fbpx

คณะราษฎร นักเรียนนอกจากฝรั่งเศส และความโป๊

มิถุนายนประหนึ่งเทศกาลรถแห่สำหรับผู้นิยมศึกษาเรื่องราวของคณะราษฎร นั่นเพราะเป็นเดือนอันมีวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ ผมเองแม้ทุกวันนี้จะมัวติดพันอยู่กับการเฝ้าทัศนาเจ้าสุนัขโกลเด้นยอดดารา “จุ๊มเหม่งมีอาราย จุ๊มเหม่งมีอาราย” แต่พอเห็นใครๆ พากันลุกขึ้นเต้นตามเพลงม่วนๆ อย่างเย้ายวนอารมณ์ ก็อดมิได้เลยที่จะ “อะชึบชึบ อะชึบชึบ” (ขอยืมคำของจุ๊มเหม่ง) ขยับร่างกายร่วมเต้นเต่างอยสมทบอีกคน

เอกเขนกครุ่นคิดว่าจะเขียนถึงคณะราษฎรเชื่อมโยงกับอะไรดีหนอ พลันฉุกนึกว่าตอนที่ผมนำเสนอผลงานเรื่อง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และความโป๊ ผ่าน The101.world นั้น ได้รับกระแสความสนใจจากคุณผู้อ่านเกินคาดหมาย จึงใคร่ทดลองเขียนเรื่องทำนองคณะราษฎรกับความโป๊ดูบ้าง

มูลเหตุที่ทำให้ประเด็นคณะราษฎรเกี่ยวพันกับความโป๊เริ่มเข้ามาวนเวียนในห้วงคำนึงของผม ก็เพราะห้วงยามมวลน้ำมาตุลาคมแล้วโถมท่วมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทุ่งเชียงรากปลายปี 2554 นั้น เมื่อลอยคอกลางวารีออกจากสถานศึกษาได้สำเร็จ ในระหว่างระหกระเหินเดินทางกลับสู่ลุ่มแม่น้ำตาปี ผมสบโอกาสได้อ่านถ้อยปาฐกถาของ ‘หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช’ ช่วงราวๆ พ.ศ.2528 ว่าด้วยศิลปกรรมสมัยใหม่ พบเนื้อความตอนหนึ่งคือ

“ผู้นำปฏิวัติก็เท่ากับเป็นนักเรียนนอกกลับมาจากฝรั่งเศส รสนิยมในทางศิลปะอะไรของท่านเหล่านั้นอยู่แค่คาเฟ่ริมถนนที่กรุงปารีส ภาพที่เห็นสวยงามก็ภาพโป๊…ท่านเรียนวิชาอื่นไม่ใช่สนใจ ท่านไม่อยู่ในฐานะที่จะเข้าใจอะไรได้ แต่เมื่อปฏิวัติ 2475 ขึ้นมาแล้ว…เมื่อเราปฏิวัติแล้วก็ต้องเปลี่ยน การจะเปลี่ยนสังคมไทยนั้นก็ต้องเปลี่ยนทุกทาง ศิลปะประเพณีคติเก่าๆ นั้นเป็นเรื่องของสมบูรณาญาสิทธิราช ท่านเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น ท่านพยายามให้เลิกสิ้น…เอาศิลปะหรือขนบธรรมเนียมประเพณีใหม่ๆ เข้ามาแทน แล้วจะหาที่ไหนมาแทนนอกจากของฝรั่ง…”    

แน่นอนว่า ‘ผู้นำปฏิวัติ’ ที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์หมายถึง ย่อมมิแคล้วแกนนำคณะราษฎรผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 โดยพุ่งเป้าไปยังบุคคลหลักๆ ซึ่งเป็นนักเรียนนอกจากฝรั่งเศส ได้แก่ นายปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม, จอมพล ป.พิบูลสงคราม และนายประยูร ภมรมนตรี ส่วนนายควง อภัยวงศ์ ผมไม่แน่ใจว่าตามเจตนาของผู้กล่าวปาฐกถาจะนับรวมเข้าข่ายหรือเปล่า หากตามน้ำเสียงนั้นชัดเจนว่ามุ่งโจมตีและกระแนะกระแหนรสนิยมทางศิลปะของแกนนำคณะราษฎรในท่วงทำนองที่คงจะแลเห็นความสวยงามอยู่เพียงแค่ภาพโป๊

