fbpx

“เพราะเป็นมนุษย์จึงพานพบกับความไม่สมหวังอยู่ร่ำไป” อ่านเกาหลีผ่านวรรณกรรม กับ คิม โฮยอน

โลกเราเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร การมีชีวิตอยู่ก็มีเรื่องไม่สะดวกแบบนี้แหละ” – คุณทกโก

ถ้อยคำหนึ่งจากหนังสือ ‘ร้านไม่สะดวกซื้อของคุณทกโก’ (불편한 편의점) นวนิยายเกาหลีเขียนโดย ‘คิม โฮยอน’ ว่าด้วยหญิงวัยเกษียณเจ้าของร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งได้รับความช่วยเหลือจากชายไร้บ้าน เธอจึงชวนเขามาทำงานเป็นพนักงานพาร์ตไทม์กะดึกที่ร้าน จากนั้นชายร่างใหญ่เหมือนหมีที่ทุกคนเรียกเขาว่า ‘คุณทกโก’ ก็กลายเป็นผู้รับฟังเรื่องราวในชีวิตของมนุษย์ผู้เหนื่อยล้าที่แวะเวียนมาหาที่ร้านสะดวกซื้อแห่งนี้และได้รับการปลอบประโลมจิตใจกลับไปโดยไม่รู้ตัว

หนังสือที่บรรจุเรื่องราวธรรมดาสามัญของมนุษย์เล่มนี้กลับได้รับเสียงตอบรับที่ไม่ธรรมดา หลังตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2021 ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่ยังไม่คลี่คลาย ก็จับจองอันดับหนังสือขายดีในเกาหลีติดกันหลายสัปดาห์ ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปแปลกว่า 18 ประเทศ และมียอดขายทะลุ 1 ล้านเล่ม เป็นอีกคลื่นความสำเร็จของหนังสือ ‘K-healing’ หนังสือปลอบประโลมจิตใจจากเกาหลีที่ถูกแปลไปเป็นภาษาต่างๆ อย่างแพร่หลายทั้งที่เป็น fiction และ non-fiction เป็นอีกเทรนด์ส่งออกที่วันหนึ่งอาจเป็นที่รู้จักไม่แพ้ K-pop หรือ K-food เลยทีเดียว

แต่ก็ดูย้อนแย้งอยู่ไม่น้อย ที่ประเทศซึ่งขึ้นชื่อว่าผู้คนใช้ชีวิตอย่างเคร่งเครียดมากที่สุด มีอัตราการแข่งขันทั้งการเรียนและการทำงานมากที่สุด กลับเป็นประเทศที่ส่งออกหนังสือแนวเยียวยาจิตใจไปหลายพื้นที่ทั่วโลก หรือในอีกทางหนึ่งก็อาจสะท้อนได้ว่า “เพราะชีวิตเจอแต่ความยากลำบากไง ฉันถึงได้เขียนเรื่องเหล่านี้ขึ้นมา!”

หลายปีมานี้ ‘หนังสือฮีลใจ’ เป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีชั้นวางเป็นหมวดหมู่เฉพาะของตนเองในร้านหนังสือ และหากเดินไปพินิจพิจารณาให้ดีจะพบว่าหนังสือส่วนใหญ่บนชั้นวางนี้มาจากประเทศเกาหลีใต้ ตั้งแต่เมื่อไหร่ก็คงตอบได้ไม่แน่ชัดที่หนังสือ ‘K-healing’ หน้าปกสีสันสดใส ชื่อเรื่องโดนใจ เห็นแล้วเหมือนมีคนตบไหล่หรือกอดปลอบ ทะยานขึ้นสู่ชั้นหนังสือขายดี แต่ที่เราอ่านจากปรากฏการณ์นี้ได้ก็คือการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบันคงไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกับสังคมที่หนังสือเหล่านี้ถูกเขียนขึ้น จนตัวอักษรที่ถูกร้อยเรียงเป็นเรื่องราวช่วยชุบชูจิตใจน่าจะเป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยให้เราผ่านวันแย่ๆ ไปได้

