fbpx

ฝรั่งมังค่า ทุ่งกุลาร้องไห้ และกุ้งกุลาดำ: มังค่าและกุลาคืออะไร?

ผมคิดว่าท่านผู้อ่านทั้งหลายน่าจะเคยได้ยินชื่อของทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่ในภาคอีสานที่เคยขึ้นชื่อว่ากว้างขวางและแห้งแล้งเหลือประมาณ และน่าจะเคยได้ยินชื่อของกุ้งกุลาดำซึ่งเป็นกุ้งทะเลชนิดหนึ่ง มีรสชาติดีแต่ราคาหนักกระเป๋าสักหน่อย ปัจจุบันเริ่มหากินยากแล้ว นอกจากนี้ท่านที่เป็นนักเลงหนังสือสักหน่อยก็น่าจะเคยเห็นคำว่าฝรั่งมังค่าใช้เรียกคนขาวชาวตะวันตกในหนังสือเก่าๆ อยู่บ้าง กระนั้นเอง ท่านผู้อ่านทั้งหลายทราบมาก่อนหรือไม่ว่า ‘กุลา’ และ ‘มังค่า’ ในชื่อเหล่านี้คืออะไร? ทั้งทุ่ง กุ้ง กับฝรั่งที่ปรากฏคำทั้งสองในชื่อนั้นมีความเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร?

อธิบายอย่างย่อที่สุด ทั้งกุลาและมังค่าเพี้ยนมาจากคำเดียวกันนั่นคือ ‘บังคลา’ (เมื่อใช้เป็นชื่อชนชาติกลายเป็นคำว่าบังคลี) อันเป็นชื่อของดินแดนเบงกอลในอินเดียตะวันออก และก็คือคำว่า ‘บังคลา’ ในบังคลาเทศนั่นเอง เมื่อคำว่าบังคลาล่องสมุทรเข้ามาถึงหูถึงปากของชาวสยามในลุ่มน้ำเจ้าพระยาแล้ว ก็เพี้ยนไปเป็นคำว่า ‘มั่งกะลี้’ ‘มังกล่า’ หรือ ‘มังคล่า’ ดังปรากฏเอกสารสมัยรัชกาลที่ 3 เช่น ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ และจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 หลายครั้ง คล้ายกับที่ชื่อจักรวรรดิโมกุลเพี้ยนไปเป็นคำว่า ‘มะห่ล’ หรือ ‘มะหง่น’ ด้วยเช่นกัน

ในช่วงเวลานั้นเอง เบงกอลตกเป็นอาณานิคมของบริษัทบริติชอินเดียตะวันออก (British East India Company) ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การค้าและการติดต่อสื่อสารระหว่างสยามและอังกฤษก็นิยมกระทำผ่านเบงกอลซึ่งเป็นอาณานิคมอังกฤษที่ใกล้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สุด ชาวสยามจึงนิยมเรียกชาวยุโรปหรือ ‘ฝรั่ง’ ที่มาจากอังกฤษว่า ‘ฝรั่งมังคล่า’ เพราะเป็นฝรั่งที่อยู่เมืองมังคล่า จนเพี้ยนมาสะกดว่า ‘ฝรั่งมังค่า’ ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ชาวสยามยังมีคำสร้อยเติมท้ายคำว่าฝรั่งอีกหลายคำ เช่น ฝรั่งดั้งขอ หมายถึงฝรั่งที่มีดั้งโด่งจนดูเหมือนตะขอ ฝรั่งอั้งม่อ หมายถึงฝรั่งผมแดง เพราะคำว่าอั้งม่อ เป็นคำภาษาจีนแต้จิ๋วแปลว่าผมแดง อั้งม่อนี้ชาวจีนยังใช้ผูกคำว่า ‘อั้งม่อกุ้ย’ หมายถึงปีศาจผมแดง เป็นคำสำหรับใช้เรียกคนขาวชาวยุโรปและอเมริกันอย่างเหยียดหยัน

