fbpx
ภูมิรัฐศาสตร์ว่าด้วยหมู่เกาะคูริล : ความสัมพันธ์รัสเซีย-ญี่ปุ่น ข้ามไม่พ้น 'มรดกตกทอด' ของสงครามโลกครั้งที่ 2 

ภูมิรัฐศาสตร์ว่าด้วยหมู่เกาะคูริล : ความสัมพันธ์รัสเซีย-ญี่ปุ่น ข้ามไม่พ้น ‘มรดกตกทอด’ ของสงครามโลกครั้งที่ 2 

จิตติภัทร พูนขำ เรื่อง

 

“ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในโลกที่ไม่สามารถยอมรับผลลัพธ์ของสงครามโลกครั้งที่สองได้อย่างเต็มที่” Sergey Lavrov รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าวไว้ไม่กี่วันก่อนหน้าที่การประชุมสุดยอดผู้นำระหว่าง ชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น กับวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เริ่มขึ้นที่กรุงมอสโก เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2019 เพื่อเจรจาหาข้อยุติกรณีพิพาทหมู่เกาะคูริล

ดูเหมือนการเจรจาระหว่างผู้นำรัสเซียกับญี่ปุ่นจะเผชิญกับทางตัน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ มีสัญญาณเชิงบวกที่ผู้นำทั้งสองประเทศมุ่งหมายจะลงนามในข้อตกลงสันติภาพและปักปันเขตแดนระหว่างประเทศ

บทความนี้สำรวจที่มาที่ไปของประเด็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่น ซึ่งก่อตัวมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จนกระทั่งปัจจุบัน รวมทั้งวิเคราะห์ผลประโยชน์แห่งชาติของรัสเซีย ซึ่งทำให้เป็นเรื่องยากที่รัสเซียจะปล่อยหมู่เกาะคูริลคืนให้แก่ญี่ปุ่นในเร็ววันนี้

 

1. มรดกตกทอดของสงครามโลกครั้งที่สองที่ยังไม่ยุติ ในเอเชีย-แปซิฟิก

 

หมู่เกาะคูริล (The Kuril Islands) เป็นพื้นที่พิพาทระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่นมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อสหภาพโซเวียตเข้ายึดครองหมู่เกาะดังกล่าวหลังความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น ในขณะที่ญี่ปุ่นมองว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยของตน และ “ถูกครอบครองอย่างผิดกฎหมายโดยรัสเซีย” จนทั้งสองฝ่ายไม่สามารถลงนามสนธิสัญญาสันติภาพยุติสงครามโลกครั้งที่สองระหว่างทั้งสองประเทศตราบจนกระทั่งปัจจุบัน

หมู่เกาะคูริลนั้นมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน โดยรัสเซียเรียกว่า ‘หมู่เกาะคูริลตอนใต้’ (Southern Kurils) ในขณะที่ญี่ปุ่นเรียกว่า ‘ดินแดนทางตอนเหนือ’ (Northern Territories) หมู่เกาะดังกล่าวตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะฮอกไกโดของญี่ปุ่น และอยู่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะ Sakhalin โดยหมู่เกาะคูริลตั้งอยู่ระหว่างทะเล Okhotsk ของรัสเซียกับมหาสมุทรแปซิฟิก

หมู่เกาะคูริลประกอบด้วย 4 เกาะสำคัญ ได้แก่ เกาะ Iturup (หรือ Etorofu ในชื่อญี่ปุ่น) เกาะ Kunashir (หรือ Kunashiri ในชื่อญี่ปุ่น) เกาะ Shikotan และเกาะ Habomai ซึ่งเป็นเพียงกลุ่มของเกาะเล็กเกาะน้อย ปัจจุบันมีประชากรชาวรัสเซียอาศัยอยู่บนเกาะสามเกาะแรกประมาณ 20,000 คน ส่วนเกาะเล็กๆ อย่าง Habomai ไม่มีผู้คนอาศัย รัสเซียเพียงแต่ส่งเรือลาดตระเวนเป็นครั้งคราวเท่านั้น