101 คุยกับ คิม โฮยอน เจ้าของหนังสือ ‘ร้านไม่สะดวกซื้อของคุณทกโก’ ร่วมหาคำตอบว่าวรรณกรรมในเกาหลียังทรงพลังอยู่หรือไม่ และความนิยมของ ‘หนังสือฮีลใจ’ กำลังสะท้อนอะไรจากสังคม ฟังประสบการณ์อดีตนักเขียนบทภาพยนตร์และนักเขียนการ์ตูนคนนี้ว่าการเป็นนักเขียนในเกาหลีมีความท้าทายอะไรบ้าง ในสังคมที่ผู้คนหน้าชื่นอกตรมแข่งกันวิ่งอยู่ในกงล้อของทุนนิยม เราจะหาความสุขหรือทุกข์น้อยลงกว่านี้อย่างไรดี

คิม โฮยอน | ภาพจาก Amarinbooks

จุดเริ่มต้นการเขียนหนังสือ ‘ร้านไม่สะดวกซื้อของคุณทกโก’ คืออะไร

ผมรู้จักรุ่นพี่คนหนึ่งที่ทำงานอยู่ร้านสะดวกซื้อในเกาหลี แต่ลักษณะภายนอกเขาดูเป็นคนห้าวๆ พูดจาห้วนๆ ไม่น่าจะทำอาชีพบริการใครได้เลย ใครๆ ก็เป็นห่วงว่าร้านนี้อาจจะทำให้ลูกค้าไม่สะดวกหรือเปล่า แต่ความจริงแล้วรุ่นพี่กลับทำงานนี้ได้ดีมาก ให้บริการลูกค้าด้วยความใส่ใจ พอกลับมาบ้านเลยมานั่งคิดนอนคิดว่าเรื่องราวของร้านสะดวกซื้อที่ไม่สะดวกมันดูน่าสนใจ

ผมมีไอเดียจะเขียนเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2018 แต่ในระหว่างที่เขียน ปี 2019 ความขัดแย้งระหว่างเกาหลีกับญี่ปุ่นปะทุขึ้น มีการตอบโต้กันด้วยนโยบายทางการค้า นโยบายเศรษฐกิจช่วงนั้นส่งผลกับการบริโภคภายในและการดำเนินชีวิตของผู้คนด้วย พอปี 2020 โควิดก็ระบาดเป็นวงกว้าง เป็นสภาวะที่ทำให้โลกไม่สะดวกสบายยิ่งกว่าเดิม ผมเลยหยิบเรื่องเหล่านี้ใส่ลงไปด้วย

เพราะอะไรคุณถึงเลือกเล่าเรื่องผ่านตัวละครหลัก ‘คุณทกโก’ ที่เป็นคนไร้บ้าน

ด้วยความที่ตั้งต้นมาว่าอยากให้เป็นร้านสะดวกซื้อที่ไม่สะดวก ผมเลยคิดว่าตัวละครที่เป็นพนักงานพาร์ตไทม์กะกลางคืนในร้านนี้ควรจะต้องดูเป็นคนที่ ‘ไม่สะดวกที่สุด’ ก่อนจะมาเป็นคนไร้บ้าน จริงๆ มีหลายคาแรกเตอร์ที่นึกถึง ไม่ว่าจะเป็นอันธพาล คนต่างชาติที่มาอยู่เกาหลีได้ไม่นาน หรือสื่อสารด้วยภาษาเกาหลียังไม่คล่อง ตอนแรกคิดไว้ว่าจะเป็นนักศึกษาจากไทยหรือเวียดนามที่ยังไม่เก่งภาษาเกาหลี แล้วก็มีไอเดียว่าหรือจะเอาแบบไม่สะดวกสุดๆ เลย ก็คือให้ตัวละครนี้เป็นเอเลี่ยน

แต่สุดท้ายก็เลือกจะเล่าผ่านคนไร้บ้าน เพราะเขาไม่สามารถเข้าสังคมได้ รู้สึกแปลกแยกจากสังคม ตัวละครนี้ยังพูดไม่ค่อยคล่อง ก็เลยน่าจะไม่สะดวกสบายที่สุด

ดูเหมือนเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวจะเป็นแกนในการดำเนินเรื่อง สังเกตว่าแต่ละตัวละคร ต่อให้เจอปัญหาร้อยแปดอย่างจากข้างนอกบ้าน ก็ยังไม่ทำให้กลัดกลุ้มเท่าปัญหาในครอบครัว คุณต้องการจะสื่อสารอะไรกับผู้อ่าน

ใช่ๆ มองได้ทะลุถึงสิ่งที่ผมอยากจะสื่อสารเลย เพราะปัญหาใดก็ตามที่เกิดขึ้นในชีวิต ถ้าเรามองย้อนไปจริงๆ มันมักจะเกิดจากรอยปริแตกของความสัมพันธ์ภายในครอบครัว มนุษย์เราเกิดมามีสังคมแรกคือครอบครัว สังคมต่อมาคือโรงเรียน และถัดมาอีกคือเป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน แต่พอเป็นผู้ใหญ่แล้ว สังคมก็คาดหวังให้เราต้องวนมากลับมาสร้างครอบครัวอีกอยู่ดี ดังนั้นต่อให้มนุษย์จะอยากผลักครอบครัวออกไปจากความรู้สึกนึกคิดมากแค่ไหนก็ทำไม่ได้หรอก เพราะมันเป็นสายสัมพันธ์ที่มีอิทธิพลกับเรามากๆ ประเด็นเหล่านี้คือสิ่งที่หนังสือเล่มนี้อยากชวนคนอ่านขบคิดต่อ

ตัวละครส่วนใหญ่ในเรื่องนี้เป็นผู้ชายที่สร้างแต่ปัญหา เรายังได้เห็นด้านที่ ‘ไม่เอาไหน’ ของคนเป็นลูกชาย เป็นพ่อ เป็นสามี ผ่านเรื่องราวของคุณ อยากทราบว่าแรงบันดาลใจในการเขียนมาจากอะไร

เบื้องหลังไม่มีอะไรซับซ้อนเลย ใครๆ ก็ต้องเคยเจอผู้ชายที่ไม่ได้เรื่องในชีวิตจริง โดยเฉพาะในสังคมเอเชียที่เป็นสังคมปิตาธิปไตย การมองว่าเพศชายเหนือกว่ามันฝังอยู่ในระบบความคิดและการแสดงออก เราเห็นการวางอำนาจบาตรใหญ่ของผู้ชายค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะในสังคมการทำงานหรือการจัดวางความสัมพันธ์ในครอบครัว หลายครั้งมันนำไปสู่การตัดสินใจผิดๆ ที่กระทบกระเทือนจิตใจคนรอบข้าง ผมเองพอมาคิดย้อนดูก็รู้สึกผิดหรือไม่ชอบการกระทำตัวเองในบางครั้งเหมือนกัน เลยทำให้เขียนเรื่องราวแบบนี้ออกมา

ผมคิดว่าเพศหญิงเก่งในการบริหารจัดการความสัมพันธ์มากกว่า ผู้หญิงเลยจะไม่ค่อยสร้างปัญหาเท่าไหร่ เขียนไปเขียนมาหนังสือเล่มนี้เลยมีตัวละครเป็นผู้ชายที่มีปัญหาค่อนข้างเยอะ จริงๆ นิยายเล่มแรกที่ผมเขียน ชื่อเรื่อง Mangwondong Brothers (망원동 브라더스) ถ้ามีโอกาสได้อ่านจะเห็นว่ามีตัวละครชายที่โง่และซื่อบื้อกว่านี้อีกมาก เรื่องราวที่ผมเขียนก็สะท้อนมาจากสิ่งที่เคยพบเจอทั้งนั้น

ภาพจาก Amarinbooks

ไม่กี่ปีมานี้วรรณกรรมจากเกาหลีตีแผ่ปัญหาในสังคมปิตาธิปไตย เช่น คิมจียองเกิดปี 82 (82년생 김지영) หรือ มีอะไรในสวนหลังบ้าน (마당이 있는 집) ได้รับความนิยมในไทยมาก ในเกาหลีเอง วรรณกรรมที่ท้าทายหรือชวนตั้งคำถามกับชุดความคิดที่ครอบสังคมอยู่ มันยังทรงพลังอยู่หรือเปล่า เพราะบางคนบอกว่าปัจจุบันวรรณกรรมไม่ได้ให้อะไรกับสังคมแล้ว

