fbpx

อาชญากรรมและการไถ่บาป Atonement (ตราฝังตรึง)

นิยายเรื่อง Atonement เขียนโดยเอียน แม็คอิวัน ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกปี 2001 และประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Booker Prize ประจำปีนั้น และได้รับการคัดเลือกให้ติดกลุ่ม 100 นิยายภาษาอังกฤษที่ดีที่สุดนับจากปี 1923 เป็นต้นมาโดยนิตยสาร Time เมื่อปี 2020

ผมรู้จักงานเขียนชิ้นนี้ครั้งแรกผ่านการดัดแปลงเป็นหนังเมื่อปี 2007 โดยฝีมือการกำกับของโจ ไรต์ ดูหนังจบแล้วผมก็ชอบมาก นึกอยากอ่านฉบับนิยายเป็นที่สุด ด้วยอยากทราบว่าระหว่างหนังกับนิยายจะมีความเหมือนความต่างกันอย่างไรบ้าง และที่ผมสนใจใคร่รู้มากสุดคือนิยายจะมีวิธีการดำเนินเรื่องเช่นไร (เท่าที่เห็นจากหนัง วิธีดำเนินเรื่อง จัดวางลำดับต้น กลาง ปลาย เป็นส่วนที่ยอดเยี่ยมน่าประทับใจมาก)

เมื่อมีโอกาสได้อ่านตัวนิยาย ผมก็พบว่าเหมือนกันแบบตรงเผงเลยนะครับ และที่ได้รับมากกว่าหนังคือการใช้มุมมองผู้เล่าเรื่องเป็นบุคคลที่สาม (พูดง่ายๆ คือผู้เขียนนิยายเรื่องนี้) ผ่าน 3 ตัวละครหลัก แบบที่แต่ละคนสามารถรับรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ อย่างมีข้อจำกัด เฉพาะส่วนที่ตนเองพบเห็นเท่านั้น มุมมองการเล่าเรื่องเช่นนี้ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจความนึกคิดของตัวละครหลักได้ละเอียดถี่ถ้วนกว่าหนัง ที่สำคัญ ยังเกี่ยวโยงกับเนื้อหาเรื่องราวในแง่ของการกระทำ ซึ่งส่งผลให้เกิดเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างในเวลาต่อมา และสอดคล้องขานรับกับแก่นเรื่องที่นำเสนอ

Atonement เป็นวรรณกรรมแบบที่เรียกกันว่า metafiction หรือนิยายที่เล่าถึงเบื้องหลังความเป็นมาของตัวมันเอง พูดให้เข้าใจง่ายขึ้น นอกจากจะเล่าเรื่องต่างๆ ดังเช่นนิยายทั่วไปแล้ว อีกด้านหนึ่ง มันก็ค่อยๆ เผยถึงการก่อรูปขึ้นเป็นนิยายเรื่องนี้ ไปพร้อมๆ กัน (ที่ผมอธิบายมานี้อาจฟังชวนงุนงงสับสน แต่ท่านที่อ่านนิยายเรื่องนี้จนจบน่าจะเข้าใจกระจ่าง และรู้สึกว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อนเลยสักนิด)

อย่างไรก็ตาม แง่มุมที่เกี่ยวข้องกับความเป็น metafiction ในนิยายเรื่องนี้ ผูกร้อยพัวพันกับความลับสำคัญหลายประการ ผมจึงขออนุญาตผ่านข้ามไม่กล่าวถึงนะครับ

เรื่องราวใน Atonement แบ่งออกเป็น 4 ภาค

ภาคแรกมีความยาวมากสุด (ตกประมาณครึ่งเรื่อง) เล่าถึงเหตุการณ์ในปี 1935

ไบรโอนี ทัลลิส เด็กหญิงวัย 13 ปี เป็นคนช่างคิดช่างฝัน นิยายพรรณนาตัวเธอไว้ว่า “เธอเป็นหนึ่งในบรรดาเด็กซึ่งถูกครอบงำด้วยความปรารถนาให้โลกหมุนไปตามใจตน” และ “หลงใหลในความลับ” และ “แต่ในความพยายามอันเร่อร่าครั้งแรกนี้ ช่วยให้เธอได้เห็นว่า จินตนาการนั่นเองเป็นแหล่งที่มาของความลับ”

