fbpx

เล็ก โกเมศ : ผู้ให้กำเนิดหอการค้าไทย

นอกจากชื่อโรงเรียน ‘เล็ก โกเมศ อนุสรณ์‘ ในจังหวัดนนทบุรี ที่ทำให้ชื่อของชายผู้นี้ยังคงอยู่ แทบจะกล่าวได้ว่าชื่อของ ‘เล็ก โกเมศ’ นั้นไม่เป็นที่รู้จักอีกแล้ว ทั้งๆ ที่เขาเป็นพ่อค้าคนสำคัญของไทย และเป็นผู้ริเริ่มให้มีการจัดตั้งหอการค้าไทยขึ้นมาแต่ตั้งเมื่อ 90 ปีก่อน


เล็ก โกเมศ
(15 กุมภาพันธ์ 2435 – 18 มกราคม 2505)


การศึกษา


เล็ก โกเมศ เดิมชื่อ ‘เต็ก’ เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2435 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อสำเร็จการศึกษาภาษาไทยชั้น 4 บริบูรณ์จากโรงเรียนวัดสุวรรณาราม ธนบุรีแล้ว ได้ย้ายมาเรียนพณิชยการรุ่นแรก ตั้งแต่ตั้งอยู่ที่วัดมหาพฤฒาราม ซึ่งมีอาจารย์เจย์. ซี. เยมส์ เป็นอาจารย์ใหญ่ โดยสมัยนั้นสอนเป็นภาษาอังกฤษอย่างเดียว เล็กเรียนอยู่ 4 ปี จึงออกไปทำการเลี้ยงชีพ

เล็กเริ่มงานเป็นลูกจ้างห้างสั่งของฝรั่ง ‘ซิตเตนเด็น’ และได้รับการอบรมสั่งสอนจากนายห้างเป็นอย่างดี หลังจากทำงานที่นี่อยู่หลายปี เขาก็ไปทำงานกับมิสเตอร์เบอร์ลี่ เจ้าของบริษัทเบอร์ลี่ จำกัด เป็นเวลา 8 ปี จนได้เป็นผู้ช่วยผู้จัดการและคอมปราโดร์


ห้างโกเมศ-ห้างสยามวานิช


ลุรัชสมัยสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวเยอรมันในสยามถูกจับกุมเป็นเชลยศึก ห้างขายยาของเยอรมันก็ถูกสั่งเลิก เล็กจึงตั้งร้านขายยาและน้ำหอมขึ้นในชื่อ ‘ห้างโกเมศ’ เชิงสะพานมอญ  ตำบลสี่กั๊กพระยาศรี ซึ่งเครื่องสำอางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน น้ำแดง เป็นที่นิยมชมชอบแก่ผู้ใช้แพร่หลาย

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง มีบริษัทฝรั่งแห่งหนึ่งจะขยายการค้าเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกสินค้า ในปี 2462 จึงจ้างเล็กเดินทางไปต่างประเทศทำการค้าขายแทนบริษัทนั้น เล็กจึงได้โอกาสศึกษาการค้าขายในต่างประเทศสมใจนึก ทั้งที่สิงคโปร์ อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และเยอรมนี รวมเวลาทั้งสิ้น 1 ปีเศษ

ครั้นกลับมาเมืองไทยแล้ว เกิดคราวเคราะห์ ไฟไหม้ห้างโกเมศ ทำให้เสียหายมาก แม้จะกลับมาเปิดกิจการได้อีกครั้ง สุขภาพก็ไม่สมบูรณ์ จึงขายกิจการค้าทั้งหมดของห้างโกเมศให้ผู้อื่นไป แล้วไปพักรักษาตัวที่ภาคเหนืออยู่ราว 1 ปี


โฆษณาสินค้าของห้างโกเมศ และห้างสยามวานิช ในอดีต
(ภาพจาก พ่อค้าไทย ยุค 2480 เล่ม 1 (2557) ของเอนก นาวิกมูล)


หลังจากนั้น เล็กกลับมาเปิด ‘ห้างสยามวานิช’ ขึ้น และตั้งเป็นบริษัทไทยวานิช จำกัด ในเวลาต่อมา อีกทั้งยังขยายกิจการไปด้านอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นบริษัทไทยใหม่ จำกัด บริษัทกรุงเทพฯ ประกันภัย จำกัด บริษัทวนการ จำกัด เป็นต้น

ถึงในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (พ.ศ.2480) เล็กตั้งสาขาของบริษัทไทยวานิช จำกัด ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำสินค้าญี่ปุ่นมาขายในไทย และนำสินค้าไทยไปขายที่ญี่ปุ่น จนขายหนังกระบือให้กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นได้ แต่ค้าขายได้ปีเศษ ก็เกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่น การค้ามีอุปสรรค เล็กจึงกลับประเทศไทย

เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาทำให้มีผู้ประสบภัยทางอากาศ เล็กได้ร่วมกับกิจจา วัฒนสินธุ์ นายอำเภอบางรัก หาเงินสมทบทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหล่านั้น โดยติดต่อพ่อค้าญี่ปุ่นจนได้ผลสำเร็จเกินความคาดหมายของทางราชการ ทั้งยังได้ชักชวนเพื่อนพ่อค้าบริจาคเงินช่วยเหลือทหารเป็นก้อนใหญ่อีกด้วย

และในปี 2486 ทางราชการพิจารณาแล้วเห็นว่า เล็ก “ประกอบการขายด้วยสุจริต มีความมานะอดทน และผลงานเจริญงอกงาม เป็นการทำความดีความชอบแก่บ้านเมือง จึงให้เกียรติแต่งตั้งเครื่องแบบ ก.พ.อ. ชั้นพิเศษในทางพาณิชกรรม”



หอการค้าไทย


ต้องไม่ลืมว่าในยุคนั้นมีคนไทยที่ทำการค้าเป็นหลักเป็นฐานไม่กี่คน เชื้อ ชนานพ ตั้งข้อสังเกตว่า ในยุคนั้นไม่มีพ่อค้าไทยคนใดจะรู้เรื่องหอการค้าในต่างประเทศดีเท่าเล็ก เพราะเล็กรู้ภาษาต่างประเทศดี อีกทั้งมีโอกาสไปดูกิจการค้าในต่างประเทศหลายครั้ง จึงนำความรู้เรื่องนี้มาสู่สังคมไทย

เล็กเป็นพ่อค้าคนแรกที่ริเริ่มก่อตั้งหอการค้า (Chamber of Commerce) ขึ้น เพราะเห็นว่าคนไทยขณะนั้นสนใจทำการค้ากันมากขึ้นแล้ว สมควรจะมีหอการค้าสำหรับคนไทย เช่นเดียวกับที่พ่อค้าชาติอื่นๆ รวมตัวกัน เพื่อเป็นสถาบันอำนวยประโยชน์ในด้านความสามัคคี การประสานงานระหว่างรัฐกับพ่อค้าให้เข้าใจกัน ช่วยเหลือกันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกิจการค้าในเวลานั้นถูกบีบคั้นจากอิทธิพลและอำนาจของต่างชาติ

การประชุมหมู่พ่อค้าเพื่อตั้ง ‘หอการค้า’ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2476 ที่บ้านของเล็ก ตรอกกัปตันบุช นั่นเอง โดยตกลงชื่อภาษาอังกฤษกันได้ว่า Siamese Chamber of Commerce ในเวลาต่อมาได้ชื่อ ‘หอการค้าไทย’ จากพระสารสาส์นพลขันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการในรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา

และมีการจดทะเบียนก่อตั้งในรูปสมาคมเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2476 โดยเล็กดำรงตำแหน่งอุปนายก มีพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด) เป็นนายกสมาคมคนแรก

แต่การสร้างหอการค้าขึ้นมานั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก ต้องฝ่าฟันอุปสรรคทั้งด้านการเงิน ที่ทำการ และความยุ่งยากในการเกี่ยวข้องกับราชการ ฯลฯ อย่างไรก็ดี เล็กมิได้ย่อท้อ ตั้งใจอย่างยิ่งที่จะให้กิจการหอการค้าไทยเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับต่างประเทศ จึงร่วมดำเนินงานโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และดำรงตำแหน่งต่างๆ เรื่อยมากว่า 30 ปี

