fbpx

ปรมาจารย์กฎหมาย กับ รัฐธรรมนูญไทย

ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยชาวไทยมักกล่าวขานเฉพาะตัวละครฉากหน้า ผู้ลากอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าห้ำหั่นชิงกระทำการรัฐประหาร แต่ด้านหลังฉากคณะมือกฎหมายมักไม่เป็นที่กล่าวขานถึงมากนัก บทความนี้จะนำผู้อ่านมาทำความรู้จักกับปรมาจารย์มือฉมังในอดีตผู้มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศคือ ‘รัฐธรรมนูญ’


ก่อนการมาถึงของระบอบประชาธิปไตย ทีมร่างรัฐธรรมนูญคณะ ร.ศ.130[1]


ภาพหมู่คณะ ร.ศ.130 ถ่ายในงานเมรุผู้สละชีพเพื่อรัฐธรรมนูญ ต้น พ.ศ.2477 (คณะนี้ 19 ชีวิตอยู่ทันได้เห็นความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475


“กุติเนรชิตนะวัดบวรนิเวสนั้นเล่าก็เปนที่ทำงานของ ‘สรีสุวรรน’ โดยเหตุที่ว่าเงียบสงัดและมิดชิดไม่มีผู้ไดพลุกพล่าน ‘สรีสุวรรน’ จึงเลือกเปนที่แปลและเรียบเรียงคอนสติติวชั่นลอว์เปนรัถธัมนูญภาสาไทย”[2] ชิต บุรทัต

ความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยกำลังทหารครั้งแรกแต่ประสบความล้มเหลวในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เกิดขึ้นจากคณะนักเรียนนายร้อยเฉพาะที่ถูกจับดำเนินคดีจำนวนเกือบหนึ่งร้อยนาย ครั้งนั้นนายร้อยโท จรูญ ณ บางช้าง (พ.ศ.2431-2494) รองหัวหน้าผู้ก่อการ คือนายทหารมากความสามารถระดับสอบได้เนติบัณฑิต รับราชการเป็นนายทหารประจำกรมพระธรรมนูญ และเป็นครูสอนวิชาปืนกล ทั้งยังเปิดสำนักทนายความชื่อว่า ‘อนุกูลคดีกิจ’

หน้าที่หลักของนายร้อยท่านนี้ในคณะ ร.ศ.130 คือรับผิดชอบด้านจัดแผนเกี่ยวกับ กฎหมาย, การเงิน,โครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ และการต่างประเทศ  เรียกได้ว่าเป็นแกนนำระดับ ‘มันสมอง’ ที่พอจะเทียบได้กับ ‘ปรีดี พนมยงค์’ ของคณะ 2475 ที่ก่อการสำเร็จในอีกสองทศวรรษต่อมา


ร.ท.จรูญ ณ บางช้าง รองหัวหน้าคณะ ร.ศ.130


คณะ ร.ศ.130 มีพลเรือนถูกดำเนินคดีจำนวน 4 คน ทั้งหมดมาจากกระทรวงยุติธรรมและสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมาย มีเพียงคนเดียวที่ติดคุกในคดีนี้คือ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา[3]  ส่วนผู้ที่รอดจากการติดตาราง 3 คนต่อมาล้วนเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานถึงระดับได้รับบรรดาศักดิ์ เช่น นายเซี้ยง ได้รับนามสกุล ‘สุวงศ์’ บรรดาศักดิ์สุดท้ายที่ ‘พระยารามบัณฑิตสิทธิเศรณี (พ.ศ.2431-2475)’[4] หรือ นายเปล่ง ได้รับนามสกุล ‘ดิษยบุตร’ และบรรดาศักดิ์เป็น ‘หลวงนัยวิจารณ์ (พ.ศ.2433-2473)’[5] และ นายน่วม ได้รับนามสกุล ‘ทองอินทร์’ ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็น ‘พระพินิจพจนาตถ์’

ประโยคจากย่อหน้าข้างต้นที่ว่า “เรียบเรียงคอนสติติวชั่นลอว์เปนรัถธัมนูญภาสาไทย” ฉบับที่ยอดมหากวีชิต บุรทัต (พ.ศ.2435-2485)[6] พูดถึง สันนิษฐานว่าคือ ‘The Elements of English Constitutional History : From The Earliest Times to The Present Day’  (แปลเป็นไทยว่า ‘องค์ประกอบของประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญอังกฤษ’) โดย Montague, Francis Charles (ค.ศ.1858-1935)[7]


รัฐธรรมนูญยุคคณะราษฎร  ‘พ.ศ.2475-2490’


ประเทศสยามเปลี่ยนผ่านจากระบอบจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตยสำเร็จเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ด้วยกลุ่มบุคคลที่เรียกตัวเองว่า ‘คณะราษฎร’ ผู้ที่เป็น ‘มันสมอง’ ฝ่ายกฎหมายของคณะนี้ คือ นายปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ.2443-2526) นักศึกษาทุนฝรั่งเศส ปริญญาเอกสาขานิติศาสตร์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีสในปี 2469 เขาเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ปริญญาเอกแห่งรัฐ (doctorat d’état) เป็น ‘ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย’ (docteur en droit) ฝ่ายนิติศาสตร์ (sciences juridiques)

มันสมองผู้นี้คือหัวเรือหลักในการสร้างรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับระหว่างที่ครองอำนาจนำในสังคมไทยระหว่าง พ.ศ.2475-2490 กล่าวคือ 1.พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475  2.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 3.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 (ภาพจาก ผศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์)


ผู้เขียนยังจดจำเมื่อครั้งวาระครบ 83 ปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2558 ว่าได้เข้าร่วมรับฟังงานเสวนาในหัวข้อ ‘ปรีดี พนมยงค์ กับรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับที่ท่านเกี่ยวข้อง’ ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ บนเวทีนี้อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หนึ่งในวิทยากรแสดงทัศนะต่อรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยอาจารย์ปรีดีไว้ได้อย่างลุ่มลึกและกระชับอย่างถึงที่สุด สำนักข่าวประชาไทได้เรียบเรียงความเห็นครั้งนั้นไว้ อันเห็นสมควรยกบางย่อหน้าสำคัญมาเสนอไว้ดังต่อไปนี้

“วรเจตน์มองว่ารัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับนี้กำหนดช่วงเวลาชีวิตการที่โลดแล่นอยู่ในวงการการเมืองของปรีดีหรือวรเจตน์เรียกว่า ‘ผู้ประศาสน์การ’ โดยเปิดฉากด้วยรัฐธรรมนูญฉบับแรก 2475 และปิดฉากลงด้วยรัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญปี 2489 ก็เป็นการสิ้นสุดลงของอำนาจทางการเมืองของผู้ประศาสน์การด้วย  วรเจตน์มองว่ารัฐธรรมนูญที่ปรีดีได้ผลักดันทั้งความคิด ความเชื่อ ความฝันมากที่สุดคือรัฐธรรมนูญฉบับแรกซึ่งวรเจตน์เรียกว่า ‘ปฐมรัฐธรรมนูญ’ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้บรรจุความคิดฝันของคนหนุ่มในวัย 32 ซึ่งวรเจตน์มองว่ามาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่บอกว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย” เป็นประโยคที่ไพเราะที่สุด…

