fbpx

โลกโหดร้ายเกินไปหรือฉันอ่อนไหวเกินควร? : จากพ่อรวยสอนลูกถึงหนังสือฮีลใจ เมื่อหนังสือแห่งยุคสมัยคือการปลอบประโลม

หากกวาดสายตามองไปที่ชั้นขายดีในร้านหนังสือ หนังสือที่กินพื้นที่ขายดีที่สุดมาตลอดหลายสิบปีคือหนังสือแนวฮาวทู – ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ดูเหมือนว่ามนุษย์ต้องการ ‘คู่มือ’ และ ‘แผนที่’ ในการดำเนินชีวิตเสมอ และหนังสือฮาวทูคือหนึ่งในเข็มทิศของยุคสมัยแห่งทุน

หนังสือสอนทำธุรกิจและพร่ำบอกวิธีมุ่งสู่ความสำเร็จนั้นมีแน่อยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกันในร้านหนังสือทุกวันนี้ ยังมีหนังสือฮาวทูอีกแบบปรากฏขึ้นมาในแผง ซึ่งมีทิศทางเนื้อหาสวนทางกับฮาวทูแบบดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง นั่นคือหนังสือฮาวทูที่บอกเราว่าไม่ต้องประสบความสำเร็จก็ได้ ขอแค่มีความสุขให้ได้ในโลกที่กำลังจะล่มสลายใบนี้ก็พอ

โทษที วันนี้ชีวิตฉันสำคัญที่สุด

ยังไม่ทันเข้างานก็อยากกลับบ้านแล้ว

มันไม่ง่ายขึ้นหรอก แต่เธอจะเก่งขึ้น

นี่เราใช้ชีวิตยากเกินไปหรือเปล่านะ

ฉันไม่ใช่ผู้ใหญ่ ฉันแค่อายุ 30

สิ่งที่คนอื่นบอกเรา ไม่สำคัญเท่าสิ่งที่เราบอกตัวเอง

ฯลฯ

ข้างต้นคือบางส่วนของชื่อหนังสือบนแผงที่กินพื้นที่จำนวนมากของร้าน วางอยู่บนชั้นที่เขียนเอาไว้ว่า ‘หนังสือแนวให้กำลังใจ’ ราวกับว่ามนุษย์จำนวนมากกำลังเผชิญความทุกข์และอยากตะโกนเรื่องของตัวเองออกมาดังๆ

รายชื่อหนังสือเหล่านี้ หากคุณรุ่นปู่ย่าเดินผ่านมาเห็น คงต้องหันไปคุยกันว่า “ยุคสมัยเปลี่ยนไปถึงเพียงนี้แล้วหรือ” เพราะทุกอย่างล้วนกลับหัวกลับหางวิธีคิดในการทำงานของคนรุ่นก่อนอย่างสิ้นเชิง จนหลายคนอาจหย่อนคำถามไปดังๆ ว่า “แบบไหนถึงจะพอใจเธอ”

น่าสนใจว่าปรากฏการณ์ที่โลกต้องการกำลังใจจนมีหนังสือแยกประเภทออกมาสะท้อนอะไร เนื้อหาในหนังสือเหล่านี้บอกอะไร โลกแบบไหนที่พาเรามาถึงจุดนี้ คนที่เติบโตมาในยุคแห่งความเปราะบางกำลังเดินไปทางไหน และโลกใบนี้โหดร้ายจริงไหม หรือแค่หัวใจเราอ่อนแอเกินไปต่างหาก?

เมื่อการออมและเรียนจบสูงไม่ใช่คำตอบ?

ถนนสู่ความร่ำรวยที่มีแต่ ‘พ่อรวย’ เท่านั้นที่สอนให้

ก่อนจะมาถึงจุดนี้ ในปี 1997 มีหนังสือเล่มหนึ่งปรากฏขึ้นบนบรรณพิภพ ซึ่งต่อมากลายเป็นหนังสือการเงินส่วนบุคคลเล่มประวัติศาสตร์ ที่ผู้เขียนยืนยันว่ามียอดขายทั่วโลกประมาณ 40 ล้านเล่ม หนังสือที่คนไทยในยุคหลัง 2540 รู้จักกันดีในชื่อ พ่อรวยสอนลูก ที่แปลจากเล่ม Rich Dad, Poor Dad เขียนโดยโรเบิร์ต คิโยซากิ นักพูดและนักลงทุน

แต่ก่อนที่หนังสือเล่มนี้จะประสบความสำเร็จ หลายสำนักพิมพ์ปฏิเสธต้นฉบับเพราะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในหนังสือ ผู้เขียนเล่าว่าจดหมายปฏิเสธมักมาในทำนองว่า “คุณช่างไม่รู้เลยว่าคุณกำลังพูดอะไร”

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะหนังสือเล่มนี้ชูประเด็นหลักที่ว่า “คนออมคือผู้แพ้ การเรียนจบสูงไม่ใช่คำตอบ บ้านไม่ใช่ทรัพย์สิน และคนรวยไม่ใช่คนที่ทำงานเพื่อเงิน แต่ใช้เงินทำงาน” หากได้ยินแนวคิดเหล่านี้ใน พ.ศ. นี้ คงไม่มีใครประหลาดใจ แต่ใน 25 ปีที่แล้ว ความคิดทางการเงินแบบนี้ยังไม่แพร่หลายนัก การประหยัดอดออมและขยันขันแข็งทำงานยังเป็นศีลธรรมขั้นสูงสุดที่มนุษย์ทุกคนพึงปฏิบัติตาม อย่างที่คำสอนของคนรุ่นก่อนพร่ำบอกเราว่า “ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน”

ขณะที่ในอเมริกามีหนังสือเล่มนี้ออกมาในปี 1997 ข้ามมาอีกซีกโลกหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างประเทศไทยและหลายประเทศใกล้เคียงก็กำลังเผชิญกับวิกฤตฟองสบู่แตก ตลาดอสังหาริมทรัพย์ล่มสลาย เกิดเป็นหนี้เสียจำนวนมาก นักธุรกิจหลายคนยิงตัวตาย จนท้ายที่สุดนายกรัฐมนตรีไทยต้องลาออกจากตำแหน่ง

เด็กจำนวนมากที่เติบโตมาในโรงเรียนนานาชาติต้องย้ายไปเรียนโรงเรียนรัฐบาล เจ้าของธุรกิจร้อยล้านต้องกลายเป็นคนเร่ขายของ ผู้คนที่หวังจะเปลี่ยนไปสู่ชนชั้นที่สูงกว่าเดิมกลายเป็นต้องเลื่อนลงมาสู่จุดเริ่มต้นของการสร้างฐานะใหม่

ในวันที่โลกใบเก่าล่มสลายลงไปต่อหน้าต่อตา ชนชั้นกลางในไทยยังกัดฟันสู้และหวังจะสร้างโลกใบใหม่ของตัวเองขึ้นมา ในจังหวะเวลาเช่นนี้ทำให้หนังสือฮาวทูสู่ความร่ำรวยขายดีเป็นเทน้ำเทท่า หนังสือการเงินจำนวนมากถูกแปลจากภาษาต่างประเทศและขายกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แน่นอนว่าพ่อรวยสอนลูกเป็นหนึ่งในนั้น เป็นหนึ่งทั้งในความหมายที่ ‘เป็นส่วนหนึ่ง’ ของหนังสือกลุ่มนี้ และ ‘เป็นหนังสือขายดีอันดับหนึ่ง’ ของกลุ่มนี้ด้วย

