fbpx

นรกไม่ใช่สถานที่แต่คือผู้คน: สำรวจนรกโชซ็อนของหนุ่มสาวเกาหลี

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เปิดฉากขึ้นในปี 2020 สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ วิกฤตจากโรคระบาดซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่แล้วให้หนักขึ้นกว่าเดิม เช่น ความเหลื่อมล้ำ การว่างงาน ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้คนรู้สึกไม่มั่นคงและทุกข์ระทม และจะแย่ยิ่งกว่านั้นหากรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งโดยรัฐให้เอาตัวรอดเอง 

สภาวะไม่พึงปรารถนาเหล่านี้ทำให้ชาวเน็ตไทยอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบว่าเรากำลังซ้อมตกนรกกันอยู่ บ้างก็ว่าผ่านช่วงนี้ไปได้ นรกก็ไม่น่ากลัวอีกต่อไป  แต่ไม่ใช่ที่ไทยเท่านั้น เพราะที่เกาหลีใต้ คำว่า ‘นรก’ ถูกนำมาใช้บอกเล่าถึงสภาพบ้านเกิดเมืองนอนกันอย่างแพร่หลายตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งอยู่ภายใต้รัฐบาลพัคกึนฮเยในขณะนั้น

‘นรกโชซ็อน’ (Hell Joseon; 헬조선) เป็นคำที่หนุ่มสาวเกาหลีผลิตขึ้นมาเพื่อระบายความคับแค้นใจของการใช้ชีวิตอย่างสิ้นหวังในสังคมที่มีแรงกดดันจากรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นสภาวะแข่งขันสูง ปัญหาการว่างงาน ระบบอาวุโสนิยม ปิตาธิปไตยที่เข้มข้น ค่านิยมทางสังคมอันฉาบฉวย อีกทั้งโครงสร้างอันบิดเบี้ยวที่ต่อให้ทุ่มเทความพยายามมากแค่ไหนก็ยากจะลืมตาอ้าปากได้ถ้าไม่ได้คาบช้อนทองมาเกิด สภาพแวดล้อมดังกล่าวบดขยี้ให้หนุ่มสาวที่ควรจะเปล่งประกายตามช่วงวัยกลายเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีแต่หัวใจอันว่างเปล่า รู้สึกไร้เป้าหมาย มีชีวิตอยู่เพื่อรอเวลาเข้านอน ดังที่วง Day6 ได้ถ่ายทอดออกมาในเพลง Zombie

ทำไมต้องโชซ็อน?

โชซ็อนเป็นอาณาจักรสุดท้ายของเกาหลีที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก่อนจะถูกผนวกเข้าเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น สาเหตุที่ถูกเปรียบว่าเป็นนรกมีอยู่หลักๆ 2 ประการ

หนึ่ง ในสมัยนั้นมีระบบโครงสร้างทางสังคมที่แบ่งคนออกเป็น 4 ชนชั้น (ยังบัน ชุงอิน ซังมิน ชอนมิน ) สถานภาพทางสังคมจะติดตัวมากับครอบครัวที่เกิดและการเปลี่ยนแปลงสถานภาพแทบจะเป็นไปไม่ได้ เช่น คนที่เกิดในชนชั้นชุงอินหรือหรือขุนนางระดับล่าง ต่อให้จะมีความสามารถมากกว่าใคร แต่ก็รับตำแหน่งสูงสุดได้เพียงขุนนางระดับ 3 เพราะตำแหน่งที่สูงกว่านั้นถูกสงวนไว้ให้เพียงชนชั้นยังบันซึ่งเป็นชนชั้นสูงเท่านั้น ระบบดังกล่าวยังทำให้เกิดการแบ่งแยกและกีดกัดทางชนชั้นอย่างรุนแรง ทั้งยังเอื้อให้ชนชั้นสูงเอารัดเอาเปรียบชนชั้นล่างอย่างไม่มีขีดจำกัด

สอง ในปลายสมัยโชซ็อนนั้นเต็มไปด้วยความปั่นป่วนและระส่ำระสาย ชนชั้นสูงขัดแย้งกันภายในราชสำนัก เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นแสวงหาประโยชน์จากการขูดรีดภาษีอย่างไม่เป็นธรรมจากชาวนา ราษฎรประสบภาวะอดอยาก มีผู้คนอดตายจำนวนมาก เมื่อประชาชนรวมตัวกันเรียกร้องการปฏิรูปเชิงสถาบัน ภายใต้ชื่อ ‘ขบวนการทงฮัก’ (Donghak; 동학) ผู้ปกครองก็ร้องขอไปที่ราชสำนักจีนให้มาช่วยปราบ ซึ่งเป็นการเปิดทางให้ชาติอื่นอย่างญี่ปุ่นและรัสเซียเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ความชุลมุนวุ่นวายในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ที่ประชาชนถูกเข่นฆ่าด้วยกองทัพต่างชาติ ผู้ปกครองอย่างกษัตริย์โคจงลี้ภัยไปอยู่สถานทูตรัสเซียเป็นเวลาเกือบปี เมื่อกลับสู่ราชสำนักและต้องการกอบกู้บ้านเมืองที่อยู่ภายใต้อิทธิพลต่างชาติด้วยการประกาศยกสถานะเป็นจักรวรรดิก็สายไปเสียแล้ว โชซ็อนอ่อนแอและถึงคราวล่มสลาย ท้ายสุดก็ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในปี 1910