ฝรั่งเศสถูกจัดวางไว้ในฐานะดินแดนอันรุ่มรวยเรื่องโป๊และภาพโป๊ตามห้วงรู้สึกนึกคิดของชาวสยามนับแต่ก่อน และหลังมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ยิ่งเฉพาะช่วงภายหลังสงคราม มีสินค้าอย่าง ‘โปสการ์ดฝรั่งเศส’ (French Postcards) ถูกนำเข้ามาอย่างแพร่หลายในสังคมไทย สินค้าชนิดนี้ถูกจัดให้เป็นสิ่งพิมพ์โป๊หรืออาจถูกตีตราว่าเป็นสิ่งพิมพ์ลามก แม้ว่าอันที่จริง โปสการ์ดชนิดนี้จะมีทั้งลักษณะที่เป็น ‘ภาพนู้ด’ หรือภาพสรีระเรือนร่างเปล่าเปลือยของผู้หญิง (หรือผู้ชาย) ในยุคนั้นเรียกขานว่า ‘ภาพศิลป์’ รวมถึงมีลักษณะเป็นภาพพฤติกรรมการเสพสมร่วมสวาทของผู้ชายและผู้หญิงเลยทีเดียว

การนำเสนอภาพผ่านโปสการ์ดฝรั่งเศสบางภาพยังส่งผลต่อความทรงจำร่วมของคนในสังคมด้วย เฉกเช่นภาพที่มีคำโปรยว่าเป็นภาพผู้หญิงเปลือยในฮาเร็มแห่งดินแดนอาหรับ แท้จริงหาใช่ภาพที่ได้มาจากฮาเร็มเลย กลับเป็นสิ่งจัดฉากถ่ายทำที่สตูดิโอในกรุงปารีส แต่ชาวสยามผู้เห็นภาพเหล่านี้ที่นำเข้ามาในไทยก็เกิดจินตนาการร่วมกันถึงหญิงสาวประจำฮาเร็มจนกลายเป็นความรับรู้แบบผิดๆ

พอฝรั่งเศสถูกมองให้ยึดติดกับความโป๊ จึงไม่แปลกที่สายตาคนส่วนใหญ่จะเหมารวมว่าพวกนักเรียนนอกจากฝรั่งเศสมักรับเอาวัฒนธรรมความหลงใหลเรื่องโป๊เปลือยติดตัวกลับคืนมาสู่เมืองไทย ทว่ากลุ่มของแกนนำคณะราษฎรจะเป็นไปเช่นนั้นด้วยรึ ถ้าฟังหรืออ่านอย่างขาดระวัง ก็อาจเผลอคล้อยตามข้อกล่าวหาในถ้อยปาฐกถาข้างต้นได้กระมัง

ช่วงปลายทศวรรษ 2550 ระหว่างกำลังเก็บข้อมูลเพื่อทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทอันมีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของความโป๊เปลือยในสังคมไทย ผมเคยแว่วยินข้อมูลซึ่งร่ำลือว่าสมัยที่นักเรียนนอกในฝรั่งเศสอย่างนายปรีดี ร้อยโทแปลก และนายประยูร ใช้ชีวิตท่ามกลางบรรยากาศกรุงปารีสทศวรรษ 1920 (ตรงกับประมาณทศวรรษ 2460) อันครึกครื้นไปด้วยความบันเทิง น่าจะเคยไปเที่ยวชม ‘ระบำโป๊’ แสนลือเลื่อง ณ มูแลงรูจ (Moulin Rouge) แม้จะผมไม่ค่อยเชื่อถือนัก เพราะเท่าที่ผมอ่านหลักฐานบันทึกเกี่ยวกับนายปรีดีมา พบว่าการเที่ยวเตร่เริงรมย์อาจจะมิใช่อุปนิสัยของเขา ถ้าเป็นการดื่มเมรัยก็อาจจะมีบ้างที่เคยไปสังสรรค์เล็กๆ น้อยๆ กับผองเพื่อน อีกทั้งค่าเข้าชมระบำในมูแลงรูจแพงลิบลิ่ว ขณะที่เงินทุนการศึกษาที่นักเรียนชาวสยามได้รับจากทางสถานทูตเพื่อใช้ยังชีพเป็นจำนวนไม่ค่อยมากนัก กระทั่งการรับประทานอาหารก็ต้องประหยัดโดยฝากท้องไว้กับร้านอาหารของชาวจีนซึ่งราคาย่อมเยา หรือต่อให้สมาชิกคณะราษฎรทั้งสามคนเคยชมระบำโป๊จริงๆ ก็มิอาจทำให้ข้อกล่าวหาที่ว่าคณะผู้ก่อการเห็นภาพโป๊เป็นสิ่งสวยงามมีน้ำหนักขึ้น

