fbpx
ประเทศไทยในกับดักเทคโนโลยีปานกลาง : เมื่อนรกเป็นของเราและสวรรค์เป็นของคนอื่น

ประเทศไทยในกับดักเทคโนโลยีปานกลาง : เมื่อนรกเป็นของเราและสวรรค์เป็นของคนอื่น

แบ๊งค์ งามอรุณโชติ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

Kunal Sen นักเศรษฐศาสตร์การเมืองผู้มีชื่อเสียงแห่ง University of Manchester ชี้ว่า ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปี 2005 มีเพียงประเทศ 13 ประเทศในโลกเท่านั้นที่สร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากกว่าหรือเท่ากับ 7% ต่อปี ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 25 ปีหรือมากกว่า และหากตัดประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น นครรัฐอย่างมอลตา ฮ่องกง และสิงคโปร์ รวมทั้งประเทศที่มีทรัพยากรน้ำมันล้นเหลืออย่างโอมานออกไป ก็จะเหลือเพียงบอตสวานา บราซิล จีน อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ไต้หวัน และไทย รวม 8 ประเทศเท่านั้น

เมื่อพิจารณา 8 ประเทศดังกล่าว มีเพียงเกาหลีใต้และไต้หวันเท่านั้นที่สามารถปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจจนกลายเป็นประเทศ ‘รายได้สูง’ และ ‘ผลิตสินค้าเทคโนโลยีสูง’ ได้ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ทั้งสองประเทศจึงถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในฐานะตัวแบบที่ประสบความความสำเร็จเสมอ ในทางกลับกัน ประเทศที่เหลือ โดยเฉพาะในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย แม้ว่าจะพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นมาในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน แต่กลับมีทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง รวมทั้งยังคงมีรายได้และเทคโนโลยีระดับปานกลางเท่านั้น

ในกรณีของไทย หากพิจารณาการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยในระยะยาว [1] จากภาพที่ 1 [2] จะพบว่าการเจริญเติบโตมีลักษณะลดลงมาเป็นลำดับ โดยลดลงจากเฉลี่ยอยู่ที่ 7.8% ต่อปีในช่วงปี 1986 ถึง 1995 มาอยู่ที่ 3.9% ระหว่างปี 2001 ถึง 2010 และลดลงมาอีกจนอยู่ที่ 2.8% หลังจากปี 2011 จนถึงปัจจุบัน การที่ค่าเฉลี่ยการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยตกต่ำลงมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมานี้ สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย มากกว่าที่จะเป็นเพียงปัญหาการจัดทำนโยบายผิดพลาด หรือวิกฤตเศรษฐกิจเพียงครั้งคราว

ในบทความนี้ผู้เขียนขอเสนอว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญอย่างมากคือ การที่ไทยไม่สามารถปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่เทคโนโลยีระดับสูงได้อย่างว่องไวมากเพียงพอ

 

ภาพที่ 1 ค่าเฉลี่ยอัตราการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวประชากรของไทย ที่มา ข้อมูลจาก World Bank 

 

บทความนี้จะค่อยๆ พาผู้อ่านสำรวจ 3 ประเด็นสำคัญ ประเด็นแรกได้แก่ ดัชนีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและส่งออกสินค้าเทคโนโลยีสูง ซึ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าประเทศไทยไม่สามารถไล่กวดประเทศผู้นำอย่างเกาหลีใต้ได้ทัน และถูกประเทศจีนซึ่งเติบโตว่องไวแซงหน้าไปแล้ว ประเด็นที่สอง การติดกับดักเทคโนโลยีปานกลางที่เกิดจาก ‘โครงสร้างเศรษฐกิจแบบช่วงชั้น’ มีทุนขนาดใหญ่ครอบงำเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมาจากการกดค่าจ้างและการขยายส่วนแบ่งตลาดมากกว่าการใช้เทคโนโลยี และประเด็นสุดท้าย บทความจะชี้ให้เห็นสาเหตุสำคัญว่าทำไมรัฐไทยไม่สามารถช่วยแก้ปัญหา หรือพาประเทศก้าวข้ามกับดักเทคโนโลยีปานกลางไปได้

 

กับดักเทคโนโลยีปานกลาง

 

นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า ระดับเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญกำหนดการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว นักเศรษฐศาสตร์พัฒนาจำนวนมากจึงมุ่งความสนใจไปที่การปรับโครงสร้างการผลิตให้มีสินค้าและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีอย่างเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเชื่อว่าจะทำให้รายได้ประชากรต่อหัวสูงขึ้น ในบทความนี้จะลองยกตัวแปรจำนวนหนึ่งขึ้นมาฉายให้เห็นสถานการณ์ด้านเทคโนโลยีของไทยเมื่อเทียบเคียงกับ (1) เกาหลีใต้ ประเทศที่พัฒนาขึ้นมาพร้อมไทยแต่ปรับตัวจนกลายเป็นประเทศรายได้สูงสำเร็จ และ (2) จีน ประเทศที่เติบโตอย่างว่องไวแต่ยังไปไม่ถึงระดับรายได้สูง

