fbpx

จดหมายจากเมืองไทย: ภาพฉายกระบวนการไทยกลืนชาติจีน ก่อน 14 ตุลาฯ

ความเป็นจีนได้เข้ามาในสังคมไทยหลายระลอกด้วยกัน นับตั้งแต่อยุธยา ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราเร่งสูงในช่วงที่กระแสลมยุคใหม่เข้ามาพร้อมกับเทคโนโลยีเรือกลไฟที่ ว่ากันว่าเรือเหล็กที่วิ่งด้วยกำลังไอน้ำนำคนจีนสู่สยามด้วยอัตรากว่า 10,000 คนต่อปี ในปี 2540 มีชาวจีนกว่า 1.4 ล้านคนในสยาม[1] แต่ก็ยังไม่เท่ากับช่วงที่การอพยพสูงที่สุดในช่วงปี 2461-2474 ที่มีอัตราเฉลี่ยเกือบปีละ 95,000 คน[2] ตรงกับห้วงที่เกิดความวุ่นวายช่วงเปลี่ยนผ่านของแผ่นดินจีน ในทางกลับกัน การอพยพในระลอกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปี 2492 กลับลดลงฮวบฮาบ เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนสั่งปิดประเทศห้ามคนอพยพออก ฝั่งรัฐบาลไทยก็ออกกฎหมายจำกัดคนเข้าเมืองสัญชาติละไม่เกิน 200 คนต่อปี ผู้ที่เข้ามาระลอกหลังนี้หวังจะสร้างตนด้วยการทำงานเป็นลูกจ้างตามร้านค้า โรงงาน ผู้ใช้แรงงานตามท่าเรือ โรงสีข้าว หรือการค้าขนาดเล็ก[3] ชีวิตของจีนอพยพเหล่านี้จะปรากฏอยู่ใน จดหมายจากเมืองไทย นี้เอง

แต่เดิมพวกเขาคิดว่า จะมีโอกาสได้กลับไปบ้านเกิดหลังจากเก็บเงินได้ แต่เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์สามารถเอาชนะพรรคก๊กมินตั๋งและประกาศตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นเมื่อปี 2492 ชายชาวจีนและลูกจีนที่เกิดในไทยทั้งหลายก็แทบหมดโอกาสที่จะกลับไป และเริ่มมีชีวิตใหม่ในสถานภาพผู้มาขออยู่อาศัย

ไม่เพียงเท่านั้น การพบปะกันระหว่างชาวไทยกับชาวจีน ก็ไม่ได้เป็นที่ประทับใจต่อกันมากนัก ชาวจีนอพยพจำนวนมากที่เคยเป็นเพียงจีนชนชั้นแรงงาน แต่สามารถสร้างตัวขึ้นมาเป็นเจ้าของกิจการมักถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้มาแย่งการทำมาหากินของคนไทย และกลายเป็นเศรษฐีใหม่อย่างน่าหมั่นไส้ทั้งที่ตัวเองเป็นผู้ที่มาอยู่อาศัยเท่านั้น (ยังไม่ต้องนับว่า มีอยู่จำนวนหนึ่งที่สามารถไต่เต้าบันไดยศฐาบรรดาศักดิ์ขึ้นไปได้ก่อนหน้านั้นแล้ว) จึงไม่แปลกที่การใช้คำว่า ‘เจ๊ก’ ในเชิงดูถูกและเสียดสีจะปรากฏขึ้นอย่างสม่ำเสมอ วรรณกรรมร่วมสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังคงสะท้อนร่องรอยเช่นนั้นอยู่ผ่านตัวละครต่างๆ  เช่น เสวี ลูกเขยพลอย ใน สี่แผ่นดิน, คุณนายอ่อนซั่ก ลูกเจ๊กสำเพ็งที่พยายามจะให้ลูกสาวจับพระเอกไปเป็นสามีใน นิกกับพิม, เจ๊กในสวนของหม่อมเจ้าพจน์ปรีชา ใน ปริศนา ฯลฯ

กว่าความเป็นลูกจีนหรือการมีเชื้อสายจีนจะเป็นที่ภาคภูมิและอวดกันได้แบบไม่ต้องปิดบัง ก็ต้องรอจนถึงทศวรรษ 2530 ที่เศรษฐกิจไทยเติบโตจนกลายเป็นฟองสบู่ เศรษฐี หรือ ‘อาเสี่ย’ ที่มั่งคั่งร่ำรวยก็มีภาพมาจากครอบครัวจีน เรื่องราวของอาเหลียงในละครโทรทัศน์ชื่อดังอย่าง ลอดลายมังกร ที่ฉายในปี 2535 ซึ่งเป็นบทประพันธ์ในชื่อเดียวกันโดย ประภัสสร เสวิกุล เมื่อปี 2533 ที่ดังเป็นพลุแตกก็ยิ่งสะท้อนกระแสความเป็นจีนที่ไม่จำเป็นต้องปิดบังหลบๆ ซ่อนๆ ต่อไป เช่นเดียวกับหนังสือขายดีเกี่ยวกับความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมจีน ในนามจิตรา ก่อนันทะเกียรติ เหรือความเฟื่องฟูของภูมิโหราศาสตร์จีนที่รู้จักกันในนาม ‘ฮวงจุ้ย’ ก็ถูกนำไปหยิบใช้อย่างแพร่หลาย แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของวัฒนธรรมจีนที่กลายเป็นที่นิยมในสังคมไทยอย่างเปิดเผย