พ่อรวยสอนลูกเข้ามาเป็นเข็มทิศทางความคิดเล่มสำคัญที่ผลักดันให้คนมุ่งสู่การเป็นผู้ประกอบการและหวังจะมีอิสระทางการเงิน หนังสือเริ่มต้นเรื่องด้วยการเล่าว่าเขามีพ่อสองคน คนหนึ่งคือ ‘พ่อจน’ ซึ่งคือพ่อแท้ๆ ที่สอนให้เขาทำงานเพื่อเงิน ส่วนอีกคนหนึ่งคือ ‘พ่อรวย’ ซึ่งเป็นพ่อของเพื่อน ผู้สอนให้เขารู้จักการใช้เงินทำงาน เขาขยายความไว้ว่า

“แม้ว่าพ่อทั้งสองคนจะเห็นตรงกันว่า การศึกษาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิต แต่สุดท้ายทั้งสองท่านก็เห็นแตกต่างกันในเรื่องวิชาที่ควรศึกษา พ่อคนหนึ่งเห็นว่าผมควรขยันเรียนให้จบปริญญา เพื่อจะได้งานที่มีเงินเดือนสูงๆ พ่ออยากเห็นผมเป็นนักวิชาการ นักกฎหมาย นักบัญชี หรือเรียนปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจ ส่วนพ่ออีกคนหนึ่งอยากให้ผมเรียนรู้วิธีสร้างความร่ำรวย รู้และเข้าใจว่าเงินทำงานอย่างไร และมองหาวิธีใช้เงินทำงานแทนเรา”

หนึ่งในประเด็นที่พ่อรวยชี้ลงไปให้เห็นถึงการไร้ความหมายของการทำงานประจำ คือการบอกว่าคนที่ยังทำงานเป็นลูกจ้างอยู่คือคนที่ติดกับดักความกลัว และนี่เองคือที่มาของบทเรียนทางการเงินบทที่ 1 ซึ่งกลายเป็นประโยคอันโด่งดังว่า ‘คนจนและชนชั้นกลางทำงานเพื่อเงิน แต่คนรวยใช้เงินทำงาน’

พ่อรวยอธิบายไว้อย่างจี้ใจว่า “ถ้าเธอเป็นคนขี้ขลาด เธอจะยอมให้โลกเหวี่ยงเธอไปมา เธอไม่ชอบความเสี่ยง ไม่ชอบทำอะไรผิด รักษาเนื้อรักษาตัว แล้วหวังเอาว่าจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น และสุดท้ายเธอก็จะตายไปพร้อมกับชีวิตที่แสนน่าเบื่อ เธอจะมีเพื่อนมากเพราะพวกเขาชอบคนขยันทำงาน ความจริงก็คือเธอเป็นคนกล้าเสี่ยง เธออยากชนะแต่เธอกลัวแพ้มากกว่า ลึกๆ แล้วเธอคนเดียวที่รู้ว่าตัวเองไม่กล้า ดังนั้นเธอจึงเลือกชีวิตเรียบๆ และไร้ซึ่งความเสี่ยง”

จากประโยคเหล่านี้ทำให้เห็นว่า ‘การเป็นคนธรรมดา’ เป็นความหมายเดียวกับ ‘คนขี้ขลาด’ ไปเสียแล้ว หรือที่สมัยนี้พูดกันบ่อยๆ ว่า “พวกที่ไม่กล้าออกจากคอมฟอร์ตโซน”

การตอกย้ำเรื่อง ‘ความกลัวของคนธรรมดา’ ยิ่งปรากฏชัดเมื่อผู้เขียนถามพ่อรวยว่า “ทำไมคนส่วนใหญ่ไม่เรียนรู้วิธีการให้เงินทำงาน” พ่อรวยตอบคำตอบที่อาจทำให้มนุษย์เงินเดือนสะท้อนใจว่า “ไม่หรอก เพราะการทำงานเพื่อเงินนั้นง่ายกว่าเยอะ โดยเฉพาะคนที่มีความกลัวอยู่ในความคิด”

“ความกลัวทำให้พวกเขาติดกับดักของการทำงาน รับเงินเดือน ทำงาน รับเงินเดือน ทำงาน รับเงินเดือน โดยหวังว่าเงินจะทำให้ความกลัวของพวกเขาหายไป แต่ยิ่งนานวัน ความกลัวนั้นจะยิ่งขยายตัวขึ้น และย้อนกลับมาปลุกพวกเขาในทุกเช้าเหมือนเดิม เงินเริ่มควบคุมชีวิตของพวกเขา และผลักให้พวกเขาทำตามที่มันสั่ง ที่แย่ก็คือ ไม่มีใครยอมรับความจริงข้อนี้ สุดท้าย เงินจึงควบคุมทั้งอารมณ์และจิตวิญญาณของพวกเขาได้โดยสมบูรณ์” เห็นได้ชัดว่าการทำงานเพื่อเงินคือการตกอยู่ในการครอบงำของเงิน ดังนั้นเพื่อความเป็นอิสระ เราจึงควรออกจากวงจรนี้เสีย

สิ่งที่น่าสนใจก็คือนอกจากพ่อรวยจะชี้ไปที่กับดักการทำงานอันแสนน่าเบื่อและไร้ความหมายนี้แล้ว การ ‘กลับมามองที่ตัวเอง’ ก็เป็นหนึ่งในคำสำคัญที่พ่อรวยพูดหลายต่อหลายครั้ง หนึ่งในประโยคที่สะท้อนการเปลี่ยนปัญหาเชิงโครงสร้างมาเป็น ‘การโทษปัจเจก’ คือ “…คนส่วนใหญ่มักต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงคนอื่น แต่สิ่งที่ทำง่ายมากกว่าคือเปลี่ยนแปลงตัวเราเอง” หรือ “ความยากจนมีสาเหตุมาจาก ความกลัว และ ความเขลา ไม่ใช่ปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาล หรือคนรวย ความกลัวและความเขลาทำให้เราติดกับดัก…”

แม้หนังสือจะได้รับความนิยมอย่างมากและกลายเป็นแนวคิดที่ติดตัวผู้คนไปในกระแส ‘แห่กันเป็นเจ้าของธุรกิจ’ มากก็ตาม แต่หนังสือเล่มนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเช่นกัน จอห์น ที. รีด นักเขียนแนวฮาวทูวิจารณ์หนังสือพ่อรวยสอนลูกในเว็บไซต์ของเขาว่า

“พ่อรวยสอนลูกเป็นหนึ่งในหนังสือให้คำแนะนำทางการเงินที่โง่เง่าที่สุดที่ผมเคยอ่าน มันบรรจุข้อมูลผิดๆ และพูดถึงเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นมากมาย… พ่อรวยสอนลูกมีคำแนะนำที่ผิดมาก มีคำแนะนำที่แย่มาก มีคำแนะนำบางอย่างที่เป็นอันตราย และแทบไม่มีคำแนะนำที่ดีเลย” นอกจากนี้เขายังวิจารณ์ว่าคิโยซากิเป็นเพียงเซลส์แมนและนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ โดยที่ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านการเงินเลย