ตัวแปรแรกได้แก่ สัดส่วนการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นกลางและสูง (medium and high-tech exports ratio) จากภาพที่ 2 จะเห็นว่า เกาหลีใต้มีสัดส่วนการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นกลางและสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากราว 50% ของสินค้าส่งออกกลุ่มอุตสาหกรรมในปี 1990 มาแตะที่ 70% ในปี 2000 และค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 74.2% ในปัจจุบัน เมื่อหันกลับมามองไทย จะพบว่าตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา เราไม่สามารถถมช่องว่างระหว่างไทยและเกาหลีราว 10-15% ให้หดแคบลงได้เลย กลับกลายเป็นประเทศจีนที่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีปานกลางและสูงเพิ่มมากขึ้นจากราว 28.4% ในปี 1990 มาใกล้เคียงกับประเทศไทยที่ราว 60.5% ในปัจจุบัน

 

ภาพที่ 2 สัดส่วนการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีระดับกลางและสูงของไทย เทียบเคียง เกาหลีใต้ และจีน ระหว่างปี 1990-2018 ที่มา ข้อมูลจาก World Bank 

 

ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาเฉพาะสัดส่วนการส่งออกสินค้า ‘เทคโนโลยีสูง’ ตามภาพที่ 3 โดยพิจารณาจากการใช้งบวิจัยและพัฒนาในการผลิตสินค้าอย่างเข้มข้น เช่น การผลิตเครื่องบิน คอมพิวเตอร์ ยารักษาโรค หรือเครื่องจักรกลไฟฟ้า ฯลฯ จะพบว่า จีนก้าวข้ามไทยไปอยู่ระดับเดียวกับเกาหลีใต้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในปี 2018 ทั้งเกาหลีใต้และจีนต่างมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีสูงอยู่ที่มากกว่า 30% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด แต่ไทยกลับมีสัดส่วนอยู่ที่เพียง 23.3% เท่านั้น ข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นจังหวะการก้าวที่ล่าช้าของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จแล้ว และจีนที่พัฒนามาทีหลัง

 

ภาพที่ 3 สัดส่วนการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีระดับสูงของไทย เทียบเคียง เกาหลีใต้ และ จีน ระหว่างปี 2007-2018 ที่มา ข้อมูลจาก World Bank

 

เมื่อเราเห็นภาพรวมของการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีระดับกลางและสูงแล้ว ถัดมาเราจะลองพิจารณาลงลึกระดับ ‘อุตสาหกรรม’ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่ด้วยพื้นที่เนื้อหาที่จำกัด บทความจึงอยากชวนผู้อ่านพิจารณาเพียงแค่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (information and communications technology: ICT) อย่างเดียว [3] ตัวอย่างสินค้าในอุตสาหกรรมนี้ก็เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ มือถือและอุปกรณ์สื่อสัญญาณ ซอฟต์แวร์ และบริการที่เกี่ยวข้องกับ ICT เป็นต้น

 

[box]

3 สาเหตุที่อุตสาหกรรม ICT มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ 

 

ประการแรก William R. Thompson แห่ง Indianna University วิเคราะห์การพัฒนาของเศรษฐกิจโลกระยะยาว ซึ่งเรียกว่าช่วงคลื่นคอนดราทีฟ (Kondratieff waves: K-waves) [4] เขาพบว่าหลังทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา ระบบทุนนิยมโลกได้พัฒนาอุตสาหกรรม ICT ขึ้นมาเป็นลำดับ และภายหลังจากปี 2000 อุตสาหกรรม ICT กลายเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนทุนนิยมโลกให้เติบโต นัยนี้ การเข้าไปมีส่วนร่วมผลิตและส่งออกสินค้าและบริการในอุตสาหกรรม ICT จึงหมายถึงการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมหลักของระบบเศรษฐกิจโลก

ประการที่สอง นักเศรษฐศาสตร์พบว่า มีเทคโนโลยีบางแบบที่ถูกใช้งานและสร้างประโยชน์ข้ามอุตสาหกรรม เราเรียกเทคโนโลยีแบบนี้ว่าเทคโนโลยีสารพันประโยชน์ (General-Purpose Technologies: GPTs) ในยุคเริ่มต้นปฏิวัติอุตสาหกรรม เทคโนโลยีที่จัดว่าเป็น GPTs คือบรรดาเครื่องจักรไอน้ำ แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นกระแสไฟฟ้าและ ICT งานของ John Fernald [5] ยืนยันแนวคิดนี้ เขาพบว่าการใช้งานเทคโนโลยี ICT มีผลต่อการปรับตัวสูงขึ้นของผลิตภาพของอุตสาหกรรมอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ การพัฒนาอุตสาหกรรม ICT จึงเป็นเรื่องพึงประสงค์และสำคัญต่อเศรษฐกิจภาพรวม