หลักฐานหนึ่งที่คงยืนยันถึงความไม่นิยมชมชอบระบำหรือการเต้นรำยั่วกามารมณ์ของนายปรีดี และอาจรวมถึงแกนนำคณะราษฎรที่เป็นนักเรียนฝรั่งเศสคนอื่นๆ นั่นคือถ้อยบันทึกของนายปรีดีเกี่ยวกับการประชุมสมาคมสามัคยานุเคราะห์ (ส.ย.า.ม) หรือเรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Association Siamoise d’Intellectualité et d’Assistance Mutuelle (S.I.A.M.) ณ คฤหาสน์แห่งตำบลชาร์แตรทส์เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1925 (ตรงกับ พ.ศ.2468) โดยมีนักเรียนชาวสยามในฝรั่งเศสมาร่วมประชุมประมาณ 50 คน นายปรีดีในฐานะสภานายกสมาคมได้จัดกิจกรรมต่างๆ ดังเสียงเล่าของเขาว่า

“เราได้วางแผนปลุกจิตสำนึกเพื่อนนักศึกษาทั่วไปให้เกิดความรู้สึกถึงความจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นระบอบสมบูรณาฯ ว่าโอกาสที่เหมาะสมที่สุดคือในระหว่างมีการประชุมประจำปี ค.ศ.1925 ของสมาคมที่ข้าพเจ้าเป็นสภานายกอยู่นั้น จะได้จัดให้เพื่อนไทยอยู่ร่วมกัน ณ คฤหาสน์ใหญ่ที่ตำบล ‘Chatresttes’ ซึ่งสมาคมเช่าไว้เฉพาะการนี้ มีกำหนด 15 วัน เราได้จัดให้มีกีฬาแทบทุกชนิด รวมทั้งการยิงเป้าเพื่อเป็นพื้นฐานแห่งการฝึกทางอาวุธ ในเวลาค่ำก็มีการแสดงปาฐกถาในเหตุการณ์ระหว่างประเทศและเหตุการณ์ภายในประเทศ และมีการโต้วาทีในหัวข้อที่เป็นคติ มีการแสดงละครที่เป็นคติ เช่นเรื่อง ‘โลเลบุรี’ของพระมงกุฎเกล้าฯ ที่แสดงถึงความเหลวแหลกแห่งการศาลและอัยการของบุรีที่พระองค์สมมุติว่า ‘โลเล’ มีการดนตรีและการขับร้องบ้าง แต่ไม่มีการเต้นรำยั่วกามารมณ์…”

ฉะนั้น เรื่องที่ว่าแกนนำคณะราษฎรที่เป็นนักเรียนฝรั่งเศสชื่นชอบระบำโป๊ก็คงอ่อนน้ำหนักไป

นางระบำแห่งมูแลงรูจ ช่วงทศวรรษ 1920
มูแลงรูจ

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองและรัฐบาลคณะราษฎรได้เข้ามาบริหารประเทศ ครั้นพิจารณาจากบทบาทของแกนนำหลักๆ แต่ละคนที่เป็นนักเรียนจากฝรั่งเศส โดยเฉพาะทางด้านศิลปวัฒนธรรม ก็จะพบว่าพวกเขามิได้เห็นพ้องต่อการนำเสนอเรื่องโป๊ๆ หรือเรื่องยั่วกามารมณ์ในสังคม มิหนำซ้ำยังพยายามเข้าไปจัดระเบียบทางศีลธรรมของประชาชนเพื่อนำเสนอความเป็นรัฐประชาชาติแบบสมัยใหม่ต่อสายตาโลก

หลักฐานหนึ่งคือรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาครั้งที่ 16/2480 เมื่อวันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2480 ซึ่งมีประเด็นเรื่องการตั้งคณะกรรมการผดุงศีลธรรมของประชาชน ผู้ที่เสนอความเห็นเรื่องนี้คือ ‘หลวงวิจิตรวาทการ’ แม้เขาไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะราษฎร แต่ตอนที่เขายังรับราชการในสถานทูตสยามประจำฝรั่งเศส ก็เคยคลุกคลีกับแกนนำคณะราษฎร โดยเฉพาะกับนายปรีดี