คิมจียองที่คุณบอกว่าดังในไทยมาก ในเกาหลีเองก็ขายได้เป็นล้านเล่มเหมือนกัน แน่นอนว่าเราไม่มีมาตรวัดว่าเมื่อคนอ่านวรรณกรรมแล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคม แต่ผมมั่นใจว่าคนที่อ่านหนังสือเหล่านี้เขาย่อมตระหนักได้ว่าโครงสร้างสังคมแบบปิตาธิปไตยมันสร้างความยากลำบากให้ผู้หญิงในประเทศนี้ขนาดไหน อย่างตอนที่หนังสือคิมจียองตีพิมพ์ ก็เป็นช่วงก่อนที่จะเกิดการเคลื่อนไหว #MeToo ในเกาหลีไม่นาน เมื่อไหร่ก็ตามที่มีประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ วรรณกรรมเล่มนี้มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อยครั้ง ผมว่าถ้าหนังสือขายได้เป็นล้านเล่มและทำให้คนตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้มากขึ้น วรรณกรรมย่อมมีประโยชน์กับสังคมอยู่

หรือแม้แต่วรรณกรรมที่เรียกได้ว่าเป็นแนว K-healing เน้นการปลอบประโลมจิตใจ ก็ยังทรงคุณค่าในแง่ที่ว่าหนังสือทำให้คนซึมซับความเป็นมนุษย์ว่ามีทั้งด้านสวยงามและไม่สวยงาม อย่างน้อยก็คงทำให้ผู้อ่านมีความละเอียดอ่อนต่อความสัมพันธ์และใส่ใจความรู้สึกของคนใกล้ตัวมากขึ้น

สำหรับผม คนที่บอกว่าสมัยนี้นิยายหรือหนังสือไม่ให้ประโยชน์กับผู้อ่านหรือไม่มีความจำเป็นต้องอ่านแล้ว คนเหล่านั้นคือคนจิตใจหยาบกระด้าง

ขยับมามองอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในเกาหลี ในระยะไม่กี่ปีมานี้ภาพยนตร์หรือซีรีส์เกาหลีที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกมักจะมีเนื้อหาวิพากษ์สังคมหรือเปิดเผยด้านอันไม่น่าอภิรมย์ของเกาหลี เช่น Parasite หรือ Squid Game กลายเป็นว่าด้านที่ไม่สวยงามในสังคมคือวัตถุดิบชั้นยอดในการสร้างสรรค์ คุณคิดว่าทำไมเนื้อหาเช่นนี้ถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก

เพราะเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นปัญหาสังคมแบบนี้ มันไม่ได้มีแค่ในเกาหลี จะอยู่ประเทศไหนก็สัมผัสได้เหมือนกันหมด เช่น Parasite นำเสนอโครงสร้างทางสังคมอันเหลื่อมล้ำ การกดขี่และกดทับคนที่อยู่ต่ำกว่า ส่วน Squid Game ก็ทำให้เห็นภาพความปากกัดตีนถีบ การเอาตัวรอดในสังคมที่ระบบทุนนิยมบีบคั้น แม้ทั้งสองเรื่องอาจจะมีเนื้อหาที่ค่อนข้างรุนแรง หลายอย่างอาจจะไม่ตรงความจริงไปหน่อย แต่สิ่งที่ผู้สร้างต้องการสื่อสารคือปัญหาเหล่านี้มีอยู่จริงและเป็นปัญหาร่วมของยุคสมัย จะอยู่ส่วนไหนของโลกคุณก็ต้องเคยพบเจอ ผมเลยคิดว่าหัวใจของความสำเร็จคือการทำให้ผู้รับสารเกิดความรู้สึกร่วม

แล้วการเป็นนักเขียนในประเทศที่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เฟื่องฟูมากๆ มีความท้าทายอะไรบ้าง ที่ไทยถ้ามีเด็กบอกว่าโตไปจะเป็นนักเขียนนี่ผู้ใหญ่ค่อนข้างจะไม่ปลื้ม

