fbpx

ไขแสง สุกใส: ส.ส. คอมมิวนิสต์? กบฏรัฐธรรมนูญ และจุดเริ่มต้น 14 ตุลาฯ

มวลชนเคลื่อนตัวบนถนนราชดำเนินแสดงออกถึงความต้องการปล่อยตัวเพื่อนนักศึกษา ปัญญาชน และนักการเมืองในคดี ‘13 กบฏรัฐธรรมนูญ’ หลังจากที่มีการแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น 

ไฟที่จุดติดในหมู่นักศึกษาและประชาชนกลายเป็นภาพการเคลื่อนไหวที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทุกอย่างเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 9-14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นที่มาของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ หรือที่ใครหลายคนเรียกว่า ‘วันแห่งชัยชนะของประชาชนและประชาธิปไตย’ 

13 กบฏรัฐธรรมนูญ คืออะไร? ทำไมถึงเป็นชนวนให้เกิดการรวมตัวครั้งใหญ่ได้?

เหตุการณ์ทั้งหมด ไม่ได้เกิดขึ้นได้ภายในวันที่ 14 ตุลาคมเท่านั้น ก่อนหน้านี้บริบทในสังคมไทยที่อยู่ในการปกครองของรัฐบาลทหารมานับ 10 กว่าปี แม้ว่าจะผลัดเปลี่ยนยุคจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาสู่จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร รวมทั้งมีการจัดการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่ผลลัพธ์ก็ออกมาเป็นรัฐบาลทหารเช่นเดิม ซ้ำยังเจอการรัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอมอีก ภาวะยืดเยื้อทางการเมืองนี้ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ปัญญาชนจึงเคลื่อนไหวหลายจุด หนึ่งในนั้นคือการทำใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญแจกในพื้นที่ต่างๆ

การแจกเอกสารครั้งนั้น ทำให้ตำรวจสันติบาลจับกุมผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด 12 คน และเมื่อมีการสืบสวนพบว่านักการเมืองผู้หนึ่งอยู่เบื้องหลังการทำเอกสารนั้น พวกเขาจึงประกาศจับ ‘ไขแสง สุกใส’ อดีต ส.ส. เลือดอีสานจากนครพนม ผู้ผ่านคุกผ่านตะรางมา 2 ครั้งจากคดีคอมมิวนิสต์ ทั้งยังขึ้นชื่อว่าเป็น ส.ส. ปากกล้าผู้อภิปรายการทำงานของรัฐบาลทหารในสภา 

สำรวจประวัติทางการเมืองเพียงเท่านี้ มีหรือที่เขาจะไม่กลายเป็น ‘ผู้ต้องสงสัยคนสำคัญ’ ประกอบกับสมาชิกส่วนหนึ่งที่ร่วมแจกข้อเรียกร้องรัฐธรรมนูญก็ทำงานในสำนักงานทนายความธรรมรังสีของไขแสงเอง เมื่อถูกกล่าวอ้างถึงแล้ว เจ้าตัวจึงเดินทางเข้ามอบตัวในวันที่ 9 ตุลาคม จนปรากฏภาพในหนังสือพิมพ์ว่า ส.ส. นครพนมถือกระเป๋า PAN AM พร้อมแคนคู่ใจเดินเข้าไปในสำนักงานตำรวจสันติบาล ด้วยเหตุผลที่ว่าตนเข้าคุกมาแล้ว 2 ครั้ง พวกน้องๆ ที่โดนจับไปยังไม่เคยมาก่อน จึงเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง จึงเป็นที่มาของการชุมนุมคัดค้านการจับกุม ‘13 กบฏรัฐธรรมนูญ’ จนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ  

ไม่ใช่เพียงท่าทีข้างต้นที่ทำให้ไขแสงเป็นนักการเมืองที่น่าสนใจ เสียงจากคนรอบข้าง ส.ส.นครพนม บอกว่า เขาเป็นคนทำงานที่เข้าถึงประชาชน คอยไปรอประกันตัวประชาชนที่โดนกลั่นแกล้งถูกจับในข้อหาคอมมิวนิสต์ ยืนหยัดต่ออุดมการณ์ สนับสนุนให้นักศึกษาได้ออกจากยุคสายลมแสงแดดสู่ความสนใจการเมือง ไปจนถึงอภิปรายประเด็นการเข้ามาครอบงำของอเมริกาในสภา ซึ่งในขณะนั้นไม่มีผู้แทนคนไหนพูดถึงเรื่องนี้ ทำให้เรื่องราวความคิดและชีวิตของไขแสงน่าค้นหา 

อะไรคือความคิดของนักการเมืองผู้ได้ชื่อว่าเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ และเป็นหนึ่งในกบฏรัฐธรรมนูญที่นำมาสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ทำไมไขแสง สุกใสกลายเป็นบุคคลที่ประชาชนในยุคนั้นเชื่อใจ ไว้วางใจ และนับถือศรัทธาต่อความเชื่อในประชาธิปไตย ไปจนถึงเพื่อนฝูงหลายต่อหลายคนเข้าถึงเขา แม้ไขแสงจะเป็นคน ‘ไม่มีอาชีพ’ ‘ไม่มีบ้านอยู่’ ระหกระเหินเดินไปยังพื้นที่ต่างๆ มีเพื่อนหลากหลายกลุ่ม รู้จักกับชาวบ้าน ได้รับรู้ปัญหาเดือดร้อนเพื่อนำไปบอกกับเพื่อนชั้นสูงศักดิ์ว่ามีใครอีกหลายคนในประเทศนี้ต้องการความช่วยเหลืออยู่

ไขแสง สุกใสและเลียง ไชยกาล ส.ส. อุบลราชธานี
ภาพจาก: ชัยนาม สุกใส

ลูกหลานเจ้าราชบุตรแห่งเมืองอุบลฯ และนักเลงหัวไม้ประจำนครพนม

ชีวิตของไขแสงเริ่มต้นที่อุบลราชธานี บ้านเกิดของแพงพันธุ์ ชัยนาม ผู้เป็นแม่ไขแสงและทายาทเจ้าราชบุตรแห่งอุบลราชธานี ส่วนพ่อของเขาคือ ทับทิม สุกใส ทนายที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก่อนจะกลับมาว่าความให้หลายคนที่อุบลฯ และใช้ที่ดินมรดกของแม่แพงพันธุ์ไปกับการประกันลูกความหลายครั้งจนหมดตัว แม่ของแพงพันธุ์จึงตรอมใจเสียชีวิต