คำว่าบังคลาเดียวกันนี้เอง เมื่อเดินทางมาถึงหูถึงปากชาวพม่าซึ่งมีอาณาเขตใกล้กับเบงกอลแล้ว ก็เพี้ยนไปเป็นคำว่า ‘กุลา’ หรือ ‘กะลา’ ซึ่งนอกจากจะใช้เรียกเบงกอลแล้ว ยังสามารถใช้เรียกชาวอินเดีย ชาวเปอร์เซีย และชาวอาหรับได้ และยังใช้ในความหมายกว้างๆ ว่า ‘ต่างชาติ’ ได้อีกด้วย เช่น ถั่วลูกไก่ซึ่งนิยมกินในอินเดีย ภาษาพม่าเรียกว่า ‘กะละเพ’ หรือถั่วกะลา เก้าอี้ที่นำเข้ามาจากตะวันตกเรียกว่า ‘กะละไทน์’ หรือแท่นกะลา อูฐซึ่งเป็นสัตว์พาหนะสำคัญในทะเลทรายอาหรับและทะเลทรายซาฮาราเรียกว่า ‘กะละโอ้ก’ หรืออูฐกะลา และยีราฟซึ่งเป็นสัตว์ป่าในแอฟริกาก็เรียกว่า ‘ติ๊ดกะละโอ้ก’ หรืออูฐกะลาดาว เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีขนมชนิดหนึ่งเรียกชื่อว่า ‘กะละแม’ แปลว่ากะลาดำ ซึ่งก็คือขนมกะละแมที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง คำว่ากะลาจึงอาจแปลได้ใกล้เคียงกับคำว่า ‘แขก’ หรือ ‘เทศ’ ในภาษาไทย เพราะคำว่าเทศในภาษาไทยนั้น ครั้งหนึ่งเคยใช้หมายถึงของที่มจากอินเดีย เช่น เครื่องเทศ ต่อมาก็รวมถึงของที่มาจากโลกมุสลิม เช่น ม้าเทศ จนสามารถใช้หมายถึงของต่างชาติ (โดยเฉพาะจากยุโรปและอเมริกา) เช่น หนังเทศ มันเทศ ด้วยเช่นกัน ผู้เขียนยังเห็นที่คนไทยเรียกชาวยุโรปและอเมริกันว่าชาวต่างประเทศ แต่ไม่สู้เรียกว่าชาวต่างด้าวนั้น ก็น่าจะมาจากความเคยชินต่อคำว่าเทศในความหมายดังนี้เอง

กลับมาที่คำว่ากุลา/กะลาในภาษาพม่า นอกจากจะหมายถึง ‘แขก’ แล้ว ในยุคหนึ่งยังน่าจะหมายรวมถึงผู้คนจากดินแดนตะวันตก (ของพม่า) ทั้งหมด เพราะเมื่อครั้งที่อังกฤษซึ่งได้เข้ามาปกครองเบงกอลแล้วสามารถยึดพม่าเป็นอาณานิคมได้แล้ว ชาวพม่าก็เรียกฝรั่งว่ากะลาด้วยเช่นกัน สาเหตุก็น่าจะเป็นไปคล้ายๆ กับที่ชาวสยามเรียกฝรั่งอังกฤษว่าฝรั่งมังค่าดังที่ได้กล่าวถึงแล้ว นอกจากนี้ ชาวพม่ายังอาจจะเห็นว่าทั้งชาวอินเดีย ชาวเปอร์เซีย ชาวอาหรับ และชาวยุโรปต่างก็เป็นผู้มาเยือนจากตะวันตกเหมือนๆ กัน แม้ว่าชาวพม่าในปัจจุบันจะไม่นิยมเรียกชาวยุโรปและอเมริกันว่ากะลาแล้วก็ตาม ในช่วงสิบปีให้หลังนี้ที่ความเกลียดชังต่อมุสลิมและคนเชื้อสายอินเดียในพม่าเข้มข้นทวีคูณขึ้นมากจากการปลุกกระแสชาตินิยมพุทธ ถึงขั้นมีเหตุลงมือประหัตประหารกันที่รัฐยะไข่ จนเกิดเป็นวิกฤติโรฮิงญาดังที่หลายท่านน่าจะเคยได้ยินข่าวมาบ้างแล้ว คำว่ากะลาร์กลายเป็นคำเหยียดที่กระตุ้นอารมณ์ผู้คนได้รุนแรงจนต้องมีการรณรงค์ให้เลิกใช้คำดังกล่าวเพื่อทุเลาสถานการณ์ลง