หมุดหมายสำคัญของข้อพิพาทเหนือหมู่เกาะคูริล คือ การประชุมที่ยัลต้าในเดือนกุมภาพันธ์ 1945 ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตร ผู้นำของสหภาพโซเวียตคือ โจเซฟ สตาลิน เข้าใจว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ แฟรงกลิน รูสเวสต์ ได้ให้คำมั่นสัญญากับสหภาพโซเวียตว่าจะยกหมู่เกาะคูริลให้กับรัสเซีย เพื่อแลกกับการที่รัสเซียจะเข้าร่วมสงครามต่อต้านญี่ปุ่น

ในเวลาต่อมา สหภาพโซเวียตได้เข้าสู่สงครามกับญี่ปุ่นในวันที่ 9 สิงหาคม 1945 ภายหลังจากที่สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูในฮิโรชิมาแล้ว กองทัพรัสเซียได้เข้ายึดครองหมู่เกาะคูริลเมื่อรัฐบาลทหารญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ สตาลิน กล่าวว่า หมู่เกาะคูริล “จะต้องไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือที่จะตัดขาดสหภาพโซเวียตออกจากมหาสมุทรแปซิฟิก แต่จะเป็นเครื่องมือที่จะเชื่อมโยงสหภาพโซเวียตเข้ากับมหาสมุทรดังกล่าว และเป็นฐานในการป้องกันความก้าวร้าวของญี่ปุ่น”

การครอบครองหมู่เกาะคูริล ทำให้ญี่ปุ่นไม่ยอมลงนามข้อตกลงสันติภาพเพื่อยุติสงครามกับรัสเซีย โดยเฉพาะ ‘ข้อกำหนดว่าด้วยความเป็นศัตรู’ (enemy clause) ในกฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา 107 ซึ่งระบุไว้ว่า “ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน จะทำให้ไม่สมบูรณ์หรือลบล้างซึ่งการดำเนินการในความเกี่ยวพันกับรัฐใดๆ ซึ่งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองได้เป็นศัตรูของรัฐใดๆ ที่ลงนามในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลที่รับผิดชอบการดำเนินการเช่นว่านั้นได้กระทำไป หรือได้ให้อำนาจกระทำไปโดยผลแห่งสงครามนั้น”

หมู่เกาะคูริลเป็นมรดกตกทอดของสงครามโลกครั้งที่สองที่ยังไม่มีหนทางออกร่วมกัน และส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อความสัมพันธ์รัสเซีย-ญี่ปุ่นในช่วงมากกว่า 7 ทศวรรษที่ผ่านมา

 

2. การบริหารจัดการข้อพิพาทหมู่เกาะคูริล : จากอดีตสู่ปัจจุบัน

 

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา รัสเซียและญี่ปุ่นพยายามที่จะเจรจาต่อรองเพื่อที่จะหาทางบรรลุปัญหาข้อพิพาทหมู่เกาะคูริลมาโดยตลอด แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นในสมัยสหภาพโซเวียตหรือสหพันธรัฐรัสเซีย ความยากลำบากของประเด็นปัญหานี้คือรัสเซียและญี่ปุ่นต่างมีท่าทีนโยบายที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ในด้านหนึ่ง รัสเซียต้องการให้ญี่ปุ่นลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับรัสเซียเสียก่อนที่จะมีการเจรจาใดๆ โดยรัสเซียต้องการให้ญี่ปุ่นยอมรับสถานะของตนเองในฐานะผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่สอง และยอมรับอำนาจอธิปไตยของรัสเซียเหนือหมู่เกาะคูริล ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ญี่ปุ่นต้องการให้มีการเจรจาเรื่องหมู่เกาะก่อนที่จะลงนามในข้อตกลงสันติภาพระหว่างกัน

