fbpx

รัฐไทย/สยามกับชื่อบ้านนามเมืองล้านนา

ชื่อบ้านนามเมืองหรือภูมินาม (toponymy) ไม่เพียงเป็นคำที่ใช้เรียกชื่อบ้านเมืองหรือพื้นที่เท่านั้น แต่ยังเป็นภาพสะท้อนระบบวิธีคิดของคนในพื้นที่อีกด้วย เพราะชื่อเรียกของพื้นที่ย่อมตั้งขึ้นจากสิ่งที่เป็นจุดเด่นหรือเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ของพื้นที่นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางภูมิศาสตร์/ภูมิประเทศ ประวัติศาสตร์ ตำนาน ความเชื่อ กระทั่งเรื่องเล่าขานและนิทานปรัมปรา ตามแต่ว่าคนในพื้นที่จะเห็นว่าสิ่งใดสำคัญมากพอจะนำมาตั้งเป็นชื่อใช้เรียกพื้นที่ที่พวกตนผูกพันด้วย

ในสังคมคำเมืองหรือภาษาไทยล้านนาเองก็มีระบบการตั้งชื่อบ้านนามเมืองเป็นการเฉพาะเช่นกัน เช่น ชื่อของ ‘บ้าน’ นิยมตั้งตามลักษณะทางภูมิศาสตร์หรือภูมิประเทศ จึงเห็นชื่อหมู่บ้านประกอบด้วยคำว่าป่า ปง (พง) หนอง สัน ปาง ดอย ฯลฯ เป็นจำนวนมาก บางชื่อตั้งตามตำนานบางเรื่อง (ซึ่งตำนานบางเรื่องก็แต่งขึ้นหลังจากมีชื่อนั้นปรากฏมาก่อนแล้ว) ส่วนชื่อของ ‘เมือง’ มีชุดคำยอดนิยมสำหรับตั้งชื่อเมือง เช่น คำว่า ‘เชียง’ บ้างแปลว่าเมืองขนาดใหญ่ บ้างแปลว่าเมืองที่มีเสาไม้หลักเมือง เชียงที่ตั้งโดยพญามังรายจึงชื่อว่า ‘เชียงราย’ เชียงที่ตั้งโดยพญาแสนภูจึงชื่อว่า ‘เชียงแสน’ และเชียงที่ตั้งขึ้นมาใหม่จึงชื่อว่า ‘เชียงใหม่’ เป็นต้น อีกคำหนึ่งที่นิยมใช้คือ ‘เวียง’ หมายถึงเมืองที่มีคูขอบกำแพงรอบล้อม อีกนัยหนึ่งคือเป็นศูนย์อำนาจของพื้นที่รอบๆ ในปัจจุบันยังหมายถึง ‘ตัวเมือง’ เช่น เวียงที่มีต้นสามากได้ชื่อว่า ‘เวียงสา’ และเวียงที่กล่าวกันว่าสร้างขึ้นโดยพระองค์ไชยนารายณ์ก็ได้ชื่อว่า ‘เวียงชัย’ เป็นต้น

ชื่อบ้านนามเมืองบางชื่อ เมื่อเวลาผ่านไปก็เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา เช่น เมืองภูกามยาว นานไปก็แปรชื่อเป็นเมืองพะยาวหรือพะเยาในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เมื่อล้านนาถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยามหรือรัฐไทยแล้วนั้น ชื่อบ้านนามเมืองในล้านนาดูจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยอัตราเร่งที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะข้าหลวงหรือข้าราชการชาวไทยสยามที่รัฐบาลกรุงเทพส่งมาปกครองล้านนานั้นไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมล้านนา เมื่อต้องสำรวจและบันทึกชื่อบ้านนามเมืองต่างๆ ไว้ในทางทะเบียนจึงเกิดความผิดเพี้ยนขึ้นไม่มากก็น้อย

ตัวอย่างความผิดเพี้ยนที่เกิดขึ้น เช่น ชื่อของจังหวัดแพร่ เดิมในเอกสารล้านนาเรียกว่า ‘แพล่’ ออกเสียงว่า ‘แป้’ ซึ่งตรงกับเสียงอ่านในภาษาคำเมือง อย่างไรก็ตาม เมื่อราชสำนักสยามได้รู้จักเมืองนี้คงเห็นว่าชื่อดังกล่าวไม่มีความหมายอะไรในภาษาไทยสยามจึงเปลี่ยนเป็น ‘แพร่’ จากอักขรวิธีดังกล่าว ออกเสียงอ่านในภาษาคำเมืองได้ว่า ‘แพ่’ ซึ่งไม่มีใครพูดกัน และเมื่อลองแปลความหมายของชื่อดูแล้วก็รู้สึกแปลกๆ พิลึก