ประการที่สุดท้าย Keun Lee นักเศรษฐศาสตร์แห่ง Seoul National University เสนอว่า สินค้าและบริการ ICT เป็นอุตสาหกรรมที่เทคโนโลยีมีวัฏจักรสั้น (short-cycle tech) จึงเป็นอุตสาหกรรมที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาได้เปรียบในการเข้าไปร่วมแข่งขัน ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ความได้เปรียบของผู้นำด้านเทคโนโลยีจะน้อย เนื่องจากเทคโนโลยีที่ถือครองอยู่จะหมดความทันสมัยลงอย่างรวดเร็ว และเปิดโอกาสให้คู่แข่งรายใหม่ๆ เติบโตมาแข่งขันได้ [6] ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ อุตสาหกรรมมือถือ ซึ่งผู้ครอบครองเทคโนโลยีสูงสุดในช่วงทศวรรษที่ 1990 อย่าง Nokia ก็ต้องเผชิญกับเทคโนโลยีสมาร์ตโฟนในช่วงปลายทศวรรษที่ 2000 เป็นต้น

[/box]

 

เมื่อพิจารณาภาพที่ 4 จะพบว่า การส่งออก ‘สินค้า’ ICT ของไทยมีสัดส่วนลดลงเป็นลำดับ โดยลดจากราว 28.9% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมดในปี 2000 มาอยู่ที่ราว 15.6% ในปี 2018 สัดส่วนดังกล่าว น้อยกว่าประเทศเกาหลีใต้และจีนอย่างมาก โดยทั้งสองประเทศมีสัดส่วนการส่งออกสินค้า ICT อยู่ที่ราว 27-28% ในปี 2018

 

ภาพที่ 4 สัดส่วนการส่งออกสินค้า ICT ต่อการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย เทียบเคียง เกาหลีใต้ และจีน ระหว่างปี 2000-2018 ที่มา ข้อมูลจาก World Bank

 

เมื่อพิจารณา ‘บริการ’ ที่เกี่ยวข้องกับ ICT เช่น การให้บริการทางธุรกิจที่เกี่ยวกับการส่งผ่านข้อมูลและข่าวสาร จะเห็นถึงระดับความซับซ้อนของอุตสาหกรรม ICT ที่มากไปกว่าการผลิตสินค้า จากภาพที่ 5 จะพบว่าไทยส่งออกบริการที่เกี่ยวข้องกับ ICT น้อยมาก มีสัดส่วนน้อยกว่า 2% ของมูลค่าการส่งออกบริการทั้งหมดของประเทศมาโดยตลอด และลดลงมาเป็นลำดับจนปัจจุบันเหลือเพียง 0.6% เท่านั้น ในทางกลับกัน เกาหลีใต้และจีนส่งออกบริการ ICT เพิ่มขึ้นจนมีสัดส่วนในปัจจุบันคิดเป็น 4.8% และ 12.7% ตามลำดับ

 

ภาพที่ 5 สัดส่วนการส่งออกบริการ ICT ต่อการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย เทียบเคียง เกาหลีใต้ และจีน ระหว่างปี 1988-2016 ที่มา ข้อมูลจาก World Bank 

 

โดยสรุปแล้ว ช่องว่างการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีปานกลางและสูงระหว่างไทยและเกาหลีใต้ไม่หดแคบลงเลยตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา และไทยยังปรับตัวได้ล่าช้ากว่าจีนมาก ในระดับอุตสาหกรรม การที่ประเทศไทยยังให้น้ำหนักกับอุตสาหกรรม ICT ไม่มากเท่าที่ควรสะท้อนว่า เรามีส่วนร่วมกับเทคโนโลยีซึ่งเป็นแก่นของวัฏจักรเศรษฐกิจโลกน้อย รวมทั้งเราไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารพันประโยชน์และเทคโนโลยีวัฏจักรสั้นมากเพียงพอ นอกเหนือจากหลักฐานเหล่านี้ ยังมีดัชนีอีกหลายตัวที่สามารถนำมาร่วมพิจารณาได้ เช่น Global Innovation Index หรือสัดส่วนบริษัทเทคโนโลยีสูงในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งทั้งหมดชี้ไปในทิศทางเดียวกันคือ ประเทศไทยยังไม่ขีดความสามารถทางเทคโนโลยีระดับกลางเท่านั้น

 

 “เศรษฐกิจแบบช่วงชั้น” : ปัญหาที่ฝังลึกในโครงสร้าง

 

เมื่อพบว่าประเทศไทยติดกับดักเทคโนโลยีปานกลาง รายงานศึกษาจำนวนมากก็พาเรากระโจนลงไปสู่มาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีทันที

ทว่า บทความนี้จะขอชักชวนให้เราค่อยเป็นค่อยไป และหยุดพิจารณาให้ละเอียดขึ้นอีกนิดถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น คำถามที่อยากชวนท่านผู้อ่านคิดต่อคือ “หากกับดักรายได้ปานกลางเป็นสิ่งที่ไม่ดีสำหรับทุกคน การจะสร้างแนวร่วมทางเศรษฐกิจเพื่อยกระดับเทคโนโลยี ก็ควรจะเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก… แล้วทำไมแนวร่วมดังกล่าวจึงไม่เกิดขึ้น?