“วรเจตน์กล่าวต่อว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญถาวรฉบับ 2475 มีโครงสร้างที่มีความสมบูรณ์มากกว่าพระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองสยามชั่วคราว และเป็นการประนีประนอม จะเรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสมานฉันท์ก็พอได้ จนกระทั่งผลักดันให้มีการแก้ไขครั้งที่ 2 ถ้าเทียบในแนวคิดโดยเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2489 นั้นจะพบว่าฉบับ 2489 มีความสมบูรณ์และมีความก้าวหน้ามากกว่าบรรดารัฐธรรมนูญถาวรทั้งหมด วรเจตน์ระบุว่าชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่สุดเพราะมีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด


‘รัฐบุรุษอาวุโส’ ปรีดี พนมยงค์ กับ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 (ภาพจากสถาบันปรีดีฯ)


“วรเจตน์กล่าวเสริม สาเหตุที่เราพูดถึงรัฐธรรมนูญสามฉบับ เพราะถ้าเราดูจากประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ปี 2490 ถือว่าเป็นจุดตัดสำคัญที่เปลี่ยนแปลงเหตุการณ์การเมืองไทย จากรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับที่ผู้ประศาสน์การมีส่วนในการทำจะมากจะน้อยลดหลั่นกันไป ถ้าพูดถึงขนาดทั้งสามฉบับไม่มีความยาวเกินร้อยหน้า แต่รัฐธรรมนูญที่มีความยาวเกินขนาดเกิดหลังรัฐประหารของพลโท ผิน ชุณหะวัน ปี 2490 พูดง่ายๆ คือหลังปี 2490 แล้วเราไม่เคยย้อนอุดมการณ์ความคิดของเรากลับไปก่อนปี 2490 ได้อีกเลย สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องสวนทางกับรัฐธรรมนูญอย่างน้อยสามฉบับแรกและตอนนั้นผู้ประศาสน์การได้หมดบทบาทลงแล้ว และนำมาซึ่งการโค่นล้มอำนาจของคณะราษฎรในเดือนพฤศจิกายนในปี 2490 นั้นเอง”[8]


รัฐธรรมนูญที่หายไปจาก 4 สถาบันหลัก
‘ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และ ???’


“ผู้เผด็จการที่ไหนจะพยายามสร้างงานซึ่งเชิดชูประชาธิปไตยไว้มากมายเท่าผม อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็ผม ถนนประชาธิปัตย์สายยาวที่สุดในเมืองไทยก็ผม ต้นคิดให้วิทยุอ่านรัฐธรรมนูญเป็นมาตราๆ ไปก่อนเริ่มรายการอื่นทุกคืนก็ผม เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญก็ผม”[9]

ประโยคข้างต้นจอมพล ป. พิบูลสงคราม กล่าวตัดพ้อกับมาลัย ชูพินิจ ในยามตกอับพำนักอยู่บ้านลำลูกกาเพียงไม่กี่วันก่อนถูกดำเนินคดีข้อหาอาชญากรสงครามเมื่อเดือนตุลาคม 2488 จึงแน่นอนว่า ‘ให้วิทยุอ่านรัฐธรรมนูญ’ ที่จอมพล ป. เอ่ยถึงคือรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ซึ่งในระยะนั้นยังคงบรรจุอยู่ในชุด 4 สถาบันหลัก คือ ‘ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และ รัฐธรรมนูญ’


ปกหนังสือที่ระลึกสมัยคณะราษฎร ปรากฏสัญลักษณ์ 4 สถาบันหลัก


ความสำคัญของ ‘รัฐธรรมนูญ’ กล่าวได้ว่าตกหล่นหายไปพร้อมกับอำนาจของผู้นำคณะราษฎร และการทยอยฟื้นคืนชีพของกลุ่มอนุรักษนิยมนับจากพุทธทศวรรษ 2490 จวบจนถึงปัจจุบัน


3 เจเนอเรชัน ‘ปรมาจารย์กฎหมายแห่งการรัฐประหาร’
พ.ศ.2492-2560


นับจากการสิ้นสุดอำนาจของปรีดีและคณะด้วยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 รัฐธรรมนูญฉบับที่อาจารย์วรเจตน์ว่า ‘ชอบที่สุด’ ถูกฉีกทิ้งและแทนที่ด้วยฉบับ ‘ใต้ตุ่ม’ ของหลวงกาจสงคราม ต่อมาอีกเพียงสองปีเมื่อ พ.ศ.2492 จึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเชื้อเชิญเทคโนแครตด้านกฎหมายเข้าร่วมงาน หรือในปัจจุบันนิยมเรียกกันว่า ‘เนติบริกร’  อันเป็นคำที่สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลสมัยทักษิณ ชินวัตร เมื่อ พ.ศ.2545 บัญญัติใช้ขึ้น โดยมอบเป็นฉายาไว้แด่นายวิษณุ เครืองาม ด้วยเหตุผลว่าเป็น ‘มือกฎหมาย’ ผู้มีความสามารถเป็นเลิศในการ ‘พลิกแพลง’ ใช้กฎหมายให้รัฐบาลมีความชอบธรรม และได้เปรียบฝ่ายตรงข้าม[10]

ในอีกแง่หนึ่ง วิษณุ เครืองาม เคยเปรียบเปรยตำแหน่งที่ประจำอยู่กับระบบขุนนางระบอบเก่าไว้ว่า “ผมเคยนึกครึ้มอกครึ้มใจเหมือนกันในฐานะเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีบังคับบัญชาสำนักอาลักษณ์ที่ว่า นี่ถ้าเป็นเมื่อก่อน ผมคงได้เป็นพระยาศรีภูริปรีชาหรือพระยาศรีสุนทรโวหารไปแล้ว อย่างน้อยๆ ก็เป็น ‘สุนทรณุ’ ละ ทำเป็นเล่นไป!”[11]

ด้านพลวัตของรัฐธรรมนูญไทยนับจากรัฐประหาร พ.ศ.2490 ถึง พ.ศ.2540 ผู้เขียนพบว่าหนังสืออนุสรณ์งานศพที่สามารถฉายฉากทัศน์เบื้องหลังการร่างรัฐธรรมนูญได้ดีเยี่ยมที่สุด เป็นของปรมาจารย์นักกฎหมาย  2 ท่าน คือ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ และศาสตราจารย์ ดร.สมภพ โหตระกิตย์  จึงขอประมวลความร้อยเรียงถ่ายทอดผ่านบทความชิ้นนี้[12]


พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์ พ.ศ.2438-2520)


“ท่านไม่ใช่นักกฎหมายธรรมดา (Lawyer) แต่เป็นนักนิติศาสตร์ (Jurist) ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของเมืองไทยซึ่งหาผู้เสมอเหมือนได้ยาก” บุญชนะ อัตถากร


พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์)


พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์) เกิดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2438 ที่ตำบลวัดทอง คลองบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี จบการศึกษาสามัญจากโรงเรียนเทพศิรินทร์  ต่อมาในปี 2460 สอบได้เนติบัณฑิต จากโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม เมื่อเข้ารับราชการได้เลือกสายงานด้านอัยการ มีความเจริญก้าวหน้าบรรดาศักดิ์ได้รับราชทินนามว่า ‘อรรถการีย์นิพนธ์’ ทุกลำดับนับจากชั้น หลวง พ.ศ.2463 พระ พ.ศ.2469 และพระยา พ.ศ.2473 ตามลำดับ อนึ่ง ผู้ที่คิดนามบรรดาศักดิ์ของข้าราชการในกรมอัยการสมัยนั้นคือ คุณหลวงอรรถปราโมทพงศ์พิสุทธิ์ (เปลื้อง ปราโมจนีย์)[13]