อีกชื่อหนึ่งคือชื่ออำเภอพาน จังหวัดเชียงราย หากตีความตามชื่ออาจพากันเข้าใจว่าคงจะมีความเกี่ยวข้องกับพานหรือภาชนะบางอย่าง แท้จริงแล้ว เอกสารล้านนาเรียกชื่อเมืองนี้ว่า ‘พราน’ หรือ ‘แช่พราน’ ออกเสียงว่า ‘พาน’ เหมือนกันแต่หมายถึงนายพราน ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับภาชนะปากกว้างแต่อย่างใด เนื่องจากคนเมืองเรียกภาชนะประเภทนี้ว่า ‘ขัน’ เช่น ‘ขันตั้ง’ คือพานบูชา ‘ขันแก้วทังสาม’ คือพานบูชาพระรัตนตรัย เป็นต้น ไม่ได้ใช้คำว่า ‘พาน’ เหมือนคนไทยสยามแต่อย่างใด

ปัญหาของการเขียนชื่อบ้านนามเมืองอีกประเภทคือไม่รู้จะเขียนตามตัวสะกดเก่าเพื่อรักษาความหมายหรือเขียนตามเสียงอ่านภาษาไทยล้านนาที่หูของข้าราชการ/ข้าหลวงได้ยินดี เช่น ชื่ออำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ชื่อดังกล่าวมาจากชื่อแม่น้ำสายหนึ่งคือแม่น้ำจัน แต่ชื่อแม่น้ำนี้ก็ชวนให้สับสนต่อว่าหมายถึงอะไร? พระจันทร์? ลูกจันทน์? กระทั่งเพื่อนคนเมืองของผู้เขียนที่ไม่ได้อยู่เชียงรายบางคนยังสับสนว่าควรจะอ่านชื่ออำเภอนี้ว่าแม่จันหรือแม่จั๋นดี แท้จริงแล้ว ชื่อแม่น้ำจันนี้ เขียนเป็นอักษรไทยล้านนาว่า ‘แม่ชัน’ ซึ่งไหลมาจากดอยชื่อว่า ‘ดอยชัน’ ออกเสียงว่า ‘แม่จัน’ และ ‘ดอยจัน’ ตามลำดับ เมื่อได้อ่านรูปสะกดเดิมแล้วก็เป็นอันยุติว่าชื่ออำเภอดังกล่าวหมายถึงอะไร

ความผิดเพี้ยนเปลี่ยนแปลงของชื่อบ้านนามเมืองล้านนาอันเนื่องจากความเข้าใจผิดของข้าหลวง/ข้าราชการชาวไทยสยามครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นกับชื่อจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นจังหวัดของผู้เขียนเอง เดิมเมืองลำปางมีชื่อว่า ‘ลคร’ อ่านออกเสียงว่า ‘ล่ะกอน’ เพี้ยนมาจากคำว่า ‘นคร’ ซึ่งย่อมาจาก ‘เขลางค์นคร’ อีกทอด การย่อชื่อลักษณะนี้คล้ายกับที่คนไทยสยามในอดีตเรียกเมืองนครศรีธรรมราชสั้นๆ ว่า ‘ลคร’ เช่นกัน ส่วนคำว่า ‘ลำปาง’ นั้น สะกดว่า ‘ลำพาง’ ออกเสียงว่า ‘ลำปาง’ เป็นชื่อของพระธาตุลำปางหลวงซึ่งเดิมเรียกว่า ‘พระลำปาง’ หรือ ‘วัดลำปาง’ รวมถึงเวียงที่ตั้งรอบล้อมพระธาตุ (บริเวณอำเภอเกาะคาปัจจุบัน) ก็เรียกว่า ‘เวียงลำพาง’ หรือที่ออกเสียงว่าเวียงลำปางเช่นกัน