ที่เกาหลีถ้าบอกพ่อแม่ว่าอยากเป็นนักเขียนเขาก็ไม่อยากให้เป็นเหมือนกันนะ (หัวเราะ) เป็นอาชีพที่ประสบความสำเร็จยากมาก เกาหลีเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมบันเทิงก็จริง หรือด้านวรรณกรรมก็เป็นที่รู้จักในระดับโลกหลายเรื่อง แต่กว่าจะไปอยู่จุดนั้นมันไม่ง่ายเลย ถ้ามุ่งมั่นอยากเป็นนักเขียน จะมองแค่ 1-2 ปีแล้วประสบความสำเร็จมันคงเป็นไปได้ยาก คุณต้องมองไปยาวๆ อย่างต่ำก็ 5-10 ปีเลย อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เราใหญ่ก็จริงแต่คนอยากเข้าสู่สนามก็มากตามไปด้วย การแข่งขันก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ผมมาเป็นนักเขียนที่เป็นที่รู้จักก็ตอนอายุ 40 ใช้เวลาเกือบ 20 ปีเลย ถ้าไม่ได้เขียนเพราะอยากเขียนจริงๆ หรืออยากอยู่กับมันไปนานๆ ก็อาจจะถอดใจจนมาไม่ถึงเป้าหมายไปแล้ว

ใน ‘ร้านไม่สะดวกซื้อของคุณทกโก’ มีตัวละครที่เป็นนักเขียนบทละครเวทีด้วย คุณใส่ประสบการณ์ตัวเองลงไปในตัวละครนี้ด้วยหรือเปล่า

นอกจากเรียนจบวรรณกรรมแล้วมาเป็นนักเขียน ก็ไม่มีอะไรที่เหมือนผมเลย ผมเขียนนิยาย แต่ตัวละครนี้เป็นนักแสดงละครเวทีมาก่อน แล้วค่อยผันตัวมาเขียนบท ที่ใส่ตัวละครนี้เข้าไปเพราะอยากให้มีหนึ่งตัวละครที่สะท้อนภาพรวมทั้งหมดของร้านไม่สะดวกซื้อ

ตัวละครนี้ประสบปัญหาหมดไฟในการเขียนอยู่ด้วย สมมติเธอมีชีวิตในโลกนี้จริงๆ ในฐานะนักเขียนเหมือนกัน คุณมีคำแนะนำอะไรให้เธอไหม

ผมว่ามันก็ต้องทนไปนะ (หัวเราะ) การเป็นนักเขียน จะเรียกว่าอาชีพก็ไม่ถูกทั้งหมด สำหรับผมนักเขียนคือวิธีการคิด คือวิถีชีวิตมากกว่า ตอนนี้ใครที่กำลังหมดไฟอยู่ ถ้าคิดว่านี่เป็นอาชีพ คุณอาจจะคิดวนเวียนว่าต้องเลิกทำ ผมอยากแนะนำให้ไปเผชิญสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ หาสิ่งที่จะมาเปลี่ยนวิธีคิดเรา ให้เราอยากเขียนอะไรบางอย่าง ถ้ายังไม่เจอก็ออกตามหาไปเรื่อยๆ ครับ ซักวันคุณอาจจะเจอคุณทกโกแบบนักเขียนในเรื่องนี้

ภาพจาก Amarinbooks

คุณทำงานเขียนมาหลายวงการ ทั้งภาพยนตร์ การ์ตูน จนมาถึงการเขียนนิยาย แก่นในการเล่าเรื่องมีความแตกต่างกันไหม

ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทภาพยนตร์ การ์ตูน หนังสือแบบเล่มนี้ หรือเขียนงานประเภทไหนก็ตาม ผมว่าสิ่งที่เหมือนกันคือจะต้องมีพอยต์ที่ทำให้คนรู้สึกสงสัย สร้างความสงสัยว่าเรื่องนี้มันจะไปจบที่ตรงไหนหรือจบยังไง ไม่ว่าจะเขียนงานอะไรอยู่ถ้ามีสิ่งนี้ก็ถือว่าเป็นหัวใจในการเขียนแล้ว เรื่องราวที่ทำให้คนสงสัยในตอนจบคือสิ่งสำคัญที่สุด

