fbpx

มองสวัสดิการรัฐผ่านภาพยนตร์ : ‘เรื่องตลก 69’ (พ.ศ. 2542) เมื่อประชาชนไร้ที่พึ่ง

บทความมีส่วนเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์เรื่อง ‘เรื่องตลก 69’

หากเราย้อนดูชีวิตตั้งแต่เกิด สิ่งที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของพวกเราอย่างมากคือสวัสดิการที่เราได้รับจากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการสำหรับเด็กแรกเกิด เงินอุดหนุนที่ให้พ่อแม่เรานำมาใช้จ่ายเป็นค่าเลี้ยงดู ค่าอาหาร ฯลฯ ต่อมาคือวัยเรียนผ่านสวัสดิการด้านการศึกษา พอเข้าวัยทำงาน เงินช่วยเหลือยามว่างงานก็เป็นสิ่งที่คอยสนับสนุนให้เรามีชีวิตอยู่ได้ยามเดือดร้อน หรือแม้กระทั่งวัยชรา การได้รับเงินสนับสนุนในวัยเกษียณ ย่อมเป็นหลักประกันให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีในยามบั้นปลายของชีวิต

โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ที่มักจะมาพร้อมเหตุการณ์ไม่คาดคิดในชีวิต ทั้งการตกงาน ขาดรายได้ ก่อให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นในจิตใจ สวัสดิการจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่รอดปลอดภัย  ซึ่งหากพูดถึงวิกฤตครั้งสำคัญสำหรับประเทศไทยแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึง ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ เหตุการณ์ที่ถูกจดจำไว้ในประวัติศาสตร์ในปี 2540 ที่ส่งผลต่อชีวิตของประชาชนจำนวนมาก

ในโอกาสที่ภาพยนตร์เรื่อง ‘เรื่องตลก 69’ ภาพยนตร์โดย เป็นเอก รัตนเรือง ที่พูดถึงชีวิตตัวละครในวิกฤตต้มยำกุ้ง ได้รับการคัดเลือกจากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ให้กลับมาฉายอีกครั้งผ่านเน็ตฟลิกซ์ บริการสตรีมมิ่งระดับโลกเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา บทความนี้จึงอยากเชิญทุกท่านร่วมกันมองสวัสดิการรัฐผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ เพื่อสำรวจกันว่าตัวละครเอกซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างพวกเรา ได้รับสวัสดิการอะไรจากรัฐในช่วงวิกฤตและส่งผลต่อชีวิตอย่างไรบ้าง รวมถึงชวนมองสวัสดิการรัฐในโลกความเป็นจริง เพื่อค้นหาแนวทางที่รัฐจะดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น

ชีวิตในวิกฤตเศรษฐกิจ

เรื่องราวในภาพยนตร์ ‘เรื่องตลก 69’ เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือที่เรียกกันว่า ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากแผนนโยบายทางการเงินของรัฐบาลตั้งแต่ปี 2533 ที่เปิดเสรีให้ธนาคารและสถาบันการเงิน นำเงินทุนจากต่างประเทศมาปล่อยกู้ต่อให้ลูกค้าในประเทศไทย พร้อมทั้งกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราแบบคงที่ ทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ เกิดแรงจูงในในการกู้เงินมาลงทุนเพิ่มสูงขึ้นจนล้นเกิน ต่อมาเมื่อแหล่งเงินกู้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจไทย จึงพากันเรียกคืนเงินกู้นั้นกลับมา การลงทุนที่ล้นเกินเหล่านั้นจึงกลายเป็นหนี้เสียของธนาคารและสถาบันการเงินจำนวนมาก

เมื่อหนี้เสียสะสมจนก่อให้เกิดวิกฤต ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ประเทศไทยต้องสูญเสียเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปเกือบหมด บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และสถาบันการเงินต่างต้องปิดตัวกันหลายแห่ง มนุษย์เงินเดือนหลายคนต้องตกงานอย่างไม่คาดคิด รวมไปถึง ‘ตุ้ม’ ตัวละครหลักของเรื่อง

ตุ้ม (ลลิตา ปัญโญภาส) หญิงสาวจากต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพ เธอเป็นพนักงานบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง อนาคตของเธอดูเหมือนจะสดใสในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะธุรกิจการเงินกำลังเฟื่องฟู แต่เมื่อเกิดวิกฤต ชีวิตของเธอก็พลิกผัน ตุ้มถูกให้ออกจากงานกะทันหันท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ เมื่อค่าครองชีพสูงขึ้นแต่รายได้หดหาย ทำให้เธอต้องขโมยของในซุปเปอร์มาร์เก็ต และในยามหลับเธอฝันถึงการฆ่าตัวตายเพื่อหลีกหนีปัญหาทั้งหมด