จึงไม่เกินเลยไปนักที่พระยามไหสวรรย์กล่าวไว้ว่า “เล็ก โกเมศ เป็นผู้นำระบบหอการค้าไทยเข้ามาริเริ่มตั้งในประเทศไทย”


อุปนิสัย

ม.ล.ฉอ้าน อิศรศักดิ์ แห่งหนังสือพิมพ์ แนวหน้า เขียนถึงลักษณะของเล็กเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “บุคคลผู้นี้คมทั้งในเชิงการค้าและคมทั้งในเชิงวาจาโวหาร พูดจาติดตลก ล้อคนได้เจ็บๆ ปวดๆ เป็นที่หนึ่ง มีนิสสัยเป็นพ่อค้าแท้จริงเต็มตัว เพราะเป็นนักการเงินที่เฉียบแหลม กล้าเสี่ยงได้เสี่ยงเสีย ถึงเวลาต้องขาดทุนก็ยิ้มรับอย่างหน้าชื่นตาบาน

ในอีกมุมหนึ่ง พระยามไหสวรรย์ เห็นว่าเล็กนั้น “ใจคอกว้างขวาง อารมณ์เบิกบาน เป็นที่ชอบพอรักใคร่แก่มิตรสหายในวงสังคมและวงการค้า รู้จักคบหาเพื่อนฝูงที่ดีมีอุปการะ คบได้ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ วางตนในที่อันควร…อาศัยความอ่อนน้อมถ่อมตน โอนอ่อนอารีตามกาลเทศะและสมัยนิยม…ผู้ใหญ่เกรงใจรักใคร่ชอบพอ

ขณะที่จิตต์ กมลศิริ บรรยายบุคลิกลักษณะของเล็กไว้ว่า “ความสำเร็จทั้งหลายทั้งแหล่ที่ท่านได้รับมานั้น สืบเนื่องมาแต่ความเป็นผู้มีจิตโอบอ้อมอารี มีความสุขุม ไม่ทำงานโดยอารมณ์ และรู้จักรักษาถนอมจิตใจของผู้ร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่เป็นผู้หาความดีใส่ตัวแต่ผู้เดียว เพราะงานทุกอย่างมิอาจสำเร็จได้ด้วยกำลังคนๆ เดียว ด้วยวิธีบริหารงานอย่างมีน้ำใจกว้างขวางเช่นนี้ การงานทั้งหลายที่คุณเล็ก โกเมศ ทำ จึงได้รับความร่วมมืออย่างจริงใจจากทุกๆ ฝ่าย และประสพความสำเร็จด้วยดีตลอดมา

ส่วนจุลินทร์ ล่ำซำ ซึ่งอายุน้อยกว่าเล็กรอบหนึ่งพอดี ประทับใจที่เล็ก “พูดจาเด็ดขาด ทำงานฉับพลัน มีลักษณะน่าเกรงกลัว แต่น่านับถือ…เป็นคนดุก็จริง แต่จิตใจเป็นคนดี และไม่พูดจาอ้อมค้อม” ดังที่จุลินทร์บันทึกเอาไว้ว่า “ท่านเคยพูดเสมอว่า ‘คุณจุลินทร์ คุณเป็นลูกคนมีเงิน ไม่ใคร่รู้ความลำบาก คุณเป็นนักเรียนนอก คุณนึกว่าคุณวิเศษ ขอให้คุณคิดเสียว่า คุณจะต้องเริ่มต้นใหม่ คุณจะต้องนอบน้อมกับคน คุณจะต้องเห็นใจผู้น้อย ต้องคบหาคนทุกชั้น ต้องคอยเชื่อฟังคำผู้ใหญ่ ทำงานให้เป็นระเบียบ และมีใจนักเลง นั่นแหละคุณจะได้ประสบความสำเร็จเป็นพ่อค้าได้คนหนึ่งในอนาคต’


พ่อค้าไทย


จากเอกสารต่างๆ เท่าที่พบนั้น ไม่มีข้อเขียนของเล็กเลย ยกเว้นในปี 2492 ที่เล็กเขียน ‘เรื่องของพ่อค้า’ ลงในหนังสืออนุสรณ์สมาคมพ่อค้าไทย ความตอนหนึ่งถึงพ่อค้าที่ประกอบธุรกิจในเมืองไทยระยะนั้นว่าแบ่งได้เป็น 3 จำพวกด้วยกัน ดังนี้