นรกก่อตัวด้วยรัฐและกลุ่มทุน

ประวัติศาสตร์ที่ฟังดูคุ้นๆ ยังคงถูกเล่นซ้ำในหน้าตาที่เปลี่ยนไป จริงที่ว่าชนชั้นยังบันซึ่งเป็นชนชั้นสูงในโชซ็อนไม่หลงเหลืออยู่ แต่เกาหลีก็ได้ยังบันในร่างจำแลงมาในรูปแบบแชโบล (재벌) กลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ขยายธุรกิจครอบคลุมหลายอุตสาหกรรม เป็นผลผลิตของกลไกการพัฒนาของรัฐในทศวรรษ 1960 ที่เน้น ‘โตก่อน กระจายทีหลัง’ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมเกาหลีมาจนถึงทุกวันนี้[1] แชโบลถูกเลือกให้เป็นผู้ชนะตั้งแต่แรกและกลายเป็นกลุ่มที่ผูกขาดความมั่งคั่งของประเทศแบบขาดกันไม่ได้ ซึ่งนั่นทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับภาคธุรกิจเริ่มกลับหัวกลับหาง ผลประโยชน์ของแชโบลกลุ่มเดียวมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐที่จะชี้ชะตาคนทั้งประเทศ[2]

นรกโชซ็อนก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ พร้อมกับความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ กลุ่มแชโบลขยายกิจการอย่างไม่หยุดยั้งภายใต้แนวความคิด ‘ใหญ่เกินไปที่จะปล่อยให้ล้ม’ (too big to fail) ธุรกิจทั้งเกาหลีจึงอยู่ในกำมือคนไม่กี่คน เมื่อประสบวิกฤตการเงินในปี 1997 รัฐบาลต้องเข้ามาอุ้มโดยการตัดสินใจกู้ยืมเงินจาก IMF ซึ่งพ่วงมากับเงื่อนไขที่จะต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ หนึ่งในกฎหมายปฏิรูปอนุญาตให้มีการเลิกจ้างงานจำนวนมากได้ อีกทั้งให้บริษัทต่างชาติเข้ายึดบริษัทเกาหลีได้ ซึ่งนั่นส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจรายเล็กและภาคครัวเรือน แชโบลฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็ว ส่วนภาคครัวเรือนก็สะบักสะบอมไปตามยถากรรม  

ผลการศึกษาความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นและรายได้ของศาสตราจารย์ชินกวังยอง จากภาควิชาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยชุงอังที่เก็บข้อมูลระหว่างปี 2001-2010 เผยให้เห็นว่า 70.7% ของผู้ชายที่เป็นชนชั้นกลางในช่วงวัย 50 สูญเสียสถานะนั้นเมื่อเข้าสู่ช่วงวัย 60 วิกฤตดังกล่าวมีลักษณะเป็นวิกฤตสองชั้น เพราะความไม่มั่นคงทางการเงินของพ่อแม่ทำให้ต้องพึ่งพาลูกมากขึ้น โดยที่ลูกก็โดนกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจอยู่ไม่มากก็น้อยเช่นกัน และนั่นย่อมส่งผลกระทบไปถึงรุ่นหลานเนื่องจากพ่อแม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายของคนสองรุ่นในครอบครัว[3]

เราจึงพอจะเห็นภาพได้ว่าทำไมนรกโชซ็อนถึงผุดขึ้นมาบนดินในช่วงปี 2015 นั่นเพราะคนรุ่นมิลเลนเนียลจำนวนมากกำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานและพบว่าโอกาสที่คนรุ่นใหม่จะปีนบันไดชนชั้นได้สำเร็จตีบแคบลงรุ่นต่อรุ่นเพราะความเหลื่อมล้ำที่ถ่างขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนรกบนดินที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำซึ่งวัดได้ด้วยตัวเลข นรกในใจยังประกอบสร้างขึ้นจากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ความเจริญแบบฉับพลันทันใดกลายเป็นดาบสองคมที่บาดลึกถึงเนื้อในสังคม อีแจยอล อาจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลชี้ว่า แม้เกาหลีจะได้รับการยอมรับจากจากนานาประเทศว่ามีความมั่งคั่งร่ำรวย แต่จิตใจของผู้คนจำนวนมากยังยากจน พวกเขามองว่าความสำเร็จเหล่านี้เป็นเรื่องราวของคนอื่น สังคมขาดการสร้างศักดิ์ศรีขึ้นมาร่วมกัน คนตัวเล็กตัวน้อยเป็นเหมือนหนูถีบจักรให้คนตัวใหญ่ออกไปประกาศความสำเร็จ ปัญหาการทุจริต เอื้อประโยชน์ให้กันเองภายในหมู่ชนชั้นนำยังทำให้คนรุ่นใหม่ขาดความเชื่อมั่นในระบบและรัฐบาล พวกเขารู้สึกถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แตกสลาย ไร้พลังและเป้าหมาย การมีอยู่ของวาทกรรมนรกโชซ็อนจึงเป็นเหมือนอาการของความป่วยไข้ที่ฟ้องออกมาว่าสังคมนี้ต้องพบแพทย์แล้ว[4]

