fbpx

ปฏิรูปกฎหมายหลังเลือกตั้ง

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จะเป็นหมุดหมายที่สำคัญในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทย เพราะประชาชนส่วนใหญ่จะแสดงเจตจำนงอันแน่วแน่ที่จะปลดเปลื้องพันธนาการของเผด็จการอำนาจนิยม แม้ว่าการกำจัดเผด็จการให้สิ้นซากไม่อาจสำเร็จได้ในเร็ววัน แต่นับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นต้นไป สังคมไทยจะตื่นรู้และเข้มแข็งขึ้น และจะไม่หันหลังกลับไปเดินบนเส้นทางของการปฏิวัติรัฐประหารที่เต็มไปด้วยคำหลอกลวงของเผด็จการอีกต่อไป

แม้ว่าหลังเลือกตั้ง สังคมไทยจะมีรัฐบาลประชาธิปไตย แต่การทำงานของรัฐบาลใหม่ให้เป็นไปตามนโยบายที่หาเสียงไว้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคและกับดักทางกฎหมายนานัปการที่เหล่าเนติบริกรได้ออกแบบไว้เพื่อไม่ให้สังคมไทยหลุดพ้นจากเผด็จการอำนาจนิยมได้โดยง่าย การจะขับเคลื่อนนโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ให้สำเร็จ ต้องเริ่มต้นที่การกำจัดอุปสรรคและกับดักทางกฎหมายทั้งหลายที่เป็นเสี้ยนหนามของระบบประชาธิปไตยและนิติรัฐให้เร็วที่สุด

กฎหมายไทยกำลังป่วยหนัก

ระบบกฎหมายสมัยใหม่ของไทยใช้มาประมาณ 100 ปี กฎหมายอาญาและกฎหมายเอกชนสร้างขึ้นอย่างเร่งรีบเพื่อหนีภัยคุกคามในยุคล่าอาณานิคม กฎหมายมหาชนของไทยกว่าจะเข้าที่เข้าทางก็ต้องรอจนถึงปี 2540 ที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดและจัดระบบกฎหมายมหาชนสมัยใหม่ให้เข้าที่เข้าทาง แต่น่าเสียดายที่รัฐธรรมนูญใช้ได้ไม่ถึง 10 ปี สังคมไทยก็เข้าสู่วังวนเผด็จการอำนาจนิยมที่ทำลายหลักการกฎหมายมหาชนจนป่นปี้มาจนถึงทุกวันนี้ ถ้าพิจารณาในภาพรวม 100 ปีของกฎหมายไทยเปรียบเหมือนคนที่มีความเจ็บป่วยมาตั้งแต่กำเนิด แม้จะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและตรากฎหมายใหม่อยู่เรื่อยมา ก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาแบบปะผุและรักษาตามอาการเท่านั้น เนื่องจากช่วงเวลาส่วนใหญ่สังคมไทยถูกปกครองโดยเผด็จการที่ไม่ได้สนใจแก้ปัญหาที่ระบบและโครงสร้าง ต่างจากประเทศที่มีประสบการณ์คล้ายไทย เช่น ญี่ปุ่น แม้จะเริ่มต้นด้วยกฎหมายสมัยใหม่ที่ไม่สมบูรณ์ แต่ญี่ปุ่นโชคดีที่มีรัฐบาลประชาธิปไตย ที่ค่อยๆ ปรับแก้กฎหมายต่างๆ ในระดับโครงสร้างให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

การอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มคนที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนและไม่ได้สนใจความต้องการของประชาชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ไม่เพียงแค่ทำให้สังคมไทยเสียโอกาสที่จะได้ทบทวนและปรับปรุงกฎหมายอย่างเป็นระบบ แต่กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมถูกพัฒนาให้เป็นเครื่องมือที่สลับซับซ้อนในการรักษาอำนาจของเผด็จการและกดทับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ผลพวงของการเล่นแร่แปรธาตุของเหล่าเนติบริกรทำให้กฎหมายไทยที่อ่อนแออยู่แล้ว เจ็บป่วยหนักเข้าขั้นวิกฤต ชาวบ้านทั่วไปต่างก็ตระหนักดีว่ากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหาร้ายแรงแค่ไหน แต่ดูเหมือนว่านักกฎหมายบางคนยังมองไม่เห็นว่ากฎหมายและกระบวนยุติธรรมที่เป็นอยู่มีปัญหาอย่างไรหรือตัวเองมีส่วนในการสร้างปัญหาอย่างไร บางคนรู้แต่เลือกที่จะนิ่งเฉยๆ เพราะไม่ว่าสังคมจะล่มจมลงไปอย่างไร นักกฎหมายก็จะยังคงมีงาน มีเงิน และมีเกียรติบนซากปรักหักพังของสังคมอยู่เสมอ