ในข้อเสนอเมื่อวันที่ 15 กันยายน มีอยู่ข้อหนึ่ง หลวงวิจิตรอ้างว่าคนไทยสมัยนั้นโดยเฉพาะเด็กๆ ดูจะหมกมุ่นและมี ‘ความคิดแรงไปในทางกามารมย์’ ซึ่งเป็นปัญหาศีลธรรม ทั้งจะเป็นเรื่องที่ฝ่ายปรปักษ์ต่อคณะราษฎรยกขึ้นตำหนิต่อระบอบรัฐธรรมนูญและกล่าวประชดเรื่องเสรีภาพอยู่เนืองๆ จนยินเสียงเซ็งแซ่ว่าระบอบรัฐธรรมนูญทำให้จรรยาของเด็กเสื่อมเสีย ฉะนั้น รัฐบาลจะต้องแก้ไขและควบคุมศีลธรรมเพื่อสร้าง ‘มโนธรรมอันใหม่’ (New Spirit) ของชาติ จะมัวใช้วิธีการเทศนาสั่งสอนแบบเก่าซึ่งเสมือนวิธีของแพทย์แผนโบราณก็แก้ไขปัญหาเรื้อรังเช่นนี้ไม่ได้ จำเป็นต้องอาศัยวิธีทางจิตวิทยาแบบใหม่ๆ จึงสมควรที่จะตั้งคณะกรรมการชุดที่จะมาแก้ไขโดยใช้แนวทางจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) เพื่อสืบสวนค้นหาพื้นนิสัยแท้จริงของคนเราว่ามีอยู่อย่างไรและต่อเนื่องมาอย่างไร และแนวทางการเรียนรู้พฤติกรรมอย่างเป็นระบบ (Systematic Behavior) เพื่อหามูลเหตุของนิสัยนั้นๆ แล้วก่อตั้งโรงเรียนสำหรับปลูกฝังควบคุมแบบในประเทศฝรั่งเศส รวมถึงการควบคุมสิ่งพิมพ์ที่ส่อไปทางเสื่อมศีลธรรม

หลวงวิจิตร เห็นควรเสนอให้ ‘หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ’ เป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ กระทั่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีลงมติให้ตั้ง ‘คณะกรรมการหาทางผดุงศีลธรรมของประชาชน’ ขึ้นมา แต่ให้หลวงวิจิตรเป็นประธานคณะกรรมการเสียเอง ส่วนคณะกรรมการรายอื่นได้แก่ หลวงชำนาญยุทธศิลป์ (เชย รมยะนันท์), พระชำนาญอนุศาสน์, พระธรรมนิเทศทวยหาญ (อยู่ อุดมศิลป์),พระยาเมธาธิบดี (สาตร สุทธเสถียร),หลวงวิเชียรแพทยาคม (เถียร ตูวิเชียร), หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ,พระยาสุนทรพิพิธ (เชย สุนทรพิพิธ), หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช, ผู้แทนกรมศึกษาธิการ, ผู้แทนกรมพลศึกษา, ผู้แทนกรมราชทัณฑ์, ผู้แทนสำนักงานโฆษณาการ และพระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล) รั้งตำแหน่งเลขานุการด้วย ต่อมา หลวงวิจิตรขอเปลี่ยนคำว่า ‘ศีลธรรม’ เป็น ‘คุณภาพทางใจ’ นำไปสู่การเปลี่ยนชื่อคณะกรรมการใหม่เป็น ‘คณะกรรมการหาทางส่งเสริมจรรยาและคุณภาพทางใจของประชาชน’

แกนนำคณะราษฎรในงานเฉลิมฉลองวันชาติฝรั่งเศส 14 กรกฎาคม 1926

ในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีข้างต้น ยังเผยให้เราทราบความเห็นของรัฐมนตรีผู้เป็นทั้งแกนนำคณะราษฎรและเป็นนักเรียนนอกจากฝรั่งเศส เฉกเช่นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยี่ยงหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี ที่มองพฤติกรรมของคนปั่นจักรยานสามล้อว่ามักพูดจาหยาบโลนมาก จนผู้โดยสารไม่อยากขึ้น ซึ่งความเห็นนี้ยังสอดคล้องกับที่ ‘อาจินต์ ปัญจพรรค์’ ได้สะท้อนถึงบรรยากาศช่วงทศวรรษ 2480 ขณะเขาเป็นวัยรุ่นแล้วสัมผัสพบเห็นพฤติกรรมของคนปั่นจักรยานสามล้อ โดยนำมาสอดแทรกไว้ในผลงานเรื่อง เจ้าแม่

