fbpx

กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ใช่ ‘คนอื่น’: เปิดร่าง ‘พ.ร.บ.ชาติพันธุ์’ คืนชีวิต สิทธิ และตัวตนให้พลเมืองทุกกลุ่ม กับ มานพ คีรีภูวดล

แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมอันมีประชากรเป็นชนเผ่าพื้นเมืองหรือกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งหมายถึงกลุ่มสังคมที่มีวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี และภาษาสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นในพื้นที่ภาคต่างๆ มากกว่า 60 กลุ่มชาติพันธุ์ หรือประมาณ 6.1 ล้านคน และถึงแม้กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยจะมีประเพณีและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทว่าสภาพความเป็นจริงอย่างหนึ่งที่พวกเขาต้องเผชิญไม่ต่างกัน คือการถูกบังคับให้ต้องโยกย้ายถิ่นฐานออกจากที่ดินของบรรพบุรุษ ถูกปฏิเสธไม่ให้แสดงออกซึ่งวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ตัวเอง ไปจนถึงถูกทำร้ายร่างกายและถูกเลือกปฏิบัติในฐานะพลเมืองชั้นรอง

ที่ผ่านมากลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์มักถูกผลักให้เป็นกลุ่มคนชายขอบ และต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม ทำให้นับวันพวกเขาต้องมีชีวิตที่เสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรงและการถูกละเมิดมากขึ้นเรื่อยๆ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ออกมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในชีวิตมักต้องเผชิญกับการถูกข่มขู่และใช้ความรุนแรง ซึ่งส่วนมากเป็นการกระทำจากภาครัฐ นอกจากนี้ พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์หลายคนยังถูกทำร้ายร่างกายจนถึงชีวิตเพียงเพราะอัตลักษณ์ของพวกเขา

สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดมาจนถึงทุกวันนี้ในประเทศไทย คือความพยายามอย่างสันติในการรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมหรือการครอบครองที่ดินดั้งเดิมอันอุดมไปด้วยทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ มักนำไปสู่การถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏหรือผู้ก่อการร้าย จากข่าวที่มีการคุกคามชุมชนชาติพันธุ์เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยน้ำมือของผู้มีอำนาจในประเทศ

ยิ่งเห็นได้ชัดเจนจากกรณี #saveบางกลอย เหตุการณ์ที่ชาวกะเหรี่ยงจาก ‘บ้านบางกลอย’ ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน รวมตัวกันกลับขึ้นไปทำมาหากินในถิ่นฐานเดิมที่เคยอพยพลงมา ซึ่งเรียกกันว่า ‘บางกลอยบน’ และ ‘ใจแผ่นดิน’ จนมีข่าวว่าทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจะจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามและข่มขู่ ทั้งที่ชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจานอาศัยอยู่อย่างชอบธรรมมาตลอด เนื่องจากอยู่มาก่อนที่จะประกาศเป็นเขตอุทยานฯ และก่อนจะมีภูมิปัญญาในการดูแลรักษาป่า ทว่าจนถึงวันนี้ การต่อสู้ของพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอยก็ยังคงไม่ได้รับความเป็นธรรมจากภาครัฐ

แม้ก่อนหน้านี้ในปี 2542 จะเคยมีมติคณะรัฐมนตรีให้กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิในการดำรงวัฒนธรรมและใช้พื้นที่ทำกินได้ แต่หลังการรัฐประหารในปี 2557 การปฏิบัติงานภายใต้การทวงคืนพื้นป่ากลับส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชน จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลได้ดำเนินคดีฟ้องร้องกว่า 20 คดีกับกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งหมดนี้ทำให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ นักวิชาการ นักกฎหมาย และนักการเมืองสัดส่วนชาติพันธุ์ ได้ร่วมกันต่อสู้ผลักดันให้มีการยกร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติที่ยั่งยืนและสามารถกำหนดวิถีชีวิตตนเอง

นอกจากนี้ เมื่อวัน 9 สิงหาคมที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันชนเผ่าพื้นเมืองสากล ตัวแทนจากพรรคก้าวไกลได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาฯ โดยเป็นหนึ่งในชุดร่างกฎหมายปฏิรูปประเทศ ในประเด็นการปลดล็อกท้องถิ่น การป้องกันการทุจริต และการโอบรับความหลากหลายเพื่อรับรองสิทธิ คุ้มครองสิทธิ และแก้ปัญหาทับซ้อนของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์