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี 2477 พระยาอรรถการีย์ฯ ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมอัยการ กระทั่งถึงปี 2488 ได้เลื่อนขึ้นถึงระดับปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านตำแหน่งทางการเมือง ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทั้งสิ้น 4 วาระ คือ พ.ศ.2491 (ครั้งที่ 1) พ.ศ.2501 (ครั้งที่ 2) พ.ศ.2502-2506 (ครั้งที่ 3) และ พ.ศ.2506-2512 (ครั้งที่ 4)

ตำแหน่งหน้าที่ทางสภานิติบัญญัติ เมื่อ พ.ศ.2491 รับตำแหน่งรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศเป็นประธาน) ซึ่งผลิดอกออกผลเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2492

ด้านวิชาชีพส่วนตัว หลังสงครามยุติเมื่อ พ.ศ.2489 พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ได้ร่วมจัดตั้งสำนักงานทนายความกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช[14] ภายหลังพระยาอรรถการีย์ฯ ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 เสร็จสิ้นในยุคสองของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เนื้อหาในอนุสรณ์งานศพเล่าถึงประวัติช่วงนี้ไว้ว่า ระหว่าง พ.ศ.2492 ถึง พ.ศ.2501 พระยาอรรถการีย์นิพนธ์มิได้ดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการประจำหรือข้าราชการการเมืองใดๆ แต่ประกอบวิชาชีพส่วนตัวเป็นทนายความ มีสถานที่ทำการขึ้นที่อาคารถนนราชดำเนินชื่อว่า ‘สำนักงานทนายความเสนีย์อรรถการีย์’

ต่อมาเมื่อพระยาอรรถการีย์นิพนธ์ได้เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองใหม่ เมื่อ พ.ศ.2501 จึงได้ถอนตัวออกจากการเป็นทนายความ และขอออกจากสำนักงานทนายความ ‘เสนีย์อรรถการีย์’ จึงเหลือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว และสำนักงานก็ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นสำนักงานทนายความ ‘เสนีย์ ปราโมช’[15]


ประธานที่ปรึกษาด้านกฎหมายของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

“ท่านเป็นยอดนักคิดคนหนึ่ง กระผมชอบงานของท่าน เพราะสั้น และกะทัดรัด แต่มีความหมายดีเหลือเกิน เท่าที่ได้ทราบจากท่านผู้รู้ ซึ่งได้ร่วมงานมากับท่าน ภาษาและถ้อยคำในร่างธรรมนูญปกครองชั่วคราวฉบับ 2502 ส่วนใหญ่มาจากท่าน และยังใช้ได้ดีอยู่ วงการนิติศาสตร์ได้สูญเสียปรมาจารย์ทางกฎหมายไปอีกหนึ่งท่าน…”  ประเทือง กีรติบุตร


พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ และ จอมพลสฤษดิ์ รับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ.2506


พลโทอัมพร จินตการนนท์ เผยเบื้องหลังการเข้าร่วมงานกับจอมพลสฤษดิ์ของพระยาอรรถการีย์นิพนธ์ ไว้อย่างมีสีสันไว้ในคำไว้อาลัยว่า “จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติเมื่อ 16 กันยายน 2500 และ 20 ตุลาคม 2501 ซึ่งมีท่านจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นผู้นำ…ข้าพเจ้าได้รับบัญชาจากท่านหัวหน้าคณะปฏิวัติ ให้เสนอนามผู้ทรงคุณวุฒิ ในทางนิติศาสตร์ต่อท่านเพื่อคัดเลือกเป็นกรรมการ ข้าพเจ้าเสนอนามเจ้าคุณอรรถการีย์นิพนธ์เป็นคนแรก…ท่านจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติเลือกท่านเจ้าคุณอรรถการีย์นิพนธ์และขอให้เป็นประธานกรรมการด้วย พร้อมกับบุคคลอื่นอีกประมาณ 10 ท่าน…

“ข้าพเจ้าก็ได้เสนอเอกสารที่ได้รับมอบจากท่านหัวหน้าคณะปฏิวัติต่อคณะกรรมการ เอกสารเหล่านั้นก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับของ กามาล อับเดล นัสเซอร์ แห่งอียิปต์และของท่านพลเอก ชาลส์ เดอโกล แห่งฝรั่งเศส ซึ่งได้รับประกาศใช้ในประเทศทั้งสองก่อนการปฏิวัติครั้งนี้ไม่นาน

“ท่านเจ้าคุณอรรถการีย์นิพนธ์และคณะกรรมการฝ่ายกฎหมาย ได้ศึกษารัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับอย่างถี่ถ้วน ซึ่งมีแนวบริหารทำนองเดียวกัน แล้วได้จัดการยกร่างขึ้นโดยให้ชื่อว่า ‘ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร’ ไม่ใช้คำว่า ‘ชั่วคราว’ ครั้งมาถึงมาตรา 17 ซึ่งจะให้อำนาจเด็ดขาดแก่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการได้มีการโต้เถียงและอภิปรายกันมาก ท่านเจ้าคุณอรรถการีย์นิพนธ์ ประธานกรรมการได้แสดงทัศนะของท่านว่า โดยปกติกฎหมายที่ให้อำนาจเด็ดขาดเช่นนี้ไม่ควรจะมี เพราะจะเป็นทางให้รัฐบาลเผด็จการได้ แต่ถ้าจะเขียนให้รัดกุมและกำหนดขอบเขตที่จะใช้อำนาจนี้อย่างจำกัด และเป็นการชั่วคราวแล้ว ท่านก็ไม่คัดค้าน คณะกรรมการจึงขอให้ท่านเป็นผู้ยกร่างมาตรา 17 นี้ขึ้น…

“งานสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ท่านเจ้าคุณอรรถการีย์นิพนธ์ ได้รับแต่งตั้งจากสภาฯ ให้เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมาได้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเมื่อ พ.ศ.2511”[16]

นอกเหนือจากงานด้านนิติบัญญัติดังกล่าวในฐานะประธานที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย ด้านบริหารราชการแผ่นดิน จอมพลสฤษดิ์ยังมอบตำแหน่ง ‘รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม’ ให้อีกด้วย พลโทอัมพรเขียนถึงกรณีนี้ไว้ว่า

“ครั้นถึงกระทรวงยุติธรรม ข้าพเจ้าเสนอนามท่านเจ้าคุณอรรถการีย์นิพนธ์ หลายคนในที่ประชุมนั้นรับรอง แต่ก็มีบางท่านกล่าวว่า ท่านเป็นพวกประชาธิปัตย์และได้เสนอชื่อคนอื่น ท่านจอมพลสฤษดิ์ ตัดบทว่า เรามีหลักการว่าจะสรรหาคนดีมีวิชา มีคุณวุฒิโดยไม่เลือกพรรคไหนพวกไหนให้มาร่วมกันทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง…แล้วข้าพเจ้าก็ได้รับคำสั่งให้ไปเชิญ ท่านเจ้าคุณอรรถการีย์นิพนธ์มารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ข้าพเจ้าไปหาท่านที่บ้านและเรียนให้ทราบถึงเรื่องนี้ ท่านก็ซักไซ้ไล่เลียงข้าพเจ้าอยู่นาน และเมื่อท่านได้ทราบชื่อบุคคลที่จะเป็นรัฐมนตรีร่วมคณะแล้ว ท่านก็ตกลงใจจะไปพบกับท่านจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ในวันรุ่งขึ้น หลังจากนั้นก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ซึ่งบังเอิญมีข้าพเจ้าติดร่างแหไปด้วย”[17]

