fbpx

โลกทั้งใบของซาลีม ซีนาย Midnight’s Children

ครั้งแรกสุดที่ผมได้อ่านนิยายเรื่อง Midnight’s Children ของซัลมาน รัชดี คือเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ครั้งนั้นเป็นการอ่านจบลงด้วยความรู้สึกก้ำกึ่งปนกัน พูดได้ไม่เต็มปากว่าชอบหรือไม่ชอบ

เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ชอบได้ไม่สนิทใจ เป็นที่ตัวผมเองจับต้องเนื้อหาอะไรไม่ติด ไม่สามารถเชื่อมโยงรายละเอียดที่มีอยู่มากมายให้เกิดเป็นภาพรวม

แปลง่ายๆ คืออ่านแล้วรู้แค่เนื้อเรื่องเหตุการณ์ แต่ไม่เข้าใจประเด็นเนื้อหา

ในทางตรงข้าม นิยายเรื่องนี้ก็ทำให้ผมติดอกติดใจวิธีการเขียนของซัลมาน รัชดี ซึ่งแสดงความเป็นสุดยอดนักเล่าเรื่องผู้เก่งกาจชนิดหาตัวจับหรือเทียบเคียงได้ยาก

2 ปีถัดจากนั้น ผมก็ติดตามอ่านงานเขียนอื่นๆ ของซัลมาน รัชดี ที่มีการแปลเป็นไทย ประกอบไปด้วย Two Years Eight Months & Twenty-Eight Nights (ชื่อไทย ‘สองปี แปดเดือน กับยี่สิบแปดคืน’) และ The Golden House (บ้านโกลเดน)

เหมือนเดิมเลยครับ ทั้งหมด ‘อ่านสนุก ทุกข์ถนัด’ และส่งผลให้ผมรำพึงรำพันว่า ‘หนูไม่รู้’ เกิดความไม่เข้าใจได้อย่างเท่าเทียมกัน

แท้จริงแล้ว งานเขียนของซัลมาน รัชดี ไม่ได้อ่านยากหรือซับซ้อนเกินปัญญาที่จะทำความเข้าใจหรอกนะครับ ปัญหาหลักๆ คือทุกเรื่องมีรายละเอียดมากมายมหาศาลเกินกว่าจะจดจำได้หมดครบถ้วน ประกอบกับมีวิธีการเล่าเรื่องฉวัดเฉวียน วกเวียน หวือหวา บางครั้งกำลังเล่าเหตุการณ์หนึ่ง อยู่ดีๆ ก็โฉบไปเล่าเรื่องอื่นเป็นคุ้งเป็นแคว เหมือนเถลไถลออกนอกเรื่อง (เพื่อที่จะสร้างจุดบรรจบเชื่อมต่อกับสิ่งที่เล่าค้างไว้) รวมทั้งนิยมให้รายละเอียดปลีกย่อยพาดพิงอ้างถึงงานศิลปะ วรรณกรรม หนัง ดนตรี ศิลปิน นักเขียน คนทำหนัง ตลอดจนเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ แสดงความรอบรู้ของผู้เขียน ซึ่งทำทีเสมือนว่าผู้อ่านรู้เท่ากัน บ่อยครั้งจึงละเว้นที่จะให้คำอธิบายขยายความ อ่านแล้วพอเข้าใจได้ลางๆ แต่ไม่กระจ่างแจ้ง (ตรงนี้ผมทราบได้เพราะว่าคราใดก็ตามที่อ้างอิงถึงหนัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมถนัด พบว่าอรรถรสที่ได้รับแตกต่างจากการกล่าวถึงแขนงสาขาที่ผมไม่รู้อย่างเด่นชัด)

พูดง่ายๆ คือนิยายของซัลมาน รัชดี มีคุณสมบัติและความหมายตรงกับคำว่า ‘เยอะ’ โดยแท้ และความ ‘เยอะ’ นี้เอง ทำให้เรื่องราวเนื้อหาที่ผู้อ่านควรจะเข้าใจได้ไม่ยากเกินไปนัก กลับกลายเป็นยากเพิ่มขึ้นมาซะยังงั้น

อย่างไรก็ตาม ความเยอะและลีลาการเล่าเรื่องแบบพูดด้วยความหมั่นไส้ได้ว่า ‘โยกโย้’ และ ‘ท่ามาก’ ก็เป็นเสน่ห์ดึงดูดสำคัญ สามารถหยิบมาอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้ไม่รู้เบื่อ (ด้วยความรู้สึกว่าทุกครั้งเหมือนเพิ่งได้อ่านหนแรก)

