fbpx

“หนุนปาเลสไตน์” จุดยืนที่ไม่เปลี่ยนแปลงของมาเลเซีย

นายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) แห่งมาเลเซีย ไม่มีเจตนาใดๆ ที่จะสงวนถ้อยคำเมื่อเขากล่าวปราศรัยต่อหน้าชาวมุสลิมในมาเลเซียกว่า 16,000 คนที่ชุมนุมประท้วงต่อต้านอิสราเอลที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา

อันวาร์ปรากฏตัวในเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว มีผ้าคัฟฟิเยห์ (keffiyeh) แบบอาหรับพาดบ่า ชูกำปั้นต่อหน้าฝูงชนท่ามกลางธงปาเลสไตน์ที่โบกสะบัดและป้ายคำขวัญ “ยุติสงคราม” และ “ปลดปล่อยปาเลสไตน์”  เขาประณามการใช้กำลังของอิสราเอลที่ฉนวนกาซาว่าเป็น “จุดสูงสุดของความป่าเถื่อนของโลก” และว่าการปล่อยให้คนถูกสังหาร เด็กๆ ถูกฆ่า โรงพยาบาลและโรงเรียนถูกทำลาย เป็นเรื่องวิกลจริตโดยแท้ เขาไม่หยุดวิจารณ์แค่อิสราเอล แต่ยังวิจารณ์การสนับสนุนของสหรัฐฯ และยุโรปต่ออิสราเอลว่ามีส่วนในการนองเลือดครั้งนี้ด้วย

การประท้วงครั้งนั้นเป็นหนึ่งในการประท้วงหลายครั้งที่รัฐบาลมาเลเซียเปิดไฟเขียวให้กลุ่มต่างๆ จัดขึ้น หลังจากที่กองทัพอิสราเอลเริ่มตอบโต้การโจมตีของกองกำลังฮามาส (Hamas) ในพื้นที่ทางใต้ของอิสราเอลในวันที่ 7 ตุลาคม รัฐบาลอิสราเอลระบุว่าการโจมตีของฮามาสมีผู้เสียชีวิตราว 1,400 คน และถูกจับเป็นตัวประกันราว 240 คน จนกองทัพอิสราเอลถล่มฉนวนกาซาอย่างรุนแรงมากกว่าเดิม ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขของรัฐบาลกาซาชี้ว่า ยอดผู้เสียชีวิตที่ฉนวนกาซาตั้งแต่ต้นจนถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน พุ่งขึ้นถึง 10,305 คน โดยร้อยละ 47 เป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี 

ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากทางการของทั้งสองฝ่าย ทำให้สงครามครั้งนี้กลายเป็นความรุนแรงที่มีต่อชาวยิวที่ร้ายแรงมากที่สุดหลังโฮโลคอสต์ (holocaust) หรือการสังหารหมู่ชาวยิวโดยนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นสงครามที่มีชาวปาเลสไตน์ถูกสังหารมากกว่าการสู้รบกับอิสราเอลในช่วง 15 ปีที่ผ่านมารวมกัน

นายกฯ มาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม กล่าวปราศรัยในงานชุมนุมประท้วงต่อต้านอิสราเอล วันที่ 24 ตุลาคม 2566
ภาพโดย SADIQ ASYRAF/Pejabat Perdana Menteri (Facebook – Anwar Ibrahim)

มาเลเซียสนับสนุนรัฐบาลฮามาสที่ได้รับเลือกตั้งเข้าบริหารดินแดนฉนวนกาซามาตั้งแต่ พ.ศ. 2549 นับตั้งแต่สงครามเริ่มเดือด ทางการมาเลเซียแสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่ประณามการใช้ความรุนแรงของกองกำลังฮามาส โดยให้เหตุผลว่าจะต้องมองเรื่องนี้ในบริบทของความไม่ชอบธรรมในการยึดครองดินแดนของอิสราเอล นอกจากจะไม่ประณามแล้ว เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม นายกฯ อันวาร์โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ตนเองได้ต่อสายพูดคุยกับ อิสมาอิล ฮานีเยห์ (Ismail Haniyeh) หัวหน้าสำนักงานการเมืองของกลุ่มฮามาส เพื่อยืนยันนโยบายของมาเลเซียในการสนับสนุนชาวปาเลสไตน์อย่างไม่เปลี่ยนแปลง

