fbpx

คีฟ (Kyiv) หรือ เคียฟ (Kiev) – การเอ่ยนามนั้นสำคัญใช่ไหมล่ะ

เคยเล่นเกมตอบคำถามจำพวกความรู้รอบตัว อย่างการทายชื่อจังหวัดในประเทศไทย ทายชื่อเมืองหลวงของประเทศต่างๆ ทายชื่อประเทศจากรูปร่างบนแผนที่หรือธงชาติ กันไหมครับ ถ้าเคยเล่น พอจะจำได้ไหมว่าเราเริ่มเล่นอะไรแบบนี้กันได้อย่างไร ทำไมการรู้เรื่องเชิงภูมิศาสตร์พวกนี้มันจึงกลายมาเป็นการละเล่น นัยของการเล่นเกมพวกนี้คืออะไร แล้วพอจะจำได้ไหมว่าเราออกเสียงชื่อเมืองหรือชื่อประเทศอื่นด้วยภาษาอะไร หรือสำเนียงแบบไหน

ถ้าถามว่าเมืองหลวงของประเทศไทยชื่ออะไร จะตอบว่าอะไรครับ ‘กรุงเทพมหานคร’ ‘บางกอก’ ‘แบ๊งค็อก’ หรือ ‘พระนคร’ แล้วเมืองหลวงของยูเครนล่ะครับ พอจะทราบไหมครับว่าชื่ออะไร

เมื่อราวๆ สองสัปดาห์ก่อน หากยังจำกันได้ หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขการกำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง[i] อาจสังเกตได้ว่าเรื่องที่เถียงกันโดยทั่วไปคงอยู่ที่ชื่อเรียกภาษาอังกฤษของกรุงเทพมหานคร บางคนถามว่าการเปลี่ยนให้เป็น Krung Thep Maha Nakhon แทนที่ Bangkok นั้นจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยอย่างไร บางคนเห็นเป็นเรื่องขำขัน ขณะที่บางความเห็นถือว่าเป็นเรื่องไร้สาระและสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ กระทั่งเพียงไม่ถึงหนึ่งวัน ราชบัณฑิตยสภาต้องออกมาประกาศว่ายังคงใช้ได้ทั้งสองแบบ[ii] กระแสการถกเถียง (และล้อเลียน) จึงดูจะลดราลงไป แต่ไม่ว่าจะเห็นอย่างไร บางทีอาจต้องกลับไปถามสักหน่อยไหมว่า การปรับเปลี่ยนชื่อเรียกเหล่านี้เป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ขนาดนั้นเลยหรือ เพราะถ้าเปล่าประโยชน์ขนาดนั้นจะมาเสียเวลาทุ่มเถียงกันไปเพื่ออะไร

สำหรับราชบัณฑิตยสภาแล้ว การปรับเปลี่ยนเหล่านี้ย่อมไม่ใช่เรื่องเปล่าประโยชน์แน่นอน ไม่ใช่เพราะมันเป็นหน้าที่ของราชบัณฑิตยสภาอยู่แล้ว แต่หากพูดตามข้อความในประกาศเหตุผลของเขาก็ชัดเจนว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงตามแต่สถานการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป บางประเทศเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง เปลี่ยนเมืองหลวง เปลี่ยนชื่อประเทศ การปรับปรุงประกาศเหล่านี้จึงไม่ใช่แค่หน้าที่ แต่เป็นความรับผิดชอบ (ก็จะให้เรียก ‘สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล’ ว่า ‘ราชอาณาจักรเนปาล’ อย่างในอดีตได้อย่างไร ใช่ไหมล่ะครับ)