วัยเยาว์อันสิ้นสูญ

จุดเริ่มต้นของเส้นทางสู่ฝันอันทรหดในสังคมเกาหลีเริ่มขึ้นที่โรงเรียน สำหรับเด็กที่เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางล่างที่ไม่สามารถจ่ายค่าเทอมโรงเรียนเอกชนได้ จะไม่มีโอกาสเลือก เนื่องจากโรงเรียนมัธยมปลายเกาหลีใช้ระบบสุ่มเลือกโรงเรียนในพื้นที่ แต่หากเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวฐานะร่ำรวย จะแข่งกันสอบเข้าโรงเรียนเอกชนหรือเรียกกันว่าโรงเรียนอีลีตที่สามารถออกแบบหลักสูตรได้เองโดยไม่ต้องขึ้นกับหลักสูตรของรัฐ หลักสูตรของโรงเรียนอีลีตจึงสามารถออกแบบมาเพื่อเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำโดยเฉพาะได้ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจึงถูกถ่างให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่จุดนี้ เด็กจากโรงเรียนทั่วไปจะวิ่งให้ทันเด็กจากโรงเรียนอีลีตก็จะต้องไปเรียนพิเศษเพิ่ม ซึ่งก็ไม่ได้การันตีว่าจะวิ่งไปถึงจุดเดียวกันได้

โดยทั่วไปแล้ว นักเรียนเกาหลีจะใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนตั้งแต่ประมาณ 8 โมงเช้าไปจนถึง 5 โมงเย็น หลังจากนั้นจะไปเรียนเพิ่มที่โรงเรียนกวดวิชาหรือฮัควอน (학원จนถึงเวลาประมาณสี่ทุ่ม เมื่อกลับบ้านก็ทบทวนหนังสือต่ออีก หากลองคำนวณดูคร่าวๆ จะพบว่านักเรียนเกาหลีใช้เวลากว่าร้อยละ 60 ของวัน (หรือบางคนอาจมากกว่านั้น) ไปกับการเรียน และการเรียนที่ทุ่มเททั้งชีวิตวัยเยาว์ให้นั้นก็เป็นไปเพื่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย นักเรียนเกาหลีแทบทุกคนมีเป้าหมายสูงสุดคือ SKY (Seoul National University, Korea University และ Yonsei University) 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำของเกาหลีที่แทบจะเป็นตัวกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นอาชีพ โอกาส ฐานะ หรือคู่ครอง ประโยคเสริมสร้างกำลังใจในการอ่านหนังสือยอดฮิตของนักเรียนเกาหลีจึงมักพูดกันว่า “อ่านหนังสือเพิ่ม 10 นาที ใบหน้าของสามี (ภรรยา) จะเปลี่ยนไป”  

เราอาจจะเคยเห็นในโซเชียลมีเดียว่าวันที่มีการสอบวัดความ​รู้ความสามารถในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยของเกาหลีหรือที่เรียกกันว่าสอบซูนึง (수능) หน่วยงานรัฐและภาคเอกชนในเกาหลีจะเปิดทำการช้ากว่าปกติเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้เด็กที่จะเดินทางไปสอบ เที่ยวบินโดยสารจะถูกงดในเวลาที่ทำการสอบทักษะการฟัง การสอบที่เป็นเหมือนวาระแห่งชาติสะท้อนให้เห็นว่าการแข่งขันและเดิมพันในการสอบครั้งนี้สูงขนาดไหน ยังไม่นับรวมว่าก่อนการสอบ ผู้เข้าสอบจะต้องเปลี่ยนสภาพร่างกายให้สอดคล้องกับเวลาสอบ ทั้งเวลาตื่น เวลาเข้าห้องน้ำ หากเป็นผู้หญิงก็จะกินยาคุมกำเนิดล่วงหน้าประมาณสามเดือนเพื่อปรับฮอร์โมนไม่ให้ประจำเดือนมาในวันสอบ รวมไปถึงเรื่องอาหารการกิน ทั้งหมดนี้เพื่อให้ร่างกายอยู่ในสภาพพร้อมที่สุดที่จะดึงทุกองค์ความรู้ที่ร่ำเรียนมาอย่างหนักหนาสาหัสมาทำข้อสอบให้ได้คะแนนดีที่สุด

The Economist กล่าวถึงวัฒนธรรมการศึกษาในสังคมเกาหลีใต้ที่สะท้อนออกมาผ่านการสอบซูนึงว่าเป็น ‘one shot society’ หมายถึงสังคมที่มีโอกาสวิ่งสู่เป้าหมายเพียงครั้งเดียว ผลคะแนนจากการสอบที่จัดขึ้นในหนึ่งวัน และมีครั้งเดียวต่อปีจะเป็นตัวกำหนดชะตาชีวิตของเด็กหนึ่งคนไปทั้งชีวิต[5] แม้นักเรียนเกาหลีจะสามารถสอบซูนึงได้ทุกปี แต่ก็ไม่มีใครอยากพลาดตั้งแต่การสอบครั้งแรก เพราะนั่นหมายความว่าบนลู่วิ่งสู่ฝัน ตัวเองกำลังก้าวช้ากว่าคนวัยเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ถึงแม้คุณจะเป็นเด็กที่อยากใช้ชีวิตวัยเยาว์ไปกับการลองผิดลองถูกเพื่อลิ้มลองรสชาติอันหลากหลายของชีวิต แต่สภาพแวดล้อมที่มีแรงกดดันจากรอบทิศทางก็จะบีบให้ต้องลงสู่สนามแข่งและต้องไปสู่เส้นชัยให้ได้อยู่ดี

