fbpx

สิ้นสุดวัฒนธรรม ‘ถุงดำ’ และ ‘แท่งปูน’ ในวันที่ไทยประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ

“หากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2552 ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา ผมคงไม่ต้องขึ้นศาลนับครั้งไม่ถ้วน” นี่เป็นส่วนหนึ่งของคำบอกเล่าจาก สมศักดิ์ ชื่นจิตร บิดาของเหยื่อซ้อมทรมาน ถึงความรู้สึกของเขาหลังทราบว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ) กำลังจะมีผลบังคับใช้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า แม้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะพยายามเลื่อนการบังคับใช้ในช่วงที่ผ่านมา

สมศักดิ์เล่าถึงเรื่องราวลูกชาย ‘ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร’ ในวันที่เขายังเป็นเพียงเยาวชนคนหนึ่ง ฤทธิรงค์ถูกตำรวจจับกุมและกล่าวหาว่า ‘ชิงทรัพย์บุคคลอื่น’ หลักฐานเพียงชิ้นเดียวที่ตำรวจใช้ คือเสื้อน้ำตาลที่เขาใส่เป็นสีเดียวกับผู้ต้องหา แต่ความโชคร้ายไม่จบเท่านี้ หลังพนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้เสียหายมาชี้ตัว ก็พาฤทธิรงค์ไปยังห้องมืดเพื่อปฏิบัติการทรมานให้ได้รับคำสารภาพ เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้สมุดปกเหลืองตบหน้า เมื่อเขายังไม่ยอมรับสารภาพ ถุงขยะสีดำก็ถูกนำมาคลุมหัวของฤทธิรงค์และถูกรวบตึงชายถุง 

หลังจากถุงดำใบแรกนั้น ไม่นานนัก ใบที่สอง ใบที่สาม และใบที่สี่ก็ค่อยๆ ครอบทับตามมาเป็นชั้นๆ จนสุดท้าย ฤทธิรงค์ตัดสินใจสารภาพไปก่อน

ในเวลาต่อมา เมื่อเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องหาตัวจริงได้ ก็ควรนับเป็นการพิสูจน์ว่าฤทธิรงค์เป็นผู้บริสุทธิ์ สมศักดิ์ผู้เป็นบิดาคิดว่าตัวเองคงจะยกภูเขาออกจากอก แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะตำรวจที่จับกุมฤทธิรงค์ได้นัดแนะกับผู้เสียหายไม่ให้ชี้ตัวผู้ต้องหาตัวจริง และสั่งฟ้องฤทธิรงค์ จนทำให้ครอบครัวต้องต่อสู้เพื่อพิสูจน์ว่าฤทธิรงค์บริสุทธิ์อีกราว 2 ปี

ประเด็นการทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ทางครอบครัวตัดสินใจดำเนินคดีและเดินทางไปร้องทุกข์กับทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวง ทบวง กรมของภาครัฐตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ท้ายที่สุดคดียุติลงด้วยประโยคอ้างว่าไม่มีข้อเท็จจริง ทำให้สมศักดิ์มองว่าครอบครัวไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง โดยเขาเล่าว่าประโยคหนึ่งที่เขาได้ยินบ่อยจนคลื่นไส้ คือ ‘รอการดำเนินการ’ และเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างบาดแผลที่มากกว่าความเจ็บปวดด้านร่างกายให้แก่ครอบครัวของฤทธิรงค์

เรื่องราวลักษณะนี้ไม่ได้มีฤทธิรงค์เพียงคนเดียวที่เจอ

หลายครั้งเราได้เห็นกรณีการซ้อมทรมานไปจนถึงการอุ้มหายอันเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือจากมือที่มองไม่เห็น ส่งผลให้ภาคประชาชนหลายฝ่ายพยายามออกมาต่อสู้เรียกร้องให้รัฐออกกฎหมายฉบับใหม่อันบัญญัติซึ่งฐานความผิดเกี่ยวกับการซ้อมทรมานและอุ้มหายจากเจ้าหน้าที่รัฐเป็นการเฉพาะ จนกระทั่งในปี 2565 ภาคประชาชนก็ได้ผลักดัน ‘ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย’ สำเร็จ

