fbpx
An Evening with Salman Rushdie

An Evening with Salman Rushdie

สุนันทา วรรณสินธ์ เบล เรื่องและภาพ

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

“งานศิลปะไม่ใช่เพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่สามารถเป็นได้หลายสิ่ง เชคสเปียร์ได้แสดงให้เราเห็น” ซัลมาน รัชดี กล่าวในงานเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ล่าสุด Quichotte ณ Church House Conference Centre กรุงลอนดอน เย็นวันที่ 29 สิงหาคม 2562

ฉากเปิดของละครแฮมเล็ตเป็นเรื่องผี ต่อมาเป็นเรื่องการเมือง การชิงอำนาจ ความขัดแย้งในครอบครัว การแก้แค้น จากนั้นก็มีเรื่องของความรักใคร่ของหนุ่มสาว รักระหว่างพี่น้องและคนในครอบครัว ผีโผล่มาอีกครั้ง มีเรื่องตลกคั่นแทรก จบด้วยฆาตกรรมนองเลือดในฉากสุดท้าย ละครแฮมเล็ตไม่ได้เป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว แต่มีความหลากหลายในตัว

ความหลากหลายหรือความเป็น ‘พหุ’ เช่นนี้ อาจเป็นคำนิยามของรัชดีและงานเขียนของเขาได้เป็นอย่างดี ความหลากหลายนี้สะท้อนในกลุ่มผู้ฟังเช่นกัน ผู้มาร่วมงานเปิดตัวหนังสือครั้งนี้ประกอบด้วยคนหลายวัย หลายเชื้อชาติและสีผิว นอกจากกลุ่มผู้มาร่วมงานแล้ว รัชดียังมีกลุ่มนักอ่านที่ติดตามผลงานของเขาทั่วโลกอีกหลายล้านคน

ความเป็น ‘พหุ’ นี้เองที่ดึงดูดผู้เขียนสู่งานเขียนของรัชดีและมาร่วมงานเปิดตัวหนังสือครั้งนี้ ผู้เขียนได้รับการแนะนำให้รู้จักรัชดีครั้งแรกในชั้นเรียน Postcolonial Literature สมัยเรียนปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ ผ่านผลงานเรื่อง Midnight’s Children ซึ่งเป็นนวนิยายที่มีความลุ่มลึกและซับซ้อนมากจนผู้เขียนตัดสินใจทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับการเล่าเรื่องในนวนิยายเรื่องนี้ รวมทั้งเรื่อง Shame และ Satanic Verses ซึ่งผู้เขียนเรียกทั้งสามเล่มนี้รวมกันว่า Rushdie’s Trilogy

ในช่วงที่เรียนปริญญาเอกอยู่นั้น ผู้เขียนกระอักกระอ่วนที่จะเรียกตัวเองว่าเป็น ‘แฟน’ รัชดี (คนมักทำหน้าและเสียงแปลกๆ ถ้าบอกว่าชอบอ่านรัชดี) ทั้งที่อ่านหนังสือของเขาทุกเล่ม ทั้งนวนิยายและงานเขียน non-fiction แต่ปัจจุบันผู้เขียนยอมรับ ‘ป้าย’ นี้แล้ว ทั้งยังได้มีโอกาสแปลหนังสือของเขาถึงสามเล่มอีกด้วย

ดังนั้น เมื่อทราบข่าวว่ารัชดีเขียนหนังสือเล่มใหม่และจะมีงานเปิดตัวในลอนดอน ผู้เขียนจึงมิอาจพลาดโอกาสนี้ มาถึงสถานที่จัดงานก่อนงานเริ่มหนึ่งชั่วโมงและก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเปิดให้เข้างาน 15 นาที โดยหวังว่าจะรีบมาซื้อหนังสือเตรียมไว้ก่อนงาน หาที่นั่งแถวริมใกล้ประตู เพื่อที่ว่าเมื่อการสนทนาจบลง ผู้เขียนจะรีบวิ่งไปต่อแถวเพื่อขอลายเซ็นนักเขียนในดวงใจ ปรากฏว่าต่อแถวได้เป็นคนที่ 4 นับเป็นความภาคภูมิใจของแฟนตัวจริง