101 จึงสนทนากับ มานพ คีรีภูวดล ผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) และประธานเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองพรรคก้าวไกล ถึงสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง มุมมองของเขาต่อความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของไทย ไปจนถึงเส้นทางการต่อสู้เพื่อพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ และการเข้าสู่เส้นทางการเมืองในนามของสมาชิกผู้แทนราษฎร สัดส่วนชาติพันธุ์

‘พ.ร.บ.ชาติพันธุ์’ คืนชีวิตและโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่ม

มานพเริ่มต้นอธิบายว่า เป้าหมายในการยื่นร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ของพรรคก้าวไกล มีหลักสำคัญเพื่อสร้างโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันแม้ในรัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้ว่า พลเมืองทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์กลับยังคงถูกเลือกปฏิบัติทั้งด้วยกฎหมายและความอคติที่ยังฝังอยู่ในความคิดของสังคมไทย ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ได้

ในส่วนของรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ฉบับนี้ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก 

1. บัญญัติรับรองสิทธิ และการห้ามไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ หรือการกระทำการใดๆ ที่นำไปสู่ความเกลียดชังหรืออคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ 

2. ตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์

3. ประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในเขตป่า เนื่องจากปัจจุบันยังมีกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ที่ยังจำกัดสิทธิการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐาน และจำกัดสิทธิในที่ดิน สิทธิในทรัพยากร ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ยังมีคุณภาพชีวิตที่ไม่มีเท่าเทียมพื้นที่อื่น

นอกจากนี้ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ยังแบ่งออกเป็น 3 ประการ

1. ร่างขึ้นภายใต้หลักการในรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิความหลากหลายของกลุ่มคนภายใต้พื้นฐานแนวคิดเรื่องพหุวัฒนธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคมไทยที่ประกอบด้วยกลุ่มคนหลากหลายไม่ต่ำกว่า 60 ชาติพันธุ์ เพื่อให้มีพื้นที่ มีตัวตน มีศักดิ์ศรี และมีกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองสิทธิเหล่านี้

2. ให้มีคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบจากกลุ่มชาติพันธ์ุเเละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์

3. ให้มี ‘สภาชาติพันธุ์’ เพื่อเป็นกลไกในการประสานงานกับหน่วยราชการหรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยมีหน้าที่กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ให้สอดคล้องตามบริบทในแต่ละพื้นที่

ทั้งนี้ มานพเสริมว่า ก่อนหน้านี้พรรคอนาคตใหม่เคยเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองมาแล้วในรัฐสภาชุดที่แล้ว แต่ถูกตีความว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการเงิน ทำให้ถูกส่งไปในนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีความคืบหน้ามานับแต่นั้น ต่อมาเมื่อมีการก่อตั้งพรรคก้าวไกล ทางพรรคจึงได้ใช้ช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งปี 2566 มาร่วมกันปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้อีกครั้ง

“ร่าง พ.ร.บ. ชุดนี้ รัฐสภาชุดที่แล้วมีการเสนอทั้งหมดห้าร่าง ได้แก่ ร่างของพรรคก้าวไกล ร่างของกลไกรัฐสภาหรือกรรมาธิการสามัญ ร่างของประชาชนอีกสองฉบับ คือร่างของสภาชนเผ่าพื้นเมืองและร่างของพีมูฟ (P-Move) สุดท้ายคือร่างที่รับผิดชอบโดยรัฐบาล ซึ่งถือเป็นมิติที่ดีมากที่กฎหมายฉบับเดียวมีการเสนอทั้งหมดห้าร่าง แต่สิ่งที่เราเสียดายคือรัฐสภาชุดที่แล้วไม่ได้หยิบขึ้นมาพิจารณา” มานพกล่าว

มากไปกว่านั้น มานพยังเสริมว่า หากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้บังคับใช้ได้จริงในอนาคต ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์จะพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงไปในสามด้านหลัก

ด้านแรกซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่สุด คือจะต้องมีการยอมรับและรับรองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ประกอบด้วยพหุสังคม ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 60 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่โดยหลักจะแบ่งเป็นสามกลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง กลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่บนพื้นที่ราบ และกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่แถบชายทะเล และยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นกลุ่มเปราะบางมาก คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังมีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับป่าและธรรมชาติสูง เช่น พี่น้องชาติพันธุ์มานิทางตอนใต้ของไทย