ด้วยเหตุนี้ ความสัมพันธ์รัสเซีย-ญี่ปุ่นจึงเผชิญกับทางตัน และทำให้การเจรจาเพื่อปักปันเขตแดนนั้นไม่ไปไหน ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งสองรัฐอาศัยหรือพยายามผลักดันประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เช่น ข้อเสนอการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน และการส่งเสริมการค้าการลงทุน เป็นพลังขับเคลื่อนในการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศ

หากย้อนพินิจประเด็นปัญหาหมู่เกาะคูริลกลับไปในประวัติศาสตร์อย่างรวบรัด รัสเซียเริ่มสนใจหมู่เกาะคูริลตั้งแต่สมัยพระนางคัทลินมหาราช โดยรัสเซียได้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะดังกล่าวในปี 1786 โดยประกาศว่าหมู่เกาะคูริลได้รับการค้นพบโดย ‘นักสำรวจชาวรัสเซีย’ และด้วยเหตุนี้จึง “ต้องเป็นของรัสเซียอย่างไม่พักต้องสงสัย”

ข้อตกลงฉบับแรกระหว่างจักรวรรดิรัสเซียกับญี่ปุ่นคือ ข้อตกลงในปี 1855 ได้กำหนดพรมแดนระหว่างทั้งสองประเทศ โดยญี่ปุ่นได้กำหนดอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะทั้งสี่ และพิจารณาว่าเป็น “ส่วนหนึ่งของดินแดนญี่ปุ่น” อีก 20 ปีต่อมา สนธิสัญญาฉบับใหม่ในปี 1875 ได้ระบุให้หมู่เกาะคูริลเป็นของญี่ปุ่นทั้งหมด โดยแลกกับการที่รัสเซียมีอำนาจควบคุมเด็ดขาดเหนือเกาะ Sakhalin

อย่างไรก็ตาม ความพ่ายแพ้ของรัสเซียในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นในปี 1905 ทำให้ญี่ปุ่นได้กรรมสิทธิ์ครอบครองเกาะ Sakhalin ทางตอนใต้เพิ่มขึ้น จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อรัสเซียมีชัยเหนือญี่ปุ่น ทำให้หมู่เกาะคูริลกลับมาอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซีย จนกลายเป็นปมปัญหาที่ทำให้รัสเซียและญี่ปุ่นล้มเหลวที่จะลงนามในข้อตกลงสันติภาพระหว่างกัน

ในช่วงสมัยสหภาพโซเวียต นิกิต้า ครุสชอฟ ผู้นำของโซเวียต พยายามที่จะแก้ไขประเด็นปัญหาหมู่เกาะคูริลอย่างจริงจัง ในเดือนตุลาคม 1956 ทั้งสองประเทศได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมโซเวียต-ญี่ปุ่น ซึ่งประกาศยุติความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างเป็นทางการ และเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน แถลงการณ์ดังกล่าวยังยกเลิกการอ้างสิทธิ์ของรัสเซียต่อค่าปฏิกรรมสงครามของญี่ปุ่นอีกด้วย นัยสำคัญของแถลงการณ์นี้คือ รัสเซียสัญญาที่จะคืนหมู่เกาะสองหมู่เกาะ นั่นคือ Habomai และ Shikotan ให้แก่ญี่ปุ่น เมื่อญี่ปุ่นได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับรัสเซียแล้ว

กระนั้นก็ตาม พัฒนาการระหว่างประเทศในช่วงหลังปี 1956 ไม่ได้เอื้ออำนวยให้กระบวนการเจรจาระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่นเป็นไปอย่างราบรื่น เมื่อญี่ปุ่นได้พัฒนายกระดับพันธมิตรทางการทหารกับสหรัฐฯ โดยได้ลงนามในสนธิสัญญาความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ – ญี่ปุ่นในปี 1960 และอนุญาตให้สหรัฐฯ เข้ามาติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในดินแดนของญี่ปุ่น พันธมิตรทางการทหารดังกล่าวสร้างความหวาดระแวงให้แก่สหภาพโซเวียตเป็นอย่างมาก และทำให้รัสเซียไม่ได้หยิบยกข้อเสนอเรื่องการคืนหมู่เกาะทั้งสองขึ้นมาอีก