อย่างไรก็ตาม กว่าที่ความเป็นจีนจะได้รับการยอมรับ ก็ต้องพิสูจน์ตนเองอย่างหนัก โดยเฉพาะในช่วงหลังสงคราม ความเป็นจีนแทบจะเท่ากับ ‘จีนแดง’ หรือ ‘จีนคอมมิวนิสต์’ นำมาซึ่งความไม่แน่นอนในประเทศ และความหวาดระแวงต่อคนในประเทศไทย ที่เกรงว่า คนจีนและวัฒนธรรมจีนที่แปลกปลอมจะเป็นภัยต่อความมั่นคง โดยเฉพาะลัทธิเหมาอิสต์ที่มีบทบาทอย่างสูงต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งความรู้เช่นนี้เผยแพร่ในเขตเมืองผ่านหนังสือแปลของฝ่ายซ้าย

จดหมายจากลูกจีนที่ไปไม่ถึงแม่

จดหมายจากเมืองไทย เล่าเรื่องของตันส่วงอู๋ หนุ่มชาวจีนที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมายังกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2488-2510 เป็นเวลา 22 ปี ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของชาวจีนและลูกจีนในสังคมไทย ในช่วงที่อัตลักษณ์ความเป็นจีนยังถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐและถูกรังเกียจโดยคนไทยบางพวก

โบตั๋น ผู้ประพันธ์ได้ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงนิตยสาร สตรีสาร ตั้งแต่ปี 2511-2512 อันเป็นช่วงเวลาที่ลูกจีนจำนวนมากถือกำเนิดบนแผ่นดินไทย และเผชิญกับวิกฤตอัตลักษณ์อย่างหนัก เป็นจีนก็ไม่ได้ เป็นไทยก็ไม่ดี ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ นักวิชาการลูกจีนอย่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (เกิดปี 2501) เล่าไว้ว่า เขาได้เปลี่ยนชื่อ-นามสกุลจากจีนเป็นไทย และยังเคยทะเลาะกับพ่อของเขาที่บังคับให้เขาเรียนภาษาจีน ทั้งยังถูกปรามาสว่า “ภาษาไทยของลื้อใช้ได้ไกลแค่ดอนเมืองเท่านั้น!” [4]  

วิธีการเล่าเรื่องของผู้เขียน เริ่มจากรายงานของพันตำรวจเอกสละ สินธูธวัช นายตำรวจผู้หนึ่งซึ่งจับหลีบ้วนสุน หรือบ้วนสุน แซ่ลี้ ชาวจีนผู้ลักลอบเข้ามาในไทยเมื่อปี 2510 พบจดหมายกองใหญ่นับได้จำนวน 100 ฉบับ เขาเคยมีตำแหน่งข้าราชการในเมืองเซี่ยงไฮ้ มีหน้าที่เซ็นเซอร์จดหมาย เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนจีนได้รับข่าวคราว ‘ความสนุกสนาน’ ของญาติมิตรที่ลี้ภัยไปต่างแดน จนจะทำให้เกิดอยากหนีจากประเทศไปบ้าง เมื่ออ่านจดหมายมากเข้าในที่สุด เขาจึงได้หลบหนีจากประเทศมาเสียเอง แต่แรกนั้น หลีบ้วนสุนทำหน้าที่เป็นไปรษณีย์รับส่งจดหมาย แต่แทนที่จะส่งจดหมายไป กลับเก็บไว้กับตัว ซึ่งดูเป็นการให้เหตุผลของผู้เขียนที่ไม่สมเหตุสมผลมากนัก อย่างไรก็ดี จดหมายทั้งหมดก็คือที่มาของเนื้อหาทั้งหมดของ จดหมายจากเมืองไทย[5]

ตันส่วงอู๋ เป็นชาวจีนที่จากแผ่นดินแม่มาโดยไม่บอกกล่าวมารดาของตนเอง กลายเป็นปมหนึ่งของเขาที่ผูกติดอยู่กับความรู้สึกผิดที่ทิ้งแม่มา จึงมักส่งจดหมายและเงินทองกลับไปให้แม่เขาเสมอ แม้ว่าแม่จะไม่ส่งจดหมายตอบเขามาเลยก็ตาม และในภายหลังเขาก็เผยออกมาว่า การเขียนจดหมายก็คือการระบายอารมณ์อย่างหนึ่ง โดยเขาพยายามหลอกตัวเองว่าแม่เขายังมีชีวิตอยู่ ได้อ่านจดหมาย เพียงแต่ไม่ยอมตอบจดหมาย

แม้เรื่องราวของตัวเอกจะเป็นการเดินทางไกลมาจากจีน แต่ส่วงอู๋ก็มิได้สามารถสร้างกิจการใหญ่โตกลายเป็นเจ้าสัวอันดับต้นๆ ของประเทศอย่างอาเหลียงใน ลอดลายมังกร แต่เป็นเพียงชายชาวจีนที่อยู่ท่ามกลางพายุคลื่นลมของชีวิตและกระแสชาตินิยมในจิตใจของเขาที่เผชิญหน้ากับคนไทยและความเป็นไทยที่พยายามจะกลืนกินตัวเขาและครอบครัว ส่วงอู๋เป็นจีนที่ขยันขันแข็ง มีดวงผู้ใหญ่อุปถัมภ์ เขาได้รับการช่วยเหลือจาก ล้อหยงจั๊ว ชายคนหนึ่งระหว่างเดินทางด้วยเรือมาจากจีน จนได้ผูกสัมพันธ์เป็น ‘บิดาอุปถัมภ์’ ของเขา เป็นพ่อคนนี้ที่ได้ฝากฝังให้เขาทำงานกับ ล้อง่วนทง เจ้าของร้านขายของแห่งหนึ่งที่แซ่เดียวกับพ่ออุปถัมภ์ ความเอาการเอางานของเขา ประกอบกับการทอดสะพานของล้อหมุยเอ็ง ลูกสาวคนโต ทำให้เขาได้โอกาสแต่งงานกับลูกสาวเถ้าแก่เจ้าของกิจการ