ติดกล้อง-แจ้งการจับ กระบวนการใหม่ในวันที่ไทยต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่าพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เป็นการรวมอนุสัญญาสากลว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชน 2 ฉบับ คืออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment : CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced disappearance : CED) รวมเป็น พ.ร.บ. ฉบับเดียว โดยอนุสัญญาทั้งสองฉบับนี้ต่างมีบทบัญญัติที่ยืนยันถึงหลักสิทธิมนุษยชนว่า มนุษย์ต้องไม่ถูกทรมานและไม่ถูกบังคับให้สูญหาย ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือสงคราม ซึ่งหลักการดังกล่าวก็ถูกยืนยันอีกครั้งในมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้

หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดจึงต้องบัญญัติเรื่องการทรมานและการบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นฐานความผิดเฉพาะ ทั้งที่การทรมานหรือการบังคับให้สูญหายเป็นความผิดกฎหมายอาญาอยู่แล้ว ปกป้องอธิบายว่าหากวันนี้ประชาชนกระทำต่อประชาชน ผู้เสียหายยังสามารถพึ่งพิงเจ้าหน้าที่รัฐได้ แต่หากเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนกระทำเสียเอง ประชาชนจะไม่สามารถพึ่งพิงได้ การบัญญัติฐานความผิดเฉพาะจึงเป็นการส่งสัญญาณว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่อาจใช้อำนาจลงมือ

ด้าน น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการ เล่าถึงกระบวนการยกร่างกฎหมายว่าเกิดจากการต่อสู้ของภาคประชาชน แต่เมื่อเข้าไปในวุฒิสภาอาจถูกตัดทอนรายละเอียดบางประเด็นให้หายไป อาทิ การห้ามนิรโทษกรรม อายุความที่มีระยะเวลานาน

นอกจากนี้กระบวนการจับกุมและสอบสวนที่ผ่านมา เป็นลักษณะที่มีหน่วยงานเดียวดำเนินการ จึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับการทำลายหลักฐานหรือบิดเบือนรูปคดี กฎหมายฉบับนี้จึงกำหนดให้มีหลายหน่วยงานร่วมกันสอบสวน และเจ้าหน้าที่จับกุมต้องแจ้งต่อนายอำเภอในพื้นที่ อัยการให้รับทราบ โดยจะมีหน่วยงานที่คอยรับแจ้งและเข้าไปพูดคุยกับผู้ถูกจับกุมตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการบิดเบือนรูปคดีและการจับกุม น้ำแท้มองว่าวิธีคิดดังกล่าวเป็นวิธีคิดที่เท่าทันกันของคนทำงาน

ทั้งนี้ อีกหนึ่งสิ่งในกระบวนการจับกุมที่เปลี่ยนแปลงไป คือเมื่อมีการจับกุมและควบคุมตัวจะต้องมีการบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าการบันทึกภาพและเสียงจะช่วยป้องกันอัตราการซ้อมทรมานได้ แนวคิดดังกล่าวได้รับการยืนยันจากการศึกษาในประเทศอังกฤษแล้วว่า เมื่อมีการติดกล้องขณะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน พบว่าเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ลดลงกว่าร้อยละ 90 แต่ต้องยอมรับว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจจะสร้างความกังวลแก่ผู้ปฏิบัติงาน

 “ที่ผ่านมามีการพูดคุยกับหน่วยปฏิบัติงานหลายครั้ง ซึ่งทุกฝ่ายตอบรับในการดำเนินการ กฎหมายฉบับนี้นับเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของไทย เพราะการติดกล้องเป็นแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเชื่อว่าจะสามารถคุ้มครองประชาชนได้จริง ด้วยฐานความคิดว่าบุคคลจะถูกทรมานหรือบังคับให้สูญหายมักเกิดขึ้นช่วงเข้าจับกุมหรือพรากเสรีภาพของบุคคลไป” น้ำแท้กล่าว