ก่อนหน้านี้ผู้เขียนเคยพบกับรัชดีในงานเปิดตัวหนังสือ Two Year Eight Months and Twenty-Eight Nights ที่ศูนย์บาร์บิคัน กรุงลอนดอน เมื่อสี่ปีก่อน ครั้งนั้นตื่นเต้นมากเมื่อได้พบนักเขียนในดวงใจและพูดพล่ามไม่ได้ความ คราวนี้จึงเตรียมบทพูดแนะนำตัวมาพร้อม และเตรียมหนังสือ สองปี แปดเดือน กับยี่สิบแปดคืน ฉบับแปลไทยมาให้รัชดีลงนาม

 

บรรยากาศภายในงานเปิดตัวหนังสือ Quichotte ณ Church House Conference Centre กรุงลอนดอน

 

ตัดกลับมาที่งานเปิดตัวหนังสือ Quichotte เมื่อผู้เขียนเข้านั่งประจำที่ใกล้ทางออกดังที่เล่า ก็กวาดตามองไปรอบห้อง พบว่าหลายคนมาคนเดียว นั่งที่ริมสุดในแถวอื่นๆ ใกล้ทางออกเช่นกัน จึงมั่นใจว่าแฟนพันธุ์แท้จอมวางแผนและมากประสบการณ์ไม่ได้มีเพียงคนเดียว

เมื่องานเริ่ม Razia Iqbal จาก BBC ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ แม้ว่าคนที่มีชื่อเสียงก้องโลก เป็นที่รู้จักดี ไม่จำเป็นต้องกล่าวแนะนำ แต่ทว่าสมควรได้รับคำแนะนำที่ละเอียดและสมเกียรติ

รัชดีเกิดในกรุงบอมเบย์ (เมืองที่รัชดีปฏิเสธไม่ยอมเรียกว่ามุมไบ) ในครอบครัวชาวมุสลิมที่มีพื้นเพจากแคชเมียร์ เมื่ออายุได้ 14 ปี เขาย้ายมาที่ประเทศอังกฤษเพื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนรักบี้ และศึกษาประวัติศาสตร์ ณ คิงส์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ หลังจบการศึกษาเขาทำงานโฆษณาอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะเป็นนักเขียนเต็มตัว เขาใช้ชีวิตอยู่ในลอนดอนนานหลายสิบปี ก่อนจะย้ายมาพำนักในนครนิวยอร์กในช่วงเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา และยังผลิตผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง Quichotte เป็นนวนิยายเล่มที่ 14 ของเขา

ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้แก่เขาคือนวนิยายเล่มที่สอง เรื่อง Midnight’s Children ตีพิมพ์ในปี 1981 หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัล Booker Prize ในปีเดียวกัน และได้รับเลือกให้เป็น The Best of the Booker Prize ถึงสองครั้งในปี 1993 และ 2008 ในโอกาสที่ Bookers ฉลองครบรอบ 25 และ 40 ปีตามลำดับ ผลการประกาศรางวัลหนังสือดีเด่นที่สุดของ Bookers มาจากคะแนนเสียงของมหาชน นับเป็นเครื่องยืนยันถึงฝีมือของผู้เขียนและคุณค่าของหนังสือได้เป็นอย่างดี และ Quichotte นวนิยายเล่มใหม่นี้ก็อยู่ใน longlist ของ Booker Prize ปีนี้ด้วย

ชื่อของรัชดีเป็นที่รู้จักพร้อมกับคำว่า ‘ฟัตวา’ เมื่อในปี 1989 อยาตอลเลาะห์ โคไมนี แห่งอิหร่านประกาศฟัตวา สั่งให้ชาวมุสลิมผู้เคร่งครัดในศาสนาสังหารรัชดีหากมีโอกาส เนื่องด้วยรัชดีเป็นมารศาสนา จากนวนิยายเรื่อง Satanic Verses ทำให้รัชดีต้องใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ เป็นเวลาถึง 10 ปี เขาได้เขียนบันทึกประสบการณ์ชีวิตในช่วงนั้นในหนังสืออัตชีวประวัติเรื่อง Joseph Anton (ชื่อที่เขาใช้ระหว่างหลบซ่อน โดยได้แรงบันดาลใจจากนักเขียนที่เขาชื่นชอบสองคน คือ Joseph Conrad และ Anton Chekov)