1. พ่อค้าที่ประกอบการค้าโดยอาศัยอิทธิพล พ่อค้าประเภทนี้มักเที่ยววิ่งเต้นอิงอิทธิพลจากวงการต่างๆ เพื่อช่วยให้การค้าของตนสำเร็จผลดังปรารถนาโดยทุกวิถีทาง

2. พ่อค้าซึ่งประกอบการค้าด้วยใช้เล่ห์เหลี่ยมต่างๆ ประเภทนี้ได้แก่พ่อค้าผู้ฉวยโอกาสและใช้กลอุบายปนปลอมสินค้า ค้ากำไรเกินควร หนีภาษี เพื่อเอากำไรให้ได้มากๆ และไม่คิดถึงผลเสียหายของส่วนรวม

3. พ่อค้าที่ประกอบการค้าด้วยความเที่ยงตรงตามยะถากรรมแล้วแต่โชคและโอกาสจะอำนวย พ่อค้าประเภทนี้อาภัพ และน่าเป็นพวกที่จะต้องส่งเสริม เพื่อผดุงไว้ซึ่งรากฐานแห่งการค้าในวิถีทางอันชอบธรรม

ซึ่งน่าคิดว่า ในปัจจุบันนี้ เรายังคงแบ่งประเภทพ่อค้าได้เช่นนี้ หรือว่าน้อยกว่านี้ หรือมากกว่านี้กันแน่?


อุดมคติทางการค้า


อันที่จริงการค้าขายไม่เป็นของยากอะไรนัก และไม่จำเป็นต้องมีความรู้เป็นยอดเยี่ยมอย่างใด หากแต่งานค้าขายเป็นงานของคนขยัน พยายามทำงานของตนด้วยความอุตสาหะ หูไวตาไว สามารถรู้งานที่ตนทำอย่างถ่องแท้และจริงจังในกิจการงานของตนเท่านั้นเป็นอันใช้ได้” นี่เป็นทัศนะของเล็กต่อการค้าขายที่เขามาทำมาชั่วชีวิต

และมีคติพจน์ว่า “ความขยันต่อหน้าที่การงาน และความหมั่นเพียรในการศึกษาเพิ่มเติมเสมอๆ ย่อมนำมาแต่ความก้าวหน้าและเจริญรุ่งเรืองมาสู่

แม้ชีวิตของเล็ก โกเมศ จะจบลงไปแล้วตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2505 แต่ผลงานที่เขาได้สร้างไว้ก็ยังคงอยู่สืบมาในปัจจุบัน


อนุสรณ์งานศพ 5 เล่มของเล็ก ที่เจ้าภาพ และหน่วยงานต่างๆ พิมพ์แจก


บรรณานุกรม

  • ปกิณกะ. พิมพ์เป็นบรรณาการเนื่องในงานฌาปนกิจศพ นายเล็ก โกเมศ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 2505.
  • เล็ก โกเมศ อนุสรณ์. หอการค้าไทยพิมพ์ชำร่วยในวาระฌาปนกิจศพ นายเล็ก โกเมศ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 5 พฤษภาคม 2505.
  • ท่านพุทธทาสภิกขุ. ทางเดินของชีวิต. สมาคมนักเรียนเก่าพณิชยการพิมพ์แจกเป็นธรรมบรรณการในงานฌาปนกิจศพ นายเล็ก โกเมศ (นายกคนที่ 2 ของสมาคม) ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม 5 พฤษภาคม 2505.
  • พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน. พระธรรมเทศนา. พิมพ์เป็นบรรณาการเนื่องในงานฌาปนกิจศพ นายเล็ก โกเมศ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 2505.
  • ส.อ.ษ. ตำราอาหารแบบใหม่. สมาคมพ่อค้าไทย (ในพระบรมราชูปถัมภ์) พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายเล็ก โกเมศ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 5 พฤษภาคม 2505.
  • เอนก นาวิกมูล. พ่อค้าไทย ยุค 2480 เล่ม 1. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2557, หน้า 200-207.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save