แต่เช้าวันแรกหลังตกงาน ชีวิตของตุ้มก็เปลี่ยนไป

เธอเจอกล่องใส่เงินหนึ่งล้านบาทวางอยู่ที่หน้าห้องพัก ด้วยภาวะกดดันไร้สิ้นหนทาง เธอตัดสินใจเก็บเงินล้านนั้นไว้เพื่อเปลี่ยนชีวิต แม้จะรู้ว่ามีที่มาจากธุรกิจผิดกฎหมายที่นำมาวางไว้ผิดห้อง (เลขห้องของเธอคือเลข 6 แต่น็อตที่ยึดตัวเลขไว้หลุดจนตัวเลขพลิกมาเป็นเลข 9) แต่เธอก็ตั้งใจจะเก็บเงินนั้นไว้จนเกิดเหตุการณ์วุ่นวายในห้องพักและทำให้เธอต้องฆ่าคนตาย

ตุ้มตัดสินใจวางแผนนำเงินหนีไปที่ต่างประเทศ ก่อนที่เหตุการณ์ในชีวิตเธอจะชุลมุนวุ่นวาย จากชีวิตมนุษย์เงินเดือนธรรมดากลับต้องมาเกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมายและอาชญากร

เรื่องราวของเธอจะจบลงเช่นไร ติดตามได้ในภาพยนตร์ ส่วนบทความเรื่องนี้จะมาชวนดูสวัสดิการรัฐที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของตุ้ม

เมื่อแรงงานไร้หลักประกัน

ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่มองไปทางไหนก็มืดหม่น การไม่มีสวัสดิการรัฐคอยดูแลยิ่งทำให้ชีวิตตุ้มอับจนหนทาง

เมื่อเราย้อนไปดูข้อมูลสวัสดิการแรงงานในช่วงปี 2540 พบว่ามีระบบประกันสังคมเกิดขึ้นมาเจ็ดปีแล้ว โดยมีที่มาจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาร่วมมือกับผู้ใช้แรงงาน เดินขบวนเรียกร้องสิทธิ เพื่อให้สังคมตื่นตัวในเรื่องปัญหาแรงงานต่างๆ ส่งผลให้รัฐบาลตัดสินใจออกพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 พร้อมก่อตั้งสำนักงานประกันสังคมขึ้นมา โดยมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือคุ้มครองแรงงานที่ประสบความเดือดร้อน โดยมีข้อกำหนดว่าลูกจ้างต้องเข้าลงทะเบียนในระบบประกันสังคมพร้อมจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนร่วมกับนายจ้างและรัฐบาล

พระราชบัญญัติปี 2533 กำหนดไว้ว่าแรงงานมีสิทธิได้รับผลประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม ในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย คลอดบุตร เจ็บป่วย ตาย เงินสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และสุดท้ายตรงกับวิกฤตที่ตุ้มเจอคือกรณีว่างงาน ตุ้มจะได้รับเงินช่วยเหลือจากการถูกเลิกจ้าง แต่มีข้อแม้ว่าว่าตุ้มต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหกเดือน

แต่ตุ้มในปี 2540 ได้แค่เพียงอ่านข้อกฎหมายที่เป็นตัวหนังสือเพียงเท่านั้น เพราะกว่าระบบประกันสังคมจะเริ่มจ่ายเงินประกันการว่างงานก็ต้องรอถึงปี 2547 โดยเริ่มจัดตั้งกองทุนที่ทำหน้าที่ประกันการว่างงานแยกต่างหากออกจากกองทุนที่ให้ความคุ้มครองในกรณีอื่น โดยในกรณีถูกไล่ออกจากงาน แรงงานจะได้รับเงินช่วยเหลือ อัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยปีละไม่เกิน 180 วัน (ประมาณหกเดือน) โดยในปัจจุบันกำหนดเพดานค่าจ้างไม่ให้เกิน 15,000 บาท

กลับมาที่ชีวิตของตุ้มและแรงงานคนอื่นในปี 2540 ที่ยังไม่ได้รับเงินประกันการว่างงาน ยิ่งทำให้การใช้ชีวิตลำบากมากขึ้นไปอีก โดยสถิติคนว่างงานในปี 2541 หลังเกิดวิกฤตแค่ปีเดียวเพิ่มขึ้นสูงกว่าปีก่อนถึง 163% สอดคล้องกับสถิติการฆ่าตัวตายของไทยที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยงานวิจัยหลายชิ้นพบข้อมูลว่าปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในแต่ละประเทศสัมพันธ์กับสถิติการฆ่าตัวตาย เพราะส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงาน การสูญเสียรายได้และปัญหาหนี้สินที่เพิ่มขึ้น โดยสถิติการฆ่าตัวตายหลังวิกฤตต้มยำกุ้งในพ.ศ. 2542 เพิ่มสูงขึ้นถึง 8.59 คนต่อประชาชนหนึ่งแสนคน นับว่าเป็นสถิติสูงที่สุดในช่วงปี 2540-2563