ไบรโอนีเขียนบทละครสั้นๆ เรื่อง ‘บททดสอบของอราเบลลา’ และเตรียมจัดแสดงเพื่อต้อนรับการกลับบ้านของลีออน ผู้เป็นพี่ชาย เธอทุ่มเทชนิดลืมโลกรอบข้างเพื่อละครเรื่องนี้ แต่แล้วกลับล้มเหลวไม่เป็นท่า ต้องเลิกรายุติลงตั้งแต่ยังอยู่ในช่วงฝึกซ้อม

ความผิดหวังจากละครส่งผลให้ไบรโอนีอยู่ในอารมณ์เคว้งคว้างว่างเปล่าไร้จุดหมาย และนำพาตัวเธอไปพบเห็นเหตุการณ์บางอย่างจากระยะไกล ระหว่างซิซีเลีย ผู้เป็นพี่สาว กับร็อบบี เทอร์เนอร์ ลูกชายของแม่บ้าน

เด็กหญิงคิดและเข้าใจเอาเอง (ตามประสาคนร่ำรวยจินตนาการ) ว่าชายหนุ่มกำลังคุกคามข่มขู่พี่สาวของเธอ และเหตุการณ์อีกหลายครั้งที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมายิ่งตอกย้ำสนับสนุนความเชื่อดังกล่าวให้พูนทวียิ่งๆ ขึ้น จนนำไปสู่การตัดสินใจทำบางสิ่ง ด้วยเจตนาช่วยเหลือซิซีเลียจากการถูกทำร้าย

อีกมุมหนึ่ง ความปั้นปึ่งและกระทบกระทั่งกันที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้งระหว่างซิซีเลียกับร็อบบีไม่ใช่เหตุการณ์มุ่งร้ายต่อกัน แต่เป็นการแสดงออกที่สวนทางกับความในใจ ฝ่ายหญิงทำไปด้วยอารมณ์หงุดหงิดขัดเคือง โดยไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงว่าเพราะอะไร ขณะที่ฝ่ายชายทราบดีและทำเช่นนั้นเพื่อระมัดระวังรักษาระยะห่าง จนเมื่อการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นอีกบ่อยครั้ง คนหนึ่งก็ค้นพบความรู้สึกเบื้องลึกของตนเองว่าคืออะไรและหมายถึงอะไร ขณะอีกคนก็สูญเสียความอดกลั้นยั้งใจต่อความปรารถนาลึกเร้นที่มีอยู่

แปลความย่อหน้าที่แล้วได้ง่ายๆ ว่า ท้ายสุดชายหนุ่มหญิงสาวก็พบว่าต่างตกหลุมรักกันและกัน

เมื่อเรื่องราวระหว่างตัวละครหลักทั้งสามคือ ไบรโอนี ซิซีเลีย และร็อบบี จรมาบรรจบพบกัน ความรักที่เพิ่งเผยประจักษ์ก็ถูกทำลายลงย่อยยับ ด้วยอาชญากรรมไร้เดียงสาอันเกิดจากความเข้าใจผิดและคิดเป็นตุเป็นตะไปเอง กระทั่งกลายเป็นความเสียหายใหญ่หลวงที่ไม่อาจซ่อมแซมเยียวยาให้กลับมาคืนดีได้ดังเดิมอีกต่อไป

ภาค 2 จับความเหตุการณ์ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นการเล่าสลับระหว่างปัจจุบันกับอดีต

