอื่นแทน เมื่อไม่มีเงินมาลงก็ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้า 

แต่ทั้งหมดทั้งปวงไม่ได้สำคัญเท่ากับว่า ประเทศไทยขาดวิสัยทัศน์ ดิฉันเคยได้ยินเกษตรกรคนหนึ่งวิจารณ์เรื่องนี้ไว้อย่างแหลมคมว่า “คนไทยไม่ได้พ่ายแพ้ที่ความสามารถ แต่พ่ายแพ้ที่วิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในการจะนำประเทศไปข้างหน้า” ในฐานะคนที่ศึกษาเรื่องแผนและนโยบายสาธารณะ ดิฉันฟังแล้วรู้สึกประทับใจมาก 

ทำไมเราจึงพ่ายแพ้ที่วิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในการนำประเทศไปข้างหน้า  

เรามองไม่ถูกเป้า แต่หลงตัวเอง ชอบคิดว่าตัวเองทำดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องพัฒนาต่อ ตัวอย่างที่ดีมาก เช่น การส่งออกข้าวหอมมะลิ ซึ่งไทยมักชอบทะนงตัวว่าข้าวไทยดีกว่าของที่อื่น แต่แล้วกลับถูกข้าวเวียดนามตีตลาดเละเทะเลย เพราะข้าวเวียดนามทั้งหอม นุ่ม และถูกกว่า ประเด็นคือ เวียดนามมาถึงจุดนี้ได้เพราะศึกษาพันธุ์ข้าวของไทยและไม่หยุดที่จะวิจัยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ข้าวของตัวเองให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น

อีกเรื่องที่จำเป็นต้องพูดคือ วิสัยทัศน์และกลยุทธ์จำเป็นต้องอาศัยความรู้และความสามารถที่หลากหลาย แต่ปัญหาหลักของสังคมไทยคือรังเกียจการคิดต่าง ทั้งๆ ที่การยอมรับความแตกต่างหลากหลายและการบูรณาการเท่านั้นถึงจะทำให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้ การยึดมั่นความคิดอยู่เพียงอย่างเดียวถือเป็นวิธีคิดที่ล้าสมัยและจะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมายไม่ว่าจะในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง 

โจทย์ใหญ่และยากที่คุณพูดถึงอยู่เสมอคือ ความเหลื่อมล้ำ เริ่มเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าหลังจากการระบาดของโควิด ความเหลื่อมล้ำจะรุนแรงมากขึ้น สังคมไทยควรตั้งหลักคิดเรื่องนี้อย่างไร

รากฐานของความเหลื่อมล้ำเกิดมาจาก 2 เรื่อง หนึ่ง ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน และสอง ปัญหาเรื่องการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ สองเรื่องนี้เกี่ยวโยงกับความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ถ้าแก้สองโจทย์นี้ไม่ได้ ก็ยากที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

งานวิจัยในช่วงหลังหันไปให้ความสำคัญกับความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เพราะในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเอาคนจากฐานพีระมิดเข้าสู่ระบบการศึกษาได้เพิ่มมากขึ้น เรียกได้ว่าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศสามารถเข้าถึงการศึกษาได้แล้ว แต่ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกคือปัญหาด้านคุณภาพ ซึ่งช่องว่างระหว่างชนชั้นกลางกับคนฐานล่างของพีระมีดยังสูงอยู่มาก งานวิจัยหลายชิ้นกล่าวตรงกันว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการส่งต่อความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น พ่อแม่จนอย่างไร ลูกก็จนอยู่อย่างนั้น ซึ่งสังคมที่ผู้คนไม่มีความสามารถในการเลื่อนชั้นทางสังคมถือเป็นสังคมที่อนารยะ

เมื่อพูดถึงความเหลื่อมล้ำและเสริมย้ำด้วยวิกฤตโควิด ทำให้หลายคนนึกไปถึงระบบตาข่ายรองรับทางสังคม (social safety net) ตลอดไปจนระบบสวัสดิการต่างๆ คุณมีความคิดเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้ อะไรคือจุดเปราะบางหรือข้อควรปรับปรุงของระบบตาข่ายรองรับทางสังคม