เจ้าของกิจการและพ่อของลูกๆ กับ ชาตินิยมจีนแอนตี้คนไทย

ครึ่งแรกของเรื่อง ชีวิตส่วงอู๋เติบโตอย่างงดงาม ความภาคภูมิใจในความเป็นจีนทำให้เขาพยายามธำรงความเป็นจีนไว้อย่างเต็มที่ ส่วงอู๋มองคนไทยและวัฒนธรรมไทยอย่างดูถูกดูแคลนจากการปฏิสัมพันธ์ผ่านทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ลูกจ้างของเขาเอง หรือกระทั่งเพื่อนบ้าน ความเป็นไทยเหล่านี้ในสายตาของเขาแล้ว มีแต่ทำให้ชีวิตไม่เจริญ โดยละเลยว่า บางประการไม่ใช่นิสัยของเชื้อชาติ เท่ากับเป็นพฤติกรรมร่วมกันของมนุษยชาติที่อาจมีกันอยู่ในตัวคนทุกคน

ก่อนเรือจะเทียบท่าที่เมืองไทย เขาถูกสอนจากบิดาอุปถัมภ์ผู้เคยมีประสบการณ์มาว่า เมื่อมาอยู่ไทยให้ปิดกำพืดแม่ของตัวเองว่าเคยเป็นคนรับใช้ เช่นเดียวกับความจริงที่ว่าเขาไม่เคยได้เข้าเรียนในโรงเรียน แม้จะมีทักษะความรู้ด้านการอ่านเขียนจากแม่ของเขาก็ตาม เพราะสังคมไทยนั้นนับถือกันที่กระดาษรับรองความรู้มากกว่าความรู้ที่แท้จริง[6] โบตั๋นยังได้ใช้ปากและความคิดของตันส่วงอู๋ วิพากษ์นิสัยคนไทยไว้อีกหลายกรณี เช่น มองว่าคนไทยชอบโอ้อวด แม้จะมีบ้านเป็นกระต๊อบหลังเล็กเท่ายุ้งข้าว แต่ก็มักซื้อทองใส่อวดกันแม้ว่าจะต้องอดอยากเพียงใด เพื่อไม่ให้คนดูถูก[7] ไม่แค่นั้น คนไทยหยุดงานบ่อย คนไม่ขยัน เกียจคร้าน บ้านเมืองจึงไม่เจริญ[8] ส่วงอู๋ถึงกลับกลัวว่า ถ้ามีลูกสาวเกิดไปรักและแต่งงาน จะทำให้ “เลือดเนื้อของเราจะต้องไปปะปนกับพวกคนไทย สายเลือดของพวกเราจะมีเลือดคนพวกนี้ซึ่งเกียจคร้านเข้ามาแทรก” [9]  

คนไทยไม่ชอบงานเพาะปลูก ชอบเป็นลูกจ้าง[10] แล้วยังมองว่าค้าขายเป็นงานต่ำ โดยเฉพาะหากมองจากมุมเจ้าขุนมูลนาย หรือลูกขุนนางเก่า การค้าขายจึงเป็นเรื่องน่าขายหน้า สู้รับราชการมีตำแหน่งสูงๆ ดีกว่า ดังสำนวน “สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยง” บางกรณีไม่ทำอะไร ให้เมียขายของ แล้วตัวเองนั่งกินเหล้าสบาย ไม่แค่นั้นเมืองไทยมีแต่ผู้ผลิต ผู้บริโภค ขาดตัวกลางซึ่งเป็นคนจีนมาทำหน้าที่นี้[11] ทุกคนตะเกียกตะกายที่จะทำงานสบาย[12] คนไทยยังมีนิสัยชอบอู้งาน ถ้าไม่มีผู้คุม งานไม่เดิน และชอบทำงานเอาหน้า[13] และที่การค้าขายในมือคนไทยไม่เจริญก็เพราะ “ไม่มีความอดทนมากพอ” อยากทำงานสบายๆ ได้เงินง่ายๆ[14] คนไทยจัดงานทีก็กินเหล้ากันจนเกิดความเสียหาย เช่น น้องชายชบาถูกยิงตายในงานบวช[15] คนไทยอ่านหนังสือไม่ออก ไม่มีความรู้ เลยถูกหลอก[16] คนไทยกินน้ำอัดลมเพราะอวดรวย[17] พนักงานขายคนไทยก็ยังหน้าบึ้ง เห่อผู้ชาย และเห่อฝรั่ง[18]

ยิ่งเมื่อพูดถึงคนอีสานก็ดูถูกว่า เข้ากรุงมาทำงานก็ลำบาก เพราะทำงานเป็นคนใช้ก็ไม่ได้เพราะไม่มีความสามารถ รีดผ้าไม่เป็น ถูบ้านก็ไม่เคยทำ ค้าขายก็ไม่มีทุน พอทำงานได้หน่อยก็เข้าหน้าฝนต้องกลับบ้านไปทำนา[19] เขากลัวมากที่เม่งจู ลูกสาวคนสุดท้องจะไปแต่งงานกับชายไทย เพราะว่า ชอบมีเมียเก็บ, ชอบเที่ยวคลับ, เล่นการพนัน และทำร้ายเมีย[20] ตัวอย่างที่ดีคือน้องสะใภ้ ล้ออั้งบ๊วย แม้จะเป็นลูกจีนแต่ก็เกิดเมืองไทย ว่ากันว่าคบกับคนไทย จิตใจจึงเปลี่ยนไปเป็นคนไทยไปด้วย[21] อั้งบ๊วยถือเป็นคู่ปรับทางความคิดของเขาเสมอตั้งแต่เธอยังเด็กๆ แล้ว

ด้วยการมองโลกเช่นนี้ ตันส่วงอู๋ ค่อยๆ สร้างกิจการโรงงานขนมจันอับ ในเขตชายขอบของเยาวราช และมักจะค้าขายกับคนจีนด้วยกันเป็นหลัก

ชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ กับการเผชิญหน้าความเป็นไทย