อาจินต์เล่าว่าสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐบาลพยายามเชิดชูส่งเสริมบทบาทและเกียรติศักดิ์ของผู้หญิงไทย จึงมีผู้ประพันธ์บทเพลงเยินยอความเป็นผู้หญิงออกมาจำนวนมาก บางบทเพลงก็ชนะการประกวดแข่งขันที่จัดโดยรัฐบาล ดังเพลง ‘เกียรติศักดิ์หญิงไทย’ ที่ แก้ว อัจฉริยะกุล ประพันธ์คำร้อง และ เวส สุนทรจามร ประพันธ์ทำนอง ผู้ส่งเสียงขับขานเป็นต้นฉบับและบันทึกเสียงครั้งแรกคือ สุภาพ รัศมิทัต ส่วนคนถัดมาคือ ชวลีย์ ช่วงวิทย์ (ตอนหลังปรากฏผู้นำมาขับขานอีกหลายคน และปัจจุบันรู้จักกันในชื่อเพลงว่า บัวงาม) ซึ่งมีเนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า “ชายเหล็กเพชรยังยอม มาอ่อนน้อมนารี ยอมพ่ายแพ้โดยดี หญิงไทยเรานี้ มีสิ่งดีมากมาย” แต่พวกคนปั่นจักรยานสามล้อนำมาเปลี่ยนแปลงคำร้องให้หยาบคายเอาไว้ร้องแบบคะนองปากพร้อมดีดกระดิ่งกิ๋งๆ จนกลายเป็น “ชายเหล็กเพชรยังยอม มาอ่อนน้อมนารี ยอมพ่ายแพ้โดย..(คำหยาบที่หมายถึงอวัยวะเพศผู้หญิง)… หญิงไทยเรานี้ เป็นช็อกการีมากมาย”

การตั้งคณะกรรมการหาทางส่งเสริมจรรยาและคุณภาพทางใจของประชาชน แม้โดยเจตนาจะสะท้อนว่ารัฐสมัยใหม่เอาใจใส่ต่อสภาพจิตใจของประชาชน ยิ่งเฉพาะเรื่องความรู้สึกทางกามารมณ์ หรือพอจะพูดได้ว่ารัฐบาลคณะราษฎรคงไม่ส่งเสริมความโป๊แน่ๆ แต่ก็ควรจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่านี่คือความพยายามที่รัฐจะใช้อำนาจเข้าไปจับจ้องสอดส่องพฤติกรรมของประชาชน เพราะมองว่ายังมีวัฒนธรรมที่ล้าหลัง

แกนนำคณะราษฎรผู้เป็นนักเรียนนอกจากฝรั่งเศสอีกคนอย่าง จอมพล ป.พิบูลสงคราม น่าจะนับได้ว่าเขาคือปฏิปักษ์สำคัญต่อการนำเสนอเรื่องความโป๊เปลือยเลยทีเดียว สังเกตดูจากนโยบายต่างๆ ในรัฐบาลสมัยจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีจะมุ่งเน้นควบคุมการแสดงออกทางเพศสภาวะและเปิดเผยสรีระร่างกายของพลเมืองอย่างเคร่งครัด ยังมินับถึงความพยายามควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์และภาพถ่ายอันเข้าข่ายมีลักษณะโป๊เปลือยอย่างเข้มงวดกวดขัน

อีกหลักฐานที่ช่วยยืนยันคือช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเมืองไทย เดิมทีทางการมิได้ออกคำสั่งควบคุมหรือห้ามจัดแสดงระบำคณะมหาเสน่ห์ของ ‘นายหรั่ง เรืองนาม’ ซึ่งเข้าข่ายลักษณะระบำเปลือยกายหรือระบำโป๊ ปลายเดือนตุลาคม พ.ศ.2485 คณะกรรมการร่างพระราชกฤษฎีกาลงความเห็นอนุญาตให้คณะระบำนายหรั่งสามารถจัดการแสดงต่อไปได้ ถือเป็นการแสดงประเภทวิพิธทัศนาหรือวาไรตี้ (Variety) ทั้งนี้เพราะเป็นระบำที่ทหารญี่ปุ่นชื่นชอบ ทางการไทยจึงหมายเอาใจกองทัพญี่ปุ่น แต่จอมพล ป. ไม่เห็นพ้องด้วยและได้ออกคำสั่งประกาศห้ามการแสดงระบำคณะนายหรั่งในวันที่ 8 พฤศจิกายนปีเดียวกัน โดยมองว่าระบำดังกล่าวมีลักษณะขัดต่อวัฒนธรรมอันดีและก่อให้เกิดความไม่สงบ

