fbpx

“เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” คำมั่นในวิกฤตกับ ‘แรงงานข้ามชาติ’ ที่ถูกลืม

แม้วิกฤตโรคระบาดจะเริ่มคลี่คลาย แต่โรคร้ายยังทิ้งซากความเสียหายทางสังคมและเศรษฐกิจไว้อย่างหนักหนา ผู้ที่เข้าถึงโอกาสและทรัพยากรมากกว่าอาจฟื้นตัวกลับมาได้รวดเร็ว แต่สำหรับกลุ่มคนเปราะบางที่ต้องรับมือผลกระทบรอบด้านระหว่างวิกฤต อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะฟื้นตัว

ไม่เกินไปนักหากจะพูดว่า ช่วงการระบาดหนักหนารุนแรงที่สุดนั้น สังคมผ่านพ้นมาได้ด้วยการลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันเอง เมื่อกลไกภาครัฐปรับตัวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงและทำให้สถานการณ์แย่กว่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่ประชาชนพยายามป้องกันตัวเองอย่างดีในช่วงแรกของการระบาด แต่ความไม่พร้อมและดำเนินการอย่างไม่โปร่งใสจริงจังของภาครัฐกลับทำให้เกิดความสูญเสียขยายตัว ดังเช่นที่จะเห็นจากแผนการจัดหาวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพและล่าช้า

“เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เป็นคำสัญญาจากภาครัฐที่ในวันนี้ประชาชนได้พิสูจน์ด้วยตาตัวเองแล้วว่าคำมั่นนี้เป็นจริงเพียงใด แต่ท่ามกลางความเสียหายรอบด้านที่เกิดขึ้นนี้ คนกลุ่มเปราะบางย่อมได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมถึง ‘แรงงานข้ามชาติ’ ที่กลายเป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่ภาครัฐจะช่วยเหลือ เนื่องเพราะมุมมองว่าต้องช่วยเหลือคนไทยก่อน

ไม่เกินเลยที่จะพูดว่าแรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จนถึงตอนนี้การช่วยเหลือเยียวยาก็ยังไม่ทั่วถึง

บทเรียนจากสถานการณ์ที่ผ่านมาถูกนำมาตกผลึกร่วมกันในงานสัมมนา แนวทางในการจัดบริการด้านสุขภาพ การเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพ และแนวทางในการช่วยเหลือเยียวสำหรับกลุ่มประชากรข้ามชาติ: บทเรียนจากช่วงวิกฤติสุขภาพในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 โดยโครงการอียูรับมือโควิด อันมีประเด็นที่น่าชวนสังคมคิดต่อไปถึงการแก้ไขจุดผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้น

โควิดไม่เลือกสัญชาติ แต่ระบบยังเลือกปฏิบัติ

แม้ทุกคนจะทราบดีว่าการควบคุมและป้องกันโรคระบาดได้นั้น จะเกิดขึ้นได้ด้วยการดูแลทุกคนในสังคม แต่ระเบียบและข้อปฏิบัติหลายอย่างของระบบราชการไทยก็ทำให้ในช่วงวิกฤตที่ผ่านมาเราเลือกที่จะดูแลคนไทยก่อนและละทิ้งคนอีกกลุ่มที่อยู่ร่วมสังคมกับเราให้เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ เพียงเพราะพวกเขาไม่มีสัญชาติไทย

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) เล่าสถานการณ์ช่วงที่ผ่านมาว่า แรงงานข้ามชาติที่มาทำงานในประเทศไทยโดยมากมักมาทำงานหลายอย่างที่คนไทยไม่ทำ เช่น งานประมง พนักงานโรงแรม คนสวน แรงงานก่อสร้าง พอเกิดโควิดแล้วรัฐประกาศให้ธุรกิจหยุดก็ย่อมกระทบต่อแรงงานข้ามชาติด้วย

“ในการระบาดระลอกแรก มีแรงงานโทรติดต่อสำนักงานเราวันละหลายร้อยสายเพื่อขอความช่วยเหลือเพราะเขาต้องหยุดงานแล้วไม่มีกิน พอระลอกสองมีการระบาดที่สมุทรสาครสถานการณ์ยิ่งหนักขึ้น เมื่อมีการพูดว่าตลาดกุ้งเป็นแหล่งกระจายเชื้อจนมีการล้อมรั้วตลาด ขณะที่หลายฝ่ายกำลังประชุมร่วมกันอยู่นั้น มีคนถามขึ้นมาว่าคนงานในตลาดกุ้งได้กินข้าวหรือยัง พอถามถึงงบประมาณข้าวกล่องก็ได้รับคำตอบว่ามีเฉพาะงบข้าวกล่องสำหรับคนไทย ตอนนั้นเราไม่เห็นมาตรการรัฐว่าจะระดมอาหารแห้งส่งให้คนงานในตลาดกุ้งที่ต้องกักตัวอย่างไร