การบังคับใช้กฎหมาย ในวันที่ชายแดนใต้ยังอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ตลอดระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมา สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังอยู่ภายใต้กฎหมายความมั่นคงหลายฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457, พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ส่งผลให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจจับกุมคุมขังประชาชน หรืออนุญาตให้ควบคุมตัวในสถานที่ที่ไม่เป็นทางการอย่างค่ายทหารได้ หลายครั้งเมื่อผู้ถูกจับกุมถูกมองว่าเป็น ‘ภัยความมั่นคง’ และถูกเจ้าหน้าที่รัฐลิดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์

เมื่อ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ หมายความว่าจะรวมถึงพื้นที่ที่มีประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) อย่างพื้นที่ชายแดนใต้ด้วย นับเป็นอีกหนึ่งความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้

สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรมมองว่า หนึ่งในความสำเร็จของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 คือการตัดอำนาจศาลทหาร ซึ่งที่ผ่านมาในสามจังหวัดชายแดนใต้ เจ้าหน้าที่ทหารที่กระทำความผิดไม่ต้องขึ้นศาลพลเรือน ยกตัวอย่างกรณีพลทหารวิเชียร เผือกสม ที่เกิดขึ้นในชายแดนใต้และถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิตในค่ายทหาร กรณีดังกล่าวใช้ระยะเวลานานมากกว่าจะมีการสั่งฟ้อง ตลอดกระบวนการก็พบเจอกับปัญหามากมาย อีกทั้งเมื่อมีคำพิพากษาก็ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลเสียต่อผู้เสียหายและจำเลยในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีการประกาศกฎอัยการศึก ดังนั้นการที่ให้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาคดีจะช่วยลดปัญหาที่จะเกิดขึ้น และให้ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมากยิ่งขึ้น

นอกจากกรณีของพลทหารวิเชียร เผือกสม นั้น ปรีดา นาคผิว ทนายความที่เชี่ยวชาญคดีทรมานและคดีบังคับบุคคลให้สูญหาย ยกกรณีภารโรงในสามจังหวัดที่ถูกควบคุมตัวต่อหน้าครอบครัวไปยังฐานปฏิบัติการทางทหาร ณ โรงเรียนแห่งหนึ่ง และหายตัวไปจนถึงปัจจุบันนี้ เมื่อคดีดังกล่าวขึ้นสู่ศาล ก็พบข้อจำกัดว่าศาลต้องการเห็นตัวตนของภารโรงเพื่อพิสูจน์ว่าอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่จริง เพราะเจ้าหน้าที่ทหารอ้างว่าปล่อยตัวไปเรียบร้อยแล้ว ท้ายที่สุดศาลพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว กลายเป็นกรณีศึกษาอย่างดีในประเด็นของการควบคุมตัวด้วยหน่วยงานเดียว กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นเหมือนเครื่องมือบังคับว่าหากเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ต้องมีการแจ้งกรมปกครองหรืออัยการในท้องที่ให้รับทราบและเข้าถึงผู้ถูกควบคุมตัวได้

ทั้งนี้ ปรีดามองว่าประเด็นทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายก็ได้ หากเจ้าหน้าที่รัฐยึดหลักการว่าตนนั้นทำหน้าที่แทนรัฐ กล่าวคือมีหน้าที่ในการปกป้องชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชน และเมื่อเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ใดไป ต้องมีภาระในการคืนตัวไปยังที่ที่คุณควบคุมตัวมา

ก้าวต่อไป และข้อควรระวังที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย

การที่กฎหมายแต่ละฉบับจะประกาศใช้นั้น ต้องมีการทำความเข้าใจและเตรียมพร้อม ทั้งในแง่เจ้าหน้าที่ ตัวบทกฎหมาย และงบประมาณเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ตัวแทนจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการเตรียมพร้อมก่อนที่กฎหมายจะจะประกาศบังคับใช้ ว่าต้องมีการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติการ ที่ผ่านมา ในช่วงร่างกฎหมายนั้นมีเพียงตัวแทนจากคนกลุ่มหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวแทนจากกองกฎหมาย ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติงานจริง ดังนั้นเมื่อมีการประกาศใช้ ผู้ปฏิบัติงานหลายคนจึงเกิดข้อกังวลจำนวนมาก