คำตอบฝังตัวอยู่ในโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทยนั่นเอง

แล้วโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทยนั้นเป็นอย่างไร?

งานศึกษาล่าสุดของประจักษ์ ก้องกีรติ และวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร นิยามโครงสร้างเศรษฐกิจไทยว่าเป็นระบบเศรษฐกิจแบบช่วงชั้น (Hierarchical Market Economy: HME) หากอ้างอิง Ben Ross Schneider ผู้คิดค้นแนวคิด HME จะพบว่าระบบเศรษฐกิจแบบช่วงชั้นมีลักษณะสำคัญอยู่ด้วยกัน 2 อย่าง อย่างแรกในด้านของทุนคือ มีหัวหอกทางเศรษฐกิจเป็นบรรษัทข้ามชาติ ทุนขนาดใหญ่ภายในประเทศทำธุรกิจอย่างหลากหลาย แต่ไม่เหลือที่ยืนให้แก่ทุนขนาดเล็ก อย่างที่สองในด้านแรงงานคือ แรงงานจะมีทักษะต่ำ ได้รับค่าจ้างต่ำ และมีการรวมตัวที่อ่อนแอ

องค์ประกอบทั้งสองด้านนี้ ส่งผลให้มีแรงจูงใจลงทุนด้านเทคโนโลยีต่ำ (ภาพที่ 6) ประกอบกับเศรษฐกิจนอกภาคทางการ (informal sector) ขนาดใหญ่ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์แย่ลงอีก

 

ภาพที่ 6 โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจแบบช่วงชั้น และผลร้ายต่อการลงทุนวิจัยและพัฒนา การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ และการลงทุนฝึกทักษะแรงงาน ที่มา Schneider 

 

ทุนข้ามชาติมักเข้ามาแสวงประโยชน์จากแรงงานราคาถูกในไทย จึงย้ายฐานการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นมากถึงปานกลางเข้ามา แต่ไม่ย้ายห่วงโซ่การผลิตส่วนที่มีเทคโนโลยีและมูลค่าสูงเข้ามามากนัก ส่วนทุนขนาดใหญ่ในไทยก็เน้นความสามารถทางการแข่งขันผ่านการผูกขาด [7] การผลิตปริมาณมาก (economy of scale) และการลดความเสี่ยงทางธุรกิจด้วยการกระจายไปทำธุรกิจหลายๆ อุตสาหกรรม (diversified risks) โดยที่อาจไม่ได้มีความสัมพันธ์กันในทางเทคโนโลยีเลยก็เป็นได้ เช่น ขยับจากการขายเครื่องดื่มไปทำธุรกิจก่อสร้าง หรือขยับจากธุรกิจเกษตรไปทำระบบขนส่งมวลชน เป็นต้น ลักษณะเหล่านี้จะทำให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่มีกำไรมาก และมีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีน้อยลง

ส่วนด้านแรงงาน เนื่องจากสหภาพแรงงานไม่เข้มแข็ง (ยกเว้นสหภาพรัฐวิสาหกิจ) ทำให้การต่อรองค่าจ้างเป็นไปอย่างยากลำบาก และส่งผลให้ค่าจ้างปรับตัวช้า เมื่อค่าจ้างปรับตัวช้าจะส่งผลไปในสองทิศทาง ทิศทางแรกคือ ทำให้กลุ่มทุนไม่มีแรงจูงใจที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งาน แต่จะใช้แรงงานราคาถูกไปเรื่อยๆ หรือใช้อำนาจผูกขาดเข้าแสวงหากำไรเกินปกติแทน ทิศทางที่สองคือ ตัวแรงงานเองก็จะไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะของตนเอง และไม่เพียงพอสำหรับลงทุนเพื่อการศึกษาของลูก การปรับตัวด้านทักษะแรงงานจึงเป็นไปอย่างล่าช้า ปัจจัยเหล่านี้ถูกซ้ำเติมด้วยลักษณะเศรษฐกิจที่มีภาคนอกทางการขนาดใหญ่ ทำให้แรงงานจำนวนมากไม่มีรายได้ประจำและไม่มีความมั่นคงในอาชีพ

โดยสรุป ในระบบเศรษฐกิจแบบช่วงชั้น ไม่ใช่แค่แรงงานเท่านั้นที่ถูกขูดรีดผ่านการสะสมทุน (capital accumulation) แม้แต่นายทุนรายย่อยเองก็ถูกดูดกลืนและทำลายผ่านกระบวนการผูกขาดรวมศูนย์ตลาด (capital concentration) เช่นกัน ผลลัพธ์คือ กลุ่มทุนขนาดใหญ่และบรรษัทข้ามชาติมีแรงจูงใจต่ำที่จะลงทุนทางเทคโนโลยี เพราะการขูดรีดแรงงานและผูกขาดตลาดเป็นหนทางที่ได้กำไรบนความเสี่ยงที่ต่ำกว่าการลงทุนไปกับเทคโนโลยีอย่างมาก โครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบช่วงชั้นนี้สอดประสานกัน มีความคงตัวและเปลี่ยนแปลงได้ยาก เพราะกลุ่มทุนหลักล้วนได้ประโยชน์และเติบโตได้ดีบนโครงสร้างเศรษฐกิจเช่นนี้