ครั้งนี้พูดได้ว่าสงครามปาเลสไตน์-อิสราเอลครั้งนี้มาเลเซียมีท่วงทำนองทางการทูตที่ ‘แหลม’ เกินใครในอาเซียน อันวาร์ใช้ลีลานักพูดชั้นยอดปราศรัยต่อหน้าฝูงชนในการชุมนุมว่า ถึงแม้เขาจะถูกกดดันจากบางประเทศให้ลดท่าทีสนับสนุนปาเลสไตน์ลง แต่เขาไม่ได้กลัวเกรงแต่ประการใดเพราะ “มาเลเซียเป็นประเทศเอกราช” และ “เราขอยืนอยู่กับชาวปาเลสไตน์ในการต่อสู้ของพวกเขา (ทั้ง) เมื่อวาน วันนี้ และพรุ่งนี้..”   

ท่าทีแข็งกร้าวของอันวาร์ ผู้กลายเป็นนายกฯ ของประเทศเล็กๆ ที่ออกนำขบวนประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์เสียเอง นำไปสู่คำถามว่าเหตุใดเขาไม่กลัวที่จะสร้างความร้าวฉานในความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียกับประเทศตะวันตก แต่เมื่อย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์ จุดยืนสนับสนุนปาเลสไตน์และต่อต้านอิสราเอล ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับมาเลเซีย นับตั้งแต่ยุคประกาศเอกราชจากอังกฤษในปี 2500 และการก่อตั้งประเทศมาเลเซียใน พ.ศ. 2506 นายกรัฐมนตรีมาเลเซียทุกคนย้ำแนวนโยบายเดียวกันไม่เปลี่ยนแปลง เริ่มจาก ตุนกู อับดุล ระฮ์มัน  (Tunku Abdul Rahman) นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียผู้ประกาศนโยบายสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์และคัดค้านการยึดครองพื้นที่ของอิสราเอลในดินแดนอาหรับ และใช้เวทีนานาชาติประกาศจุดยืนของมาเลเซียด้วยการหยิบยกประเด็นข้อพิพาทเรื่องมัสยิด Al-Aqsa ในกรุงเยรูซาเล็มขึ้นมากล่าว  ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติในเดือนตุลาคม 2512 

เมื่อเวลาผ่านไป  มาเลเซียกลายเป็นประเทศในอาเซียนที่แสดงบทบาทเกี่ยวกับปัญหาปาเลสไตน์ในเวทีโลกอย่างแข็งขันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษที่ 1970 และ 1980 บุคคลที่นำความคิดเห็นประเด็นปาเลสไตน์ของมาเลเซียเข้าสู่เวทีโลกแบบที่ไม่มีผู้นำมาเลเซียคนก่อนหน้าทำมาก่อนไม่ใช่ใครนอกจากมหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอัมโน (UMNO: United Malays National Organisation) และผู้เป็นนายกรัฐมนตรีในยามที่พรรคเรืองอำนาจสูงสุดในทศวรรษ 1980 โดยเขาเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังนำพรรคอัมโนชนะเลือกตั้งหลายครั้งติดต่อกันตั้งแต่ พ.ศ. 2524 ถึง 2545 รวมแล้วเกือบ 22 ปี

ในเวลานั้น ชาวมุสลิมในมาเลเซียรวมทั้งคนหนุ่มสาวนักกิจกรรมทางศาสนาในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งรวมถึงอันวาร์ อิบราฮิม กำลังตื่นตัวกระแสฟื้นฟูศาสนาอิสลาม (Islamic Revivalism) อย่างสูง ประเด็นปาเลสไตน์เป็นหนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่ง ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงหลักคือชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูนับถือศาสนาอิสลาม หรือ กลุ่มภูมิบุตร (Bumiputera) ประเด็นปาเลสไตน์จึงเป็นประเด็นสำคัญที่นักการเมืองมลายูจะละทิ้งไม่ได้ในการระดมเสียงสนับสนุนสำหรับมหาเธร์และพรรคอัมโนตามที่ผู้นำในอดีตได้วางไว้