Quichotte หนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของเขา ได้รับแรงบันดาลใจจาก Don Quixote ของ Miguel De Cervantes และ Conference of the Birds บทกวีชิ้นเอกของเปอร์เชีย เป็นการผสมผสานอิทธิพลจากวรรณกรรมชิ้นเอกจากทางตะวันออกและตะวันตกแบบที่รัชดีถนัด

กิช็อต ตัวละครเอก เป็นเซลส์แมนวัยกลางคน ชีวิตไม่เป็นโล้เป็นพาย ผ่อนคลายและหลบหนีจากความเป็นจริงด้วยการดูรายการโทรทัศน์อย่างคลั่งไคล้ และตกหลุมรักดาราในทีวีนาม ซัลมา อาร์. เขาจึงตัดสินใจเดินทางผจญภัยข้ามสหรัฐอเมริกาเพื่อไปพบเธอที่นิวยอร์ก หวังว่าวีรกรรมระหว่างทางจะสามารถชนะใจเธอจนเธอรับรักและยอมแต่งงานกับเขา ระหว่างทางเขาขอพรจากดาวตกให้มีลูกชาย เด็กชายวัยรุ่นจึงปรากฏตัวบนเบาะหลังรถ ตอนแรกปรากฏเป็นร่างขาวดำเหมือนในโทรทัศน์สมัยก่อน ต่อมาจึงพัฒนาจนมีสีสันครบ

กิช็อตคนพ่อเป็นคนที่เปี่ยมด้วยความหวัง ขัดกับสายตาวิพากษ์วิจารณ์เจนโลกของซานโชผู้เป็นบุตร ความสัมพันธ์ของทั้งสองพัฒนาขึ้นระหว่างการเดินทางผจญภัยต่างๆ นานา ในรัฐที่คนมักบินข้ามผ่านและดินแดนที่คนมองข้ามในยุคที่ “อะไรก็เกิดขึ้นได้” ซึ่งเป็นฉากหลังให้รัชดีร่ายเวทมนตร์สร้างความเหนือจริงตามแบบฉบับของเขา

ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ รัชดีได้ทดลองวิธีการเขียนแบบใหม่สำหรับตัวเขา นั่นคือการให้ตัวละครเป็นนักเขียน และเขียนสะท้อนปัญหาชีวิตของตน ศึกษาและรับมือกับปัญหาชีวิตผ่านการเขียน (กิช็อตเป็นตัวละครที่แซม ดูชอง นักเขียนนวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน ซึ่งเป็นตัวละครในอีกเส้นเรื่องหนึ่งสร้างขึ้น) แม้ว่าการเล่าเรื่องแบบ ‘กล่องจีน’ หรือเรื่องเล่าซ้อนในอีกเรื่องหนึ่ง สไตล์ พันหนึ่งราตรี เป็นธีมหนึ่งที่รัชดีคุ้นเคย แต่การเขียนเกี่ยวกับนักเขียนและกระบวนการเขียนนั้น รัชดีมองว่าเป็นสไตล์ที่เขาไม่ชอบนัก และขณะเขียนก็ไม่แน่ใจว่าจะนำเส้นเรื่องนี้ประสานเข้ากับเรื่องหลักได้หรือไม่ จนเขาเริ่มถอดใจและคิดว่าอาจต้องตัดส่วนนี้ออก แต่แล้ววันหนึ่งทุกอย่างก็กลับแจ่มชัด การเปิดใจทดลองสิ่งใหม่ทำให้เขาได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองยิ่งขึ้น

 

 

เช่นเคย นวนิยายของรัชดีกล่าวถึงประเด็นหลากหลาย รวมถึงการเมือง การเหยียดผิวสี วัฒนธรรมจากที่ต่างๆ ของโลก ประวัติศาสตร์ ความรัก สิ่งมหัศจรรย์ กล่าวอ้างถึงผลงานวรรณกรรมและวัฒนธรรมประชานิยม โยงเรื่องจริงกับเรื่องแต่งเข้าด้วยกันจนเส้นแบ่งเลือนลาง ใช้ศัพท์สูงภาษายากปนกับคำหยาบโจ่งแจ้ง ผู้อ่านจะพบประเด็นแตกต่างหลากหลายมากมายในงานเขียนของรัชดี ตัวผู้เขียนเองมองว่าการอ่านนวนิยายของรัชดีเหมือนการนั่งรถไฟเหาะตีลังกาผ่านบ้านผีสิง ความตื่นเต้นมีจังหวะขึ้นลง บางครั้งผ่อนคลาย บางครั้งสนุกจนต้องส่งเสียงกรีดร้อง ทั้งยังไม่รู้ว่าตัวอะไรจะโผล่ออกมาจากซอกมุมใด