เด็กชายไขแสงจึงอยู่ในความดูแลของพ่อและพี่สาว จนกระทั่งพ่อทับทิมย้ายมาแต่งงานใหม่ที่นครพนม ตัวเขาเองเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น อยู่ไม่ติดบ้าน มีนิสัยดื้อ ไม่ค่อยสนใจการเรียน ทำให้ขัดใจกับพ่อทับทิมบ่อยครั้ง 

“คุณปู่เคยสอนคุณพ่อว่าถ้าเจ้าไม่เรียน เจ้าจะต้องคบคนให้ได้วันละ 3 คนนะ นี่คือสาเหตุที่คุณพ่อมีเพื่อนเยอะ มีเพื่อนทุกวงการ เขามีหลายก๊วน ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกขี่ม้าหรือนายทหาร ลงจากม้าปุ๊บ ผู้กงผู้กองเข้ามาคุยกับคุณพ่อหมด คุยเพราะอะไร เพราะคุณพ่อเป็นนักพูดที่คุยสนุก ทุกคนอยากฟัง เขาอัธยาศัยดี มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี” ชัยนาม สุกใส บุตรชายของไขแสงบอกเล่าความทรงจำที่เขามีต่อพ่อ 

ในขณะเดียวกัน ไขแสงก็แอบถอดนิสัยของพ่อทับทิมมาไม่น้อย ทั้งความชอบในดนตรี จดจำบทกลอนคติสอนใจต่างๆ ไปจนถึงงานด้านการเมือง ถึงขั้นฝากฝังว่าในอนาคตลูกชายอาจจะได้เป็นผู้แทนราษฎร หลังจากพ่อทับทิมต้องพ่ายแพ้การลงสมัครเลือกตั้งในช่วงที่ยังมีชีวิต

“ขณะที่นั่งรถไฟจะเข้าสถานีอยุธยา พ่อชี้มือไปสองฝั่งทางรถไฟว่าลูกเห็นไหม ซากกรุงเก่ากรุงศรีอยุธยา เห็นไหม โบสถ์ วิหาร เจดีย์ วังร้างไปหมด พ่อท่องกลอนสุนทรภู่ให้ฟังทันทีว่า 

ทั้งวังหลวงวังหลังก็ร้างรก

เห็นนกหกซ้อแซ้บนพฤกษา

ดูปราสาทราชวังเป็นรังกา

เหมือนป่าช้าพงชัฏสงัดคน

แล้วพ่อก็บรรยายให้ฟังว่า บ้านเมืองใดมีแต่ความแตกแยก ไม่สามัคคีกัน บ้านเมืองใดผู้ปกครองไม่ฟังเสียงประชาราษฎร บ้านเมืองใดมีแต่ความอิจฉาริษยา บ้านเมืองใดมีแต่คนประจบสอพลอ และบ้านเมืองใดมีแต่คนยากคนจน บ้านเมืองนั้นจะต้องย่อยยับในที่สุดอย่างนี้” ไขแสงให้สัมภาษณ์วัฒน์ วรรลยางกูร ไว้ในหนังสือ ไขแสง สุกใส ลูกผู้ชายหัวใจไม่ผูกเชือก [1]

อีกข้อคิดหนึ่งที่พ่อทับทิมสอนให้ติดเนื้อติดตัวไขแสง คือ ‘ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ต้องเห็นคนเป็นคน’ จึงเชื่อมโยงกับสิ่งที่ชัยนามบอกไว้ข้างต้น คือไขแสงเข้ากับใครก็ได้ พูดคุยกับใครก็สนิทสนมได้กับทุกคน

ด้วยส่วนผสมหลายอย่าง ไขแสงจึงกลายเป็นคนที่มีเพื่อนเยอะตั้งแต่บ้านที่คุ้มวัดกลาง นครพนม เขาช่วยเหลือเพื่อนมิตรสนิทกันหลายคน มีเงินเท่าไหร่เขาก็ซื้อของแจกจ่ายเพื่อนฝูง คอยสนับสนุนให้คนหนุ่มในเมืองไปเรียนในกรุงเทพฯ ด้วยการให้คนจีนในนครพนมสมทบทุน เคยมีเหตุการณ์ว่าเมื่อเขาไปเล่นไฮโลได้เงินมามากมาย ไขแสงก็เอาเงินไปแจกทั่วตลาด จนเหลือเงินพอกินก๋วยเตี๋ยวร่วมกับเพื่อน 4-5 คนแค่ไม่กี่บาท

“ไอ้ห่า มันบ่แพงเงิน เป็นคนไม่เก็บเงิน” วิเนือง คำจันทร์ศรี เพื่อนไขแสงในช่วงวัยรุ่นเล่าว่าเพื่อนเขา ‘ไม่หวงเงิน’ (“มันบ่แพงเงิน”) ไว้ในหนังสือ ไขแสง สุกใส ลูกผู้ชายหัวใจไม่ผูกเชือก [2]

น้ำใจไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้คนชื่นชอบไขแสง แต่เขาเป็นคนต่อสู้ความไม่เป็นธรรม ในยามใดที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามเพื่อนพ้อง เขาจะลุยต่อสู้กลับ จนกลายเป็นนักเลงประจำถิ่นที่เป็นปฏิปักษ์กับตำรวจ

“คุณพ่อเล่าให้ฟังว่าเขาก็ถือว่าเป็นนักเลงบ้านนอก นักเลงในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นนักเลงอัธพาลทั่วไปนะ แต่เป็นนักเลงที่ไม่เกรงกลัวต่ออำนาจรัฐ เพราะว่าสมัยนั้นรัฐค่อนข้างรุนแรงในเรื่องการยัดเยียดข้อหา เช่น คอมมิวนิสต์ หรือว่าเป็นกบฏ แต่ด้วยความที่บางทีคุณพ่อแค่ไปช่วยงานแต่ง ไปตีกลองร้องเพลงกันเสียงดังก็ถูกตำรวจห้ามปราบ มากลั่นแกล้ง หรือว่าการไปจีบใครที่ชอบแต่บังเอิญไปจีบคนคนเดียวกับที่ตำรวจชอบ ก็โดนกลั่นแกล้ง”