ประเด็นหลักคือ การบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่อง ทางฝ่ายปฏิบัติงานตั้งคำถามว่าต้องต่อเนื่องขนาดไหนและกล้องต้องใช้ความละเอียดของภาพเท่าใด นอกจากนี้ยังต้องมีฐานข้อมูลที่ใช้เก็บข้อมูลต่างๆ และความกังวลเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของบุคคลในวิดีโอ ซึ่งก่อนกฎหมายฉบับนี้ออกบังคับใช้ ทางกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพต้องยกร่างระเบียบในเรื่องของการเยียวยา ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้

ฝ่าย ปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการทรมานและอุ้มหาย ว่าที่ผ่านมาคดีเหล่านี้ไม่สามารถดำเนินคดีได้ เพราะพยานและหลักฐานไม่เพียงพอ จนไม่สามารถนำไปสู่การพิสูจน์ว่ามีการละเมิด 

ในต่างประเทศ กระบวนการยุติธรรมอนุญาตให้ใช้ความเห็นทางการแพทย์มาเป็นหลักฐานในการพิสูจน์ถึงการทรมานได้ หากจะพัฒนากฎหมายนี้ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นควรจะพัฒนาให้ความเห็นของแพทย์สามารถเป็นหลักฐานได้เช่นกัน จึงอยากผลักดันให้กระทรวงสาธารณสุขพัฒนาระบบดังกล่าว เพื่อเตรียมบุคลากรสำหรับการวางระบบให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งความน่าเชื่อถือ ค่าตอบแทนที่เหมาะสม อีกทั้งต้องคุ้มครองแพทย์ให้ปลอดภัยสำหรับการเป็นพยาน ทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดีทั้งคดีทรมานและอุ้มหาย 

ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยควรเข้าพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาทรมาน (opcat) กล่าวคือให้หน่วยงานอิสระต่างประเทศสามารถเข้าไปยังที่คุมขับหรือสถานที่เกิดเหตุได้ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมโปร่งใส และป้องกันการทรมานและอุ้มหายได้

สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ตั้งข้อสังเกตถึง พ.ร.บ. ดังกล่าวว่าเป้าหมายของกฎหมายฉบับนี้คือการทำให้อนุสัญญาทั้งสองฉบับที่เป็นเหมือนสารตั้งต้นมีผลบังคับใช้ภายในประเทศ ดังนั้นการตีความและการปฏิบัติใช้ต้องอย่าลืมสารตั้งต้นนี้ โดยสัณหวรรณได้ตั้งข้อสังเกตทั้งหมด 4 ประเด็น 

หนึ่ง การตีความเกี่ยวกับการปฏิบัติหรือการลงโทษที่ทำลาย ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ – การกำหนดถึงความผิดดังกล่าวถูกกำหนดเป็นความผิดทางอาญาในช่วงท้ายกระบวนการร่าง พ.ร.บ. ซึ่งนับเป็นพัฒนาการสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากการพิสูจน์ว่าการกระทำใดเป็นความผิดฐานการทรมานนั้นไม่ง่ายและไม่ใช่ทุกกรณีจะเข้าข่าย แต่ถึงแม้การกระทำดังกล่าวจะไม่เข้าข่ายการทรมาน หลายครั้งก็เป็นการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายอยู่ดี การมีฐานความผิดนี้จะเป็นเหมือนตะกร้ากรองความผิดที่หลุดมาจากฐานความผิดการทรมาน ให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษตามกฎหมายอยู่ดี ซึ่งในต่างประเทศเองก็ยึดหลักการดังกล่าว และต้องกำหนดฐานความผิดนี้ในลักษณะกว้าง 