นายกฯ มหาเธร์ลงมือทำสิ่งที่แตกต่างจากนายกรัฐมนตรีคนก่อนๆ นั่นคือการพูดถึงปัญหาปาเลสไตน์อย่างเปิดเผยในเวทีนานาชาติบ่อยครั้ง จนได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศเล็กๆ ที่ใช้เวทีทั้งในและนอกประเทศกล่าวถึงปัญหาปาเลสไตน์ทุกครั้งที่มีโอกาส บางครั้งก็สร้างเรื่องฮือฮาอื้อฉาวจากการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำประเทศหรือองค์กรระดับโลก เช่นสหประชาชาติ อย่างไม่ประหยัดถ้อยคำ ในยุคของเขา มาเลเซียมีบทบาทในเวทีนานาชาติไม่น้อยในฐานะของสมาชิกไม่ถาวรของ United Nation General Assembly (UNGA) ทั้งยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของสหประชาชาติ และประธานองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC (Organisation of Islamic Cooperation) รวมถึงกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด หรือ NAM (Non Alignment Movement)

ในขณะที่เขาวิพากษ์วิจารณ์อิสราเอลอย่างเปิดเผย มาเลเซียยุคมหาเธร์ยังให้สถานะทางการทูตที่สมบูรณ์กับพีแอลโอ (PLO: Palstine Liberation Organisation) เชิญ ยัซเซอร์ อาราฟัต (Yasser Arafat) ผู้นำ PLO ในช่วงนั้นมาเยือนมาเลเซีย ใน พ.ศ. 2531 มาเลเซียประกาศยอมรับปาเลสไตน์ในฐานะประเทศ นับเป็นประเทศแรกในอาเซียนและประเทศที่สองในโลกที่ให้การยอมรัฐปาเลสไตน์ในฐานะรัฐอิสระ ส่วนภายในประเทศ มหาเธร์ไม่รีรอที่จะลงมือตอบสนองความรู้สึกต่อต้านยิวของชาวมุสลิมมาเลเซียในโอกาสที่เขาจะทำได้ เช่นใน พ.ศ. 2527 มาเลเซียตกเป็นข่าวฮือฮาเมื่อรัฐบาลสั่งยกเลิกการแสดงคอนเสิร์ตของ New York Philharmonic Orchestra เมื่อทางวงปฏิเสธไม่ยอมถอดการบรรเลงเพลง ‘The Hebrew Rhapsody for Cello and Orchestra’ ที่ถือว่าเป็นเพลงของชาวยิวออกจากรายการ

จะว่าไปแล้วจุดยืนของอันวาร์ในเรื่องฮามาสในเวลานี้ก็ไม่ได้ต่างจากมหาเธร์ในเวลานั้นสักเท่าไหร่ มหาเธร์เคยพูดไว้ต่างกรรมต่างวาระว่า การใช้กำลังต่อต้านอิสราเอลของชาวปาเลสไตน์เป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องตนเอง หาใช่การก่อการร้ายไม่ การใช้กำลังตามแบบปาเลสไตน์ซึ่งรวมถึงระเบิดพลีชีพเกิดจากที่ปาเลสไตน์ไม่มีกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยแบบอิสราเอล ในทางการเมืองเขาเห็นว่าชาวปาเลสไตน์ควรมีสิทธิเหนือดินแดนที่ตนเองอาศัยอยู่ ในขณะที่อิสราเอลควรจะถอนตัวออกไปจากพื้นที่ที่ไม่ได้เป็นของตนเอง ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนอิสราเอลนั้นก็ไม่สามารถให้เหตุผลที่มีน้ำหนักใดๆ มาใช้ในการสนับสนุน ในเมื่อดินแดนแห่งนี้เป็นของปาเลสไตน์ เขายืนยันในเวทีนานาชาติหลายเวทีว่า โลกจะต้องหาทางออกอย่างจริงจังต่อปัญหานี้ เพราะถ้าไม่มีการแก้ไขอย่างเหมาะสม เรื่องนี้จะไม่มีวันจบสำหรับชาวปาเลสไตน์

การเดินขบวนต่อต้านอิสราเอลของชาวมาเลเซียเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2566
ภาพโดย by Mohd RASFAN / AFP