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม แนวคิดแบบพ่อรวยสอนลูกก็เข้ามาเป็นแนวคิดหลักในการมุ่งสู่ความร่ำรวย ดึงให้คนเดินมาสู่เส้นทางของการเป็นเจ้าของธุรกิจ และชี้ให้เห็นว่าการทนเป็นลูกจ้างและเชื่อว่าการอดออมจะนำมาสู่ชีวิตที่ดีนั้นเป็นเรื่องล้าสมัย – มีแต่คนที่ไม่เห็นโอกาสเท่านั้นที่เลือกเดินในเส้นทางเดิมๆ

แน่นอนว่าไม่ใช่หนังสือพ่อรวยสอนลูกเพียงเล่มเดียวที่ส่งผลต่อความคิดในสังคมโดยรวม แต่ในช่วงเดียวกันก็ยังมีหนังสือฮาวทูอีกจำนวนมากที่ตอกย้ำแนวคิดเรื่องการทำงานอย่างชาญฉลาดเพื่อไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า หรือความลับของคนรวย เช่น ถอดรหัสลับสมองเงินล้าน (Secrets of the Millionaire mind), กินกบตัวนั้นซะ! (Eat That Frog!) ฯลฯ ไปจนถึงสายจิตวิญญาณแบบ เดอะ ซีเคร็ต, เดอะ เมจิก ฯลฯ

เมื่อเส้นทางการมีชีวิตที่ดีเป็นเรื่องเดียวกับการสร้างความร่ำรวย และการที่เรามี ‘ฮาวทู’ นั่นย่อมหมายถึงการเลือกเส้นทางที่ชาญฉลาดกว่าคนอื่น หนังสือฮาวทูแนวการมุ่งสู่ความประสบความสำเร็จจึงไปกันได้ดีกับสภาพเศรษฐกิจที่กำลังเปิดกว้าง สนามธุรกิจที่หลากหลายยังรอให้คนไปถางหญ้าถางพง และผู้คนยังเชื่อว่าตัวเองจะสร้างชีวิตที่งดงามได้สำเร็จ

ในหนังสือพ่อรวยสอนลูก ผู้เขียนยกบทกวีชื่อ ‘ถนนที่ไม่ได้เลือก’ (The Road Not Taken) ของโรเบิร์ต ฟรอสต์ ที่เขายึดเป็นคติสอนใจขึ้นมาเล่า กวีบทนี้คือแก่นของเรื่องทั้งหมดที่เขาเขียนเล่าด้วยความยาวกว่า 300 หน้า แก่นคือการเดินไปหนทางที่คนอื่นไม่ไป บทกวีที่ว่ามีเนื้อความดังนี้

ถนนที่ไม่ได้เลือก[1]

มีถนนสองสายในป่าเยลโลวู้ด

ซึ่งผมจะต้องเลือกเดินทางใดทางหนึ่ง

ผมหยุดคิด และพยายามมองออกไปไกลสุดสายตา

เพื่อดูว่าถนนสายนี้จะพาไปถึงไหน

แล้วกลับมามองถนนอีกสาย

ดูเป็นถนนที่น่าเดินไม่แพ้กัน

อาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ…

ตรงที่มีหญ้าเขียวขจี

และดูเหมือนจะมีคนเลือกเส้นทางนี้พอสมควร

เช้าวันนั้นถนนสองสายดูคล้ายกัน

เพราะต่างมีใบไม้ปกคลุมไว้

ผมตัดสินใจเลือกถนนสายแรก

ทั้งที่รู้ว่าถนนคงพาผมเดินต่อไปเรื่อยๆ

จนยากที่จะย้อนกลับมาลองอีกสายหนึ่งได้

วันนี้ ผมขอเฉลยด้วยความโล่งใจว่า

ผมได้เลือกถนนสายที่คนเดินน้อยกว่า

และนั่นทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนแปลงอย่างมหันต์

โรเบิร์ต ฟรอสต์ (1916)

ผ่านมากว่า 25 ปี หลังจากหนังสือพ่อรวยสอนลูกตีพิมพ์ และกว่าร้อยปีที่บทกวี ‘ถนนที่ไม่ได้เลือก’ ถูกเขียนขึ้น ดูเหมือนว่าในปัจจุบัน หนุ่มสาวในหลายประเทศทั่วโลกก็กำลังเดินไปในเส้นทาง หากไม่ใช่เส้นทางที่มีหญ้าเขียวขจี แต่เป็นเส้นทางหนาวเหน็บปกคลุมด้วยหิมะในเหมันตฤดูอันยาวนาน

ถาม: นี่เราใช้ชีวิตยากเกินไปหรือเปล่า?

ตอบ: มันไม่ง่ายขึ้นหรอก แต่เธอจะเก่งขึ้น

เราหนีจากการเป็นหนูถีบจักรในวงล้อหนึ่ง เพื่อมาถีบจักรในวงล้อใหม่ – ทำแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ประโยคข้างต้นเป็นหนึ่งในแนวคิดที่วนเวียนอยู่ในหมู่คนทำงานรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มทำงานไปจนถึงคนที่ทำงานได้สิบปีแล้ว

แม้ว่าพ่อรวยสอนลูกจะเสนอให้เราลองเดินเส้นทางใหม่ด้วยการเป็นเจ้าของธุรกิจและใช้เงินทำงาน แต่กาลเวลาที่ผ่านมาก็บอกเราอย่างชัดแจ้งว่าไม่ใช่ทุกคนที่ทำแบบนั้นได้

“มีแต่สตีฟ จ็อบส์ กับ มาร์ก ซักเคอเบิร์ก เท่านั้นแหละ ที่เรียนไม่จบแล้วกลายเป็นมหาเศรษฐีได้” บางคนหย่อนมุกตลกร้ายไว้ได้เจ็บแสบ

ความน่ากลัวในวันที่ยุคสมัยเปลี่ยนผ่านคือ คุณไม่สามารถเลือกได้ว่าจะเรียนหนังสือให้จบสูงๆ เพื่อมีเงินเดือนเยอะๆ หรือจะออกมาทำธุรกิจแล้วร่ำรวย เพราะคุณต้องทำมันทั้งสองอย่างนั่นแหละ

หากคุณอยากมีหน้ามีตาในสังคมและมีเงินใช้อย่างมั่นคง คุณต้องเรียนจบปริญญาตรีเป็นอย่างต่ำ และมีความสามารถในการทำงานเพื่อตำแหน่งและเงินที่สูงขึ้น เพื่อที่ว่าวันหนึ่งคุณจะได้เป็นเจ้าของธุรกิจเองในสักวัน – แถมให้อีกหน่อยคือคุณควรจะมีความสามารถพิเศษอีกสักหนึ่งหรือสองอย่าง เช่น เล่นเปียโน มีความสามารถในการพูดกับที่สาธารณะ หรือพูดได้อย่างน้อยสามภาษา เพื่อให้คุณโดดเด่นและแตกต่างจากคนอื่น