จอมพลถนอม กิตติขจร ร่วมบันทึกคำไว้อาลัยต่อพระยาอรรถการีย์นิพนธ์อันมีใจความสำคัญบางตอนไว้ว่า “พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ เป็นผู้ใหญ่ที่ข้าพเจ้ามีความเคารพรักมากผู้หนึ่ง ข้าพเจ้าได้เชิญเข้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในสมัยที่ข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อ 1 มกราคม 2501…หลังการปฏิวัติเมื่อ 20 ตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้เชิญพระยาอรรถการีย์นิพนธ์เข้ามาร่วมรัฐบาล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอีก และเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงอสัญกรรมแล้ว ข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านก็ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเดิมต่อไป ทั้งจอมพลสฤษดิ์และข้าพเจ้าได้รับความเบาใจทางด้านกฎหมายเป็นอย่างมาก ท่านเป็นหัวแรงสำคัญยิ่งผู้หนึ่งในการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2511 ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อกุมภาพันธ์ 2512 แล้ว ข้าพเจ้าได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ได้ตั้งใจจะเชิญท่านเข้าร่วมรัฐบาลอีก แต่ท่านขอตัวเพราะอายุกว่า 70 ปีแล้ว และสุขภาพไม่ค่อยดี”[18]

พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์) ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2520 หรือเพียงสองวันก่อนครบรอบวันเกิดอายุ 82 ปี ในภาพใหญ่ ปลายปีนั้น รัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ถูกรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 โดยคณะของพลเรือตรีสงัด ชลออยู่ ที่มีสมภพ โหตระกิตย์ ศิษย์เอกของพระยาอรรถการีย์ฯ ร่วมงานในฐานะประธานฝ่ายกฎหมาย

ภายในอนุสรณ์งานศพของพระยาอรรถการีย์ฯ ขณะนั้นสมภพดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในรัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ เขาได้เขียนคำไว้อาลัยที่เล่าถึงเกร็ดเรื่องราวที่เขาและอาจารย์ร่วมงานกันไว้นับสิบหน้า ดังปรากฎความสำคัญบางย่อหน้าว่า “เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ ผู้เขียนขอกราบรำลึกถึงพระคุณท่านเจ้าคุณอรรถการีย์นิพนธ์ที่ได้เคยเมตตาให้ความรู้ในการร่างรัฐธรรมนูญและการร่างกฎหมายอื่นมากมายหลายประการ และขอบูชาพระคุณท่านด้วยการน้อมรำลึกถึงผลงานที่สำคัญของท่านในฐานะที่เคยได้นั่งใกล้ชิดกับท่านในฐานะเลขานุการคณะที่ปรึกษากฎหมายบ้าง และเลขานุการคณะกรรมการร่างกฎหมายบ้างและทำให้นึกเห็นภาพของท่านที่กำลังเขียนร่างบทบัญญัติของกฎหมายต่างๆ ออกมาเป็นตัวอักษรด้วยความรวดเร็ว” [19]

นอกจากนี้ สมภพยังเรียบเรียงประวัติในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิวัติเมื่อ พ.ศ.2500 และ พ.ศ.2501 ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ในหัวข้อเรื่อง ‘พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ผู้ร่างธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร และผู้สร้างมาตรา 17’ ดังบรรจุใจความสำคัญบางตอนไว้ว่า

“พระยาอรรถการีย์นิพนธ์กับการจัดทำร่างประกาศของคณะปฏิวัติ บรรดาประกาศของคณะปฏิวัติที่มีผลบังคับเป็นกฎหมาย ในระหว่างการใช้อำนาจปฏิวัติตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2501 จนถึงวันที่ 28 มกราคม 2502 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร กล่าวได้ว่าส่วนใหญ่เป็นผลงานของท่านเจ้าคุณอรรถการีย์นิพนธ์ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษากฎหมายของหัวหน้าคณะปฏิวัติ และในการปฏิวัติเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514 และ 20 ตุลาคม 2521 กฎหมายที่ประกาศใช้ในระหว่างการปฏิวัติดังกล่าวก็ใช้ชื่อว่าประกาศของคณะปฏิวัติ และเลียนแบบประกาศของคณะปฏิวัติที่ได้เคยใช้เรื่องการปฏิวัติ พ.ศ.2501”[20]


ศาสตราจารย์ ดร.สมภพ โหตระกิตย์  (พ.ศ.2461-2540)
กับ ศิษย์เอก นายมีชัย ฤชุพันธุ์ (พ.ศ.2481-ปัจจุบัน)


 

สมภพ โหตระกิตย์  เกิดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2461 ที่ตำบลคลองต้นไทร อำเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี ประวัติการศึกษา พ.ศ.2471 จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2487 ได้รับปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จนถึงปี พ.ศ.2498  สมภพสำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดที่ดุษฎีบัณฑิต Docteur en Droit (Mention Bien) มหาวิทยาลัย Université de Paris

ภายหลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2501 สมภพเข้าร่วมในคณะที่ปรึกษากฎหมายของนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง นับจากรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม และนายสัญญาเมื่อ พ.ศ.2517 ครั้นถึงปี พ.ศ.2522 ได้กลับมาอีกครั้ง โดยได้รับความไว้วางใจระดับขึ้นเป็นประธานคณะที่ปรึกษากฎหมายของนายกรัฐมนตรียุคของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

ระหว่างนี้ เขายังได้ครองตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรมระหว่างช่วงคาบเกี่ยวเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 โดยดำรงตำแหน่งนี้ครั้งแรกในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2515 และต่อมาในสมัยรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ระหว่างปี พ.ศ.2516-17 จนเมื่อพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมภพได้รั้งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีถึงสามปีระหว่างวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2520 – 11 มกราคม พ.ศ.2523

ด้านนิติบัญญัติ สมภพเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2511 โดยพ่วงตำแหน่งเลขานุการ[21] (ใช้เวลาร่างราว 10 ปี นับจากรัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ.2501) และได้เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในปีประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ.2511  ภายหลังเหตุการณ์มหาวิปโยค 14 ตุลาฯ 2516 สมภพได้กลับมาเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งในสมัยรัฐบาลนายสัญญา[22]   

ศาสตราจารย์ ดร.อักขราทร จุฬารัตน บันทึกคำไว้อาลัยในอนุสรณ์งานศพของสมภพเมื่อ พ.ศ.2540 ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการกรรมการกฤษฎีกา ไว้ว่า “ท่านเป็นนักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีชื่อเสียงอันดับหนึ่งของประเทศ มีบทบาทอย่างสำคัญในการจัดทำรัฐธรรมนูญของประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 จนปัจจุบันทุกฉบับ (ยกเว้นฉบับนายกธานินทร์ พ.ศ.2519-ผู้เขียน) จึงเป็นที่น่าเสียดายที่ท่านต้องมาจากไปก่อนเวลาอันสมควร โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่บ้านเมืองกำลังมีปัญหาอย่างมากในการจัดทำรัฐธรรมนูญอยู่ขณะนี้ (รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540-ผู้เขียน)”[23]  


ฉากหวาดเสียวของ ‘ศิษย์-อาจารย์’ ณ รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ.2520