นักกฎหมายอีกหลายคนพยายามช่วยซ่อมแซ่มรักษาอาการเจ็บป่วยของกฎหมายไทย ทนายความอุทิศตนช่วยเหลือผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อของอำนาจเผด็จการ ผู้พิพากษาหลายคนใช้และตีความกฎหมายใหม่อย่างกล้าหาญเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ความพยายามที่น่าชื่นชมเหล่านี้เป็นเพียงการรักษาอาการเจ็บป่วยตามอาการของกฎหมายไทย ไม่สามารถช่วยให้กฎหมายไทยพ้นจากภาวะวิกฤตในระยะยาวได้ กฎหมายไทยต้องการเจตจำนงอันแน่วแน่ของประชาชนและรัฐบาลประชาธิปไตยที่ตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหาในการช่วยกอบกู้กฎหมายไทยพ้นจากสภาวะวิกฤตด้วยการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในระดับโครงสร้าง

รัฐธรรมนูญ 2560 มะเร็งร้ายของกฎหมายไทย

รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สังคมไทยอ่อนแอและอยู่ภายใต้มนต์สะกดและคำหลอกลวงของเผด็จการ เมื่อเวลาผ่านไป แม้คนส่วนใหญ่จะเริ่มตระหนักรู้ แต่ก็สายไปเสียแล้ว สังคมไทยตกอยู่ภายใต้พันธนาการทางกฎหมายที่ไม่อาจสลัดออกไปได้โดยง่าย รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นกลไกทางกฎหมายในการรักษาอำนาจเผด็จการที่ซับซ้อนที่สุดในประวัติศาสตร์กฎหมายไทย รัฐธรรมนูญที่เปรียบเสมือนมะเร็งร้ายส่งผลให้ทุกองคาพยพของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยเกิดความอ่อนแอและอยู่ภายใต้การครอบงำของเผด็จการและเหล่าเนติบริกรที่เป็นข้าทาสรับใช้

แม้เป้าหมายสูงสุดของรัฐบาลประชาธิปไตยคือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จะยังมีอุปสรรคขวากหนามโดยเฉพาะจาก ส.ว. แต่งตั้งในช่วงแรก แต่รัฐบาลประชาธิปไตยจะต้องเริ่มทำงานปฏิรูปรัฐธรรมนูญในทันทีโดยควรดูต้นแบบจากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 การเขียนถ้อยคำทางกฎหมายทำได้ง่าย แต่กระบวนการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมีความสลับซับซ้อนและต้องใช้เวลา เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน 

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องกำหนดวาระและกรอบเวลาของการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนยุติธรรมไว้อย่างชัดเจน การปฏิรูปกฎหมายอย่างจริงจังและเป็นระบบไม่มีทางเกิดขึ้นได้ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะผู้บังคับใช้และตีความกฎหมายซึ่งอยู่บนยอดพีระมิดของอำนาจจะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงระบบและการทำงานที่ตนคุ้นเคย และจะไม่มีอำนาจใดที่สามารถกดดันให้พวกเขาเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงได้ นอกเหนือจากอำนาจของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนจะต้องแสดงเจตจำนงอย่างแน่วแน่และชัดเจนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง

นอกเหนือจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การแก้ไขและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติรัฐประหารเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำไปพร้อมๆ กัน เช่น การคืนสิทธิให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบ เพราะการยุบพรรคและตัดสิทธิแบบเหมาเข่งถูกออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องมือของเผด็จการในการกำจัดศัตรูทางการเมือง การยกเลิกการดำเนินคดีกับบุคคลซึ่งถูกกล่าวหาหรือไม่มีโอกาสได้ต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมอันเป็นผลพวงของการปฏิวัติรัฐประหาร การยกเลิกกฎหมายหรือคำสั่งใดๆ ที่ออกโดยคณะปฏิวัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คสช.

