fbpx

มิลาน คุนเดรา และเสียงหัวเราะอันหนักอึ้งเหลือทนของเหล่าเทวดา: คำอุทิศและคำสารภาพจากนักอ่านเฟมินิสต์

เดจาวูที่เดจาวู: ชีวิตในแห่งหนอื่น

ตั้งแต่เริ่มสนใจภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และวรรณกรรมยุโรปกลาง ฉันผู้ตามอ่านและตาม ‘เก็บ’ งานของมิลาน คุนเดราด้วยความชื่นชม พูดได้เต็มปากว่าฉันไม่นิยมชมชอบตัวละครผู้หญิงที่ก่อกำเนิดจากปลายปากกาของนักเขียน และไม่ชอบทัศนคติกลัวเกลียดเหยียดหญิงและเลสเบียนของตัวละครชายในนวนิยายของเขา

ตัวอย่างมีมากมาย ตัวละครผู้เป็นแม่จอมบงการที่หมกมุ่นในตัวลูกชายใน ชีวิตอยู่แห่งหนอื่น (Život je jinde) ความเหยียดเกลียดกลัวหญิงในระดับที่อยากจะฆ่าผู้หญิงตั้งครรภ์ผู้ -ในสายตาของผู้ชาย- สามารถใช้มันเป็นอาวุธแบล็คเมล์ให้ผู้ชายเสียผู้เสียคนเสียอนาคตใน วอลตซ์อำลา (Valčík na rozloučenou) หรือทัศนคติของคุนเดราใน ม่านวิเศษ (Le Rideau) ที่มีต่อชายรักชาย เมื่อเขาบอกว่าเขาผิดหวังเมื่อได้ล่วงรู้ความจริงว่าตัวละครหญิงนามอัลแบร์ทีน ของมาร์เซล พรูสต์นั้นรังสรรค์จากชายคนรักของนักเขียน คุนเดราบรรยายไว้ว่าเมื่อได้รับข้อมูลที่ไร้ประโยชน์ของสิ่งที่เกิดขึ้น ‘หลังม่าน’ งานวรรณกรรม เขารู้สึกประหนึ่งมีคนสังหารผู้หญิงชื่อไพเราะอย่างอัลแบร์ทีนและพรากเธอไปจากเขาตลอดกาล

ฉันประกาศคำตัดสินพิพากษาดังกล่าวในวงสนทนากับคนรัก (ในขณะนั้น) และผองเพื่อนที่ได้พบเจอในผับเลสเบียนแห่งเดียวในกรุงบราติสลาวาในขณะนั้นที่ชื่อ ‘เดจาวู’ (นั่นมันกว่า 13-14 ปีที่แล้ว แน่นอนว่าวันนี้ผับแห่งนั้นไม่มีชิ้นส่วนเหลือรอดให้เห็นทั้งในระนาบภูมิทัศน์และมิติความทรงจำของประชากรในเมืองที่ต่อมาเกิดเหตุสังหาร LGBTQINA+ อย่างโหดเหี้ยมหลายครั้ง)

คุนเดราเน้นย้ำว่าสุดท้ายมนุษย์เราจะลืมทุกสิ่ง แม้กระทั่งความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็ต้องแพ้พ่ายต่อการผันผ่านของกาลเวลาและการเปลี่ยนแปลงที่มาในรูปของประวัติศาสตร์ที่ดูจะเล่นตลกกับเรา แต่ดันไม่ร่วมขำไปกับเราเมื่อเราตั้งใจลองขบถและเล่นตลกดูบ้าง ซึ่งก็น่าจะจริง เพราะมาวันนี้ฉันก็จำไม่ได้แล้วว่าหัวข้อบทสนทนาเกี่ยวกับคุนเดรานี้มีที่มาอย่างไร จำได้ (หรือเข้าใจไปเองว่าจำได้) เพียงว่าสหายชาวเช็กและสโลวักในที่นั้นไม่มีใครเคยอ่านงานของนักเขียนคนนี้เต็มๆ จบเล่มสักคน จึงพากันขอให้ฉันอธิบายขยายความเป็นตัวอย่างพอสังเขป

ฉันจะอธิบายความรู้สึกที่ฉันมีต่องานเขียนของคุนเดราอย่างไรน่ะหรือ คงเป็นความรู้สึกทั้งรักทั้งเกลียด รักที่มาในรูปของความเกลียดชัง และความเกลียดชังที่มาในรูปของรักเป็นหัวใจสำคัญของงานเขียนคุนเดราเสียด้วย ในฐานะผู้สนใจยุโรปกลางศึกษาและแนวคิดโมเดิร์นนิสม์ ทุกครั้งที่อ่านงานของคุนเดราแต่ละเรื่อง ฉันรู้ว่าฉันกำลังอ่านงานของนักเขียนผู้ปราดเปรื่อง ไม่มีใครสามารถรื้อถอนและถ่ายทอดยุโรปกลาง อีกทั้งแผ่สยายให้เห็นความสัมพันธ์นัวเนียระหว่างการเมือง เซ็กซ์ และชีวิตได้ลึกซึ้งเท่านักเขียนท่านนี้อีกแล้ว แต่ในฐานะเลสเบียนเฟมินิสต์ ฉันรู้ว่าฉันกำลังอ่านงานของนักเขียนชายแท้ (คำนี้ไม่ใช่คำด่า แต่ส่วนขยายที่ตามมานี้น่าจะใช่) ที่ยังติดอยู่ในหล่มของการเหยียดเพศและเหยียดอายุในสตรีเพศ และทัศนคติโฮโมโฟบ นักเขียนชายแท้ที่จรรโลงแนวคิดชายเป็นใหญ่อันสุดแสนจะล้าหลัง ฉันสุขที่ได้อ่านของนักเขียนนะ แต่เป็นความสุขที่ ‘สุขไม่สุด’ (เหมือนเพลงของ The Parkinson)

ตัดภาพกลับมาที่เหตุการณ์ในผับที่ชื่อเดจาวูในอดีต ชีวิตในแห่งหนอื่นที่กำลังเลือนหายไปทุกนาทีที่เรานอกเรื่อง