ประเทือง กีรติบุตร อดีตอธิบดีกรมอัยการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สรุปความถึงสมภพในคำไว้อาลัยย่อหน้าท้ายๆ ไว้ว่า “ท่านศาสตราจารย์ สมภพ โหตระกิตย์ ได้ผ่านงานทั้งโลดโผนและหวาดเสียวมามาก แต่ท่านก็สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างให้สำเร็จไปด้วยดีเสมอ”[24]

หนึ่งในงาน ‘โลดโผนและหวาดเสียว’ ดังว่าของประเทืองได้รับการบรรยายไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานศพในคำไว้อาลัยของศิษย์เอก นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ไว้ดังนี้ว่า

“วันหนึ่งเวลาประมาณเที่ยงเศษ ในเดือนตุลาคม 2520 ในขณะที่ท่านรองฯสมภพกำลังรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับข้าราชการ ที่ศาลาท่าน้ำ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ท่านอดีตอธิบดีอัยการ คุณประเทือง กีรติบุตร ได้ขับรถแวะมาและขอคุยกับท่านเป็นการส่วนตัว พูดคุยซุบซิบกันอยู่ครู่หนึ่ง ท่านก็เดินกลับมาบอกพวกเราว่าท่านจะออกไปข้างนอก และสั่งให้ผมตามท่านไปด้วย

เมื่อจะออกรถท่านจึงกระซิบบอกให้ขับตามท่านเข้าไปในสนามเสือป่า ผมก็ตามท่านเข้าไป พอไปถึงจึงพบว่ามีทหารเดินกันขวักไขว่ เราถูกนำไปยังห้องๆ หนึ่ง ซึ่งมีพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พลเอกเสริม ณ นคร พลเอกยศ เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา และพลเรือเอกกวี สิงหะ ส่วนตำรวจก็มีพลตำรวจเอกมนต์ชัย พันธุ์คงชื่น นั่งกันอยู่พร้อมหน้า ได้มีการบอกกล่าวว่าบ้านเมืองกำลังลำบากและคณะทหารกำลังดำเนินการยึดอำนาจ ขณะนั้นได้ส่งกำลังทหารออกไปยึดสถานที่สำคัญๆ แล้ว เวลาประมาณ 18.00 น. จะได้ประกาศให้ประชาชนทราบ ขอให้ฝ่ายพลเรือนซึ่งมีท่านรองฯ สมภพและคุณประเทืองร่วมกันร่างแถลงการณ์และเตรียมการต่างๆ ตามที่จำเป็น ซึ่งท่านรองฯสมภพก็สั่งให้ผมดำเนินการ

หลังจากที่สอบถามจนได้ความกระจ่างถึงสาเหตุและวัตถุประสงค์ในการยึดอำนาจแล้ว ผมจึงลงมือร่างให้ ในขณะที่กำลังร่างอยู่นั้น ผมรู้สึกถึงอาการผิดปกติขึ้นในห้อง มีการพูดคุยกันเสียงดังขึ้นทุกที ได้ยินเสียงพลเรือเอกสงัดพูดอย่างฉุนเฉียวว่า ‘ถ้าอย่างนั้นก็เลิกทำ เรียกกลับกันมาให้หมด แล้วต่างคนต่างกลับบ้าน’ ผมได้ยินดังนั้นก็หยุดทำงานและหันไปดูว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ได้ยินเสียงใครคนหนึ่งพูดว่า ‘ใจเย็นๆ ไว้ก่อน’ และนายทหารผู้ใหญ่หลายคนก็เดินออกจากห้องไปคงเหลือแต่พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ นั่งอยู่ในห้อง กับพวกเราฝ่ายพลเรือนเท่านั้น ผมกระซิบถามคุณประเทืองว่าเกิดอะไรขึ้น ท่านก็กระซิบบอกว่าเกิดมีปัญหากันนิดหน่อยกับกลุ่มนายทหารหนุ่มๆ ที่ถูกส่งออกไปยึดสถานที่ราชการ โดยนายทหารเหล่านั้นต้องการความแน่ใจว่าเมื่อยึดอำนาจแล้วใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี นัยว่าพวกเขาไม่ต้องการให้พลเรือเอกสงัด ชลออยู่เป็นนายกรัฐมนตรี

คุณประเทืองกระซิบบอกแล้วก็เดินไปหน้าแท่นบูชาซึ่งมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่หลายองค์และนั่งสวดมนต์พึมพำอยู่ พลตำรวจเอกมนต์ชัยก็เดินไปนั่งสวดมนต์ด้วยเช่นกัน ส่วนท่านรองฯ สมภพ นั่งอยู่ห่างๆ สำหรับผมซึ่งนั่งอยู่หน้าโต๊ะพิมพ์ดีดก็ได้แต่ยกมือกำพระที่ห้อยคออยู่ พร้อมกับนึกว่าถ้าจะเกิดอะไรขึ้นก็ปล่อยให้เกิดไป ที่มาทำงานครั้งนี้ก็เป็นการทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา มิได้มีความทะเยอทะยานอะไรในทางการเมืองกับเขาเลย ประมาณครึ่งชั่วโมงต่อมาบรรดานายทหารที่เดินออกไปก็กลับมาและเชิญพลเรือเอกสงัดฯ ออกไปด้วย หายกันไปอีกครู่หนึ่งจึงกลับมาพร้อมกัน พร้อมกับบอกว่าทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ผมจึงทำงานของผมต่อไปจนแล้วเสร็จ

ท่านรองฯ สมภพ เล่าให้ฟังในภายหลังว่าในขณะที่เกิดความไม่แน่นอนขึ้นนั้น ท่านเองไม่ได้ห่วงตัวเองนัก เพราะท่านมาตามคำชวนของคุณประเทือง (ซึ่งคงจะได้รับมอบหมายมาจากฝ่ายทหารอีกต่อหนึ่ง) เป็นการตัดสินใจของท่านเอง หากจะเกิดอะไรขึ้นท่านก็พร้อมที่จะรับผลนั้น ท่านเป็นห่วงแต่ผม ซึ่งไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรกับเขา ท่านสั่งให้ไปก็ไปตามหน้าที่ ถ้าเกิดอะไรขึ้นท่านจะรู้สึกผิดอย่างมาก ซึ่งผมก็รู้สึกซาบซึ้งอยู่ในใจว่าท่านใช้เราไปทำงานแล้วก็ยังเป็นห่วงเป็นใยอยู่

หลังจากยึดอำนาจเรียบร้อยแล้วไม่นาน ได้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2520 โดยมีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านรองฯ สมภพได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้วย”[25]

เรื่องเล่าข้างต้นของมีชัยดูเหมือนคล้ายกับจะเป็นฉากเดบิวต์ของเขาต่อการร่างรัฐธรรมนูญ แต่โดยข้อเท็จจริง ก่อนหน้านั้นหนึ่งปี ชื่อของมีชัย ฤชุพันธุ์ ศิษย์เอกของสมภพ ได้ปรากฏในคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญของนายกรัฐมนตรีธานินทร์ กรัยวิเชียร ในฐานะกรรมการและเลขานุการแล้ว[26] แต่ครั้งนั้น อาจารย์ของเขามิได้ร่วมด้วย มีชัยได้เล่าไว้ว่า “ในห้วงเวลาที่รัฐบาลชุด ฯพณฯธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น โดยเหตุที่มีความแตกต่างในทางความคิดกันอยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงยุติธรรม ท่านรองฯ สมภพจึงมิได้มีบทบาทใดในการทำงานให้แก่รัฐบาลในห้วงของรัฐบาลดังกล่าว”[27]