ภาพสถิติอัตราฆ่าตัวตายของประเทศไทยในช่วงพ.ศ. 2540-2563 (รายต่อแสนคน) ที่มา : กรมสุขภาพจิต

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าในช่วงวิกฤตที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างไม่คาดคิดเช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง การได้รับสิทธิสวัสดิการเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยคุ้มครองดูแลชีวิตของประชาชนในยามเดือดร้อน หากตุ้มได้รับเงินประกันการว่างงานในปี 2540 ตุ้มอาจไม่ต้องแอบขโมยของในซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือ คิดสั้นยอมเสี่ยงขโมยเงินล้านจากธุรกิจผิดกฎหมาย การได้รับเงินประกันการว่างงานจะช่วยให้ตุ้มและแรงงานคนอื่นมีรายได้ที่พอประทังชีวิตในยามวิกฤต มีเวลาให้คิดให้ตัดสินใจถึงหนทางชีวิตในอนาคตมากกว่านี้

จากโลกของภาพยนตร์ เรามาสำรวจสวัสดิการเมื่อแรงงานต้องตกงานในโลกชีวิตจริงกันบ้าง

ชวนมองสวัสดิการรัฐ : สิทธิประโยชน์กรณีการว่างงาน (Unemployment benefit)

เมื่อค้นหาข้อมูลเรื่องเงินประกันการว่างงานแล้ว พบว่าเริ่มต้นมาจากแนวคิดการคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) ที่ต้องการลดความเปราะบางและจัดการความเสี่ยงให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดระบบประกันสังคม (Social insurance) ขึ้นมาเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงาน โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) หรือ ILO ได้อธิบายความหมายของการประกันสังคมไว้ว่า “การคุ้มครองบุคคลให้เข้าถึงการบริการด้านสุขภาพและประกันความมั่นคงทางด้านรายได้ในกรณีที่ต้องประสบกับการว่างงาน การเจ็บป่วย ชราภาพ การบาดเจ็บจากการทำงาน การคลอดบุตร ฯลฯ” สรุปสั้นๆ คือการสร้างความมั่นคงและลดความเสี่ยงให้แก่ประชาชนยามเดือดร้อน

หลักการสำคัญของประกันสังคม คือการให้ประชาชนร่วมทุกข์ร่วมสุข โดยใช้วิธีการให้ประชาชนสมัครเป็นสมาชิกในระบบหรือเรียกว่า ‘ผู้ประกันตน’ หากจะรับสิทธิประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน โดยมีรัฐบาลและนายจ้างช่วยกันจ่ายเงินสมทบ เพื่อนำเงินมาจัดสรรสวัสดิการ

ระบบประกันสังคมเกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศเยอรมนีใน ค.ศ. 1883 โดย นายกรัฐมนตรี ออตโต ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck) ที่ต้องการลดอิทธิพลของกระแสสังคมนิยมที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศ จึงต้องสร้างสวัสดิการที่ดูแลแรงงาน เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แรงงานพร้อมทำงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ จากนั้นประเทศต่างๆ จึงนำระบบประกันสังคมไปปรับใช้ทั้งประเทศแถบสแกนดิเนเวีย (ภายหลังพัฒนาจนเป็นนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าในปัจจุบัน) สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ฯลฯ

สำหรับประเทศไทยนั้น อย่างที่กล่าวไปแล้วว่ามีระบบประกันสังคมอย่างเป็นทางการในพ.ศ. 2533 และเริ่มจ่ายเงินประกันการว่างงานเมื่อปี 2547 ซึ่งนอกจากวิกฤตเศรษฐกิจในเรื่อง ‘เรื่องตลก 69’ แล้ว ในโลกความจริงวิกฤตโควิด-19 ก็ส่งผลกระทบต่อประชาชนเช่นกัน หากดูสถิติผู้ใช้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานของระบบประกันสังคมเมื่อพ.ศ. 2563 (ปีที่โควิด-19 ระบาดในประเทศไทย) พบว่ามีจำนวนมากกว่าปี 2562 ถึง 201% แสดงให้เห็นว่าเงินประกันการว่างงานเป็นที่พักพิงสำคัญให้แก่ประชาชนในยามเดือดร้อน

แต่หากมองดูภาพรวมของคนทำงานของไทยในปัจจุบัน สามารถแบ่งได้เป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกคือข้าราชการจำนวนห้าล้านคน กลุ่มที่สองคือคนทำงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม จำนวน 12.9 ล้านคน และกลุ่มที่สามคือประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในสองระบบแรก จำนวน 47.6 ล้านคน ซึ่งจะเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศคือกลุ่มที่สาม ประชาชนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการและอยู่นอกระบบประกันสังคม