ต่อมาเมื่อล้านนาตกเป็นประเทศราชของสยาม จึงมีการนำคำทั้งสองมารวมกันเป็นชื่อใหม่ว่า ‘นครลำปาง’ ปัญหามีอยู่ว่าในเวลาต่อมาเมื่อรัฐสยามดำเนินนโยบายยกเลิกระบบประเทศราชนั้น สถานะของ ‘นครรัฐประเทศราช’ ซึ่งปกครองตัวเองกันอย่างกึ่งอิสระก็ถูกเปลี่ยนให้เป็น ‘จังหวัด’ ภายใต้โครงสร้างระบบราชการส่วนภูมิภาค นครน่าน นครเชียงใหม่ นครลำพูนไชย ต่างถูกเปลี่ยนเป็นจังหวัดน่าน จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูนทั้งสิ้น ในส่วนของเมืองนครลำปาง ในขั้นแรกก็ใช้ชื่อว่าจังหวัดนครลำปาง แต่ต่อมาถูกตัดชื่อเป็น ‘จังหวัดลำปาง’ ห้วนๆ ทำนองว่ารัฐสยามคงไม่ทราบว่า ‘นคร’ เป็นชื่อเฉพาะเหมือนนครสวรรค์ นครปฐม นครพนม ฯลฯ หรืออาจจะให้คู่กับ ‘ลำพูน’ (ซึ่งภาษาคำเมืองก็ไม่ได้ใช้คำว่าลำพูน แต่เรียกว่าลพูร ออกเสียงว่า ล่ะปูน ย่อมาจากหริภุญชัย) ก็เป็นได้

ชื่อนครลำปางจึงเหลือเพียงบนป้ายสถานีรถไฟเท่านั้น

ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง

เหล่านี้คือตัวอย่างของชื่อบ้านนามเมืองล้านนาที่ ‘เพี้ยน’ หรือเปลี่ยนแปรไปด้วยความเข้าใจผิดและความไม่รู้ อย่างไรก็ตาม ยังมีชื่อบ้านนามเมืองอีกจำนวนหนึ่งที่ถูก ‘แก้’ หรือตั้งใจสร้างชื่อบ้านนามเมืองใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับชื่อบ้านนามเมืองที่มีอยู่เดิม ชื่อบ้านนามเมือง ‘ที่เพิ่งสร้าง’ ดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นช่วงท้ายของสงครามเย็นในประเทศไทย อันเป็นช่วงเวลาที่ฝ่ายปฏิวัติภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ต่อสู้ขับเคี่ยวกันด้วยอาวุธกับฝ่ายอำนาจรัฐไทย โดยภาคเหนือถือเป็นเขตเคลื่อนไหวสำคัญของฝ่ายปฏิวัติจนหลายพื้นที่ถูกหน่วยความมั่นคงจัดให้เป็น ‘พื้นที่สีแดง’ หรือพื้นที่ที่มีการจัดตั้งของฝ่ายปฏิวัติอย่างเข้มแข็ง เมื่อการต่อสู้ของฝ่ายปฏิวัติอ่อนกำลังลงจนเกิดสภาวะ ‘ป่าแตก’ และนำมาสู่การสิ้นสุดสงครามเย็น ชื่อบ้านนามเมืองของบางพื้นที่ที่เคยมีการต่อสู้ของฝ่ายปฏิวัติก็ถูกตั้งใหม่ให้สอดรับกับวาระทางการเมืองของรัฐไทยในยุคหลังสงครามเย็น หรืออีกนัยคือตั้งชื่อ ‘ข่ม’ การเคลื่อนไหวของขบวนการคอมมิวนิสต์ในตัว

การแก้ชื่อบ้านนามเมืองใหม่เพื่อวัตถุประสงค์นี้พบเห็นได้ ทั้งระดับที่เป็น ‘ชื่อบ้าน’ และ ‘นามเมือง’ สำหรับชื่อบ้านหรือตำบลต่างๆ นั้น วิธีแก้ชื่อที่ง่ายที่สุดคือเพิ่มคำทำนองว่า ‘พัฒนา สามัคคี รวมใจ’ เป็นสร้อยชื่อต่อท้ายจากชื่อเดิม ไม่เช่นนั้นก็ตั้งชื่อใหม่โดยสิ้นเชิง เช่น บ้านน้ำสาวในอำเภอปง จังหวัดพะเยา เคยเป็นเขตงาน 24/7 ของ พคท. เมื่อการต่อสู้สิ้นสุดลงแล้วก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านสันติสุข หรือบ้านหินแตกบนดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย เมื่อกลุ่มทหารจีนคณะชาติสังกัดกองพล 93 ที่พลัดถิ่นมาปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่และร่วมมือกับรัฐไทยต่อสู้กับกองกำลังฝ่ายปฏิวัติ ก็เปลี่ยนชื่อเป็นบ้าน/ตำบลเทอดไทย เป็นต้น