ภาพที่ 7 แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบช่วงชั้นในไทยได้เป็นอย่างดี กราฟดังกล่าวการพิจารณารายรับรวมของกลุ่มทุนไทย ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และมีมูลค่าตามราคาตลาดสูงที่สุด 10 อันดับแรก กลุ่มทุนเหล่านี้มีรายรับที่เพิ่มขึ้นจากราว 3.7 ล้านล้านบาทในปี 2016 มาอยู่ที่ราว 4.65 ล้านล้านบาทในปี 2018 และลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ราว 4.59 ล้านล้านบาทในปี 2019 หากเทียบตลอดระยะเวลา 4 ปีจะพบว่า รายรับของทุนขนาดใหญ่เหล่านี้เพิ่มขึ้นราว 5.48% ต่อปี (คิดแบบ cumulative growth rate) โดยมีมูลค่ารายรับรวมปีล่าสุดคิดเป็นราว 27% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่มาก และสะท้อนถึงบทบาทนำของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในประเทศไทยได้พอสมควร

 

ภาพที่ 7 รายรับรวมของ 10 บริษัท ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และมีมูลค่าตามราคาตลาดสูงสุด ระหว่างปี 2016-2019 ที่มา ข้อมูลจาก SET 

 

งานศึกษาล่าสุดของ Kevin Hewison เรื่อง Crazy Rich Thais ซึ่งมีหน่วยวิเคราะห์อยู่ที่ตัว ‘นายทุน’ ได้ให้ข้อมูลสนับสนุนสมมติฐานนี้เช่นกัน เขาพบว่า ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของไทยชะลอตัวลงในสองทศวรรษหลัง ความมั่งคั่งของคนที่รวยที่สุด 10 ตระกูลเพิ่มขึ้นจาก 14.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2006 ไปเป็น 108.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2019 ก้าวกระโดดมากกว่า 7 เท่าตัวในระยะเวลาเพียงทศวรรษครึ่งเท่านั้น ดังที่แสดงให้เห็นในภาพที่ 8 กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ “ถึงแม้กับดักเทคโนโลยีปานกลางจะเป็นนรกสำหรับทุนขนาดเล็กและแรงงาน แต่มันคือสวรรค์เทคโนโลยีปานกลางของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ปกครองในระบบเศรษฐกิจแบบช่วงชั้น

 

ภาพที่ 8 ความมั่งคั่งด้านสินทรัพย์ของ 10 ตระกูลที่รวยที่สุดจากการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes ระหว่างปี 2006-2019 ที่มา ข้อมูลจาก Hewison

 

บทบาทของรัฐกับปัญหาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น

 

หากพิจารณาประสบการณ์ของรัฐเกิดใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สองที่พัฒนาได้อย่างรวดเร็วอย่างเกาหลีใต้และไต้หวัน จะพบว่าภาครัฐมีบทบาทอย่างมากในการร่วมมือกับเอกชนเพื่อก้าวข้ามโครงสร้างเศรษฐกิจแบบช่วงชั้นไปสู่เศรษฐกิจในรูปแบบที่พึ่งพิงเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น และพึ่งพิงการขูดรีดแรงงานกับการผูกขาดน้อยลง งานที่กล่าวถึงบทบาทภาครัฐในประเทศเหล่านี้ก็เช่น งานของ Alice Amsden และ Robert Wade เป็นต้น ทว่ารัฐไทยไม่อาจจะแสดงบทบาทดังเช่นรัฐตัวแบบเหล่านี้ได้ โดยสามารถจัดกลุ่มคำอธิบายสาเหตุออกได้เป็นสามกลุ่มดังต่อไปนี้ [8]

ความกลัวการสูญเสียอำนาจทางการเมือง (political loser hypothesis)

คำอธิบายในกลุ่มนี้ประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก ต้องเข้าใจก่อนว่า ทรัพยากรทางการเงินคือรูปแบบหนึ่งของอำนาจชี้ขาดทางการเมือง เพราะเงินทุนสามารถนำไปใช้ขับเคลื่อนการเมืองได้จากหลายๆ แง่มุม ส่วนที่สอง เมื่อเกิดเทคโนโลยีใหม่ ย่อมทำให้การถือครองทรัพยากรการเงินเปลี่ยนแปลงไป ผู้ผูกขาดตลาดสินค้า A จะไม่สามารถจะผูกขาดได้อีกต่อไป เพราะเกิดคู่แข่งขันใหม่เพิ่มขึ้นมาในตลาด ส่วนที่สาม เมื่อทรัพยากรทางเศรษฐกิจกระจายตัวออกไปมากขึ้น ก็สร้างความเสี่ยงให้แก่ชนชั้นนำทางการเมือง เพราะทุนเกิดใหม่ทั้งหลายอาจสนับสนุนกลุ่มการเมืองอื่นที่อยู่นอกวงผู้มีอำนาจดั้งเดิม ทำให้ดุลอำนาจทางการเมืองพลิกผัน