ฮา จุนชาง นักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เปรียบเทียบระบบการศึกษาที่แข่งขันสูงแบบในเกาหลีใต้ว่า เหมือนอยู่ในโรงหนังที่มีบางคนยืนขึ้นเพื่อให้เห็นจอในมุมมองที่ดีที่สุด ทำให้คนที่นั่งอยู่ข้างหลังก็ต้องยืนด้วย เมื่อยืนขึ้นหลายคนเข้า คนทั้งโรงหนังก็ต้องยืน ดังนั้นจึงไม่มีใครมองจอหนังได้มุมมองที่ดีที่สุด[6] คำเปรียบเทียบดังกล่าวเห็นจะไม่เกินจริง เพราะในปัจจุบันชาวเกาหลีที่ได้รับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยยังอยู่ในสภาวะว่างงานจำนวนมาก

เงิน งาน บ้าน : Korean Dream อันเลือนราง

Asian Boss สื่อออนไลน์บนยูทูบที่ทำคลิปสัมภาษณ์หนุ่มสาวตามท้องถนนในกรุงโซลเมื่อปี 2016 และทำให้คำว่านรกโชซ็อนถูกพูดถึงเป็นวงกว้างบนโซเชียลมีเดีย ล่าสุดได้ปล่อยคลิปสัมภาษณ์นักศึกษาจากมหาวิทยาลัย SKY ที่ถูกขนานนามว่าเป็นหัวกะทิ 1% ของเกาหลี บทสัมภาษณ์ดังกล่าวเผยให้เห็นความกังวลในเรื่องการหางานของนักศึกษากลุ่มนี้ โดยเฉพาะนักศึกษาที่เรียนด้านภาษา[7] แม้ว่าพวกเขาจะฝ่าฟันเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดได้ แต่กลายเป็นว่าเมื่อมายืนอยู่จุดนี้ก็ไม่ได้ช่วยการันตีหรือสร้างความมั่นใจว่าจะเป็นที่หมายตาในตลาดแรงงาน ถ้าแม้แต่นักศึกษา 1% แรกยังมองอนาคตเลือนราง ก็คงไม่แปลกใจว่าอีก 99% จะมองว่าโอกาสในประเทศนี้สุดแสนจะมืดมน

คะแนนเสียงอันท่วมท้นจากเหล่ามิลเลนเนียลที่เทให้มุนแจอินในการเลือกตั้งปี 2017 ส่วนหนึ่งก็ด้วยความหวังว่ามุนจะแก้ไขปัญหา ‘บัณฑิตจบใหม่ไม่มีงานทำ’ ตามสัญญา แต่หลังจากขึ้นรับตำแหน่ง จำนวนคนว่างงานกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปี 2020 ทำให้ปัญหาการว่างงานในเกาหลีใต้ที่เลวร้ายอยู่แล้วแย่ขึ้นไปอีก จากรายงานการจ้างงานประจำเดือนมกราคม 2021 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลี จำนวนผู้มีงานทำลดลงกว่า 982,000 คนจากเดือนเดียวกันเมื่อปี 2020 ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดหลังจากเกาหลีเจอวิกฤติ IMF ในปี 1997 ส่วนจำนวนคนว่างงานพุ่งสูงถึง 1.5 ล้านคน ทะลุ 5% เป็นครั้งแรกในรอบ 21 ปี[8] นอกจากนี้มาตรการลดการแพร่ระบาดยังทำให้ร้านค้าและภาคบริการต้องปิดตัวลงชั่วคราว แหล่งรายได้ของคนที่ต้องพึ่งพาการทำงานพาร์ตไทม์ระหว่างรอสอบซูนึง สอบราชการหรือหางานประจำจึงหดหายไป ความฝันจะมีงานเงินเดือนสูงๆ หดเล็กลงเหลือแค่มีเงินใช้จ่ายพอเอาตัวรอดไปได้แต่ละเดือนก็พอ

อย่างไรก็ตามต่อให้มีงานประจำที่มั่นคงก็การันตีอีกไม่ได้อยู่ดีว่าจะมีความสุขหรือได้ใช้ชีวิตตามที่อยากใช้ ในปี 2019 เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีคุณภาพชีวิตการทำงานย่ำแย่ที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ในกลุ่มประเทศ OECD และสถิติในปีล่าสุดชาวเกาหลีมีชั่วโมงการทำงานอยู่ที่คนละประมาณ 1,908 ชั่วโมงต่อปี[9] ในปี 2021 กรุงโซลอยู่ในอันดับที่ 5 เมืองที่คนทำงานหนักที่สุด (กรุงเทพอยู่อันดับที่ 3) จัดอันดับโดย Kisi บริษัทเทคโนโลยีที่ให้คำปรึกษาด้านการทำงาน[10]