เรื่องมีอยู่ว่าไขแสงกับลูกสาวคนมีเงินเชื้อสายจีนคนหนึ่งมีใจให้กันและกันมานาน เมื่อนายตำรวจต่างถิ่นมาเห็นหญิงสาว จึงชอบใจด้วย แต่เมื่อมีไขแสงอยู่ เขาจึงพยายามมอบคดีความให้กับศัตรูทางใจไว้ โดยอาศัยพฤติการณ์หลายอย่างของไขแสงเป็นตัวบ่งชี้ถึงการจับกุม เช่น การมีพวกพ้องมากมายเหมือนการซุ่มกำลังคน ประกอบกับสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงนั้นที่เริ่มมีสงครามเย็น การกระจายแนวคิดคอมมิวนิสต์ และความพยายามตามจับนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวอีสานที่ทำงานให้กับปรีดี พนมยงค์ในข้อหากบฏแยกดินแดน ซึ่งไขแสงเคยเข้าไปช่วยงานฟอง สิทธิธรรม เพื่อนของพ่อทับทิมที่เคยร่วมงานกับปรีดีด้วย

รัฐใช้ส่วนประกอบเหล่านี้จับกุมนักเลงหัวไม้แห่งนครพนม และนั่นคือ การเข้าคุกครั้งแรกของไขแสงในปี 2497 ด้วยคดีความ ‘กระทำการกบฏในราชอาณาจักร’ ‘กระทำการกบฏนอกราชอาณาจักร’ และ ‘กระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์’ 

เมื่อคุกหล่อหลอมนักสู้ทางการเมือง

แม้คุกรอบแรกเกิดจากความไม่พอใจส่วนตัวมากกว่าทฤษฎีอุดมการณ์ทางการเมือง แต่การจับนักโทษการเมืองไปอยู่ด้วยกัน ย่อมทำให้ไขแสงเห็นอะไรบางอย่าง ประกอบกับคำสอนของพ่อก่อนเข้าคุกให้เขาอดทน และใช้ห้องขังเป็น ‘มหาวิทยาลัยชีวิต’ ไขแสงจึงร่ำเรียนผู้คน ได้ใกล้ชิดกับกลุ่มนักโทษต่างๆ ทั้งกบฏแมนฮัตตันและกบฏสันติภาพ รวมถึงนักโทษในคดีอื่นๆ จึงได้ซึมซับเรื่องราวชีวิตคนหลากหลายและความคิดในความยุติธรรมจากที่นั่น 

ปี 2500 ไขแสงได้รับปล่อยตัวเนื่องในวาระกึ่งพุทธกาล เขาจึงตั้งใจที่จะออกมาลงสมัครเลือกตั้ง แม้ว่าเขาจะไม่มีอะไรเลย ไม่มีอาชีพ ไม่มีที่นอน ไม่ยอมแต่งงานมีครอบครัว

เขารู้เพียงว่ามีเพื่อนที่จะช่วยสนับสนุนให้เขามุ่งงานทางการเมืองได้ แต่คู่แข่งของไขแสงช่วงเวลานั้นคือ สงวน จันทรสาขา เลขาธิการพรรคสหภูมิ น้องชายจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สุดท้ายเขาจึงไม่ได้คว้าตำแหน่ง ส.ส. มาตามใจหมาย 

ทั้งยังไม่ทันได้ทำอะไรมากมาย คุกที่สองของไขแสงก็เริ่มต้นอีกครั้งจากการรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ในปี 2501 มีการตามจับผู้ที่ต้องคดีคอมมิวนิสต์อีกครั้ง ไขแสงจึงต้องเข้าสู่คุกอีกรอบ ครั้งนี้เขาอยู่ในคุกลาดยาวร่วมกับนักโทษทางการเมืองหลายคน เช่น อิศรา อมันตกุล, จิตร ภูมิศักดิ์, เปลื้อง วรรณศรี, ฟอง สิทธิธรรม, ฟัก ณ สงขลา, หลวงพ่อพิมลธรรม และพระมหาสุรศักดิ์ ธรรมรัตน์ ซึ่งตอนหลังนำมาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยลาดยาว เนื่องจากปัญญาชนนักเคลื่อนไหวถูกจับไปรวมกัน จึงมอบการศึกษาให้แก่กัน

จากการศึกษาข้อมูลชีวิตผ่านไพฑูรย์ พลซื่อ และจรัญ โยบรรยงค์ ชัยนามพบว่าชีวิตในคุกรอบที่สองของพ่อไขแสงสนิทกับผู้คุมในคุกลาดยาว เพื่อนๆ ที่รู้จักไขแสงเมื่อคุกที่แล้ว บางส่วนได้ส่งเงินมาช่วยเหลือเขา ซึ่งไขแสงนำไปช่วยเหลือผู้ต้องขังคนอื่นๆ รวมทั้งคอยช่วยผู้คุมบางคนที่ขัดสน เช่น จ่ายค่าเทอมให้กับลูกผู้คุม 

นอกจากนี้ ไขแสงยังมีบทบาทเป็นนักเอนเทอร์เทน สร้างความสุขให้กับเพื่อนๆ เพราะเขาเป็นคนเฮฮา ร่าเริง เล่นมุกให้ทุกคนได้ขำขัน ทั้งยังขอผู้คุมได้เล่นกีฬาในวันเสาร์-อาทิตย์จนเกิดเป็นกิจกรรมกีฬาในคุกลาดยาวด้วย

ไขแสง สุกใส เพื่อนนักโทษ และผู้คุมในเรือนจำ แข่งขันบาสเกตบอลในคุกลาดยาว
ภาพจาก: ชัยนาม สุกใส

การอยู่ในคุกทั้งสองครั้งทำให้ไขแสงได้เรียนรู้แนวคิดความเป็นธรรม มาร์กซิสต์ และสังคมนิยม เขาให้สัมภาษณ์กับวัฒน์ วรรลยางกูรไว้ว่า เขาไม่ได้เป็นคน ‘เจ้าทฤษฎี’ แบบจิตร ภูมิศักดิ์ แต่อาศัยวิธีการแบบชาวบ้านๆ ในการยึดโยงกับความเป็นธรรม และ ‘มองคนเป็นคน’ ตามคำสอนของพ่อทับทิม ข้อนี้ทำให้เขาเข้าใจแนวคิดแบบมาร์กซิสต์ได้ แต่ก็ปฏิบัติออกมาในรูปแบบของไขแสงเอง [3]

