fbpx

ทำไมผู้พิพากษาจึงบิดเบือนการใช้กฎหมาย

เมื่อต้องเผชิญกับคำพิพากษาที่ดูราวกับจะไม่มีเหตุผลทางกฎหมายรองรับอย่างเพียงพอ แนวทางหนึ่งในการโต้แย้งต่อคำตัดสินนั้นๆ ก็คือ การพยายามชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องในการวินิจฉัยที่เกิดขึ้นว่าไม่สอดคล้องกับหลักการหรือบทบัญญัติของกฎหมายอย่างไรบ้าง

ความพยายามในการอธิบายถึงปัญหาในคำตัดสิน ส่วนหนึ่งจะย่อมเป็นการท้าทายต่อความชอบธรรมของคำตัดสินที่เป็นปัญหา แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าการกระทำเช่นนี้คือความเข้าใจว่าผู้พิพากษาที่ตัดสินคดี ‘ไม่มีความรู้’ หรือไม่ก็เป็นความรู้ที่คลาดเคลื่อนจากบรรทัดฐานที่ถูกต้อง อันนำมาสู่การตัดสินที่เป็นปัญหาทางตรรกะอย่างมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแสดงเหตุผลให้เป็นที่ประจักษ์เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อจะได้นำไปสู่คำตัดสินที่เป็นไปตามบรรทัดฐาน

อย่างไรก็ตาม การให้คำอธิบายว่าคำตัดสินที่ผิดพลาดเป็นผลมาจากความไม่รู้กฎหมายของผู้พิพากษา อาจเป็นข้อสันนิษฐานที่มีปัญหาในตัวมันเองเป็นอย่างมาก

โดยทั่วไปแล้ว สำหรับบุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาจะต้องผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นถึงความรู้ความสามารถในทางกฎหมาย ในบางสังคมอาจต้องพิจารณาถึงประสบการณ์การทำงานด้านกฎหมายที่แสดงถึงความช่ำชองและความน่าเชื่อถือมาประกอบอีกด้วย การตั้งข้อสังเกตว่าผู้พิพากษาไม่มีความรู้ทางกฎหมายจึงเป็นความเข้าใจที่อาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงมากนัก กล่าวเฉพาะในสังคมไทย ก็ยิ่งเป็นคำถามที่เป็นปัญหาอย่างมาก เพราะเป็นที่ยอมรับกันว่าต้องเป็นนักกฎหมายชั้นยอดเท่านั้นจึงจะสามารถสอบผ่านไปเป็น ‘ท่าน’ ได้

ถ้าไม่ใช่เพราะความไม่รู้แล้ว เราจะอธิบายคำตัดสินที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ผิดพลาดได้อย่างไร

สำหรับอำนาจตุลาการในสังคมแบบเสรีประชาธิปไตย การออกแบบตำแหน่งแห่งที่ของตุลาการให้มีความเป็นอิสระและมีความรับผิดถือเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยค้ำยันให้การทำงานของผู้พิพากษาสามารถดำเนินไปได้ตามหลักวิชาความรู้มากเท่าที่จะเป็นไปได้

ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาถือเป็นเงื่อนไขสำคัญ อันมีความหมายว่าในการทำหน้าที่ของผู้พิพากษานับตั้งแต่การเป็นเจ้าของคดี การพิจารณา การตัดสิน รวมไปถึงภายหลังการตัดสินคดี จะต้องไม่ถูกแทรกแซงจากอำนาจอื่นใด หากคำตัดสินนั้นเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจและผลของคำตัดสินไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อบุคคลดังกล่าว สถานะที่มั่นคงในการทำงานจะเป็นเงื่อนไขหนึ่งทำให้ผู้พิพากษาสามารถใช้ความรู้และดุลพินิจของตนเองได้อย่างตรงไปตรงมา

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงการแทรกแซงย่อมไม่ได้หมายความเพียงการใช้อำนาจบีบบังคับหรือชี้นำให้ต้องตัดสินไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการกระทำอื่นๆ ที่เห็นได้ชัดเจนว่าส่งผลต่อการตัดสินคดีอย่างสำคัญ เช่น การจ่ายสำนวนคดีของหัวหน้าผู้พิพากษาให้กับผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งที่สามารถคาดเดาได้ว่าจะตัดสินไปในทิศทางใด ก็สามารถจัดเป็นส่วนหนึ่งของการแทรกแซงคดีได้เช่นกัน

แต่ไม่ใช่เพียงแค่ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาเท่านั้น อีกด้านหนึ่ง ผู้พิพากษาก็ต้องมีความรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ (accountability) การใช้อำนาจตุลาการในสังคมเสรีประชาธิปไตยคือส่วนหนึ่งของอำนาจที่ต้องได้รับการตรวจสอบ หากการปฏิบัติงานเป็นไปโดยมิชอบหรือมีความผิดพลาด ผู้พิพากษาก็ต้องมีความรับผิดเกิดขึ้นเช่นกัน

ในสังคมที่จัดวางอำนาจตุลาการให้มีหลักประกันทั้งในด้านของความเป็นอิสระและการสร้างความรับผิด จะส่งผลให้ผู้ใช้อำนาจนี้จะถูกตรวจสอบและถูกประเมินได้ด้วยสาธารณชน การทำหน้าที่ที่บิดเบี้ยวก็อาจนำไปสู่การลงโทษต่อบุคคลผู้กระทำได้ ผู้พิพากษาจึงต้องตอบข้อสงสัย การวิพากษ์วิจารณ์ ด้วยความรู้และเหตุผลต่อสังคมได้