สิ่งหนึ่งที่เลือนรางจาก Korean Dream ยิ่งกว่างานและเงินคือการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย ปัจจุบันราคาอสังหาริมทรัพย์ในเกาหลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงโซล ดีดตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลราคาที่อยู่อาศัยที่เก็บโดยองค์กรเพื่อความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ (경실련) ราคาโดยเฉลี่ยของอพาร์ตเมนต์ขนาด 99 ตารางเมตรเมื่อเดือนพฤษภาคม 2017 ซึ่งมุนแจอินเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี อยู่ที่ 640 ล้านวอน (ประมาณ 18 ล้านบาท) และราคาล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2021 อยู่ที่ประมาณ 1,190 ล้านวอน (ประมาณ 33 ล้านบาท) หากเทียบจากฐานรายได้สุทธิเฉลี่ยต่อคนซึ่งอยู่ที่ประมาณ 48 ล้านวอนต่อปี จะต้องใช้เวลาเก็บเงินมากถึง 25 ปีโดยไม่ใช้จ่ายอย่างอื่นเพื่อซื้ออพาร์ตเมนต์ขนาด 99 ตารางเมตร[11] ราคาอพาร์ตเมนต์เฉลี่ยดังกล่าวยังสูงกว่าค่ากลางรายรับในครัวเรือน (median household income) มากถึง 16 เท่า[12]

แม้ 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลจะออกนโยบายเพื่อควบคุมความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์กว่า 25 นโยบาย เช่น เพิ่มภาระทางภาษีแก่ผู้มีบ้านสองหลัง แต่นโยบายดังกล่าวก็ไม่ได้ช่วยให้ราคาที่ดินตกลงมา ยิ่งไปกว่านั้นยังมีข่าวเจ้าหน้าที่รัฐที่รู้ข้อมูลภายในแอบไปกว้านซื้อที่ดินไว้เก็งกำไรอีกด้วย[13] คนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่ได้มีต้นทุนมากพอจะลงหลักปักฐานหรือบัณฑิตหน้าใสที่ยังไม่มีงานประจำจึงเลือกที่จะอาศัยอยู่ในโกชีวอน (고시원) ห้องพักขนาดประมาณ 6.6 ตารางเมตร ซึ่งมีแค่เตียงพอซุกหัวนอน สนนราคาเช่าอยู่ที่ประมาณ 2 แสนวอน (ประมาณ 5,700 บาท) ต่อเดือน หรือหากอยู่กันเป็นครอบครัวก็จะเลือกเช่าห้องกึ่งใต้ดินหรือพันจีฮา (반지하) แบบครอบครัวคิมในภาพยนตร์เรื่อง Parasite (2019) ซึ่งมีราคาเช่าอยู่ที่เดือนละประมาณ 3 แสนวอน (ประมาณ 8,600 บาท)  

โกชีวอน
ที่มาภาพ : Seoul Shinmun
ห้องกึ่งใต้ดินหรือพันจีฮา
ที่มาภาพ : Kyunghyang Shinmun

นรกของผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่

เมื่อปี 2016 เกิดคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญขึ้นเมื่อหญิงวัย 23 ปีถูกแทงจนเสียชีวิตภายในห้องน้ำร้านคาราโอเกะ ใกล้กับสถานีรถไฟที่กังนัม ฆาตกรสารภาพว่าไม่ได้มีความแค้นส่วนตัวกับเหยื่อและฆ่าเหยื่อแค่เพราะต้องการแก้แค้นผู้หญิง เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สังคมตระหนักว่าความเกลียดชังผู้หญิง (misogyny) ในเกาหลีนั้นรุนแรงและฝังรากลึกมากแค่ไหนกับการที่คนหนึ่งคนต้องจบชีวิตลงเพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง

2 ปีถัดมา สื่อสังคมออนไลน์ได้พัดพาขบวนการ MeToo มายังแผ่นดินเกาหลี ผู้บริหารระดับสูงและคนมีชื่อเสียงในหลายแวดวงถูกเปิดเผยว่าเคยล่วงละเมิดทางเพศเพื่อนร่วมงานหญิง การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสังคมที่ปลอดภัยและเป็นธรรมสำหรับผู้หญิงแผ่ขยายไปทั่วประเทศ แม้แนวคิดสตรีนิยมถูกจุดติดในเกาหลีตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่เกาหลีก็ยังอยู่ห่างไกลจากความเสมอภาคทางเพศ

ผลสำรวจทัศนคติของชาวเกาหลีใต้โดยสถาบันเพื่อการพัฒนาผู้หญิงแห่งเกาหลี (Korea Women’s Development Institute) ที่จัดทำขึ้นในปี 2019 เผยให้เห็นว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นผู้หญิงในช่วงอายุ 19-34 ปี มองว่าสังคมเกาหลีคือนรกและต้องการออกจากเกาหลีมากกว่าผู้ตอบแบบสอบถามชาย เราอาจอนุมานได้จากผลการสำรวจนี้ว่าโครงสร้างสังคมแบบปิตาธิปไตยที่เข้มข้นในเกาหลีทำให้ผู้หญิงมีชีวิตที่ยากลำบากและเต็มไปด้วยความไม่เป็นธรรมมากกว่าที่ผู้ชายเจอ แม้จะได้มุนแจอินซึ่งประกาศสนับสนุนขบวนการสตรีนิยมตั้งแต่ช่วงหาเสียงขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าไหร่นัก 