เมื่ออ่านบ่อยครั้งเข้า ก็ค่อยๆ คุ้นเคยกับแนวทางและวิธีการ จนกระทั่งเปลี่ยนจากความรู้สึกหมั่นไส้มาเป็นความนับถือชื่นชม

งานศิลปะชั้นดีทุกแขนงมักจะมีผลงานจำนวนหนึ่งที่เข้าลักษณะนี้ ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้เสพสามารถเข้าถึงได้ทันที ต้องใช้เวลาปรับตัวทำความเข้าใจอยู่มากพอสมควร จึงจะเกิดอาการซาบซึ้งในรสพระธรรม

ผมคิดว่า นิยายของซัลมาน รัชดีก็เข้าอีหรอบนี้นะครับ

หลังจากอ่านจบเที่ยวที่เท่าไรก็จำไม่ได้แล้ว Midnight ‘s Children ก็กลายเป็นหนึ่งในสุดยอดนิยายที่ผมเคยอ่าน คำตัดพ้อต่อว่าใดๆ ที่ผมเคยกล่าวล่วงเกินด้วยอคติก่อนหน้านี้ เปลี่ยนเป็นคำขอขมาและการยกย่องสรรเสริญว่า นี่คือนิยายที่เขียนขึ้นด้วยความทะเยอทะยานขั้นสุด ตั้งแต่เนื้อเรื่อง ประเด็นที่มุ่งสื่อสารกับผู้อ่าน การสร้างสรรค์ในเชิงวรรณศิลป์ รวมถึงอรรถรสความบันเทิง

เป็นนิยายที่ ‘คิดการใหญ่’ มหึมาอลังการในทุกๆ ด้าน และทำได้สำเร็จครบหมดทุกเป้าหมาย

Midnight’s Children เป็นนิยายปี 1981 ในพากย์ภาษาไทยมี 2 สำนวน คือ ‘ทารกเที่ยงคืน’ แปลโดย นพดล เวชสวัสดิ์ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2553 สำนักพิมพ์ pearl publishing และฉบับปี 2563 ใช้ชื่อ Midnight’s Children โดยไม่ได้ตั้งชื่อไทย สุนันทา วรรณสินธ์ เบล เป็นผู้แปล สำนักพิมพ์มติชน

ผมได้อ่านทั้ง 2 ฉบับ แต่ในข้อเขียนชิ้นนี้ ชื่อตัวละคร สถานที่ และเนื้อความที่ยกมากล่าวถึง ยึดถือตามฉบับปี 2563 ซึ่งผู้อ่านที่สนใจน่าจะสะดวกในการซื้อหาได้ง่ายกว่า

Midnight’s Children ได้รับการกล่าวขานถึงเสมอ เมื่อใดก็ตามที่มีการพูดถึงวรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ หรือ magical realism เคียงคู่กับ ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ ของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ, ‘The House of the Spirits’ ของอิซาเบล อาเยนเด (เรื่องนี้มีแปลเป็นไทยเมื่อปี 2548 โดยสำนักพิมพ์นานมี ใช้ชื่อ ‘บ้านปรารถนารัก’ ในงานมหกรรมหนังสือที่เพิ่งผ่านพ้น มีวางจำหน่ายตามบูธหนังสือเก่าเป็นจำนวนมาก), ‘Beloved’ ของโทนี มอร์ริสัน, ‘Like Water for Chocolate’ ของลอรา เอสควิเวล (ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อ ‘รักซ้อน-ซ่อนรส’ แปลโดย จิตราภรณ์ พิมพ์เมื่อปี 2539 สำนักพิมพ์ศรีสารา) และ ‘Kafka on the Shore’ ของฮารุกิ มุราคามิ

นิยายเรื่องนี้เต็มไปด้วยการผสมผสาน รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจจากหลากหลายแหล่งที่มา เบื้องต้นคือ ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ ในส่วนของรายละเอียดมหัศจรรย์พันลึกจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใจความหลักว่าด้วยชีวิตของตัวเอก ซาลีม ซีนาย ซึ่งผูกพันเป็นฝาแฝดกับประเทศอินเดียหลังได้รับเอกราช เรื่องราวความเป็นไปของตัวบุคคลและบ้านเมืองบอกเล่าเคียงคู่เกี่ยวพันโยงใยกันอย่างแนบแน่น และลงเอยพบกับชะตากรรมเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการอ่าน ผมพบว่าซัลมาน รัชดี น่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากต้นธารใหญ่อีกสายหนึ่ง นั่นคือนิยายเรื่อง ‘กลองสังกะสี’ (The Tin Drum) ของกึนเทอร์ กราสส์ ทั้งการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวเอกในช่วงเวลาก่อนที่ตัวเขาจะถือกำเนิด, รูปโฉมพิกลพิการผิดปกติของตัวละคร (ออสการ์ใน ‘กลองสังกะสี’ หยุดการเติบโตตั้งแต่วัยเด็ก จนมีสภาพเป็นคนแคระ ขณะที่ซาลีม ซีนายมีจมูกใหญ่โตจนเปรียบได้กับงวงช้าง ขมับปูดโปนเหมือนมีเขางอก ขาโก่ง หน้ามีปื้นเป็นรอยด่าง) และที่เด่นมากคือ หลายฉากหลายตอนนำเสนอภาพเหตุการณ์ต่างๆ ในลักษณะบิดเบี้ยวอัปลักษณ์ แบบที่ศัพท์ทางวรรณกรรมเรียกว่า grotesque