ส.ส. นครพนมที่กล้าต่อปากต่อคำกับรัฐบาลทหาร

หลังจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิต มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองอีกครั้ง ไขแสงมุ่งมั่นลงสมัครเป็น ส.ส. เช่นเดิม 

ชัยนาม สุกใสตามความทรงจำของพ่อ พบกับปรีชา บรรลือหาญ อดีตนายกเทศมนตรีเรณูนคร* ซึ่งเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการหาเสียงของไขแสง ด้วยคำพูดที่เข้าถึงผู้คน ฉลาด บุคลิกลักษณะนิสัยที่เข้าถึงง่าย ทำให้ชาวบ้านยังคงจดจำวิธีการหาเสียงของเขาได้จนถึงทุกวันนี้

“สวัสดีครับพ่อแม่พี่น้องที่เคารพรัก 

ผมไขแสง สุกใส

ไข แปลว่า เปิด 

แสง แปลว่า แสงสว่าง 

สุกใสแปลว่าเจริญฮุ่งเฮือง” 

ปรีชาเลียนแบบวิธีพูดให้ชัยนามดู ลูกชายของไขแสงบันทึกวิดีโอเผยแพร่เอาไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อเก็บเป็นคลังความทรงจำเกี่ยวกับพ่อ

“คุณพ่อพูดเก่งจนเคยได้เป็นนายกสมาคมฝึกการพูดแห่งประเทศไทย” ชัยนามย้ำว่าพ่อเป็นคนเข้าถึงง่าย นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้การหาเสียงของเขาครองใจคนในพื้นที่จนได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. ในที่สุด

ภาพจาก: ชัยนาม สุกใส

ส.ส.จากนครพนมทำงานเพื่อประชาชนอย่างขยันขันแข็ง เขายื่นญัตติ เปิดกระทู้ถามสดรัฐบาลจอมพลถนอมหลายครั้ง จนเป็นที่จับตาของคนใหญ่คนโตในรัฐบาล ตัวอย่างหัวข้อการตั้งกระทู้ถามสดรัฐบาลจากไขแสงคือกรณีภาคีสนธิสัญญาซีอาโต้ (องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มโดยสหรัฐอเมริกา ให้ชาติมหาอำนาจฝั่งประชาธิปไตยรวมตัวกันกับชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อป้องกันลัทธิคอมมิวนิสต์) ซึ่งระบุไว้ในหนังสือไขแสง สุกใส ลูกผู้ชายไม่ผูกเชือก [4] 

ไขแสงตั้งประเด็นว่า ทำไมไทยถึงตกอยู่ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา และเมื่อในขณะนั้นสมาชิกภาคีสนธิสัญญาซีอาโต้เริ่มอ่อนกำลังลง และมีท่าทีที่จะไม่ได้ช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่แล้ว รัฐบาลไทยจะดูแลจัดการอย่างไร รวมถึงในขณะนั้นมีเหตุสงครามในกัมพูชา ทางการไทยจะแสดงออกอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่หา ส.ส. น้อยคนที่จะกล้าซักถามรัฐบาลกลางสภาได้

จาก 13 กบฏรัฐธรรมนูญ สู่ 14 ตุลาคม 2516 

ระหว่างดำรงตำแหน่งผู้แทนของประชาชน ไขแสงมีแนวคิดหนึ่งต่อสังคม คือคนรุ่นใหม่ในยุคนั้นกำลังถูกมอมเมาให้สนใจสิ่งบันเทิงมากกว่าสถานการณ์บ้านเมือง และรัฐก็พร้อมสนับสนุนเต็มที่ จนเรียกว่าเป็นยุคสายลมแสงแดด สำหรับไขแสงแล้ว นี่คือสิ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สนใจสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลทหาร [5]

เขาจึงเดินทางเข้าไปยังมหาวิทยาลัย พูดคุยกับนักศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเริ่มต้นจากหัวข้อที่เข้าถึง เช่น การงดเหล้าสุรา แม้จะดูเป็นเรื่องที่นักศึกษาก็ยังไม่ได้สนใจ แต่เมื่อไขแสงได้ขึ้นพูดแล้วกลับสร้างความประทับใจเป็นวงกว้าง ต่อจากนั้นก็มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่ติดตามการทำงานของไขแสงเป็นประจำ และเริ่มติดตามการเมืองมากขึ้น[6] 

จนกระทั่งจอมพลถนอมรัฐประหารตัวเองในปี 2514 บทบาทในฐานะ ส.ส. ของไขแสงต้องยุติลงชั่วคราวจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ เขาตัดสินใจบวชหนีการจับกุม ในโอกาสนี้เพื่อนพ้องน้องพี่แนะนำให้ไขแสงมีอาชีพจริงจัง ด้วยการเปิดสำนักงานทนายความธรรมรังสี ที่นี่เองที่กลายเป็นทั้งสำนักทนายและแหล่งบ่มเพาะความคิดประชาธิปไตยให้กับนักศึกษายุคนั้น[7] 

สมาชิกสำนักงานทนายธรรมรังสี
ภาพจาก: ชัยนาม สุกใส

ไขแสงสนับสนุนเงินช่วยเหลือให้นักศึกษาหลายคนได้ทำงานด้านความคิดและการเมือง เช่น หาเงินให้กลุ่มบุญส่ง ชเลธรทำหนังสือสวนสุนันทา และสำนักงานทนายธรรมรังสีก็เป็นแหล่งพักพิงของนักศึกษาที่เคลื่อนไหวการเมืองในยุคนั้น เช่น ธัญญา ชุนชฎาธาร ที่ได้ฟังเรื่องคุกลาดยาวจากไขแสงที่นี่ อาจกล่าวได้ว่า งานเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเชื้อเพลิงที่จุดไฟการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่[8] 