ส่วนที่เป็นปัจจุบัน เล่าถึงร็อบบีซึ่งถูกส่งตัวไปเป็นทหารในสมรภูมิที่ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับการลดหย่อนผ่อนโทษจากอาชญากรรมที่เขาไม่ได้ก่อ หน่วยรบที่เขาสังกัดแตกพ่าย และได้รับคำสั่งให้ล่าถอยไปที่ดันเคิร์ก

เป็นเรื่องราวว่าด้วยการเดินทางระหกระเหิน เผชิญกับอันตรายมากมายตามรายทาง ความโหดร้ายรุนแรงสยดสยองอันเกิดจากสงคราม ความพินาศสูญเสียต่างๆ นานาที่พบเห็นอยู่ตลอดเวลา ความอดอยากหิวโหย และอุปสรรคขวากหนามหลากหลายระลอก

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมดังกล่าว ร็อบบีมีเจตจำนงมุ่งมั่นเพียงหนึ่งเดียว คือการมีชีวิตรอดปลอดภัยกลับไปอังกฤษ โดยมีคำพูดสั่งลาก่อนพรากจากกันของซิซีเลียว่า “ฉันจะรอคุณ กลับมานะ” เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวประโลมใจ และอาจกล่าวได้ว่าเป็นเหตุผลในการมีชีวิตของชายหนุ่ม

ส่วนเหตุการณ์อดีต ซึ่งสลับแทรกมาเป็นระยะๆ ผ่านความคิดคำนึงของร็อบบีระหว่างเดินทางถอยทัพ ไม่ได้เรียงลำดับตามวันเวลา แต่มีลักษณะเป็นห้วงๆ ทั้งความครุ่นคำนึงถึงซิซีเลียผู้เป็นที่รัก ความทุกข์ยากแสนสาหัสจากการรับโทษ (ซึ่งชายหนุ่มรู้สึกว่านรกในสนามรบยังมีสภาพดีเสียกว่า) ความขมขื่นจากความอยุติธรรม ความเคียดแค้นชิงชังในตัวไบรโอนีชนิดไม่มีวันให้อภัย ที่สำคัญคือการเทียบเคียงระหว่างอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในปี 1935 ซึ่งร็อบบีเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่กลับต้องรับกรรมและกลายเป็นที่ชิงชังรังเกียจของผู้เกี่ยวข้องแทบทุกคน ขณะที่ในระหว่างสงคราม มีอาชญากรรมมากมายเกิดขึ้นและเลวร้ายหนักหนากว่าหลายเท่า แต่กลับไม่มีใครเป็นคนผิด ชดใช้สิ่งที่กระทำลงไป หรือต้องกลายเป็นคนมีประวัติเปรอะเปื้อนมลทินมัวหมอง

เหตุการณ์ในภาค 3 เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน (สงครามโลกครั้งที่ 2) ไบรโอนีเติบโตกลายเป็นสาววัย 18 โดนความรู้สึกผิดจากอาชญากรรมที่เธอก่อขึ้นในอดีตหลอกหลอนกัดกินใจอย่างทุกข์ทรมาน หลังเธอค่อยๆ ระแคะระคายพบความจริงในอีกแง่มุมหนึ่ง ล่วงรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นกับร็อบบี รวมถึงการที่ซิซีเลียสะบั้นสัมพันธ์ไม่เหลือเยื่อใยกับครอบครัว (และไบรไอนี)

หน้า 277 ในนิยาย สรุปใจความภาคนี้ได้กระชับชัดเจนว่า “หากมีสิ่งใดเกิดขึ้นกับร็อบบี หากซิซีเลียกับร็อบบีไม่มีวันได้อยู่ด้วยกัน… ความทุกข์ทรมานที่เธอแอบซ่อนไว้ภายในกับสงครามที่ปะทุขึ้นภายนอกคล้ายเป็นโลกที่แยกออกจากกันมาโดยตลอด แต่มาบัดนี้เธอเข้าใจแล้วว่าสงครามอาจยิ่งตอกย้ำอาชญากรรมที่เธอได้กระทำลงไป…”