พ้นจากนี้แล้วยังมีร่องรอยของ ‘อาหรับราตรี’ ในส่วนของผู้เล่าเรื่องแข่งกับเวลา และความเป็นความตาย

ความหลากหลายปนเปนี้ไม่ได้จำกัดแค่ที่มาที่ไปเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมสู่รายละเอียดในเนื้อเรื่องเหตุการณ์และท่วงทำนองลีลาในการเขียน ซึ่งโชว์สารพัดกระบวนท่า ทั้งการนำเอาศัพท์เทคนิคทางภาพยนตร์อย่างการตัดสลับ การจับภาพระยะใกล้ และนำมาใช้เพื่อเล่าเรื่อง, การเล่าเรื่องในลักษณะรำลึกอดีตของตัวละคร ควบคู่กับการเผยอนาคตข้างหน้าให้ผู้อ่านทราบอยู่เป็นระยะๆ (ที่พบบ่อยคือ การใช้ข้อความ ‘หลายปีต่อมา…’) รวมถึงเทคนิคการเล่าแบบโยกโย้และอ้อมค้อม ทำให้เส้นเรื่องไม่ดำเนินคืบหน้าอย่างตรงไปตรงมา แต่แตกกระจายเป็นส่วนเสี้ยวย่อยๆ (ซึ่งน่าทึ่งมาก ตรงที่ทุกครั้งเมื่อประกอบรวมเป็นภาพใหญ่สำเร็จ จะบังเกิดเป็นผลลัพธ์ที่ชวนตื่นตะลึง และกระทบความรู้สึกได้มากกว่าการเล่าตามลำดับ)

เนื้อเรื่องคร่าวๆ ของ Midnight’s Children เป็นการบอกเล่าอัตชีวประวัติของซาลีม ซีนาย ผู้เกิดในเวลาเสี้ยววินาทีตรงกันกับที่อินเดียประกาศเอกราช เป็นอิสระจากการปกครองอยู่ใต้อาณานิคมของอังกฤษ

โดยอีกนัยหนึ่ง นิยายเรื่องนี้จึงเป็นการเล่าประวัติศาสตร์ของอินเดีย ตั้งแต่ช่วงปีท้ายๆ ที่อังกฤษปกครอง การได้รับเอกราช การถือกำเนิดเป็นประเทศอินเดียยุคใหม่ และจบลงที่นางอินทิรา คานธี ประกาศภาวะฉุกเฉิน (ปี 1975-1977) จนนำไปสู่ยุคมืดและการปราบปรามศัตรูทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม พงศาวดารอินเดีย ฉบับซาลีม ซีนาย ต่างจากประวัติศาสตร์ฉบับเป็นทางการชนิดห่างไกลจนสุดกู่ ทั้งพิลึกพิลั่น มีลักษณะเป็นนิทานเปรียบเปรย เต็มไปด้วยเหตุการณ์เหนือจริง มีกลุ่มเด็กที่เกิดตั้งแต่เที่ยงคืนถึงตีหนึ่ง 15 สิงหาคม 1947 จำนวน 1,001 คน (เสียชีวิตไป 420 คน เหลืออยู่ 581) ทุกคนมีพลังอำนาจพิเศษผิดแผกแตกต่างกัน (มากยิ่งกว่าซูเปอร์ฮีโรจากค่ายมาร์เวลและดีซี คอมิกส์รวมกันเสียอีก)

ในบรรดาเด็กพิเศษเหล่านี้ ซาลีม ซีนาย, ศิวะ และปารวตี มีบทบาทสำคัญกว่าใครอื่น เป็นผู้ที่เกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์อินเดีย ทั้งเป็นฝ่ายกระทำและเป็นฝ่ายถูกกระทำ