ความหลากหลายที่ว่านี้ปรากฏในการพูดคุยกับรัชดีในคืนวันเปิดตัวหนังสือของเขาเช่นกัน นอกจากเล่าถึงหนังสือเล่มใหม่ของเขาแล้ว รัชดียังถกประเด็นและตอบคำถามหลากหลายจากผู้ฟังและผู้ดำเนินรายการ รัชดีขึ้นชื่อว่าเป็นผู้สนับสนุน free speech หรือเสรีภาพการแสดงออก จึงมีคนขอให้เขาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ ในโอกาสที่ครบรอบ 30 ปีหลังการประกาศฟัตวา เสรีภาพในการแสดงออกในโลกได้เดินทางมาถึงจุดใด

รัชดีกล่าวว่า freedom of expression หรือ freedom of speech นั้น ไม่เหมือนกันในแต่ละแห่ง คนให้คำจำกัดความและเข้าใจคอนเซ็ปต์นี้ต่างกัน ในสหราชอาณาจักร มีกฎหมายที่ห้ามมิให้กล่าวร้ายหรือเหยียดคนด้วยพื้นฐานจากความแตกต่างทางกายภาพ รูปร่างหน้าตา สีผิว หรือความเชื่อและศาสนา ฯลฯ ดังนั้นพวกที่เหยียดสีผิวหรือรังเกียจชาวต่างชาติจึงไม่สามารถแสดงความเห็นได้โดยไม่มีความผิด หลายคนมองว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพการแสดงออก แม้ว่าการแสดงออกเช่นนั้นไม่เข้าหูคนบางกลุ่ม ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา เสรีภาพนี้มีบทบัญญัติข้อ 1 เป็นพื้นฐานรองรับ คนจึงถกกันเรื่องความเชื่อต่างๆ ได้อย่างเสรี

ในตอนแรกที่รัชดีย้ายถิ่นฐานไปอเมริกา เขาก็อึดอัดใจเรื่องนี้ แต่นานวันเข้า เขาก็ปรับตัวและคิดว่าหากมีกลุ่มคนที่เหยียดชาติพันธุ์ เป็นต้น เขาอยากรู้ว่าคนพวกนี้คือใครและอยู่ที่ไหน เขาจะได้ไปจัดการ (ผู้ฟังหัวเราะ) หรือรู้ว่าจะต้องวิ่งหนีไปทางใด

รัชดีมองว่าการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น แม้ว่าเป็นความคิดเห็นรุนแรงและขัดใจคนฟัง แม้ว่าเป็นความคิดที่อาจก่ออันตราย คนกลุ่มนั้นก็ควรมีสิทธิ์ได้พูด เพื่อที่ฝ่ายที่เห็นต่างมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงให้เห็นถึงเหตุผลที่เหนือกว่า นั่นเป็นวิธีการต่อกรกับความคิดสุดโต่งที่ดีที่สุด

ต่อมาเมื่อหัวข้อการเหยียดชาติพันธุ์ถูกเอ่ยขึ้น จึงมีคำถามว่ารัชดีเคยมีประสบการณ์ถูกเหยียดบ้างไหม

เขาตอบว่าเขาไม่เคยถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกละเมิดทางวาจาต่อหน้า แม้ว่าในสมัยที่เป็นนักเรียนมัธยมในอังกฤษนั้น เขาตกเป็นเป้าเพราะเขาไม่ใช่คนผิวขาวและไม่เก่งกีฬา แต่บทความ งานเขียน และการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ที่กล่าวถึงเขา หลายครั้งเขาทราบดีว่าคนจะไม่กล่าวแบบนั้นถ้าเขาเป็นคนขาว