ช่วงหลัง ชีวิตของส่วงอู๋กลับไม่ดีขึ้นอย่างที่คิด การค้าขายก็ไม่คล่องเหมือนเดิม เพราะมีระบบใหม่นั่นคือ ระบบผู้แทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว ทำให้เขาไม่สามารถปรับตัวได้ ทำให้การค้าย่ำแย่ลงไปด้วย[22] ในอีกด้านครอบครัวของเขาค่อยๆ ขยายตัวมากขึ้น จากการให้กำเนิดลูกคนแรก ไปถึงลูกคนที่สี่ แต่ความมั่งของเขากลับลดลง เขาไม่มีโอกาสสั่งสมทุนจนกลายเป็นเจ้าสัวใหญ่เหมือนกับอาเสี่ยใหญ่ๆ ตามแบบฉบับของคนจีนที่ประสบความสำเร็จ เพื่อนสนิทของเขา คือ อึ้งกิม ที่เปิดเรื่องมาดูเป็นคนเหยาะแหยะ ไม่เอาการเอางาน แต่ในช่วงหลังเพราะได้เมียดี เป็นคนไทย พวกเขาเปิดกิจการร้านอาหารจนสามารถสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตได้ แต่ก็ไม่ได้ร่ำรวยถึงขนาดเป็นเจ้าสัวใหญ่

แม้ส่วงอู๋จะได้ลูกชายคนแรก แต่อีกสามคนกลับเป็นหญิงทั้งหมด คนสุดท้องนี่เองที่ส่งผลให้สุขภาพของหมุยเอ็งย่ำแย่จนไม่สามารถมีลูกได้อีกต่อไป นั่นคือความเจ็บปวดของเขาเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้วางแผนไว้ว่าจะมีลูกมากกว่านั้น และยังหวังจะมีลูกชายอีก เนื่องจากว่าตามธรรมเนียมแล้ว ลูกสาวมีแต่จะแต่งออก และยังมีโอกาสจะสร้างความเสื่อมเสียให้วงศ์ตระกูลได้ง่ายกว่าลูกชายด้วย หากเกิดหนีตามผู้ชายหรือท้องก่อนแต่ง ขณะที่ความเป็นไทยก็ได้เข้ามารุกล้ำในชีวิตของเขามากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากคนงานที่ทำให้เขาต้องใช้ภาษาไทย ต้องเรียนภาษาไทยด้วยตัวเอง[23] และคนในครอบครัวผ่านลูกๆ ที่ต้องใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร เมื่อสถาบันทางสังคมอย่างโรงเรียนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ครอบครัวของเขาค่อยๆ ถูกกลืนเข้าสู่สังคมไทยผ่านความสัมพันธ์และพิธีกรรมต่างๆ อย่างเช่นลูกๆ ไม่ยอมใช้ตะเกียบกินข้าว ขณะที่เขาคิดว่า ควรใช้ตะเกียบเพื่อรักษาประเพณี[24] เขาเห็นดีเห็นงามกับกิมที่จะได้แต่งงานกับสาวไทย เพราะเชื่อว่าเธอจะช่วยทำมาค้าขายและทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้นได้ ชีวิตลูกทั้งสี่ของเขาสะท้อนความเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา ความเป็นจีนและลูกจีนในไทยได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นระบบกินข้าว เดิมที่บ้านเขาจะให้นายจ้างกับลูกจ้างกินโต๊ะเดียวกันเวลาเดียวกัน แต่จะให้ผู้ชายกินก่อน ผู้หญิงกินที่เหลือ มาเป็นการแยกโต๊ะนายจ้าง กับลูกจ้าง และให้ผู้ชาย-ผู้หญิงมากินร่วมกัน[25]

แต่ในอีกด้านความเป็นจีน ก็ค่อยๆ ถูกบ่อนเซาะความชอบธรรมลงเช่นกัน เช่นมีข่าวว่าคนแซ่เดียวกันก็มีคนเลวที่ซ้อมแม่ของตัวเอง ทำให้เขาไม่อยากเข้าสมาคมแซ่ไปด้วย และสมาคมเหล่านี้วันๆ ก็เอาแต่จะเรี่ยไรสร้างศาลมากกว่าจะใช้เงินที่เป็นประโยชน์[26] ดังนั้น คนจะดีจะชั่วบางครั้งไม่ได้อยู่ที่ชาติพันธุ์

สัญลักษณ์แห่งความพ่ายแพ้ของตันส่วงอู๋ ก็คือการที่ลูกๆ พวกเขาขอเปลี่ยนชื่อและนามสกุลเป็นไทย แซ่ตันของเขา จะเปลี่ยนเป็น ‘ไทยยืนยง’ การใช้คำว่า ‘ไทย’ ในนามสกุลแทนแซ่ นับเป็นความเป็นเจ็บปวดอย่างยิ่งของชาวจีนผู้พลัดแผ่นดินที่อยากจะรักษาอัตลักษณ์ของตนเองไว้ ลูกทั้งสี่ก็ได้เปลี่ยนชื่อ อย่าง เว่งคิม ก็เปลี่ยนเป็นวิทยา, ชุ่ยกิ้ม เป็นเดือนเพ็ญ, บักหลี เป็นมะลิวัลย์ และเม่งจู เป็นพลอยจรัส[27]