ด้านที่สอง คือการเข้าไปส่งเสริมและคุ้มครองพี่น้องชาติพันธุ์ ทั้งด้านวัฒนธรรม อาหาร ภาษา และองค์ความรู้ต่างๆ ที่ล้วนมีโอกาสจะถูกสังคมของวัฒนธรรมใหญ่กลืนกลายไป โดยทั้งหมดต้องได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายฉบับนี้ และจะมีการต่อยอดส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณค่าเหล่านี้ ทั้งในมิติเศรษฐกิจและในมิติอื่นๆ เช่น การผลักดันให้ไปสู่ซอฟต์พาวเวอร์ เป็นต้น

ด้านที่สาม เนื่องด้วยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องฐานทรัพยากรและที่ดินป่าไม้ กฎหมายฉบับนี้จึงจะเป็นแก่นในการเข้าไปรับรองสิทธิของชุมชนพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ และพัฒนาหลักสิทธิมนุษยชน 

“บางกลุ่มชาติพันธุ์ตั้งถิ่นฐานอยู่มาก่อนที่ประเทศไทยจะเกิดเสียอีก แต่วันนี้พวกเขากลับกลายเป็นคนกลุ่มน้อย เป็นคนชายขอบ สิ่งสำคัญคือเราจะต้องทำให้สิทธิดั้งเดิมพื้นฐานของพวกเขาจะถูกรับรองและยอมรับ โดยเฉพาะสิทธิในการดำรงชีวิตภายใต้กรอบวัฒนธรรม และรับรองสิทธิด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย

ด้วยเหตุผลสำคัญในเชิงพื้นที่ประเทศไทยที่ประกอบด้วยสังคมอันเป็นพหุวัฒนธรรม และมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยในนามคนไทย-สัญชาติไทยนั้น มีหลายเชื้อสายและหลายชาติพันธุ์ การมีกฎหมายหรือนโยบายรองรับสถานะของกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์อย่างชัดเจน ไปจนถึงยอมรับการมีตัวตนดำรงอยู่ของชนพื้นเมืองเพื่อให้พวกเขามีศักดิ์มีศรีทั้งในแง่ของสิทธิมนุษยชนและตามหลักนิติบัญญัติจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ มานพเสริมว่า อีกหนึ่งประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ คือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีความแตกต่างของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องชาวมอแกน อูรักลาโว้ย กะเหรี่ยง ม้ง เมี่ยน ลั๊วะ อาข่า ฯลฯ พวกเขาเหล่านี้ล้วนมีวิธีคิดและวิถีชีวิตเกี่ยวกับฐานทรัพยากรตามบริบทพื้นที่ของตนเอง ดังนั้น การกำหนดให้พี่น้องชาติพันธุ์มีตัวตนและอัตลักษณ์ชัดเจนภายใต้กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยจะมีการผลักดันออกมาในรูปของเขตวัฒนธรรมเฉพาะหรือเขตวัฒนธรรมพิเศษ เพื่อรับรองสถานะการดำรงตัวตนการมีอยู่ของชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองบนพื้นฐานของสังคมพหุวัฒนธรรม

นอกเหนือจากร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ที่พรรคก้าวไกลกำลังขับเคลื่อน มานพเสริมว่าจากที่พูดคุยกับประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ เรื่องหลักๆ ที่พวกเขาต้องการให้เร่งแก้ไขที่สุดตอนนี้ ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินและสิทธิในที่อยู่อาศัย อันเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการหาเลี้ยงชีพ ไปจนถึงการแก้ปัญหาปากท้องซึ่งท้ายที่สุดก็จะวนกลับมายังปัญหาในสองประเด็นแรกสุดที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานหลายปี และหากจะแก้ไขได้อย่างยั่งยืน หนทางแก้ไขที่ดีที่สุดคือการแก้ที่ตัวกฎหมายอันเป็นต้นตอของปัญหา

“พี่น้องหลายคนอยากแก้ปัญหาแต่ไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นอย่างไร เขาอยากมีสิทธิที่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถประกอบอาชีพและอยู่อาศัยในที่ดินของตัวเองได้ ไม่อยากมีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้หรือกรมอุทยาน เขาก็อยากพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองและชุมชนเหมือนกับเราทุกคนเช่นกัน แต่ต้องยอมรับว่าปัญหาเหล่านี้หากจะแก้ในระยะยาว เราไม่สามารถแก้ไขให้สำเร็จสมบูรณ์ได้เลยในทันที เพราะเรื่องเหล่านี้คือปัญหาเชิงโครงสร้าง เราต้องไปแก้ที่ข้อกฎหมาย และต้องมีคนที่เข้าใจเรื่องนี้เข้าไปแก้ไข”