อาจกล่าวได้ว่า ภายใต้บริบทของสงครามเย็น ญี่ปุ่นเลือกอยู่ข้างโลกทุนนิยมประชาธิปไตย และสร้างพันธมิตรทางการทหารกับสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด จนทำให้การปรับความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียตกับญี่ปุ่นเป็นไปได้ยากลำบาก นอกจากนั้น เมื่อความสัมพันธ์โซเวียต – จีน ตกต่ำลง ในขณะที่ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น – จีนปรับตัวดีขึ้น ยิ่งทำให้ผู้นำของสหภาพโซเวียตมองว่ารัสเซียกำลังถูกสกัดกั้นจากมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น

ในช่วงปลายสงครามเย็น บริบทของสงครามเย็นถูกท้าทายด้วยวิกฤตภายในสหภาพโซเวียต นั่นคือ ปัญหาทางเศรษฐกิจและความต้องการความร่วมมือทางเศรษฐกิจจากตะวันตก รวมทั้งการเปลี่ยนวิถีคิดของผู้นำโซเวียตเอง กล่าวคือ มิคาอิล กอบาชอฟ หันไปดำเนินนโยบายปฏิรูประบบเศรษฐกิจการเมืองภายใน และมุ่งเน้นการปรับความสัมพันธ์อันดีกับโลกตะวันตกเป็นสำคัญ ความสัมพันธ์กับเอเชียรวมทั้งญี่ปุ่นไม่ได้รับความสำคัญเป็นวาระเร่งด่วน ต้องรอจนกระทั่งปลายทศวรรษที่ 1980 กอบาชอฟจึงหันมาสนใจเรื่องการเจรจาหาข้อยุติข้อพิพาทหมู่เกาะคูริล และนำมาสู่การเดินทางเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน 1991 แต่การปรับนโยบายกับญี่ปุ่นก็มาล่าช้าเกินไป ในปีนั้น สหภาพโซเวียตล่มสลาย อันเป็นการปิดฉากสงครามเย็น

ในช่วงหลังสงครามเย็น รัฐบาลรัสเซียทั้ง บอริส เยลต์ซิน และ วลาดีมีร์ ปูติน ต่างมีความพยายามในการปรับความสัมพันธ์ทวิภาคีกับญี่ปุ่น โดยหันมาใช้ปัจจัยทางภูมิเศรษฐศาสตร์ (geoeconomics) นั่นคือ การเชื่อมโยงประเด็นการแก้ไขข้อพิพาททางการเมืองเข้ากับความร่วมมือและการบูรณาการทางเศรษฐกิจ โดยมีสมมติฐานว่า ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจจะช่วยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาทางด้านดินแดนได้

ในด้านหนึ่ง ญี่ปุ่นก็ต้องการนำเข้าสินค้า เช่น พลังงานจากรัสเซีย ในขณะเดียวกัน รัสเซียก็ต้องการเทคโนโลยี ความช่วยเหลือและการลงทุนทางเศรษฐกิจจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนารัสเซียภาคตะวันออกไกล กระนั้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจก็ยังคงจำกัด

ในการเจรจาระลอกล่าสุด วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย กับ ชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ได้พัฒนาความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันขึ้นมาในระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา โดยมีหมุดหมายสำคัญคือ การเดินทางเยือนเมือง Sochi ของอาเบะ และต่อมาคือการเดินทางเยือนญี่ปุ่นของปูตินในเดือนธันวาคม โดยผู้นำญี่ปุ่นได้เสนอแผนความร่วมมือ 8 ข้อ เพื่อรื้อฟื้นและยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับรัสเซียในด้านต่างๆ เช่น พลังงาน การขนส่ง เกษตรกรรม เทคโนโลยี เป็นต้น ทั้งนี้ยังริเริ่มโครงการการพัฒนาทางเศรษฐกิจร่วมกัน ทั้งในรัสเซียภาคตะวันออกไกล และบนหมู่เกาะคูริล เช่น การประมง การพัฒนาพลังงานที่มาจากลม และการส่งเสริมการท่องเที่ยว แม้ว่าการลงทุนจะยังมีไม่มากนักก็ตาม