พูดอีกแบบคือ ซาลีม ซีนายเป็นผู้ทำให้เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์เกิดขึ้น (ตามที่เราท่านสดับรับทราบ) และบางครั้งก็ตกเป็นฝ่ายถูกเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ผลักดัน ได้รับผลกระทบ จนชีวิตต้องพบจุดหักเหผันผวน

เพื่อให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น ชีวิตของซาลีม ซีนาย ก็คล้ายๆ ฟอเรสต์ กัมพ์ ซึ่งไปข้องเกี่ยวพัวพันกับเหตุการณ์คลื่นใหญ่ลมแรงทางสังคมอยู่ตลอดเวลา ต่างเพียงแค่โลกของซาลีม ซีนายนั้นสลับซับซ้อน หนักหนาสาหัส และเข้มข้นถึงเลือดถึงเนื้อกว่าเยอะ

ความสนุกบันเทิงส่วนหนึ่งของ Midnight’s Children อยู่ที่การเล่า ‘ชีวิตพิสดาร’ ของตัวเอก และดำเนินไปบรรจบประสบกับเหตุการณ์ใหญ่ในประวัติศาสตร์อยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นการสังหารหมู่ที่สวนสาธารณะชเลียนวาลา บาค เมืองอัมริตสาร์ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 1917 (ในเหตุการณ์นี้ ซาลีม ซีนายยังไม่เกิด ผู้มีส่วนร่วมคือคุณตาของเขา), การประกาศเอกราช, ความขัดแย้งระหว่างมุสลิมกับฮินดู จนนำไปสู่การแยกประเทศเป็นปากีสถาน (และบังกลาเทศในอีกหลายปีต่อมา), สงครามระหว่างอินเดียกับจีน ฯลฯ

ที่น่าสนใจคือ เรื่องเล่าของซาลีม ซีนาย ไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เหล่านี้ออกมาเป็นภาพที่คมชัด ไม่ได้ให้ข้อมูลความเป็นมาเป็นไปในลักษณะรายงานข่าวหรือการสรุปเหตุการณ์ แต่สะท้อนผ่านวรรณศิลป์ ทำให้เกิดเป็นภาวะกึ่งจริงกึ่งฝัน เป็นแฟนตาซี แต่ที่น่าทึ่งคือ มันจับพุ่งเข้าเป้า ทำให้ผู้อ่านเข้าใจบรรยากาศและอารมณ์ความรู้สึกของเหตุการณ์เหล่านั้นได้อย่างยอดเยี่ยม

เช่นเดียวกับชีวิตของซาลีม ซีนาย ประวัติศาสตร์อินเดียที่เล่าผ่านนิยายเรื่องนี้ก็พิสดารพอๆ กัน

ชั้นเชิงอีกอย่างหนึ่งของซัลมาน รัชดี ก็คือ เขาสร้างซาลีม ซีนาย ให้เป็นผู้เล่าเรื่องที่ไม่น่าเชื่อถือ ทั้งการจดจำข้อมูลบางอย่างผิดพลาด และสารภาพกับผู้อ่าน พร้อมทั้งยืนกรานต่อการความทรงจำที่คลาดเคลื่อนของตนเองต่อไป

Midnight’s Children มีคุณสมบัติประการหนึ่งของวรรณกรรมคลาสสิกหรืองานเขียนชั้นเลิศ นั่นคือมันไม่ได้สะท้อนประเด็นความคิดเดียว แต่อัดแน่นไปด้วยแง่มุมหลายหลากมากมาย ประหนึ่งจับโลกและชีวิตบรรจุเข้าไว้ในหนังสือเล่มเดียว

นอกจากบอกเล่าชีวิตคนกับชีวิตประเทศที่แยกจากกันไม่ขาด นิยายเรื่องนี้ยังพูดถึงความทรงจำดิ้นได้ การฉ้อฉลและเล่ห์กลของเวลา ความเป็นหนึ่งเดียวและความหลากหลายของอินเดีย ความขัดแย้งเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา ผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ ตำนานปรัมปรากับชีวิตปัจจุบัน ความละม้ายพ้องพานกันนับครั้งไม่ถ้วน จนเหมือนการอุบัติซ้ำย่ำอยู่ในร่องรอยเดิม

ย่อหน้าข้างต้นนั้น ผมคิดว่ายังสาธยายแจกแจงได้ไม่หมดครบถ้วน ไล่เรียงไปตามเท่าที่พอจะนึกออกจำได้ แต่รวมความแล้ว ผมอยากสรุปอย่างนี้ครับ ว่ามันเป็นการพรรณนาถึงรายละเอียด ความขัดแย้งตรงข้าม ความหลากหลายอันสุดที่จะพรรณาได้หวาดไหว