เป็นเพราะอหังการแห่งวัยยี่สิบปลายๆ (ที่คุนเดราเกลียด) หรือความจองหองทะนงตัวว่าเป็นชาวต่างชาติที่ศึกษางานที่แม้ผู้พูดภาษาเดียวกัน (หรือใกล้เคียง) กับนักเขียนยังไม่รู้จัก หรือฤทธิ์เครื่องดื่มใสและสีอำพันที่สั่งสมตั้งแต่ช่วงกลางวัน อันนี้ไม่ทราบแน่ชัด ฉันตัดสินใจเสาะหาตัวอย่างที่ชัดที่สุดเพื่อป้อนสหายที่กำลังรอฟังอย่างใจจดจ่อ รู้ตัวว่ากำลังลดทอนวรรณกรรมโลกอย่างให้อภัยมิได้ แต่ฉันกลับเลือกที่จะใช้กำลังสมองที่เหลืออยู่เฟ้นหาเศษเสี้ยวตัวบทที่คัดจากเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่ชื่อว่า ‘เหล่าเทวดา’ ซึ่งตีพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งของ หนังสือแห่งเสียงหัวเราะและการลืมเลือน (Kniha smíchu a zapomnění) ที่มิลาน คุนเดราเขียนเมื่อลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ประเทศฝรั่งเศสแล้ว เรื่องนั้นเป็นอีกเรื่องที่มีเหตุการณ์การบุกครองเชโกสโลวาเกียของฝ่ายกติกาสัญญาวอร์ซอเป็นฉากหลัง เช่นเดียวกับปัญญาชนหัวก้าวหน้าที่เชื่อมั่นในระบอบคอมมิวนิสต์ถึงขั้นที่ต้องการปฏิรูประบอบให้เสรีกว่าที่เป็นอยู่ ตัวละครนักเขียน (ในเรื่องชื่อคุนเดราเสียด้วย) ถูกทางการแบน แต่ยังเคราะห์ดีแอบไปทำงานเป็นหมอดูจำเป็น คือเป็นนักเขียนคอลัมน์ดวงตามราศีเกิดให้นิตยสารวัยรุ่นคอมมิวนิสต์ภายใต้นามปากกาเพื่อปกปิดตัวตน เป็นงานที่ตัวละครฟันธงว่าสนุกมาก แถมสะใจด้วยเพราะวันหนึ่งยังได้รับวานจ้างจากหัวหน้ากองบรรณาธิการ (ในฐานะคอมมิวนิสต์ดีเด่นที่เชื่อมั่นแต่ลัทธิมากซ์-เลนินอย่างสุดจิตสุดใจ เขาไม่มีสิทธิ์ที่จะงมงายเชื่อเรื่องดวงชะตา) ให้ช่วยดูดวงให้ตัวเองอย่างลับๆ (หารู้ไม่ว่าหมอดูใต้บังคับบัญชาแท้จริงเป็นนักเขียนศัตรูของระบอบ)

นักเขียนมีชีวิตรอดและมีงานทำเพราะเพื่อนที่ชื่อ R คอยเป็นนารีอุปถัมภ์ คอยปกปิดความลับให้จนทำงานเป็นหมอดูจำเป็นอย่างราบรื่นไปหนึ่งปี วันหนึ่งเรื่องก็แดง (นี่ตั้งใจเล่นสีเล่นคำ) จนได้ ความซวยไปตกอยู่กับ R ซึ่งถูกตำรวจลับจับและบีบเค้นสอบสวนจนทุกคนรู้โฉมหน้าที่แท้ของหมอดู ด้วยความปรารถนาดี R (ซึ่งเครียดและกลัวจนท้องไส้ปั่นป่วน ต้องเข้าห้องน้ำหลายรอบ) จึงนัดนักเขียนมาเจอกันเพื่อเตือนภัย นักเขียนฟังคำสารภาพจาก R อย่างตั้งใจ เขายอมรับสภาพและชะตากรรมว่าสุดท้ายไม่เหลืออะไรแล้ว อนาคตดับ เขาคงต้องย้ายประเทศเป็นแน่ แต่ทันใดนั้น เขาเกิดความใคร่ที่จะข่มขืน R *ย้ำ ‘ความใคร่ที่จะข่มขืน’*

คุนเดราบรรยายว่าความปรารถนาที่จะข่มขืนเป็นความปรารถนาที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันหลังจากที่นักเขียนเห็นสภาพป่วยโทรมและกลัวจนทำอะไรไม่ถูกของเพื่อนที่คอยช่วยเหลือเขามาโดยตลอด จำได้ว่าฉันเล่าถึงตอนนี้ก็หยุด จบแค่นี้ สหายในที่ฟังอยู่ดูจะเข้าใจประเด็น ต่างเบะปากทำท่ารังเกียจ ตะโกนก้องว่าดีใจเหลือเกินที่ไม่เสียเวลาอ่านงานของคุนเดรา อาจจะชนแก้ว อาจจะสั่งเครื่องดื่มมาเพิ่ม ต่อมาเกิดอะไรขึ้นฉันจำไม่ได้แล้ว ความทรงจำของค่ำคืนนั้นได้เลือนหายไปสิ้น

13 ปี (หรือ 14? เอาเป็นว่า 13 ก็แล้วกัน) ต่อมา เมื่อหลายเดือนที่แล้ว วันที่สหายชาวปรากส่งข่าวเรื่องมิลาน คุนเดราเสียชีวิต ตรงกับวันที่ฉันกลับมาทำวิจัยที่สาธารณรัฐสโลวัก ระหว่างนั่งรถไฟกลับบราติสลาวาหลังไปเก็บข้อมูลที่เมืองใกล้เคียง ฉันวางแผนว่าเพื่อเป็นเกียรติต่อมิลาน คุนเดรา ฉันจะลองพยายามปะติดปะต่อความทรงจำที่มีต่องานของเขา

เย็นวันนั้นระหว่างทางเดินกลับไปสถานีรถไฟเพื่อรับสหายอีกคนที่มาเยี่ยมเยียน ฉันตั้งใจแวะสถานที่ที่เคยเป็นผับเดจาวูแต่วันนี้รกร้างไป ทำประหนึ่งเป็นตัวละครของคุนเดรา (หรือแท้จริงเราทุกคนคือตัวละครทุกตัวในเรื่องต่างๆ ของเขา) ที่มองย้อนกลับไปในอดีตเพื่อพยายามรื้อฟื้นสิ่งที่ไม่อาจรื้อฟื้นได้จริง ในช่วงเวลานั้นก็เกิดเดจาวูในสถานที่ที่เคยมีชื่อเรียกว่าเดจาวู อันมาพร้อมกับความตระหนักอย่างตระหนกว่าความทรงจำอันจืดจาง รักที่ร่วงโรยสลายไป มิตรสหายในวันนั้นที่พลัดพรากห่างเหินเพราะเส้นทางชีวิตแยกขาดจากกัน เทียบอะไรไม่ได้กับปีศาจตัวร้ายที่สุดที่เผยตนออกมาให้เห็นตรงหน้า ปีศาจที่ออกมาหลอนมาหลอกนี้ปรากฏกายในรูปของความรู้สึกผิด ด้วยคืนนั้นฉันอธิบายให้เพื่อนฟังยังไม่ครบไม่จบ ฉันด่วนสรุป และสำหรับนักเรียนวรรณกรรม สิ่งนี้คืออาชญากรรม ฉันรู้ตัวว่าฉัน ‘ไม่แฟร์’ ต่อนักเขียนที่ฉันชื่นชมและขนานนามว่าเป็นนักเขียนผู้ผ่าชำแหละจิตวิญญาณยุโรปกลางชั้นเยี่ยม นักเขียนผู้สามารถเฉือนแหวกให้เห็นเบื้องลึกความเป็นมนุษย์อันไม่น่าอภิรมย์ได้อย่างน่าอภิรมย์ที่สุดคนหนึ่ง