พุดกันอย่างตรงไปตรงมา สิ่งที่ว่ามาเหล่านี้ไม่ใช่ใครก็ทำได้ ความสามารถและสถานะทางสังคมที่คุณมีต้องแลกมาด้วยเงินและครอบครัวที่พรั่งพร้อม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณเกิดมาเป็นลูกใคร – พ่อรวยหรือไม่รวย

ระบบเศรษฐกิจในช่วงเวลาเพียง 20-30 ปี เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในพริบตา ใครที่จับจองพื้นที่ได้ทันก็มีโอกาสสร้างธุรกิจจนร่ำรวย ใครที่สืบธุรกิจมาจากรุ่นปู่ย่าก็กำลังสร้างหนทางที่สวยงามไว้ให้คนรุ่นลูกต่อไป แต่เมื่อถึงรุ่นลูก หากไม่ได้มีใครสร้างอะไรไว้ให้แล้วเราอยากสร้างชีวิตของตัวเองขึ้นมา ก็ดูเหมือนว่าหญ้าถูกถางและปลูกต้นไม้ไว้จนเต็มที่ดินแล้ว ไม่เหลือพื้นที่สักน้อยให้ลงมือปลูกอะไรเป็นของตัวเอง – เราไม่สำเร็จเพราะเราเกิดช้าเกินไป – บางคนตัดพ้อเช่นนี้

ภาวะแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ประเทศที่มีอัตราก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จากประเทศที่อดอยากเพราะสงครามกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วในช่วงเวลาเพียง 60 ปี ด้วยอัตราเร่งที่เร็วขนาดนี้ ส่งผลให้คนจำนวนมากถูกบีบอัดด้วยความเครียด ความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างจนยากจินตนาการ และกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบที่สุดคือคนหนุ่มสาวที่ต้องอยู่กับแบบแผนชีวิตที่คนรุ่นก่อนวางไว้ให้ แต่ไม่เหลือที่ทางให้พวกเขาไปต่อได้เลย

ภาวะที่ต้องแข่งกันเรียนอย่างหนัก ต่อสู้กันเพื่อเข้าทำงานในบริษัทใหญ่ๆ หาเงินเพื่อใช้ชีวิต โดยที่ไม่สามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ของตัวเองได้ เพราะราคาสูงจนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครมีปัญญาซื้อได้ ทั้งยังต้องเผชิญกับช่องว่างทางชนชั้นที่เปลี่ยนแปลงยาก ทำให้คนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้ตกอยู่ในภาวะตึงเครียด จนถึงกับมีคำเรียกว่ากำลังอยู่ใน ‘นรกโชซ็อน’

รากของความเหลื่อมล้ำในเกาหลีใต้มีมาตั้งแต่สมัยโชซ็อน ซึ่งเป็นอาณาจักรสุดท้ายของเกาหลีที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก่อนจะถูกผนวกเข้าเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น โดยมีการแบ่งคนออกเป็น 4 ชนชั้น คือ ยังบัน ชุงอิน ซังมิน ชอนมิน เมื่อคุณเกิดมาในชนชั้นไหนแล้ว ก็ยากที่จะเปลี่ยนชนชั้นได้

ในยุคปัจจุบันที่ทุนนิยมเข้ามาเป็นระบบเศรษฐกิจ ทำให้ผู้คนเชื่อว่าสามารถเลื่อนชนชั้นได้ถ้าคุณพยายามมากพอ แต่ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเฉพาะของเกาหลี ที่ใช้กลุ่มทุนขนาดใหญ่หรือที่เราคุ้นหูในชื่อ ‘แชโบล’ มาเป็นหน่วยสร้างผลผลิตสำคัญในการพัฒนาประเทศช่วงทศวรรษ 1960 จนกลายเป็นกลุ่มทุนที่ผูกขาดความมั่งคั่ง ทำให้ผู้คนจำนวนมากถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง แม้จะเกิดวิกฤตการเงินในปี 1997 รัฐบาลก็ยังตัดสินใจอุ้มธุรกิจใหญ่เหล่านี้ ภายใต้แนวคิด ‘ใหญ่เกินไปที่จะปล่อยให้ล้ม’ (too big to fail) แน่นอนว่าคนที่รับกรรมคือธุรกิจรายเล็ก รวมถึงภาคครัวเรือนทั้งประเทศที่ต้องเผชิญชะตากรรมอันแสนเจ็บปวดไปตามๆ กัน

ในซีรีส์เรื่อง Little Women เรื่องของสามพี่น้องผู้ยากจนที่มีความฝันว่าสักวันชีวิตจะดีขึ้น ซึ่งบังเอิญเข้าไปข้องเกี่ยวกับตระกูลเศรษฐีจนเกิดเรื่องราวระทึกขวัญขึ้น มีฉากหนึ่งที่สะท้อนเรื่องความหวังในการสร้างตัวของคนเกาหลียุคปัจจุบันได้ดี คือฉากที่ย่าถามนางเอก (โออินจู-พี่สาวคนโต) ว่า “ถ้าเธอเป็นคนเกาหลีในช่วงปี 1960 เธอจะทำอะไรเป็นอย่างแรก” โออินจูตอบว่า “ซื้อที่ดินในย่านคังนัม”

คำตอบสั้นๆ นี้บอกเราว่า ถ้าย้อนเวลาได้หรือ ‘รู้อย่างนี้’ เราคงเลือกจะซื้อที่ดินในย่านราคาแพงของโซลไปแล้ว ในวันที่การจับจองที่ดินไม่ใช่เรื่องเกินฝัน แต่มาตอนนี้ นาทีนี้ การมีที่ดินในย่านคังนัมกลายเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้อย่างสิ้นเชิงสำหรับพนักงานกินเงินเดือนธรรมดาๆ คนหนึ่ง

ด้วยภาวะเช่นนี้ ทำให้ที่เกาหลีใต้เกิดกระแส ‘หยุดเดินและหันหลังกลับ’ ในหมู่คนรุ่นใหม่ เพราะเหนื่อยล้าเกินไปที่จะมุ่งสู่ความสำเร็จ จนเกิดหนังสือแนวให้กำลังใจจำนวนมากในแผงหนังสือ และเกิดปรากฏการณ์ขายดีถล่มทลายในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าประเทศที่รับเอาอิทธิพลจากสื่อบันเทิงของเกาหลีใต้มาแทบจะทั้งหมดอย่างประเทศไทยก็รับเอาหนังสือแนวนี้มาด้วย ยิ่งช่วงเวลาที่คนรุ่นใหม่ในไทยก็กำลังเผชิญชะตากรรม ‘นรกกรุงเทพฯ’ เช่นเดียวกัน พวกเขาต้องต่อสู้กับการแข่งขันตั้งแต่ในชั้นเรียนจนถึงวัยทำงาน ราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูงกับค่าแรงที่ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ จนมีมุกตลกพูดกันในวงเพื่อนว่า “ของมีค่าที่สุดของคนวัย 30 ที่มีตอนนี้คือโน้ตบุ๊กแบตเสื่อมหนึ่งเครื่อง”