“แม้แต่ปัญหาปากท้องก็จะวนมาเกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพยากร ซึ่งเป็นส่วนเดียวกับเรื่องที่ดินทำกิน ถ้าต้องการทำทรัพยากรในพื้นที่มาพัฒนามาเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดสู่การค้าขาย สร้างรายได้และเป็นพืชเศรษฐกิจได้ เราก็ต้องไปแก้ที่กฎหมายอยู่ดี เพราะถ้าพืชชนิดนั้นยังไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ไม่สามารถไปขอใบรับรอง GMP (Good Manufacturing Practice) ได้ หรือเรื่องที่เขากลายเป็นคนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐทั้งที่เขาอยู่มาก่อนนานแล้ว ต้นทุนในชีวิตของพี่น้องชาติพันธุ์ยิ่งสูงกว่าคนอื่น ดังนั้น ถึงที่สุดปลายทางของการแก้ไข คือการแก้กฎหมาย ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อนำไปแก้ไขในสภา”

อคติทางชาติพันธุ์’ – มายาคติที่เกิดจากอำนาจรัฐ

จากการทำงานที่ผ่านมาในฐานะสมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคอนาคตใหม่ในปี 2562 และพรรคก้าวไกลในปีนี้ มานพระบุว่าปัญหาหลักที่เกิดขึ้นในกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ต่างเป็น ‘เรื่องอมตะนิรันดร์กาล’ หรือปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานและไม่เคยได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในที่อยู่อาศัยและสิทธิทำกิน ซึ่งนับเป็นเรื่องใหญ่อย่างมากในการดำรงชีวิตของพี่น้องชาติพันธุ์ พร้อมระบุว่า ปัญหาเหล่านี้มักมาพร้อมอคติเชิงลบต่อประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ อันเป็นผลพวงจากการสร้างมายาคติมาอย่างยาวนานและต่อเนื่องผ่านอำนาจของรัฐ

มานพยังเสริมต่อว่า ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์มักโดนดูถูกเหยียดหยามว่าเป็นกลุ่มไม่มีการศึกษา มีความคิดและชีวิตที่ล้าหลัง ทั้งยังมีความพยายามจะผลักพวกเขาออกไปจากการเป็นประชาชนส่วนหนึ่งในสังคมไทย ร้ายแรงที่สุดคืออคติเหล่านี้มักนำมาสู่ความรุนแรงต่อกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ถูกมองว่าเป็นพวกรุกร้ำทำลายป่าหรือเป็นพวกค้ายาเสพติด จนถูกเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ด้วยความรุนแรงตลอดมา ซ้ำยังได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายที่ไม่เป็นธรรมของรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็นเขตป่าประเภทต่างๆ กลุ่มคนเหล่านี้ถูกจำกัดทั้งสิทธิการพัฒนา สิทธิในสัญชาติ สิทธิในที่ดิน ทรัพยากร วิถีชีวิต รวมถึงการพัฒนาโอกาสในการสร้างอาชีพใหม่ๆ ในชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์

“หลังเปลี่ยนจากสยามมาเป็นประเทศไทย การสร้างรัฐชาติมีผลต่อการสร้างอคติต่อชาติพันธุ์ด้วยในส่วนหนึ่ง เพราะในอดีตประเทศไทยมีคนเชื้อสายต่างๆ มากมายไปหมด มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นคนจาม คนขอม คนมลายู คนเวียด คนมอญ คนกะเหรี่ยง ฯลฯ แต่วันนี้พวกเขาทั้งหมดกลับถูกมองเป็นคนนอก”

“ประวัติศาสตร์ไทยไม่เคยทำให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ทั้งที่เขาเป็นคนดั้งเดิมมาก่อน พวกเขาไม่มีสิทธิทั้งเรื่องสัญชาติ สิทธิในที่อยู่อาศัย สิทธิในที่ดินทำกิน ไปจนถึงสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณะหรือสวัสดิการของรัฐ ทุกวันนี้หลายชุมชนไฟฟ้าก็ยังไม่มี สัญญาณโทรศัพท์ก็ไม่มี ถนนหนทางก็ลำบาก ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ และยังคงเป็นเรื่องเดิมที่เกิดมาโดยตลอด” 

“เรื่องอคติทางชาติพันธุ์ผมก็เจอมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะเรื่องภาษา เวลาพูดภาษากลาง สำเนียงและคำพูดของเราหรือพี่น้องหลายคนอาจไม่ชัดเท่าคนไทยในเมือง เพราะมันเป็นภาษาที่สองของเรา ภาษาแม่ของเราก็คือภาษาประจำชาติพันธุ์ พวกเรา หลายคนจึงถูกล้อเรื่องการพูดมาโดยตลอด” มานพกล่าว