มีชัย ฤชุพันธุ์ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับในภายภาคหน้า คือ ‘รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534’ และ ‘รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560’ เขียนสรุปผลงานด้านนิติบัญญัติของอาจารย์สมภพไว้ว่า

“ในฐานะที่เป็นสมาชิกของสภาที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติมานับแต่ปี 2502 ท่านจึงมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญด้วย นับแต่รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2511 เป็นต้นมา รวมรัฐธรรมนูญถาวร 4 ฉบับ และรัฐธรรมนูญชั่วคราวหลายฉบับ รวมทั้งรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มในปี 2535 ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน และรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีผลเป็นการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ในปัจจุบันด้วย (รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540-ผู้เขียน) ทั้งยังเป็นผู้สอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญในมหาวิทยาลัยสำคัญๆ หลายแห่ง ความรู้ทางด้านการเขียนรัฐธรรมนูญของท่านจึงยากที่จะหาใครเทียบได้

ก่อนที่ท่านจะเริ่มมีอาการป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลนั้น ท่านกำลังดำริที่จะศึกษาและรวบรวมวิวัฒนาการของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ ที่สำคัญๆ หลายประเทศ เพื่อเตรียมเสนอแนะต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าที่ความริเริ่มของท่านยังไม่ทันเป็นรูปร่าง ท่านก็ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเสียก่อน”[28]

ศาสตราจารย์ ดร.สมภพ โหตระกิตย์ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2540 สิริอายุรวม 79 ปี ปลายปีเดียวกันนั้น รัฐธรรมนูญที่ถูกเรียกว่า ‘ฉบับประชาชน’ ก็ได้อุบัติขึ้นมา


ส่งท้าย


วงจรร่างๆ ฉีกๆ รัฐธรรมนูญตั้งแต่รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 จวบจนปัจจุบันเป็นระยะเวลา 76 ปี หากอุปมาเปรียบดั่งอายุคนก็สามารถเรียกได้ว่าผ่านมือปรมาจารย์นักกฎหมายสามชั่วอายุคน จากรุ่นปู่สู่รุ่นหลานคือ นับจาก ‘อาจารย์รุ่นปู่’ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ ถึง ‘อาจารย์รุ่นพ่อ’ ศาสตราจารย์ ดร.สมภพ โหตระกิตย์ และ สืบทอดถึง ‘ศิษย์รุ่นหลาน’ คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ทั้งสามท่านนอกเหนือจากมีหน้าที่การงานที่ก้าวหน้าเช่นเดียวกัน ด้านชีวิตครอบครัวก็มีความละม้ายคล้ายกัน คือตกพุ่มม่ายในช่วงวัย 60 เศษด้วยกันทั้งสามท่าน

กล่าวโดยสรุป อาจารย์รุ่นปู่และอาจารย์รุ่นพ่อนับว่าเป็นสองนักกฎหมายระดับเอกอุหลังสิ้นสุดยุคผู้นำคณะราษฎร ถึงแม้เบื้องต้นพระยาอรรถการีย์ฯ จะเริ่มเข้ามาร่วมร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกฉบับ พ.ศ.2492 แต่เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกฉีกทิ้งด้วยการรัฐประหารเงียบ เมื่อพฤศจิกายน พ.ศ.2494 เพื่อนำรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 มาปัดฝุ่นประกาศใช้เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2495 ดูเหมือนบทบาทของพระยาอรรถการีย์ฯ ในทางราชการจะถดถอยจนเหลือเวลาให้สำนักทนายความที่ร่วมเปิดกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

ครั้นเมื่อจอมพล ป.หมดอำนาจลงด้วยการรัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ.2500 พระยาอรรถการีย์ฯ ได้รับการทาบทามกลับมาเป็นหัวหน้าที่ปรึกษากฎหมาย พร้อมกับช่วยร่างธรรมนูญปกครองแผ่นดินที่พ่วงด้วย ‘มาตรา 17’ อันเลื่องชื่อ อีกทั้งยังได้นักกฎหมายหนุ่ม ดอกเตอร์จากฝรั่งเศส สมภพ โหตระกิตย์ เข้ามาช่วยงานในระยะนี้  บทบาทของพระยาอรรถการีย์ในยุคสมัย สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ดูเรืองรองยิ่ง จนเมื่อหมดสมัยนี้ก็เป็นช่วงที่สังขารของเขาเริ่มโรยราและมาถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2520 ในสมัยรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ก่อนที่พลเรือตรีสงัด ชลออยู่ จะก่อการรัฐประหารซ้ำอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 ในปลายปีเดียวกันนั้น (ห่างจากรัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 เป็นเวลา 19 ปีพอดิบพอดี)

นายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหารในครั้งนี้ คือพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้ดึงสมภพขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งด้านที่ปรึกษากฎหมาย พร้อมมอบหมายตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีให้  เมื่อนายกเกรียงศักดิ์พ้นจากอำนาจต้น พ.ศ.2523 สมภพก็พลอยหลุดวงโคจรฝ่ายบริหารไปด้วย อย่างไรก็ดี ในปีต่อมาเขาก็ได้ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกอีกหลายวาระนับจากนั้น อีกทั้งกลับมาปรากฏชื่อในลำดับที่ 3 ของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร พ.ศ.2534 อันมีศิษย์เอก มีชัย ฤชุพันธุ์ นั่งที่หัวโต๊ะครั้งแรก[29] รวมถึงกลับเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในตำแหน่งประธานคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายในสมัยอานันท์ ปันยารชุนเมื่อ พ.ศ.2535 ศาสตราจารย์ ดร.สมภพ โหตระกิตย์ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2540 ก่อนที่จะได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ.2540 ประกาศใช้ในปลายปีเดียวกันนั้นเอง

เมื่อถึงศิษย์รุ่นหลานอย่างนายมีชัย ฤชุพันธุ์ แล้ว ชื่อของเขาประทับลงครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2519 ด้วยฐานะกรรมการและเลขานุการ ตามติดต่อเนื่องนับจากนั้นแทบทุกฉบับ คือ ธรรมนูญปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2520[30] และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521[31] (รัฐประหารพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ),  ฉบับ พ.ศ.2534 (รัฐประหาร รสช.) ในฐานะประธาน[32] ทั้งยังปรากฏชื่อของสมภพ โหตระกิตย์  ส่วนในฉบับ พ.ศ.2540 มีนายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานสภาร่างฯ และนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างโดยมีศาสตราจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ นั่งเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการ ซึ่งขณะนั้นนายมีชัยดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา 

ส่วนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ขณะนั้นนายมีชัยดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และภายหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 นายมีชัยจึงถูกเชื้อเชิญให้กลับมาเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งนำพามาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560[33] ที่ประเทศไทยใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้[34]


มีชัย ฤชุพันธุ์ กับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 (จากภาพข่าวมติชน https://www.matichon.co.th/politics/news_232834)


ตอนพิเศษ ว่าด้วยเรื่องของ ‘หยุด แสงอุทัย’