ด้วยเหตุนี้การโอบรับเอาหนังสือแนวให้กำลังใจเข้ามาย่อมเกิดขึ้นโดยง่ายดายและเฟื่องฟูอย่างรวดเร็ว

หนึ่งในหมุดหมายของหนังสือแนวปลอบประโลมและโอบกอดหัวใจคนรุ่นใหม่ของเกาหลีที่ถูกแปลเป็นภาษาไทยและได้รับความนิยมอย่างสูง คือ เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด เขียนโดยคิมรันโด หนังสือเล่มนี้ขายในเกาหลีไปมากกว่า 2 ล้านเล่ม ได้รับการตีพิมพ์ในไทยครั้งแรกเมื่อปี 2012 โดยสำนักพิมพ์ Springbooks ทำยอดขายถล่มทลาย ในเวลาเพียงแค่ 2 ปีก็พิมพ์ซ้ำไปแล้วกว่า 22 ครั้ง ถูกพูดถึงในหมู่คนมีชื่อเสียงและกลายเป็นประโยคยอดฮิตที่ใช้กันในหมู่วัยรุ่นที่ว่า “เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด”

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นมาสำหรับนักศึกษาที่ยังสับสนว่าหลังเรียนจบจะทำอย่างไรต่อไป หากพ่อรวยสอนลูกบอกเราว่าไม่ควรทำงานหาเงิน แต่ควรให้เงินทำงานให้ หนังสือเรื่อง เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด ก็พูดอะไรที่คล้ายกัน คือ ‘อย่าเลือกงานเพราะความมั่นคงหรือเงินเดือนสูง’ แต่เหตุผลที่ให้ต่อจากนั้นแตกต่างจากพ่อรวยสอนลูก คิมรันโดบอกว่า “การเข้าทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่ชื่อดังไม่ใช่เครื่องยืนยันความสำเร็จที่แท้จริง ต้องพิจารณาความสนุกของตัวเองในการทำงานด้วย”

คิมรันโดขยายความว่า “ชีวิตของเราประกอบไปด้วยงานและเงินที่หาได้ อาชีพมีความสัมพันธ์กับงาน ส่วนเงินที่หามาได้มีความสัมพันธ์กับค่าใช้จ่าย ดังนั้นเพื่อความสุขที่แท้จริง หากรู้สึกสนุกกับการจับจ่ายใช้สอยได้เพียงครึ่งเดียว ลองเติมเต็มส่วนที่เหลือด้วยการหาอาชีพที่ทำแล้วรู้สึกสนุกแทน”

ถ้าจะมีอะไรที่คล้ายกันระหว่าง พ่อรวยสอนลูก กับ เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด ก็คือหนังสือต่างบอกให้เราทำสิ่งที่สนุก แต่พ่อรวยบอกเราว่า ลองทำในสิ่งที่สนุกโดยไม่คาดหวังเงินแต่หวังคุณค่าอย่างอื่นไปก่อน แล้วเงินจะมาเอง ส่วนคิมรันโดบอกเราว่าไม่ควรหมกมุ่นเรื่องเงินขนาดนั้น เพราะ “เงินก็เหมือนกับเซ็กซ์ ถ้าหมกมุ่นจนเกินพอดี ชีวิตอาจพังพินาศได้”

เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด พูดถึงช่วงชีวิตของการเรียนมหาวิทยาลัยและเตรียมพร้อมที่จะไปสู่โลกการทำงาน หนังสือจึงเต็มไปด้วยการปลอบประโลมและเตือนสติในฐานะผู้ใหญ่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน สิ่งหนึ่งที่หนังสือเน้นย้ำอยู่เสมอคือจงสร้างเส้นทางของตัวเองและไม่จำเป็นต้องไปคร่ำเคร่งกับค่านิยมที่สังคมวาดไว้ให้ การใช้ชีวิตให้มีความสุขต่างหากคือคำตอบ

นอกจากเล่มนี้แล้ว คิมรันโดยังมีผลงานต่อเนื่องอีกมาก เช่น แด่งานของฉัน แด่วันพรุ่งนี้, พันครั้งที่หวั่นไหวกว่าจะเป็นผู้ใหญ่, ในเวลาที่หม่นเศร้า ชีวิตก็ยังเป็นของเรา ฯลฯ หนังสือว่าด้วยเรื่องชีวิตการทำงาน และวิธีกำหนดอนาคตในวันที่โลกผันผวน ให้คำแนะนำไปด้วยและปลอบประโลมไปด้วย เกือบทุกเล่มได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ แม้จะไม่เท่าเล่มเพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวดก็ตาม

หนังสือเล่มนี้สร้างแรงบันดาลใจและความฮึกเหิมให้เด็กที่เพิ่งเผชิญโลกการทำงานได้มาก ช่วยตอบคำถามว่าสิ่งที่ฉันทำมันดีหรือยัง ฉันควรเดินทางนี้ต่อไหม และฉันสามารถเป็นอะไรได้บ้าง – แต่ก็อย่างที่โลกนี้เป็นเสมอมา คือไม่ใช่ทุกคนที่ได้ตั๋วขึ้นเรือ ความเจ็บปวดยังดำเนินต่อไปกับอีกหลายชีวิต แต่ดูเหมือนว่าวิธีรับมือกับปัญหาของคนแต่ละยุคสมัยนั้นต่างกันเหลือเกิน

เมื่อเวลาผ่าน หนังสือแนวให้กำลังใจเฟื่องฟูอย่างมากในช่วงหลังการระบาดของโควิด-19 สังคมอยู่ในภาวะซึมเครียดถึงขีดสุด ในประเทศไทยมีหนังสือแนวปลอบประโลมทั้งไทยและเทศตีพิมพ์ออกมาในแผงจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงปี 2021-2022

สิ่งที่น่าสนใจซึ่งเป็นความแตกต่างจากหนังสือให้กำลังใจในยุคก่อนหน้าคือหนังสือเปลี่ยนท่าทีจากการเป็นผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน กลายเป็นเพื่อนผู้กำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกันและใช้ประโยคที่กระทบใจคนได้ง่ายมาเป็นชื่อเรื่อง ทั้งนี้หนึ่งในจุดเด่นของหนังสือกลุ่มนี้คือ เนื้อหาและน้ำเสียงที่พยายามบอกเราให้เลิกพยายามมุ่งสู่ความสำเร็จ และหันมา ‘ใส่ใจตัวเอง’ ให้มากๆ ดังรายชื่อหนังสือที่เขียนถึงในตอนต้น

โทษที วันนี้ชีวิตฉันสำคัญที่สุด

ยังไม่ทันเข้างานก็อยากกลับบ้านแล้ว

มันไม่ง่ายขึ้นหรอก แต่เธอจะเก่งขึ้น

นี่เราใช้ชีวิตยากเกินไปหรือเปล่านะ

ฉันไม่ใช่ผู้ใหญ่ ฉันแค่อายุ 30

สิ่งที่คนอื่นบอกเรา ไม่สำคัญเท่าสิ่งที่เราบอกตัวเอง

ฯลฯ

หลายเล่มนำเสนอด้วยคำคมสั้นๆ ประกอบภาพการ์ตูน อ่านง่าน พลิกไว สร้างกำลังใจได้เลย ยกตัวอย่างหนังสือขายดีเล่ม โทษทีวันนี้ชีวิตฉันสำคัญที่สุด เขียนโดยอีจินอี จัดพิมพ์เป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ Bloom ที่เล่าเรื่องผ่านหัวข้อของสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักการอะไรประกอบ เน้นว่าคนเขียนมีหัวใจดวงเดียวกันกับคนอ่าน