ในระดับที่เป็น ‘นามเมือง’ นั้น มีหลายอำเภอในหลายจังหวัดถูกแก้ชื่อใหม่ในทำนองเดียวกัน เช่น จังหวัดน่านซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานที่มั่นน่านเหนือน่านใต้ ถือเป็นพื้นที่ต่อสู้สำคัญของ พคท. มีสองอำเภอที่ถูกแก้ชื่อใหม่ให้สอดคล้องกับอุดมการณ์รัฐไทย ได้แก่ อำเภอสันติสุขซึ่งแยกตัวมาจากอำเภอเมืองน่านและอำเภอแม่จริม เดิมมีชื่อว่า ‘เมืองพง’ หรือ ‘เมืองพงษ์’ สันนิษฐานว่าชื่อดังกล่าวได้มาจากที่มีชาวไทลื้อจากเมืองพงในสิบสองพันนาถูกกวาดต้อนมาอยู่ในเมืองน่านตามนโยบาย ‘เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง’ ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นจำนวนมาก ชื่อเมืองพงดังกล่าวยังรักษาไว้ในชื่อของตำบลพงษ์และตำบลดู่พงษ์ พื้นที่นี้ถือเป็นพื้นที่ที่มีการเคลื่อนไหวต่อสู้ของ พคท. อย่างเข้มข้น ใน พ.ศ.2524 ฝ่ายรัฐไทยจึงแยกพื้นที่ดังกล่าวมาจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอสันติสุข ก่อนจะยกขึ้นเป็นอำเภออย่างสมบูรณ์ใน พ.ศ.2537 อีกอำเภอหนึ่งคืออำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งแยกมาจากอำเภอทุ่งช้างและอำเภอบ่อเกลือ เดิมทีเรียกกันว่าห้วยโก๋น เป็นที่ตั้งของ ‘สำนัก 708’ หรือศูนย์กลางของ พคท. เมื่อการต่อสู้ของขบวนการคอมมิวนิสต์สิ้นสุดลงแล้ว พื้นที่ดังกล่าวถูกจัดตั้งให้เป็น ‘อำเภอเฉลิมพระเกียรติ’ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในโอกาสครอบรอบการครองราชย์ 50 ปี โดยการจัดตั้งครั้งนั้น เป็นการจั้งตั้งด้วยวิธีการพิเศษ ไม่ต้องผ่านขั้นตอนปกติซึ่งจะต้องเป็นกิ่งอำเภอก่อนแล้วค่อยยกฐานะเป็นอำเภอแต่อย่างใด

นับเป็นการตั้งชื่อข่มนามอย่างเด็ดขาดของฝ่ายอำนาจรัฐไทยเหนือฝ่ายปฏิวัติ

สำนัก 708 ภูพยัคฆ์ ภาพถ่ายโดยผู้เขียน

ชื่อบ้านนามเมืองอีกชื่อหนึ่งซึ่งถูก ‘ประดิษฐ์’ ขึ้นโดยมีความเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์รัฐไทย บรรยากาศทางการเมืองระหว่าง/หลังความขัดแย้งช่วงสงครามเย็น และยังคงใช้กันอย่างแพร่หลายได้แก่ชื่อ ‘แม่ฟ้าหลวง’ ชื่อนี้เชื่อกันว่ามีที่มาจากคำที่กลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งก็น่าฉงนใจอยู่ไม่น้อยเพราะนอกจากคำเล่าขานซึ่งปรากฏในสื่อของหน่วยราชการหลายที่แล้วไม่พบว่ามีคำนี้อยู่ในภาษาไหน กระทั่งในภาษาคำเมืองก็ไม่เคยเห็นการเรียกกษัตริย์หรือราชินีว่า ‘พ่อฟ้า’ หรือ ‘แม่ฟ้า’ แต่อย่างใด หากเรียกก็เรียกว่า ‘เจ้าฟ้า’ หรือ ‘ฟ้า’ ไม่เช่นนั้นก็เป็น ‘เจ้าพ่อ/เจ้าแม่’ สำหรับคำว่าแม่ฟ้านั้น ผู้เขียนไม่เคยได้ยินว่ามีการใช้ที่ใดนอกจากในชื่ออำเภอนี้ และรูปคำก็ชวนให้นึกถึง ‘ผีฟ้า’ ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในระบบผีล้านนา หรือไม่เช่นนั้นก็คือ ‘แมงแม่ฝน’ ซึ่งเป็นด้วงชนิดหนึ่งคู่กับ ‘แมงแม่แดด’ จะมีบางถิ่นเรียกเป็นแมงแม่ฟ้าหรือไม่ผู้เขียนไม่ทราบ และที่สำคัญ ธรรมเนียมการตั้งชื่อสถานที่โดยใช้คำว่า ‘แม่’ นั้น ใช้หมายถึงแม่น้ำเท่านั้น ซึ่งไม่ปรากฏว่าในล้านนามีแม่น้ำชื่อฟ้าหลวงแต่อย่างใด