รายละเอียดอีกอย่างหนึ่งที่เน้นกันอย่างละเอียดถี่ถ้วนในภาค 3 ได้แก่ การตัดสินใจละทิ้งโอกาสเรียนมหาวิทยาลัยของไบรโอนี และเลือกเป็นพยาบาลอาสาสมัคร เผชิญกับการฝึกอย่างเข้มงวดและการดูแลรักษาทหารบาดเจ็บจากสงคราม ซึ่งระคนปนกันระหว่างความสยดสยอง น่าขยะแขยง กับความหม่นเศร้าสะเทือนใจ

พูดกว้างๆ มันเป็นความพยายามและกระบวนการไถ่บาปของไบรโอนี แต่ท้ายที่สุด ชีวิตเหน็ดเหนื่อยตรากตรำในการเป็นพยาบาลก็ช่วยหญิงสาวได้เพียงแค่มีเหตุจดจ่อเฉพาะหน้า จนเธอลืมนึกถึงความผิดในอดีตไปชั่วครั้งชั่วคราว

ใน Atonement พูดถึงความเสียหายและการซ่อมแซมแก้ไขอยู่หลายครั้ง ที่เด่นชัดก็เช่น แจกันที่เกิดแตกหักและนำมาติดกาว ผมก็เลยคิดเล่นๆ ได้ต่อไปอีกว่า การเป็นพยาบาลของไบรโอนีก็เป็นอีกความพยายามจะซ่อมแซม (การดูแลรักษาผู้บาดเจ็บ) ของเหล่าทหาร ซึ่งเป็นสิ่ง ‘ชำรุดเสียหาย’ จากสงคราม

อย่างไรก็ตาม ‘ความเสียหาย’ ในนิยายเรื่องนี้ ก็มีทั้งที่ ‘ซ่อมได้’ และเกินเยียวยาให้กลับมาดีดังเดิมนะครับ การชดใช้ความผิดและการไถ่บาปก็เช่นเดียวกัน

ภาคสุดท้าย ซึ่งในนิยายไม่ใช้ว่า ภาค 4 แต่โปรยว่า ‘ลอนดอน, 1999’ เล่าถึงไบรโอนีในวัยชรา เหตุการณ์หลักคือเธอเดินทางไปร่วมงานเลี้ยงวันเกิดอายุครบ 77 ปี ซึ่งจัดขึ้นโดยญาติๆ และลูกหลาน

เหตุการณ์ในช่วง ‘ลอนดอน, 1999’ เล่าสรุปได้ค่อนข้างยากอยู่สักหน่อยนะครับ เพราะเต็มไปด้วยความลับต้องห้ามสารพัดสารพัน แต่สามารถพูดเลี่ยงๆ ได้ว่าเป็นชั้นเชิงการเขียนที่ชาญฉลาด และทำให้นิยายเรื่อง Atonement จบลงอย่างงดงามตราตรึงใจ

รสทางอารมณ์ซึ่งมีอยู่หลากหลายในนิยายเรื่องนี้ เป็นจุดเด่นส่วนดีลำดับแรกที่ผู้อ่านจะได้รับ

Atonement ไม่ใช่นิยายที่สนุกจะแจ้ง พล็อตไม่ได้หวือหวาโลดโผนจัดจ้าน ปราศจากการเร้าอารมณ์ชัดๆ แต่ด้วยวิธีการเขียนอันเยี่ยมยอด ไม่ว่าจะเป็นการพรรณนาฉากหลังชนิดเห็นภาพและได้กลิ่น การแจกแจงตีแผ่ความรู้สึกนึกคิดอันสลับซับซ้อนของตัวละครให้ผู้อ่านเข้าใจอย่างถี่ถ้วน การเรียงลำดับเรื่องที่ค่อยๆ ปะติดปะต่อชิ้นส่วนเหตุการณ์ต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างเหนือชั้นแยบยล การให้รายละเอียดบางสิ่งบางอย่างจนถี่ยิบ และอมพะนำงำความบางอย่าง โดยบอกพอแค่ให้รู้เป็นนัยๆ รวมถึงสำนวนโวหารที่คมคายและเปี่ยมด้วยลีลาทางวรรณศิลป์ (ผมควรต้องขอบคุณผู้แปลด้วยนะครับในการถ่ายทอดข้ามภาษาออกมาได้อย่างสละสลวย)