อนึ่ง ชาวสยามเองก็เคยมีทัศนคติเช่นนี้ด้วย ดังที่ในยุคหนึ่งคำว่าเทศหรือ ‘ปรเทศ’ (ความหมายคล้ายกับคำว่า ‘ต่างประเทศ’ ในปัจจุบัน) สามารถใช้เรียกได้ทั้งสินค้าที่มาจากอินเดีย โลกมุสลิม และโลกตะวันตกได้เหมือนๆ กัน นอกจากนี้ ในสมัยกรุงศรีอยุธยายังเคยจัดให้กิจการอันเนื่องด้วยทั้ง ‘แขก’ และ ‘ฝรั่ง’ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานเดียวกันคือกรมท่าขวา ก่อนที่จะแยกกิจการฝรั่งออกมาขึ้นกับกรมท่ากลางในสมัยรัตนโกสินทร์ เหตุที่ตั้งชื่อหน่วยงานนี้ว่ากรมท่าขวานั้นเห็นจะเป็นเพราะว่าหากจะเดินเรือไปยังดินแดนที่กรมท่าขวารับผิดชอบนั้น เมื่อออกเรือไปถึงปากน้ำเจ้าพระยาแล้วก็ต้องหันเรือเลี้ยวขวาไปนั่นเอง

ว่าด้วยเรื่องของ ‘แขก’ และ ‘ฝรั่ง’ นี้ ผู้เขียนก็นึกไปถึงอีกประเด็นหนึ่งว่าในปัจจุบันนี้ หากพูดถึงชาวตะวันตกขึ้นมา คนไทยส่วนมากย่อมนึกถึงชาวยุโรปหรืออเมริกันขึ้นมาทั้งนั้น ทั้งที่อนุทวีปอินเดียและโลกมุสลิมก็อยู่ทางตะวันตกของไทยเหมือนกันแต่คนไทยในปัจจุบันกลับไม่เห็นว่าดินแดนทั้งสองนี้รวมอยู่ในนิยามของชาวตะวันตก คงจะเป็นด้วยเหตุว่าชาวตะวันตกในที่นี้แปลมาจากคำว่า Westerner ซึ่งเป็นคำที่ชาวยุโรปและอเมริกันใช้เรียกตัวเองแยกจากชาวตะวันออกซึ่งใช้คำว่า Oriental (คำเดียวกับ ‘โอเรียนเต็ล’ ในชื่อโรงแรมโอเรียนเต็ล) และในมุมมองของชาวยุโรปและอเมริกันนั้น ดินแดนนอกยุโรปไปทางตะวันออกที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์เป็นหลัก รวมถึงโลกมุสลิมและอินเดียด้วยนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นโลกตะวันออกของชาวตะวันออกทั้งสิ้น การรับคำว่าชาวตะวันตกซึ่งแปลจากภาษาอังกฤษมาใช้ในภาษาไทยนั้น ย่อมเป็นการรับกรอบมุมมองแบบยุโรป/อเมริกันเข้ามาใช้ในตัว

คำว่ากุลาหรือกะลาร์นี้ ชาวล้านนาได้หยิบยืมไปใช้กลายเป็นคำว่า ‘กุลา’ หรือที่เขียนในเอกสารอักษรธรรมว่า ‘คูลา’ หรือ ‘คูลวา’ (อ่านว่ากูลวาโดยออกเสียง ล และ ว ควบกัน) ใช้หมายถึงชาวตะวันตกซึ่งรวมทั้งชาวอินเดีย ชาวเปอร์เซีย ชาวอาหรับ และชาวยุโรป (โดยเฉพาะชาวอังกฤษ) เหมือนในภาษาพม่า ดังที่ปรากฏร่องรอยในเอกสารอักษรธรรมว่าชาวล้านนาเรียกมิสชันนารีชาวอเมริกันว่า ‘คูลวาขาว’ เรียกภาษาอังกฤษว่า ‘ภาษาคูลา’ พร้อมกับที่เรียกอินเดียว่า ‘คูลา’ ด้วยเช่นเดียวกัน