ในช่วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มหาเธร์เรียกร้องให้นานาชาติประเมินปัญหาปาเลสไตน์อย่างเหมาะสม รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับมุสลิมและการก่อการร้ายในที่อื่นๆ ของโลกด้วย ในจดหมายฉบับหนึ่งที่เขาเขียนถึงประธานาธิบดี George W. Bush ขณะที่ยังดำรงตำแหน่ง เขาเขียนว่าวิธีแก้ปัญหาการก่อการร้ายที่มีประสิทธิภาพที่สุดมีเพียงวิธีเดียว คือการกำจัดเหตุของความโกรธแค้นขมขื่นใจของกลุ่มเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นในปาเลสไตน์ เชชเนีย อิรัก อิหร่าน ซูดาน ลิเบีย หรือที่อื่นๆ นานาชาติจะต้องหาทางแก้ปัญหาเหล่านั้นร่วมกัน ไม่ว่าความโกรธแค้นขมขื่นของชาวมุสลิมเหล่านั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือเป็นแค่ความเข้าใจผิดของมุสลิมเองก็ตาม ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าฝ่ายอื่นก็อาจเข้าใจผิดพอๆ กัน ถ้าหากมีความจริงจังในการแก้ปัญหาของมุสลิม อันตรายจากการก่อการร้ายก็จะหมดไป

เมื่อเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดูเหมือนว่ามาเลเซียจะเป็นประเทศที่กล้าออกหน้าสนับสนุนปาเลสไตน์ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศมากที่สุด แม้เมื่อเทียบกับอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลกก็ตาม ถ้าตัดประเด็นเรื่องความเห็นอกเห็นใจและสิทธิมนุษยชนของชาวปาเลสไตน์ออกไป ผู้เชี่ยวชาญบางรายชี้ถึงลักษณะเฉพาะทางสังคมการเมืองภายในของมาเลเซียว่าเป็นปัจจัยกำหนดนโยบายเกี่ยวกับปาเลสไตน์ที่สำคัญ

ปัจจัยประการหนึ่งคือการที่ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาของประชากรส่วนใหญ่ในมาเลเซีย อิสลามมีหลักสำคัญประการหนึ่งที่เรียกว่า อุมมะฮ์ (ummah) หรือประชาชาติอิสลาม ที่หมายถึงความเป็นชุมชนหนึ่งเดียวของชาวมุสลิมที่ไม่จำกัดเชื้อชาติ ความเห็นอกเห็นใจต่อความทุกข์ยากของชาวมุสลิมในปาเลสไตน์ในหมู่ชาวมุสลิมในมาเลเซียบวกกับหลักการอุมมะฮ์ มีอิทธิพลต่อนโยบายต่างประเทศของมาเลเซียไม่เฉพาะในประเด็นของปาเลสไตน์ แต่ยังมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ทางการทูตของมาเลเซียต่อประเทศอิสลามอื่นๆ ด้วย

ปัจจัยถัดมาเกี่ยวพันกับปัจจัยแรก นั่นคือนโยบายต่างประเทศของมาเลเซียมีความเชื่อมโยงอย่างเหนียวแน่นกับนโยบายภายในประเทศ ในบริบททางสังคมการเมืองที่มีประชากรเชื้อสายมลายูนับถือศาสนาอิสลามเป็นเสียงส่วนใหญ่ นอกจากพรรคการเมืองจะใช้นโยบายภายในประเทศมุ่งหาเสียงสนับสนุนจากประชากรเชื้อสายมลายูแล้ว ยังขยายไปใช้นโยบายเกี่ยวกับปาเลสไตน์ที่เป็นซึ่งเป็นนโยบาย เพื่อเน้นย้ำอัตลักษณ์อิสลามที่ควบคู่เป็นแฝดไปกับอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติมลายู 