อาจกล่าวได้ว่า ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา การพัฒนาความสัมพันธ์ส่วนตัวระดับผู้นำ เป็นพื้นฐานสำคัญของการปรับความสัมพันธ์รัสเซีย – ญี่ปุ่น โดยอาเบะนั้นพิจารณาการผงาดขึ้นมาของจีน และแนวโน้มของพันธมิตรระหว่างจีนกับรัสเซีย ว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อความจำเป็นของญี่ปุ่นที่จะต้องปรับความสัมพันธ์กับรัสเซีย

ในการประชุมหารือระหว่างผู้นำทั้งสองในที่ประชุม Eastern Economic Forum ที่เมืองวลาดิวอสต็อกในเดือนกันยายน 2018 ปูตินได้เสนอให้รัสเซียและญี่ปุ่น “ร่วมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ ภายในสิ้นปีนี้อย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ”

ต่อมา ในการประชุมระหว่างปูตินกับอาเบะที่สิงคโปร์ในเดือนพฤศจิกายน 2018 แถลงการณ์ร่วมโซเวียต-ญี่ปุ่นปี 1956 ได้รับการหยิบยกขึ้นมา ในฐานะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเจรจาต่อรองในอนาคต กล่าวคือ ประเด็นเรื่องการคืนหมู่เกาะ Habomai และ Shikotan ให้แก่ญี่ปุ่น กลับมาสู่กระบวนการเจรจาอีกครั้ง แต่นั่นก็หมายความว่า ญี่ปุ่นจะต้องประกาศยอมรับอำนาจอธิปไตยของรัสเซียก่อนที่จะเซ็นสนธิสัญญาสันติภาพนั่นเอง

แม้ว่าจะมีพัฒนาการในทิศทางบวก แต่เราต้องไม่ลืมพิจารณาว่ารัสเซียและญี่ปุ่นนั้นยังมีท่าทีเชิงนโยบายต่อหมู่เกาะคูริลที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ดังปรากฏให้เห็นในการประชุมหารือระหว่าง Sergey Lavrov รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียกับ Taro Kono รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2019 ที่ผ่านมา Lavrov กล่าวว่าทั้งสองฝ่ายมี “ความไม่เห็นพ้องเชิงสารัตถะ” หลายประการ รัสเซียมีท่าทีที่ชัดเจนคือ ญี่ปุ่นจะต้องยอมรับอำนาจอธิปไตยของรัสเซียเหนือหมู่เกาะคูริล (หรือ ‘ผลลัพธ์ของสงครามโลกครั้งที่สอง’) ก่อนที่จะมีการลงนามข้อตกลงสันติภาพ Lavrov กล่าวว่า “ปัญหาเรื่องอธิปไตยเหนือหมู่เกาะคูริลนั้นจะไม่มีการหารือใดๆ นี่เป็นดินแดนของสหพันธรัฐรัสเซีย”

ในวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา อาเบะได้ประชุมร่วมกับปูตินที่กรุงมอสโก โดยปูตินแถลงว่าทั้งสองประเทศมี “ภารกิจที่แสนยากลำบากและต้องอดทนอดกลั้น” เพื่อที่จะสร้างบริบทหรือบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจร่วมกันที่จะบรรลุทางออกของปัญหาที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันได้ ทั้งนี้ แนวทางแก้ไขปัญหานั้น จะต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทั้งสองประเทศด้วย เมื่อนั้นแล้ว รัสเซียจึงจะสามารถเซ็นสัญญาสันติภาพกับญี่ปุ่นได้