อย่างน้อยๆ สำหรับผมแล้ว ความน่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ราชบัณฑิตยสภามีความพยายามที่จะเพิ่มเติมชื่อ “ตามการออกเสียงของเจ้าของภาษา และแก้ไขตัวสะกดชื่อตามหลักเกณฑ์การทับศัพท์” ที่ราชบัณฑิตยสภาปรับปรุงและจัดทำขึ้นมาโดยตลอด[iii] (เท่าที่เชื่อว่าจะถอดถ่ายสุ้มเสียงของคำนั้นมาอยู่ในภาษาไทยได้) เราจึงได้เห็นการพยายามถ่ายเสียง Kuala Lumpur ในสองแบบคือ ‘กัวลาลัมเปอร์’ และ ‘กัวลาลุมปูร์’ หรือ Bandar Seri Begawan ให้มีทั้ง ‘บันดาร์เสรีเบกาวัน’ และ ‘บันดาร์เซอรีเบอกาวัน’ รวมไปถึงได้เห็นทั้ง Rome (โรม) และ Roma (โรมา) ตลอดจน Munich (มิวนิก) และ München (มึนเชิน) (ซึ่งถ้าผมเข้าใจไม่ผิด กรณีมิวนิก-มึนเชิน มีเพิ่มเติมมาตั้งแต่ประกาศ พ.ศ. 2544 แล้วด้วยซ้ำ) แต่ถึงอย่างนั้น ปารีส มอสโก และเคียฟ ก็ยังคงมีคำอ่านเพียงแบบเดียวเช่นเดิม แล้วมันมีอะไรน่าสนใจตรงไหน

สำหรับคำหลังสุดอย่าง ‘เคียฟ’ เรื่องที่น่าพูดถึงคงเป็นเรื่องตัวคำและการออกเสียง เพราะหากดูในประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ลงวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564[iv] อันเป็นประกาศที่มติคณะรัฐมนตรีอ้างอิงถึงนั้น ก็จะเห็นว่าชื่อภาษาอังกฤษของเมืองหลวงของประเทศยูเครนนั้นใช้ว่า ‘Kyiv’ ในขณะที่ในภาษาไทยสะกดว่า ‘เคียฟ’ และถ้าไปเปิดดูข้อมูลของประเทศยูเครนจากเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศของไทย[v] ก็จะพบในลักษณะเดียวกันว่า ในภาษาไทยเขียนว่า ‘เคียฟ’ แต่ภาษาอังกฤษเขียนว่า ‘Kyiv’

ถ้าอย่างนั้นแล้วสองคำนี้ต่างกันตรงไหน แล้วความต่างกันตรงนี้สำคัญอย่างไร

แน่ล่ะ เนื่องเพราะความสนใจนี้คงไม่สามารถเกิดขึ้นจากสุญญากาศได้ เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงตระหนักได้ไม่ยากว่าจุดตั้งต้นที่ทำให้ผมเขียนข้อเขียนสั้นๆ นี้ก็คือการที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน เพราะหากไม่มีกรณีนี้ ผมคงไม่ได้ไปสังเกตการระบุชื่อเมืองหลวงของยูเครนในประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภา แล้วถ้าอย่างนั้น เมืองหลวงของยูเครนมีชื่อว่าอะไรครับ

ถ้าตอบตามประกาศของราชบัณฑิตฯ ก็คงตอบว่า ‘เคียฟ’ (Kyiv) และถ้าอ่านแล้วเชื่อตามนั้น ก็คงจะพลอยทึกทักไปได้ง่ายๆ ว่า ‘เคียฟ’ เป็นการถอดเสียงมาจากการสะกดว่า ‘Kyiv’ หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นครับ

เร็วๆ นี้ หากได้ติดตามฟังกรณีรัสเซียรุกรานยูเครนจากสื่อต่างประเทศ อาจจะพอได้ยินบ้างว่ามีการออกเสียงชื่อเมืองหลวงของยูเครนต่างกันไปในสองแบบด้วยกัน แบบหนึ่งก็คือคล้ายๆ ออกเสียงว่า ‘เคียฟ’ ส่วนอีกแบบหนึ่งก็คือคล้ายๆ จะเป็น ‘คีฟ’ ซึ่งแบบหลังต่างหากครับที่มาจากการสะกดในภาษาอังกฤษว่า Kyiv ส่วนเคียฟแบบแรกมาจากการสะกดว่า Kiev

การออกเสียงที่ต่างกันตรงนี้กำลังบอกอะไร

อาจจะสรุปง่ายๆ ได้ว่าการออกเสียงว่า ‘เคียฟ’ (คล้ายๆ การผสมเสียงแบบเร็วๆ ของเสียง ‘คี-เอฟ’ หรือ ‘คี-เยฟ’) มาจากการถอดเสียงแบบรัสเซีย ส่วนในภาษายูเครนเองจะออกเสียงว่า ‘คีฟ’ ‘คยิฟ’ หรือ ‘ควิฟ’ มากกว่า (คล้ายๆ การผสมเสียงแบบเร็วๆ ของเสียง ‘คี-อีฟ’ ‘คี-ยีฟ’ หรือ ‘คู-อีฟ’)[vi]