คำว่ากุลาในความหมายว่าชาวตะวันตกคงแพร่หลายไปถึงล้านช้างซึ่งเป็นเพื่อนบ้านทางตะวันออกของล้านนาด้วย แต่ชาวลาวล้านช้างคงจะเห็นว่าพม่าก็เป็นดินแดนทางตะวันตกของล้านช้างเหมือนกับอินเดียและที่อื่นๆ คำว่ากุลาหรือกะลาในภาษาลาวจึงมีความหมายว่า ‘ชาวต่างชาติ’ และ ‘ชาวพม่า’ ได้ทั้งสองความหมาย นานๆ เข้าเมื่อคำว่า ‘ผาลัง’ ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่าฝรั่งเริ่มแพร่หลาย ความหมายที่สื่อถึงชาวต่างชาติของคำว่ากุลาก็ค่อยๆ เลือนหายไป เหลือเพียงความหมายที่สื่อถึงชาวพม่าเท่านั้น โดยกินความไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่มาจากพม่า เช่น ไตโหลง (ไทใหญ่) ดาระอั้ง และปะโอ ด้วย ที่ชาวล้านช้างเหมากลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ว่า ‘กุลา’ รวมกับชาวพม่านั้น คงจะเพราะไม่คุ้นชินและเห็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้มีรูปพรรณสันฐานแต่งกายคล้ายคลึงกับชาวพม่า นอกจากนี้ ชาวเขมรยังรับคำว่า ‘กุฬา’ ไปใช้ในความหมายเดียวกันกับในภาษาลาวว่าชาวพม่าหรือชนกลุ่มหนึ่งในพม่าเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ชาวล้านนาไม่ได้ใช้คำว่ากุลาเรียกชาวพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่าเหมือนชาวล้านช้างด้วย เหตุผลน่าจะเป็นเพราะชาวล้านนามีความใกล้ชิดกับพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ถูกเหมารวมเป็นกุลา จึงมีชื่อเรียกแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์แยกจากกันโดยเฉพาะ เช่น ม่าน (พม่า) เงี้ยว (ไทใหญ่) ปะหล่อง (ดาระอั้ง) และต่องสู (ปะโอ) เป็นต้น นอกจากนี้ ชาวล้านนายังไม่ได้มองพม่าว่าเป็นดินแดนทาง ‘ตะวันตกนกนอน’ เหมือนชาวล้านช้างแต่เป็นดินแดนทางใต้ พม่าจึงไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่จะเป็นกุลาสำหรับชาวล้านนานั่นเอง

กุลาที่เป็นชาวไทใหญ่ ชาวปะโอ และชาวดาระอั้งจากพม่าตอนเหนือเหล่านี้จำนวนมากประกอบอาชีพเป็น ‘พ่อค้าวัวต่าง’ หรือพ่อค้าที่เดินทางเป็นกองคาราวานเกวียนเทียมวัวเที่ยวค้าขายไปตามโครงข่ายเส้นทางการค้าทางบกที่พาดผ่านเมืองสำคัญๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนในหลายเมือง เช่น เชียงรุ่งในสิบสองพันนา เชียงตุงในรัฐฉานตะวันออก เมาะตะมะในพม่าใต้ เชียงใหม่ในล้านนา หลวงพระบางและเวียงจันท์ในล้านช้าง พิษณุโลกในสยาม พาดผ่านไปถึงร้อยเอ็ดในภาคอีสานและไพลินในกัมพูชา ที่จังหวัดไพลินได้ชื่อว่าไพลินนั้น บางตำรากล่าวว่าเป็นเพราะชาวกุลา (กุฬา) บางส่วนที่เดินทางมากับกองคาราวานได้ตั้งรกรากขุดพลอยไพลินอยู่ในบริเวณดังกล่าว แต่บางตำราก็กล่าวว่าได้ชื่อจากเมืองเพ่ลินในพม่าตอนเหนือ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม จังหวัดไพลินก็มีชาวกุฬาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่จริงๆ ดังปรากฏให้เห็นได้มาจนปัจจุบัน

บทบาทพ่อค้าวัวต่างของชาวกุลาดังนี้ทำให้ชาวกุลาเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนในก่อนที่ถนนหนทางและระบบโลจิสติกส์สมัยใหม่จะพัฒนาครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ราวช่วงทศวรรษ 2520 หนึ่งในพื้นที่ที่กองคาราวานของพ่อค้ากุลาเดินทางผ่านมาค้าขายเป็นประจำคือภาคอีสาน ซึ่งเป็นทางผ่านระหว่างล้านช้าง กัมพูชา และสยาม เพราะพ่อค้ากุลาต้องเดินทางผ่านไปผ่านมาในอีสานเป็นประจำนั่นเอง จึงเกิดเป็นตำนานว่าทุ่งกุลาร้องไห้ได้ชื่อจากการที่เป็นทุ่งใหญ่ไกลสุดหูสุดตา มีเนื้อที่กว้างขวางกว่าสองล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 13 อำเภอ 5 จังหวัดในปัจจุบัน อีกทั้งยังเวิ้งว้างว่างเปล่าและแห้งแล้งจนถึงขนาดที่ผู้ชำนาญการเดินทางทางบกอย่างเช่นชาวกุลายังต้องหลั่งน้ำตาร้องไห้ด้วยความลำบากยากเข็ญและเหนื่อยหน่ายท้อแท้เมื่อต้องเดินทางข้ามผ่านทุ่งดังกล่าว