คุณมีนักเขียนชาวเกาหลีคนไหนที่ชื่นชอบเป็นพิเศษบ้างไหม

มีเยอะจนตอบไม่หมดเลยครับ ในเกาหลีไม่ว่าจะเป็นการเขียนหนังสือหรือเขียนบทภาพยนตร์ มีนักเขียนที่ประสบความสำเร็จระดับโลกมามากมาย เช่น ผู้กำกับบงจุนโฮที่กำกับและร่วมเขียนบท Parasite หรือนักเขียนคิมอึนซุกที่เขียนเรื่อง The Glory กับ Mr. Sunshine ผมชื่นชมมากๆ แล้วก็ให้ความเคารพนักเขียนทุกคนที่ร่วมวงการด้วยกัน แม้บางครั้งจะรู้สึกว่าเราต้องแข่งขันกันสร้างหนังสือที่ดีออกมา แต่ขณะเดียวกันผมก็สามารถเรียนรู้จากผู้ร่วมทางเดินเดียวกันไปได้ด้วย

ในเกาหลีตอนนี้หนังสือแบบไหนกำลังได้รับความนิยม

ถ้าเป็นนิยายก็แนว K-Healing อันนี้ไม่ได้ตอบเพราะผมเขียนแนวนี้นะ (หัวเราะ) ก่อนหน้านี้หนังสือที่เน้นไปที่ประเด็นสังคมใดประเด็นหนึ่งเป็นหลัก หรือหนังสือที่มีเนื้อหาค่อนข้างหนักและสะเทือนจิตใจค่อนข้างได้รับความนิยมในเกาหลี แต่หลังผมปล่อยหนังสือเล่มนี้ออกมา ซึ่งมีเนื้อหาให้ความอบอุ่น อ่านง่าย เพลิดเพลิน และสนุกสนาน มันก็ทำให้เทรนด์หนังสือในตลาดเกาหลีเปลี่ยนไปในทิศทางนี้ค่อนข้างเยอะ หลายคนหันมาเขียนหนังสือที่ผ่อนคลายต่อจิตใจ ทำให้เห็นความอบอุ่นของมนุษย์มากขึ้น

เรียกได้ว่าคุณเป็น trendsetter นิยายแนวปลอบประโลมในเกาหลีเลย

ไม่ขนาดนั้นครับ เป็นเพราะจังหวะที่หนังสือออกมาโควิดกลับมาระบาดอีกระลอกด้วย จะถือว่าเป็นโชคดีได้ไหมไม่แน่ใจ เพราะในสถานการณ์ล็อกดาวน์ ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กันน้อยลง ความเครียดสูงขึ้น เขาก็ต้องการอ่านอะไรที่เยียวยาจิตใจ ซึ่งร้านไม่สะดวกซื้อของคุณทกโกตอบโจทย์นั้นพอดี

ต่อให้ไม่มีโควิด อีกปัจจัยที่หนังสือแนวปลอบประโลมได้รับความนิยมขนาดนี้เพราะการใช้ชีวิตในสังคมเกาหลีมันก็เหนื่อยล้าจะแย่แล้ว แบบที่เขาเรียกกันว่า ‘นรกโชซอน’ คนเลยอยากอ่านอะไรที่เหมือนมีคนตบบ่าให้กำลังใจหรือเปล่า

ก็มีส่วนนะ จริงๆ คำว่านรกโชซอน (헬조선) เป็นที่พูดถึงในเกาหลีมา 10-20 ปีแล้ว เป็นคำที่สะท้อนความร้อนรุ่มในจิตใจผู้คนที่ต้องดิ้นรนมีชีวิตรอดในสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ซึ่งทำให้คุณไปถึงเป้าหมายได้ยากถ้าไม่เกิดมารวย อีกอย่าง ธรรมชาติของคนเกาหลีเขาจะมีพลังค่อนข้างเยอะ ตั้งใจทำงาน ขยันทำงานมากๆ สิ่งนี้ยิ่งทำให้การแข่งขันที่สูงมากแล้วยิ่งสูงขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ใครที่ไม่สามารถวิ่งทันคนอื่นในการแข่งขันนี้ได้ก็จะมีความเครียด และความกดดันมหาศาลก็จะไล่ตามมา

ยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในเกาหลี คุณอาจจะมองว่าดูดี มีแต่ภาพความสำเร็จที่น่าชื่นชม แต่ความจริงมันมีมุมมืดอีกมากที่ไม่ได้สะท้อนออกมาให้เห็น ในมุมของการเป็นนักเขียนจากที่เห็นและสัมผัสมา ผมรู้สึกว่ากว่าจะมาเป็นนักเขียนแนวหน้ามันยากมากๆ ต้องปรับตัวอยู่ตลอด เหมือนต้องวิ่งแบบไม่หยุดพักถึงจะแข่งกับคนอื่นได้

บางคนก็บอกว่าคนสมัยนี้เปราะบางเกินไป หนังสือแบบนี้เลยขายดี

ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องหรอก มันขึ้นอยู่กับผู้อ่านว่าได้เรียนรู้อะไรจากหนังสือเล่มนั้นๆ บางคนอ่านหนังสือที่ไม่ได้ซับซ้อนมาก เน้นการปลอบประโลมจิตใจแต่ได้ข้อคิดอะไรบางอย่างไปปรับใช้ เขาจะรู้สึกว่าหนังสือแนวนี้มีประโยชน์กับเขา ขณะเดียวกันบางคนอาจจะไม่ได้เรียนรู้อะไรมากขนาดนั้น มันขึ้นกับมุมมองผู้อ่านมากกว่าว่าได้รับอะไร การจะบอกว่าคนเปราะบางเกินไปหนังสือเลยขายดีมันดูไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่

ปัจจุบันนี้ถ้าเดินเข้าร้านหนังสือในไทย เราจะเจอหนังสือประเภท K-Healing ทั้งแบบ fiction และ non-fiction จับจองพื้นที่ส่วนมากบนแผง คุณคิดว่าอะไรคือจุดเด่นที่ทำให้หนังสือประเภทนี้ได้รับความนิยมในไทย

ผมคิดว่าจุดแข็งของหนังสือแนวนี้จากเกาหลีคือความอบอุ่น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่สำนักพิมพ์วางแผนมาก่อนว่าจะเขียนแนวแบบนี้นะ หรือเป็นหนังสือแบบของผมที่เขียนขึ้นมาก่อนแล้วเอามาตีพิมพ์ทีหลัง จุดแข็งที่มีเหมือนๆ กันคือมอบความอบอุ่นให้ผู้อ่าน ทำให้เขาเข้าใจ ยอมรับ และมีความเชื่อในตัวมนุษย์มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกว่ามีคนคอยให้กำลังใจอยู่ข้างๆ ว่าชีวิตมันก็แบบนี้แหละ เจอแต่ความไม่สมหวังอยู่ร่ำไป

สุดท้ายนี้คุณโฮยอนอยากฝากอะไรถึงผู้อ่านที่กำลังมีชีวิต ‘ไม่สะดวก’ บ้าง

แทนที่จะมองไปยังเป้าหมายเพียงอย่างเดียว อยากให้คุณหันมาโฟกัสเส้นทางที่กำลังเดินอยู่ เพราะถ้าคุณอยู่กับปัจจุบัน ต่อให้มีความไม่สะดวกสบายหรือความลำบากเกิดขึ้นบ้าง มันก็อาจจะเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่หรือมองว่ามันเป็นบททดสอบอีกขั้นให้เราเดินไปหาเป้าหมายได้ ถ้าเราคิดแบบนั้นได้ ก็จะสามารถรับมือกับความไม่สะดวกสบายหรือความลำบากแบบนั้นได้ง่ายขึ้น อยากทิ้งท้ายไว้ว่าแค่ทุกวันนี้เรามีชีวิตอยู่ได้ก็คือชัยชนะของเราแล้ว

ภาพจาก Amarinbooks

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save