เสียงหัวเราะอันหนักอึ้งเหลือทนของเหล่าเทวดาล่าแม่มด

หากจะให้แฟร์กับตัวของฉันเอง – และยามนี้ฉันครุ่นคิดเมื่อกำลังยกแก้วจรดปาก ฉันคงไม่ต่างอะไรกับนักเขียนที่เฝ้ามองและสร้างตัวละครที่ชื่อแอกเนสในเรื่อง อมตะ (Nesmrtelnost) จากอากัปกริยาพื้นๆ แต่ไม่มีวันตาย เห็นได้ทั่วไปอย่างการโบกมือผ่านเลนส์แห่งปัจจุบันกาล เมื่อมองตัวเองเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ฉันควรแก้ต่างให้ตัวเองสักนิดเพราะการที่เราจะทำความเข้าใจและเฉลิมฉลองคุนเดราโดยไม่สร้างความชอบธรรมให้กับการเขียนเนื้อหาเหยียดเพศของเขานั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในชั่วข้ามคืน แต่สารภาพว่าวันนั้นฉันควรจะให้ข้อมูลสหายเพิ่มเติมดังนี้ (บทความนี้ยาวหกพันกว่าคำ)

ก่อนหน้าที่ตัวละครนักเขียนที่ชื่อคุนเดราในเรื่อง ‘เหล่าเทวดา’ ดูจะทำให้การข่มขืนเพื่อนเป็นความปรารถนาอันปกติยอมรับได้ คุนเดราบรรยายความไม่ปกติและขัดธรรมชาติมนุษย์ของระบอบที่พยายามทำให้ทุกอย่างดูเป็นปกติสามัญและเหมาะสมถูกต้องตามปรอทมาตรฐานทางจริยธรรมผ่านเรื่องเสียงหัวเราะสองประเภท ประเภทแรกคือเสียงหัวเราะของเหล่าซาตานที่เป็นขบถ ไม่ยอมรับความชอบธรรมของสรวงสวรรค์และพระผู้สร้าง ไม่ยอมจำนนต่อระบบสัญญะของการกำหนดนิยามความหมายความผิดชอบชั่วดีที่จรรโลกพระหรรษทานและสรรพานุภาพของพระเจ้า เสียงหัวเราะของซาตานนี้เป็นเสียงหัวเราะอันจริงใจและ ‘โอจี’ (ของแท้ออริจินัล)

ตรงข้ามกับเสียงหัวเราะประเภทที่สอง อันเป็นเสียงหัวเราะของเหล่าเทวดา เสียงนี้มีที่มาจากการที่เทวดารู้สึกครั่นคร้ามเมื่อได้ยินซาตานหัวเราะร่วนให้กับความแอบเสิร์ดของสรวงสวรรค์และหัวเราะเยาะสิ่งที่ผู้นำของสรวงสวรรค์มิอาจควบคุมบัญชา ดังนั้น เพื่อปกปักรักษาอำนาจนำและเพื่อไม่เป็นการน้อยหน้า เหล่าเทวดาจึงพยายามหัวเราะออกมาบ้าง แต่สุรเสียงกลับฟังดูแข็งขืน เหตุผลสำคัญก็เพราะเทวดาหัวเราะเพื่อกลบเกลื่อนความผิดพลาดพ่ายแพ้ เป็นเสียงหัวเราะที่เค้นออกมาเพื่อพิทักษ์ผู้นำเบื้องบน

คุนเดราเขียนบรรยายไว้ว่ามนุษย์ชอบมองโลกตามมาตรฐานจริยธรรมที่แยกขาวออกจากดำอย่างเด็ดขาดเพราะเข้าใจง่ายดี อีกทั้งแยกเทวดาออกจากซาตานโดยสิ้นเชิง โดยเรียกความขาวสะอาดผุดผ่องของสรวงสวรรค์และเสียงหัวเราะที่เหล่าเทวดาแค่นทำว่า ‘ความดี’ และให้คุณค่ามันเหนือทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับซาตาน การตัดสินมองโลกในระนาบมิติแบนๆ นี้เป็นปัญหาพื้นฐานของมนุษย์ แต่ปัญหาจะใหญ่ยิ่งขึ้นจนเกิดสถานการณ์ที่คุมไม่อยู่อย่างน่าขันเมื่อมาตรวัดทางจริยธรรมดังกล่าวนี้ไปเป็นเครื่องมือหรือปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเมือง เพราะมนุษย์ทุกคนมีตัณหาราคะ และมีข้อบกพร่อง ความแปลกประหลาดเฉพาะตัวต่างๆ กัน การจะจับผิดหรือจับกุมใครด้วยข้อหาจริยธรรมนี้ไม่ต่างอะไรจากการเซ็น ‘เช็กเปล่า’ เป็นคำเชื้อเชิญให้ใครก็ได้ – ไม่ว่าจะเป็นตำรวจลับหรือเพื่อนบ้านที่ไม่ชอบหน้าคุณ – เช็กบิลจับผิดคุณและยกเศษเสี้ยวเหตุการณ์ในชีวิตของคุณมาจัดการคุณได้เสมอ ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นเล็กหรือธรรมดาสามัญจนน่าขันเพียงใด เช่น โปสการ์ดเพียงหนึ่งใบที่ชายหนุ่มส่งเพื่อเรียกร้องความสนใจแฟนสาวคลั่งลัทธิคอมมิวนิสต์อันมีเนื้อหาสรรเสริญเยินยอทร็อตสกีในช่วงเวลาที่ทร็อตสกีเป็นศัตรูของระบอบในนวนิยายเรื่อง เรื่องตลก (Žert) ค่ำคืนความสัมพันธ์แบบทรีซัมซึ่งต่างฝ่ายต่างให้ความเห็นชอบเพียงหนึ่งคืน ข้อความฉอดในทวิตเตอร์ (ที่ตอนนี้มีชื่อเรียกอื่น) เพียงหนึ่งครั้ง การไม่ยืนในโรงภาพยนตร์เพียงหนึ่งครั้ง หรือแม้กระทั่งโพสต์ภาพถ่ายและข้อความบนเฟซบุ๊กเมื่อหลายปีที่แล้วเพียงหนึ่งโพสต์

หากการเคารพเทิดทูนผู้นำหรือสถาบันเป็นมาตรวัดทางจริยธรรมที่เมื่อขัดแล้วอาจนำไปสู่การประหัตประหารเส้นทางอาชีพของครูบาอาจารย์ นักเขียน และนักการเมือง หรือตัดอนาคตของคนหนุ่มสาวที่เพียงทำตัวคูลด้วยหวังให้แฟนประทับใจ งั้นเราทุกคนซึ่งมีความเป็นซาตานในตัวถ้วนหน้าคงไม่รอด (คุนเดราชี้แจงชัดเจนว่าซาตานไม่ได้หมายถึงความชั่วช้าสามานย์ แม้เราสามารถใช้สิทธิความเป็นมนุษย์ที่จะชั่วช้าสามานย์ก็ตาม แต่ตามมีตามเกิดนะ เสรีภาพมักมีราคาค่างวดของมัน) เราตกเป็นจำเลยศีลธรรมได้ทุกคน เสียงหัวเราะของเหล่าเทวดานั้นช่างหนักอึ้งเหลือทน เพราะเสียงนั้นเป็นเสียงของการล่าแม่มด

เราจะได้ยินเสียงหัวเราะของเหล่าเทวดาผสมกับเสียงหัวเราะของเหล่าซาตานอย่างสมัครสามัคคีในฉากหนึ่งเดียวของภาพยนตร์ภาษาฝรั่งเศสผลงานกำกับของคอสตา-กาวราส เรื่อง คำสารภาพ (L’aveu) ดังที่จะบรรยายให้เห็นภาพต่อไป