ทั้งหมดนี้ประกอบรวมกันแล้ว ส่งผลให้งานเขียนชิ้นนี้น่าอ่าน สะกดตรึง และชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ

นอกจากความโดดเด่นของรสบันเทิงและลีลาทางศิลปะแล้ว ประเด็นเนื้อหาของ Atonement ก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน แก่นเรื่องหลักว่าด้วยอาชญากรรมและการชดใช้ไถ่บาปปรากฏชัดจนไม่จำเป็นต้องนำมาเล่าหรือขยายความกันอีก

สิ่งที่น่าสนใจคือ ใน Atonement ยังประกอบด้วยประเด็นแง่มุมรายล้อมอื่นๆ อีกสารพัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความแตกต่างระหว่างชนชั้น (ครอบครัวทัลลิสกับร็อบบี) อคติและการตั้งแง่ ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาและการสูญสิ้น (แง่มุมนี้เด่นชัดมากในตัวละครไบรโอนี ซึ่งผ่านข้ามวัยเด็กเข้าสู่โลกของผู้ใหญ่ในชั่วข้ามคืน)

ผมกล่าวไว้ตอนต้นๆ บทความว่า นิยายใช้มุมมองผู้เล่าเรื่องผ่าน 3 ตัวละครสำคัญคือ ไบรโอนี ซิซีเลีย และร็อบบี เป็นการเล่าผ่านผู้เขียน ไม่ใช่ปากคำของตัวละครโดยตรง แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้วางตนเป็นพระเจ้าผู้รอบรู้ทะลุปรุโปร่งไปหมดทุกสีทุกอย่าง เมื่อเล่าผ่านตัวละครใด ตัวละครนั้นๆ ล้วนมีขอบเขตข้อจำกัดเรื่องการรับรู้และเข้าใจเฉพาะสิ่งที่ตนได้สัมผัสเท่านั้น เหตุการณ์ใดก็ตามที่ตัวละครไม่ได้อยู่ร่วม ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่อาจหยั่งทราบได้ รวมถึงสามารถเข้าใจได้เฉพาะสิ่งที่ตัวเองคิดและรู้สึก แต่ไม่อาจตระหนักได้ว่าคนอื่นคิดและรู้สึกอย่างไร

ลักษณะดังกล่าวขานรับสอดคล้องกับหนึ่งในประเด็นสำคัญของนิยาย นั่นคือมุมมองและขอบเขตการรับรู้ ซึ่งมีข้อจำกัดในการเข้าถึงความจริง ทั้งไบรโอนี ซิซีเลีย และร็อบบี ล้วนเข้าข่ายนี้ทั้งสิ้น และตลอดทั่วตัวเรื่องก็มีการให้รายละเอียดมากมาย เกี่ยวกับการรับรู้ความจริงแค่บางเสี้ยวส่วน จนนำไปสู่ความคิด ความเชื่อ และความเข้าใจผิด ในระดับที่แตกต่างลดหลั่นกันไปตามวัยและวุฒิภาวะของตัวละคร

อาจกล่าวได้ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เรื่องราวซึ่งควรจะเป็นรักหวานซึ้ง ลงเอยอย่างหวานชื่นสุขสมหวัง ให้มีอันกลับกลายพลิกผันเป็นโศกนาฏกรรมใจสลาย ก็ด้วยมุมมองและข้อจำกัดในการล่วงรู้ความจริงของมนุษย์