ชุมชนคือตาข่ายรองรับทางสังคมที่สำคัญที่สุด จะเห็นว่าต่างจังหวัดมีความสามารถในการต่อสู้กับโควิดดีกว่าในเมืองมาก สาเหตุเป็นเพราะในต่างจังหวัดยังมีชุมชนอยู่ อย่างที่เชียงใหม่ ทันทีที่เกิดโควิด ชาวบ้านต่างลุกขึ้นมาช่วยทำกับข้าวเพื่อส่งอาหารให้ผู้ป่วยติดเตียงที่อาศัยในชุมชน

ความเป็นชุมชนถือเป็นเรื่องสำคัญ ถ้ามองไปในอนาคตมีแนวโน้มที่คนไทยจะถูกตัดขาดจากชุมชนและกลายเป็นคนเปราะบางมากขึ้น ฉะนั้นเราจำเป็นต้องสร้างความเป็นชุมชนใหม่ให้เกิดขึ้น ตอนนี้ความเป็นชุมชนของคนเมืองอยู่บนโลกไซเบอร์ แต่ในห้วงเวลาที่เปราะบางแบบนี้ ชุมชนออนไลน์อย่างเดียวสู้ไม่ได้ เรายังจำเป็นต้องพึ่งพาชุมชนในเชิงกายภาพอยู่ 

นโยบายต่อจากนี้ต้องเป็นนโยบายที่ผลักดันให้เกิดชุมชนเชิงกายภาพมากขึ้น โดยการสร้างพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้คนสามารถออกมาเดินเล่น พูดคุย ตลอดจนซื้อขายของ ไม่ใช่ว่าทุกคนไปเดินซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าเสียหมด เราจำเป็นต้องเพิ่มพื้นที่สาธารณะเพื่อทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนมากขึ้น  

นอกจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ ในขณะที่สังคมอนาคตกำลังเข้าสู่โลกยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็ยังมีผู้คนอีกเป็นจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี เช่นนั้น ภาครัฐควรทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้มีใครต้องตกขบวนความเปลี่ยนแปลงนี้

หากประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ พวกเขามีศักยภาพมากพอที่จะใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ ดังนั้นต้องทำให้สมาร์ตโฟนราคาถูกลงและผู้คนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ฟรี หรือราคาถูกที่สุด

กรณี Wifi สลัมเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจอย่างยิ่ง จากการลงไปทำงานวิจัยในสลัมพบว่า แม้คนในสลัมจะอ่านหนังสือไม่ออก แต่เขาสามารถใช้สมาร์ตโฟนขายสินค้าออนไลน์ได้ผ่านการใช้คำสั่งเสียง (voice command) หรือชุมชนท่องเที่ยวในต่างจังหวัดก็สามารถใช้โปรแกรมแปลภาษา (google translate) ในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

และตอนนี้เรากำลังริเริ่มโครงการ Blockchain ให้กับชาวบ้านตามพื้นที่ห่างไกลเพื่อให้เขาสามารถซื้อขายสินค้าโดยไม่ต้องผิดใจกัน เดิมทีเวลาชาวบ้านซื้อขายของจะทะเลาะกันตลอด เพราะถือสมุดบัญชีกันคนละเล่ม ต่างคนก็ต่างมีสมุดบัญชีของตัวเอง เป็นเหตุให้ง่ายที่จะเกิดการเข้าใจผิด เทคโนโลยี Blockchain เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ ตอนนี้ทุกคนต่างถือสมุดบัญชีเล่มเดียวกัน ก็ไม่มีสาเหตุให้ต้องทะเลาะกันอีกต่อไป 

เราจำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดที่ว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการละเล่นเพียงอย่างเดียว สิ่งนี้ไม่จริงเสมอไป มีตัวอย่างหลายกรณีที่ทำให้เห็นแล้วว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อหาเลี้ยงชีพ สิ่งที่รัฐควรทำคือการทำให้อินเทอร์เน็ตครอบคลุมทุกพื้นที่และฟรี ชาวบ้านไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตไม่เป็น แต่เขาสู้กับราคาสมาร์ตโฟนและราคาอินเทอร์เน็ตไม่ไหวต่างหาก ถ้ารัฐเตรียมสิ่งนี้ให้พร้อม ชาวบ้านก็สามารถใช้อินเทอร์เน็ตในการทำมาหากินได้ 

หากย้อนกลับมาที่งานวิจัย ‘ฉากทัศน์ชีวิตคนไทยพ.ศ. 2576’ จะพบว่ารูปแบบอำนาจรัฐเป็นตัวแบ่งแยกฉากทัศน์ทั้ง 2 ออกจากกัน คือรัฐรวมศูนย์ในซิมโฟนีปี่พาทย์ และการกระจายอำนาจในแจ๊สหมอลำ รูปแบบของรัฐที่ต่างกันก็ส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาของประเทศที่ต่างตามไปด้วย ฉะนั้นรูปแบบของรัฐถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้การพัฒนาของไทยยังเดินหน้าได้ไม่เต็มขีดสุดหรือไม่

ใช่ อย่างเรื่องการกระจายอำนาจ จริงๆ ประเทศไทยเคยมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เน้นกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น แต่มาตอนนี้ทิศทางกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม  แทนที่ส่วนกลางจะปล่อยให้ท้องถิ่นได้ดูแลสิ่งที่เขาควรดูแล กลับออกกฎหมายไม่ให้เขาทำ ลองคิดดูให้ดีว่าจริงๆ แล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลพื้นที่ทุกตารางนิ้วของประเทศไทย แต่กลับมีอำนาจจำกัดมาก ดิฉันชอบพูดอยู่เสมอว่า ปัจจุบันท้องถิ่นกำลังถูกมัดตราสังโดยรัฐบาลกลาง

อย่าลืมว่าแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเอาความรู้และความคิดของคนในพื้นที่มาช่วยออกแบบการจัดการที่เหมาะสมกับตัวเอง แต่ประเทศไทยใช้รูปแบบ one size fit all มาตลอด คือใส่เสื้อเบอร์เดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งไม่เหมาะกับโลกที่แต่ละคน แต่ละพื้นที่มีรูปร่างของปัญหาแตกต่างกัน 

หัวใจสำคัญของการกระจายอำนาจคือ ต้องให้คนที่ได้รับอำนาจมีอิสระพอที่จะคิดว่าอะไรดีสำหรับเขา ไม่ต้องไปดูถูกว่าเขาทำไม่ได้ ดิฉันค้นพบว่าทุกวันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถสร้างสวัสดิการที่ดีกับประชาชนได้มาก เพียงแต่ที่ผ่านมาขาดโอกาสเท่านั้นเอง ฉะนั้นการกระจายอำนาจจึงไม่ใช่แค่เปิดให้มีการเลือกตั้ง แต่ต้องรวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายอีกหลายฉบับเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีอำนาจในการจัดการท้องที่ของตัวเองอย่างแท้จริง  

ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงแทบทุกวินาที ในฐานะที่คุณทำวิจัยด้านนโยบายสาธารณะมาทั้งชีวิต อะไรจะเป็นหลักคิดสำคัญในการทำนโยบายสาธารณะที่ตอบโจทย์อนาคตได้จริง

ในอนาคตจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้เด็กรุ่นใหม่ตั้งโจทย์ของตัวเองขึ้นมา และแลกเปลี่ยนกับคนรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์ คนรุ่นดิฉันอายุมากเกินไปแล้ว ควรหยุดทึกทักว่าตัวเองรู้ไปหมด และควรต้องกล้าโยนภาระในการคิดให้กับคนรุ่นใหม่ 

*หมายเหตุ บทสัมภาษณ์เรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-One Ep.226 อ่านฉากทัศน์อนาคต ตั้งหลักใหม่ประเทศไทย กับ มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save