หยุด แสงอุทัย


ปล.  ผู้เขียนใคร่ขอกล่าวแถมท้ายเพิ่มเติมว่า ช่วงว่างเว้นงานราชการของพระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์) ในสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครองอำนาจครั้งที่สอง ระหว่าง พ.ศ.2492-2500 ที่กล่าวว่าหันไปทุ่มเทเวลาให้สำนักงานทนายความร่วมกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชนั้น นักกฎหมายท่านใดพอจะเรียกได้ว่าขึ้นมามีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2495 คำตอบดูเหมือนจะมาลงที่ ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย (พ.ศ.2451-2522) จากประวัติในอนุสรณ์งานศพ เขาจบ “ด๊อกเตอร์กฎหมายเยอรมัน ชั้นได้รับความชมเชยอย่างมาก (MAGNA CUM LAUDE)” เมื่อ พ.ศ.2474

ต่อมาเมื่อถึงปี พ.ศ.2480 เข้ารับราชการที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (ซึ่งในขณะนั้นคือกรมร่างกฎหมาย) จนได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการเมื่อ พ.ศ.2496 ระหว่างนั้นเขามีส่วนร่วมงานกับพระยาอรรถการีย์ฯ ในการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 ด้วยตำแหน่งเลขานุการสภาร่างรัฐธรรมนูญ[35]

ครั้นต่อมาเมื่อจอมพล ป.รัฐประหารตนเองด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 แล้วหยิบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 มาปัดฝุ่นปรับปรุงใหม่เมื่อ พ.ศ.2495 ชื่อของ หยุด แสงอุทัย ก็ยังปรากฏในคณะร่างรัฐธรรมนูญด้วยตำแหน่งเลขานุการกรรมาธิการ[36] ที่มีพลเอกผิน ชุณหะวัณเป็นประธานและได้นำไปขอฤกษ์รัฐธรรมนูญนี้กับพระธรรมวโรดม (อยู่ ญาโณทโย – ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช) แห่งวัดสระเกศฯ อีกด้วย[37]

แต่เมื่อจอมพล ป. สิ้นสุดอำนาจลงด้วยรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ งานร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2511 ที่ต้องใช้ระยะเวลาร่างยาวนานมากกว่า 10 ปีก็ไม่ปรากฏชื่อของ หยุด แสงอุทัย โดยเขาเคยให้เหตุผลไว้ว่า “อาจจะนึกว่าผมเป็นพวกจอมพล ป. ก็ได้”[38] อย่างไรก็ตามหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 ชื่อของเขาก็กลับมาติดโผเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517[39] ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในอีก 5 ปีถัดมาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2522

สมัยเมื่อครั้งยังมีชีวิต หยุดได้แต่งตำรากฎหมายมากมายกว่า 30 เล่ม  นักเลงหนังสือเก่าย่อมจะพบว่าหนังสือการอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญของเขามีปริมาณมากกว่าใครใดใดในบรรณพิภพ


ภาพปกหนังสืออธิบายรัฐธรรมนูญ  พิมพ์ พ.ศ.2503 โดย ดร.หยุด แสงอุทัย


ช่วงบั้นปลายชีวิต หยุด แสงอุทัย แสดงความชื่นชมของเขาต่อรัฐธรรมนูญไว้ว่า  “ผมชอบรัฐธรรมนูญปี 2492 เพราะเห็นว่ามีหลักการใหม่ ๆ ที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้มาก รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ (รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 สมัยสัญญา ธรรมศักดิ์-ผู้เขียน) ก็มีหลักการดีมาก คือ เอาหลักการของปี 2492 มาลงไว้มากแล้วก็เพิ่มเติม เสียแต่ว่าตัดอำนาจวุฒิสภามากไปหน่อย จนกระทั่งไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไร” (สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2519 ต่อคณะผู้จัดทำวารสารกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)[40]

ทั้งนี้ประเด็นวุฒิสภาที่หยุดว่าไว้ ระยะนั้นปรีดี พนมยงค์ เคยเขียนวิจารณ์รวมถึงตั้งข้อสังเกตอีกบางประการจนเกิดเป็นประเด็นพิพาทกับ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช หนึ่งในกรรมการร่างฯ จนฝ่ายหลังตีพิมพ์หนังสือชื่อว่า ‘โต้ท่านปรีดี’[41]




[1] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, รัฐธรรมนูญของ “คณะปฏิวัติ ร.ศ.130” กับกวีแก้วแห่ง 2 ระบอบ “ชิต บุรทัต” ใน 2475 ราสดรส้างชาติ, พ.ศ.2566, (มติชน),น.6-61.

[2] วรรนกัม ของ ชิต บุรทัต (“แมวคราว” “เจ้าเงาะ” “เอกชน” ฯลฯ) พิมพ์แจกไนการปลงสพ ชิต บุรทัต นะ วัดไตรมิตวิทยาราม วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2485, (โรงพิมพ์อักสรนิต), น.17.

[3] ชีวิตนักการเมือง และ วิบากของคณะ ร.ศ.130 พิมพ์ใน เพื่อนตาย ชาวคณะ ร.ศ.130 พิมพ์ชำร่วยในงานฌาปนกิจศพ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ.2480 ณ เมรุเชิงบรมบรรพตวัดสระเกษ รวบรวมโดย นายร้อยตรีถัด รัตนพันธุ์, (โรงพิมพ์จันหว่า).

[4] การลาดตระเวนในสงครามสนามเพลาะ กับ การค้าทางทะเลในเวลาสงคราม พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาเสวกตรี พระยารามบัณฑิตสิทธิเศรณี ( เซี้ยง สุวงศ์ ) ปีระกา พ.ศ.2476, (โสภณพิพรรฒธนากร).

[5] หนังสืองานศพของหลวงนัยวิจารณ์ (เปล่ง) ที่นายเซียวฮุดเสง สีบุญเรือง จัดพิมพ์ให้ชื่อว่า ศรีสุวรรณโวหาร เพื่อเปนที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงนัยวิจารณ์ (เปล่ง ดิษยบุตร) ผู้เปนนักประพันธ์หนุ่มเรืองนามในสยาม ซึ่งเคยนามปากกาว่า “ศรีสุวรรณ” เมื่อวันเสาร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2473 ไม่ได้ให้ข้อมูลเชิงชีวประวัติและรูปถ่ายไว้แต่อย่างใดเลย ชีวประวัติของคุณหลวงท่านนี้หาอ่านได้จากการเรียบเรียงของ ส.พลายน้อย เรื่อง ศรีสุวรรณ : ผู้ชำนาญการแปลและเขียนเรื่องตลก , เล่าเรื่องนักเขียนดังในอดีต, พิมพ์ครั้งแรก 2546, (คอหนังสือ), น.8-17.

[6] ดู นริศ จรัสจรรยาวงศ์, รู้จัก ชิต บุรทัต มหากวี 2 ระบอบ จากยุคราชสำนัก ถึงประชาธิปไตย ทาสแมวและเซียนสุราเสรีชน จุดเชื่อมต่อ THE PEOPLE Co Official https://www.youtube.com/watch?v=AoqKY6NOI9M&t=1s

[7] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, รัฐธรรมนูญของ “คณะปฏิวัติ ร.ศ.130” กับกวีแก้วแห่ง 2 ระบอบ “ชิต บุรทัต” ใน 2475 ราสดรส้างชาติ, พ.ศ.2566, (มติชน),น.29-31.

[8]รายงานการเสวนาโดย ปณิดา ดำริห์, ข่าวประชาไทวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2558 “24 มิถุนา วรเจตน์ชี้อุดมการณ์สังคมไทยไม่เคยกลับไปก่อน 2490 ได้อีกเลย” จุดเชื่อมต่อ  https://prachatai.com/journal/2015/06/59979

[9] นายฉันทนา (นามแฝง-มาลัย ชูพินิจ), บันทึกจอมพล สัมภาษณ์จอมพล ป.พิบูลสงคราม, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2488, (สำนักพิมพ์อุดม), น.39.