ทายาททั้งสี่ กับ ชะตากรรมของครอบครัว

เว่งคิม หรือวิทยา เกิดราวปี 2489 เป็นผู้ที่แบกรับภารกิจของพ่อทำให้ต้องทิ้งความฝันของตัวเอง ส่วงอู๋ไม่ได้คาดหวังให้ลูกเรียนจบสูงๆ เพียงแต่มีความรู้เบื้องต้นเพื่อมาสืบต่อกิจการที่บ้าน ทำให้เว่ง คิม ลูกชายคนโตถูกบังคับให้เรียนจบแค่ชั้น ป.4 แล้วออกมาทำงาน ส่วนภาคค่ำก็ให้ไปเรียนภาษาจีนและการคำนวณด้วยลูกคิด และวิชาบัญชี ทั้งที่เจ้าตัวอยากไปเป็นครู[28] แต่แรกเขาเชื่อฟังพ่อ เช้าไปทำงานโรงงาน หัวค่ำไปเรียนภาษาและบัญชี แต่พอได้คบเพื่อนเลว ก็พาเที่ยวกลางคืน จนในที่สุดไปติดพรรณี ผู้หญิงไทยขายบริการจนหัวปักหัวปำ เขางัดตู้ขโมยทองของแม่ แล้วหายไปจากบ้าน เว่งคิมไปอยู่ที่บ้านเช่าแถวกิ่งเพชร กลายเป็นว่า ตันส่วงอู๋ต้องยอมให้นางมาอยู่ที่บ้านด้วย กะว่าหากอยู่ไม่ได้ก็เลิกร้างกันไปเอง ลึกๆ แล้วยังหวังว่า จะปรับตัวได้ ตันส่วงอู๋คิดว่า เป็นวิธีคิดของคนไทยที่มองว่า ผู้หญิงประเภทนี้เป็น ‘เสนียดจัญไร’ แต่ในสังคมจีนมีความเชื่อว่าหญิงชนิดนี้เป็นคนกล้า จะค้าขายได้ดีถ้าตั้งใจ[29]

ภูมิหลังของพรรณีนั้น เธออายุ 27 ปี แก่กว่าเว่งคิม 10 กว่าปี มีการศึกษาแค่ชั้น ป.4 เคยมีผู้ชายมาติดพันเช่นนี้ แต่ไม่มีใครยืนยาว บางคนพ่อแม่จับได้ก็ถูกส่งไปเรียนนอก บางคนก็ส่งลูกไปบวช คนที่เคยเป็นลูกค้า แทนที่จะให้โอกาสกลับตัว ผู้เขียนเรื่องไม่ยอมให้โอกาสพรรณีแต่ขยี้ด้วยการมอบบทให้เธอเป็นคนต้องสงสัยว่าวางยาคนในบ้านให้ง่วงแล้วเปิดช่องให้ขโมยเข้ามายกเค้า ลักทรัพย์สมบัติสำคัญอย่างเงินสด และทองคำมูลค่าหลายหมื่น สุดท้ายเว่งคิมก็สำนึกและยอมแต่งงานกับกุหลาบ ลูกสาวของกิมเพื่อนสนิทของตันส่วงอู๋

อย่างไรก็ตาม เว่งคิมได้ระบายอารมณ์ที่แสดงให้เห็นความเปราะบางของลูกจีนในปลายทศวรรษ 2500 ต่อต้นทศวรรษ 2510 ได้เป็นอย่างดีว่า “เราต้องทำ(ตัว)เป็นคนสองสามประเภทในเวลาเดียวกัน…พูดไทยไม่ชัดก็ถูกหัวเราะเยาะ…ทำตัวโบราณตามใจพ่อ ทำท่าทันสมัยตามใจเพื่อน ตามใจสังคม” แม้พ่อเขาจะขอให้ทำตัวเป็นคนจีน แต่โดยกฎหมายแล้วเขาเป็นคนไทยโดยสัญชาติเกิด[30] ความรู้สึกดังกล่าวจะเห็นว่าไปในทางเดียวกับสมศักดิ์ที่กล่าวไว้ในตอนต้น

ชุ่ยกิ้ม หรือเดือนเพ็ญ มีหน้าตาและรูปร่างสะสวยจึงมีคนชวนประกวดนางงามวชิราวุธ แต่พ่อไม่ยอมให้ประกวดเด็ดขาด ส่วงอู๋เกรงว่าชุ่ยกิ้มจะสร้างปัญหา จึงจัดงานแต่งให้กับชุ่ยกิ้มเมื่อได้อายุ 16 ปี กับลูกชายร้านขายส่งข้าวที่ต้องการหาเจ้าสาวให้กับลูกชาย ฝั่งเจ้าบ่าวเซ้งตึก 3 ชั้นสร้างใหม่ให้ในราคา 150,000 บาท เพื่อให้ข้างล่างเปิดกิจการตัดเสื้อและขายผ้าร่วมกัน[31] ชีวิตของชุ่ยกิ้มดูจะปัญหาน้อยมากเมื่อเทียบกับเว่งคิม และอาจเป็นเพราะฝ่ายชายเองก็ไม่มีปัญหาอะไรกวนใจด้วย

บักหลี หรือมะลิวัลย์ ก็ริมีความรัก เป็นพนักงานธนาคารที่เจ้าของเป็นลูกจีน สุรศักดิ์ เป็นลูกจีน มีเงินเดือนไม่น้อยคือ 2,000 บาท อยู่ๆ วันหนึ่งก็พบว่า บักหลีท้องกับสุรศักดิ์ได้ 2 เดือน จึงต้องรีบจัดงานแต่งงาน ครั้งนั้นฝ่ายเจ้าบ่าวได้เปรียบ ตันส่วงอู๋ต้องยอมให้หลายอย่างเพื่อให้งานแต่งราบรื่น โดยเฉพาะการออกเงินค่าบ้านที่สุรศักดิ์ผ่อนไว้ให้หมดในราคา 30,000 บาท สุรศักดิ์คนนี้ถือเป็นคน ‘เค็ม’ หรือขี้เหนียว เช่นเดียวกับแม่ของเขาที่จะสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับสะใภ้อย่างบักหลี[32] บักหลีจึงเป็นตัวแทนความล้มเหลวฝ่ายหญิงในฐานะทายาท