จนก้าวเข้าสู่ยุคที่นักศึกษาสนใจปัญหาสังคม เกิดการประท้วงเรียกร้องสิทธิ คัดค้านความอยุติธรรมเป็นวงกว้าง เกิดกลุ่มต่างๆ ของนักเรียน-นักศึกษาที่หล่อหลอมความคิดทางการเมืองด้วยกัน จนเกิดชนวนของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เมื่อมีการจับตัว 12 ปัญญาชนที่แจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และจับไขแสงในฐานะเบื้องหลัง 

หลังจากไขแสงมอบตัวในวันที่ 9 ตุลาคม ภาพตามหน้าหนังสือพิมพ์ปรากฏ ส.ส. นครพนมวัย 45 ปี ถือกระเป๋า PAN AM สีน้ำเงินพร้อมหนีบแคนคู่ใจเดินเข้ามอบตัวกับตำรวจ 

ท่าทีสบายๆ ลักษณะเป็นคนง่ายๆ ไม่มีพิธีรีตอง ทำให้ไขแสงกลายเป็นที่สนใจและน่านับถือ การมอบตัวครั้งนี้ ไม่ใช่เพราะมองว่าเป็นความผิด ไม่ได้ต้องการพิสูจน์ว่าตัวเองนี่แหละที่ควบคุมความคิดนักศึกษาอยู่เบื้องหลัง แต่เพื่อแสดงออกว่า เขาไม่อยากทอดทิ้งคนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาด้วยกัน

“12 คนที่ถูกจับ เขาก็ไม่เคยผ่านคุกตะรางมาเหมือนเราที่อยู่คุกมาเป็นสิบปี ที่สำคัญ มันเริ่มที่สำนักงานเรา แล้วจะทอดทิ้งหนีเขาไปเฉยๆ ได้ยังไง เขาอาจต้องการกำลังใจหรือการดูแลจากพี่เลี้ยง ก็ตัดสินใจยอมมอบตัวดีกว่า 9 ตุลาคม 2516 เข้ามอบตัว ถนอม-ประภาสก็ยิ่งเอาใหญ่ ว่าได้ตัวการ ได้เอกสารคอมมิวนิสต์ที่ธรรมรังสี” เขาถ่ายทอดความทรงจำข้างต้นไว้กับวัฒน์ในปี 2541  

อย่างไรก็ตาม ไขแสงถูกจับกักตัวแยกกับปัญญาชนอีก 12 คน ส่วนสถานการณ์ภายนอกค่อยๆ ร้อนระอุจากข้อเรียกร้องของนักศึกษา เกิดการเจรจาระหว่างรัฐบาลทหารและนักศึกษาหลายครั้ง แต่ไม่เป็นผล วันที่ 12 ตุลาคม ท่ามกลางภาพการรวมตัวของนักศึกษาและประชาชนในพื้นที่ธรรมศาสตร์ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยยื่นคำขาดให้ปล่อยตัว 13 คน นับตั้งแต่เวลา 12.00 น. หากล่วงเลยมากกว่านั้น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ จะดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาด 

แต่แล้วก็ไม่มีวี่แววของการตอบสนองจากรัฐบาล พร้อมทั้งมีข่าวที่ทหารเตรียมกำลังเอาไว้ จนกระทั่งวันที่ 13 ตุลาคม จึงมีการเคลื่อนขบวนนักศึกษาไปตามถนนราชดำเนิน มวลประชาชนมหาศาลกลายเป็นภาพการรวมตัวที่ประเทศไทยในยุคนั้นแทบจินตนาการไม่ถึง ท้ายที่สุดตกดึกของวันที่ 13 ตุลาคม รัฐบาลยอมปล่อยตัว 13 กบฎรัฐธรรมนูญ และสัญญาต่อการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทันพ้นคืนวันที่ 13 ตุลาคมก็เริ่มมีกระแสข่าวไม่ดี จึงมีความพยายามสั่งให้สลายการชุมนุม แต่นักศึกษายังไม่ทันได้แยกย้ายกันถ้วนทั่ว ช่วงวันที่ 14 ตุลาคม เวลาประมาณ 5.00 น. ก็เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและเป็นเหตุของ 14 ตุลาฯ ขึ้น[9]

ไขแสงมองว่าการปฏิวัติประเทศไทยในปี 2516 ไม่ได้เกิดขึ้นจากปีนั้นเพียงปีเดียว แต่ได้หล่อหลอมความคิดกันมาหลายสิบปีแล้ว เขาบอกวัฒน์ไว้ในหนังสือว่า “แต่ว่ามาถึงยุคถนอม-ประภาสยิ่งกว่านั้น เขาเอาน้ำมันเบนซินราดทั่วประเทศ แล้วใครที่ไหนมาจุดไฟก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นไขแสง”[10] 

หลังผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ไขแสงต้องหลบหนีสักพัก ด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนร่วมสำนักงานทนายธรรมรังสีอย่าง ฟัก ณ สงขลา จากนั้นเขากลับมาลงสมัคร ส.ส. ในพรรคสังคมนิยม ทำหน้าที่เพื่อประชาชน ติดต่อประสานงานกับเพื่อนหลากหลายกลุ่ม และยังคงยืนหยัดในอุดมการณ์ที่ตัวเองยึดมั่นไว้อย่างเหนียวแน่น

“ในปี 2518 สมัยนั้นหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็เคยทาบทามคุณพ่อมาเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย แต่คุณพ่อเขาไม่เอา เพราะว่าหนึ่ง-การเป็นรัฐมนตรีจะต้องห่างเหินกับประชาชน ไม่สามารถลงพื้นที่หรือมาช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเต็มที่ สอง-การมีตำแหน่งจะทำให้เสียความเป็นตัวของตัวเอง เหมือนกับการสวมหัวโขน ถ้าขึ้นแล้วก็กลัวว่าตัวเองจะหลงระเริง แกก็เลยไม่ได้รับบทบาทเหนืออื่นใดนอกจากการเป็น ส.ส.” ชัยนามบอกเล่าข้อมูลของพ่อ 

ภาพจาก: ชัยนาม สุกใส

หลังเหตุการณ์เดือนตุลา, การเข้าป่า และช่วงบั้นปลายของไขแสง สุกใส

เวลาล่วงเลยจนมาถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ปะทุ ไขแสงจึงตัดสินใจเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ เดินทางจากเขตภูพานสู่ประเทศลาว ในพื้นที่นี้เองที่พรรคคอมมิวนิสต์มองเห็นว่าไขแสงควรแต่งงาน มีครอบครัว เขาจึงได้รับคำแนะนำให้สมรสกับบุดดา กันยาเหมา หรือสหายแสงดา เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2520 ที่สำนัก A30 แขวงอุดมไชย ประเทศลาว