ในยุคของมหาเธร์ นโยบายต่างประเทศเป็นการขยายตัวกลายเป็นกิ่งก้านของนโยบายภายในประเทศอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงกระแสฟื้นฟูอิสลามที่พรรคพาส (PAS: Parti Islam Se Malaysia) มีเครือข่ายกว้างขวางในหมู่เยาวชนคนหนุ่มสาวในประเทศ มีการแข่งขันกับพรรคอัมโนภายใต้การนำของมหาเธร์อย่างรุนแรง มหาเธร์แก้เกมกับพรรคพาสด้วยการช่วงชิงประเด็นปาเลสไตน์มาเป็นของตนเองผ่านนโยบายต่างประเทศและการประโคมโจมตีอิสราเอลและเรียกร้องสิทธิให้ปาเลสไตน์ในเวทีนานาชาติ ที่สะท้อนกลับมาเป็นเครดิตทางการเมืองภายในประเทศอย่างสวยงาม

จุดยืนเรื่องปาเลสไตน์ที่ต่างกันระหว่างประเทศอาเซียนบางครั้งก็กลายเป็นแรงกดดันต่อกันในอดีต ในเดือนธันวาคม 2529  มาเลเซียร่วมกับอินโดนีเซียและบรูไน ประท้วงการมาเยือนประเทศสิงคโปร์ของประธานาธิบดี ชาอีม เฮอร์ซ็อก (Chaim Herzog) แห่งอิสราเอล เวลานั้นมีเพียงสามประเทศในอาเซียนที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล คือสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย มาเลเซียประท้วงสิงคโปร์ด้วยการสั่งระงับกิจกรรมด้านเยาวชนและกีฬาที่กำลังจะจัดร่วมกับสิงคโปร์ในเวลาไล่เลี่ยกัน แรงสะเทือนในเรื่องนี้อาจมีมากพอที่ทำให้เฮอร์ซ็อกต้องยกเลิกการเยือนฟิลิปปินส์ซึ่งเขากำหนดจะไปเยือนเป็นประเทศต่อไป สื่อมวลชนในฟิลิปปินส์รายงานว่า ประธานาธิบดี โคราซอน อากีโน (Corazon Aquino) แห่งฟิลิปปินส์ รู้สึกไม่สบายใจต่อการมาเยือนของเฮอร์ซ็อก เพราะเธอเกรงว่าอาจสร้างปัญหาให้กับการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกองกำลังมุสลิมทางตอนใต้ของประเทศ

การออกหน้าสนับสนุนปาเลสไตน์ของนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ไม่ใช่เรื่องใหม่แม้แต่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่แนวร่วมกับพรรครัฐบาลต้องต่อกรกับกลุ่มฝ่ายค้านอนุรักษนิยมสุดโต่งอย่างที่เป็นอยู่ แต่ไหนแต่ไรมาประเด็นปาเลสไตน์เป็นประเด็นที่ทุกขั้วการเมืองในมาเลเซียแย่งชิงแสดงจุดยืนมาทุกยุคทุกสมัย ครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมในการชุมนุมสนับสนุนปาเลสไตน์ครั้งหนึ่ง มีภาพของนักการเมืองระดับสูงจากทั้งค่ายการเมืองฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด, อดีตนายกรัฐมนตรี มูห์ยีดดีน ยาซซีน (Muhyiddin Yassin), ผู้นำกลุ่มแนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน, ผู้นำพรรคพาสฝ่ายค้าน และนักการเมืองพรรคดีเอพี พรรคร่วมรัฐบาลที่มีฐานเสียงเป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน (DAP: Democratic Action Party)

แนวทางสนับสนุนปาเลสไตน์ของมาเลเซียยังเดินหน้าต่อไป แม้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมาย Hamas and Other Palestinian Terrorist Groups International Financing Prevention Bill ที่ให้มาตรการคว่ำบาตรต่างชาติที่ให้การสนับสนุนฮามาสหรือกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ในปาเลสไตน์ทางการเงิน และขณะนี้กำลังรอการพิจารณาในวุฒิสภาอยู่

งานชุมนุมประท้วงต่อต้านอิสราเอลในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย วันที่ 24 ตุลาคม 2566
ภาพโดย SADIQ ASYRAF/Pejabat Perdana Menteri (Facebook – Anwar Ibrahim)