เขาเล่าว่ากิช็อต ตัวละครในหนังสือของเขาเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย ประวัติศาสตร์ของคนกลุ่มนี้ในอเมริกาค่อนข้างสับสน ชาวอินเดียกลุ่มแรกๆ เริ่มตั้งรกรากในอเมริกาช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แต่ไม่ให้ได้รับสิทธิ์เป็นประชากร และหลังปี 1917 พวก ‘ฮินดู’ (คำที่ใช้เหมาเรียกคนผิวสีน้ำตาลจากเอเชียใต้โดยรวม) ถูกกีดกันไม่ให้เข้าประเทศ เนื่องจากความแตกต่างด้านชาติพันธุ์

ต่อมาในปี 1965 กฎหมายคนเข้าเมืองเปิดรับพวกเขา หลังเหตุการณ์ 9-11 ชายหนุ่มเชื้อสายอินเดียต้องสวมเสื้อประกาศว่าเป็นคนฮินดู ไม่ใช่มุสลิม และชาวซิกข์โพกศีรษะถูกทำร้าย เพราะคนไม่สามารถแยกแยะระหว่างหมวกกะปิเยาะห์แบบมุสลิมกับทัสตาร์ของชาวซิกข์ได้ แต่อาจเป็นโชคดีของชาวอินเดีย ที่กลุ่มที่ถูกคุกคามมากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกาคือคนผิวดำจากแอฟริกา

ในโอกาสที่ปีนี้ครบรอบ 400 ปี หลังจากเรือผู้อพยพลำแรกเดินทางถึงอเมริกา รัชดีมองว่าประวัติศาสตร์เรื่องนี้ได้เดินหน้าไปไม่ไกลนัก แม้ว่าครั้งหนึ่งครอบครัวคนดำได้เข้าไปอยู่ในทำเนียบขาว หลายคนยังมองว่านั่นเป็นช่วงที่อเมริกา ‘เสื่อมเกียรติ’

เมื่อถามถึงเรื่องบทบาทของ ‘คนของประชาชน’ รัชดีตั้งข้อสังเกตว่านักเขียนควรมีบทบาทแสดงความเห็นต่อสังคมหรือประเด็นปัจจุบันหรือไม่

รัชดีกล่าวว่า เขาไม่สามารถตั้งกฎเกณฑ์ให้กับนักเขียนหรือศิลปินว่าควรทำงานแบบใด ควรสร้างอิทธิพลด้านใด หรือกล่าวถึงประเด็นใด นักเขียนกลุ่มหนึ่งพอใจที่จะศึกษาสภาพของมนุษย์ อารมณ์ความรู้สึก และประสบการณ์มนุษย์ที่เป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งเป็นวิถีที่พึงทำและทำได้ บางคนมองว่าศิลปะต้องสะท้อนโลกภายนอก ซึ่งนั่นก็เป็นมุมมองอีกแบบหนึ่ง แต่โดยส่วนตัวเขามองว่าการแสดงความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ความเป็นไปในโลกผ่านนวนิยายนั้น เป็นกระบวนการที่ช้ามาก กว่าหนังสือจะออก เวลาก็ผ่านไปนาน ไม่น่าจะเป็นสื่อที่นักเขียนควรใช้เพื่อแสดงความเห็นต่อความเป็นไปของโลก แต่ทว่าในการสำรวจอเมริกาในนวนิยายเล่มล่าสุดของเขา เขาไม่อาจทำบางอย่างได้ถ้าไม่เขียนเป็นนวนิยาย เรื่องแต่งมอบความเป็นไปได้และความน่าเชื่อถืออีกแบบหนึ่งให้แก่ปาฏิหารย์และสิ่งมหัศจรรย์

นอกจากนี้ รัชดียังได้พูดคุยเกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งในแคชเมียร์ การรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในต่างประเทศ ข่าวลวง โซเชียลมีเดีย มุมมองของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับชื่อเสียง งานเขียนไซไฟ รายการโทรทัศน์ที่ฉายตอนกลางวันของอเมริกา ฯลฯ คำถามสุดท้ายก่อนปิดเวที มีคนถามว่า “ทำไมยังมีคนพูดถึงฟัตวาโดยโยงเข้ากับชื่อของซัลมาน รัชดี อยู่อีก” ข้อนี้รัชดีตอบว่า “ผมเห็นด้วย”