ไขแสงในวัย 49 ปีแต่งงานและมีครอบครัวในเขตพื้นที่พรรคคอมมิวนิสต์ โดยบุดดาให้กำเนิดลูกสาวคนแรกที่สำนัก A30 ต่อมาไขแสงได้รับความช่วยเหลือจากพรรคคอมมิวนิสต์ให้ไปพำนักที่คุนหมิง ประเทศจีน และบุดดาได้ให้กำเนิดลูกชายอีกคนที่นั่น

ภาพจาก: อาคม สุวรรณนพ อดีต ส.ส. พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย และชัยนาม สุกใส

“สาเหตุที่ผมชื่อดงหลวง เพราะคุณพ่อลงสมัคร ส.ส. อำเภอดงหลวงแล้วหีบแตกที่นั่น รวมถึงเป็นพื้นที่ที่พ่อหลบหนีเข้าป่าภูพานตรงภูผายล ซึ่งสมัยก่อนเป็นตำบลดงหลวง ส่วนพี่สาวชื่อว่าบังทราย มาจากห้วยแม่น้ำไหลผ่านอุทยานภูผายลตรงดงหลวงนั่นแหละ เป็นห้วยที่ไหลผ่านออกไปสู่แม่น้ำโขง” ชัยนามเล่าความผูกพันธ์ของพ่อและพื้นที่การเมืองซึ่งกลายมาเป็นที่มาของชื่อเขาและพี่สาว

“หลังจากเราอยู่กันที่คุนหมิงจนปี 2524 พวกเราก็ย้ายกลับมาไทย เพราะมีนโยบาย 66/23 ผมอายุได้ 2 ขวบ ตอนนั้นก็เด็กมาก เท่าที่พ่อเล่าให้ฟังคือ อยู่นู่นก็สุขสบายมีความสุข แต่ถ้าอยู่อย่างนั้นโดยที่ไม่ทำอะไรเลยมันก็ไม่ใช่วิถีของเขา ในเมื่อโอกาสมาแล้วก็ตัดสินใจกลับเมืองไทย” ชัยนามบอกเล่าในสิ่งที่เขาพอจะจำเกี่ยวกับเขาและพ่อได้ 

“โตมาหน่อย ผมเข้าเรียนประถม มัธยม ภาพที่จำได้คือ บทบาทของคุณพ่อ จะมีคนแวะเวียนเข้ามาหาที่บ้านโดยตลอด ในฐานะที่เขาเคยคลุกคลีเคยเป็นอดีต ส.ส. หรือว่ายังมีบารมีในด้านการเมืองอยู่ แล้วคนที่แวะเวียนมาหาส่วนใหญ่ก็จะเป็นนิสิตนักศึกษาในสมัย 14 ตุลาฯ ที่ได้ร่วมต่อสู้ด้วยกัน หรือว่าผู้หลักผู้ใหญ่ที่ได้เคารพนับถือคุณพ่อ” 

ช่วงปี 2526 ไขแสงลงสมัครเป็นผู้แทนในเขตพื้นที่นครพนมอีกครั้ง แต่สอบตก นักข่าว-นักหนังสือพิมพ์ก็ไม่คาดคิดว่าไขแสงที่มีชื่อเสียงอย่างมากจะไม่ได้รับเลือกตั้ง 

“แต่เขาก็ไม่ลดละที่จะทำการเมืองนอกสภา ด้วยความที่คุณพ่อรู้จักคนเยอะ ถึงแม้ว่าไม่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. แต่พรรคพวกเขา คนรู้จักหรือผู้หลักผู้ใหญ่ก็ยังเป็นรัฐมนตรี เป็นคนในแวดวงการเมืองอยู่ ถ้าชาวบ้านมีอะไร หรือว่าใครขอความช่วยเหลือ คุณพ่อก็ไม่เคยอิดออด ไม่เคยปฏิเสธ ก็ช่วยเหลือเกือบทุกคน บทบาทของ ‘พี่แสง’ ก็จะเป็นอย่างนี้ คือใจก็จะมีแต่ประชาชน มีแต่น้องๆ” ชัยนามเรียกชื่อพ่อตามเพื่อนๆ และผู้ที่รักไขแสง 

ไขแสง สุกใสและชัยนาม สุกใส
ภาพจาก: ชัยนาม สุกใส

“แต่ผมต้องยอมรับตรงๆ ว่าผมก็แอบน้อยใจนะ เพราะว่าส่วนใหญ่คุณพ่อก็จะอุทิศตนให้กับประชาชน แล้วก็บ้านเมืองมากกว่าครอบครัว ถามว่าคุณพ่อรักครอบครัวไหม รัก แต่ด้วยความที่เขาทำงานในด้านนี้ เขาก็เดินเต็มที่ เขามีใจให้กับประชาชนแล้วก็ประชาธิปไตยได้เต็มที่ แต่ว่ากับครอบครัว ผมคิดว่าผมค่อนข้างขาดความอบอุ่นเหมือนกัน จริงๆ ตอนเด็กไม่ได้รู้สึกอะไรมาก แต่พอกลับมามองตอนเราโตแล้ว ก็รู้สึกว่าน่าเสียดาย เราน่าจะโตไล่เลี่ยกับพ่อ อย่างน้อยเราก็จะได้คลุกคลี ได้เจริญรอยตามคุณพ่อบ้าง แต่ก็ไม่ได้โทษคุณพ่อนะครับ เพราะเข้าใจว่าอาชีพนักการเมืองก็เป็นอย่างนี้” ลูกชายไขแสงกล่าวอย่างเสียดาย

ใช่ว่าพ่อ-ลูกอายุห่างกันจะห่างเหินจนไม่พูดกัน เมื่อชัยนามโตขึ้น เขาก็ได้ตามไปวิ่งเล่นในพื้นที่หาเสียงของพ่อ หรือเมื่อโตมาหน่อย เขาก็ได้พาพ่อขับรถไปเยี่ยมความทรงจำเก่าๆ เช่น กุฎิหลังน้อย วัดบรมนิวาสที่ไขแสงเคยมาอาศัยอยู่กับพ่อทับทิม เมื่อปี 2480 