จากอคติที่เกิดขึ้นนำมาสู่ความท้าทายหรืออุปสรรคในการผลักดันข้อกฎหมายเกี่ยวกับชาติพันธุ์ โดยมานพระบุว่า ข้อท้าทายสำคัญที่สุดคือการสร้างพื้นที่ทางการเมืองของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ให้เปิดกว้างและโอบรับทุกชาติพันธุ์ให้มากที่สุด เพื่อให้พวกเขาได้มีส่วนร่วม ได้มีปากมีเสียงในการเรียกร้องและผลักดันเรื่องทางการเมืองต่างๆ ไม่ใช่เป็นเพียงประชาชนในเงาที่รัฐบาลไม่เคยให้ความสำคัญแบบที่เกิดขึ้นมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ทั้งยังเน้นย้ำว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะแก้ไขได้ในระยะยาวต้องแก้ที่ต้นตอ คือการแก้ไขที่ตัวบทกฎหมาย

“ผมเป็นคนที่หนึ่งถูกกระทำมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน ทั้งการอพยพโยกย้ายตามนโยบายของภาครัฐ รวมถึงการถูกเลือกปฏิบัติ ไปจนถึงการถูกล้อเลียน ผมรู้สึกตั้งแต่ตอนนั้นว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม พอเรียนจบผมจึงเลือกทำงานสายสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ผมคาดหวังว่าเราจะได้แก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ แม้ที่ผ่านมาผมจะพยายามขับเคลื่อนมาตลอดในบทบาทของผู้ประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับพี่น้องในชุมชน ไปจนถึงองค์กร NGO แต่เราพบว่า ถึงที่สุดในระบบระดับล่างอาจไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างได้”

“จากการทำงานในพื้นที่ผมพบว่ามีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ให้อำนาจระบบราชการอย่างมาก ช่วงทำงานผมต้องติดต่อนายอำเภอ 8 คน หัวหน้าอุทยาน 5-6 คน เพราะพอมีการโยกย้ายข้าราชการอยู่เรื่อยๆ กลไลราชการพอคนใหม่ย้ายมาก็เหมือนเราต้องเริ่มต้นทำงานใหม่ทั้งหมด ขับเคลื่อนใหม่อยู่ตลอด อยู่ในพื้นที่ที่เราต้องเจอกับปัญหาทุกวัน พอเป็นเช่นนี้เราก็แก้ไขปัญหาจริงๆ ไม่ได้เสียที เราจึงมองว่าถ้าจะเปลี่ยนแปลงเรื่องเหล่านี้ได้ เราต้องนำเรื่องไปที่ระบบรัฐสภาให้ได้”

“หลายปีที่ผ่านมา พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์แทบไม่มีพื้นที่ทางการเมืองเลย เราไม่มีสิทธิเรียกร้องอะไรเลย อาจจะมีผู้สมัครรับเลือกตั้งบางคนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ แต่การมีบทบาทในพื้นที่ทางการเมืองในพรรคการเมืองจริงๆ ก่อนหน้านี้ไม่มีเลย พื้นที่ทางการเมืองในที่นี้ หมายถึงการมีเครือข่ายหรือปีกชาติพันธุ์ เพื่อเปิดพื้นที่ให้กลุ่มชาติพันธุ์อย่างเป็นระบบ ถ้าแบ่งพรรคการเมืองเป็นบ้าน บ้านหลังนี้ก็ควรจะต้องมีห้องสำหรับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์โดยเฉพาะ ไปจนถึงมีโครงสร้าง มีกลไก และมีการยอมรับที่ชัดเจน”

มากไปกว่านั้น มานพเล่าจากประสบการณ์การทำงานของเขาว่า ด้วยบทบาทของการเป็นผู้แทนราษฎร ทำให้การติดต่อประสานงานกับส่วนราชการมีประสิทธิภาพมากขึ้น และปัญหาของชาวบ้านจะได้รับการแก้ไขมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาเฉพาะหน้า และแม้กลไกรัฐสภาจะมีเงื่อนไขมากมายในการผลักดันข้อกฎหมายต่างๆ แต่ภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้ อย่างน้อยที่สุดการสื่อสารกับสังคมและการผลักดันด้วยระบบรัฐสภาก็เปิดกว้างมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