ยกตัวอย่างหัวข้อ ‘มาไม่ขาดสาย’ ในหนังสือเขียนไว้ว่า

ลองมองย้อนกลับไป

ไม่เคยมีช่วงไหนเลยที่ไม่มีเรื่องกังวลใจ

แค่ระดับและขนาดของความกังวลมันแตกต่างกันเท่านั้น

เมื่อแก้ไปได้อย่างหนึ่งแล้ว เรื่องกังวลถัดไปก็เข้ามาทันที

ฉันไม่ใช่ร้านดังสักหน่อยนะ ทำไมเจ้าพวกความกังวล

ถึงได้ต่อแถวรอคิวกันยาวเหยียดขนาดนี้

ข้างล่างคำคมเป็นภาพวาดเจ้าตัวความกังวลต่อแถวเข้าบูธของหญิงสาวคนหนึ่ง ที่มีป้ายติดไว้ด้านหน้าว่า open 12 A.M. close 12 A.M. เป็นการสื่อความว่าจำต้องเปิดให้ความกังวลเข้ามาได้ตลอด 24 ชั่วโมง

หากใครคาดหวังจะอ่านหนังสือแนวนี้เพื่อเอาความรู้อาจต้องผิดหวัง เพราะหนังสือไม่ได้ให้อะไรเรามากไปกว่าการพร่ำบ่นถึงความทุกข์ ถ้าพอจะมีประโยชน์อยู่บ้างก็คงทำให้คนอ่านรู้สึกเหมือนกำลังมีเพื่อนเท่านั้น

การเขียนเนื้อหาสั้นๆ หน้าหนึ่งมี 3 บรรทัดที่แสร้งเป็นกลอนไฮกุนี้ ปรากฏอยู่ในหนังสืออีกหลายเล่มในหมวดหมู่เดียวกัน เช่นในเล่ม ฉันไม่ใช่ผู้ใหญ่ ฉันแค่อายุ 30 ก็ใช้วิธีเล่าเหตุการณ์ที่พบเจอในชีวิตสั้นๆ คล้ายการพิมพ์ในทวิตเตอร์ที่มีกฎเกณฑ์ว่าห้ามพิมพ์เกิน 280 ตัวอักษร แม้ว่าหน้ากระดาษจะมีพื้นที่มากกว่านั้นก็ตาม

มีตอนหนึ่งผู้เขียนเล่าถึงการเผชิญความซวยในชีวิตประจำวัน โดยเล่าตอนที่ต้องไปต่อคิวที่ธนาคารว่า

“ฉันมาทำธุระที่ธนาคาร

ถึงจะคาดไว้อยู่แล้วว่าคนน่าจะเยอะก็เถอะ

แต่คิวที่สามสิบเจ็ดเลยเหรอ

นี่ฉันต้องรอนานขนาดไหนเนี่ย”

พลิกหน้าถัดไป ชะตาชีวิตยังไม่จบ เธอเล่าว่า

“จองตั๋วรถรอบสองทุ่มเอาไว้

เพิ่งมารู้ตัวเอาตอนนี้ว่าจองรถผิดเป็นรอบแปดโมงเช้าเสียนี่”

หน้าถัดไป เธอเขียนไว้สั้นๆ ว่า

“ไม่ได้ดั่งใจอะไรสักอย่าง!

หงุดหงิดจนจะบ้าตายแล้ว!

หลายคนที่อ่าน อาจรำพึงรำพันกับตัวเองว่า เรื่องแค่นี้ทำไมไม่เล่าให้เพื่อนฟังไปเลย จะเขียนเป็นหนังสือทำไม แต่ก็นั่นแหละ บางครั้งก็อาจมีคนที่อยากอ่านเรื่องราวของคนอื่นที่บังเอิญคล้ายคลึงกับชีวิตเรา อย่างน้อยคงช่วยปลอบประโลมใจได้บ้าง

ชื่อหนังสือและเนื้อหาที่ว่ามาข้างต้น ถ้าคนเจนเอ็กซ์มาอ่านคงเอามือกุมหัว แล้วถามด้วยความสุภาพว่า แค่นี้ก็นับเป็นความเหนื่อยแล้วหรือ หรือชื่อหนังสือที่ว่า ยังไม่ทันเข้างานก็อยากกลับบ้านแล้ว ถ้าวางไว้บนโต๊ะทำงานที่บริษัทคงถูกตั้งคำถามจากเพื่อนร่วมงานหรือเจ้าของบริษัทไม่น้อย

หนังสือแนว ‘วันนี้ฉันสำคัญที่สุด’ มีหลายแบบ นอกเหนือจากการเขียนเป็นคำคมสั้นๆ ประกอบภาพการ์ตูน ยังมีหนังสือที่เล่าผ่านความเรียงและภาพประกอบ แต่ละบทมีความยาวประมาณ 2-3 หน้า เล่าเหตุการณ์หรือชุดความคิดสั้นๆ ในแต่ละบท

ยกตัวอย่างบทหนึ่งที่ชื่อ ‘อกหักรักคุด’ ในเล่ม นี่เราใช้ชีวิตยากเกินไปหรือเปล่านะ วาดและเขียนโดยฮาวัน เขียนถึงอิสรภาพของการเป็นฟรีแลนซ์และการถูกจองจำเมื่อตอนเป็นพนักงานบริษัท เขาเล่าว่า “มีช่วงหนึ่งที่บริษัทว่างมาก ผมใช้เวลาแต่ละวันกับการจ้องจอคอมพิวเตอร์เรื่อยเปื่อย ขนาดดูหนัง ช็อปออนไลน์ อ่านเรื่องขำขันในอินเทอร์เน็ตจนหมดเกลี้ยง เวลาก็ผ่านไปอย่างเชื่องช้าจนน่าเจ็บใจ ฮ้า คงดีมากหากได้ออกไปนอกบริษัทตามใจชอบ ที่แท้เวลาของเราไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของบริษัทสินะ ยังกับถูกลงโทษด้วยวิธีต้องนั่งติดโต๊ะทำงานเลย”

“พอครบเดือน เงินเดือนก็เข้าบัญชี เงินก้อนนั้นคือสิ่งแลกเปลี่ยนจากอิสรภาพของผม ขอแค่เราเกาะเก้าอี้ตำแหน่งเดิมในบริษัทได้ครบเดือน เงินเดือนจำนวนเท่าเดิมก็จะปรากฏในบัญชีธนาคารโดยไม่แปรผันตามปริมาณกับคุณภาพที่เราทำให้บริษัท”