“เรื่องการเยียวยาโครงการเรารักกันหรือคนละครึ่งนั้น แรงงานข้ามชาติเขาใช้ไม่ได้ จึงไม่ตอบโจทย์การเยียวยาทุกคน เรื่องการตรวจโควิดที่สมุทรสาครมีการตรวจเชิงรุก แต่คนไม่มีเอกสารก็ไม่สามารถตรวจได้ เรื่องการเยียวยาพื้นที่สีแดงก็ให้เฉพาะคนไทย เรื่องวัคซีนนั้นก็ให้เฉพาะผู้ประกันตน ทำให้มีแรงงานตกหล่นจำนวนมาก เหตุใดในสถานการณ์ไม่ปกติจึงไม่รับมือตามสถานการณ์ ทำไมไม่มองคนให้เป็นคน หากมองว่าแรงงานข้ามชาติเป็นคนกระจายเชื้อทำไมไม่ตรวจเชื้อและให้วัคซีนแรงงานข้ามชาติก่อน”

สุธาสินีแนะนำว่า การแก้ปัญหาต้องคำนึงเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน ต้องไม่เลือกปฏิบัติ ระเบียบบางอย่างของรัฐราชการต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังแรงงาน แรงงานข้ามชาติต้องได้สิทธิเยียวยาเท่าแรงงานไทย รัฐต้องวางแผนทำงานร่วมกันในการรับมือแก้ไขปัญหา ทุกกระทรวงต้องคุยกัน รัฐต้องทำงานเชิงรุก ร่วมกันคิดรูปแบบการรับมือวิกฤตแต่ละครั้ง และหากรัฐมีมาตรการอะไรต้องออกแบบให้รองรับแรงงานข้ามชาติเพื่อไม่ให้ปัญหาบานปลาย

ท่ามกลางวิกฤตที่ผ่านมา ขณะที่ภาครัฐปรับตัวรับมือสถานการณ์อย่างเชื่องช้า ประชาชนจึงลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันเองเพื่อให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้ เช่นเดียวกับที่ บุหงา ลิ้มสวาท พยาบาลอาสาผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มไทยแคร์ ซึ่งเป็นการรวมตัวของอาสาสมัครแพทย์และพยาบาล ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโดยการวิดีโอคอลคุยกับคนไข้ที่ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อดูอาการ

“เราเริ่มจากการดูแลคนไทยที่ตกหล่นจากระบบสาธารณสุข ต่อมาจึงได้ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ กุญแจสำคัญคือล่าม เพราะเราทำงานช่วยเหลือคนหลายชาติและบางคนพูดไม่ได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แรงงานข้ามชาติอยู่ด้วยความกลัวและสับสน เพราะเราไม่มีสื่อภาษาของเขาปรากฏในโทรทัศน์ การดูแลผู้ป่วยนอกจากการจ่ายยาแล้ว สิ่งสำคัญคือการดูแลสุขภาพ เพราะแรงงานหลายคนมีโอกาสเป็นลองโควิด เหนื่อยง่ายจนทำงานไม่ไหวก็เสียรายได้ แรงงานบางคนติดเชื้อแล้วยังถูกนายจ้างเรียกไปทำงานด้วยเหตุผลว่าไม่มีคนทำงานแทน ตอนนี้แม้โควิดจะซาลงแล้ว แต่โอไมครอนก็ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะทำให้เกิดลองโควิดได้

“โควิดไม่เลือกสัญชาติ แต่ทำไมเราจึงเลือกปฏิบัติ ทางกลุ่มเคยให้ความช่วยเหลือคนไข้ชาวลาวซึ่งมีลูกและภรรยาเป็นคนไทย พอติดเชื้อทั้งครอบครัวเขาจึงเข้าฮอสพิเทล ปรากฏว่าระบบรับแค่แม่กับลูกที่เป็นคนไทย แต่ไม่รับพ่อ บอกว่าที่นี่ไม่รักษาคนลาว ทั้งที่คนไข้อาการหนัก จึงอยากเสนอเรื่องการปรับตัวให้ไวและชัดเจนในระดับปฏิบัติการ จากนั้นความเท่าเทียมจะตามมา และอยากให้เราเข้าถึงวัฒนธรรมต่างๆ ของคนที่อยู่ในประเทศเรา” บุหงากล่าว

ภาพจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา โดย Raweeporn Dokmai

วิกฤตที่ทำให้เด็กข้ามชาติยิ่งเปราะบาง

นอกจากตัวแรงงานข้ามชาติที่เจอผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างหรือหยุดงานช่วงโควิดแล้ว ผลกระทบเหล่านี้ยังส่งไปถึง ‘ผู้ติดตาม’ คือเด็กข้ามชาติซึ่งติดตามพ่อแม่จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในไทย หรือกระทั่งเด็กข้ามชาติที่เกิดบนแผ่นดินไทยก็มีปัญหามากมายในการเข้าถึงสิทธิต่างๆ

มนัญชยา อินคล้าย ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเด็กข้ามชาติ เล่าว่า ช่วงการระบาดที่ตลาดกุ้งสมุทรสาคร มีการปิดตลาด คนในออกไม่ได้ คนนอกเข้าไม่ได้ ทำให้แม่และเด็กบางคนต้องแยกกัน ในสถานการณ์นั้นสร้างความกังวลมากเพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการดำเนินการอะไรบ้าง

“ตอนนั้นนายจ้างที่มีแรงงานไม่ถูกกฎหมายก็กังวลจนเอาแรงงานขึ้นรถแล้วไปทิ้งข้างทาง หอพักก็ให้แรงงานไม่ถูกกฎหมายออกจากที่พัก มีเคสที่แม่พร้อมลูก 3-4 คนถูกไล่ออกจากหอตอนกลางคืน ต้องไปอยู่ข้างทางบ้าง ตามวัดบ้าง เด็กไม่สามารถไปโรงเรียนได้ สถานการณ์มาคลี่คลายตอนที่รัฐประกาศว่าจะดูแลทุกคน ไม่ต้องไปไหน ให้แรงงานอยู่กับที่ นายจ้างเริ่มคลายกังวล แต่หลังจากนั้นโรงเรียนปิด เด็กจะถูกกักตัวอยู่บ้านเพื่อป้องกันไปรับเชื้อ เด็กไม่สามารถไปรับการบ้านหรือค่าอาหารกลางวันค่านมได้ เด็กหลายคนตึงเครียดเพราะออกไปเล่นข้างนอกไม่ได้ เด็กบางคนคลอดออกมาแล้วยังไม่เคยเจอหน้าพ่อ เพราะพ่อกลับประเทศไปทำบัตรยังไม่ได้กลับมาจนถึงตอนนี้

“ช่วงการระบาดระลอกสามเริ่มมีผู้เสียชีวิตมากขึ้น โรงพยาบาลสนามไม่เพียงพอ คนพม่านิยมตัดต้นสาบเสือไปต้มกินหรือใช้ยาสมุนไพรจากพม่า เพราะไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ โดยเฉพาะช่วงแรกที่ต้องจ่ายค่าตรวจโควิดเอง ทำให้เด็กที่ติดเชื้อไม่สามารถไปตรวจได้จนมีการเสียชีวิต แรงงานที่ไม่มีบัตรลำบากมาก คนท้องต้องคลอดกับหมอตำแย ลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีบัตรเข้าถึงบริการยาก ส่วนเรื่องวัคซีนภายหลังกระทรวงสาธารณสุขก็พยายามให้ฉีดวัคซีนแบบทั่วถึง แต่มีจุดฉีดน้อย ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งยังตกหล่น”

มนัญชยามองว่าสาธารณสุขเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ ถ้าดูแลสุขภาพทุกคนในสังคมได้ถ้วนหน้า สังคมก็จะมีความมั่นคงขึ้น

“การระบาดของโควิดนั้นไม่ได้เลือกเชื้อชาติ ศาสนาและช่วงวัย ถ้าเรามองคนเป็นคนเหมือนกัน ต้องให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ถ้วนหน้าเท่าเทียม ตอนนี้อยากให้ภาครัฐเปิดให้ลูกหลานแรงงานข้ามชาติเข้าถึงบัตรประกันสุขภาพและใบเกิด เพราะช่วงโควิดระบาดที่สมุทรสาคร เด็กข้ามชาติเกิดใหม่ก็แจ้งเกิดไม่ได้เพราะจำกัดแค่วันละ 10 คิว ล่าสุดเพิ่มเป็น 25 คิว แรงงานแต่ละคนบอกว่ากว่าจะได้ใบเกิดยากมาก พอคิวยาวแล้วพ่อแม่บัตรหมดอายุก็กลายเป็นคนเถื่อนไปอีก” มนัญชยากล่าว