สำหรับภาษาสยามก็ได้รับคำว่ากุลาไว้โดยสะกดว่า ‘กุลา’ บ้าง ‘คุลา’ บ้าง โดยใช้หมายถึง ‘แขก’ โดยเฉพาะชาวอินเดียโดยจำเพาะ คำนี้ชาวสยามน่าจะได้รับผ่านพม่าหรือล้านนาอีกทอด เพราะไม่ปรากฏว่าชาวสยามจะเรียกเบงกอลว่ากุลาเลย แสดงให้เห็นว่าคำดังกล่าวเป็นคำยืมมือสอง ไม่ได้เพี้ยนจากคำว่าบังคลาโดยตรง คำว่ากุลาในภาษาสยามมักใช้เป็นชื่อการละเล่น เช่น ในกฎมณเฑียรบาลมีความตอนหนึ่งกล่าวถึงการละเล่นชื่อกุลาตีไม้ มีลักษณะเป็นการยืนล้อมวงกันถือไม้กำพดทั้งสองมือแล้วตีไม้กำพดของตนกับไม้กำพดของคนรอบข้างซ้ายขวาไปตามจังหวะ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์เคยให้ความเห็นไว้ใน สาส์นสมเด็จ ว่าน่าจะมาจากการละเล่นชื่อ ‘ศิราษมัณฑละ’ ของชาวทมิฬในอินเดียใต้ และยังมีว่าวชนิดหนึ่งที่เรียกว่าว่าวคุลาหรือว่ากุลา รูปร่างคล้ายดาวห้าแฉกเหมือนแว่นมะเฟือง หัวว่าวเป็นยอดปลายแหลม ปีกว่าวมีลักษณะคล้ายปีกนก หรือที่ปัจจุบันเพี้ยนมาเรียกว่าว่าวจุฬานั่นเอง ที่เรียกว่าว่าวกุลานั้น มีผู้สันนิษฐานว่าเป็นเพราะมีที่มาจากว่าวรูปดาวชนิดหนึ่งที่นิยมเล่นกันในอินเดีย

นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบคำประพันธ์ประเภทจำพวกเพลงยาวกลบทประเภทหนึ่งที่เรียกว่า ‘คุลาซ่อนลูก’ อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีคำว่ากุลาใช้นอกเหนือจากบริบทการละเล่นและการกีฬาอยู่อีกคำหนึ่งคือชื่อของ ‘กุ้งกุลาดำ’ กุ้งชนิดนี้ บางครั้งก็เรียกว่า ‘กุ้งแขกดำ’ สอดคล้องกับที่คำว่ามีคำว่า ‘กุลาดำ’ ในภาษาล้านนาและภาษาลาวหมายถึง ‘แขกที่มีผิวสีดำ’ ซึ่งอาจหมายถึงแขกกลิงค์หรือแขกทมิฬจากอินเดียใต้หรือแขกมัวร์จากแอฟริกาก็ได้ ส่วนทำไมกุ้งชนิดนี้ถึงต้องมีชื่อว่ากุลาดำหรือแขกดำนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อาจเป็นเพราะกุ้งชนิดนี้มีลายสีดำเหมือนสีผิวของแขกดำก็ได้ หรืออาจจะเป็นเพราะเป็นกุ้งจากอินเดียที่เผอิญมีลายสีดำก็ได้ เพราะกุ้งกุลาดำนั้นมีถิ่นฐานตามชายฝั่งทั่วมหาสมุทรอินเดียตั้งแต่แหลมแอฟริกาไปจนถึงออสเตรเลีย แต่หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ปรากฏว่าจะมีกุ้งกุลาขาวมาคู่กับกุ้งกุลาดำแต่อย่างใด