เม่งจู หรือพลอยจรัส เป็นลูกชังที่เขารังเกียจตั้งแต่แรกเกิด ด้วยที่เคยเผลอให้สัญญากับเมียว่า ให้สิทธิ์การเลี้ยงลูกตามที่หมุยเอ็งขอไว้ แต่ยิ่งโตขึ้นเม่งจูนอกจากจะเป็นเด็กที่คล่องแคล่วและทำอะไรที่ส่วงอู๋พอใจอย่างการรู้จักประหยัด อดออม ขยันขันแข็ง ความดีงามของเม่งจูยังทำให้ส่วงอู๋คิดถึงแม่ “เหมือนแม่ฉันมาก เห็นหน้าเม่งจูแล้วคิดถึงแม่” [33] เธอยังสนิทสนมกับน้าอั้งบ๊วย สาวจีนทันสมัยอีกด้วย จึงไม่แปลกที่เธอจะได้รับอิทธิพลความคิดที่ก้าวหน้าและได้รับการสนับสนุนอย่างห่างๆ จากน้าสาวจนเธอเข้มแข็งพอที่จะยืนยันหยัดทำตามสิ่งที่เธอต้องการ เม่งจูได้โอกาสเรียนสูงจนจบมหาวิทยาลัยซึ่งถือว่าสูงที่สุดในบ้าน ในตอนมัธยมเธอได้พบกับ เพื่อนร่วมชั้นที่มีเชื้อสายเจ้า “ชื่อยาวตั้งบรรทัด” และให้เพื่อนๆ “คุณหญิง” หรือ “หม่อม” เรียกชื่อไม่ได้ ซึ่งมักจะ “เหยียดเรา” [34] สะท้อนให้เห็นว่า ในสังคมโรงเรียนชั้นสูง การแบ่งชนชั้นก็ยังมีให้เห็นอยู่ และสะท้อนความน่ากระอักอ่วนของความเป็นไทยอย่างการรู้ที่สูงที่ต่ำไปด้วย

วิญญู สามัญชนไทยผู้เอาชนะใจชาวจีนรักชาติ

ตัวละครสุดท้ายที่ผู้เขียนปั้นขึ้นมาเพื่อสร้างทางลงให้กับครอบครัวไทยยืนยง ก็คือ ‘วิญญู ทิพย์เลิศ’ ชายหนุ่มคู่รักของเม่งจู ลูกสาวลูกรักลูกชังของเขา วิญญู เป็นชายไทยผิวคล้ำ หน้าตาดี อาศัยอยู่บ้านเช่าที่ฝั่งธนบุรี อยู่กับแม่ที่ทำขนมขาย ก่อนหน้านั้นเขามีสวนส้มอยู่ที่จันทบุรี เมื่อพ่อของเขาเสียชีวิต จึงขายที่เพื่อเข้ามาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ พร้อมกับแม่ของเขา เขาเรียนระดับมหาวิทยาลัยเพื่อจะไปเป็นครู[35] วิญญูค่อยๆ พิสูจน์ตนเองด้วยการกระทำ เขาเคยปะทะคารมกับว่าที่พ่อตามองว่าตันส่วงอู๋นั้น “แอนตี้คนไทย” ฉากปะทะคารมนั้น อาจทำให้เรานึกถึง สาย สีมา ลับฝีปากกับพ่อของรัชนี นั่นคือ สามัญชนไทย กับ ตัวแทนศักดินา ฉากนี้เป็นสามัญชนไทย กับ ตัวแทนนายทุนจีนที่กำลังจะกลายเป็นไทย แต่สถานการณ์ต่างกันออกไป เพราะมันไม่ได้นำไปสู่ความขัดแย้งที่แตกหัก แต่จะค่อยๆ นำไปสู่การปรับตัวของกันและกัน วิญญูทิ้งทายด้วยคำพูดว่า “จงมีวินัยอย่างฝรั่ง มีมานะอย่างคนจีน แต่ต้องมีน้ำใจอย่างคนไทย” [36]

ความประทับใจต่อวิญญูค่อยๆ เกิดขึ้น คำพูดของเม่งจูได้แสดงความรู้สึกว่า “เขาไม่ใช่คนไทย ไม่เหมือนคนจีน แต่ก็ไม่ใช่ฝรั่ง เขาคือ ส่วนผสมของทุกสิ่งที่ลูกรู้สึก” [37] ในที่สุดครอบครัวก็ยอมให้ทั้งสองแต่งงานกัน แต่ก็ตัดสินใจคุมกำเนิดทำให้ตัวพ่อมองว่า “บาปเหลือเกินคนสมัยนี้” ขณะที่เม่งจูเถียงว่า ในยุคใหม่การวางแผนเป็นเรื่องสำคัญ ที่ฝรั่งเจริญได้ก็เพราะรู้จักวางแผนงานทุกอย่าง[38] ในด้านหนึ่งแล้วจึงเห็นได้ว่า ความเป็นไทยที่น่าปรารถนาของเม่งจูซึ่งอาจเป็นเสียงของผู้เขียนที่แอบอยู่ข้างหลังคือการผสมผสานของความเป็นไทย จีน และฝรั่งแบบที่เม่งจูเปรียบเทียบกับวิญญู น้ำใจของวิญญูและเม่งจูยังจะปรากฏชัดเจนขึ้นเบียดบังครอบครัวของลูกคนอื่นๆ ที่สร้างแต่ปัญหาอันน่าปวดหัวให้