ปัญหาสุขภาพเป็นเพียงผลกระทบหนึ่งของเด็กข้ามชาติ จากการศึกษาของ รศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ และคณะ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในงานวิจัย การประเมินสถานการณ์เด็กข้ามชาติในประเทศไทยและผลกระทบจากโควิด-19 พบว่าข้อมูลสถิติจำนวนเด็กข้ามชาติในไทยนั้นมีตัวเลขไม่ชัดเจน ตัวเลขจากแหล่งต่างๆ มีตั้งแต่หลักแสนถึงล้านคน แต่มีพลวัตการอยู่อาศัยของเด็กในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างมาก เพราะเด็กต้องติดตามพ่อแม่จึงอาจเดินทางข้ามระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านไปมาในบางช่วง จึงบอกจำนวนที่แน่นอนได้ยาก แต่จากจำนวนการจดทะเบียนการเกิดเด็กข้ามชาติในไทย ในปี 2560 มี 13,471 คน ต่อมาปี 2564 มี 39,131 คน จะเห็นว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ตัวเลขจำนวนเด็กนักเรียนที่ไม่ปรากฏสัญชาติและไม่มีเลขประจำตัวในสังกัด สพฐ. ปี 2563 มีอยู่ 210,484 คน

ในการศึกษาภาพรวมผลกระทบโควิด-19 ต่อลูกหลานแรงงานข้ามชาติ งานวิจัยนี้มอง 3 ประเด็นสำคัญ คือ การศึกษา สุขภาพ และการคุ้มครองเด็กข้ามชาติ

ด้านสุขภาพ พบว่าผลกระทบทางตรงคือเรื่องความเสี่ยงและความเปราะบางต่อการติดเชื้อและเสียชีวิต แต่ทางอ้อมคือปัญหาเรื่องอนามัยแม่และเด็ก หญิงตั้งครรภ์ การเข้าถึงวัคซีน โภชนาการที่เหมาะสมตามวัย การเข้าไม่ถึงประกันสุขภาพและบริการสุขภาพที่จำเป็นของเด็ก

ด้านการศึกษา ผลกระทบทางตรงคือการปิดโรงเรียนและศูนย์เรียนรู้ เกิดการชะงักในโอกาสการเรียนรู้ของเด็ก เด็กขาดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เด็กเล็กมีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษาล่าช้า แม้ว่าเด็กไทยกลุ่มเปราะบางจะเจอผลกระทบไม่ต่างกัน แต่เด็กข้ามชาติมีปัจจัยเรื่องเอกสารและบริบทที่ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ด้านการคุ้มครอง พบว่าความเสี่ยงขึ้นอยู่กับช่วงวัย เช่น ในเด็กเล็กขาดผู้ดูแลที่เหมาะสม ความรุนแรงในครอบครัวซึ่งเป็นผลกระทบทางอ้อมจากที่พ่อแม่ตกงานหรือเปลี่ยนที่อยู่ เด็กวัยเรียนกระทบจากการปิดโรงเรียน เด็กโตถูกผลักให้ทำงานเพิ่มขึ้นจนกระทบต่อการศึกษา และมีเรื่องการล่วงละเมิดและพฤติกรรมเสี่ยงทางสังคม

“ปัจจัยในแต่ละครอบครัวของแรงงานข้ามชาติมีส่วนสำคัญในการกำหนดว่าเด็กจะมีความเสี่ยงในการเจอผลกระทบดังกล่าวนี้มากน้อยเพียงไร เช่น เรื่องสถานะทางกฎหมายและเอกสาร สภาพการทำงาน สภาพทางเศรษฐกิจ การย้ายถิ่น ผลกระทบเหล่านี้นำไปสู่ปัญหาที่เราต้องเฝ้าระวังคือ 1.การเข้าไม่ถึง ทั้งเรื่องการจดทะเบียนเกิด การศึกษา บริการสุขภาพที่จำเป็น 2.การตกหล่น ทั้งเรื่องสุขภาพ การศึกษาและการคุ้มครอง 3.เด็กข้ามชาติจะมีความเสี่ยงและเปราะบางเพิ่มขึ้น”

ข้อเสนอแนะจากการศึกษา คือ 1.กลไกและมาตรการเฉพาะหน้าที่ชัดเจนในการติดตามประเมิน เฝ้าระวัง และช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ต่อเด็กข้ามชาติ 2.การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเด็กข้ามชาติและบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3.นโยบายระยะยาวที่ชัดเจนภายใต้แนวคิด replacement migration