“ก่อนพวกเราจะเดินทางกลับ คุณพ่อได้เอ่ยปากว่า พ่อนอนตายตาหลับแล้ว!” ชัยนามเขียนบันทึกเอาไว้

ในช่วงปี 2529 ไขแสงลงเลือกตั้งอีกครั้ง และชนะการเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะย้ายออกมาตั้งพรรคประชาชนและลงเลือกตั้งอีกในปี 2531 แต่แพ้การเลือกตั้ง เมื่ออายุมากขึ้น เขาก็ตัดสินใจวางมือจากอาชีพที่ทำงานให้ประชาชนร่วม 3 ทศวรรษ 

ไขแสง สุกใส เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งส.ส. นครพนม ปี 2530
ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
ภาพจาก: ชัยนาม สุกใส

“สิ่งที่ผมสัมผัสได้จากพ่อตั้งแต่เด็กคือ เขาทำงานเพื่อประชาชนจริงๆ คำว่าประชาชนมาก่อนเลย ต้องบอกก่อนว่าบ้านผมไม่ได้รวยนะ แม้ว่าคุณพ่อจะมาจากตระกูลใหญ่ในอุบลฯ แต่คุณพ่อหาเงินเอง แล้วเขาเป็นคนหาเงินเก่ง เขาสามารถหาเงินที่เอามาช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน หรือว่าเอามาใช้จ่ายให้กับประชาชนได้เป็นร้อยๆ ล้าน จากการคุยกับเพื่อน มิตรสหาย ที่บอกว่าเขาถือคติ คบเพื่อนให้ได้วันละ 3 คน แล้วเพื่อนๆ ก็ช่วย เพราะเขาก็หาทางช่วยเหลือเพื่อนด้วย”

“ถ้ามีเงินขนาดนี้ ทุกคนจะเข้าใจว่าไขแสง สุกใสเป็น ส.ส. อย่างน้อยก็ต้องมีเงินจำนวนหนึ่งหลงเหลือบ้าง ผมจะเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟัง หลังจากคุณพ่อเสียไม่นาน ผู้จัดการแบงก์โทรศัพท์มาที่บ้าน ขอเรียนสายกับทายาทของคุณไขแสง สุกใสหน่อย รบกวนให้มาปิดบัญชีที่ธนาคาร ผม แม่ พี่สาวแต่งตัวไปดิบดีเพื่อไปธนาคาร ปรากฏว่าพอปิดมาแล้ว ยอดเงินในบัญชีมีหลักร้อยครับ เราก็นึกว่าคุณพ่อจะหลงเหลือเงินเป็นแสนเป็นล้านให้พวกเรา ไม่มี” ชัยนามเล่าพร้อมหัวเราะให้กับความตลกร้ายนี้

“นี่คือแอบน้อยใจว่าคุณพ่อเขาช่วยคน แต่ครอบครัวได้เท่านี้ พอคุณพ่อเสียแล้ว คุณแม่ก็เป็นเสาหลัก ต้องไปขายของหรือกู้หนี้ยืมสินมาดูแลพวกเรา ผมต้องขอทุนเรียนจนกระทั่งจบมหา’ลัย  ผมเข้าใจว่าคุณพ่อคิดไว้อย่างเดียวว่าคนที่คุณพ่อเคยช่วยเหลือจะกลับมาช่วยเหลือครอบครัว แต่จริงๆ ไม่ใช่ พวกเราอยู่กัน 3 คน พวกเรายืนหยัดกันเอง” 

อย่างไรก็ตาม ชัยนามก็รู้สึกภูมิใจที่พ่อไขแสงเป็น ส.ส. ที่ยืนหยัดเพื่อประชาชน ไม่แจกเงินหาเสียง ไม่คอร์รัปชันให้ได้มาซึ่งเงินตราในครอบครัว สิ่งนี้ตรงกับที่ไขแสงเคยแสดงทัศนคติกับวัฒน์เอาไว้ หลังจากที่เขาสอบตกในการเป็น ส.ส. ว่า

“ปี 2531 ผมแพ้เลือกตั้ง พวกชนะเป็นลูกศิษย์ผมมาทั้งนั้น แต่ปี 31 ลูกศิษย์สองคนมันมีเงินมาลงคนละยี่สิบกว่าล้าน ผมมีไปในราวแปดแสนกว่าเฉพาะค่าน้ำมันรถ ในชีวิตให้เงินคนมาตลอด 60 ปี ให้หมื่นบาทได้ ห้าพันบาทได้ แต่จะให้คนละ 20 บาทซื้อเสียงตามบัญชีเลือกตั้งให้ไม่ได้ ราคาคนมันต่ำกว่าราคาไก่ เดี๋ยวนี้ถ้าผมซื้อเสียงรับรองว่าต้องได้ คนอื่นจ่ายร้อย ของพี่แสงเอาห้าสิบเท่านั้น แต่มันหลอกตัวเอง”[11] 

หลังจากไขแสงเสียชีวิตลงในปี 2543 ชัยนามและครอบครัวไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกเลย ลูกชายของไขแสงยอมรับว่า ตัวเองมองการเมืองในแง่ลบด้วยซ้ำ เนื่องจากเขาสังเกตว่าช่วงบั้นปลายชีวิตของพ่อนั้น มีความปรารถนาเพียงอย่างเดียว คือ อยากให้คนที่คอยช่วยเหลือได้มาเยี่ยมกันบ้าง แต่หลายคนก็หายหน้าไป ไม่ได้ติดต่อมาอีกเลย ทำให้ชัยนามรู้สึกไม่ไว้ใจการเมือง รวมทั้งสภาพระบบสังคมที่มองเห็นการทุจริต คอร์รัปชัน และไม่เห็นผลประโยชน์ของประชาชน เขาจึงหันไปสนใจประกอบอาชีพอื่นๆ ไม่ได้คิดอยากเดินตามรอยพ่อไขแสง