ข้อมูลจาก OECD ในปี 2019 เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีช่องว่างระหว่างรายได้ที่ต่างกันเพราะเพศสภาพ (Gender Pay Gap) สูงที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD [14] และเมื่อไม่นานมานี้ The Economist ได้เปิดเผยดัชนีเพดานกระจก (Glass Ceiling Index) ซึ่งหมายถึงอุปสรรคที่มองไม่เห็นที่คอยกีดกันความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของผู้หญิง โดยวัดจากรายได้ การศึกษาและตำแหน่งในองค์กร ในรายงานดังกล่าวเกาหลีใต้รั้งท้าย และมีคะแนนเพียง 25 จาก 100 ซึ่งต่ำว่าครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศ OECD[15]

ที่มาภาพ : Bloomberg

สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้นคือกระแสเกลียดชังสตรีนิยมที่รุนแรงในหมู่ชายชาวเกาหลีในช่วงวัย 20 ซึ่งแสดงออกผ่านการหันไปสนับสนุนนักการเมืองฝ่ายขวาจากพรรคอนุรักษนิยมที่โจมตีนโยบายส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศของมุนแจอิน ทั้งการเพิ่มค่าจ้างและสัดส่วนพนักงานหญิงในแต่ละองค์กร และสามารถเรียกคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งชายกลุ่มนี้ที่มองว่าตนถูกเอารัดเอาเปรียบจากนโยบายดังกล่าว เอกซิตโพล (exit poll) การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีกรุงโซลเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาเผยให้เห็นว่าชายเกาหลีในช่วงวัย 20 เลือกผู้สมัครจากพรรคอนุรักษนิยมในสัดส่วนที่มากกว่าชายเกาหลีในช่วงวัย 60 ปีซึ่งเติบโตมาในสังคมที่ยังไม่ตระหนักรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศเสียอีก 

นอกจากนี้ หนังสือ Men in 20s (20대 남자) ของจอน กวันยุล อดีตบรรณาธิการ SisaIN และจอง ฮันอุล นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ทำการสำรวจทัศนคติชายชาวเกาหลีในช่วงวัย 20 ปี เป็นที่น่าตกใจว่าร้อยละ 100 เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่าในปัจจุบัน การเลือกปฏิบัติทางเพศต่อผู้ชายมีความรุนแรงกว่าที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง ร้อยละ 95.7 ไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่าการเลือกปฏิบัติทางเพศเป็นสาเหตุให้ผู้หญิงได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชาย และร้อยละ 78.3 เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า ผู้หญิงได้ค่าจ้างน้อยเพราะไม่ทุ่มเทในวิชาชีพ[16] นี่แสดงให้เห็นวิวัฒนาการของปัญหาการเหยียดเพศที่ฝังรากลึกในสังคมเกาหลี จากคนรุ่นปู่หรือพ่อที่ยึดติดกับบทบาททางเพศและเชื่อว่าตนเองมีความชอบธรรมในการกำกับควบคุมชีวิตของผู้หญิงในครอบครัว มาสู่รุ่นลูกหรือหลานในช่วงวัย 20 ที่มองว่าพวกเขาคือเหยื่อของสตรีนิยมและเป็นผู้เสียหายจากโครงสร้างทางเพศสภาพที่ไม่เป็นธรรม

การเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้นในปี 2022 และการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติในปี 2024 จึงเป็นที่น่าจับตาว่าผู้สมัครจะใช้นโยบายโจมตีแนวคิดสตรีนิยมมาเป็นเครื่องมือเรียกคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งชายเหล่านี้หรือไม่ ยากที่จะจินตนาการว่าผู้หญิงเกาหลีจะมีชีวิตที่เลวร้ายขนาดไหนหากในสภาเต็มไปด้วยผู้กำหนดนโยบายซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ชายที่มองว่าผู้หญิงคือศัตรู

ทัลโชซ็อน (탈조선): หนีจากนรก

แม้ว่านรกโชซ็อน จะเป็นที่พูดถึงน้อยลงกว่า 2-3 ปีที่แล้ว แต่มีการผลิตคำใหม่ขึ้นมาอธิบายสถานการณ์ปัจจุบันที่หนุ่มสาวเกาหลีจำนวนมากต้องการย้ายประเทศ นั่นคือ ‘ทัลโชซ็อน’ หมายถึง หนีออกจากโชซ็อนหรือการหนีจากนรก ซึ่งไม่ใช่แค่การพูดลอยๆ เพราะคนจำนวนมากทำจริงๆ

สถิติจากกระทรวงการต่างประเทศเกาหลี เผยให้เห็นว่าตั้งแต่มุนแจอินเข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม 2017 ถึงเดือนธันวาคม 2020 มีรายงานผู้ย้ายถิ่นฐานแล้วกว่า 2,510 คน เพิ่มขึ้นจากการโยกย้ายที่เกิดขึ้นในสมัยของพัคกึนฮเย 98.1% อย่างไรก็ตามตัวเลขผู้ย้ายประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2016 แล้ว ผลสำรวจโดยเว็บไซต์หางาน Saramin พบว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 60.2% ต้องการย้ายไปต่างประเทศ 43.3% ของผู้ที่ต้องการย้ายมีเหตุผลจากความตึงเครียดในสังคมเกาหลีที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถมีวิถีชีวิตที่ผ่อนคลายได้ อีก 41% ให้เหตุผลว่าพวกเขาต้องการไปอยู่ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการดีๆ[17]