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าภาษารัสเซียและภาษายูเครนจะจัดว่าอยู่ในกลุ่มภาษาสลาฟตะวันออกเหมือนกัน ทว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองและพัฒนาการทางภาษาตลอดระยะเวลานับพันปีก็ทำให้ความแตกต่างทางภาษาปรากฏขึ้นในหลายลักษณะ ทั้งเสียงสระบางตัวที่ต่างกันออกไป หรือเสียงพยัญชนะบางเสียงที่มีในภาษายูเครน แต่ไม่มีในภาษารัสเซีย เป็นต้น[vii]

สำหรับชื่อ ‘คีฟ’ (Kyiv) ในภาษายูเครนนั้น ว่ากันว่ามาจากชื่อของพี่ชายคนโตจากสี่พี่น้อง คีย์ (Kyi) เช็ค (Shchek) เคอรีฟ (Khoryv) และ ลีบิด (Lybid) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้ก่อตั้งเมืองคีฟขึ้นในช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่ห้า ในขณะที่ชื่อ ‘เคียฟ’ (Kiev) ซึ่งเป็นการถอดเสียงและออกเสียงแบบรัสเซียนั้น เป็นชื่อที่ถูกทำให้เป็นมาตรฐานในสมัยสหภาพโซเวียต ดังนั้นจึงผูกโยงโดยตรงกับการเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต และกลายเป็นความเข้าใจต่อเนื่องมาในระดับนานาชาติ แม้กระทั่งตอนที่ยูเครนประกาศอิสรภาพจากสหภาพโซเวียตในปี 1991 ก็ยังคงใช้ชื่อเมืองหลวงว่า ‘เคียฟ’ ต่อมา แต่ความพยายามเปลี่ยนแปลงชื่อต่างๆ ก็เริ่มต้นขึ้นแล้ว จนกระทั่งปี 1995 รัฐบาลยูเครนประกาศให้เปลี่ยนการสะกดชื่อเมืองอย่างเป็นทางการให้เป็น ‘Kyiv’ แต่สำหรับหลายๆ ประเทศแล้ว การเรียกว่า ‘Kiev’ ยังคงถูกใช้ตามความเคยชินต่อมา[viii]

ความพยายามสำคัญในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงชื่อเรียกเมืองหลวงของยูเครนในระดับนานาชาติปรากฏชัดในช่วงปี 2018 หลังจากที่รัสเซียผนวกรวมไครเมีย เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของยูเครนเสนอแคมเปญรณรงค์ออนไลน์ #KyivNotKiev อันมีเป้าหมายเพื่อให้สื่อและองค์กรข้ามชาติเรียกชื่อเมืองหลวงของยูเครนในภาษาอังกฤษว่า Kyiv ตามการสะกดแบบรัฐบาลยูเครน แทนที่จะเรียกว่า Kiev ในแบบเดิม

แคมเปญดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ที่ใหญ่กว่า นั่นคือการเปลี่ยนชื่อเมืองอื่นๆ ที่มีที่มาจากภาษารัสเซียให้เป็นชื่อในภาษายูเครน ไม่ว่าจะเป็น ชื่อเมืองอย่าง Kharkov เปลี่ยนไปเป็น Kharkiv จาก Odessa เป็น Odesa จาก Lvov เปลี่ยนเป็น Lviv เป็นต้น[ix]

ว่ากันว่าสำหรับคนยูเครนรุ่นใหม่ๆ การเรียกชื่อเมืองว่าเคียฟนั้นถือว่าเป็นมรดกตกทอดอันเลวร้ายที่รัสเซียทิ้งไว้ให้จากสมัยสหภาพโซเวียต ขณะที่การเรียกตามภาษายูเครนนั้น จึงแสดงถึงการเคารพอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์มากกว่า[x]