ทั้งหมดนี้ตรงกับคุณลักษณะของประเทศอินเดีย ซึ่งหนังสือท่องเที่ยวหลายๆ เล่ม นิยามไว้ตรงกันว่า amazing และนิยายเรื่อง Midnight’s Children ก็สะท้อนภาพจิตวิญญาณความเป็นอนุทวีปอันน่าทึ่งของอินเดียออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม (ด้วยลีลาวิธีการแบบสัจนิยมมหัศจรรย์)

มีรายละเอียดคล้ายๆ ชิ้นส่วนจิกซอว์ ที่ชวนให้ผู้อ่านนำมาเชื่อมโยง ปะติดปะต่อ และค้นหาความหมายอยู่เต็มไปหมดในนิยายเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวถึงงูอยู่ตลอดทั้งเรื่อง การเทียบเคียงระหว่างการดองผักถนอมอาหารกับการเขียนเรื่องเล่าของซาลีม ซีนาย (ทั้งสองสิ่งมีความเหมือนกันตรงที่ ต่างก็เป็นการถนอมรักษาบางสิ่งบางอย่างเอาไว้), กระโถนเงิน, ผ้าที่มีรูขาดตรงกึ่งกลาง เส้นผ่านศูนย์กลางเจ็ดนิ้ว (ซึ่งเชื่อมโยงไปถึง การเปิดเผยทีละเสี้ยวส่วน ซึ่งพ้องกับเนื้อเรื่องเหตุการณ์หลายๆ ครั้ง และพูดอีกแบบได้ว่า เป็นหัวใจหลักของวิธีการเล่าเรื่องของนิยาย), รอยแตกและการรั่วไหล, การเป็นผู้สร้างและผู้ทำลาย (รวมถึงความเป็นคู่ตรงข้ามอีกสารพัดชนิดที่นิยายให้รายละเอียดไว้ตลอดทั่วทั้งเรื่อง), ความลับและการเก็บซ่อนความรู้สึกผิด, ความเป็นผู้มีความสามารถพิเศษของซาลีม ซีนาย ในการสร้างพ่อแม่จำนวนมาก ตามเนื้อเรื่องซาลีม ซีนาย มีพ่อและแม่จำนวนมาก ทั้งผู้ให้กำเนิดที่เกี่ยวข้องกันทางสายเลือด พ่อที่เลี้ยงดูจนเติบโต พ่อผู้มีพระคุณช่วยชีวิต จนเหมือนถือกำเนิดใหม่ จนท้ายที่สุดก็ยากจะสรุปว่าใครคือพ่อแม่ที่แท้จริง เช่นเดียวกับความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์และความเป็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของอินเดีย ซึ่งเหมือนการผสานรวมจากสารพัดแหล่งที่มา จนยากจะระบุอัตลักษณ์ที่แท้จริงได้ว่าเป็นอย่างไร

ในข้อเขียนชิ้นนี้ผมแทบไม่ได้แตะต้องเนื้อเรื่องย่อๆ เลยนะครับ ตรงนี้มีหลายสาเหตุ

อย่างแรกคือ พล็อตของ Midnight’s Children นั้นยอกย้อนพิสดาร มีความลับซุกซ่อนตลอดทั่วเส้นเรื่อง

ถัดมาคือ การเล่าเป็นเรื่องย่อสรุปไม่ดึงดูดเร้าใจเทียบเท่าวิธีค่อยๆ แง้ม ค่อยๆ เผยดังเช่นที่เป็นอยู่ในนิยาย

ประการสุดท้ายคือ มันเป็นนิยายที่มุ่งแสดงรายละเอียด มีการเฉลยความลับสำคัญต่างๆ ให้ผู้อ่านรู้ล่วงหน้าอยู่ตลอดเวลา แล้วก็พาทัวร์ไปเจอะเจอนู่นนี่นั่นนั้นโน้น จนผู้อ่านลืมความลับที่ได้ล่วงรู้ (หรือบางครั้งถ้าเรายังจำได้ ก็จะเกิดเป็นความสงสัยว่าเรื่องจะนำพาไปสู่เหตุการณ์เฉลยข้อสอบเหล่านั้นได้อย่างไร) ครั้นถึงจังหวะเหมาะๆ จึงค่อยตลบหลังสร้างความประหลาดใจ กลายเป็นจังหวะจบที่เฉียบขาด ฉับพลัน

สำหรับผมแล้ว Midnight’s Children เป็นสิ่งอัศจรรย์ในโลกวรรณกรรม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save