แง่มุมเกี่ยวเนื่องสืบต่อกันก็คือ ขณะที่มนุษย์มีข้อจำกัดในการรู้และเข้าใจความจริง มากไปกว่านั้นยังมีการปรุงแต่งความจริงตามที่ตนเองเข้าใจ (หรือเพื่อให้ความจริงเป็นอย่างที่อยากให้เป็น เพื่อจุดมุ่งหมายบางอย่าง) อีกด้วย 

‘ความจริงและการบิดเบือน’ จึงเป็นอีกประเด็นหลักใน Atonement ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเหตุอาชญากรรมที่เป็นจุดพลิกผันของเรื่องเท่านั้น แต่ยังมีอีกเยอะแยะเต็มไปหมด

ที่น่าสนใจก็คือ การบิดเบือนอีกหลายครั้งที่เกิดขึ้นในนิยายเรื่องนี้ไม่ใช่อาชญากรรม และไม่ได้นำไปสู่บทสรุปเลวร้ายไปเสียทั้งหมด บางครั้งมันอาจเป็นการบิดเบือนที่เปี่ยมด้วยเจตนาดี และส่งผลบวกได้เช่นกัน

ประเด็นสุดท้ายที่ผมนึกออก และคงต้องพูดอ้อมแอ้มอึกอักอยู่สักหน่อย นั่นคือพลังและอำนาจของเรื่องเล่า ใครที่ได้อ่านนิยายเรื่องนี้น่าจะเห็นประจักษ์แง่มุมนี้ได้เด่นชัดในหลายช่วงหลายตอนสำคัญ

ตัวอย่างหนึ่งที่พอจะหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังได้คือ ละครเรื่อง ‘บททดสอบของอราเบลลา’ นอกจากพล็อตของบทละครจะอธิบายความเข้าใจโลกอันไร้เดียงสาในวัยเยาว์ของไบรโอนี รวมถึงสะท้อนถึงนิสัยใจคอที่ชอบเป็นฝ่าย ‘ควบคุม’ สถานการณ์หรือสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามที่ใจตนเองปรารถนาแล้ว (กระทั่งไบรโอนีเติบโตเป็นผู้ใหญ่ล่วงเข้าสู่วัยชรา เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต นิสัยนี้ก็ยังคงติดตัวเธอไม่แปรเปลี่ยน) ตำแหน่งการปรากฏของละครเรื่องนี้ในนิยาย Atonement ซึ่งมีอยู่ 2 ครั้ง ในช่วงเปิดเรื่องและลำดับถัดมา ยังส่งผลและให้อารมณ์ความรู้สึกผิดแผกแตกต่างจนสุดกู่

เมื่อแรกเริ่มปรากฏ มันเป็นละครของเด็กเพ้อฝัน เบาหวิว อ่อนหัดทั้งเรื่องราวและเนื้อหา แต่เมื่อปรากฏอีกครั้ง ผลลัพธ์กลับตรงกันข้าม กลายเป็นการสานต่อเติมเต็มบางสิ่งบางอย่างที่ขาดหายไปในอดีตหนหลัง และนำมาซึ่งความอิ่มเอิบ ซาบซึ้งตื้นตันใจ

ไม่ใช่ด้วยเนื้อเรื่องและตัวบทละครหรอกนะครับที่ทำให้เกิดเป็นความแตกต่างเช่นนั้น แต่ความเป็นยอดนักเล่าเรื่องของเอียน แม็คอิวันต่างหากที่ดลดาลให้เกิดสิ่งมหัศจรรย์นี้ขึ้น จนกลายเป็นพลังและอำนาจของเรื่องเล่า

ใน Atonement ยังมีฉากสำแดงพลังทำนองนี้อยู่อีกมากมายหลายครั้ง ทั้งโดยฝีมือของเอียน แม็คอิวัน และฝีมือของนักเขียนที่เก่งฉกาจอีกคนหนึ่งชื่อไบรโอนี ทัลลิส

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save