คำสารภาพ ฉายเมื่อปี 1970 และได้จำลองฉากการพิจารณาคดีจำอวด (show trial) ครั้งสำคัญของสาธารณรัฐสังคมนิยมเชโกสโลวักที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1952 นั่นคือคดีความสอบสวนรูดอล์ฟ สลานสกี ในฐานะแกนนำศูนย์การสมคบคิดต่อต้านรัฐ (Proces s vedením protistátního spikleneckého centra v čele s Rudolfem Slánským) เหตุการณ์ครั้งนี้เขย่าการเมืองเชโกสโลวาเกียอย่างยิ่ง เพราะผู้ที่ถูกจับกุมเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งสิ้น 11 จาก 14 คนถูกตัดสินประหารชีวิต รูดอล์ฟ สลานสกี ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ได้รับการกล่าวหาว่าเป็นผู้นำกบฏ จึงเป็นคนหนึ่งที่ถูกประหารชีวิตด้วย เช่นเดียวกับการกวาดล้างครั้งใหญ่ของสตาลิน การกำจัดสลานสกีคือการกำจัดศัตรูที่จะมาแย่งอำนาจของเคลเมนต์ กอตต์วาล์ด (Klement Gottwald) ประธานาธิบดีเชโกสโลวาเกีย เป็นการกำจัดศัตรูในเกมการเมือง -เพื่อนหักหลังเพื่อน- หาใช่การกำจัดศัตรูที่ต่อต้านแนวคิดคอมมิวนิสต์อย่างที่กล่าวอ้างไม่ ข้อที่ว่าสลานสกีและผองเพื่อนส่วนใหญ่เป็นชาวยิวในช่วงเวลาที่ขบวนการไซออนิสต์เป็นหอกข้างแคร่ของระบอบคอมมิวนิสต์นี้นับเป็นเครื่องมือที่กอตต์วาล์ดสามารถใช้เล่นงานบรรดาเพื่อนของตนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

งานเขียนของคุนเดราหลายงานชี้ให้เห็นว่ากลุ่มผู้ที่เชื่อมั่นในระบอบอย่างสุดจิตสุดใจจนปรารถนาจะปฏิรูประบอบให้ดีกว่าเดิมเพื่อให้สถาบันที่ตนรักนั้นคงอยู่กับบ้านเมืองไปนานๆ สืบไป มักจะเป็นกลุ่มที่ถูกลงโทษอย่างสาหัสและรุนแรงที่สุด นอกจากนี้ เพชฌฆาตที่โหดร้ายที่สุดมักเป็นคนที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุด

ระหว่างที่ฉันนั่งดูเรื่อง คำสารภาพ ที่ Documentary Club ฉันพลันตระหนักว่าภาพยนตร์ที่กำลังชมอยู่นี้นำพาให้ผู้ชมไปดูเบื้องหลังการถ่ายทำและการกระจายเสียงทางวิทยุถ่ายทอดสดการพิจารณาคดีจำอวด สลานสกีและผองเพื่อนถูกจับด้วยข้อหาลึกลับ ถามไปก็ไม่มีใครตอบ อยากให้สารภาพออกมาเอง เหมือน K ในเรื่อง คดีความ (Der Prozess) ของฟรานซ์ คัฟกา ผู้ต้องหาถูกทรมานเจียนเสียสติและถูกบังคับสอบปากคำ การสอบปากคำไม่ได้ทำรวดเดียวจบ หากทำเป็นช่วงเป็นตอนสั้นๆ เพื่อดักจับคำพูดและใจความสำคัญที่ทางการต้องการเป็นหลักฐานว่าคิดคดทรยศต่อชาติและระบอบ สุดท้ายเจ้าหน้าที่พิมพ์ดีดก็จะพิมพ์คำสารภาพแต่ละท่อนออกมาปะติดปะต่อกันเป็นเรื่องราวเรื่องใหม่ที่ห่างไกลจากความจริง ผู้ต้องหาถูกบังคับให้เซ็นคำให้การและบังคับให้ท่องจำคำให้การของตน แม้จะเป็นความเท็จโดยหลอกว่าเป็นหนทางเดียวที่จะลดโทษ ไม่ถูกประหารชีวิต

ในฉากที่ฉันโปรดปรานที่สุดนี้ กางเกงของผู้ต้องหาคนหนึ่งร่วงลงมากองกับพื้นระหว่างที่เขากำลังใช้สมาธิท่องคำให้การเอาผิดตัวเอง พลันทุกคนในที่นั้น ทั้งตำรวจ เจ้าหน้าที่ศาล ผู้พิพากษา และผู้ต้องหาคนอื่นที่กำลังเผชิญหน้ากับความตาย ต่างหัวเราะออกมาดังลั่น เป็นการหัวเราะของซาตานที่คุนเดราบรรยายไว้ การหัวร่อต่อกางเกงที่เป็นขบถต่อเอวนี้เผยให้เห็นถึงความปลอมเปลือกของการพิจารณาคดีจำอวดและระบอบเผด็จการที่อยู่ได้ด้วยการที่ทุกคนแสร้งทำ แสร้งทำว่ารักและเชื่อมั่นในระบอบสุดจิตสุดใจ แสร้งทำว่าห้องพิจารณาคดีคือศาลสถิตยุติธรรมจริงๆ เสียงหัวเราะของซาตานพลันถูกเสียงหัวเราะของเทวดากลบ หลังจากที่เหล่าเทวดาอาจลืมตัวไปชั่วขณะเพราะไปร่วมหัวเราะพร้อมกับซาตาน

YouTube video
The Confession (L’Aveu) by Costa-Gavras: Laughing Scene

สำหรับฉัน คุนเดราคือนักเขียนแห่งเสียงหัวเราะของซาตานที่มีพลังทำให้เทวดาเผลอตัวหัวเราะร่วมกับสหายซาตานไปชั่วขณะและทำให้ใครหลายคนตาสว่าง ใน ศิลป์แห่งนวนิยาย (L’art du roman) เขากล่าวว่าการตีความงานอันยิ่งใหญ่ของเซร์บันเตสซึ่งมักเป็นไปในสองทาง อันได้แก่ การวิพากษ์วิจารณ์ความฝันอุดมคติลมๆ แล้งๆ ของดอนกิโฆเต้ และการเฉลิมฉลองความฝันอุดมคติลมๆ แล้งๆ ของดอนกิโฆเต้นั้นไม่ถูกสักทาง เพราะการตีความและมองโลกในมิติของขั้วคู่ตรงข้ามแบบนี้เป็นการตัดสินเชิงจริยธรรม ในขณะที่นวนิยายควรสะท้อนความพยายามที่จะก้าวข้ามการตัดสินเชิงจริยธรรม และนักเขียนนวนิยายมีพันธกิจที่จะปกปักรักษาความกำกวมของมนุษย์ไม่ให้ลบเลือนหายไป นวนิยายต้องหมั่นถามคำถามยากๆ ในโลกที่คอยยัดเยียดคำตอบอันเป็นสูตรสำเร็จง่ายๆ ให้เรา