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถย้ายออกไปสู่ผืนแผ่นดินที่เชื่อว่าจะมอบชีวิตที่ดีกว่าให้ได้ เช่นเดียวกับช่วงที่มีคลื่นการอพยพครั้งใหญ่ในทศวรรษ 1960-1980 มีเพียงชนชั้นกลางในเมืองซึ่งพอจะมีต้นทุนทางสังคม ภาษา และการเงินที่มากพอให้ออกไปเสี่ยงโชคในต่างแดนได้ ส่วนชนชั้นล่างก็ต้องยอมจำนนต่อโชคชะตาและกลายเป็นแรงงานไร้ทักษะขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมต่อไป[18] ในปัจจุบันก็เช่นกัน ความเหลื่อมล้ำปิดประตูแห่งโอกาสใส่หนุ่มสาวผู้ยากไร้ การหนีออกจากที่นี่เป็นเรื่องไกลตัวเกินกว่าคำถามว่าเดือนนี้จะมีเงินพอจ่ายค่าเช่าห้องไหม

แม้ตัวเลขผู้อพยพในปี 2020 จะลดลงมากกว่าครึ่งของปีก่อนๆ (ในปี 2020 มีผู้อพยพเพียง 1,729 คน ขณะที่ปี 2019 มี 4,037 และปี 2018 มีมากถึง 6,330คน)[19] เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่หากวิกฤตครั้งนี้เหยียบซ้ำความผุพังของสังคม คนที่มีลู่ทางพอจะหนีออกไปได้ก็คงไป ส่วนคนที่ไม่มีต้นทุนมากพอจะหนีก็คงต้องกอดเก็บความโกรธมาเป็นไฟให้ใช้ชีวิตต่อ ช่างเป็นเรื่องตลกร้ายที่บางทีความหวังก็ถูกผลักดันด้วยความสิ้นหวัง

ไม่มีใครปฏิเสธขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ แต่หากมองทะลุเปลือกอันฉาบฉวยลงไปจะเห็นรากฐานทางสังคมที่ไม่แข็งแกร่ง การผูกขาดความมั่งคั่งไว้ที่คนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของทั้งสังคม ทำให้ผลประโยชน์ของคนเพียงหยิบมือชี้เป็นชี้ตายคนหมู่มากในสังคมได้ กลไกการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐในทศวรรษ 1950 ที่ทุ่มเททรัพยากรให้กลุ่มแชโบลพาเกาหลีใต้ไปยืนอยู่แถวหน้าในเวทีโลก ได้สร้างแผลเรื้อรังคือความเหลื่อมล้ำที่หยั่งรากลึกในสังคมเกาหลี ประตูแห่งโอกาสที่เปิดกว้างทุกบานในสมัยพ่อแม่กลับปิดลงจนแทบไม่เหลือหากเกิดในครอบครัวชนชั้นรากหญ้า คนรุ่นหลังยังต้องแบกรับความคาดหวังจากครอบครัวที่ยังยึดติดกับมายาคติความสำเร็จในยุค 1980 อีกทั้งระบบปิตาธิปไตยอันเข้มข้นที่สวนทางกับคลื่นสตรีนิยมทั่วโลกยังทำให้ผู้หญิงอยู่ยากยิ่งขึ้นไปอีก จึงไม่แปลกใจหากความโกรธเกรี้ยวคับแค้นใจจะถูกสะท้อนออกมาผ่านวาทกรรมนรกโชซ็อน เพราะที่นี่คือนรกที่พวกเขาไม่ได้สร้าง แต่ก็ต้องอยู่

หากมองปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองทั่วโลก นรกคงไม่ได้มีอยู่ขุมเดียว ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การว่างงาน การถูกกดขี่ขูดรีด ความไม่เสมอภาคทางเพศและอีกสารพัดปัญหากำลังกัดกร่อนจิตวิญญาณหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่จากทุกมุมโลก วัยรุ่นชาวเกาหลีเคยตั้งกระทู้ในเว็บบอร์ด Reddit ว่าต้องการหนีจากนรกโชซ็อน ไต้หวันเป็นจุดหมายปลายทางที่ดีหรือเปล่า จากนั้นก็มีชาวไต้หวันมาตอบว่าที่นี่เราเรียกตัวเองว่า ‘เกาะผี’ (Ghost Island) เหมือนกัน ผู้คนทำงานสายตัวแทบขาด แถมเด็กจบใหม่ยังถูกกดค่าแรงอีก

ผู้เขียนได้แต่ยิ้มแห้งที่คนจากหนึ่งในประเทศที่มีประชาธิปไตยก้าวหน้าที่สุดในเอเชียกับประเทศแรกในเอเชียที่รับรองสิทธิของคู่สมรสเพศเดียวกันกำลังแลกเปลี่ยน ‘ความนรก’ ในประเทศตัวเอง ขณะที่ประเทศของผู้เขียนเองไม่มีทั้งสองอย่าง แม้การย้ายประเทศจะดูเป็นเรื่อง ‘คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า’ แต่อย่างน้อยก็เป็นเหมือนเสียงแจ้งเตือนว่าระบบหรือโครงสร้างภายในบางอย่างกำลังทำงานผิดปกติ และควรได้รับการแก้ไข เพราะวันใดที่ขาดฟันเฟืองไปก็จะล่มทั้งระบบ