เครือข่ายเนติบริกร

การปฏิรูปกฎหมายลายลักษณ์อักษรอย่างเดียวจะไม่มีทางทำให้สังคมไทยหลุดพ้นจากพันธนาการทางกฎหมายของเผด็จการ เพราะตัวบทกฎหมายเกิดขึ้นง่ายจากปลายปากกาของนักเทคนิคทางกฎหมาย เผด็จการทหารไม่มีทางครอบงำสังคมไทยได้ยาวนานขนาดนี้หากไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างแข็งขันจากกลุ่มเนติบริกรที่ยอมตนเป็นทาสรับใช้ ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบใด นักกฎหมายเหล่านี้ยังคงรักษาสถานะที่มีเกียรติและสามารถรักษาอิทธิพลในการครอบงำกระบวนการร่างกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการช่วยสร้างกฎหมายที่กดทับสิทธิเสรีภาพของประชาชนและบังคับใช้กฎหมายเพื่อปิดปากประชาชน พวกเขาเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะใช้เครื่องมือใดในการรักษาและปกป้องอำนาจเผด็จการ และพยายามใช้อิทธิพลเพื่อกดดันหรือจูงใจให้เกิดการบิดเบือนกระบวนการใช้และตีความกฎหมายขององค์กรในกระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระทั้งหลาย

เนติบริกรส่วนใหญ่หลบอยู่ในเงามืด ไม่เคยต้องรับผิดชอบต่อหายนะที่ทิ้งไว้ให้กับสังคมไทย พวกเขาไม่ได้แยแสต่อภัยพิบัติหรือวิกฤตที่เกิดขึ้นกับประชาชน เห็นได้ชัดจากวิกฤตโควิดที่ผ่านมา เพราะพวกเขาเป็นที่ต้องการและถูกเรียกใช้โดยนักการเมืองและนักธุรกิจอยู่เสมอไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร เมื่อใดอำนาจเปลี่ยนมือ พวกเขาก็พร้อมที่จะเปลี่ยนอยู่ข้างผู้ชนะไม่ว่าจะได้อำนาจการเมืองมาจากการเลือกตั้งหรือจากปลายกระบอกปืน

เนติบริกรเป็นเหมือนเซลล์มะเร็งร้ายของกฎหมายไทย ต่อให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ถ้าเหล่าเนติบริกรยังคงมีบทบาทในการร่างกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย สังคมประชาธิปไตยและนิติรัฐไม่มีทางเกิดขึ้น รัฐบาลประชาธิปไตยต้องจริงจังกับการจำกัดบทบาทของเหล่าเนติบริกร ไม่ให้มีบทบาทใดๆ ที่จะสร้างความเสียหายกับระบบกฎหมายและกระบวนยุติธรรมได้อีก

มาตรา 112 กับสถาบันพระมหากษัตริย์

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง หลายพรรคการเมืองกล้าที่จะแสดงความเห็นอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่บทบัญญัติมาตรานี้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหา สิ่งที่รัฐบาลประชาธิปไตยต้องทำ คือ การสร้างเวทีให้มีการพูดคุยกันอย่างปลอดภัยเพื่อหาแนวทางในการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่อย่างเข้มแข็งและสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยดังที่มีตัวอย่างให้เห็นอยู่มากมายในหลายประเทศ และเวทีที่เหมาะสมที่สุดคือ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นเวทีของตัวแทนเจ้าของอำนาจอธิปไตย

สถาบันพระมหากษัตริย์ในสถานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญ อยู่เหนือการเมือง แต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงอาจถูกตรวจสอบหรือถูกตั้งคำถามโดยประชาชนและผู้แทนของประชาชน การตรวจสอบและความโปร่งใสเป็นหัวใจของการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่มั่นคงสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย เช่นเดียวกันกับการดำรงอยู่ขององค์กรต่างๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย รัฐบาลประชาธิปไตยต้องแสดงให้คนที่จงรักภักดีเห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและลงโทษอย่างรุนแรงและไม่ได้สัดส่วนเพื่อให้คนเกิดความเกรงกลัวและไม่กล้าแตะต้อง เป็นแนวทางที่ผิดในการธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย แนวทางเช่นนี้มีแต่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อ่อนแอลงในระยะยาว