เมื่อนำตรรกะ 3 ส่วนนี้มาประกอบกัน ก็จะอธิบายได้ว่าทำไมผู้มีอำนาจทางการเมืองจึง ‘กลัว’ หรือลังเลใจที่จะยอมให้เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น รวมถึงจำกัดการสนับสนุนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจนกว่าจะมั่นใจว่า นายทุนซึ่งเป็นพวกของตนจะเป็นผู้ครอบครองเทคโนโลยีใหม่เหล่านั้น เมื่อกลับมามองย้อนถึงประเทศไทย การสนับสนุนและการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่จึงมิได้เกิดขึ้นจากผู้เล่นรายใหม่ๆ มากนัก แต่มักจะเกิดจากการลงทุนอย่างจำกัดของผู้เล่นดั้งเดิมในตลาด โดยผู้เล่นเหล่านั้นมีอำนาจผูกขาดในทางเศรษฐกิจ และมีสายสัมพันธ์ทางการเมืองแน่นแฟ้นกับรัฐอยู่แล้วระดับหนึ่ง

การขาดขีดความสามารถและอิสระในการทำนโยบาย

เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในบรรดาผู้ศึกษาเกาหลีใต้และไต้หวันว่า ทั้งสองรัฐนี้เป็นรัฐซึ่งมีขีดความสามารถสูง คำว่าขีดความสามารถสูงนี้ครอบคลุมหลายมิติ แต่สองมิติที่สำคัญที่สุดได้แก่ (1) ขีดความสามารถในการทำนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของเอกชน และ (2) ขีดความสามารถในการรับรู้และปรับตัวได้ว่องไวตามผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นและตามเงื่อนไขของระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ขีดความสามารถทั้งสองด้านนี้มีรากฐานอยู่กับคุณลักษณะที่ Peter Evans เรียกว่า ’embedded autonomy’

คำว่า embedded autonomy มีองค์ประกอบสองส่วน ส่วนแรกได้แก่ ’embedded’ หมายถึงการผนึกประสานความร่วมมือของกลุ่มทุนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดในการทำนโยบายอุตสาหกรรม ตั้งแต่การทำนโยบาย การดำเนินนโยบาย และการปรับนโยบายตามผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ส่วนที่สองได้แก่ ‘autonomy’ ซึ่งหมายความว่า แม้รัฐจะดึงทุนเข้ามาทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด แต่รัฐต้องยังมีอิสระที่จะดำเนินนโยบายได้ ให้แรงจูงใจ ให้คุณให้โทษแก่นายทุนได้ตามผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง การที่รัฐมีคุณลักษณะ ‘ผนึกประสานทุนเข้ามาได้อย่างมีอิสระ’ เช่นนี้เอง จึงจะทำให้มีขีดความสามารถสูงพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับเทคโนโลยีของประเทศ

ปัญหาของรัฐไทยคือ เราเป็นรัฐที่มีขีดความสามารถปานกลางเท่านั้น (intermediate state) รัฐไทยไม่ถึงกับว่ามีขีดความสามารถต่ำมากจนขับเคลื่อนนโยบายไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ถึงกับทำได้ดีหรือแข็งขัน จุดที่เราอ่อนแออย่างมากก็คือ รัฐไม่ได้มีอิสระเหนือทุน แต่หน่วยงานรัฐจำนวนมากถูกจับกุมโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งภายในและภายนอกประเทศ (regulatory capturing) [9] เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นการยากที่รัฐจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักให้ระบบเศรษฐกิจไทยหลุดจากระบบเศรษฐกิจแบบช่วงชั้น และยิ่งยากขึ้นไปอีก หากจะกำกับหรือกดดันให้ทุนขนาดใหญ่พัฒนาตัวเองทางด้านเทคโนโลยีแทนการขูดรีดแรงงานและการใช้อำนาจเหนือตลาด

การขาดแคลนโลกทัศน์และความรู้ที่สนับสนุนนโยบายอุตสาหกรรม

กล่าวได้ว่า ประเทศไทยไม่ตื่นตัวที่จะนำเข้าองค์ความรู้ด้านนโยบายอุตสาหกรรม หรืออาจถึงขั้นปฏิเสธ เพราะไม่เชื่อว่านโยบายอุตสาหกรรมจะเหมาะสมกับไทย นโยบายส่วนใหญ่ของไทยจึงมีลักษณะสร้างโครงสร้างพื้นฐานและแรงจูงใจในภาพรวม มากกว่าจะมีแผนและกลไกขับเคลื่อนระดับอุตสาหกรรม ซึ่งต่างจากประเทศเติบโตไวอื่นๆ อาทิ เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ และจีนค่อนข้างมาก เพราะประเทศเหล่านี้ รัฐมีส่วนอย่างสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับ ‘อุตสาหกรรม’ ทั้งสิ้น

