fbpx

การจากไปของ Malcolm Deas – การสูญเสียครั้งสำคัญของวงการลาตินอเมริกันศึกษา

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา วงการลาตินอเมริกันศึกษาได้สูญเสีย Malcolm Deas นักประวัติศาสตร์คนสำคัญชาวอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ของลาตินอเมริกา โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของประเทศโคลอมเบีย ในวัย 82 ปี ที่บ้านของเขาทางตอนเหนือของเมืองออกซฟอร์ด

Malcolm จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์สมัยใหม่จาก New College มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ใน ค.ศ. 1962 โดยมี Raymond Carr ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สเปนเป็นที่ปรึกษา ต่อมาเขาได้เดินทางไปยังประเทศโคลอมเบียเป็นเวลา 2 ปี โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าเดิมเขาตั้งใจจะไปประเทศเม็กซิโก แต่เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันไปท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากกว่า 20 ล้านคนต่อปีในขณะนั้น เขาจึงเบนเข็มไปประเทศโคลอมเบียแทน

ในช่วงระหว่างปี 1962-1966 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็น Prize Fellow ที่ All Souls College มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ในระหว่างนั้นมีการจัดตั้ง The Latin American Centre ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ในปี 1964 โดยได้รับทุนจากมูลนิธิ Ford เนื่องจากตอนนั้นอยู่ในช่วงสงครามเย็น ประเทศคิวบาภายใต้การนำของ Fidel Castro ได้ทำการปฏิวัติประเทศเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์เมื่อวันที่ 1 มกราคม 1959 แต่ในยุโรปกลับยังไม่มีศูนย์ที่ศึกษาภูมิภาคลาตินอเมริกาอย่างจริงจัง ดังนั้นมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดจึงถูกกำหนดให้ศึกษาภูมิภาคลาตินอเมริกาสมัยใหม่ หลังปี 1825 เป็นต้นไป ขณะที่มหาวิทยาลัยลอนดอนก็ได้รับการมอบหมายให้เน้นการศึกษาภูมิภาคลาตินอเมริกาในยุคอยู่ใต้การปกครองเป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจยุโรป ไม่ว่าจะเป็นสเปนหรือโปรตุเกส

Malcolm Deas
ภาพจาก Department of Politics and International Relations, Oxford University

ในปี 1966 ขณะที่ Malcolm มีอายุได้ 25 ปี เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็น University Lecturer สาขาการเมืองการปกครองภูมิภาคลาตินอเมริกาพร้อมๆ กับเป็น Fellowship ที่ St Antony’s College มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เรื่อยมาจนเขาเกษียณอายุในปี 2008 และได้รับการยกย่องเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณประจำ St Antony’s College มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด จวบจนเขาสิ้นชีวิต

Malcolm เป็นหนึ่งในคณาจารย์ยุคเริ่มแรกของ The Latin American Centre ร่วมกับ Alan Angell, Alan Knight และ Rosemary Thorp โดย The Latin American Centre ได้รับการก่อตั้งในสมัยที่ Raymond Carr เป็นผู้อำนวยการ St Antony’s College ซึ่ง Malcolm ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้า The Latin American Centre อยู่หลายวาระ เขายังเป็นแกนนำในการรวบรวมเอกสารและหนังสือเกี่ยวกับลาตินอเมริกา จนปัจจุบันมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในยุโรปที่มีเอกสารและหนังสือเหล่านี้ โดยความสนใจหลักของ Malcolm อยู่ที่ประวัติศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ของประเทศโคลอมเบีย ซึ่งเป็นที่แรกในลาตินอเมริกาที่เขาไปอยู่ในระหว่าง ค.ศ. 1964-1965

Malcolm ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักประวัติศาสตร์โคลอมเบียผู้ยิ่งใหญ่ทั้งในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดยมีผลงานเป็นที่ยอมรับในประเทศโคลอมเบียเองอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะในด้านประวัติศาสตร์การเงินการคลัง ประวัติศาสตร์กาแฟ ประวัติศาสตร์การปฏิรูปที่ดิน ประวัติศาสตร์สงครามกลางเมือง และประวัติศาสตร์การเลือกตั้ง เขามีผลงานตีพิมพ์มากกว่า 130 ชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาสเปน ไม่ว่าจะเป็น Intercambio violentos, งานรวบรวมบทความ Del poder y la gramática (2019) รวมถึงงานประวัติศาสตร์บุคคลสำคัญอย่างเช่น Vida y opiniones de Mr William Wills (2 เล่ม ในปี 2019) และ Barco (2019) นอกจากนั้นเขายังสะสมภาพเก่าของประเทศโคลอมเบียไว้เป็นจำนวนมาก