แมงแม่ฝน / ที่มาภาพ: flickr

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เมื่อคำนึงถึงตำนานที่หน่วยราชการนำมาเล่าขานซ้ำๆ รวมถึงข้อเท็จจริงว่าชื่อ ‘แม่ฟ้าหลวง’ เป็นที่นิยมใช้กันมากหลังจากที่มีการปลูกสร้างพระตำหนักดอยตุง จนถึงขั้นมีการแยกบริเวณตะวันตกของอำเภอแม่จันมาจัดตั้งเป็นอำเภอใหม่โดยใช้ชื่อดังกล่าวในเวลาไล่เลี่ยกับการตั้งอำเภอเฉลิมพระเกียรติของจังหวัดน่าน โดยพื้นที่อำเภอนั้นเป็นที่ตั้งของทหารจีนคณะชาติกองพล 93 ดังที่กล่าวมา และเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของฝ่ายอำนาจรัฐไทยในการต่อสู้กับฝ่ายปฏิวัติในจังหวัดเชียงราย คงจะกล่าวได้ว่าชื่อ ‘แม่ฟ้าหลวง’ เป็นหนึ่งในเครื่องแสดงชัยชนะของกระแสราชาชาตินิยมเหนือกระแสคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็นที่ยังปรากฏในพื้นที่วัฒนธรรมล้านนา

กระทั่งเมื่อ พ.ศ.2552 นี้เองที่มีการจัดตั้งอำเภอขึ้นใหม่ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยแยกเอาตำบลของอำเภอแม่แจ่มที่มีโครงการในพระราชดำริหรือ ‘โครงการหลวง’ ตั้งอยู่หลายโครงการ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลบ้านจันทร์ ตำบลแจ่มหลวง และตำบลแม่แดดมาตั้งเป็นอำเภอใหม่ การแยกอำเภอนี้ได้เสนอกันไว้นานแล้ว โดยชื่อที่เตรียมไว้แต่แรกนั้นคือ ‘อำเภอวัดจันทร์’ ซึ่งตั้งตามชื่อวัดสำคัญในพื้นที่ แต่แล้วรัฐบาลในขณะนั้นซึ่งนำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกลับตั้งชื่ออำเภอที่แยกมาใหม่นี้ว่า ‘อำเภอกัลยาณิวัฒนา’ เพื่อ ‘เฉลิมพระเกียรติ’ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาที่เพิ่งล่วงลับไปหนึ่งปีก่อนหน้านั้น โดยการตั้งชื่อดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่ตึงเครียด มีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลโดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่ามีฐานมวลชนสนับสนุนในจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างมาก จึงอาจมองได้ว่าเป็นการตั้งชื่ออำเภอเพื่อ ‘ข่มเสื้อแดง’ คล้ายกับที่ตั้งชื่อ ‘ข่มคอมมิวนิสต์’ ก่อนหน้านี้