กระนั้น ความเห็นทำนองพวกนักเรียนนอกจากฝรั่งเศสมักสนใจเรื่องโป๊ก็หาใช่จะปราศจากเค้ามูลเสียทีเดียว ‘โชติ แพร่พันธุ์’ นักประพันธ์เอกเจ้าของนามปากกา ‘ยาขอบ’ พาดพิงถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองผู้เป็นนักเรียนกฎหมายจากฝรั่งเศสอย่าง ‘ทวี ตะเวทิกุล’ ว่าเป็นยอดนักเล่าเรื่องโป๊หรือนิทานสัปดนหรือนิทานสกปรกระดับตัวยง อีกทั้งในงานเลี้ยงวันเกิดบุคคลท่านหนึ่ง ยาขอบกับทวียังเคยแข่งขันกันเล่าเรื่องโป๊ ดังเจ้าของนวนิยายอิงพงศาวดารเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ สะท้อนบรรยากาศในวงสังสรรค์นั้นว่า

คุณทวีเป็นเนติบัณฑิตไทยและได้ไปศึกษาวิชากฎหมายต่อที่ฝรั่งเศสจนได้ดีกรียอดของวิชานั้น การใช้เวลาศึกษาอยู่ในดินแดนอันเป็นที่เลื่องลือถึงความรัญจวนใจในทางพิศวาทจำนวนมากปี ก็ทำให้ท่านหลีกนิยมพิศวาทขนาดหนักไปเสียทีเดียวไม่ได้ แม้จะมิได้สนอกสนใจกับมันก็ย่อมได้ยินได้ฟังมาตามวิสัยที่จะคุยได้ว่าเป็นสมบัติของนักเรียนฝรั่งเศสอยู่เองฉะนั้นท่านอาจารย์ทวีแห่ง ม.ธ.ก.จะมีนิทานเช่นนี้ขยายออกมาบ้าง (ในโอกาสอันไม่ผิดกาละ) ก็ใช่ของแปลกแก่ความเป็นนักเรียนฝรั่งเศสไม่ควรจะแปลกก็ต่อเมื่อนักเรียนในเมืองไทยสักคน ซึ่งถ้าไม่มีนิสัยสัปโดกสัปดนจริงๆ ก็คงจะขาดความลำพองใจถึงกับจะสู้กับนักเรียนฝรั่งเศสในทางนี้นั่นคือให้เกิดการต่อสู้กันด้วยการดวลโดยเล่านิทานสกปรก ผลัดเล่าคนละเรื่องจนกว่าใครจะหมดพุงก่อนกัน ระหว่างนักเรียนฝรั่งเศสกับนักเรียนไทยแท้ – ท่านอาจารย์ทวีกับข้าพเจ้าท่ามกลางเสียงเฮฮาของคนฟังที่ถือว่าทุกคนเป็นกรรมการ” 

โชติ แพร่พันธุ์ เจ้าของนามปากกา ยาขอบ

ทวี ไม่ใช่สมาชิกคณะราษฎร ถึงแม้เขาจะคลุกคลีใกล้ชิดคอยช่วยเหลืองานของแกนนำคณะราษฎรที่เป็นนักเรียนนอกจากฝรั่งเศสอย่างนายปรีดีก็ตามเถอะ

ทวีเป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกับ วิจิตร ลุลิตานนท์, เดือน บุนนาค และเสริม วินิจฉัยกุล เพราะเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญแผนกฝรั่งเศสมาเหมือนกัน แต่เขาเดินทางไปเรียนต่อในฮ่องกง ก่อนจะกลับมาเข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมาย สังกัดกระทรวงยุติธรรม จนสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตเมื่อปี พ.ศ.2474 และคงมิแคล้วได้เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์หลวงประดิษฐ์มนูธรรม

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พอมีการจัดตั้งสำนักงานโฆษณาการขึ้น ทวีเข้ารับราชการที่นั่น จวบจนเดือนธันวาคม พ.ศ.2476 เขาย้ายไปรับราชการประจำกระทรวงการต่างประเทศ ดูแลงานแผนกกฎหมาย กลางปี พ.ศ.2477 ทวีสอบแข่งขันเป็นผู้ช่วยจัดทำตำราของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้พร้อมกับขุนประเสริฐศุภมาตรา (จรูญ จันทรสมบูรณ์) นายเสริม วินิจฉัยกุล และนายวิจิตร ลุลิตานนท์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมหรือนายปรีดี ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยจึงขอยืมตัวมาช่วยงานและยังบรรจุให้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยช่วงปลายปีนั้น อีกทั้งยังมอบทุนการศึกษาให้เดินทางไปศึกษาต่อทางด้านกฎหมายในประเทศฝรั่งเศสจนสำเร็จปริญญาเอกเป็นดอกเตอร์อังดรัวต์ (Docteur en Droit) แล้วกลับมารับราชการสนองงานของรัฐบาลคณะราษฎร ชีวิตรุ่งโรจน์ถึงขั้นเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีชื่อ ‘ทวี บุณยเกตุ’ แม้จะเป็นเพียงรัฐมนตรีลอยครั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นในเมืองไทย ทวีก็เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยและยอมเสี่ยงภัยจากพวกทหารญี่ปุ่นคอยช่วยเหลืองานของนายปรีดีอย่างแข็งขัน