อาเบะกล่าวว่าทั้งเขาและปูตินต่างยืนยันในความมุ่งมั่นที่จะหาหนทางที่จะแก้ปัญหาข้อพิพาทเหนือหมู่เกาะคูริลร่วมกัน โดยกล่าวว่า “มันไม่ง่ายเลยที่จะแก้ไขปัญหาที่ตกทอดมาอย่างไม่ยุติมามากกว่า 70 ปีหลังจากสงครามโลกสิ้นสุดลง แต่เราจะต้องบรรลุมันให้ได้”

อาจกล่าวได้ว่า การประชุมรอบที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขข้อพิพาทหมู่เกาะคูริล และแนวโน้มที่จะยุติปัญหาข้อพิพาทอย่างรวดเร็ว ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยากกว่าที่ผู้นำทั้งสองประเทศคาดการณ์ไว้

 

3. หมู่เกาะคูริลในผลประโยชน์แห่งชาติของรัสเซีย

 

ทำไมรัสเซียจึงยังคงถือครองพื้นที่พิพาทหมู่เกาะคูริล? หากมองในเชิงผลประโยชน์แห่งชาติของรัสเซียแล้ว เราจะเห็นได้ว่ามีปัจจัยอย่างน้อย 4 ปัจจัย ที่ทำให้รัสเซียมีผลประโยชน์สำคัญในหมู่เกาะคูริล (หรืออย่างน้อยที่สุดในสองเกาะสำคัญ นั่นคือ เกาะ Iturup และ Kunashir)

ประการแรก คือ หมู่เกาะคูริลมีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ต่อรัสเซีย ทั้งในแง่ของความสามารถในการเข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิกได้ตลอดทั้งปีเนื่องจากเป็นทะเลน้ำอุ่น และไม่เป็นน้ำแข็งในช่วงหน้าหนาว นอกจากนั้น ช่องแคบระหว่างเกาะ Iturup และ Kunashir ยังมีความกว้างเพียงพอสำหรับกองทัพเรือรัสเซีย ที่จะสามารถเดินทางผ่านจากกองเรือรบและเรือดำน้ำย่านแปซิฟิก ซึ่งประจำการอยู่ที่เมืองวลาดิวอสต็อก ออกไปสู่มหาสมุทรแปซิฟิกได้ ทั้งนี้ รัสเซียยังมีฐานทัพประจำอยู่บนเกาะดังกล่าว พร้อมทั้งติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงทั้ง Avangard และ Kinzhal อีกด้วย

ในอนาคต หากรัสเซียสามารถพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงเส้นทางทางทะเล ผ่านบริเวณขั้วโลกเหนือหรืออาร์กติกได้แล้ว หมู่เกาะคูริลจะเป็นบริเวณยุทธศาสตร์สำคัญที่จะเชื่อมเส้นทางระหว่างแปซิฟิกกับอาร์กติกอีกด้วย

ประเด็นนี้ยังวางอยู่บนบริบทระหว่างประเทศที่สำคัญ นั่นคือ ความหวาดระแวงของรัสเซียต่อพันธมิตรทางการทหารระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ซึ่งมีความใกล้ชิดทางยุทธศาสตร์ความมั่นคงและเศรษฐกิจมาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ฐานทัพและระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น เป็นประเด็นที่รัสเซียวิตกกังวลมาโดยตลอด สำหรับรัสเซียแล้ว โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรที่การคืนหมู่เกาะอย่างน้อยสองหมู่เกาะให้แก่ญี่ปุ่น จะไม่นำมาสู่การติดตั้งระบบขีปนาวุธของสหรัฐฯ ในบริเวณดังกล่าว

ประการที่สอง คือ หมู่เกาะคูริลยังรุ่มรวยไปด้วยทรัพยากรที่มีค่าหลายประการ เช่น บ่อน้ำพุร้อน ประมง แร่ธาตุ และโลหะหายากอย่างเช่น แร่ยูเรเนียม ซึ่งใช้ในการผลิตเครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียง เป็นต้น