ความตายและการเปลี่ยนผ่านของชีวิต กับ การยอมรับความเป็นไทย

อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนคือความตายของหมุยเอ็ง เมียของส่วงอู๋ จากอุบัติเหตุรถชนบนระหว่างที่ครอบครัวไปเที่ยวกัน[39] มรณกรรมครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงการจากไปของอีกครึ่งหนึ่งของส่วงอู๋ หมุยเอ็งแบกรับอัตลักษณ์ความเป็นผู้หญิงจีนในฐานะเมียผู้ดูแลและคู่ชีวิตของเขาไปด้วย การที่เขาเลือกจะเผาศพแบบคนไทยแทนที่จะฝังในฮวงซุ้ยแบบคนจีน ก็เป็นสัญลักษณ์หนึ่งด้วยเหตุผลว่า การฝังฮวงซุ้ยจะต้องหาที่ดินที่อยู่ในต่างจังหวัดห่างไกลที่มีทำเลและฮวงจุ้ยที่ดี นั่นทำให้ต้องเดินทางไกลในทุกๆ ปี[40] ซึ่งยิ่งจะทำคิดถึงอุบัติเหตุครั้งนั้นของหมุยเอ็ง การที่เขาตัดสินใจเช่นนั้น เป็นที่แปลกใจของเพื่อนๆ จนถูกทักท้วงว่าทำไมถึงจัดงานศพแบบไทย ขณะที่ในงานศพเขาก็ยังจัดให้มีการเผากระดาษเงินกระดาษทองและทรัพย์สมบัติกระดาษจนลูกๆ ทักท้วงว่าทำไมต้องเสียเงินกับสิ่งเหล่านี้ แต่นั่นคือการประนีประนอมของส่วงอู๋กับความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่แล้ว[41] เขาตัดสินใจเลิกกิจการส่งของ ยกโรงงานทำขนมให้เว่งคิม ตัวเองอยู่ที่ร้านขายของชำ

ก่อนหน้าที่จะเกิดอุบัติเหตุ ได้มีการวางแผนว่าจะแต่งงานเว่งคิมกับกุหลาบ เมื่อเกิดงานอวมงคลขึ้นตามปกติจะต้องไว้ทุกข์ 3 ปีจึงจะออกทุกข์ แต่ส่วงอู๋เห็นความตายของเมียก็ได้แต่ปลงและคิดว่าอะไรอาจจะเกิดขึ้นก็ได้ เขาอาจจะตายก่อนที่ 3 ปี จะมาถึงจึงขอจัดงานแต่งที่เรียกว่า “หาสะใภ้มาไว้ทุกข์” [42] เขารำพึงกับโชคชะตาของตนเองว่า น่าเจ็บใจที่การดำเนินชีวิตที่ดีถูกต้องตามทำนองคลองธรรมกลับต้องผิดหวังอยู่เสมอ[43]  

นอกจากนั้น การหายไปของหมุยเอ็ง มาพร้อมๆ กับคำถามของคนรอบตัวว่า เขาควรจะมีเมียใหม่ คำถามเช่นนั้นจึงมิใช่เป็นเรื่องการหาเมียใหม่มาแทนเมียเก่า แต่หมายถึงการมีชีวิตใหม่ที่อาจต้องเปิดรับตัวตนด้านใหม่ๆ ให้กับชีวิตด้วย ซึ่งในตอนท้าย ชีวิตใหม่ของเขาก็คือน้องเมียอย่างอั้งบ๊วย ที่ไม่ได้มีชีวิตตามจารีตชาวจีน แต่เป็นลูกจีนที่เติบโตในไทย ตั้งคำถามกับขนบจีนและใช้ชีวิตที่ทันสมัย

ส่วงอู๋ตัดสินใจขายร้านและขายรถ แล้วย้ายไปเปิดร้านแถบฝั่งธนเพื่อให้ห่างไกลจากสภาพแวดล้อมเดิมๆ อีกทั้งเป็นย่านที่อยู่ข้างในซอยลึกเข้าไปจากถนนใหญ่กว่ากิโลด้วย เงินที่ได้มามากพอที่จะแบ่งให้ลูกแต่ละคน เว่งคิมจะได้มากที่สุด ที่เหลือก็พอๆ กัน กับเม่งจูแล้ว เขาไม่มอบให้โดยตรงแต่ฝากไว้กับอั้งบ๊วย ก็คงเพื่อจะลองใจอะไรบางอย่าง เว่งคิมกับกุหลาบเอาเงินที่ได้ไปขยายร้าน ส่วนบักหลีเก็บเงียบกลัวผัวรู้ แล้วยึดไปหมด ตัดสินใจเก็บไว้ใช้เอง[44] ก็เป็นเม่งจูนี่แหละที่แวะเข้ามาเยี่ยมทุกวันเสาร์เว้นเสาร์เพื่อช่วยกวาดถูและซักผ้าให้ จนวันหนึ่งเกิดเหตุไฟไหม้ คนที่มาก่อนใครเพื่อนก็คือวิญญู เขารีบมาเพราะเห็นข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์

หลังเหตุเพลิงไหม้ ส่วงอู๋ได้ย้ายไปอยู่กับเว่งคิม แต่ก็อยู่ไม่ได้เพราะทางบ้านนั้นเกรงว่าเขาจะมายึดอำนาจและมีอำนาจเหนือลูกชาย เขาเห็นความหน้าไหว้หลังหลอกของกุหลาบ ผู้เป็นลูกสะใภ้ ทั้งที่เขาเองเป็นผู้แสดงความตั้งใจอยากให้ลูกชายได้กับกุหลาบเพราะจะช่วยกันทำมาหากิน[45] ต่อมาจึงได้ขอย้ายมาอยู่กับชุ่ยกิ้ม[46] แต่ก็อยู่ไม่นานก็ต้องย้ายอีกเพราะว่าการอยู่ในร้านตัดเสื้อที่มีแต่ผู้หญิงทำให้เขาอึดอัดใจ ทั้งยังน่ารำคาญผู้หญิงสมัยใหม่ที่มาตัดเสื้อเพื่อยั่วเจ้านาย และท่าทีของลูกเขยกับเมียที่มีความเป็นฝรั่งที่นึกอยากจะกอดเมียก็กอดซึ่งเขาเห็นว่าเป็นวัฒนธรรมฝรั่งที่ประเจิดประเจ้อ จึงได้มาอยู่กับเม่งจู[47] ที่บ้านหลังนี้เขาได้รับการปฏิบัติเป็นอย่างดี เขาเฉลยว่าได้เก็บเงินไว้ให้ 30,000 แต่เม่งจูไม่สน ต่างจากลูกรักของเขาอย่างเว่งคิมที่อยากขยายโรงงานทำขนมปังกรอบ เขาจึงเสียใจว่าได้แต่สอนเว่งคิมให้รู้จักเพียงการหาเงิน เงินเป็นพระเจ้า เรื่องอื่นค่อยตามมาทีหลัง ซึ่งต่างไปจากเม่งจูลูกรักลูกชัง หรือกระทั่งวิญญูคนไทยที่เขาเคยเกลียด แต่กลับมีน้ำใจมากเหลือเกิน[48]  