สาเหตุของเรื่องนี้มีความซับซ้อน แต่หากกล่าวแบบกระชับที่สุด สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเกิดจากแนวคิด (ideas) ของกลุ่มเทคโนแครต (technocrat) [10] หรือผู้กำหนดนโยบายในประเทศไทย กลุ่มคนเหล่านี้มีแนวคิดที่ให้น้ำหนัก ‘การนำเข้าเงินลงทุนจากต่างประเทศ’ และ ‘การสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ’ มากกว่า ‘การปรับโครงสร้างการผลิต’ ส่วนที่สอง มีเหตุมาจากสถาบัน (institutions) ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า รัฐไทยมีขีดความสามารถปานกลางและมีระดับการคอร์รัปชันที่สูง ทำให้การทำนโยบายเชิงรุกที่เอกชนต้องเข้าไปสนับสนุนอย่างใกล้ชิดไม่ได้รับความนิยม

คำอธิบายเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจว่า ทำไมรัฐไทยจึงไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ยิ่งไปกว่านั้น แทนที่จะช่วยปรับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจให้ก้าวหน้ามากขึ้น รัฐไทยกลับกลายเป็นพลังสำคัญที่ช่วยรักษาสภาพของระบบเศรษฐกิจแบบช่วงชั้นให้คงทนมากยิ่งขึ้นไปอีก ผ่านการเน้นให้น้ำหนักเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะสั้นและเครือข่ายผลประโยชน์

การเข้าใจปัญหาเหล่านี้มีนัยยะทางนโยบาย เพราะจะทำให้เราสามารถออกแบบข้อเสนอเชิงนโยบายได้รัดกุมมากขึ้น โดยคำนึงถึงปัจจัยภายในภาครัฐ (และตัวผู้ออกนโยบายเอง) เข้ามาประกอบการออกแบบนโยบายด้วย

 

การหลุดพ้นจากกับดัก เป็นเรื่องยาก… แต่เป็นไปได้

 

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะพบว่าปัญหากับดักเทคโนโลยีปานกลางเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่ทรงตัวอยู่บนปัญหาใหญ่สำคัญอีกสองประการ ได้แก่ โครงสร้างเศรษฐกิจแบบช่วงชั้น และโครงสร้างของรัฐไทยที่ไม่เข็มแข็งและไม่มีบทบาทพัฒนาเชิงรุกในระดับอุตสาหกรรมเท่าที่ควร การก้าวข้ามกับดักเทคโนโลยีปานกลางจึงเป็นภารกิจที่ยาก เพราะต้องทำอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น (1) ด้านเทคนิค/เทคโนโลยี (2) ด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ และ (3) ด้านการเมือง ไปพร้อมๆ กัน ในบทความชิ้นถัดไป ผู้เขียนจะทยอยนำโจทย์และวิธีการแก้ปัญหาในแต่ละด้านมานำเสนอต่อไปเป็นลำดับ

 

เชิงอรรถ


[1] ตัวอย่างของเหตุการณ์สำคัญซึ่งส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ 1980s เช่น การลดค่าเงินบาทและปรับเข้าสู่นโยบายเศรษฐกิจมุ่งตลาดส่งออก (Export-oriented policy) ระหว่างปี 1981-84 ในสมัยรัฐบาลพลเปรม ติณสูลานนท์ ผลกระทบของเหตุการณ์ Plaza Accord ในปี 1985 ที่ส่งผลให้ค่าเงินเยนของประเทศญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้บรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นนำเงินลงทุนมูลค่ามหาศาลเข้ามาลงทุนในประเทศไทย หรือนโยบายการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ปี 1988 เป็นต้น

[2] ผู้เขียนตัดช่วงเวลาระหว่างปี 1996 และ 1999 ออกไปจากการหาค่าเฉลี่ย เนื่องจากช่วงเวลาก่อนและหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 1997 เป็นช่วงที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผันผวน

[3] อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงอื่นๆ ที่ไทยผลิตและส่งออกอย่างแข็งขันคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาโดยละเอียดจะพบว่า เทคโนโลยีและตราสินค้าส่วนใหญ่มิได้เป็นของบริษัทสัญชาติไทย สถานะหุ้นส่วนในห่วงโซ่มูลค่า อาทิ การประกอบยนตร์ (assembling) หรือการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนขั้นสูง (first-tier suppliers) กระจุกตัวอยู่กับผู้ประกอบการหรือหุ้นส่วนต่างชาติ มากไปกว่านั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ก็กำลังเผชิญกับช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลง (critical juncture) ไปสู่เทคโนโลยีใหม่ อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไร้คนขับ ฯลฯ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางเทคโนโลยีและกิจกรรมการผลิต

[4] Nikolai Kondratieff นักเศรษฐศาสตร์ชาวโซเวียตเสนอว่า วัฏจักรทางเศรษฐกิจโลกจะมีวัฏจักรการริเริ่ม การเติบโต การหยุดนิ่ง และการซบเซาตามวัฏจักรทางเทคโนโลยี โดยจะกินระยะเวลายาวนาน (Super cycle) หลายสิบปีหรืออาจจะถึงศตวรรษ เราเรียกการจำแนกวัฏจักรทางเศรษฐกิจเป็นช่วงระยะเวลายาวนานตามเทคโนโลยีเช่นนี้ว่า Kondratieff Waves หรือ K-waves นักวิชาการที่เชื่อในฐานคิดเช่นนี้จะพิจารณาว่า เศรษฐกิจโลกในช่วงเวลาหนึ่งๆ ขับเคลื่อนไปด้วยเทคโนโลยีหลักอะไร และกำลังอยู่ในวัฏจักรขั้นใดของ Super cycle ดังกล่าว