นอกจากนี้รัฐบาลประชาธิปไตยควรหาแนวทางในการนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ถูกดำเนินคดีไปควบคู่กับการปฏิรูปมาตรา 112 อย่างจริงจัง ความสนใจของคนในสังคมและกระแสเรียกร้องที่มีต่อบทบัญญัติมาตรานี้พัฒนามาไกลและขยายวงกว้างเกินกว่าที่พรรคการเมืองจะทำเป็นนิ่งเฉยราวกับไม่มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นเหมือนดังเช่นที่เคยทำกันมาในอดีต

การปฏิรูปองค์กรในกระบวนการยุติธรรมและการปฏิรูปวิชานิติศาสตร์

ศาลยุติธรรมช่วยขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งและอาญาในสังคมไทยให้เป็นปกติมาอย่างยาวนาน จนสร้างความเชื่อมั่นและความคาดหวังให้กับประชาชนมากกว่าองค์กรอื่นในกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตามศาลยุติธรรมกำลังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายใหญ่อย่างน้อย 3 เรื่องซึ่งส่งผลกระทบต่อนิติรัฐและกระบวนการยุติธรรมของไทยในภาพรวม

เรื่องแรกคือปัญหาความเป็นอิสระ แม้ว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายระดับพระราชบัญญัติต่างก็รับรองความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในการพิจารณาและชี้ขาดคดี แต่ในทางปฏิบัติ ศาลกลับมีระเบียบข้อบังคับภายในที่เปิดช่องให้มีการกดดันและแทรกแซงการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาในคดีสำคัญๆ โดยเฉพาะคดีที่เห็นว่ากระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เช่น คดีตามมาตรา 112 หรือคดีที่เกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญ การดำเนินการคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 หลายคดีมีความผิดปกติจนทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีการเลือกปฏิบัติและผู้พิพากษาที่รับผิดชอบคดีสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระจริงๆ หรือไม่ นอกจากนี้การสร้างวัฒนธรรมการเคารพยำเกรงกันมากเกินพอดีระหว่างผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่และผู้น้อยช่วยเปิดช่องให้เกิดการครอบงำและบั่นทอนความเป็นอิสระในทำหน้าที่ของผู้พิพากษาได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกันกับหลักสูตรอบรมระยะสั้นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานยุติธรรมซึ่งเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก หลักสูตรเหล่านี้กลายเป็นช่องทางในการสร้างความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์ระหว่างนักธุรกิจและข้าราชการระดับสูงกับผู้พิพากษาที่เข้าร่วมการอบรม

หลักความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย และนี่เป็นเหตุผลเดียวที่ศาลไทยสามารถดำรงอยู่ได้อย่างอิสระปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลยุติธรรมซึ่งไม่มีจุดเกาะเกี่ยวใดๆ เลยกับประชาชน ศาลจึงควรตระหนักอยู่เสมอว่าความเป็นอิสระนี้ไม่ใช่ความอิสระโดยปราศจากความรับผิดชอบและความโปร่งใส ศาลจะต้องทำให้ประชาชนเชื่อว่าศาลทำงานอย่างเป็นอิสระทั้งในทางหลักการและในทางปฏิบัติ หากศาลเลือกที่จะเป็นอิสระกับบางคนและบางสถานการณ์จนประชาชนขาดความเชื่อมั่นในความเป็นอิสระของศาล ประชาชนย่อมมีความชอบธรรมที่เรียกคืนความเป็นอิสระและกำหนดระบบควบคุมตรวจสอบฝ่ายตุลาการในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเหมือนที่เป็นอยู่ในหลายประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าการทำงานของศาลเป็นไปเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ

เรื่องที่สองคือปัญหาการสร้างความชอบธรรมให้เผด็จการ การที่ศาลยังคงรับรองให้การปฏิวัติรัฐประหารที่สำเร็จเป็นการได้มาซึ่งอำนาจรัฐที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นปัญหาที่ร้ายแรงของประชาธิปไตยและนิติรัฐ การที่ศาลยอมตนเป็นผู้ค้ำประกันระบอบเผด็จการ การต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหารจึงกลายเป็นภาระหน้าที่ของประชาชนเพียงลำพัง เมื่อประชาชนมองว่าศาลเป็นกลไกของระบอบเผด็จการมากกว่าเสาค้ำยันนิติรัฐในระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้หากประชาชนจะไม่ไว้ใจคำตัดสินของศาลในทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้ปกครองเผด็จการ