ผมคงตอบไม่ได้ว่าทำไมราชบัณฑิตยสภา ตลอดจนกระทรวงการต่างประเทศ จึงนำ ‘เคียฟ’ และ ‘Kyiv’ มาปะปนกันดังที่ปรากฏในประกาศและเว็บไซต์ คงไม่ใช่การตีสองหน้าทางการทูตหรือแสดงความเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ทั้งรัสเซียและยูเครนอะไรแบบนั้น แต่ผมคิดว่าน่าจะเป็นความผิดพลาดอย่างไม่จงใจเสียมากกว่า และหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ ทั้งสองหน่วยงานก็น่าจะตระหนักได้ไม่ยากว่าการสะกดคำที่ต่างออกไปเพียงไม่กี่ตัวอักษรไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลยในกรณีนี้

ทั้งนี้ ก็เพราะว่าความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ภาษา’ หรือ ‘ถ้อยคำ’ กับ ‘สิ่งของ’ ใดๆ ที่ถ้อยคำหรือภาษาอ้างอิงถึง ถือเป็นเรื่องการเมืองในตัวของมันเอง อีกทั้งยังเป็นการเมืองที่อยู่กับเราทุกเมื่อเชื่อวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคำสรรพนาม คำนำหน้านาม ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ ชื่อเรียกสถานที่ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ชาติ และนานาชาติ ตลอดจนชื่อเรียกและการจัดประเภทสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งหลายแหล่ ก็ล้วนแต่เต็มไปด้วยข้อถกเถียงด้วยกันทั้งสิ้น

ด้วยเหตุที่ ‘ชื่อ’ และ ‘การเรียกชื่อ’ สัมพันธ์กับการเมือง เป็นเรื่องอ่อนไหว และเป็นไปได้มากที่จะเป็นพื้นที่ของความขัดแย้ง การเอ่ยนามหนึ่งๆ อย่างไร ด้วยภาษาหรือสำเนียงใด ย่อมเป็นเรื่องสำคัญ

ถ้าอย่างนั้นแล้ว ประเด็นว่าด้วยการเอ่ยนามสำคัญอย่างไรในขณะนี้ ผมคิดว่า ในภาวะสงครามอย่างที่เป็นอยู่ การแสดงออกอันดับแรกๆ ที่จะบอกว่าเรายืนอยู่ข้างประชาชนชาวยูเครน อาจเริ่มต้นจากการเอ่ยนามตามภาษาของพวกเขา และหากมีใครถามว่าเมืองหลวงของยูเครนชื่ออะไร ผมก็คงตอบว่า ‘คีฟ’ ล่ะครับ


[i] https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/51583

[ii] https://www.matichon.co.th/bullet-news-today/news_3186313

[iii] https://www.orst.go.th/pdfjs/web/viewer.html?file=/FILEROOM\CABROYINWEB\DRAWER002\GENERAL\DATA0002/00002408.PDF

[iv] https://www.orst.go.th/pdfjs/web/viewer.html?file=/FILEROOM\CABROYINWEB\DRAWER002\GENERAL\DATA0002/00002408.PDF

[v] https://www.mfa.go.th/th/content/5d5bcc2115e39c306000a1b8?cate=5d5bcb4e15e39c3060006870

[vi] https://www.theguardian.com/world/2022/feb/25/how-to-pronounce-and-spell-kyiv-kiev-ukraine-and-why-it-matters; https://qz.com/2133021/this-is-why-the-name-of-ukraines-capital-is-kyiv-not-kiev/; https://inews.co.uk/news/world/kiev-or-kyiv-spelling-ukraine-capital-city-changed-russia-conflict-explained-1420514  

[vii] https://www.theguardian.com/world/2022/feb/25/how-to-pronounce-and-spell-kyiv-kiev-ukraine-and-why-it-matters

[viii] https://inews.co.uk/news/world/kiev-or-kyiv-spelling-ukraine-capital-city-changed-russia-conflict-explained-1420514; https://www.independent.co.uk/news/world/americas/kyiv-kiev-ukraine-name-b2023400.html  

[ix] https://www.independent.co.uk/news/world/americas/kyiv-kiev-ukraine-name-b2023400.html

[x] https://inews.co.uk/news/world/kiev-or-kyiv-spelling-ukraine-capital-city-changed-russia-conflict-explained-1420514

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save