[5] John Fernald เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับคำชื่นชมจากนิตยสาร The Economist ว่าเชี่ยวชาญด้านผลิตภาพของเศรษฐกิจอเมริกามากที่สุดคนหนึ่ง

[6] ตัวอย่างของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีวงจรยาว (long-cycle technology) ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนตร์ ซึ่งเทคโนโลยีแต่ละส่วนของสินค้านั้นมีอายุหรือวัฏจักรการใช้งานที่ยาวนานกว่าจะเกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่จนเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งาน ซึ่งต้องใช้เวลามากกว่าทศวรรษ เป็นต้น

[7] ใช้ในความหมายที่รวมถึงอำนาจเหนือตลาด (dominant power) หรืออำนาจผูกขาดร่วม (joint monopoly) ซึ่งเกิดจาการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่รายในแต่ละอุตสาหกรรมครอบครองส่วนแบ่งตลาดได้อย่างมีนัยสำคัญ และง่ายแก่การตกลงร่วมกันเพื่อแสวงหาประโยชน์ หรือรังแกผู้ประกอบการรายเล็กและผู้บริโภค

[8] เกิดจากการทบทวนเอกสารที่อธิบายทฤษฎีหรือประเมินลักษณะของรัฐไทยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990-2000s ผู้เขียนเชื่อว่า คำอธิบายเหล่านี้ยังคงใช้ได้กับสถานการณ์ของรัฐไทยในปัจจุบัน

[9] ตัวอย่างเช่น เอกชนขนาดใหญ่อาจตั้งตำแหน่งและให้เงินเดือนแก่ข้าราชการระดับสูงที่เกษียณอายุแล้วหรือนักการเมือง เพื่อให้เข้าถึงสายสัมพันธ์ภายในรัฐ หรือการที่เอกชนวิ่งเต้นกับคณะกรรมการกำกับดูแลอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้มีมติไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์แก่กลุ่มทุน เป็นต้น

[10] ผู้กำหนดนโยบายที่เข้าสู่อำนาจด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือความรู้

 

อ้างอิง


Acemoglu, D., & Robinson, J. (2000). Political Losers as a Barrier to Economic Development. The American Economic Review, 90(2), 126-130.

Amsden, A. (1989). Asia’s Next Giant: South Korea and Late Industrialization. Oxford: Oxford University Press.

Basu, S., & Fernald, J. (2007). Information and Communications Technology as a General-Purpose Technology: Evidence from US Industry Data. German Economic Review, 146-173.

Doner, R., Ritchie, B., & Slater, D. (2005). Systemic Vulnerability and the Origins of Developmental States: Northeast and Southeast Asia in Comparative Perspective. International Organization, 59(2), 327-361.

Evans, P. (1995). Embedded Autonomy: States and Industrial Transformation. Princeton University Press.

Hewison, K. (2019). Crazy Rich Thais: Thailand’s Capitalist Class, 1980-2019. Journal of Contemporary Asia, 1-16.

Keun, L. (2013). Schumpeterian Analysis of Economic Catch-up: Knowledge, Path-Creation, and the Middle-Income Trap. Cambridge: Cambridge University Press.

Kunal, S. (2013). The Political Dynamics of Economic Growth. World Development, 47, 71-86.

Lauridsen, L. S. (2002). Coping with the Triple Challenge of Globalisation, Liberalisation and Crisis: The Role of Industrial Technology Policies and Technology Institutions in Thailand. The European Journal of Development Research, 14(1), 101-125.

Patarapong, I. (2015). Seven Unproductive Habits of Thailand’s Ineffective Technology and Innovation Policies: Lessons for Other Developing Countries. Institutions and Economies, 7(1), 80-95.

Prajak, K., & Veerayooth, K. (2018). The Prayuth Regime: Embedded Military and Hierarchical Capitalism in Thailand. TRaNS: Trans-Regional and -National Studies of Southeast Asia, 6(2), 279-305.

Schneider, B. R. (2013). Hierarchical Capitalism in Latin America: Business, Labor, And The Challenges Of Equitable Development. Cambridge: Cambridge University Press.

Stock Exchange of Thailand (SET). (2020, November 16). Companies/Securities in Focus. Retrieved from SET: www.set.or.th/

Thompson, R. W. (2014). K-Waves, Technological Clustering, and some of Its Implications. In L. Grinin, T. Devezas, & A. Korotayev, Kondratieff Waves: Juglar – Kuznets – Kondratieff (pp. 164–180 ). Volgograd: ‘Uchitel’ Publishing House.

Wade, R. (1990). Governing the Market: Economic Theory and the Role of Government in East Asian Industrialization. Princeton University Press.

World Bank. (2020). World Bank Open Data. Retrieved from https://data.worldbank.org/

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save