สำหรับนายกฯ อันวาร์ซึ่งนอกจากจะแถลงในรัฐสภาไม่ยอมรับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว และกล่าวว่ามันจะไม่มีผลต่อจุดยืนและนโยบายของมาเลเซียแล้ว ยังไม่มีทีท่ากังวลต่อความไม่พอใจประเทศพี่ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาสักเท่าไหร่ ตรงข้ามดูเหมือนว่าเขาแทบจะอ้าแขนต้อนรับแรงกดดันจากสหรัฐฯ อย่างภาคภูมิใจเลยทีเดียว สังเกตได้จากคำแถลงในรัฐสภามาเลเซียของเขาเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า สถานทูตสหรัฐฯ ที่กัวลาลัมเปอร์ได้ยื่นหนังสือทางการทูตถึงกระทรวงต่างประเทศในวันที่ 13 และ 30 ตุลาคม ขอให้มาเลเซียเปลี่ยนจุดยืนทางการทูตที่ไม่ยอมรับว่าฮามาสเป็นกลุ่มก่อการร้าย และขอให้ใช้ช่องทางทางการทูตโน้มน้าวบางประเทศไม่ให้ฉวยโอกาสจากความขัดแย้งก่อสงครามตัวแทนในฉนวนกาซา แม้ว่าอันวาร์จะไม่ระบุประเทศแต่สื่อมวลชนในมาเลเซียคาดคะเนกันว่าประเทศที่ว่าคือประเทศอิหร่าน นอกจากนั้นในวันที่ 18 ตุลาคม ทูตมาเลเซียประจำกรุงวอชิงตันยังได้รับหนังสือเชิญจากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ให้เข้าอธิบายจุดยืนด้านนโยบายต่างประเทศของมาเลเซียในกรณีความขัดแย้งปาเลสไตน์-อิสราเอลอีกด้วย

เขายืนยันในสภาฯ ว่า มาเลเซียยึดมั่นในจุดยืนที่เป็นอิสระของตนเอง และยืนยันว่าการรุกรานของอิสราเอลเป็นเรื่องที่ผิดทั้งในแง่ของกฎหมายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ “การเมืองและความปั่นป่วนไม่ได้เพิ่งเริ่มเมื่อเดือนที่แล้ว แต่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1948”

“ดังนั้นจึงไม่สมเหตุสมผลที่จะไม่พูดถึงความรุนแรง การรุกราน และการล่าอาณานิคมของอิสราเอลในปาเลสไตน์ (ซึ่งเป็น) ดินแดนอาหรับ” อันวาร์กล่าว

ถ้าเอามาตรฐานของอดีตเป็นตัวชี้วัด ท่าทีแรงๆ ของนายกฯ อันวาร์ไม่น่าจะสร้างปัญหาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐ ฯ สักเท่าไหร่ เพราะฝ่ายหลังยังจำเป็นต้องรักษามิตรภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญจุดหนึ่งไว้ อันวาร์คงคิดสะระตะแล้วว่าน่าจะมีผลได้ทางการเมืองมากกว่าเสีย อย่างน้อยก็เป็นเครื่องยืนยันต่อชาวภูมิบุตรได้ว่าเขาไม่ใช่หุ่นเชิดของสหรัฐฯ และยิวตามที่ฝ่ายค้านกระหน่ำโจมตีเอาไว้เมื่อตอนเลือกตั้ง


อ้างอิง

https://thediplomat.com/2023/10/malaysian-pm-leads-large-pro-palestine-rally-in-kuala-kumpur/

https://edition.cnn.com/2023/11/07/middleeast/palestinian-israeli-deaths-gaza-dg/index.html#:~:text=At%20least%2010%2C022%20people%20have,under%20the%20age%20of%2018.&text=Note%3A%20Data%20as%20of%20Nov.%206%2C%202023.

https://www.thestar.com.my/news/nation/2023/10/17/anwar-reiterates-unwavering-support-for-palestinian-people-in-call-with-hamas-political-bureau-chief

https://www.freemalaysiatoday.com/category/nation/2023/10/31/malaysia-received-two-notices-from-the-us-embassy-on-hamas-says-pm/

http://journalarticle.ukm.my/18456/1/50513-170138-1-PB.pdf

Rajendran, M. (1993). Mahathir Mohamad: Prime Minister of Malaysia. Petaling Jaya. Malaysia: IBS Buku

Abdullah, A. (2008). Dr. Mahathir’s selected letters to world leaders. Kuala Lumpur, Malaysia: Marshall Cavendish

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save