“หากประเทศไทยมีการกำหนดทิศทางที่ชัดเจน ให้ความสำคัญกับประชากรกลุ่มนี้ว่าสามารถเป็นกำลังแรงงานขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยได้ในอนาคต ก็จะทำให้นโยบายและกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการดูแลการเข้าถึงสิทธิในด้านต่างๆ ทั้งการจดทะเบียนการเกิด การศึกษา และสุขภาพ รวมถึงการคุ้มครองเด็กจากความเสี่ยงและความปลอดภัยในด้านต่างๆ มีความเป็นเอกภาพไปในทิศทางเดียวกัน ชัดเจนและมีแนวทางลงสู่ระดับการปฏิบัติในทุกเรื่องที่เป็นไปในเป้าหมายเดียวกัน” รศ.ดร.เฉลิมพลกล่าว

ผู้วิจัยบอกว่า จากผลการศึกษาจึงมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้

ด้านสุขภาพ ต้องพัฒนาเรื่องการมีหลักประกันสุขภาพสำหรับเด็ก การเข้าถึงบริการสุขภาพโดยเฉพาะอนามัยแม่และเด็ก การมีระบบบริการสุขภาพที่เป็นมิตรและเข้าใจวัฒนธรรม เพื่อตอบโจทย์ด้านความแตกต่างทางวัฒนธรรม

ด้านการศึกษา หัวใจสำคัญคือการมีนโยบายการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นให้ตรงเงื่อนไขความต้องการตามบริบทพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีเด็กข้ามชาติเยอะ ควรมีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะการจัดการศึกษาระหว่างโรงเรียนไทย ศูนย์การเรียนรู้ และมีการย้อนความร่วมมือกลับไปยังประเทศต้นทาง

ด้านการคุ้มครอง ในไทยมีกลไกและเครื่องมือที่ดีอยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติสำหรับเด็กข้ามชาติอาจยังมีข้อต่อบางอย่างที่หายไป จึงควรทำให้เครื่องมือที่มีอยู่ครอบคลุมเด็กได้มากขึ้น โดยเฉพาะในระดับพื้นที่และชุมชน

ยังไม่สายที่จะเยียวยา

ในห้วงที่จุดสูงสุดของวิกฤตผ่านพ้นไป สิ่งที่พอจะทำได้คือการช่วยเหลือเยียวยา โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ แต่จากหลายมาตรการของรัฐที่ออกมาก็ยังมีกำแพงสำหรับแรงงานข้ามชาติที่จะเข้าถึงความช่วยเหลือ

ปภพ เสียมหาญ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) เล่าว่า ทางมูลนิธิให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่แรงงานข้ามชาติ พบว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้สังคมพูดกันว่าแรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มที่ทำให้เกิดการระบาดของโควิด ขณะที่แรงงานข้ามชาติเป็นผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ เช่น มีการค้างจ่ายค่าแรง การถูกลอยแพ ได้รับค่าจ้างไม่เป็นธรรม รวมถึงปัญหาในการทำเอกสารทำงานต่างๆ

“ขณะที่มูลนิธิเราทำงานให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย แต่เราก็ต้องไปแจกถุงยังชีพให้แรงงานข้ามชาติ เพราะตอนนั้นสิ่งแรกที่เขาต้องการคือการอยู่รอด ไม่มีใครพูดถึงการขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย เราจึงแจกถุงยังชีพพร้อมให้ความรู้ทางกฎหมายไปด้วย เพื่อให้เขาเข้าใจว่านอกจากเรื่องการเข้าถึงบริการสาธารณสุขแล้วยังมีเรื่องกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

“สิ่งที่เราพบคือแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่สนใจเรื่องปากท้องเป็นสำคัญ เขาสนใจว่าจะอยู่ในไทยเพื่อทำงานต่อได้อย่างไร เขาไม่สนใจเรื่องค่าจ้างค้างจ่าย เพราะกลัวว่าถ้ายื่นเรื่องไปแล้วอาจถูกเลิกจ้างและไม่สามารถทำงานในไทยต่อได้ รวมถึงกรอบเวลาการยื่นเรื่องต่างๆ ต้องใช้เวลาพอสมควร ต้องเดินทางไปกรอกคำร้องขณะที่เขาถูกกักตัว ซึ่งเป็นไปไม่ได้” ปภพกล่าว

เขาเล่าต่อไปว่า แม้ภาครัฐจะมีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบออกมาหลายโครงการช่วงที่ผ่านมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือแต่ละโครงการมีการสร้างเงื่อนไขที่ทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึง

1.โครงการ ม.33 เรารักกันและโครงการอื่นๆ เป็นมาตรการเยียวยาผู้ประกันตนของประกันสังคม โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ที่เข้าถึงได้ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ‘สัญชาติไทยเท่านั้น’ ซึ่งทำให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงได้ แม้ว่าเขาจะจ่ายเงินสมทบก็ตาม ทางมูลนิธิฯ จึงทำแคมเปญเรียกร้องว่าโครงการนี้มีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ โดยส่งเรื่องไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่คำวินิจฉัยบอกว่าไม่ได้เลือกปฏิบัติ เพราะรัฐธรรมนูญบอกว่าการเลือกปฏิบัติทางสัญชาติไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ ในรัฐธรรมนูญมีการพูดถึงเฉพาะเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ

“ภาคประชาสังคมและแรงงานข้ามชาติต้องการเรียกร้องว่าไม่ควรมีการเลือกปฏิบัติ แรงงานข้ามชาติควรมีการเยียวยาเช่นกัน แต่ภาครัฐบอกว่าเยียวยาไม่ได้ เพราะเงินนี้มาจาก พ.ร.บ.เงินกู้ ไม่ใช่จากประกันสังคม ดังนั้นข้อเสนอแนะคือรัฐไม่ควรใช้ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เป็นคุณสมบัติในการได้รับการเยียวยา และรัฐบาลไทยควรออกมาตรการเยียวยาให้กับแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเช่นกัน” ปภพกล่าว

ภาพจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

2.การเยียวยาจากประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 จากที่ภาครัฐประกาศว่าใครได้รับผลกระทบจากโควิดเนื่องจากสถานประกอบการปิด สามารถรับการเยียวยาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ได้ แต่การกรอกข้อมูลต้องทำผ่านทางออนไลน์และมีแต่ภาษาไทย ซึ่งนายจ้างต้องใส่ชื่อแรงงานในระบบออนไลน์ว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจริง การเข้าถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติจึงไม่ง่ายเลย

“สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าช่วงสองปีที่ผ่านมาแรงงานข้ามชาติไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ ทั้งสิ้น นโยบายของรัฐทำให้พวกเขาถูกจำกัดสิทธิ ที่สำคัญคือแรงงานหลายคนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ นายจ้างจำนวนมากก็ไม่ทราบเรื่องการยื่นขอรับสิทธิให้ลูกจ้าง กระบวนการที่ซับซ้อนเหล่านี้เอื้อต่อธุรกิจขนาดใหญ่มากกว่าธุรกิจขนาดเล็ก”

ข้อเสนอแนะคือรัฐควรประชาสัมพันธ์ข้อมูลสิทธิผู้ประกันตนเป็นภาษาเดียวกับแรงงาน มีการจัดหาล่าม แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการแรงงานให้สอดคล้องกัน มีมาตรการป้องกันการเอาเปรียบและแสวงหาประโยชน์ทั้งจากพนักงานของรัฐและนายหน้า และในกรณีหนังสือเดินทางหมดอายุทำให้การใช้สิทธิตามระบบประกันสังคมชะงัก ควรมีการเจรจาเป็นรายกรณี

3. การเรียกร้องค่าชดเชยจากกรณีหยุดงานที่ไม่ใช่ความผิดของลูกจ้างและไม่ได้ถูกสั่งปิดตามคำสั่งของรัฐ

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือนายจ้างบางรายอาศัยความไม่รู้ของลูกจ้างและอำนาจที่เหนือกว่าให้แรงงานตกลงไม่รับเงินค่าจ้างในวันที่หยุดงาน โดยที่แรงงานเองก็ไม่ทราบสิทธิของตนเอง นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้รับมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากแรงงานไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ จึงเกิดความสับสน

ข้อเสนอแนะคือรัฐควรให้ความรู้เกี่ยวกับแรงงานในภาษาที่แรงงานเข้าใจหรือมีบริการสายด่วนเพื่อให้ข้อมูลหรือให้แรงงานปรึกษาได้ โดยควรมีการตรวจสอบเชิงรุกในบางประเภทกิจการที่มีความสุ่มเสี่ยงจะไม่จ่ายค่าจ้างให้แรงงานในกรณีที่สั่งปิดกิจการ นอกจากนี้รัฐต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดต่อข้อร้องเรียนจากแรงงานเรื่องการไม่จ่ายค่าจ้างตามกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงาน

4. โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัดใน 9 ประเภทกิจการ

ปัญหาในโครงการนี้คือแรงงานข้ามชาติตกหล่นจากนโยบายเยียวยาของรัฐที่มักนำเรื่องการมีสัญชาติไทยมาเป็นเงื่อนไขการรับสิทธิประโยชน์ กระทั่งผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติซึ่งส่งเงินสมทบไม่ต่างจากผู้ประกันตนสัญชาติไทยก็ถูกละเลย ขณะที่แรงงานข้ามชาติที่อยู่นอกระบบไม่ได้มีการวางแผนเยียวยาอย่างจริงจังและระยะยาว

ข้อเสนอแนะคือคือรัฐต้องให้สิทธิประโยชน์จากประกันสังคมให้ผู้ประกันตนทุกสัญชาติอย่างเท่าเทียม โดยสำนักงานประกันสังคมควรหารือเพื่อปรับระบบให้สามารถรองรับแรงงานทุกรูปแบบเพื่อประกันสิทธิในระยะยาว

5. การเยียวยาจากประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพราะเหตุสุดวิสัย กรณีรัฐสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง

ปัญหาเมื่อมีการสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างคือไม่มีการตรวจสอบความต้องการปัจจัยพื้นฐานอย่างอาหาร เครื่องดื่ม ของใช้จำเป็นต่างๆ ขณะที่การปิดแคมป์เป็นการป้องกันโรคระบาดออกนอกพื้นที่ แต่ไม่ป้องกันการติดเชื้อภายในแคมป์และผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ประกันสังคมเองก็ไม่มีมาตรการในการติดตามการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนของนายจ้าง ส่วนแรงงานที่อยู่ในระบบไม่ถึง 6 เดือนก็ไม่ได้รับเงินชดเชยว่างงานทั้งที่กำลังเดือดร้อน บางกรณีพบว่าแรงงานข้ามชาติได้รับเงินชดเชยไม่ครบหากมีการจ่ายเงินผ่านนายจ้าง

สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือการสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมโรคและการดำเนินธุรกิจ การเอาผิดนายจ้างที่ไม่ได้นำลูกจ้างเข้าระบบประกันสังคม จัดสรรยาและสิ่งจำเป็นให้ผู้ที่ถูกกักตัว

ปภพเล่าว่า นอกจากผลกระทบโดยตรงข้างต้นแล้วยังมีผลกระทบข้างเคียงต่อการเข้าถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติ เช่น เรื่องการเข้าถึงกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างซึ่งมีจุดประสงค์ในการช่วยลูกจ้างที่ไม่ได้รับค่าจ้างค้างจ่าย แต่เมื่อแรงงานข้ามชาติพยายามเข้าถึงกองทุนนี้ก็ได้รับคำตอบว่าต้องเป็นแรงงานที่มีเอกสารถูกต้องเท่านั้น ทั้งที่ช่วงโรคระบาดที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติหลายคนหลุดออกจากระบบในช่วงที่มีปัญหาในการต่ออายุการทำงาน ทำให้เขาเข้าไม่ถึงกองทุน

นอกจากนี้คือเรื่องการเข้าไม่ถึงวัคซีน ช่วงสองปีที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติเข้าถึงวัคซีนได้จำกัดมาก มีเพียงแรงงานที่นายจ้างมีศักยภาพจะซื้อวัคซีนให้ได้ที่เข้าถึงวัคซีน ซึ่งรัฐบาลมองว่าต้องช่วยเหลือคนกลุ่มอื่นก่อนแรงงานข้ามชาติ

“นโยบายรัฐมักบอกว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่แรงงานข้ามชาติในไทยถูกทิ้งไว้ข้างหลังตลอดสองปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการแพร่ระบาดที่สร้างความทุกข์ทรมาน แต่เรื่องการเยียวยาแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องที่เรายังต้องทำอยู่ ยังไม่สายที่ภาครัฐจะหันมาให้ความสนใจและให้ความชัดเจนเรื่องการเยียวยา” ปภพกล่าวทิ้งท้าย

อย่าปล่อยให้ใครร่วงหล่น

บทเรียนสู่ความหวังถึงระบบที่รองรับทุกคน

ปัญหาต่างๆ ข้างต้นนี้เป็นเพียงบางแง่มุมจากสิ่งที่แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา บทเรียนสำคัญคือภาครัฐต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและกฎระเบียบเพื่อให้การคุ้มครองที่เกิดขึ้นไม่ตกหล่นคนบางกลุ่มไป เพราะสิ่งที่ตามมานั้นคือความสูญเสียและมีผลกระทบทางอ้อมรอบด้าน จึงยังไม่สายที่จะหาทางอุดช่องว่างปัญหาในวันนี้ที่วิกฤตโรคระบาดยังไม่ผ่านพ้นไปโดยสิ้นเชิงและเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับหากเกิดวิกฤตอื่นขึ้นในอนาคต