อีกทั้งยังมองว่า พื้นที่การเรียนรู้และโอบรับความหลากหลายของสังคมไทยเปิดกว้างมากขึ้น ผ่านเรื่องราวของวัฒนธรรม วิถีชีวิต ไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก เช่น มีวันชนเผ่าพื้นเมืองโลกที่หลายองค์กรในประเทศไทยให้ความสำคัญ ประกอบกับในยุคนี้สื่อก็ให้ความสำคัญมากขึ้น มีการลงพื้นที่มากขึ้น พื้นที่สื่อจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำให้สังคมเข้าใจและตระหนักเรื่องความหลากหลายทางชาติพันธุ์มากขึ้น

“ต้องยอมรับว่าพอเราพูดในฐานะของผู้แทนราษฎร มันเป็นพื้นที่ที่มีพลังในการสื่อสารและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้พอสมควร ส่วนตัวร่าง พ.ร.บ. ที่เรากำลังจะผลักดันอยู่ ณ ตอนนี้ เป็นเพียงแค่หนึ่งในแนวทางเท่านั้น แต่เรายังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องการจะผลักดัน เช่น การแก้ปัญหาสถานะบุคคลและสัญชาติ การพัฒนาพื้นที่นิเวศทางวัฒนธรรม”

“ผมคิดว่าตอนนี้เราได้พื้นที่สื่อสารเชิงกว้างมากกว่าที่เคยทำงานมา เรื่องปัญหาที่ดินป่าไม้ ปัญหาชาติพันธุ์ เมื่อก่อนเราก็พูดมาตลอด แต่สื่อมวลชนแทบไม่ค่อยทำข่าว ไม่ค่อยให้ความสนใจ สมัยผมเป็นนักเคลื่อนไหว การเข้าไปในรัฐสภาเป็นเรื่องยากมาก ยิ่งมาจากต่างจังหวัดและเป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์ เราไปยื่นหนังสือร้องเรียนแต่ละครั้งลำบากยากเย็นมาก บางทีรัฐบาลไม่ส่งตัวแทนมารับด้วยซ้ำ เราต้องยื่นหนังสือฝากไปกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย”

“แต่ยุคนี้พี่น้องชาติพันธุ์สามารถเข้ามาในพื้นที่รัฐสภาได้สะดวกมากขึ้นมาก เข้ามายื่นหนังสือ นำเสนอข้อเรียกร้อง หรือจัดกิจกรรมภายในพื้นที่รัฐสภาได้ พี่น้องชาติพันธุ์เองก็ภูมิใจที่การเมืองเปิดพื้นที่ให้พวกเขามากขึ้น เราก็ดีใจที่ได้เอาเรื่องราวของคนนอกสภาและวิถีชีวิตของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาพูดในสภา”

“ถ้าถามว่า ณ ตอนนี้มีความสำเร็จเกิดขึ้นบ้างไหม ผมมองว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นคือ ตอนนี้เรามีเป้าหมายร่วมกันแล้ว ไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ แต่หมายถึงสังคมโดยรวม ในวันนี้พื้นที่ของสภาผู้แทนราษฎรได้เป็นพื้นที่ของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ได้เหมือนกับพี่น้องกลุ่มอื่นๆ เสียที” มานพกล่าว

แม้ในความเป็นจริงประเทศไทยจะเคยลงนามในปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองตั้งแต่ปี 2550 ว่าด้วยการให้ความสำคัญแก่สิทธิปวงชนท้องถิ่นดั้งเดิมในการธำรงรักษาและเสริมสร้างสถาบันทางวัฒนธรรมและประเพณีของพวกเขา ทว่าที่ผ่านมาประเทศไทยกลับไม่มีมาตรการหรือกฎหมายใดๆ ที่สะท้อนถึงการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองอย่างจริงจัง ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือการลงนามดังกล่าวต้องมีผลในทางปฏิบัติเสียที และหากเทียบกับรัฐบาลชุดก่อนๆ มานพมองว่าอย่างน้อยที่สุดวันนี้พื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ก็เปิดกว้างมากขึ้น นับเป็นแสงสว่างแห่งความหวังที่กลไกและพื้นที่รัฐสภาจะกลายเป็นพื้นที่ของประชาชนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง เพราะทั้งสิทธิ เสรีภาพและความเท่าเทียม ต้องหมายรวมถึงพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกคน

“ผมคิดว่ากลไกรัฐสภาหรือการทำงานเชิงนโยบายจะเป็นพื้นที่ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง ส่วนการทำงานนอกสภาและการลงพื้นที่ก็ถือเป็นการทำงานการเมืองภาคประชาชน หรือการผลักดันภาคประชาสังคม แต่สุดท้ายผมมองว่าการขับเคลื่อนทั้งหมด หากว่าข้อกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็อาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนได้”