เรื่องที่สามคือปัญหาการคัดเลือกและการศึกษาอบรมเพื่อเป็นผู้พิพากษา วิชานิติศาสตร์ในระดับชั้นมหาวิทยาลัยของไทยตลอดเวลาที่ผ่านมา มุ่งเน้นผลิตคนไปเป็นผู้พิพากษาและอัยการ แต่การอบรมในระดับเนติบัณฑิตกลับมุ่งทดสอบความรู้ในทางทฤษฎีและความสามารถในการจดจำคำพิพากษา การสอบคัดเลือกเพื่อเป็นผู้พิพากษาและอัยการก็มีลักษณะเดียวกันกับการสอบเป็นเนติบัณฑิต ผู้พิพากษาจะมีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติอย่างจริงจังในช่วงการอบรมเป็นผู้พิพากษาใหม่ รูปแบบของการอบรมและการสอบเพื่อเป็นเนติบัณฑิตและการคัดเลือกเพื่อเป็นผู้พิพากษาและอัยการ ทำให้นักกฎหมายไทยซึ่งส่วนใหญ่เลือกเดินบนเส้นทางสายนี้มุ่งเน้นความสนใจอยู่ที่ตัวกฎเกณฑ์และคำพิพากษาที่จะออกเป็นข้อสอบ รูปแบบการอบรมและการสอบลักษณะนี้เป็นการทำซ้ำการศึกษานิติศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย  จึงไม่น่าประหลาดใจหากประชาชนทั่วไปจะกล่าวหาว่านักกฎหมายมีมุมมองที่คับแคบและไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม

องค์กรอัยการไม่ได้ถูกกล่าวถึงและถูกวิพากษ์วิจารณ์มากเท่ากับศาล ข้อเท็จจริงนี้ไม่ได้หมายความว่าประชาชนพอใจบทบาทและการทำงานของอัยการเสมอไป แต่อาจหมายความว่าประชาชนไม่ได้มีความคาดหวังต่อองค์กรอัยการมากนัก ทั้งๆ ที่อัยการมีบทบาทสำคัญในกระบวนการยุติธรรมพอๆ กับศาล หากมีการปฏิรูประบบกระบวนยุติธรรม โจทย์ที่สำคัญขององค์กรอัยการคือ ทำอย่างไรจึงจะเพิ่มบทบาทเชิงรุกในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการช่วยแบ่งเบาภาระของศาลในการอำนวยความยุติธรรมได้มากขึ้น

การปฏิรูปกฎหมายเป็นวาระเร่งด่วน

สังคมไทยเจ็บป่วยมายาวนาน เพราะระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมกำลังป่วยหนักในระดับวิกฤต รัฐบาลประชาธิปไตยจะไม่มีทางบริหารราชการแผ่นดินได้ราบรื่นและสำเร็จภายใต้สภาพแวดล้อมทางกฎหมายที่เป็นอยู่เช่นนี้ การปฏิรูปกฎหมายต้องเป็นวาระเร่งด่วน คือต้องเริ่มทำในทันที แต่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลานาน

การปฏิรูปองค์กรที่มีอำนาจบังคับใช้และตีความกฎหมายเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญพอๆ กับการปฏิรูปกองทัพ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีตไม่กล้าปฏิรูปกองทัพเพราะเกรงกลัวอำนาจปืน ไม่กล้าแตะองค์กรในกระบวนการยุติธรรมเพราะเกรงกลัวอำนาจกฎหมาย แต่รัฐบาลประชาธิปไตยต้องไม่ลืมว่า ไม่มีอำนาจใดที่สามารถต้านทานเจตจำนงของประชาชน การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะเป็นการกำหนดพิมพ์เขียวของการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนยุติธรรม รัฐบาลประชาธิปไตยจะต้องใช้เจตจำนงอันแน่วแน่ของประชาชนในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง เพื่อคืนประชาธิปไตยและนิติรัฐสู่สังคมไทย

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save