ทวี ตะเวทีกุล (คนซ้ายสุด) และ ประสิทธิ์ ลุลิตานนท์ (คนขวาสุด)

ย่อมกล่าวได้ว่าทวีเป็นทั้งลูกศิษย์และผู้สนับสนุนนายปรีดี จึงไม่แปลกที่เมื่อนายปรีดีตัดสินใจนำกองกำลังเข้ายึดพื้นที่เมืองหลวงประกาศยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม พร้อมทั้งประกาศจัดตั้งรัฐบาลใหม่ผ่านทางวิทยุในคืนวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยกลับคืนมาจากรัฐบาลเผด็จการทหาร ทวีจะเข้าร่วมด้วยกับอาจารย์ของเขา แต่แล้วภารกิจนี้กลับประสบความล้มเหลว

ทวีเป็นคนหนึ่งที่ทางการออกหมายจับและมีค่าหัวราคาสูงถึง 50,000 บาท เขาหลบหนีจากเขตเมืองหลวงไปพร้อมกับประสิทธิ์ ลุลิตานนท์และน้องชายของประสิทธิ์อีกสองคน เริ่มจากซ่อนตัวในบ้านใกล้ๆสะพานพระพุทธยอดฟ้าทางฟากฝั่งธนบุรีราวๆ 3 วัน ก่อนจะลงเรือเอี้ยมจุ๊นบรรทุกข้าวเดินทางไปหลบอยู่ที่บ้านญาติของประสิทธิ์ที่สมุทรสงครามระมาณสองสัปดาห์ หมายมั่นจะลงเรือเดินทางต่อไปยังสิงคโปร์ แต่ญาติของประสิทธิ์ที่เขาไปขอซุ่มพำนักด้วยไปแจ้งความกับตำรวจว่ามีผู้ก่อการกบฏมากบดานอยู่ละแวกบ้าน จนตำรวจนำกองกำลังมาบุกจู่โจมในราตรีกาลของวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2492

ทวีกับประสิทธิ์หลบหนีมาด้วยกัน จนทวีสามารถกระโดดขึ้นไปอยู่บนแพลูกบวบแถวๆ หน้าวัดธรรมนิมิตรและกำลังจะลงเรือล่องคลองฝรั่งซึ่งไหลไปออกแม่น้ำแม่กลอง ทว่าเขาถูกนายสิบตำรวจโททองม้วนลั่นไกปืนยิงหน้าวัดธรรมนิมิตร สมุทรสงคราม กระสุนเข้าที่คอและหน้าอกจนเขาล้มคว่ำลง แต่ยังฝืนใช้ผ้าขาวม้าซับเลือดของตน ปืนในอุ้งมือของนายสิบตำรวจลั่นอีกหลายนัด ทวีสูญสิ้นลมปราณคาแพลูกบวบด้วยวัยเพียงสี่สิบปีเศษ ประสิทธิ์บอกเล่าเหตุการณ์ที่แลเห็นต่อหน้าต่อตาว่า

“ตำรวจ…จู่โจมเข้ามาตอนที่เรากำลังจะลงเรือหนี…เรืออีกลำหนึ่งซึ่งแล่นเข้าขวางเรือเราโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า…

มีเสียงร้องถามคุณทวีให้บอกชื่อ คุณทวีพึมพัมชื่อปลอมออกมา ส่วนข้าพเจ้าบอกชื่อจริง…ทันใดนั้นเองตำรวจคนที่สั่งให้เราบอกชื่อก็ยิงปืนเข้าใส่เรา กระสุนแล่นเข้าฝังในคอและหน้าอกของคุณทวี…ตำรวจคนที่ยิงคุณทวีชื่อสิบโทม้วน นายตำรวจคนอื่นๆ ที่มาด้วยมีร้อยตำรวจเอกต่อศักดิ์ ยมนาค ซึ่งข้าพเจ้ารู้จักดี และนายตำรวจจากกองกำลังสันติบาล…