นอกจากนี้ แนวทางแก้ไขที่จำเป็นต้องทำคู่ขนานไปกับการแก้ไขกฎหมายผ่านกลไกรัฐสภา คือการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และต้องไม่ลืมอีกเรื่องที่สำคัญคือ การกระจายอำนาจ เพราะประเด็นนี้ไม่ได้ส่งผลแค่กับกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์เท่านั้น แต่เป็นปัญหาร่วมกันของประชาชนในหลายพื้นที่ โดยสังคมต้องมองโครงสร้างกฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจบนพื้นฐานของการออกแบบการบริหารจัดการที่จะกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น

“ตอนนี้เรารู้แล้วว่าข้อจำกัดสำคัญคือเรื่องข้อกฎหมาย แต่ก่อนที่เราจะแก้ข้อจำกัดเหล่านี้ได้ จะแก้ได้ต้องมีแนวคิดเรื่องความร่วมมือในแต่ละภาคส่วนและผลักดันต่อไปในเชิงนโยบาย เช่น การพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวร่วมกัน การผลักดันเรื่องพืชเศรษฐกิจที่จะทำให้หลายพื้นที่กลับมาเป็นพื้นที่วนเกษตร ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่อาจทำให้คนรุ่นใหม่อยากกลับมาอยู่บ้านเกิดเพื่อร่วมพัฒนาฐานทรัพยากร”

“พี่น้องชาติพันธุ์ 6.1% อาจเป็นจำนวนที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมดในประเทศ แต่พวกเขาเหล่านี้ก็เป็นประชาชนที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเช่นกัน เพราะคนเหล่านี้มีต้นทุนด้านทรัพยากรมากมาย การกระจายอำนาจจึงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก”

เพราะพี่น้องชาติพันธุ์ก็มีความฝันและความหวังเหมือนทุกคนในสังคม

อีกหนึ่งประเด็นที่พ่วงมาเสมอเมื่อมีการพูดถึงวิถีชีวิตของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ คือการที่สังคมส่วนใหญ่มักมองว่าชีวิตของคนชาติพันธุ์นั้น ‘ถึงลำบากแต่ก็สงบและมีความสุข’ ในเรื่องนี้มานพให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า “ในมุมของผม ถ้าชีวิตของพวกเขาดำเนินไปภายใต้กรอบของวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นๆ เอง ในกรณีที่ไม่มีภาคเศรษฐกิจรุกล้ำเข้ามา ไม่มีแรงกดดันจากสังคมภายนอก หรือไม่มีอำนาจรัฐที่เข้าไปคุกคาม การดำเนินชีวิตแบบนั้นอาจมีความสุขและสงบจริงๆ และหลายคนก็แสวงหาชีวิตที่เงียบสงบแบบนี้ คือวิถีชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติ” 

“แต่พอวิถีของคนกระแสหลักหรือวิถีชีวิตแบบคนเมืองรุกล้ำเข้ามา ทั้งเรื่องมิติทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยายามสร้างความศิวิไลซ์ แรงกดดันจากภายนอกจึงทำให้วิถีชีวิตของพี่น้องชาติพันธุ์ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ในความเป็นจริงมีหลายชุมชนที่พยายามจะเอาวิถีชีวิตสองอย่างนี้มาผสมผสานหรือปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกัน เรียกว่า ‘เศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม’ แต่ปัญหาคือเรื่องนี้ไม่ได้ถูกผลักดันอย่างเป็นจริงเป็นจังเสียที ชีวิตของพวกเขาจึงเป็นไปแบบครึ่งๆ กลางๆ”

ต่อประเด็นนี้ โจทย์เรื่องการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ จึงเป็นอีกประเด็นสำคัญในปัจจุบัน เนื่องด้วยโลกที่เชื่อมต่อถึงกันหมด การท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตหรือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจึงควรตั้งอยู่ระบบฐานเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับทรัพยากรของพี่น้องชาติพันธุ์ และอยู่ในระบบที่สามารถต่อยอดในอนาคตได้ โดยมานพเน้นย้ำว่าการดำเนินนโยบายดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้ความสมดุลเพื่อผสานวิถีชีวิตซึ่งกันและกัน และในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำลายวัฒนธรรมของกันและกัน 