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) กล่าวสรุปสถานการณ์ปัญหาแรงงานข้ามชาติช่วงโรคระบาดว่า ในสถานการณ์โควิดแรงงานข้ามชาติถูกเลิกจ้าง ไม่มีรายได้ กลายเป็นแรงงานที่หลุดออกจากระบบ แม้จะมีมาตรการช่วยเหลือจากรัฐแต่แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึง เพราะระบบไม่เอื้อต่อแรงงานข้ามชาตินัก เพราะรัฐมีมาตรการออกมาโดยมองข้ามบริบทของแรงงานข้ามชาติ

นอกจากนี้ เด็กข้ามชาติเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ขาดการดูแลหลังการคลอดอย่างชัดเจน เข้าไม่ถึงการศึกษาช่วงโควิด หลุดจากระบบ ไม่มีสถานะทางกฎหมาย ตกหล่นจากการมีเอกสารประจำตัว การแจ้งเกิดทำได้ยากลำบาก และในภาวะวิกฤตสุขภาพ ประชากรข้ามชาติเข้าไม่ถึงการตรวจโควิดและการรักษาในระบบ

“ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าเรายังไม่พร้อม ตั้งแต่เรื่องการมีระบบสาธารณูปโภคที่ดีพอสำหรับทุกคนเพื่อให้เราพ้นจากวิกฤตได้ แต่เราไม่ยอมแพ้ หลายคนลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง เรามีอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว (อสต.) มีสถานประกอบการที่ลุกขึ้นมาจัดการโควิดด้วยตัวเอง เรามีสายด่วนหลายภาษาของกรมควบคุมโรค เรามีกลุ่มไทยแคร์ที่ช่วยดูแลก่อนถึงมือหมอ ที่สำคัญคือเราสร้างความร่วมมือ ทำความเข้าใจ และหาทางแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ทำงานด้วยกันมากขึ้น ไว้วางใจกันมากขึ้น เราร่วมกันเรียนรู้ว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว เราไม่สามารถปล่อยใครสักคนไว้ข้างหลังให้เดือดร้อนทนทุกข์กับภัยพิบัติได้ เพราะจะส่งผลกระทบถึงทุกคนในสังคม เช่น การเข้าไม่ถึงการเยียวยา ซึ่งไม่ได้กระทบแค่แรงงาน แต่กระทบนายจ้าง กระทบการจ้างงานทั้งระบบ และกระทบการควบคุมป้องกันโรคของประเทศไทยด้วย

“ข้อเสนอแนะคือ เราควรสร้างระบบที่รองรับทุกคนในสังคมไทย เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูล การดูแล และการเยียวยา เราควรพัฒนาช่องทางในการเข้าถึงความช่วยเหลือของคนที่เข้าไม่ถึงโอกาส เราควรพัฒนากฎหมายนโยบายในภาวะปกติเพื่อรองรับภาวะวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราจะร่วมกันคิด ช่วยกันทำ ย้ำความร่วมมือในการวางแผนสำหรับอนาคตของทุกคนเมื่อเราต้องเผชิญวิกฤต เพราะโควิดไม่เลือกสัญชาติ เพราะโรคระบาดไม่เลือกผู้ป่วย โควิดจึงย้ำให้เราตระหนักว่าเดินคนเดียวอาจจะไม่ไหว ประคองกันเดินก้าวไปอาจจะรอดไปด้วยกัน” อดิศรกล่าวสรุปพร้อมโยนโจทย์ที่ภาครัฐควรทำต่อไปเพื่อแก้จุดบกพร่องและยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติให้ทัดเทียมคนอื่นในสังคมโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Health

11 Jan 2018

“ล้มคนเดียว เจ็บทั้งบ้าน” ยากันล้ม : คู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

การหกล้มหนึ่งครั้ง คุณอาจไม่ได้แค่เจ็บตัว แต่อาจเจ็บใจ (ที่น่าจะรู้วิธีป้องกันก่อน) และอาจเจ็บลามไปถึงคนใกล้ตัว ที่ต้องเข้ามาช่วยดูแล

จะดีแค่ไหน ถ้าเรามี “ยากันล้ม” ที่มีสรรพคุณเป็นคู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

กองบรรณาธิการ

11 Jan 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save