ในสังคมที่ต้องเผชิญหน้ากับระบอบอำนาจนิยม ผู้พิพากษาอาจต้องประสบกับปัญหาเรื่องความเป็นอิสระ การตัดสินคดีที่เกิดขึ้นที่เป็นข้อพิพาทของผู้มีอำนาจจึงอาจเป็นไปเพื่อรักษาความปลอดภัยของตนเอง มีตัวอย่างในหลายประเทศที่ตกอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยม เมื่อผู้พิพากษาตัดสินด้วยจุดยืนที่ตรงกันข้ามกับผู้ปกครองก็ต้องเผชิญกับวิบากกรรมอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการปลดจากตำแหน่งหรือเผชิญกับการลงโทษในฐานะเป็นปฏิปักษ์กับผู้ปกครอง

หากไม่มีความเป็นอิสระหรือไม่มีความรับผิดต่อสังคม ก็อาจทำให้การทำหน้าที่ของผู้พิพากษาเฉไฉไปตามอำเภอใจของเขาหรือผู้มีอำนาจทางการเมืองในขณะนั้น

แต่นอกจากเรื่องความเป็นอิสระหรือความรับผิดซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างแล้ว ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ อุดมการณ์ครอบงำหลักในฝ่ายตุลาการนั้นมีลักษณะอย่างไร ทำให้ผู้พิพากษาผูกพันอยู่กับคุณค่าแบบใด อุดมการณ์ครอบงำนั้นจะส่งผลต่อการทำงานของผู้พิพากษาเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม กรณีของอำนาจครอบงำมิใช่เป็นการข่มขู่หรือสร้างความหวาดกลัวให้กับบรรดาผู้พิพากษา แต่อำนาจครอบงำคือการทำให้บรรดาผู้ที่อยู่ในสถาบันมีความเข้าใจและจุดยืนของฝ่ายตุลาการไปในทิศทางหนึ่ง เช่น การผูกพันตนเองเข้ากับการปกป้องสถาบันจารีตของสังคม, การธำรงรักษาความคิดความเชื่อในแบบที่ดำรงอยู่มาไม่ให้ถูกแตะต้องหรือท้าทาย เป็นต้น       

ดังนั้น แม้ในประเด็นที่มีความใกล้เคียงกันแต่ก็อาจพบคำตัดสินที่แตกต่างออกไปได้ ดังคำวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อการปล่อยตัวชั่วคราวซึ่งศาลจะอนุญาตให้กับผู้ถูกกล่าวหรือจำเลยในคดีจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นข้อหารุนแรงมากเพียงใดก็ตาม หรืออยู่ในขั้นใดของกระบวนการยุติธรรม แต่ทั้งหมดจะเปลี่ยนแปลงไปหากเป็นข้อพิพาทที่ถูกกล่าวหาว่าแตะต้องสถาบันอันเป็นที่ยึดถือของฝ่ายตุลาการ คำตัดสินก็จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างแทบไม่น่าเชื่อ กรณีเช่นนี้ก็อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งของคำอธิบายข้างต้น

ทำไมอุดมการณ์ครอบงำจึงมีอิทธิพลต่อการทำหน้าที่ของผู้พิพากษา

ฝ่ายตุลาการดำรงอยู่ได้ไม่ใช่เพราะอำนาจตามกฎหมายเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการรักษาหรือปกป้องอุดมการณ์บางรูปแบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่ฝ่ายตุลาการไม่สามารถ ‘ขาย’ อุดมการณ์ที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ก็เป็นไปได้ที่อาจเปิดทางให้อุดมการณ์ดั้งเดิมสามารถเข้ามีอำนาจนำ แม้การจัดวางฝ่ายตุลาการในหลายสังคมจะได้ปรับเปลี่ยนไปตามระบอบประชาธิปไตย แต่การสร้างความหมายให้แก่ตุลาการก็อาจกลายเป็นความสัมพันธ์กับสถาบันการเมืองจารีตมากกว่า

เมื่อฝ่ายตุลาการผูกพันตนเองอยู่กับสถาบันจารีตก็จะส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาเป็นเงาตามตัว การทำหน้าที่ในลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่ด้วยอำนาจบังคับ หากเป็นไปด้วยความเชื่อและเข้าใจว่าตนเองกำลังกระทำในสิ่งที่ควรต้องกระทำ การตัดสินที่เกิดขึ้นจึงอาจไม่ใช่เรื่องของความไม่รู้ ไม่ใช่เรื่องของการถูกบังคับ หากเป็นไปด้วยความยินยอมด้วยความสมัครใจ

แม้ว่าประเด็นในเชิงโครงสร้างจะมีความสำคัญ แต่ความคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงบทบาทและคำตัดสินของผู้พิพากษายังต้องตระหนักถึงแง่มุมในเชิงอุดมการณ์ที่ครอบงำอยู่ในหมู่ผู้พิพากษา ตราบเท่าที่อุดมการณ์ที่สัมพันธ์กับเจ้าของอำนาจอธิปไตยและความเสมอภาคระหว่างผู้คนยังไม่สามารถกลายเป็นอุดมการณ์ที่ได้รับการยอมรับในฝ่ายตุลาการ ความหวังที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการทำงานของผู้พิพากษาก็คงยังยากที่จะเกิดขึ้นเช่นกัน

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save