‘กุลา’ และ ‘มังค่า’ จึงเป็นคำยืมที่มีต้นธารมาจากคำเดียวกันคือ ‘บังคลา’ อันเป็นชื่อของดินแดนเบงกอลในอินเดียตะวันออก อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่คำดังกล่าวถูกหยิบยืมมาหลายทอดผ่านเส้นทางการยืมที่แตกต่างกัน ทำให้ผลลัพธ์สุดท้ายของการยืมศัพท์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงทั้งในเชิงรูปคำและเชิงการใช้งานจนเมื่อดูเผินๆ แล้วเหมือนไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลยแม้แต่น้อย การสืบสาวรากศัพท์ของคำแต่ละคำจึงเป็นโอกาสที่ช่วยให้ผู้สืบสาวสามารถเห็นได้ว่าคำ (รวมถึงสิ่งอันเป็นความหมายของคำ) ที่ดูแล้วไม่มีอะไรเหมือนกันเลยนั้น แท้จริงอาจเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันอยู่ไม่มากก็น้อย นอกจากนี้ การศึกษาประวัติความเป็นมาและความเปลี่ยนแปลงของคำต่างๆ ยังอาจเป็นหนทางสำคัญในการทำความเข้าใจความเป็นมาและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสิ่งของ แนวคิด หรือโลกทัศน์ อันเป็นส่วนประกอบสร้างความหมายของคำนั้นๆ ที่ศึกษาด้วยเช่นกัน ดังในกรณีของคำว่ากะลาหรือกุลาที่ขอบเขตของความหมายค่อยๆ แปรเปลี่ยนไปตามโลกทัศน์ต่อ ‘ความเป็นต่างชาติ’ และ ‘ความเป็นตะวันตก’ ของกลุ่มคนที่ใช้คำนี้ เป็นต้น


บรรณานุกรม

กรมเจ้าท่า, ประวัติกรม. 18 มกราคม 2557.https://md.go.th/about/ (สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2566)

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม, “ทุ่งกุลาร้องไห้ บนเส้นทางการค้า กับโลกของชาวกุลา พ่อค้าเร่แห่งอีสาน” ใน ศิลปวัฒนธรรม. 6 มีนาคม 2566. https://www.silpa-mag.com/history/article_51140

จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เล่ม 2. กรุงเทพ: สหประชาพาณิช, 2530.

ญาดา อารัมภีร, “บทอัศจรรย์ ‘เรตอาร์’ แหวกขนบของสุนทรภู่” ใน มติชนสุดสัปดาห์. 8 กุมภาพันธ์ 2565. https://www.matichonweekly.com/column/article_513897

ติ๊ก แสนบุญ, “ศิลปะงานช่างคนกุลาอีสาน… ทำไมถึงเป็นไทใหญ่…!?” ใน ศิลปวัฒนธรรม. 11 กุมภาพันธ์ 2566. https://www.silpa-mag.com/culture/article_40576 (สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2566)

นางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นางสะลูไร ตุลยายน ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2508. พระนคร: ภักดีประดิษฐ์, 2508.

นริศรานุวัติวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา, และดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา, สาส์นสมเด็จ. เล่ม 10 (พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2504)

ตั้น เมี่ยน อู, สุภัตรา ภูมิประพาส, แปล, ผ่าพม่า เปิดประวัติศาสตร์ปกปิด. กรุงเทพ: ริเวอร์ บุ๊คส์, 2563.

ลลิตา หาญวงศ์, “ว่าด้วยภาษา การเหยียดเชื้อชาติ และความเกลียดกลัวชาวมุสลิมในพม่า” ใน มติชนออนไลน์. 12 มิถุนายน 2563. https://www.matichon.co.th/article/news_2222890 (สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2566)

วรรณรัตน์ อินทร์อ่ำ, ศิลปะพื้นบ้าน. กรุงเทพฯ : แสงศิลป์การพิมพ์, 2535.

ศูนย์ใบลานศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, พับสาวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดน่าน. 24 เมษายน 2566. https://web.facebook.com/palmleave.cmru/posts/pfbid038Q5ovQsHZ9ybrgsZLf4x 53yh7ZwZtCBGEXoVRfgnzi4qHyNx35S8LtAZiSiP2qq1l (สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2566)

สุจิตต์ วงศ์เทศ, “กุลาร้องไห้ เมื่อค้าขายต้องเดินทางข้ามทุ่งกุลา” ใน มติชนออนไลน์. 14 สิงหาคม 2559. https://www.matichon.co.th/columnists/news_245558 (สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2566)

สุจิตต์ วงศ์เทศ, “สุจิตต์ วงศ์เทศ ไปอุบล พบคนกุลา (ทุ่งกุลาร้องไห้) เชื้อสายไทใหญ่ในพม่า” ใน มติชนออนไลน์. 10 สิงหาคม 2559. https://www.matichon.co.th/columnists/news_245558 (สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2566)

สุธิดา ตันเลิศ และ พัชรี ธานี, “ประวัติศาสตร์กุลา” ใน วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. 12, 1. (2559)

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, บทวิทยุรายการ รู้ รัก ภาษาไทย ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น. “ฝรั่งมังค่า”. http://legacy.orst.go.th/?knowledges=ฝรั่งมังค่า-๑๐-กันยายน-๒ (สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2566)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save