เมื่อได้ยินเสียงปืน น้องชายของข้าพเจ้าและคนอื่นๆ รีบกระโดดลงคลอง คุณทวีได้รับบาดเจ็บมาก ข้าพเจ้าจึงเข้าประคองคุณทวีซึ่งจวนจะสิ้นใจและใช้ผ้าขาวม้าซับเลือดที่คอ…สิบโทม้วนยิงอีกสองนัดคุณทวีก็สิ้นใจ สิบโทม้วนยิงนัดต่อไปแต่กระสุนหมด ข้าพเจ้าจึงไม่ถูกยิงคว่ำอย่างคุณทวี…”

ในฐานะนักเรียนนอกจากฝรั่งเศส ทวีเคยเรียกเสียงหัวเราะขบขันของใครต่อใครได้จากการเล่านิทานโป๊ๆ แต่จุดจบชีวิตของเขาช่างสุดแสนเศร้าสลด

ทวี ตะเวทิกุล

อย่างที่บอกแหละครับ แม้บุคคลใกล้ชิดนายปรีดี อย่างทวี จะสนใจเรื่องโป๊ แต่จะชักโยงให้เข้ากับข้อโจมตีกล่าวหาในถ้อยปาฐกถานำเรื่องศิลปกรรมสมัยใหม่ของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ที่ว่าแกนนำคณะราษฎรผู้สำเร็จการศึกษาจากฝรั่งเศสมีรสนิยมในทางศิลปะ “…อยู่แค่คาเฟ่ริมถนนที่กรุงปารีส ภาพที่เห็นสวยงามก็ภาพโป๊…” ก็คงเป็นการปรักปรำจนเกินไป

อันที่จริง เนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของความโป๊เปลือยในสังคมไทยสมัยรัฐบาลคณะราษฎรยังมีรายละเอียดน่าตื่นตาตื่นใจอีกมากโข ซึ่งผมเคยนำเสนอไว้ผ่านวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของตนเองเมื่อราวหกปีก่อน มีแผนการอยู่เชียวที่จะปรับปรุงให้เป็นรูปเล่มหนังสือเพื่อออกเผยแพร่ช่วงปลายปี 2566 นี้ ถ้าคุณผู้อ่านสนใจใคร่อ่านเพิ่มเติมแล้ว ก็ขอได้โปรดติดตามด้วยความระทึกดวงหฤทัยพัลวัน!


เอกสารอ้างอิง

หจช. บก.สูงสุด 1/268 ห้ามการแสดงบางอย่างเช่นระบำเปลือยกาย (8-9 พ.ย. 2485)

หจช. ศธ.0701.29/23 การควบคุมการแสดงละคอนและดนตรี (พ.ศ. 2485-2486)

หจช.(3) สร.0201.55/2 การส่งเสริมจรรยาและคุณภาพทางใจของประชาชน (วัธนธัม) (15 ก.ย. 2480 -16 มี.ค. 2485)

เดือน บุนนาค. ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโสผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:สามัคคีธรรม, 2517

นรนิติ เศรษฐบุตร. คนการเมือง เล่ม 3. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2561

ปรีดี พนมยงค์. ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์. วิษณุ วรัญญู บรรณาธิการ.พิมพ์ครั้งที่ 5.กรุงเทพฯ : แม่คำผาง, 2553

ปรีดี พนมยงค์. บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์นิตีเวชช์, 2515

ยาขอบ (โชติ แพร่พันธุ์). “เรื่องไม่เป็นเรื่อง.” ใน ชีวประวัตินายโชติ แพร่พันธุ์ [ยาขอบ] พิมพ์เป็นอภินันทนาการเนื่องในงานฌาปนกิจ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 25 พฤษภาคม 2500. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.,2500.

ยาขอบ. สินในหมึก. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ฟรีฟอร์ม, 2552

สมบูรณ์ วรพงษ์. เบื้องหลังคดีเลือด ยุคอัศวินผยอง คดีสังหาร 4 รัฐมนตรี. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2544

อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. บุรุษบันเทิง: สื่อบันเทิงกามารมณ์ในสังคมไทย ทศวรรษ 2450-2500. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559

อาจินต์ ปัญจพรรค์. เจ้าแม่. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช. “ปาฐกถานำ ศิลปกรรมสมัยใหม่.” ใน บันทึกการสัมมนาศิลปกรรมหลัง 2475. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2528

ฮัตเจสสัน, เจ. เอฟ และ ทวี ตะเวทิกุล. ลัทธิเศรษฐกิจ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สมาคมเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, 2518

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save