ฉันคงจะสรุปในแบบของฉันเองว่างานเขียนของคุนเดราเป็นงานที่พยายามพิทักษ์เสียงหัวเราะของเหล่าซาตาน แต่การจะทำเช่นนั้นได้ ก่อนอื่นนักเขียนต้องพาผู้อ่านไปขันขื่นกับเสียงหัวเราะของเหล่าเทวดาที่คอยบงการและเซ็นเซอร์ทุกสิ่ง ต้องขำในความขำไม่ออก ต้องขำไม่ออกเมื่อเจอเรื่องขำขัน เรื่องสั้นที่ชื่อว่า ‘ไม่มีใครหัวเราะหรอกนะ’ (“Nikdo se nebude smát”) ซึ่งตีพิมพ์อยู่ใน รักชวนหัว (Směšné lásky) เป็นตัวอย่างที่ดี ใครจะคิดว่าการบ่ายเบี่ยงปฏิเสธที่จะประเมินบทความด้านประวัติศาสตร์ศิลปะที่คุณภาพย่ำแย่จะทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่งสูญสิ้นทุกสิ่ง ในระบอบที่สุรเสียงหัวเราะของเทวดาที่กลบเสียงหัวเราะของซาตาน ในระบอบที่บังคับให้ทุกคนหน้าไหว้หลังหลอกและแสร้งทำเป็นว่าดินแดนใต้สรวงสวรรค์นั้นงดงามและสมบูรณ์ไร้ที่ติ อาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่งถึงขั้นต้องเปลี่ยนตารางสอนหนีผู้เขียนบทความที่ต้องอาศัยการประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิอย่างอาจารย์ตัวเอกของเรื่องถึงจะตีพิมพ์เพื่อความเจริญก้าวหน้าในอาชีพได้ มิเพียงเท่านั้น ยังอยากจะเล่นตลกด้วยการโกหกหลอกลวงว่าผู้เขียนบทความบุกไปถึงบ้านและพยายามจะล่วงละเมิดทางเพศแฟนสาวที่แอบมาอยู่ด้วยกันอย่างลับๆ (นี่คือช่วงเวลาที่ความลับไม่มีในโลก แม้แต่ตำรวจลับยังเป็นความลับในที่แจ้ง) สุดท้ายไม่มีใครตลกด้วย คำโป้ปดชุดหนึ่งนำไปสู่คำโป้ปดอีกชุดหนึ่งแม้จะดำเนินการในนามของความรักและความต้องการจะปกป้องแฟน สุดท้ายแม้แต่แฟนก็ขอเลิก ทิ้งไว้แต่ความขื่นขมที่ตัวละครเองเลือกที่จะหลอกตัวเองว่าเป็นความขำขัน

เทวดามักจะเป็นฝ่ายชนะ ตลอดชีวิตอันยาวนานของมิลาน คุนเดรา เขาต้องต่อสู้กับเสียงหัวเราะของเหล่าเทวดาล่าแม่มดนี้ทั้งในชีวิตประจำวันและในสายงานอาชีพ ฉันเป็นคนหนึ่งที่ติดตามการเขียนชีวประวัติของคุนเดรา เล่มที่คิดว่าสาหัสสำหรับนักเขียนที่เชื่อว่างานเขียนควรมาก่อนตัวบุคคลหรือชีวิตของนักเขียนคือชีวประวัติยาว 900 หน้าของญาน โนวากที่ชื่อว่า คุนเดรา: ชีวิตและช่วงเวลาในสาธารณรัฐเช็กของเขา ซึ่งเล่าเรื่องราวชีวิตของนักเขียนก่อนลี้ภัยทางการเมืองไปอาศัยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสในปี 1975

เท่าที่ไปยืนอ่านในร้านหนังสือ ฉันพบว่าหลักฐานต่างๆ ที่เป็นข้อมูลอ้างอิงในชีวประวัติมีน้อยมาก ประหลาดใจเหลือเกินที่ได้เห็นว่าส่วนใหญ่ข้อสรุปเกี่ยวกับชีวิตและทัศนคติของคุนเดรานั้นได้มาจากการวิเคราะห์ตัวละครของเขา ชีวประวัติประเภทนี้แม้น่าสนใจ แต่อันตรายอย่างยิ่ง นับเป็นฝันร้ายของคุนเดราและนักวรรณคดีเลยทีเดียว เพราะผู้เขียนเลือกที่จะมองว่าตัวละครต่างๆ ที่คุนเดรารังสรรค์ เช่น ตัวละครเอกจากบทละครปี 1962 เรื่อง ‘ผู้ถือครองกุญแจ’ (‘Majitelé klíčů’) อย่างยิชี เนชัส ที่พาผู้หญิงคนหนึ่งมาซ่อนไว้ในห้องช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สมัยที่นาซีรุกรานและสถาปนารัฐในอารักขาโบฮีเมียและโมราเวีย (เขาเป็นนักฉวยโอกาสและใส่กุญแจขังผู้หญิงคนหนึ่งด้วยเหตุผลที่ดาร์กและเปี่ยมตัณหาราคะมากกว่าแค่อยากช่วยชีวิตคนยามสงคราม) นั้นเป็นคนเดียวกันกับมิลาน คุนเดรา นับเป็นการเขียนชีวประวัติที่บิดเบือนคำพูดของมาร์เซล พรูสต์ที่ว่าตัวตนของนักเขียนนั้นพบได้ในหนังสือของเขาเท่านั้น เพราะจริงๆ พรูสต์หมายจะแย้งว่าชีวประวัติของนักเขียนไม่สำคัญเท่างานของนักเขียน อันเป็นความเห็นที่พ้องกับความเชื่อของมิลาน คุนเดรา

ภาวะลีตอสต์ (Lítost): การใช้ความรุนแรงกลบเกลื่อนความรู้สึกผิดจนรู้สึกผิดหนักกว่าเดิม

บทสนทนา ‘แขวนคุนเดรา’ ในผับที่ชื่อเดจาวูสำหรับฉันคือตัวอย่างของภาวะลีตอสต์ (Lítost) อันเป็นคำภาษาเช็กที่คุนเดรานิยามไว้ว่าเป็นภาวะการใช้ความรุนแรงกลบเกลื่อนปมด้อยหรือความรู้สึกผิดของตนจนทำให้รู้สึกผิดหนักกว่าเดิม ความรุนแรงที่ฉันได้กระทำจากการลดทอนมรดกทางปัญญาและวรรณศิลป์ของมิลาน คุนเดรานั้นไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่ปาเวล เซมาเน็กได้กระทำต่อลุดวีกใน เรื่องตลก ฉันอาจจะลืมเศษเสี้ยวฉากแห่งชีวิตในวัยเยาว์นี้ไปชั่วคราว แต่ข่าวการเสียชีวิตของนักเขียนกลับทำเกิดเดจาวู ยังให้เกิดภาวะลีตอสต์ โดยเฉพาะเมื่อได้กลับไปยืนมองสถานที่ที่ฉันเคยอยู่ในช่วงวัยที่ไม่หวนคืนมาแล้ว เคยจับมือคนที่ไม่ได้จับแล้ว เคยคุยกับสหายที่ทุกวันนี้ไม่ได้คุยกันเหมือนแต่ก่อน เป็นการโหยหาอดีตที่ไม่มีอยู่ และความร้อนรนปรารถนาที่จะกลับไปแก้ไขสิ่งที่ทำไปทั้งที่รู้ว่ามันไร้ความหมาย “สุดท้ายแล้วเราจะลืมทุกสิ่ง” (เหมือนเพลง “สุดท้ายแล้วเราจะ” ของ AUTTA ft. Greasy Cafe ที่เพื่อนรักที่เป็นอาจารย์คนหนึ่งเคยส่งมาเตือนสติยามอกหัก) สำหรับประชาชนที่เคยต่อสู้และสละชีพเพราะเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของขั้วอำนาจต่างๆ