ทั้งนี้ การตีความกฎหมายมาตรานี้ควรต้องตีความตามกฎหมายของต่างประเทศ และไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะเข้าเกณฑ์ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อาทิ คำพูดดูหมิ่น ดังนั้นการนำกฎหมายฉบับนี้ไปปฏิบัติใช้ต้องระมัดระวังในการตีความ และสัณหวรรณมองว่า หลังจากนี้อาจจะเริ่มมีคำพิพากษาที่จะเป็นการวางรากฐานในประเด็นดังกล่าวได้

สอง ความผิดฐานการกระทำให้บุคคลสูญหาย – ในช่วงแรกของการยกร่างได้มีการกำหนดว่าผู้ดำเนินการกับผู้ปฏิเสธชะตากรรมต้องเป็นบุคคลเดียวกัน ซึ่งนับเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ แต่ปัจจุบันได้ถูกแก้ไขให้ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเดียวกัน เพียงแต่เป็นเจ้าหน้าที่กระทำเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้การกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดต่อเนื่อง กล่าวคือยังสามารถพิพากษาความผิดในคดีก่อนที่กฎหมายประกาศบังคับใช้ โดยไม่คำนึงถึงหลักการ ‘กฎหมายไม่บังคับใช้ย้อนหลัง’ 

สาม หลักการไม่ผลักดันบุคคลกลับ – หลักการดังกล่าวจะมีผลกับผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ถึงแม้ในปัจจุบันมติของคณะรัฐมนตรีจะช่วยคุ้มครองในด้านหนึ่ง แต่ปัจจุบันประเทศไทยได้มี MOU หรือ Memorandum of Understanding กับประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องส่งตัวกลับและไม่ผ่านกระบวนการศาลในการพิจารณา พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้กำหนดให้ผ่านกระบวนการศาล จึงตั้งข้อสังเกตถึงความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายฉบับนี้และ MOU ว่าจะเป็นอย่างไร และกรณีลักษณะดังกล่าวจะมีการปฏิบัติเช่นไร

สี่ การบันทึกภาพและเสียง – ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีคำสั่งที่ 178/2564 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่กำหนดถึงการบันทึกภาพและเสียงในขั้นตอนการจับกุม ตรวจค้นและสอบสวน ถูกประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2564 แต่ยังมีปัญหาในเชิงปฏิบัติ ทั้งการบังคับใช้กับฐานความผิดบางฐาน และทรัพยากรที่ขาดแคลนของรัฐ จนหลายครั้งเกิดกรณีเจ้าหน้าที่นัดแนะกับผู้ต้องหาก่อนแล้วจึงบันทึก การกระทำดังกล่าวนับว่าผิดหลักการของคำสั่ง เนื่องจากเป้าหมายคือต้องการบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ถูกทรมาน ดังนั้นสังคมควรมาพูดคุยถึงทรัพยากรที่รัฐต้องจัดหาและสนับสนุน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามผลักดันให้ศาลไม่ควรรับฟังหลักฐานหรือข้อความใดที่ได้มาจากการสอบปากคำโดยไม่มีการบันทึกภาพและเสียง แต่ในกฎหมายที่กำลังจะบังคับใช้ไม่ได้กำหนด ผ่านประโยคว่าหากมีความจำเป็นหรือสุดวิสัย สามารถไม่บันทึกภาพและเสียงได้ สัณหวรรณจึงตั้งข้อสังเกตถึงการบังคับใช้หากในกฎหมายมีการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว

หากที่ผ่านมามีตัวอย่างจากคำสั่งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติ พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็อาจจะมีปัญหาเหมือนกับหรือมากกว่าคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะต้องยอมรับว่าการสอบสวนภายในพื้นที่สถานีตำรวจสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ง่าย หากไม่มีการบันทึกภาพและเสียง อาจจะเกิดการทรมานหรือบังคับให้บุคคลสูญหายได้

หมายเหตุ – สรุปจากงานการประชุมเชิงปฏิบัติการนักปกป้องสิทธิมนุษยชน พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เข้าใจและใช้อย่างไรจึงได้ผล และงานเสวนา บทบาทของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ประเด็นทางการปฏิบัติการใช้ พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ และปัญหาที่อาจเกิดขึ้น โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เมื่อ 22 ธันวาคม 2565

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save