บางทีแล้วนรกอาจจะไม่ใช่สถานที่ แต่คือผู้คน ผู้คนที่มีอำนาจแต่ใช้มันอย่างไม่ชอบธรรม ผู้คนที่ขาดความเห็นอกเห็นใจ ผู้คนที่มองคนไม่เท่ากัน ผู้คนเหล่านี้ต่างหากที่ประกอบสร้างสังคมซึ่งเป็นเหมือนนรกบนดินขึ้นมา สวรรค์อันเป็นนิรันดร์อาจจะไม่มีอยู่จริง แต่สังคมที่ไม่สามารถหล่อเลี้ยงความหวังของผู้อยู่อาศัยได้นั่นแหละคือนรกที่มีอยู่จริง


[1] Lee Hyunwoo, Lee minsoo and Park Donghyun, 2014, Growth policy/strategy and inequality in developing Asia. 

Inequality in Asia and the Pacific, Oxfordshire, England: Asian Development Bank and Routledge, p. 244.

[2] วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร, 2563, เราจะไปโลกที่หนึ่งแบบเกาหลีกลาง? (ดิ วันโอวัน เวิลด์) [https://www.the101.world/korea-and-thailand-economy/]

[3]Jin Myung-seon,“Four top economists on South Korea’s severe inequality” Hankyoreh, July 14, 2015.[https://english.hani.co.kr/arti/english_edition/e_national/700176.html?fbclid=IwAR1Dt9DXZA6sYg1hh_or7rMy373pJx6Qfs1n-KlarINJiUeOgS9LCSqRLJs]

[4] 이재열, [다시 태어난다면, 한국에서 살겠습니까: 한강의 기적에서 헬조선까지 잃어버린 사회의 품격을 찾아서], 21세기북스, 2019, 11-12쪽, 239-240쪽.

[5] “Exams in South Korea: The one-shot society” The Economist, December 17, 2021. [https://www.economist.com/christmas-specials/2011/12/17/the-one-shot-society]

[6] Chang, Hajoon, 2010, 23 Things They Don’t Tell You About Capitalism, Harlow, England: Penguin Books, p. 219.

[7] เมื่อต้นปี 2019 คิม ฮยอนชอล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีมุนแจอิน ได้กล่าวในงานจัดเลี้ยงของหอการค้าเกาหลีที่มีขึ้นเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับนักลงทุนในอาเซียนว่า “บัณฑิตสาขาวิชาภาษาเกาหลีที่หางานไม่ได้ ควรเลิกโทษนรกโชซ็อนและย้ายไปสอนภาษาอยู่ที่ประเทศอาเซียน เพราะคนที่นั่นมองเราว่าเป็นแฮปปี้โชซ็อน” คำพูดดังกล่าวสร้างความโกรธเคืองให้แก่ชาวเน็ตมาก จนเป็นเหตุให้นายคิมต้องลาออกจากตำแหน่ง

[8] “South Korea unemployment rate soars to 21-year high” Nikkei Asia,  February 10, 2021. [https://asia.nikkei.com/Economy/South-Korea-unemployment-rate-soars-to-21-year-high]

[9] House Worked, OECD, 2020. [https://data.oecd.org/emp/hours-worked.htm]

[10] Cities with the Best Work-Life Balance 2021, Kisi, 2021. [https://www.getkisi.com/work-life-balance-2021]

[11] “Home prices in Seoul double under Moon government: civic group” The Korea Herald, June 23, 2021. [http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20210623000635]

[12] “South Korea’s government has failed to make housing cheaper” The Economist, February 27, 2021. [https://www.economist.com/asia/2021/02/25/south-koreas-government-has-failed-to-make-housing-cheaper]

[13] Lee, Jiyoon, “Cheong Wa Dae trapped in ‘one house’ rule” The Korea Herald, July 1, 2021.  [http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20210701000824]

[14] Gender wage gap, OECD, 2019. [https://data.oecd.org/earnwage/gender-wage-gap.htm]

[15] “Is the lot of female executives improving?: Our glass-ceiling index shows some progress in some places. But not enough” The Economist, March 4, 2021. [https://www.economist.com/graphic-detail/2021/03/04/is-the-lot-of-female-executives-improving]

[16] Park, S. Nathan, “Why So Many Young Men in South Korea Hate Feminism” Foreign Policy, June 23, 2021. [https://foreignpolicy.com/2021/06/23/young-south-korean-men-hate-liberals-feminists/] และ “The Rise of the Incels: Conservative pundit Lee Jun-seok is emerging as the spokesman of the sexists” The Blue Roof, May 19, 2021”

 [https://www.blueroofpolitics.com/p/the-rise-of-the-incels/?utm_source=dlvr.it&utm_medium=twitter]

[17] “More Koreans immigrated to foreign countries under Moon than Park” One Korea Network, April 24, 2021. [https://onekoreanetwork.com/2021/04/24/more-koreans-immigrated-to-foreign-countries-under-moon-than-park/]

[18] จักรกริช สังขมณี, 2564, Minari: เมล็ดพันธุ์เกาหลีใต้ กับการผลิดอกออกใบในอเมริกา, (ดิ วันโอวัน เวิลด์) [https://www.the101.world/minari/]

[19] 해외이주신고자 현황, 행정안전부, 2021. [https://www.index.go.kr/potal/main/EachDtlPageDetail.do?idx_cd=1684]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save