นอกจากเนื้อหาหนังสือเล่มใหม่และบทสนทนาในงานแล้ว ประเด็นหนึ่งที่คนสนใจคือการรักษาความปลอดภัย รัชดียังต้องหลบซ่อนและเป็นห่วงความปลอดภัยส่วนตัวอยู่หรือไม่ ผู้ไปร่วมงานเปิดตัวหนังสือควรกังวลเรื่องความปลอดภัยหรือไม่

เท่าที่ผู้เขียนสังเกต บรรยากาศในงานนั้นราบรื่นเรียบร้อย ทีมผู้จัดงานมีความพร้อมและไม่เห็นตะเข็บหลังแม้แต่น้อย การส่งอีเมลสื่อสารก่อนงานก็ช่วยสร้างความมั่นใจ สถานที่จัดงานโอ่อ่าและทันสมัย (แม้ว่าค่าตั๋วจะแพงกว่างานเปิดตัวหนังสือ สองปี แปดเดือน กับยี่สิบแปดคืน เมื่อสี่ปีที่แล้วถึงสองเท่า) แต่สิ่งแรกที่ผู้มางานทุกคนต้องพบคือ ชายใส่สูทสีดำร่างใหญ่สองคนขอตรวจกระเป๋าสัมภาระอย่างละเอียด หยิบทุกสิ่งออกมาวางและพินิจพิเคราะห์ว่าวัตถุนั้นเป็นอะไรแน่ เช่น ขวดน้ำดื่มถูกเปิดฝาและยกขึ้นดม พาวเวอร์แบงก์ถูกจับพลิกไปมา หนังสือถูกเปิดหน้าต่างๆ ขณะที่ตามมุมทางเดิน ทางขึ้นลงบันได ประตูห้องประชุม มีคนยืนเป็นคู่ๆ เพื่อบอกทางและ (เดาว่า) จับตาดูไม่ให้ใคร ‘ออกนอกลู่นอกทาง’ ตอนที่นักเขียนแจกลายเซ็นก็มีผู้ชายกล้ามโตยืนเฝ้า เหตุการณ์เช่นนี้คงไม่ใช่ปกติวิสัยของงานเปิดตัวหนังสือโดยทั่วไปเป็นแน่

ดังนั้น การที่คนเกือบ 600 คนไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะอยู่ในสถานที่เดียวกับรัชดี เป็นเครื่องยืนยันว่าเมฆดำแห่งฟัตวาได้พัดผ่านไปแล้ว แม้ว่าคณะผู้จัดงานจะไม่ได้นิ่งนอนใจ ส่วนตัวรัชดีเองเคยถกประเด็นนี้ในอัตชีวประวัติของเขา ในช่วงที่เขาต้อง ‘กบดาน’ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอารักขากะละ 2 นาย ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมคนขับรถอีก 2 คน (คนขับขับอ้อม และรัชดีต้องเปลี่ยนรถระหว่างทางเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีใครติดตาม)

 

 

เขายืนกรานที่จะไปปรากฏตัวตามสถานที่สาธารณะและดำเนินชีวิตตามปกติเท่าที่ทำได้ ท่ามกลางเสียงขัดแย้งและการถกเครียดกับผู้บัญชาการตำรวจหลายครั้ง เพราะเขาเชื่อว่าหากผู้บริสุทธิ์ต้องหลบซ่อนจากคนร้าย กลัวผู้ก่อการร้ายจนสละเสรีภาพส่วนบุคคล นั่นถือว่าสังคมอารยะล้มเหลว ขาดความยุติธรรม เสรีภาพการแสดงออกพ่ายแพ้เพราะยอมจำนนต่อคนที่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ผู้ที่คิดเห็นแตกต่าง

เขามองว่าวรรณกรรมเสนอทางออกในเรื่องนี้ เพราะวรรณกรรมเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจคนที่ไม่เหมือนเรา ดังนั้นเขาจึงต้องต่อสู้เพื่อ “เสรีภาพที่จะแสดงออก เสรีภาพที่จะจินตนาการ เสรีภาพที่จะดำเนินชีวิตโดยปราศจากความกลัว และการเล่าเรื่องซึ่งเป็นศิลปะวิจิตรที่มีมานับแต่โบราณกาล”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save