ประการที่สาม คือ การครอบครองหมู่เกาะคูริลยังแสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของบทบาทรัสเซีย ในฐานะประเทศผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งแสดงถึงสถานะความเป็นมหาอำนาจของรัสเซียในการเมืองโลก การเรียกร้องให้ญี่ปุ่นยอมรับสนธิสัญญาสันติภาพ จึงไม่ใช่แค่เพียงการยอมรับสถานะผู้แพ้สงครามในอดีต หรือรับรองอำนาจอธิปไตยของรัสเซียเหนือหมู่เกาะคูริล แต่ยังหมายถึงการที่ญี่ปุ่นยอมรับสถานะของรัสเซียในฐานะมหาอำนาจหนึ่งของโลกในปัจจุบันด้วย

ประการที่สี่ คือ มติมหาชนและประเด็นชาตินิยมภายในสังคมการเมืองรัสเซีย มีบทบาทสำคัญต่อประเด็นข้อพิพาทหมู่เกาะคูริล โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่คะแนนนิยมของประธานาธิบดีปูตินไม่ได้อยู่ในกระแสสูงมากเหมือนแต่ก่อน ผลการสำรวจของโพลที่จัดทำโดย Levada Center ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2018 ระบุว่า ร้อยละ 74 ของประชาชนชาวรัสเซีย ต่อต้านคัดค้านการแลกเปลี่ยนบางหมู่เกาะกับสนธิสัญญาสันติภาพ ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 17 เท่านั้นที่สนับสนุนการคืนหมู่เกาะบางเกาะให้แก่ญี่ปุ่น

นอกจากนั้น เรายังเห็นการชุมนุมประท้วงต่อต้านข้อเสนอที่จะคืนสองหมู่เกาะให้แก่ญี่ปุ่น ในบริเวณหน้าสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงมอสโก (ในวันที่ 20 มกราคม หนึ่งวันก่อนหน้าการเดินทางเยือนของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น) และอีกหลายเมืองในรัสเซียภาคตะวันออกไกล (เช่น Khabarovsk, Nakhodka, Yuzhno-Sakhalinsk เป็นต้น) โดยมีสโลแกนต่างๆ เช่น “ไครเมียเป็นของเรา! คูริลเป็นของเรา!” และ “เราไม่คืนคูริล!” เป็นต้น

 

สรุป : แนวโน้ม

 

ข้อพิพาทหมู่เกาะคูริลนั้นเป็นประเด็นปัญหาที่เป็นมรดกตกทอดของสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งยังไม่อาจหาข้อยุติได้ในช่วง 7 ทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีความพยายามทางการทูตของผู้นำทั้งสองประเทศก็ตาม ทั้งนี้เนื่องมาจากท่าทีและมุมมองที่แตกต่างกันระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างกันของผลประโยชน์แห่งชาตินั่นเอง ในปัจจุบัน ภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียในการเมืองโลกและเอเชีย-แปซิฟิก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ข้อพิพาทหมู่เกาะคูริลยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น

เราคงต้องจับตาและติดตามการเจรจาต่อรองระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่น ดังเช่นการประชุมร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งรัสเซียและญี่ปุ่น ระหว่างการประชุมความมั่นคงที่เยอรมนีในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีอาเบะกับประธานาธิบดีปูตินในช่วงการประชุม G20 ที่กรุงโตเกียวในเดือนมิถุนายน 2019 อย่างใกล้ชิด

แต่กระนั้นก็ดี การบริหารจัดการความขัดแย้งดังกล่าว มีแนวโน้มไม่ง่ายเลยที่รัสเซียจะคืนหมู่เกาะให้แก่ญี่ปุ่นอย่างรวดเร็วหรือทันทีทันใด แม้ว่าหมู่เกาะ Habomai และ Shikotan จะไม่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มากเท่าใดนัก แต่ภูมิรัฐศาสตร์และสถานะของรัสเซียในเวทีโลก รวมทั้งปัจจัยชาตินิยมและมติมหาชนภายในรัสเซีย ย่อมเป็นปัจจัยที่ผู้นำรัสเซียอย่างปูตินต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและจริงจัง ก่อนที่จะตัดสินใจด้านการต่างประเทศว่าด้วยหมู่เกาะคูริล

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save