“พอตอนนี้เป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว ผมมีเวลาอิสระมาก แต่ว่านะความสนุกเพลิดเพลินใดๆ ในเวลาอิสระก็มีค่าใช้จ่ายของมัน ราวกับว่าผมใช้เงินเก็บที่เคยได้จากการขายเวลาส่วนตัวมาจ่ายเพื่อจะมีเวลาอิสระอีกที ย้อนแย้งชะมัด”

เนื้อหาในความเรียงสะท้อนภาวะที่คนทำงานต้องเจอคือการทำงานประจำอันแสนน่าเบื่อหน่าย ซึ่งเป็นปัญหาคลาสสิกมาอย่างยาวนาน หาก ‘พ่อรวย’ ได้คุยกับฮาวัน เขาคงถามกลับไปว่า “นี่เราใช้ชีวิตง่ายเกินไปหรือเปล่านะ”

ท้ายที่สุดฮาวันมีวิธีคิดต่อชีวิตสุดเรียบง่าย เมื่อเขาให้คำตอบกับตัวเองว่า “ระหว่างเงินกับอิสระ ผมเลือกอิสระ”

“ผมยอมปล่อยมือจากเงินเดือน แล้วใช้เงินจำนวนพอๆ กับเงินเดือนซื้ออิสระทุกเดือน ในเมื่อซื้ออิสระได้ด้วยเงินจากน้ำพักน้ำแรงของผม หากไม่ยืดอกรับอิสระอย่างสุขใจคงเสียดายแย่ ฉะนั้นเลิกจ้องยอดเงินคงเหลือในบัญชี ไปเที่ยวเล่นเสียบ้างเถอะ! หยุดกลุ้มใจคิดมากได้แล้ว! ถ้ากลุ้มนักก็ขยันหาเงินเข้า”

“ดูจากที่ตัวเองยังไม่ค่อยคิดอยากหาเงิน แสดงว่ายังพอกล้อมแกล้มกับชีวิตที่เป็น ในเมื่อจัดระเบียบความคิดชัดเจนดีแล้ว ก็คงถึงเวลาเสพสุขจากอิสระให้ฉ่ำปอด จะได้ไม่เสียดายเงินที่จ่ายไป”

หากดูจากเนื้อหาของหนังสือหลายเล่ม จุดร่วมเดียวกันคือการทำงานประจำเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายอย่างยิ่ง และแทบจะกลายเป็นหลักคิดร่วมกันในสังคมไปแล้วว่า การเป็นลูกจ้างเป็นเรื่องไม่พึงกระทำ หรือพึงกระทำเพียงชั่วคราวเท่านั้น คนเราควรมุ่งสู่อิสระ ซึ่งอิสระที่ว่านั้นต้องมีเงินเป็นปัจจัยสำคัญด้วย เพราะหากไม่มีเงินเราก็ไม่อาจใช้ชีวิตได้อย่างที่ฝัน ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องซมซานกลับมาหางานประจำอยู่ดี มีเพียงคนรวยที่หาทาง ‘ใช้เงินทำงาน’ ได้เท่านั้น ที่จะหลุดพ้นจากวัฏจักรนี้

แต่ในรายละเอียด หนังสือที่ว่ามาหลายเล่มมีแก่นที่บอกเราต่างกัน พ่อรวยบอกให้เราหาวิธีที่ฉลาดกว่าคนอื่น เพื่อหลุดพ้นจากกับดักความกลัวในการทำงานประจำและมุ่งสู่ความร่ำรวย คิมรันโดบอกให้เราหาความสนุกในงาน ฮาวันบอกให้เราลาออกแล้วกล้อมแกล้มกับชีวิตที่เป็นไปก่อน ส่วนเล่มอื่นๆ ที่เล่าผ่านคำคมอาจกำลังบอกเราว่า ไม่ต้องคิดมาก ฉันก็เป็นเหมือนเธอนี่แหละ…

ในแง่หนึ่ง หนังสือแนว ‘วันนี้ฉันสำคัญที่สุด’ กลายเป็นเพื่อนของคนที่กำลังตกอยู่ในความทุกข์หรืออยากเห็นว่ายังมีคนที่กำลังเผชิญเรื่องเดียวกันกับเรา แต่คำถามสำคัญก็คือหนังสือเหล่านี้เป็นเพื่อนแบบไหน เพื่อนที่ให้คำปรึกษาอย่างเป็นเหตุเป็นผล เพื่อนที่พาเราดำดิ่งไปกับความเศร้า หรือเพื่อนที่บอกให้เราสนใจแต่ความรู้สึกของตัวเอง ฯลฯ คำถามเหล่านี้มีเพียงผู้อ่านเท่านั้นที่ตอบได้

เหตุผลของการมีชีวิตอยู่ในโลกซึมเศร้า

นอกจากหนังสือแนวปลอบประโลมเป็นเพื่อนให้กำลังใจแล้ว ยังมีหนังสืออีกประเภทที่ใกล้เคียงกัน แต่มีข้อแตกต่างอยู่บ้าง คือหนังสือที่ว่าด้วยศิลปะการจัดการสุขภาพจิต โดยเฉพาะกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าซึ่งเป็นโรคที่หลายคนกำลังต่อสู้อยู่ หนังสือเล่าประเด็นสุขภาพจิตผ่านเรื่องราวที่น่าสนใจ มากไปกว่าเรื่องในชีวิตประจำวัน แต่เป็นพล็อตที่มีที่มาที่ไป มีจุดไคลแม็กซ์ และมีแก่นเรื่องที่พอจะอธิบายต่อด้วยแนวคิดบางอย่าง

หนังสือเหล่านี้มีรูปแบบคล้ายฮาวทูสู่ความสำเร็จ ด้วยการพยายามใส่แก่นคิดบางอย่างเข้ามาในเล่ม ต่างกันก็ตรงที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อปลอบประโลมใจให้สู้กับความทุกข์ที่กำลังเกิดขึ้นได้ พูดอีกทางก็คือ ฮาวทูสู่การมีความสุขให้สำเร็จ

ที่ผ่านมาคนเจเนอเรชันวายและแซดถูกปรามาสว่าเกิดมาสุขสบายจนไม่สามารถอดทนกับความลำบากได้ มีบทความและงานวิจัยจำนวนมากที่พยายามแจกแจงลักษณะของคนเจนวาย หรือ Me Generation ว่ายึดตัวเองเป็นศูนย์กลางและไม่พร้อมรับกับความผิดหวัง แน่นอนว่าหลายคนย่อมเถียงว่าไม่จริง เพราะการเหมารวมคนด้วย ‘ปีเกิด’ ก็คงเป็นเรื่องเกินไปอยู่บ้างในสังคมที่ไม่ยอมรับการตีตรานี้ แต่ขณะเดียวกัน หนังสือแนว ‘วันนี้ฉันสำคัญที่สุด’ ที่ปรากฏในชั้นหนังสือและหลายเล่มเป็นหนังสือขายดี ก็สะท้อนว่าบางเรื่องมีส่วนจริง คำถามสำคัญก็คือ เราจะเติบโตไปแบบไหนในวันที่โลกไม่ได้เป็นของเรา

ในวันที่ทุกคนลงความเห็นตรงกันว่าโลกที่เป็นอยู่นั้นโหดร้าย แต่ขณะเดียวกันเราก็อาจต้องแวะถามตัวเองด้วยว่าโลกโหดร้ายเกินไปหรือฉันอ่อนไหวเกินควร?