ความจริงอันน่าเศร้าคือข้อที่ว่าสุดท้ายเราจะลืมทุกสิ่งและเราจะถูกลืม ผู้ก่อการจะยังลอยนวล และผู้ถูกกระทำก็จะไม่มีวันได้แก้แค้นอย่างสมหวัง คงทำได้แต่กู่ก้องตะโกนด่าและระบายความทุกข์รันทดไปกับสายลม ส่งเสียงไปยังสรวงสวรรค์ (ก็ไม่มีใครนำพา แถมยังส่งฝนฟ้าพายุและเสียงฟ้าผ่าที่ดังกลบเสียงร้องของเราจนฟังไม่ได้ศัพท์) หรือได้แต่นั่งหัวร่อทั้งน้ำตาต่อความไร้อำนาจของตนและความเป็นมนุษย์ที่แสนจะเต็มไปด้วยขีดจำกัด

งานเขียนของคุนเดราสะท้อนให้เราเห็นว่าแม้แต่เสรีภาพเองก็เป็นขีดจำกัด เป็นความเบาหวิวอันเหลือทนที่ไม่ได้ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นแต่อย่างใด การที่ลุดวีกหมกมุ่นอยู่กับความแค้นเคืองก็ทำให้เขาไม่เห็นความเบาหวิวแห่งรักแท้ที่ลอยอยู่ตรงหน้า เขากลับทำลายสิ้นทุกสิ่ง คุนเดราดูจะมีวิธีการเสียดสีภาพเหมารวมของนักปฏิวัติผู้ร้อนรนหรือ ‘มนุษย์ผู้อินการเมือง’ จนมองไม่เห็นความเบาหวิวเรื่องอื่นที่ควรใส่ใจ -เช่น ครอบครัวและมิตรสหาย ความรักและเซ็กซ์ หรือการใช้ชีวิตอยู่โดยคิดเสมอว่าเราไม่รู้จะตายเมื่อไหร่- อย่างเจ็บแสบ เช่น ในเรื่อง ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต ไม่ใช่ชาวเช็กทุกคนที่จะโกรธแค้นเมื่อกองกำลังกติกาสัญญาวอร์ซอเคลื่อนพลรุกรานเชโกสโลวาเกีย ศิลปินอย่างซาบีนาดีใจที่เหตุการณ์ความไม่สงบทำให้มีลูกค้ามาซื้องานศิลปะของเธอ เตเรซาดีใจที่ได้ทำงานเป็นตากล้องบันทึกภาพเหตุการณ์สำคัญ ถึงขั้นที่ยอมอพยพไปใช้ชีวิตอยู่ซูริคกับโตมาชเมื่อเห็นว่ารถถังจะเคลื่อนออกจากกรุงปราก ซึ่งแปลว่าละครจบแล้ว อเล็กซานเดอร์ ดุบเช็กต้องยอมศิโรราบต่อเบรจเนฟ เธอไม่มีอะไรน่าสนใจที่จะเก็บบันทึกภาพ ส่วนโตมาชที่ควรจะมีความสุขที่ได้มาใช้ชีวิตในโลกตะวันตกเบื้องหน้าม่านเหล็กกลับรู้สึกผิด (หรือมันคือความรักอันเบาหวิวเหลือทนที่เข้ามาโดยที่ไม่ทันตั้งตัวกันแน่) ต่อเตเรซาเมื่อเธอหิ้วกระเป๋าและหมาข้ามพรมแดนกลับบ้าน จึงละทิ้งทุกสิ่งเพื่อกลับบ้านไปเพียงเพื่อจะได้รู้สึกผิดที่ได้ทิ้งเสรีภาพไว้ที่ซูริค สำหรับคุนเดรา ความเป็นมนุษย์นั้นเป็นภาระที่หนักอึ้งในความเบาหวิวไร้แก่นสาร การเมืองเป็นเพียงเหตุการณ์หรือบริบทฉากหลัง และในขณะเดียวกันการเมืองก็เป็นชีวิตของคนคนหนึ่งทั้งชีวิต เทวดาและซาตานอาจเป็นสิ่งเดียวกัน

ความเป็นเฟมินิสต์ของคุนเดราคือ เรื่องตลก    

ค่ะ อ่านหัวข้อไม่ผิดแน่ (ตั้งใจเล่นคำ)

ใน เรื่องตลก เราจะเห็นว่าภาวะลีตอสต์นั้นรุมเร้าลุดวีกตลอดเวลา ความผิดหวังและโกรธแค้นระบอบนำพาให้เขาพุ่งเป้าความเกลียดชังไปยังเซมาเน็ก ถึงขั้นคิดแผนการแก้แค้นอันชวนหัวที่สุดท้ายกลับล่มไม่เป็นท่า ดูเหมือนว่าผู้อ่านจะเห็นใจลุดวีกอย่างง่ายดาย บ้างอยากโอบกอดลุดวีก บ้างอยากปลอบประโลมเขา ทุกคนคิดว่าเขาเป็นตัวละครเอกของเรื่อง ฉัน -ผู้ถูกลีตอสต์ตามหลอกหลอนจากเดจาวู- กลับตีความว่านวนิยายเรื่องโปรดของฉันในบรรดาทุกงานที่คุนเดราผลิตออกมานี้ (และโปรดทำใจดีๆ ก่อนอ่านประโยคต่อไปนี้) เป็นนวนิยายเฟมินิสต์ที่สุดแล้วของมิลาน คุนเดรา และคุนเดราเองได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าตัวละครเอกไม่ใช่ลุดวีกแต่อย่างใด ขอนอกเรื่องสักนิดแล้วจะกลับมาเล่าให้ฟัง

เรื่องตลก ชวนให้นึกถึงนวนิยายเรื่อง ตัวตน (L’Identité)

ตัวตน เป็นมากกว่าเรื่องราวการสื่อสารอันคลาดเคลื่อนระหว่างคนรักคือฌ็อง-มาร์กและฌองตาล แม่ผู้สูญเสียลูกให้กับความตาย ลีตอสต์ตามหลอกหลอนจนทำให้เธอทำร้ายจิตใจคนอื่นเพื่อกลบเกลื่อนความรู้สึกผิดในอดีต ในเรื่องขันขื่นอีกเรื่องหนึ่งของคุนเดรานี้ ฌองตาลบ่นกับฌ็อง-มาร์กว่าผู้ชายในโลกนี้ไม่หันมามองเธออีกต่อไป (จริงๆ เป็นคำกล่าวที่มีเบื้องลึกเบื้องหลังมากกว่านั้น ถ้าเล่าและวิเคราะห์อย่างลึกบทความนี้จะกลายเป็นวิทยานิพนธ์) ทำให้ฌ็อง-มาร์กน้อยใจและด้วยหวังจะทำให้คนรักรู้สึกดีขึ้นและเพื่อรักษาชีวิตคู่ไว้จึงเขียนจดหมายรักสนเท่ห์ส่งให้ผู้หญิงอันเป็นที่รัก กลายเป็นว่าจดหมายนั้นทำให้ฌองตาลหวาดระแวงและเปลี่ยนไป (จริงๆ พอรู้ว่าใครเป็นคนเขียนจดหมายแต่เนื้อความในจดหมายทำให้เธอเริ่มมองตัวเองด้วยสายตาคนนอก ซึ่งเป็นกรงขังประเภทหนึ่ง – เวอร์จิเนีย วูล์ฟได้กล่าวไว้) ในขณะเดียวกัน ข้อที่ว่าฌองตาลไม่เคยเล่าเรื่องจดหมายรักสนเท่ห์ให้ตนฟังเลยทำให้ฌ็อง-มาร์กหวาดระแวงและหึงหวง ความรักระหว่างสองคนนี้มีอยู่จริงแน่นอนแต่ความรักและความสัมพันธ์นั้นสามารถแปรเปลี่ยนไปได้ตามบริบทต่างๆ ใจมนุษย์ก็เช่นกัน ตัวตนอันจีรังไม่ผันเปลี่ยนนั้นไม่มีอยู่จริง และหากอยากให้มีจริงในนิยาย มันก็ไม่มีแม้กระทั่งที่ยืนอยู่ในนิยายที่คุนเดราเป็นผู้เขียน