ดังนั้นแล้ว สิทธิประโยชน์กรณีการว่างงานในประเทศไทยจึงเป็นสวัสดิการที่ดูแลประชาชนเฉพาะในระบบประกันสังคมเท่านั้น ยังมีแรงงานจำนวนมากที่ไม่มีสิทธิเมื่อต้องถูกไล่ออกจากงานอย่างไม่คาดฝัน การขาดที่พักพิงยามเดือดร้อนของประชาชนจึงอาจส่งผลกระทบต่อทั้งชีวิตประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ

จากปัญหาที่กล่าวมา จึงมีข้อเสนอแนะจากศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เสนอให้จัดสรรสวัสดิการให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเสนอให้รัฐบาลมีระบบที่ให้แรงงานนอกระบบยื่นแบบแสดงรายได้ด้วยตนเอง พร้อมกับร่วมจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันการว่างงานของแรงงานกลุ่มนี้ เพื่อนำเงินนั้นมาจัดสรรสวัสดิการให้แรงงานเช่นเดียวกับแรงงานในระบบประกันสังคม

ล่าสุดในเดือนธันวาคมปี 2564 แรงงานนอกระบบก็เริ่มมีความหวัง เมื่อรัฐบาลมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. ซึ่งถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของไทยที่ตั้งใจออกแบบมาเพื่อดูแลแรงงานนอกระบบ  ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ให้มีการคุ้มครองเช่นเดียวกับแรงงานในระบบประกันสังคม เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน ให้สิทธิในการรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กรเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้เกิดความเป็นธรรมในการจ้างงานได้

แต่ในปัจจุบันร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังไม่เริ่มประกาศใช้ ประชาชนอย่างพวกเราก็ต้องคอยติดตามเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายฉบับนี้ว่าสามารถดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบได้จริงหรือไม่ การนำนโยบายไปปฏิบัติใช้ของหน่วยงานราชการสามารถดูแลแรงงานนอกระบบได้ทั่วถึงตามจุดประสงค์หรือเปล่า รวมถึงส่งเสียงแสดงความคิดเห็นเมื่อเจอปัญหาจากนโยบายดังกล่าว เพื่อให้รัฐบาลปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบได้อย่างแท้จริง

เรื่องราวชีวิตของตุ้มในเรื่อง ‘เรื่องตลก 69’ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของสิทธิประโยชน์กรณีการว่างงาน (Unemployment beneft) ซึ่งเป็นหนึ่งในสวัสดิการที่เปรียบเป็นตาข่ายรองรับความปลอดภัยให้แก่ประชาชน การมีสวัสดิการจากรัฐบาลที่ครอบคลุมดูแลชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ย่อมทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ต้องแบกภาระความเสี่ยง ความกดดัน ความล้มเหลวจากวิกฤตต่างๆ โดยสิ่งสำคัญคือรัฐควรมีนโยบายที่จัดสรรให้ประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงเท่าเทียม เพราะประชาชนทุกคนคือผู้ที่ทำงานเสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมให้แก่รัฐด้วยกันทั้งนั้น และเมื่อประชาชนรอดพ้นจากวิกฤตแล้ว ประชาชนย่อมกลับมาทำงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตในอนาคต


อ้างอิง

  1. สถิติงานประกันสังคม 2563 โดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
  2. รายงานผลการศึกษาวิจัยเรื่อง สาเหตุการไม่หางานทำของผู้ไม่มีงานทำแต่พร้อมที่จะทำงาน บทที่ 3 “โครงสร้างของประชากร กำลังแรงงาน ความต้องการแรงงานและสถานการณ์แรงงานในปัจจุบัน” กรมการจัดหางาน พ.ศ. 2546
  3. ชุดข้อมูล “ข้อเสนอรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ในการขับเคลื่อนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสวัสดิการสังคมและสุขภาวะ โดยนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ กลุ่มเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ “WE FAIR”
  4. “รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ” จากกำเนิดทุนนิยมนายธนาคารถึงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 โดยอภิชาต สถิตนิรามัย
  5. https://www.dmh.go.th/report/suicide/stat_prov.asp
  6. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/0AA/00142482.PDF
  7. https://www.the101.world/how-to-reform-unemployment-insurance/
  8. https://ourworldindata.org/suicide
  9. https://www.botlc.or.th/item/kc_recommendation/00000000014
  10. https://prachatai.com/journal/2009/04/21089
  11. http://web.krisdika.go.th/data/lawabout/lawdetail/lawdetail_082.htm
  12. https://www.bbc.com/thai/thailand-40446319
  13. https://www.botlc.or.th/item/kc_recommendation/00000000014
  14. https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/108161
  15. https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/122318
  16. https://www.ssa.gov/history/ottob.html

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save