[10] เนติบริกรคืออิหยังวะ? จุดเชื่อมต่อ https://themomentum.co/ruleoflaw-lawyer/

[11] วิษณุ เครืองาม, โลกนี้คือละคร, พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ.2555, (มติชน), น.32.             

[12] นอกเหนือจากอนุสรณ์งานศพ ๒ เล่มนี้ อีกหนึ่งเล่มที่ให้เกร็ดความรู้ประกอบการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๙๒ และ พ.ศ.๒๕๑๑ คือ อนุสรณ์งานศพ หลวงประกอบนิติสาร (ประกอบ บุณยัษฐิติ) เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๑๑ สมภพ โหตระกิตย์ ได้เขียนคำไว้อาลัยขนาดยาวเกี่ยวเนื่องกับผู้วายชนม์ในการร่วมกันร่างฉบับนี้ไว้ในท้ายเล่ม

[13] อัมพร จินตกานนท์, ท่านเจ้าคุณอรรถการีย์นิพนธ์ ใน  อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันจันทร์ ที่ 17 กรกฎาคม 2521, (โรงพิมพ์ตีรณสาร), น.(28).

[14] เสนีย์ ปราโมช (ม.ร.ว.), คำไว้อาลัย ในอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันจันทร์ ที่ 17 กรกฎาคม 2521, (โรงพิมพ์ตีรณสาร), น.(16).

[15]อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันจันทร์ ที่ 17 กรกฎาคม 2521, (โรงพิมพ์ตีรณสาร),  น.(64).

[16] อัมพร จินตกานนท์, ท่านเจ้าคุณอรรถการีย์นิพนธ์ ใน  อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันจันทร์ ที่ 17 กรกฎาคม 2521, (โรงพิมพ์ตีรณสาร), น.(31)-(34).

[17] อัมพร จินตกานนท์, ท่านเจ้าคุณอรรถการีย์นิพนธ์ ใน  อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันจันทร์ ที่ 17 กรกฎาคม 2521, (โรงพิมพ์ตีรณสาร), น.(31)-(34).

น.(32).

[18] ถนอม กิตติขจร, คำไว้อาลัยใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาอรรถการีนิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม 2521, (โรงพิมพ์ตีรณสาร), น.(18)-(19).

[19] สมภพ โหตระกิตย์, พระยาอรรถการีย์นิพนธ์กับงานร่างกฎหมายในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันจันทร์ ที่ 17 กรกฎาคม 2521, (โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี), น.(103).

[20] สมภพ โหตระกิตย์, พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ผู้ร่างธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร และผู้สร้างมาตรา 17 ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันจันทร์ ที่ 17 กรกฎาคม 2521, (โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี), น.(79).

[21] รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2511 นี้มี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (พระองค์วรรณฯ) เป็นประธานกรรมาธิการ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ในลำดับที่ 7 และสมภพ โหตระกิตย์ ในลำดับสุดท้ายที่ 25 ดูรายชื่อใน คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย, พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม พ.ศ.2548, (รุ่งศิลป์การพิมพ์), น.329.

[22] ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนี้คือ นายประกอบ หุตะสิงห์ โดยมีชื่อสมภพ โหตระกิตย์ เป็นกรรมการลำดับที่ 5 ดู คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย, พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม พ.ศ.2548, (รุ่งศิลป์การพิมพ์), น.422.

[23] อักขราทร จุฬารัตน, คำไว้อาลัยใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสมภพ โหตระกิตย์ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ.2540, (อมรินทร์), น.89.

[24] ประเทือง กีร์ติบุตร, คำไว้อาลัยใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสมภพ โหตระกิตย์ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ.2540, (อมรินทร์), น.69.

[25] มีชัย ฤชุพันธุ์, งานการเมือง ของ ศาสตราจารย์ ดร.สมภพ โหตระกิตย์ ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสมภพ โหตระกิตย์ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ.2540, (อมรินทร์), น.117-118 และดูเพิ่มเติมบท รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520 กับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ใน เสถียร จันทิมาธร, เส้นทางสู่อำนาจ มนูญ รูปขจร อาทิตย์ กำลังเอก ใต้เงา เปรม ติณสูลานนท์, ตุลาคม พ.ศ.2549, (มติชน).

[26]ชื่อของ มิชัย ฤชุพันธุ์ ปรากฏในคณะร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2519 ด้วยสถานะ “กรรมการและเลขานุการ” ดู คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย, พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม พ.ศ.2548, (รุ่งศิลป์การพิมพ์), น.525.

[27] มิชัย ฤชุพันธ์, งานการเมือง ของ ศาสตราจารย์ ดร.สมภพ โหตระกิตย์ ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสมภพ โหตระกิตย์ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ.2540, (อมรินทร์),  น.117.

[28] มิชัย ฤชุพันธ์, งานการเมือง ของ ศาสตราจารย์ ดร.สมภพ โหตระกิตย์, อ้างแล้ว, น.122-123.

[29] คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย, พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม พ.ศ.2548, (รุ่งศิลป์การพิมพ์), น.661-662.

[30] คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย, พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม พ.ศ.2548, (รุ่งศิลป์การพิมพ์), น.543.

[31] คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย, พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม พ.ศ.2548, (รุ่งศิลป์การพิมพ์), น.562.

[32] คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย, พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม พ.ศ.2548, (รุ่งศิลป์การพิมพ์), น.661.

[33] หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, รัฐธรรมนูญ 2560 : วิษณุ-มีชัย เล่าที่มามือร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” จุดเชื่อมต่อ www.bbc.com/thai/thailand-50703356

[34] เลือกตั้ง 2566 : มีชัย ฤชุพันธุ์ ใช้สิทธิที่ปากเกร็ด บอกคนออกมาเลือกตั้งกันเยอะ จุดเชื่อมต่อ https://www.thairath.co.th/news/local/central/2693859

[35] ประธานร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 คือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) รายชื่อกรรมาธิการพิจารณายกร่าง พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ มีชื่อเป็นอันดับสอง และ หยุด แสงอุทัย ในอันดับหก ดู คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย, พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม พ.ศ.2548, (รุ่งศิลป์การพิมพ์), น.175.  

[36] คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย, พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม พ.ศ.2548, (รุ่งศิลป์การพิมพ์), น.264.

[37] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, โหราจารย์การเมืองสมัยปฏิวัติ 2475 ใน 2475 ราสดรส้างชาติ, พ.ศ.2566, (มติชน), น.398-401.

[38] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิง ศาสตราจารย์ หยุด แสงอุทัย ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 19 เมษายน พุทธศักราช 2523, (บพิธการพิมพ์), น.(33).

[39] คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย, พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม พ.ศ.2548, (รุ่งศิลป์การพิมพ์), น.423.

[40] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิง ศาสตราจารย์ หยุด แสงอุทัย ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 19 เมษายน พุทธศักราช 2523, (บพิธการพิมพ์), น.(33).

[41] ชัยอนันต์ สมุทวณิช, โต้ท่านปรีดี, กรกฎาคม พ.ศ.2517, (สำนักพิมพ์พิฆเนศ).

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save