แม้เราจะผลิตหนังสือปลอบประโลมหัวใจออกมาเป็นพันเป็นหมื่นเล่ม ก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาความทุกข์ที่คนในสังคมเผชิญอยู่ได้ เช่นเดียวกันที่หนังสือสอนวิธีสู่ความรวยก็ไม่อาจทำให้ทุกคนรวยได้ คำว่า ‘หนังสือเปลี่ยนชีวิต’ จึงอาจเป็นได้แค่คำโฆษณาให้เราตื่นเต้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ในห้วงที่สังคมกำลังเผชิญความเครียดไปพร้อมๆ กันนี้ หนังสืออาจทำหน้าที่เป็นเพียงเพื่อนตบหลังกอดไหล่ แต่หากจะหวังให้โลกเปลี่ยน เราอาจต้องมองไกลกว่านั้น

ในหนังสือ เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์ ของสรวิศ ชัยนาม ที่เขียนสรุปแนวคิดเรื่องสัจนิยมแบบทุนของมาร์ก ฟิชเชอร์ ดูเหมือนจะเป็นคำอธิบายภาพสังคมในปัจจุบันที่หลายคน ‘ซื้อ’

โลกสัจนิยมแบบทุนคือความคิดเชิงวิพากษ์ที่ชี้ว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรอยู่พ้นไปจากทุนนิยมอีก ในหนังสือเขียนไว้ว่า “ตามความคิดของฟิชเชอร์ โลกสัจนิยมแบบทุนเป็นทั้ง ‘ความเชื่อ’ ที่แพร่หลายและเป็น ‘ทัศนคติทั่วไป’ ทั้งสองต่างช่วยกันเปิดทางให้ตลาดขยายตัวอย่างตะกละตะกลามเข้าสู่ทุกอาณาบริเวณของชีวิต และชิงโจมตีการกระทำใดๆ ที่คัดค้านการขยายตัวของมัน” มีคำกล่าวอันโด่งดังของ Fredric Jameson ที่ว่า “ให้จินตนาการว่าโลกล่มสลายยังจะง่ายกว่าจินตนาการว่าทุนนิยมจบสิ้นแล้วซะอีก” – อย่างรู้ตัวหรือไม่รู้ เราต่างใช้ชีวิตอยู่ในโลกทุนนิยมใบนี้อย่างไร้ทางหืออือ

บางส่วนในหนังสือ เมื่อโลกซึมเศร้า เขียนไว้ว่า “Fisher สังเกตว่านักศึกษาวัยรุ่นจำนวนมากของเขาประสบกับ ‘ความซึมเศร้าจากการไล่หาความสุข’ (depressivehedonia) มันคือสภาวะที่ ‘ไม่ได้เกิดจากการที่คนคนนั้นไม่สามารถหาความสุขได้ แต่เพราะคนคนนั้นไม่สามารถทำอย่างอื่นได้นอกจากแสวงหาความสุข’”

“ทุนนิยมเน้นย้ำให้และขยายใหญ่ความรู้สึกที่ว่าอะไรบางอย่างมันขาดหายไป เพื่อขายความพอใจอย่างเหลือล้นซึ่งพร่ำบอกว่าจะช่วยเติมเต็มชีวิตเรา แต่การสะสมหรือบริโภคของเราทุกครั้งล้วนแต่นำมาซึ่งความผิดหวังในตอนท้าย (ราวกับจะบอกว่า ความผิดหวังเป็นสิ่งถูกแอบใส่เข้ามาเป็นส่วนประกอบหนึ่งของสินค้าทุกตัวอย่างนั้นแหละ)”

การมองทุนนิยมด้วยสายตาของคนที่มองเห็น ‘การครอบโลกด้วยทุน’ เช่นนี้ ดูเหมือนจะตอบคำถามของความทุกข์ได้หมดสิ้น จนการปลอบประโลมในหนังสือให้กำลังใจเป็นเพียงเพื่อนในบ้านตุ๊กตาเท่านั้น หนังสือเขียนไว้อย่างแทงใจดำในเรื่องการหาแพสชันว่า “เรามักบอกคนอื่นว่าตัวเองช่างโชคดีเหลือเกินที่ได้ทำสิ่งที่เรารัก ว่าเรามีความหลงใหล (passion) ในงานที่ทำจนไม่ได้รู้สึกว่าทำงานหนักเกินไป เราได้กลายเป็นเจ้านายและศัตรูที่โหดร้ายที่สุดของตัวเราเองซะแล้ว! ในสังคมแห่ง ‘คนทำงาน’ หรือสิ่งที่ Byung-chul Han เรียกว่า ‘สังคมแห่งการประสบความสำเร็จ’ นี้ เราทุกคนต่างแบกค่ายทำงานของนักโทษไว้ข้างในตัวเราเอง เราเรียกมันว่าค่ายแรงงานได้ก็เพราะว่าเราเป็นทั้งนักโทษและผู้คุม เป็นทั้งเหยื่อและผู้กระทำไปพร้อมๆ กัน เราเอารัดเอาเปรียบตัวเอง”

หากใช้คำอธิบายนี้ ความซึมเศร้าที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นผลผลิตของรูปแบบสังคมที่เกิดจากการ ‘ทำ’ หรือ ‘ไม่ทำ’ อะไรของผู้มีอำนาจ ซึ่งดำเนินไปในโลกของทุนนิยมที่บังคับให้เราต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อมีชีวิตที่ดี เมื่ออธิบายด้วยสัจนิยมแห่งทุน ดูเหมือนว่าการพยายามมีความสุขในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน เป็นการเล่นเกมที่เราไม่เคยตั้งคำถามกับคนกำหนดกติกา แต่ในขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่จำนวนมากก็เริ่มตั้งคำถามกับกติกาที่ว่านี้แล้ว

คำอธิบายด้วยสัจนิยมแบบทุนทำให้เราถอยออกมาปัญหาได้กระจ่างขึ้นก็จริงอยู่ แต่ความเป็นจริงที่เราเผชิญกันอยู่คือเราล้วนต้องบริโภคและหาเงินมาเพื่อบริโภค วนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า มนุษย์ที่เจอเรื่องเหล่านี้ล้วนฝันถึงดินแดนยูโทเปีย

ยูโทเปียใกล้เคียงกับคำว่าไม่มีจริง แต่หนึ่งในคุณสมบัติของการเป็นโลกยูโทเปียคือโลกที่ทุกคนเท่าเทียมและ ‘เห็นอกเห็นใจผู้อื่น’ เท่ากับที่เรียกร้องให้คนอื่นเห็นอกเห็นใจตัวเอง – เราอาจต้องเลือกว่าจะไปถนนสายไหน


[1] สำนวนการแปลและเรียบเรียงของจักรพงษ์ เมษพันธุ์ และ ธนพร ศิริอัครกรกุล จาก พ่อรวยสอนลูก ฉบับฉลองครบรอบ 20 ปี (2561)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save