ตัวตน เหมือน เรื่องตลก ตรงที่เป็นเรื่องราวแห่งความรักที่งดงามลึกซึ้ง แน่นอนเรื่องรักไม่ได้หมายความว่ามันจะต้องจบด้วยความสุขสมหวังเสมอไป คุนเดราเขียนไว้ในคำนำหนังสือว่าเมื่อช่วง 1980 ในรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่งอันเป็นรายการเสวนาเรื่องหนังสือ ผู้พูดคนหนึ่งวิเคราะห์ฟันธงว่า เรื่องตลก เป็น “การกล่าวโทษระบอบสตาลินอันเอกอุ” คุนเดรารีบแย้งทันทีว่า “พอกันทีกับระบอบสตาลินเถิดนะได้โปรด เรื่องตลก เป็นเรื่องราวของความรัก!” และไม่ใช่แค่เรื่องของความรัก เรื่องตลก คือเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นมากกว่าแรงบันดาลใจให้คุนเดรา ผู้หญิงคนนั้นคือตัวละครที่ชื่อว่า ลุตเซีย คนรักของลุดวีก

“และประกายไฟที่ทำให้ผมเริ่มเขียนนวนิยายเรื่องนี้คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองเช็กเล็กๆ แห่งหนึ่ง นั่นคือการจับกุมตัวหญิงสาวด้วยข้อหาลักขโมยดอกไม้จากป่าช้าเพื่อมอบให้ชายคนรักเป็นของขวัญ เมื่อคิดใคร่ครวญแล้ว ตัวละครหนึ่งพลันปรากฏกายเบื้องหน้าผม เป็นตัวละครของลุตเซีย สำหรับเธอแล้ว เรื่องเพศและเรื่องรักเป็นสิ่งที่แตกต่างกันและไม่อาจเข้ากันได้เลย” – มิลาน คุนเดรา       

หากลุดวีกเป็นเหยื่อของระบอบที่กลืนกินทุกอณูความเป็นคนของเขาเสียสิ้น ลุตเซียคือเหยื่อของระบอบการเมืองและปิตาธิปไตย ไม่พอ ยังเป็นเหยื่อของเหยื่ออย่างลุดวีกอีกชั้นหนึ่ง เมื่อยังเป็นเด็กวัยรุ่น ลุตเซียถูกเพื่อนรุมข่มขืนในพิธีกรรมที่พวกเขาสร้างขึ้นมาคล้ายเงาเลียนแบบพิธีกรรมต่างๆ ที่ระบอบคอมมิวนิสต์สร้างขึ้นมาเพื่อแทนที่พิธีกรรมทางศาสนา เมื่อพบรักกับลุดวีก ลีตอสต์ของลุดวีกและความเบียวชายแท้ที่ทำให้มัวแต่โอ้อวดกับเพื่อนชายแท้ว่าช่ำชองเรื่องเซ็กซ์ได้ส่งผลให้เขามองไม่เห็นรักที่อยู่ตรงหน้า และกลับกระทืบหัวใจของลุตเซียซ้ำๆ ประหนึ่งเหยียบกระทืบกลีบดอกไม้ที่เธอไปขโมยมาให้เขา

คุนเดราเล่าไว้อย่างชัดเจนว่าหัวใจของ เรื่องตลก คือลุตเซีย คือความเงียบงันของและตัวตนที่เบาหวิวของลุตเซียที่กลืนหายไปกับแผ่นกระดาษ น้อยคนนักที่จะจดจำ แม้แต่ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่องนี้ก็ไม่มีแม้แต่เงาของลุตเซีย ลุตเซียเลือนหายไปกับสายลมและจางไปกับความทรงจำที่ร่วงโรยของทุกคน แต่เช่นเดียวกับการสับขาหลอกของมิลาน คุนเดรา สิ่งที่ควรลืมเลือนเรากลับจำ สิ่งที่ควรจำเรากลับลืมมันไปเสียสิ้น ลุตเซียเป็นผีที่ตามหลอกหลอนอยู่ในหน้ากระดาษที่ไม่ได้กล่าวถึงเธอ

ในเวอร์ชันภาพยนตร์ขาวดำ ลุตเซียอยู่ในสีหน้าอาการของตัวประกอบจำเป็นบนจอ อยู่ในภูมิทัศน์ของเมืองในภูมิภาคโมราเวียอันแห้งแล้งเหมือนใจของลุดวีก เมื่อเราคิดจินตนาการถึงผู้ที่ไร้เสียง (subaltern) เราไม่ควรพูดแทนพวกเขา แต่เราควรพูดและพยายามจินตนาการเกี่ยวกับพวกเขา ตรงนี้วรรณคดีช่วยเราได้ ตัวละครที่คุนเดรารังสรรค์นี้เป็นดั่งชานชาลาที่ชวนให้เราเดินทางข้ามขีดจำกัดของเราไปจินตนาการถึงผู้ที่ทุกข์ทรมานใต้ระบอบอำนาจนิยมและผู้ถูกเหยียบอยู่ใต้รองเท้าของเผด็จการและปิตาธิปไตยอีกหลายคนที่ไม่ทิ้งแม้แต่ชื่อหรือร่องรอยการมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง คนพวกนี้รักเป็น โกรธเป็น หึงเป็น และกล้าทำสิ่งที่เรานึกไม่ถึง เช่น ขโมยดอกไม้จากป่าช้ามาให้คนรัก เช่นเดียวกับเรื่องราวของตัวละครหญิงที่ชื่อ R ผู้เป็นเหยื่อความปรารถนาจะข่มขืนของนักเขียนชื่อคุนเดราในเรื่องที่กล่าวมาตอนต้นบทความ เรื่องราวของลุตเซียปลดเปลือยกลไกการใช้อำนาจและความรุนแรงของปิตาธิปไตยที่เติบโตเป็นเงาตามตัวระบอบการเมืองที่กดขี่ข่มเหงผู้คนให้อยู่กับความกลัวและความเท็จ ข้อเขียนแฝงการเหยียดเพศและการทำให้เรื่องข่มขืนเป็นเรื่องปกติของคุนเดรานั้นอาจจำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจภาวะลีตอสต์ที่มักขับเคลื่อนด้วยการใช้ความรุนแรงทำร้ายคนอื่นและจบด้วยการสูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งความรักอันเป็นสิ่งเลอค่าในชีวิตมนุษย์ ลุดวีกเป็นทั้งผู้ถูกกระทำและผู้กระทำการอีกทอดหนึ่ง แค้นที่ต้องชำระไม่อาจชำระได้เพราะทุกอย่างเปลี่ยนไป เป็นแค้นที่ไม่รู้จบสิ้น