ภาพจาก: ชัยนาม สุกใส

“แต่นั่นคือสมัยที่เราห่างเหินมาจนกระทั่งถึงในระยะหนึ่ง หลังจากมีคนติดต่อมาว่าจะทำอนุสรณ์สถานของไขแสง สุกใสที่ถ้ำในเขตป่าภูพาน ผมก็กลับมาสนใจการเมือง มีความตื่นตัวในเรื่องการเมืองมากขึ้น” 

อนุสรณ์สถานของไขแสง เป็นโปรเจกต์เริ่มต้นของนายแพทย์อนุวัตร แก้วเชียงหวาน ผู้สนใจข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ และต้องการรักษามรดกทางการเมืองในยุคการเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ของประชาชนเอาไว้ และทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่เปิดให้ประชาชนมาศึกษาได้ โดยชัยนาม ในฐานะทายาทไขแสง จะเป็นหนึ่งในคณะกรรมการดำเนินการด้วย

“ตรงนี้เป็นสถานที่พักพิงของไขแสง สุกใสในช่วงที่หลบหนีเข้าป่าปี 2519 ก่อนที่จะไปที่สำนัก A30 ที่ลาว บุคคลที่หลบหนีกับพี่แสงก็มีคุณอาประยงค์ มูลสาร คุณประเสริฐ เลิศยศโส คุณอุดร ทองน้อย อดีตพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ประมาณ 4 คนแล้วที่หลบหนีไปพร้อมกัน”

“ตรงนี้ที่ภูผายล ลักษณะก็จะเป็นคล้ายๆ ถ้ำ แต่ไม่ได้เป็นถ้ำปิด มีหินมาบังฝนบ้าง ไปสืบสาวราวเรื่องแถบๆ นั้นก็พบว่าเป็นที่พักพิงที่มีโรงหมอ มีศูนย์การแพทย์ของคนที่อยู่ในป่า จริงๆ แล้วคุณพ่ออยู่ไม่กี่เดือน แล้วก็ย้ายไป A30 แต่คราวนี้ตอนที่หลบหนีเข้าไปคุณวิทิต จันดาวงศ์ ก็คือลูกชายของครูครอง จันดาวงศ์ สมัยนั้นแกก็เข้าป่าก่อน ก็พากองพันดาวแดงมารับคุณพ่อ เพราะคุณพ่อก็ถือว่าเป็น ส.ส. ผู้มีชื่อเสียงแล้วก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ก็เลยจัดให้พักอยู่ตรงนั้น”

ชัยนามบรรยายสถานที่พักพิงของพ่อไว้ว่า ข้างหน้าเป็นภูเขา และมีพื้นที่เป็นถ้ำ ซึ่งต้องนับว่าเป็นพื้นที่ที่ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) จัดไว้ให้คนใหญ่คนโตอยู่ โดยทหารอารักขาหรือคนรอบนอก รวมถึงคนในละแวกนั้นก็ไม่สามารถที่จะขึ้นมาตรงนี้ได้ 

“คุณพ่อไม่เคยเล่าบทบาทตรงนี้ แต่พอได้มาร่วมงานกับทีมคุณหมอแล้วเขาก็พาไปดู คุณพ่อหลบมาทางนี้ ตรงนี้เป็นอะไรบ้าง ก็เลยทำให้ได้รู้ ทีนี้เขาก็อยากเชิดชูว่าจะจัดตรงนี้ให้มันเป็นอนุสรณ์ชื่อว่าถ้ำไขแสง สุกใส ซึ่งเราก็แล้วแต่ทีมงานว่าเห็นสมควรอย่างไร”

ในขณะเดียวกัน ชัยนามก็ได้ตัดสินใจเดินตามรอยความทรงจำพ่อ ด้วยการไปพูดคุยกับพยานหลักฐานที่ยังมีชีวิตอยู่ในพื้นที่ต่างๆ และตั้งใจรวบรวมเป็นชีวประวัติไขแสง สุกใสอีกเล่ม ต่อจาก ไขแสง สุกใส ลูกผู้ชายหัวใจไม่ผูกเชือกที่วัฒน์ วรรลยางกูรได้ทำไว้ในปี 2541

“ผมอยากให้สังคมรับรู้ว่าในประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของเมืองไทยมีคนชื่อไขแสง สุกใสอยู่นะ เพราะว่าสมัย 14 ตุลาฯ ชื่อก็โดนลบออกไปเยอะ หลักฐานอะไรพวกนี้ก็โดนเก็บไปหมด เพราะถือว่าเขาเป็นนักโทษ เป็นคนที่ถูกหมายหัวจากทางการ”


*ไขแสงลงสมัคร ส.ส.นครพนม ซึ่งในยุคนั้นเรณูนครยังคงอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดนครพนม ปัจจุบันเป็นเขตพื้นที่ของจังหวัดมุกดาหาร

References
1 ไขแสง สุกใส ลูกผู้ชายไม่ผูกเชือก. วัฒน์ วรรลยางกูร. หน้า 28-29
2 ไขแสง สุกใส ลูกผู้ชายไม่ผูกเชือก. วัฒน์ วรรลยางกูร. หน้า 65
3 ไขแสง สุกใส ลูกผู้ชายไม่ผูกเชือก. วัฒน์ วรรลยางกูร. หน้า 174-175
4 ไขแสง สุกใส ลูกผู้ชายไม่ผูกเชือก. วัฒน์ วรรลยางกูร. หน้า 259-275
5 ไขแสง สุกใส ลูกผู้ชายไม่ผูกเชือก. วัฒน์ วรรลยางกูร. หน้า 202-203
6 ไขแสง สุกใส ลูกผู้ชายไม่ผูกเชือก. วัฒน์ วรรลยางกูร. หน้า 242-245
7 ไขแสง สุกใส ลูกผู้ชายไม่ผูกเชือก. วัฒน์ วรรลยางกูร. หน้า 320-323
8 ไขแสง สุกใส ลูกผู้ชายไม่ผูกเชือก. วัฒน์ วรรลยางกูร. หน้า 325 และหน้า 332
9 https://www.silpa-mag.com/history/article_40175
10 ไขแสง สุกใส ลูกผู้ชายไม่ผูกเชือก. วัฒน์ วรรลยางกูร. หน้า 381
11 ไขแสง สุกใส ลูกผู้ชายไม่ผูกเชือก. วัฒน์ วรรลยางกูร. หน้า 412-413

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023