จากตัวอย่างทั้งหมดที่ยกมาน่าจะพอแสดงให้เห็นได้ว่า ‘ชื่อบ้านนามเมือง’ เป็นมากกว่าคำที่ใช้เรียกชุมชนหรือพื้นที่เพียงเท่านั้น เพราะนอกจากชื่อบ้านนามเมืองจะแสดงภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ตำนาน ความเชื่อ ฯลฯ ของพื้นที่และชุมชนดังที่เข้าใจได้ทั่วไปแล้ว ชื่อบ้านนามเมืองยังเกี่ยวพันกับสถานการณ์ทางการเมืองในพื้นที่นั้นๆ ทั้งยังเป็นเครื่องมือสำหรับแสดงอำนาจเหนือพื้นที่และควบคุมอัตลักษณ์ของผู้คน รวมถึงประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อเปลี่ยนชื่อบ้านนามเมืองไปได้แล้ว ก็ย่อมเปลี่ยนประวัติบ้านตำนานเมืองต่อไปได้ไม่ยาก ด้วยเหตุว่าเมื่อผู้คนสนใจศึกษาเรื่องราวของท้องถิ่นตนก็มักเริ่มต้นจากการหาความหมายของชื่อบ้านนามเมืองนั่นเอง

สำหรับชื่อบ้านนามเมืองที่ถูกเปลี่ยนไปแล้ว สมควรจะเปลี่ยนกลับเป็นชื่อท้องถิ่นหรือไม่ หรือจะสามารถเปลี่ยนกลับมาได้หรือเปล่านั้น ก็คงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าต้องการเห็นพื้นที่นั้นๆ ผูกโยงกับอัตลักษณ์ชุดใด ดังเช่นในกรณีที่ยกมา หากจะนับว่าการเปลี่ยนชื่อบ้านนามเมืองในยุคสงครามเย็นก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ก็ได้ แต่ก็คงจะต้องใคร่ครวญให้ดีว่า ‘บ้านเมือง’ ต่างๆ ควรจะผูกโยง ‘ชื่อบ้านนามเมือง’ ที่แสดงประวัติศาสตร์ที่มีมาแต่ต้น หรือแสดงเพียงประวัติศาสตร์ยุคสงครามเย็น ที่เพิ่งสร้างมาระยะสั้นๆ ไม่กี่สิบปีนี้

สุดท้ายแล้ว ชื่อคืออัตลักษณ์ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในสังคมมนุษย์ ชื่อบ้านนามเมืองที่มีรากหยั่งลึกในประวัติศาสตร์ สอดคล้องกับสภาพจริงของพื้นที่ และเกิดขึ้นในพื้นที่เองย่อมสร้างอัตลักษณ์ที่เก่าแก่และใกล้ตัวให้กับคนในพื้นที่ทุกท้องถิ่น อันจะยึดโยงผู้คนเข้ากับตัวตนและรากเหง้าของพื้นที่ตามที่เป็น ในทางกลับกัน ชื่อบ้านนามเมืองที่เพิ่งสร้างไม่สอดคล้องกับสภาพจริงของพื้นที่ และถูกประดิษฐ์จากความคิดความเข้าใจของรัฐส่วนกลางย่อมสร้างอัตลักษณ์ที่ ‘ปลอม’ ‘ไกลตัว’ และ ‘ผูกติดกับส่วนกลาง’ ซึ่งจะผลักผู้คนให้ห่างออกจากตัวตนและรากเหง้าของพื้นที่เช่นกัน

การสร้างสำนึกท้องถิ่นหรือสำนึก ‘รักบ้านเกิด’ ที่รณรงค์กันมายาวนานนั้น ส่วนหนึ่งอาจทำได้จากเรื่องเล็กๆ ที่ไม่เล็ก เช่นการปรับแก้ชื่อบ้านนามเมืองให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในแต่ละท้องถิ่นนั่นเอง


เอกสารอ้างอิง

ชำนิ ศักดิเศรษฐ์, บุญช่วย จีนาพันธุ์, กระทู้: การยกฐานะกิ่งอำเภอวัดจันทร์ จังหวัดเชียงใหม่, ใน รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 8/วันที่ 24 ธันวาคม 2541 https://dl.parliament.go.th/backoffice/viewer2300/web/viewer.php สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2565

ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.2552. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2552/A/097/7.PDF สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2565

ภิญญพันธุ์ พจนลาวัณย์, ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของการเรียกชื่อเมืองเขลางค์ เวียงละกอน และลำปาง. วารสารสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ปริทัศน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. ฉบับที่ 1 ปีที่ 1 พ.ศ.2556. หน้า 53-82

องค์การบริหารส่วนตำบลขุนควร, บ้านสันติสุข หมู่ที่ 7. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก http://khunkhuan.go.th/index.php/84-2015-05-22-01-4?hitcount=0 สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2565

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save