สลายขั้วดนตรี Fugue และ ดนตรี Romantic

(หัวข้อนี้เขียนเป็นอีกบทความยาวๆ ได้หนึ่งบทความได้เลย) พ่อของมิลาน คุนเดราชื่อลุดวีก เช่นเดียวกับตัวละคร (ที่ไม่ใช่ตัวละครเอก เราเข้าใจตรงกันแล้ว) จาก เรื่องตลก ลุดวีก คุนเดรา เป็นนักเปียโนและผู้เชี่ยวชาญทฤษฎีดนตรี เป็นลูกศิษย์ของคีตกวีและผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีพื้นเมืองเช็กคนสำคัญนาม เลออช ยานาเช็ก (Leoš Janáček) ไม่น่าแปลกใจที่ลูกชายคือมิลาน คุนเดราร่ำเรียนมาทางด้านเปียโนและมีความรู้ความเข้าใจเรื่องดนตรีทั้งคลาสสิกและพื้นบ้านอย่างลึกซึ้ง

ย้อนกลับไปเรื่องเสียงหัวเราะของเหล่าซาตานและเทวดา อันสะท้อนทางเลือกชีวิตสองทางของปัจเจกได้แก่  หนึ่ง การเป็นขบถและหัวร่อต่ออำนาจอย่างซาตาน และสอง การหลอมรวมเข้ากับอำนาจนำอย่างเทวดา คุนเดราดูจะพยายามสลายขั้วด้วยงานเขียนของเขา โดยเน้นย้ำความจริงอันน่าขันว่าเอาเข้าจริงเทวดาและซาตานอาจไม่ต่างกันมากนัก สุดท้ายทุกคนก็จะมลายหายสูญไป คนรุ่นใหม่ที่มาแทนที่จะไม่แม้แต่เข้าใจหรือนึกถึงเรา การใช้ชีวิตอยู่ในความไม่แน่นอนและอิสรภาพอันเบาหวิว พร้อมที่จะท้าทายและตั้งคำถามต่อทั้งเสียงหัวเราะของซาตานและเทวดา อาจเป็นหนทางที่เขามองว่าพึงปรารถนาที่สุด (แม้จะเป็นหนทางที่ไม่เป็นที่นิยม)

หากจะลองแปลและแปลงแนวคิดเหล่านี้เป็นประเภทดนตรีคลาสสิก เพลงประเภท Romantic อาจเปรียบได้กับสุรเสียงของซาตานที่หมกมุ่นอยู่กับห้วงคิดคำนึงอันเป็นขบถของตัวเอง จนทำให้หลงลืมการใช้ชีวิตแบบอยู่เป็น ส่วนเพลงประเภท Fugue อาจเปรียบได้กับสุรเสียงของเทวดาที่ทอดกันเป็นชั้นๆ เอาตัวเองออกจากห้วงคิดคำนึงส่วนตัวเพื่อจรรโลงอำนาจที่อยู่เหนือว่า จนทำให้หลงลืมการใช้ชีวิตแบบอยู่ไม่เป็น ส่วนเพลงประเภท Scherzo (ฉันนึกถึง Scherzo ของโชแปงที่ดาร์กและหาความตลกไม่ค่อยเจอ) ที่แปลตรงตัวว่า ‘เรื่องตลก’ คงมองได้ว่าเป็นประเภทดนตรีที่แหวกแนว กรุยทางให้เกิดเหตุการณ์เหนือการควบคุมที่เทวดาและซาตานหลุดหัวเราะออกมาร่วมกันเหมือนซีนนั้นในภาพยนตร์เรื่อง คำสารภาพ แต่สุดท้ายจบลงอย่างขันขื่น

แล้วดนตรีพื้นบ้านเล่า คงมีดนตรีประเภทนี้ที่ยึดโยงกับพิธีกรรมอย่าง ‘ขบวนยาตราอาชาแห่งเหล่ากษัตริย์’ (Jízda králů) -ที่ไม่มีใครจำได้ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไรและมีความหมายว่าอะไร แต่ก็ยังจัดเป็นประจำทุกปี- กระมังที่พอจะเอาชนะความแค้นเคือง ก้าวข้ามความแปรเปลี่ยนทางการเมือง อยู่ข้างการแปรผันเป็นนิตย์ของตัวตนปัจเจก คงมีเสียงดนตรีแบบนี้เท่านั้นกระมังที่จะคงอยู่ภายหลังชีวิตนี้สิ้นสุดลงอย่างไร้ร่องรอย เรื่องตลก จึงเต็มไปด้วยข้อเขียนเรื่องดนตรีไม่ว่าจะเป็นดนตรีพื้นบ้านของโมราเวีย (ที่ระบอบคอมมิวนิสต์โปรดปรานและโหนให้เป็นพรีเซนเตอร์ของแนวคิดสัจสังคมนิยม) ดนตรีแจ๊ซจากประเทศคู่อริทางการเมือง (แต่กลับมีความเชื่อมโยงกับดนตรีพื้นบ้านของโมราเวีย) และดนตรีคลาสสิก ในกาลสมัยหนึ่งๆ ในช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งๆ แม้ระบอบการเมืองพยายามเป็นเจ้าเข้าเจ้าของและใช้มันเพื่อส่งเสริมอุดมการณ์บางอย่าง แต่ดนตรีกลับสามารถสลัดแอกทิ้งได้ทุกทีไป ความเงียบอันเป็นประเภทดนตรีหนึ่งที่ใกล้ใจมนุษย์ที่สุดเป็นตัวอย่างที่ดีเพราะเป็นตัวเชื่อมระหว่างมิติเวลา ภาษา วัฒนธรรม การเมือง สถานที่ ความเป็น และความตาย

หากลองฟังดีๆ ลุตเซียผู้กำลังถือดอกไม้ในมือและมิลาน คุนเดราอาจยังใช้ชีวิตในความเงียบงันในแห่งหนอื่น หรือรอพบเจอเราในเสียงดนตรีอันกึกก้องเหลือทนนั้น

***แด่ มิลาน คุนเดรา***


หมายเหตุ: คำเชื้อเชิญ

สุดท้ายนี้ขอเชิญชวนผู้สนใจมาร่วมงานภาพยนตร์และเสวนาหลังฉายภาพยนตร์คลื่นลูกใหม่ของเชโกสโลวาเกียที่ดัดแปลงจาก เรื่องตลก ของมิลาน คุนเดราที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 9 ตุลาคมที่จะถึงนี้ ลงทะเบียนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ งานนี้คณะอักษรศาสตร์จัดร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทยและสำนักพิมพ์บทจรเพื่อเฉลิมฉลองชีวิตและผลงานของมิลาน คุนเดรา และจัดเนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปี เหตุการณ์การบุกครองเชโกสโลวาเกียของฝ่ายกติกาสัญญาวอร์ซอ

โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมในโปสเตอร์ที่แนบมา

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save