มานพระบุว่า โครงสร้างของหน่วยงานท้องถิ่นสำคัญมากต่อการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ต้องมีโมเดลต้นแบบหรือแนวทางเบื้องต้นว่า ชุมชนนั้นๆ จะบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างไร ที่สำคัญที่สุดคือยิ่งหากเป็นพื้นที่เปราะบางเชิงระบบนิเวศ การเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการของรัฐต้องเกิดขึ้นและเป็นปัจจัยที่สำคัญจำเป็นมาก

“ล่าสุดผมเพิ่งไประเบียงดาวที่ดอยหลวงเชียงดาว พี่น้องที่นั่นก็ต้องการทำการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ดังนั้น การออกแบบการท่องเที่ยวต้องเป็นสิ่งที่ตกลงร่วมกันแล้ว ชุมชนนั้นๆ ต้องรับรู้และยอมรับได้ อย่างหลายพื้นที่จะมีการกำหนดอย่างชัดเจน เช่น จำกัดว่าพื้นที่ของเขารับนักท่องเที่ยวได้มากสุดเท่าไร เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร คือไม่ได้รับคนเข้ามาหมดตามอำเภอใจ บางพื้นที่อาจรับเป็นฤดูกาล การท่องเที่ยวที่ผสานกับวิถีชีวิตของผู้คนชาติพันธุ์ต้องมีการออกแบบกติการ่วมกัน เพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่และตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจยั่งยืนได้มากที่สุด”

“สมมติเราไปชุมชนพี่น้องกะเหรี่ยง เขาก็จะมีอาหาร เครื่องดื่ม และพืชผักที่เป็นของเขาอยู่ในไร่หมุนเวียน การปรับตัวเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ และควรจะมีโมเดลต้นแบบ ซึ่งพลังแห่งการพัฒนาส่วนหนึ่งมาจากคนรุ่นใหม่ที่นำองค์ความรู้กลับมาพัฒนาต่อยอด และจะดีมากหากได้การสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐ พร้อมกับปลดล็อกข้อกฎหมายบางตัวเพื่อให้ชุมชนทำงานได้ง่ายขึ้น”

ท้ายที่สุด มานพมองว่าโอกาสและความหวังต่อเมืองไทยในด้านความหลากหลายของชาติพันธุ์ สิ่งสำคัญคือความเป็นไปได้และความพยายามในการการเปลี่ยนเกมทางการเมือง ร่วมสร้างวัฒนธรรมการเมืองที่เปลี่ยนไป ให้เป็นการเมืองที่จับต้องได้ เพื่อให้พี่น้องชาติพันธุ์ได้มีตัวตนในการเมืองระดับชาติ และได้นำเสนอเรื่องราวของพวกเขาอย่างแท้จริง 

“ณ ตอนนี้พี่น้องชาติพันธุ์เริ่มสัมผัสได้ว่าตัวตนและอัตลักษณ์ของพวกเขามีความหมายกับพื้นที่ทางการเมืองและประเทศนี้มากขึ้น นี่คือความหวังครั้งสำคัญสำหรับผม อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือเราเห็นความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ ผมคาดหวังอย่างมากว่าเราจะมีทายาททางการเมืองระดับประเทศจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ขึ้น และผมมีความหวังอย่างมากที่จะได้เห็น ส.ส.สัดส่วนชาติพันธุ์จำนวนมากขึ้นต่อไปในอนาคต”

ท้ายที่สุด มานพเน้นย้ำว่า ร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ไม่ได้คุ้มครองเฉพาะพี่น้องชาติพันธุ์ในชนบทเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพี่น้องชาติพันธุ์ในเมืองด้วย ซึ่งร่างกฎหมายนี้จะมุ่งเน้นไปเรื่องวัฒนธรรมและตัวตนอัตลักษณ์ เพื่อให้เสียงของพี่น้องทุกชาติพันธุ์ดังไปถึงทุกคนในสังคม สร้างความตระหนักและเคารพตัวตนของในนามชนเผ่าพื้นเมืองที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ได้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมนี้อย่างมีความหวัง ความฝัน และปลอดภัยจากการถูกกดขี่เหมือนกับประชาชนทุกคนในประเทศไทย

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Politics

31 Jul 2018

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม

ธนาพล อิ๋วสกุล ย้อนสำรวจระบอบเปรมาธิปไตยและปัจจัยสำคัญเบื้องหลัง รวมทั้งถอดรื้ออภิมหาเรื่องเล่าของนายกฯ เปรม เพื่อรู้จัก “นักการเมืองชื่อเปรม” ให้มากขึ้น

ธนาพล อิ๋วสกุล

31 Jul 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save