งานแต่งของเม่งจู หรือพลอยจรัสยังสะท้อนการกลายเป็นไทยได้เป็นอย่างดี เม่งจูแต่งชุดไทยในงานแต่ง แม้ว่าพ่อจะไม่ไปตามประเพณีจีนที่ไม่ไปงานแต่งลูกสาวและบ่นให้หลังตามเคย “ไม่กระดากใจหรือไงนะในเมื่อมันไม่ใช่คนไทยแท้” [49] อย่างไรก็ตาม ส่วงอู๋ค่อยๆ ใจอ่อนต่อคนไทยมากขึ้น ส่วงอู๋อาจจะเป็นคนประเภทปากไม่ตรงกับใจ ลูกชังอย่างเม่งจู แท้จริงแล้วคือลูกรักของเขาที่เขาไม่เคยเอ่ยปากบอกรัก เช่นเดียวกับอั้งบ๊วย น้องเมียที่โต้คารมกับเขามาตั้งแต่ยังเด็ก มีชีวิตที่ต่างกับเขาจนแทบไม่ลงรอย ที่ในที่สุดแล้วเขาก็คิดว่าจะเลือกแต่งงานใหม่กับเธอเพื่ออยู่เป็นคู่ชีวิตกัน บางทีมันอาจเป็นสัญลักษณ์ของการยอมรับความเป็นไทยที่เขาปฏิเสธอยู่เสมอ

ส่วงอู๋ เคยกล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า ไม่อยากเห็นบ้านเมืองที่มาอาศัยอยู่ต้องแบมือขอเขาร่ำไป[50] และชี้ว่าคนที่มาอาศัยอยู่ไม่มีสิทธิ์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์เจ้าของบ้านในทางที่ไม่ดีเลยหรือ[51]  

และแล้ว…ลูกจีนใน 14 ตุลาฯ ก็ปรากฏ

ปัญหาความเป็นจีนในทศวรรษ 2510 ยังคงเป็นเรื่องน่ากระอักกระอ่วนและกลืนไม่เข้าคายไม่ออก หลังจากจดหมายจากเมืองไทยตีพิมพ์ได้ไม่นาน ก็เกิดเหตุการณ์ขับไล่เผด็จการของประชาชนที่เป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ นั่นคือ 14 ตุลาคม 2516 ครั้งนั้น นิสิตนักศึกษา และนักเรียนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดได้ตื่นตัวกันอย่างยิ่ง ส่วนหนึ่งก็คือลูกจีนที่อินกับกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยไปด้วย มีคนประเมินว่า นักศึกษามากกว่าครึ่งล้วนเป็นลูกหลานจีน[52]

หลังจากนั้นไม่นาน ในชุมชนจีนกลางกรุงฯ ก็เกิดเหตุจลาจลพลับพลาไชยขึ้น เมื่อปี 2517 มีความวิตกกังวลว่าความวุ่นวายเกิดมาจากพวกคอมมิวนิสต์ลูกจีน[53] นั่นก็ยังไม่มีข้อยุติ ความรุนแรงในสังคมไทยเกิดขึ้นเรื่อยมาจนไปสู่จุดพีกเมื่อเช้าของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ลูกจีนบางส่วนถูกจับกุม ถูกซ้อม กระทั่งถูกพรากในวันสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชน พวกเขาที่พยายามเป็นส่วนหนึ่งกับความเป็นไทย แต่กลับถูกความเป็นไทยอีกชุดหนึ่งลงทัณฑ์อย่างโหดเหี้ยมด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันเพียงเท่านั้น


[1] สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์, กบฏจีนจน บนถนนพลับพลาไชย (กรุงเทพฯ : มติชน, 2555), หน้า 16-17

[2] สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 25

[3] สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 28

[4] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ป๋วย อึ๊งภากรณ์: ปีเกิด ลูกจีน 6 ตุลา”, ประวัติวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (กรุงเทพฯ : 6 ตุลารำลึก, 2544), หน้า 216

[5] โบตั๋น (นามแฝง), จดหมายจากเมืองไทย (กรุงเทพฯ : บริษัท สุวีริยาสาส์น จำกัด การพิมพ์, 2557), หน้า 6-7

[6] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 17

[7] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 104

[8] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 117

[9] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 182

[10] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 146

[11] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 148-149

[12] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 290

[13] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 300-301

[14] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 407

[15] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 218

[16] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 242

[17] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 452

[18] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 494

[19] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 607

[20] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 603

[21] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 116

[22] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 504

[23] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 326

[24] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 415-416

[25] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 434

[26] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 411-412

[27] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 524

[28] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 377-379

[29] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 577

[30] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 615

[31] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 535-536, 542-544

[32] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 621-622

[33] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 537

[34] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 564

[35] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 636

[36] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 659

[37] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 660

[38] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 671-672

[39] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 633

[40] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 637

[41] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 642-643

[42] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 647

[43] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 672

[44] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 688-690

[45] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 707-717

[46] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 723-725

[47] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 729

[48] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 738-739

[49] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 689

[50] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 608

[51] โบตั๋น (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 609

[52] สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 77

[53] สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 200-210

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save