Malcolm ยังสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศอาร์เจนตินา เอกวาดอร์ และเวเนซุเอลา จนได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ The Order of Andrés Bello จากประเทศเวเนซุเอลา, เครื่องราชอิสริยาภรณ์ The Orden de Mérito จากประเทศเอกวาดอร์, เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของประเทศโคลอมเบีย The Cruz de Boyacá รวมถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Officer of the Most Excellent Order of the British Empire (O.B.E.) จากประเทศอังกฤษ นอกจากนี้เขายังได้ปริญญาเอกกิตติมศักดิ์จาก The Universidad de los Andes (Bogotá ประเทศโคลอมเบีย) และจาก The Universidad del Norte (Barranquilla ประเทศโคลอมเบีย) และยังได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของสมาคมประวัติศาสตร์ของประเทศเวเนซุเอลา

Malcolm ยังเป็นบรรณาธิการงานเขียนเกี่ยวกับลาตินอเมริกาให้กับสำนักพิมพ์ The Cambridge University Press เป็นเวลามากกว่า 10 ปี และนอกเหนือไปจากงานเขียนทางวิชาการแล้ว Malcolm ยังเขียนลงหนังสือพิมพ์และวารสาร ไม่ว่าจะเป็น The New Statesman, The Listener, The Spectator และ The London Review of Books รวมถึงการเขียนเกี่ยวกับผู้นำในลาตินอเมริกาให้กับ The Times

ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990 Malcolm ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดี Cesar Gaviria ของประเทศโคลอมเบียในการหาแนวทางการลดความรุนแรงภายในประเทศ จนในปี 2008 Malcolm ก็ได้รับสัญชาติโคลอมเบีย

ในช่วงเวลา 42 ปีที่ Malcolm เป็น Fellow ของ St Antony’s College เขาได้ทำหน้าที่เป็นประธานของคณะทำงานต่างๆ ของวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก เขาเป็นคนที่กระตือรือร้นในการทำงานและพร้อมที่จะรับข้อเสนอใหม่ๆ คณะกรรมการบริหาร St Antony’s College ได้เลือก Malcolm ให้เป็นผู้ดูแลขั้นสูงในการทำหน้าที่ดูแลความประพฤตินักศึกษาในวิทยาลัยในระหว่างปี 1987-1988 ซึ่งเขาทำงานนี้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพมาก นอกจากนี้ในระหว่างที่ทำหน้าที่ดังกล่าว เขายังทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลการเลือกตั้งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดแทนที่ Harold Macmillan (ในช่วงชีวิตของ Malcolm มีการเลือกตั้งอธิการบดีอยู่ 3 ครั้ง) โดยการเลือกตั้งครั้งนี้มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ที่ผู้ได้รับการการเสนอชื่อทั้งสามคนอย่าง Lord Blake, Ted Heath และ Roy Jenkins ได้รับคะแนนสนับสนุนไล่เลี่ยกัน โดย Malcolm ทำหน้าที่ประกาศตัวผู้ชนะซึ่งได้แก่ Roy Jenkins และแจ้งผลการเลือกตั้งให้กับผู้แพ้สองคนที่เหลือ

Malcolm เป็นครูที่เอาใจใส่นักศึกษาเป็นอย่างมาก เขาเป็นผู้ดูแลวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกให้นักศึกษากว่า 60 คน ซึ่งรวมถึง Christopher Abel, Marco Palacios และ Eduardo Posada-Carbó และยังเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทให้กับอดีตประธานาธิบดี Álvaro Uribe (2002-2010) รวมถึงเอกอัครราชทูตโคลอมเบียประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน Ana Maria Prieto Abad

จากผลงานการดูแลนักศึกษาเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ทำให้เมื่อเขาเกษียณอายุในปี 2008 มีการจัดตั้งกองทุน The Malcolm Deas Fund ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนการเชิญอาจารย์อาคันตุกะจากประเทศในลาตินอเมริกาให้เข้ามาทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด การสัมมนาทางวิชาการ และการให้ทุนแก่นักศึกษาลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลในการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งนับว่าช่วยส่งเสริมบรรยากาศทางวิชาการทางด้านลาตินอเมริกันศึกษาให้กับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดได้อย่างมาก

ส่วนทางด้านบุคลิกส่วนตัวของ Malcolm นั้น เขาเป็นคนที่เข้าถึงได้ง่ายและมีความสนใจที่หลากหลาย พร้อมที่จะเปิดประเด็นสนทนาหรือร่วมสนทนาโดยมีข้อมูลและหลักฐานคอยสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นของเขา ไม่ว่าจะเป็นทางด้านประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา รวมถึงข้อมูลตัวเลขที่คอยช่วยสนับสนุนความคิดของเขา แต่เขาก็ไม่ใช่คนที่ซีเรียส พร้อมจะสนทนาด้วยรอยยิ้ม ถึงแม้ในช่วงบั้นปลายของชีวิต Malcolm จะสุขภาพไม่ดีนัก เขาก็ยังมีความสุขที่จะพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนไม่ว่ากับเพื่อนอาจารย์ด้วยกัน กับนักศึกษา กับสื่อมวลชนต่างๆ ที่มาขอสัมภาษณ์ (สามารถดูการสัมภาษณ์ครั้งล่าสุดของ Malcolm เกี่ยวกับการเมืองของประเทศโคลอมเบียนั้นได้ที่ช่อง YouTube – Malcolm Deas: ‘Álvaro Uribe saved Colombia from civil war’

ตัวผมเองก็มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับ Malcolm โดย Malcolm เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในการเขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท Master of Philosophy สาขาวิชาลาตินอเมริกันศึกษา ที่ St Antony’s College มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ซึ่งตอนนั้นผมเขียนเกี่ยวกับปัญหาของการปลูกกาแฟในปัจจุบันของประเทศโคลอมเบีย ทุกอาทิตย์ Malcolm จะเรียกผมไปพบไม่ที่ทำงานก็ที่บ้านเพื่อติดตามความก้าวหน้าในงานของผม รวมถึงจ้างครูพิเศษให้มาสอนภาษาสเปนผมอาทิตย์ละสองครั้ง เพราะผมเป็นคนเดียวในหมู่นักศึกษาห้าคนในรุ่นเดียวกันที่ไม่ได้ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาแม่

ในช่วงฤดูร้อนปี 2003 เมื่อผมเดินทางไปเก็บข้อมูลครั้งแรกที่กรุงโบโกตา Malcolm ซึ่งมีอะพาร์ตเมนต์อยู่ที่กรุงโบโกตา ได้ขับรถไปรับผมที่สนามบิน จัดหาที่พักให้ รวมทั้งหา host family ให้กับผม เมื่อผมไม่สบายนิ้วติดเชื้อต้องได้รับการผ่าตัดโดยด่วน ขณะลงพื้นที่เก็บข้อมูลที่กรุงโบโกตา Malcolm ก็ไปเฝ้าผมทุกวันและอ่านหนังสือประวัติศาสตร์โคลอมเบียให้ผมฟังข้างเตียงผู้ป่วย นอกจากนั้น Malcolm ยังเขียนจดหมายด้วยลายมือตัวเองเพื่อแนะนำตัวผมให้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ University College London

ผมได้มีโอกาสพบ Malcolm ครั้งสุดท้ายเมื่อ 7 ปีก่อนตอนที่ St Antony’s College จัดงานสัมมนาทางวิชาการเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบอายุ 75 ปีให้กับ Malcolm ผมไม่คิดว่านั่นจะเป็นการพบ Malcolm ครั้งสุดท้าย ท้ายที่สุดนี้ผมอยากจะบอกว่า Malcolm Deas เปรียบเสมือนเป็นคุณพ่อทางวิชาการของผม ที่ทำให้ผมสนใจในการเรียนรู้ประเทศต่างๆ ในทวีปลาตินอเมริกา โดยเฉพาะประเทศโคลอมเบีย ถ้าไม่มี Malcolm ก็คงไม่มีผมในวันนี้

ผมขอให้ Malcolm ไปอยู่ในภพภูมิที่ดี และเขาจะคงอยู่ในความทรงจำของผมตลอดไป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save